พระยะโฮวาทรงอวยพระพร “แผ่นดิน” ของเรา
“แม่น้ำไหลไปไหนสิ่งทั้งปวงในที่นั้นจะมีชีวิต.”—ยะเอศเคล 47:9.
1, 2. (ก) น้ำสำคัญเพียงไร? (ข) น้ำแห่งแม่น้ำในนิมิตของยะเอศเคลเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
น้ำเป็นของเหลวที่น่าทึ่ง. ชีวิตทุกชนิดพึ่งอาศัยน้ำ. ไม่มีใครในพวกเราจะรอดชีวิตไปได้นานหากปราศจากน้ำ. นอกจากนี้ เรายังต้องอาศัยน้ำเพื่อการซักล้างด้วย เนื่องจากน้ำสามารถละลายและชะล้างสิ่งที่ไม่สะอาดออกไป. ดังนั้น เราชำระร่างกาย, ซักเสื้อผ้า, และแม้แต่ล้างอาหารให้สะอาดด้วยน้ำ. การทำเช่นนั้นอาจช่วยรักษาชีวิตของเราเอาไว้.
2 คัมภีร์ไบเบิลใช้น้ำเป็นภาพเล็งถึงการจัดเตรียมทางฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาสำหรับชีวิต. (ยิระมะยา 2:13; โยฮัน 4:7-15) การจัดเตรียมเหล่านี้รวมถึงการชำระไพร่พลของพระองค์ให้สะอาดโดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์และความรู้ของพระเจ้าซึ่งพบในพระคำของพระองค์. (เอเฟโซ 5:25-27) ในนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหาร แม่น้ำอันน่าอัศจรรย์ที่ไหลจากพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของพระพรที่ให้ชีวิตเช่นนั้น. แต่แม่น้ำนั้นไหลเมื่อไร และการไหลของแม่น้ำนั้นมีความหมายเช่นไรสำหรับเราในทุกวันนี้?
แม่น้ำซึ่งไหลในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟู
3. ยะเอศเคลเห็นอะไร ดังมีรายงานไว้ที่ยะเอศเคล 47:2-12?
3 ในฐานะเชลยในกรุงบาบูโลน ประชาชนเพื่อนร่วมชาติของยะเอศเคลจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับสิ่งจัดเตรียมที่มาจากพระยะโฮวา. ดังนั้น ยะเอศเคลคงมีกำลังใจสักเพียงไรที่เห็นธารน้ำที่รินไหลออกมาจากที่บริสุทธิ์และไหลออกมาจากพระวิหารอันเป็นภาพนิมิตนั้น! ทูตสวรรค์องค์หนึ่งวัดสายน้ำนั้นทุก ๆ ระยะ 1,000 ศอก. ความลึกของน้ำนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากตาตุ่มถึงหัวเข่า แล้วลึกถึงเอว จนกลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากที่ต้องว่ายไป. แม่น้ำนี้นำชีวิตและความอุดมบริบูรณ์มาให้. (ยะเอศเคล 47:2-11) ยะเอศเคลได้รับแจ้งดังนี้: “ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งสองข้างต้นไม้ทั้งปวงจะได้งอกขึ้นเป็นอาหาร.” (ยะเอศเคล 47:12ก) ขณะที่กระแสน้ำนั้นไหลสู่ทะเลตายอันเป็นท้องน้ำที่ปราศจากชีวิต ก็เกิดมีชีวิตขึ้น! ฝูงปลาเนืองแน่น. กิจการประมงก็รุ่งเรือง.
4, 5. คำพยากรณ์ของโยเอลเกี่ยวกับแม่น้ำคล้ายคลึงกันอย่างไรกับคำพยากรณ์ของยะเอศเคล และเหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญ?
4 คำพยากรณ์ที่งดงามนี้อาจได้เตือนใจเชลยชาวยิวให้นึกถึงคำพยากรณ์อีกข้อหนึ่งที่บันทึกไว้ก่อนหน้านั้นสองร้อยกว่าปี ซึ่งกล่าวไว้ว่า “น้ำพุจะผุด ขึ้นมาจากโบสถ์แห่งพระยะโฮวา, และจะไหลไปเลี้ยงหุบเขาซิติม.”a (โยเอล 3:18) คำพยากรณ์ของโยเอลซึ่งก็เหมือนกับคำพยากรณ์ของยะเอศเคล บอกล่วงหน้าว่าแม่น้ำสายหนึ่งจะไหลจากราชนิเวศของพระเจ้า คือพระวิหาร และนำชีวิตมาสู่พื้นที่อันแห้งแล้ง.
5 หอสังเกตการณ์ ได้อธิบายนานมาแล้วว่า คำพยากรณ์ของโยเอลกำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในสมัยของเรานี้.b ถ้าอย่างนั้น ก็ย่อมเป็นจริงเช่นเดียวกันกับนิมิตของยะเอศเคลที่คล้าย ๆ กัน. ในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟูของไพร่พลพระเจ้าในปัจจุบัน เช่นเดียวกับในยิศราเอลโบราณ พระพรของพระยะโฮวาได้หลั่งไหลลงมาอย่างแท้จริง.
การหลั่งไหลอันล้นหลามของพระพร
6. การประพรมเลือดลงบนแท่นบูชาในนิมิตน่าจะเตือนให้ชาวยิวนึกถึงอะไร?
6 พระพรที่หลั่งลงบนไพร่พลของพระเจ้าที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นมาจากไหน? เอาละ ขอให้สังเกตว่าน้ำนั้นไหลมาจากพระวิหารของพระเจ้า. ในลักษณะเดียวกัน พระพรในทุกวันนี้ก็มาจากพระยะโฮวาโดยทางพระวิหารที่ยิ่งใหญ่ฝ่ายวิญญาณของพระองค์ ซึ่งก็หมายถึงการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการอันบริสุทธิ์. นิมิตของยะเอศเคลเพิ่มรายละเอียดที่สำคัญอีกประการหนึ่ง. ในลานพระวิหารชั้นใน มีธารน้ำไหลผ่านทางด้านใต้ของแท่นบูชา. (ยะเอศเคล 47:1) แท่นบูชาอยู่ตรงใจกลางพระวิหารในนิมิต. พระยะโฮวาทรงพรรณนาเกี่ยวกับแท่นบูชานั้นอย่างถี่ถ้วนแก่ยะเอศเคลและมีพระบัญชาให้ประพรมแท่นนั้นด้วยเลือดของเครื่องบูชา. (ยะเอศเคล 43:13-18, 20) แท่นบูชานั้นมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับชนยิศราเอลทั้งสิ้น. สัญญาไมตรีที่ทำกับพระยะโฮวามีผลบังคับใช้นานแล้วตั้งแต่เมื่อโมเซประพรมเลือดบนแท่นบูชา ณ เชิงเขาซีนาย. (เอ็กโซโด 24:4-8) การประพรมเลือดบนแท่นบูชาในนิมิตจึงน่าจะย้ำเตือนพวกเขาว่า เมื่อพวกเขากลับไปถึงแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟู พระพรของพระยะโฮวาก็จะหลั่งไหลลงมาตราบเท่าที่เขาปฏิบัติตามคำสัญญาไมตรีที่ทำไว้กับพระองค์.—พระบัญญัติ 28:1-14.
7. คริสเตียนในปัจจุบันเข้าใจความหมายของแท่นบูชาโดยนัยว่าเป็นอะไร?
7 ในทำนองเดียวกัน ไพร่พลพระเจ้าในปัจจุบันได้รับพระพรโดยทางสัญญาไมตรีที่ดีกว่า คือสัญญาไมตรีใหม่. (ยิระมะยา 31:31-34) สัญญาไมตรีนี้ก็มีผลบังคับใช้มานานแล้วเช่นกัน โดยอาศัยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์. (เฮ็บราย 9:15-20) ปัจจุบัน ไม่ว่าเราอยู่ในกลุ่มผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นผู้มีส่วนในสัญญาไมตรีนี้ หรืออยู่ในกลุ่ม “แกะอื่น” ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาไมตรีนี้ เราต่างก็พบความหมายอันยิ่งใหญ่ในแท่นบูชาโดยนัยดังกล่าว. แท่นบูชานี้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระทัยประสงค์ของพระเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องบูชาของพระคริสต์. (โยฮัน 10:16; เฮ็บราย 10:10) เช่นเดียวกับที่แท่นบูชาโดยนัยอยู่ตรงใจกลางพระวิหารฝ่ายวิญญาณ เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ก็เป็นศูนย์กลางของการนมัสการบริสุทธิ์. เครื่องบูชาไถ่ของพระองค์เป็นพื้นฐานสำหรับการให้อภัยบาปของเรา และด้วยเหตุนั้นจึงเป็นพื้นฐานสำหรับความหวังของเราในเรื่องอนาคต. (1 โยฮัน 2:2) ฉะนั้น เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติที่เกี่ยวพันกับคำสัญญาไมตรีใหม่ คือ “พระบัญญัติของพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 6:2) ตราบใดเราทำเช่นนั้น เราจะได้รับประโยชน์จากสิ่งจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อชีวิต.
8. (ก) มีอะไรขาดไปจากลานพระวิหารชั้นในของพระวิหารในนิมิต? (ข) ปุโรหิตในพระวิหารแห่งนิมิตใช้อะไรชำระกายของเขา?
8 ผลประโยชน์เช่นนั้นประการหนึ่งได้แก่ฐานะที่สะอาดเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. ในพระวิหารแห่งนิมิตนั้น ลานพระวิหารชั้นในขาดสิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นสิ่งเด่นทีเดียวในลานของพลับพลาและในพระวิหารของซะโลโม นั่นคืออ่างขนาดใหญ่ ซึ่งภายหลังเรียกอ่างนี้ว่าทะเล สำหรับให้เหล่าปุโรหิตชำระร่างกาย. (เอ็กโซโด 30:18-21; 2 โครนิกา 4:2-6) ปุโรหิตในพระวิหารแห่งนิมิตของยะเอศเคลจะใช้อะไรเพื่อการชำระล้าง? ก็ธารน้ำอันอัศจรรย์ที่ไหลมาจากลานพระวิหารชั้นในนั่นอย่างไรล่ะ! ถูกแล้ว พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรพวกเขาให้มีสิ่งจำเป็นเพื่อมีฐานะที่สะอาดบริสุทธิ์.
9. ผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่ในทุกวันนี้สามารถมีฐานะที่สะอาดได้โดยวิธีใด?
9 คล้ายกันนั้นในทุกวันนี้ ชนผู้ถูกเจิมได้รับพระพรให้มีฐานะสะอาดจำเพาะพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงถือว่าพวกเขาบริสุทธิ์ ทรงประกาศว่าพวกเขาชอบธรรม. (โรม 5:1, 2) “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งมีการให้ภาพว่าเป็นตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิตล่ะจะว่าอย่างไร? คนเหล่านี้นมัสการที่ลานพระวิหารชั้นนอก และสายน้ำเดียวกันนี้ก็ไหลผ่านส่วนนั้นของพระวิหารในนิมิต. ดังนั้น ช่างเหมาะสักเพียงไรที่อัครสาวกโยฮันเห็นชนฝูงใหญ่สวมเสื้อยาวสีขาวขณะนมัสการที่ลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณ! (วิวรณ์ 7:9-14) ไม่ว่าเขาถูกปฏิบัติอย่างไรในโลกที่เสื่อมทรามนี้ เขามั่นใจได้ว่าตราบใดเขาสำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ ตราบนั้นพระยะโฮวาทรงถือว่าเขาสะอาดและบริสุทธิ์. คนเหล่านี้สำแดงความเชื่ออย่างไร? โดยการติดตามรอยพระบาทของพระเยซู มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในเครื่องบูชาไถ่.—1 เปโตร 2:21.
10, 11. ความหมายสำคัญอย่างหนึ่งของน้ำโดยนัยนั้นคืออะไร และเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่แม่น้ำนั้นขยายกว้างมาก?
10 ดังได้กล่าวไปแล้ว มีความหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของน้ำโดยนัยนี้ นั่นคือความรู้. ในชาติยิศราเอลที่ได้รับการฟื้นฟู พระยะโฮวาทรงอวยพระพรแก่ไพร่พลของพระองค์ด้วยคำสั่งสอนในพระคัมภีร์โดยทางคณะปุโรหิต. (ยะเอศเคล 44:23) ด้วยวิธีที่คล้ายกัน พระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพรไพร่พลของพระองค์ในปัจจุบันด้วยคำสั่งสอนอันอุดมล้นเหลือในพระคำแห่งความจริงของพระองค์โดยทาง “คณะปุโรหิตหลวง.” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) ความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้า, พระประสงค์ของพระองค์สำหรับมนุษยชาติ, และโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และราชอาณาจักรมาซีฮา ได้หลั่งไหลออกมาอย่างบริบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ในสมัยสุดท้ายนี้. ความสดชื่นฝ่ายวิญญาณที่ลึกล้ำยิ่งขึ้นทุกขณะซึ่งเรากำลังได้รับอยู่นี้ช่างดีวิเศษสักเพียงไร!—ดานิเอล 12:4.
11 เช่นเดียวกับแม่น้ำที่ทูตสวรรค์วัดนั้นลึกขึ้นเรื่อย ๆ การหลั่งไหลของพระพรที่ให้ชีวิตจากพระยะโฮวาก็ได้เพิ่มทวีอย่างเด่นชัดเพื่อจัดสิ่งจำเป็นไว้สำหรับผู้คนซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในแผ่นดินฝ่ายวิญญาณที่ได้รับพระพร. คำพยากรณ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูอีกข้อหนึ่งบอกล่วงหน้าไว้ว่า “คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่. เราเอง ยะโฮวา จะเร่งกระทำการนี้ในเวลาอันควร.” (ยะซายา 60:22, ล.ม.) ถ้อยคำดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นความจริง เพราะหลายล้านคนได้พากันเข้ามาร่วมกับเราในการนมัสการบริสุทธิ์! พระยะโฮวาได้ทรงจัดให้มี “น้ำ” อย่างอุดมบริบูรณ์แก่ทุกคนที่เข้ามาหมายพึ่งพระองค์. (วิวรณ์ 22:17) พระองค์ทรงดูแลให้องค์การทางแผ่นดินโลกของพระองค์จำหน่ายจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลในหลายร้อยภาษาทั่วโลก. นอกจากนี้ ได้มีการจัดการประชุมคริสเตียนและการประชุมใหญ่ขึ้นทั่วโลกเพื่อให้ทุกคนสามารถได้รับน้ำแห่งความจริงอันใสดุจแก้วผลึก. การจัดเตรียมเช่นนี้มีผลต่อผู้คนอย่างไร?
น้ำนำไปสู่ชีวิต!
12. (ก) เหตุใดต้นไม้ในนิมิตของยะเอศเคลสามารถให้ผลเช่นนั้น? (ข) ต้นไม้ที่ให้ผลดกเหล่านี้หมายถึงอะไรในระหว่างสมัยสุดท้าย?
12 แม่น้ำในนิมิตของยะเอศเคลนำชีวิตและสุขภาพที่ดีมาให้. เมื่อยะเอศเคลได้มาทราบว่ามีต้นไม้ที่ปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำนั้น ท่านได้รับแจ้งว่า “ใบไม้นั้นจะมิได้ล่วงโรยไป, ผลไม้นั้นจะมิได้ขาด . . . และผลไม้เหล่านี้จะได้เป็นอาหารและใบของมันจะเป็นยา.” ทำไมต้นไม้เหล่านี้จึงเกิดผลอย่างน่าทึ่งเช่นนี้? “ด้วยน้ำทั้งปวงเหล่านี้ออกจากวิหาร.” (ยะเอศเคล 47:12ข) ต้นไม้โดยนัยเหล่านี้เป็นภาพเล็งถึงการจัดเตรียมทุกอย่างของพระเจ้าเพื่อช่วยกอบกู้มนุษยชาติให้คืนสู่ความสมบูรณ์โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. บนแผ่นดินโลกในเวลานี้ ชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมนำหน้าในการจัดให้มีการบำรุงเลี้ยงและการรักษาฝ่ายวิญญาณ. หลังจากที่ชน 144,000 คนได้รับบำเหน็จฝ่ายสวรรค์กันถ้วนหน้าแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดจากการรับใช้เป็นปุโรหิตและผู้ปกครองร่วมกับพระคริสต์ก็จะขยายต่อไปในอนาคต ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปถึงการพิชิตความตายอันเนื่องมาจากอาดามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์.—วิวรณ์ 5:9, 10; 21:2-4.
13. มีการเยียวยารักษาเช่นไรในสมัยของเรานี้?
13 แม่น้ำในนิมิตนั้นไหลไปสู่ทะเลตายอันปราศจากชีวิต และไหลไปถึงไหนก็ให้การเยียวยารักษาถึงนั่น. ทะเลดังกล่าวนี้เป็นภาพโดยนัยหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ตายทางฝ่ายวิญญาณ. แต่มีชีวิตอยู่เนืองแน่นในทุก ๆ แห่งที่ “แม่น้ำไหลไป.” (ยะเอศเคล 47:9) ในทำนองเดียวกัน ในสมัยสุดท้ายนี้ น้ำแห่งชีวิตซึมแทรกไปถึงไหนประชาชนก็พากันเข้ามามีชีวิตทางฝ่ายวิญญาณ. คนกลุ่มแรกที่ได้รับชีวิตใหม่เช่นนั้นได้แก่ชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมในปี 1919. พวกเขาได้รับชีวิตทางฝ่ายวิญญาณกลับคืนมาจากสภาพเหมือนตาย คือสภาพเฉื่อยชาปราศจากการงาน. (ยะเอศเคล 37:1-14; วิวรณ์ 11:3, 7-12) นับแต่นั้นมา น้ำเหล่านี้ที่ให้ชีวิตได้ไปถึงคนอื่น ๆ ที่ตายฝ่ายวิญญาณ และคนเหล่านี้ได้กลับมีชีวิตและประกอบกันขึ้นเป็นชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นที่รักและรับใช้พระยะโฮวาซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. อีกไม่ช้า การจัดเตรียมนี้จะขยายไปถึงมหาชนอีกมากมายที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย.
14. กิจการประมงที่รุ่งเรืองตลอดชายฝั่งของทะเลตายเป็นภาพแสดงถึงอะไรในปัจจุบัน?
14 ความมีชีวิตชีวาฝ่ายวิญญาณทำให้เกิดผล. มีการให้ภาพตัวอย่างในเรื่องนี้ไว้ด้วยกิจการประมงที่รุ่งเรืองตามชายฝั่งทะเลซึ่งก่อนนั้นอับเฉาไร้ชีวิต. พระเยซูตรัสแก่สาวกว่า “เราจะตั้งท่านให้เป็นผู้จับคน.” (มัดธาย 4:19) ในสมัยสุดท้าย งานจับคนเริ่มต้นด้วยการรวบรวมชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิม แต่งานนี้มิได้หยุดแต่เพียงแค่นั้น. น้ำที่ให้ชีวิตจากพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา รวมทั้งพระพรแห่งความรู้ถ่องแท้ด้วย มีผลกระทบต่อผู้คนในทุกชาติ. กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากนั้นไหลไปถึงที่ใด ก็เกิดมีชีวิตฝ่ายวิญญาณขึ้นที่นั่น.
15. อะไรที่ชี้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะตอบรับการจัดเตรียมของพระเจ้าในเรื่องชีวิต และจุดจบของคนเช่นนั้นคืออะไร?
15 แน่ละ ไม่ใช่ทุกคนในเวลานี้ตอบรับข่าวสารแห่งชีวิต; และก็ไม่ใช่ทุกคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์จะตอบรับ. (ยะซายา 65:20; วิวรณ์ 21:8) ทูตสวรรค์ประกาศว่าบางส่วนของทะเลรักษาไม่หาย. ที่เหล่านี้อันเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและปราศจากชีวิตจะถูกละไว้ “ให้เป็นที่เกลือ.” (ยะเอศเคล 47:11) ผู้คนในสมัยของเราก็เช่นกัน ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับการเสนอน้ำที่ให้ชีวิตของพระยะโฮวาจะรับเอาน้ำนั้น. (ยะซายา 6:10) ณ อาร์มาเก็ดดอน ทุกคนที่ได้เลือกจะคงอยู่ต่อไปในสภาพอันปราศจากชีวิตและเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณก็จะถูกละไว้ให้เป็นที่เกลือ กล่าวคือถูกทำลายให้สูญสิ้นตลอดกาล. (วิวรณ์ 19:11-21) แต่สำหรับคนเหล่านั้นที่ได้ดื่มน้ำนี้อย่างซื่อสัตย์ก็สามารถหวังได้ว่าจะรอดชีวิตและเห็นความสำเร็จเป็นจริงในขั้นสุดท้ายของคำพยากรณ์นี้.
แม่น้ำไหลในอุทยาน
16. นิมิตของยะเอศเคลเรื่องพระวิหารจะสำเร็จเป็นจริงในขั้นสุดท้ายเมื่อไรและอย่างไร?
16 เช่นเดียวกับคำพยากรณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟู นิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารจะสำเร็จเป็นจริงในขั้นสุดท้ายในช่วงรัชสมัยพันปี. ถึงตอนนั้น ชนจำพวกปุโรหิตจะไม่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้อีกต่อไป. “พวกเขาจะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ และจะปกครองเป็นกษัตริย์กับพระองค์ [ในสวรรค์] ตลอดพันปีนั้น.” (วิวรณ์ 20:6, ล.ม.) เหล่าปุโรหิตฝ่ายสวรรค์เหล่านี้จะร่วมกับพระคริสต์ในการบริหารเพื่ออำนวยประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์อย่างเต็มที่. โดยวิธีนี้ มนุษยชาติที่ชอบธรรมก็จะได้รับความรอดและการฟื้นฟูสู่ความสมบูรณ์.—โยฮัน 3:17.
17, 18. (ก) แม่น้ำที่ให้ชีวิตดังพรรณนาที่วิวรณ์ 22:1, 2 นั้นเป็นอย่างไร และช่วงเวลาสำคัญที่นิมิตนั้นจะปรากฏเป็นจริงคือเมื่อไร? (ข) เหตุใดแม่น้ำอันมีน้ำแห่งชีวิตนี้จึงถึงเวลาที่จะขยายกว้างใหญ่มากเมื่อโลกเป็นอุทยาน?
17 แท้จริงแล้ว ในเวลานั้นแม่น้ำที่ยะเอศเคลเห็นจะไหลหลากด้วยน้ำแห่งชีวิตที่เปี่ยมพลังที่สุด. นั่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะเป็นจริงตามคำพยากรณ์ดังบันทึกไว้ที่วิวรณ์ 22:1, 2 (ล.ม.) ซึ่งบอกว่า “ท่านได้สำแดงให้ข้าพเจ้าเห็นแม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต ใสดุจแก้วผลึก ไหลออกมาจากราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก ลงไปตามกลางถนนกว้างของเมืองนั้น. และบนฝั่งนี้และฝั่งโน้นของแม่น้ำมีต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งผลิตผลสิบสองครั้ง ออกผลแต่ละเดือน. และใบของต้นไม้เหล่านั้นสำหรับรักษาชาติต่าง ๆ ให้หาย.”
18 ในระหว่างรัชสมัยพันปี ความเจ็บป่วยทุกอย่าง ทั้งทางกาย, ใจ, และอารมณ์ จะได้รับการรักษา. เรื่องนี้มีภาพแสดงไว้อย่างชัดเจนด้วยต้นไม้โดยนัยที่ “รักษาชาติต่าง ๆ ให้หาย.” ด้วยการจัดเตรียมที่ดำเนินงานโดยพระคริสต์และชน 144,000 คน “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” (ยะซายา 33:24) และแม่น้ำนี้ก็จะมาถึงช่วงเวลาที่มีการขยายกว้างใหญ่ที่สุด. แม่น้ำนี้จะลึกและกว้างยิ่งนักเพื่อจัดให้มีน้ำแห่งชีวิตอันบริสุทธิ์สะอาดไว้สำหรับคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายหลายล้านคน หรืออาจถึงหลายพันล้านคน จะได้ดื่มกิน. แม่น้ำแห่งนิมิตนี้ให้การรักษาทะเลตาย ไหลถึงไหนก็นำชีวิตไปถึงนั่น. ในอุทยาน คนเราจะบรรลุชีวิตในความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ได้รับการรักษาให้พ้นจากความตายที่ได้รับตกทอดมาจากอาดาม หากเขาสำแดงความเชื่อในผลประโยชน์แห่งค่าไถ่ที่เสนอแก่เขา. วิวรณ์ 20:12 (ล.ม.) บอกล่วงหน้าว่า “ม้วนหนังสือทั้งหลาย” จะถูกคลี่ออกในเวลานั้น และให้ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. น่าเสียดาย บางคนจะปฏิเสธไม่ยอมรับการรักษาแม้ว่าได้อยู่ในอุทยานแล้ว. คนเหล่านี้ที่ขืนอำนาจจะถูกละไว้ “ให้เป็นที่เกลือ” อันหมายถึงการทำลายให้สูญสิ้นตลอดกาล.—วิวรณ์ 20:15.
19. (ก) การแบ่งส่วนที่ดินจะสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในอุทยาน? (ข) เมืองนั้นให้ภาพแสดงถึงอะไรในอุทยาน? (ค) การที่เมืองอยู่ห่างจากพระวิหารนั้นมีความหมายเช่นไร?
19 นอกจากนั้น การแบ่งส่วนที่ดินในนิมิตของยะเอศเคลก็จะสำเร็จเป็นจริงขั้นสุดท้ายในเวลานั้นด้วย. ยะเอศเคลเห็นมีการแบ่งส่วนที่ดินอย่างเหมาะสม; ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนที่ซื่อสัตย์แต่ละคนก็สามารถแน่ใจได้ว่าเขาจะได้รับที่ดินเป็นมรดกในอุทยาน. ความปรารถนาจะมีบ้านของตนเองและดูแลรักษาก็คงจะสำเร็จเป็นจริงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย. (ยะซายา 65:21; 1 โกรินโธ 14:33) เมืองที่ยะเอศเคลเห็นนั้นให้ภาพแสดงที่เหมาะทีเดียวถึงการจัดงานบริหารที่พระยะโฮวาทรงประสงค์สำหรับแผ่นดินโลกใหม่. ชนจำพวกปุโรหิตที่ได้รับการเจิมจะไม่อยู่ในท่ามกลางมนุษยชาติอีกต่อไป. นิมิตบ่งบอกไว้อย่างนั้นด้วยการพรรณนาถึงเมืองนั้นว่าตั้งอยู่ในผืนดินส่วนที่ “มิได้เป็นที่บริสุทธิ์” ห่างจากพระวิหาร. (ยะเอศเคล 48:15) แม้ว่าชน 144,000 คนปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์ ก็ใช่ว่ากษัตริย์จะทรงขาดตัวแทนบนแผ่นดินโลก. ราษฎรของพระองค์ที่เป็นมนุษย์จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการชี้นำด้วยความรักจากชนจำพวกหัวหน้า. อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งอันแท้จริงของรัฐบาลจะไม่ได้อยู่บนแผ่นดินโลก แต่อยู่ในสวรรค์. ทุกคนบนแผ่นดินโลก รวมทั้งชนจำพวกหัวหน้าด้วย จะอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรมาซีฮา.—ดานิเอล 2:44; 7:14, 18, 22.
20, 21. (ก) เหตุใดชื่อเมืองนั้นจึงเหมาะ? (ข) ความเข้าใจที่เรามีในเรื่องนิมิตของยะเอศเคลน่าจะทำให้เราถามตัวเองเช่นไรบ้าง?
20 โปรดสังเกตถ้อยคำตอนท้ายคำพยากรณ์ของยะเอศเคล ซึ่งกล่าวว่า “ตั้งแต่วันนั้นมาชื่อแห่งเมืองนั้นว่ายะโฮวาซามา, แปลว่าพระยะโฮวาเจ้าอยู่ที่นั่น.” (ยะเอศเคล 48:35) เมืองนี้ไม่ได้ตั้งอยู่เพื่อให้อำนาจหรืออิทธิพลแก่มนุษย์; ทั้งไม่ได้ตั้งไว้เพื่อเสริมส่งเจตนารมณ์ของมนุษย์คนหนึ่งคนใด. เมืองนี้เป็นเมืองของพระยะโฮวา สะท้อนพระทัยและแนวทางอันเปี่ยมด้วยความรักและความมีเหตุผลของพระองค์. (ยาโกโบ 3:17) เรื่องนี้ให้คำรับรองที่ทำให้เราอุ่นใจว่า พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่สังคม “แผ่นดินโลกใหม่” แห่งมนุษยชาติที่ถูกจัดให้เป็นระเบียบจนตลอดอนาคตกาลที่ไม่รู้สิ้นสุด.—2 เปโตร 3:13.
21 เราตื่นเต้นกับความหวังที่อยู่เบื้องหน้ามิใช่หรือ? ถ้าอย่างนั้น นับว่าเหมาะที่เราแต่ละคนควรถามตัวเองว่า ‘ฉันตอบรับอย่างไรต่อพระพรอันน่าพิศวงที่มีการเปิดเผยในนิมิตของยะเอศเคล? ฉันสนับสนุนอย่างซื่อสัตย์ต่องานของเหล่าผู้ดูแลที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักไหม ซึ่งหมายถึงทั้งผู้ดูแลที่เป็นชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมและผู้ดูแลที่คาดว่าจะเป็นสมาชิกของชนจำพวกหัวหน้า? ฉันได้ทำให้การนมัสการบริสุทธิ์เป็นจุดรวมแห่งชีวิตของฉันไหม? ฉันรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากน้ำแห่งชีวิตที่ไหลอย่างบริบูรณ์ในทุกวันนี้ไหม?’ ขอให้เราแต่ละคนทำเช่นนั้นต่อ ๆ ไปและชื่นชมยินดีในการจัดเตรียมของพระยะโฮวาตราบชั่วนิรันดร์!
[เชิงอรรถ]
a หุบเขาที่มีธารน้ำในที่นี้อาจพาดพิงถึงหุบเขาเก็ดโรน ซึ่งทอดยาวไปทางตะวันออกเฉียงใต้จากกรุงยะรูซาเลมและไปสิ้นสุดที่ทะเลตาย. หุบเขานี้โดยเฉพาะในตอนล่าง ๆ แห้งขอดไม่มีน้ำตลอดปี.
b ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) 1 พฤษภาคม 1881 และ 1 กุมภาพันธ์ 1982.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ น้ำที่ไหลจากพระวิหารเป็นภาพหมายถึงอะไร?
▫ พระยะโฮวาได้ทรงทำการเยียวยารักษาอะไรด้วยแม่น้ำโดยนัย และเหตุใดแม่น้ำนั้นจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้น?
▫ ต้นไม้ตามสองฝั่งแม่น้ำเป็นภาพหมายถึงอะไร?
▫ เมืองนั้นจะเป็นภาพหมายถึงอะไรในระหว่างรัชสมัยพันปี และเหตุใดชื่อของเมืองนั้นจึงเหมาะ?
[รูปภาพหน้า 23]
แม่น้ำแห่งชีวิตหมายถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าในเรื่องความรอด