“พระวิหาร” และ “หัวหน้า” ในทุกวันนี้
“เจ้าแผ่นดิน [“หัวหน้า,” ล.ม.] จะเสด็จเข้าไปในท่ามกลางคนทั้งหลายที่เข้าไป, และจะเสด็จออกไปเมื่อเขาทั้งหลายออกไป.”—ยะเอศเคล 46:10.
1, 2. ความจริงสำคัญอะไรช่วยเราไขความหมายนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารได้มาก?
พวกรับบีบางคนในสมัยก่อนไม่ค่อยชอบพระธรรมยะเอศเคลเท่าใดนัก. ตามที่มีกล่าวในทัลมุด บางคนถึงกับคิดจะคัดเอาพระธรรมนี้ออกจากสารบบของพระคัมภีร์บริสุทธิ์. พวกเขาประสบปัญหายุ่งยากในการตีความนิมิตเกี่ยวด้วยพระวิหารและประกาศว่านิมิตนี้เกินที่มนุษย์จะเข้าใจได้. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ก็งุนงงกับนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารของพระยะโฮวา. พวกเราล่ะเป็นอย่างไร?
2 นับตั้งแต่การฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ พระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพรไพร่พลของพระองค์โดยประทานความหยั่งเห็นเข้าใจทางฝ่ายวิญญาณหลายแวบ ซึ่งก็รวมถึงความสังเกตเข้าใจที่ว่าพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าหมายถึงการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อการนมัสการบริสุทธิ์ซึ่งเปรียบเสมือนพระวิหาร.a ความจริงสำคัญข้อนี้ช่วยเราไขความหมายนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารได้มาก. ให้เรามาพิจารณากันอย่างละเอียดยิ่งขึ้นถึงองค์ประกอบสี่ประการของนิมิตนี้ อันได้แก่พระวิหาร, คณะปุโรหิต, หัวหน้า, และแผ่นดิน. องค์ประกอบเหล่านี้หมายถึงอะไรในปัจจุบัน?
พระวิหารและคุณ
3. เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเพดานอันสูงลิบและผนังแกะสลักตรงซุ้มประตูทางเข้าสู่พระวิหาร?
3 ขอให้นึกภาพว่าเรากำลังเยี่ยมชมพระวิหารตามในนิมิตนี้. เมื่อไปถึง เราขึ้นไปตามบันไดเจ็ดขั้นจนถึงประตูทางเข้าขนาดมหึมาประตูหนึ่ง. เมื่ออยู่ในซุ้มประตูทางเข้านี้แล้ว เราแหงนมองข้างบนด้วยความครั่นคร้าม. เพดานอยู่สูงจากตัวเราขึ้นไปกว่า 30 เมตร! จึงเป็นการเตือนใจเราว่า มาตรฐานในการเข้าสู่การจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อการนมัสการนั้นสูงส่งยิ่ง. ลำแสงที่ทะลุเข้ามาทางหน้าต่างส่องให้เห็นภาพแกะสลักฝาผนังรูปต้นปาล์ม ซึ่งในพระคัมภีร์ใช้เป็นภาพสัญลักษณ์ของความซื่อตรง. (บทเพลงสรรเสริญ 92:12; ยะเอศเคล 40:14, 16, 22) สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับผู้มีความซื่อตรงทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. สอดคล้องกับเรื่องนี้ เราปรารถนาจะรักษาตัวให้ซื่อตรงเพื่อพระยะโฮวาจะทรงยอมรับการนมัสการของเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 11:7.
4. ใครถูกห้ามไม่ให้เข้าพระวิหาร และเรื่องนี้สอนอะไรแก่เรา?
4 แต่ละด้านของซุ้มประตูทางเข้า มีห้องยามสามห้อง. ยามจะอนุญาตให้เราเข้าไปข้างในพระวิหารไหม? พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ยะเอศเคลว่า ไม่ทรงอนุญาตให้คนต่างประเทศที่ “ยังมิได้รับศีลตัดด้วยใจ [“รับสุหนัตที่หัวใจ,” ล.ม.]” เข้าไป. (ยะเอศเคล 40:10; 44:9) นั่นหมายความว่าอย่างไร? พระเจ้าทรงยอมรับเฉพาะคนที่รักพระบัญญัติของพระองค์และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข้อกฎหมายเหล่านั้นให้เป็นผู้นมัสการพระองค์. (ยิระมะยา 4:4; โรม 2:29) พระองค์ทรงต้อนรับคนเช่นนั้นเข้าไว้ในพลับพลาฝ่ายวิญญาณหรือพระนิเวศแห่งการนมัสการของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1-5) นับตั้งแต่มีการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ในปี 1919 องค์การทางแผ่นดินโลกของพระยะโฮวาได้ยกชูข้อกฎหมายด้านศีลธรรมของพระองค์และทำให้ข้อกฎหมายนั้นกระจ่างชัดขึ้นเรื่อย ๆ. คนที่จงใจไม่เชื่อฟังไม่ได้รับการต้อนรับให้คบหากับไพร่พลของพระองค์อีกต่อไป. ปัจจุบัน การตัดสัมพันธ์ผู้ทำผิดที่ไม่ยอมกลับใจซึ่งสอดคล้องกับหลักพระคัมภีร์ได้ช่วยรักษาการนมัสการของเราให้สะอาดและบริสุทธิ์.—1 โกรินโธ 5:13.
5. (ก) มีข้อคล้ายคลึงกันอะไรบ้างระหว่างนิมิตของยะเอศเคลกับนิมิตของโยฮันซึ่งบันทึกไว้ที่วิวรณ์ 7:9-15? (ข) ในนิมิตของยะเอศเคล 12 ตระกูลที่นมัสการอยู่บริเวณลานพระวิหารชั้นนอกเป็นภาพเล็งถึงใคร?
5 ซุ้มประตูทางเข้านำไปสู่ลานพระวิหารชั้นนอก ซึ่งเป็นบริเวณที่ประชาชนนมัสการและสรรเสริญพระยะโฮวา. เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงนิมิตของอัครสาวกโยฮันซึ่งกล่าวถึง “ชนฝูงใหญ่” ที่นมัสการพระยะโฮวา “ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” นิมิตทั้งสองพรรณนาถึงต้นปาล์ม. ในนิมิตของยะเอศเคล ต้นปาล์มประดับอยู่ที่ผนังซุ้มประตูทางเข้า. ในนิมิตของโยฮัน ผู้นมัสการถือทางปาล์มอยู่ในมือของตน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยินดีของพวกเขาในการสรรเสริญพระยะโฮวาและต้อนรับพระเยซูในฐานะกษัตริย์ของเขา. (วิวรณ์ 7:9-15, ล.ม.) ตามบริบทในนิมิตของยะเอศเคล 12 ตระกูลของยิศราเอลเล็งถึง “แกะอื่น.” (โยฮัน 10:16; เทียบกับลูกา 22:28-30.) คุณเป็นคนหนึ่งด้วยไหมที่พบความยินดีในการสรรเสริญพระยะโฮวาโดยการประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์?
6. ห้องรับประทานอาหารบริเวณลานพระวิหารชั้นนอกมีไว้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร และเรื่องนี้อาจทำให้คนที่เป็นแกะอื่นนึกถึงสิทธิพิเศษอะไร?
6 ขณะที่เราเดินชมลานพระวิหารชั้นนอก เราเห็นมีห้องอาหารอยู่ 30 ห้อง ซึ่งเป็นที่ที่ประชาชนรับประทานส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาที่ตนถวายด้วยใจสมัคร. (ยะเอศเคล 40:17, ล.ม.) ปัจจุบัน คนที่เป็นแกะอื่นไม่ถวายเครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ แต่พวกเขาไม่ได้มายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณมือเปล่า. (เทียบกับเอ็กโซโด 23:15.) อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “โดย [พระเยซู] นั้นจงให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย. นอกจากนั้น อย่าลืมการทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ กับคนอื่น ๆ ด้วยว่าพระเจ้าทรงชอบพระทัยด้วยเครื่องบูชาเช่นนั้น.” (เฮ็บราย 13:15, 16, ล.ม.; โฮเซอา 14:2) นับเป็นสิทธิพิเศษใหญ่หลวงที่จะถวายเครื่องบูชาเช่นนั้นแด่พระยะโฮวา.—สุภาษิต 3:9, 27.
7. การวัดพระวิหารให้คำรับรองแก่เราในเรื่องใด?
7 ยะเอศเคลเฝ้าดูขณะที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งวัดขนาดของพระวิหารในนิมิตนี้. (ยะเอศเคล 40:3) อัครสาวกโยฮันได้รับคำสั่งให้ทำคล้าย ๆ กัน: “จงลุกขึ้นและวัดสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารของพระเจ้าและแท่นบูชาและคนเหล่านั้นที่นมัสการในที่นั่น.” (วิวรณ์ 11:1, ล.ม.) การวัดนี้มีความหมายเช่นไร? ในทั้งสองกรณี จะเห็นได้ว่าการวัดเป็นการรับประกันหรือเป็นหมายสำคัญว่าไม่มีสิ่งใดสามารถยับยั้งพระยะโฮวาไว้จากการทำให้พระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับการนมัสการบริสุทธิ์บรรลุผลสำเร็จ. ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เรามั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งใด—แม้แต่การต่อต้านอย่างรุนแรงจากรัฐบาลที่มีอำนาจ—ที่อาจยับยั้งการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์.
8. ใครผ่านประตูเข้าไปสู่ลานพระวิหารชั้นใน และประตูเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงอะไร?
8 ขณะที่เราเดินตัดผ่านลานพระวิหารชั้นนอกเข้าไป เราก็จะพบว่ามีประตูอยู่สามประตูซึ่งนำเข้าไปสู่ลานพระวิหารชั้นใน; ประตูชั้นในเหล่านี้อยู่ในแนวเดียวกันและขนาดเท่ากันกับประตูชั้นนอก. (ยะเอศเคล 40:6, 20, 23, 24, 27) เฉพาะปุโรหิตเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในลานพระวิหารชั้นใน. ประตูชั้นในเหล่านี้เตือนใจเราว่าผู้ถูกเจิมต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกฎหมายของพระเจ้า แต่กฎหมายและมาตรฐานเดียวกันนี้ชี้นำคริสเตียนแท้ทุกคน. แต่งานของปุโรหิตคืออะไร และมีความหมายเช่นไรในปัจจุบัน?
คณะปุโรหิตที่ซื่อสัตย์
9, 10. “คณะปุโรหิตหลวง” ซึ่งคณะปุโรหิตในนิมิตของยะเอศเคลเป็นภาพเล็งถึง ได้จัดให้มีการสอนฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
9 ก่อนสมัยคริสเตียน ปุโรหิตทำงานหนักที่พระวิหาร. การฆ่าสัตว์บูชา, ถวายสัตว์เหล่านี้บนแท่น, อีกทั้งเสิร์ฟให้แก่เพื่อนปุโรหิตด้วยกันและประชาชน เป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก. แต่พวกเขามีงานสำคัญอย่างอื่นด้วย. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาว่า ปุโรหิต “จะต้องสั่งสอนประชากรของเราถึงความแตกต่างระหว่างของบริสุทธิ์และของสาธารณ์ และสำแดงให้เขาสังเกตได้ว่า อะไรเป็นมลทินและอะไรไม่เป็นมลทิน.”—ยะเอศเคล 44:23, ฉบับแปลใหม่; มาลาคี 2:7.
10 คุณแสดงความหยั่งรู้ค่าไหมต่องานหนักและการรับใช้ด้วยใจถ่อมที่เหล่าผู้ถูกเจิมซึ่งร่วมกันเป็นกายเดียวในฐานะ “คณะปุโรหิตหลวง” ได้ทำโดยเห็นแก่การนมัสการบริสุทธิ์? (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) เช่นเดียวกับเหล่าปุโรหิตชาวเลวีในคราวโบราณ พวกเขานำหน้าในการสอนทางฝ่ายวิญญาณ ช่วยผู้คนให้เข้าใจว่าอะไรสะอาดและเป็นที่ยอมรับในสายพระเนตรพระเจ้า อะไรที่ไม่สะอาดและไม่ทรงยอมรับ. (มัดธาย 24:45) การสอนอย่างนี้ซึ่งออกมาในรูปสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก และโดยทางการประชุมประจำประชาคมและการประชุมใหญ่ ได้ช่วยหลายล้านคนให้กลับคืนดีกับพระเจ้า.—2 โกรินโธ 5:20.
11. (ก) นิมิตของยะเอศเคลเน้นอย่างไรถึงความสำคัญของความสะอาดในส่วนของพวกปุโรหิต? (ข) ในสมัยสุดท้าย ชนผู้ถูกเจิมได้รับการชำระให้สะอาดในแง่ฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
11 อย่างไรก็ตาม ปุโรหิตต้องไม่เพียงแต่สอนผู้อื่นให้ประพฤติตัวสะอาด; ตัวเขาเองต้องสะอาดด้วย. ด้วยเหตุนี้ ยะเอศเคลเห็นล่วงหน้าถึงขั้นตอนการถลุงสำหรับคณะปุโรหิตแห่งยิศราเอล. (ยะเอศเคล 44:10-16) ในทำนองเดียวกัน ประวัติศาสตร์แสดงว่าในปี 1918 พระยะโฮวาทรงประทับนั่ง “เหมือนช่างหลอม” ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ ตรวจสอบชนจำพวกผู้ถูกเจิมที่ทำหน้าที่เป็นปุโรหิต. (มาลาคี 3:1-5) คนที่ถูกนับว่าสะอาดทางฝ่ายวิญญาณหรือคนที่กลับใจจากการบูชารูปเคารพในอดีตได้รับอนุญาตให้มีสิทธิพิเศษรับใช้ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ต่อไป. กระนั้น เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ทั้งหมด ผู้ถูกเจิมบางคนอาจกลายเป็นคนไม่สะอาดได้ ทั้งทางฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม. (ยะเอศเคล 44:22, 25-27) พวกเขาต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษาตัวให้ “พ้นจากด่างพร้อยของโลก.”—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.; เทียบกับมาระโก 7:20-23.
12. เหตุใดเราควรหยั่งรู้ค่างานของผู้ถูกเจิม?
12 พวกเราแต่ละคนน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันหยั่งรู้ค่าตัวอย่างที่ผู้ถูกเจิมได้วางไว้ตลอดหลายปีที่เขารับใช้อย่างซื่อสัตย์ไหม? ฉันเลียนแบบอย่างความเชื่อของพวกเขาไหม?’ ชนฝูงใหญ่ควรจำไว้ว่าชนผู้ถูกเจิมจะไม่ได้อยู่กับพวกเขาบนแผ่นดินโลกนี้ตลอดไป. พระยะโฮวาตรัสเกี่ยวกับปุโรหิตในนิมิตของยะเอศเคลดังนี้: “เจ้าจะมิได้ให้เขาทั้งหลายมีส่วน [ที่ดิน] ในยิศราเอล, เราเป็นส่วนของเขา.” (ยะเอศเคล 44:28) ในทำนองเดียวกัน ชนผู้ถูกเจิมไม่มีที่ถาวรบนแผ่นดินโลก. พวกเขามีมรดกฝ่ายสวรรค์ และชนฝูงใหญ่ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่จะสนับสนุนและให้กำลังใจพวกเขาขณะที่เขายังอยู่บนแผ่นดินโลก.—มัดธาย 25:34-40; 1 เปโตร 1:3, 4.
หัวหน้า—ใครกัน?
13, 14. (ก) เหตุใดหัวหน้าต้องได้แก่ชนที่เป็นแกะอื่น? (ข) หัวหน้าเป็นภาพหมายถึงใคร?
13 ถึงตรงนี้ เกิดมีคำถามที่น่าคิดขึ้นมาข้อหนึ่ง. ถ้าอย่างนั้น หัวหน้าหมายถึงใคร? เนื่องจากมีการกล่าวถึงหัวหน้าทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและเป็นกลุ่ม เราอาจสันนิษฐานได้ว่า หัวหน้าหมายถึงคนกลุ่มหนึ่ง. (ยะเอศเคล 44:3; 45:8, 9) แต่ว่าคนกลุ่มไหนล่ะ? ไม่ใช่ชนผู้ถูกเจิมแน่นอน. ในนิมิต หัวหน้าทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะปุโรหิต แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะปุโรหิต. ไม่เหมือนกับชนจำพวกปุโรหิต เขาได้รับมรดกในแผ่นดินและด้วยเหตุนั้นจึงมีอนาคตบนแผ่นดินโลกนี้ ไม่ใช่ในสวรรค์. (ยะเอศเคล 48:21) นอกจากนั้น ยะเอศเคล 46:10 กล่าวดังนี้: “[“หัวหน้า,” ล.ม.] จะเสด็จเข้าไปในท่ามกลางคนทั้งหลาย [ที่ไม่ใช่ตระกูลปุโรหิต] ที่เข้าไป [ยังลานพระวิหารชั้นนอก], และจะเสด็จออกไปเมื่อเขาทั้งหลายออกไป.” เขาไม่เข้าไปในลานพระวิหารชั้นใน แต่นมัสการที่ลานพระวิหารชั้นนอก เข้าและออกจากพระวิหารด้วยกันกับประชาชน. ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงระบุชัดว่าหัวหน้าอยู่ในกลุ่มชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่น.
14 เห็นได้ชัดว่า หัวหน้ามีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า. ที่ลานพระวิหารชั้นนอก เขานั่งอยู่ใต้ซุ้มของประตูทางเข้าด้านตะวันออก. (ยะเอศเคล 44:2, 3) การนั่งอยู่ที่นี่เช่นนี้บ่งบอกว่าเขาคงมีตำแหน่งเป็นผู้ดูแล คล้าย ๆ กับพวกผู้เฒ่าผู้แก่ในยิศราเอลที่นั่งอยู่ที่ประตูเมืองและทำหน้าที่พิพากษา. (ประวัตินางรูธ 4:1-12; สุภาษิต 22:22) ใครในหมู่แกะอื่นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในปัจจุบัน? เหล่าผู้ปกครองซึ่งมีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั่นเอง. (กิจการ 20:28) ดังนั้น ในเวลานี้ชนจำพวกหัวหน้ากำลังถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับการรับใช้ด้านการบริหารในโลกใหม่.
15. (ก) นิมิตของยะเอศเคลให้ความกระจ่างอย่างไรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองที่เป็นชนฝูงใหญ่กับผู้ปกครองที่เป็นชนจำพวกปุโรหิตที่ได้รับการเจิม? (ข) ผู้ปกครองที่เป็นผู้ถูกเจิมนำหน้าเช่นไรในองค์การของพระเจ้าทางแผ่นดินโลก?
15 กระนั้น ในปัจจุบันความสัมพันธ์ของคนสองกลุ่มนี้เป็นเช่นไร ระหว่างชนจำพวกผู้ถูกเจิมที่เป็นปุโรหิตกับเหล่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นส่วนหนึ่งของชนฝูงใหญ่และรับใช้ในตำแหน่งผู้ดูแล? นิมิตของยะเอศเคลบอกเป็นนัย ๆ ว่า ผู้ปกครองที่อยู่ในส่วนของชนฝูงใหญ่มีบทบาทในการสนับสนุนและเป็นบทบาทรอง ในขณะที่ชนผู้ถูกเจิมนำหน้าทางฝ่ายวิญญาณ. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? พึงจำไว้ว่า ปุโรหิตในนิมิตมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะสอนประชาชนในสิ่งฝ่ายวิญญาณ. พวกเขายังได้รับพระบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาคดีความตามกฎหมายด้วย. นอกจากนี้ ชาวเลวีได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็น “ผู้ดูแล” ที่ประตูต่าง ๆ ของพระวิหาร. (ยะเอศเคล 44:11, 23, 24) เห็นได้ชัดว่า หัวหน้าต้องยอมอยู่ใต้การรับใช้และการนำทางฝ่ายวิญญาณของพวกปุโรหิต. ดังนั้น จึงเหมาะสมที่ในสมัยปัจจุบันผู้ถูกเจิมเป็นผู้นำหน้าในการนมัสการบริสุทธิ์. ตัวอย่างเช่น สมาชิกแห่งคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาก็ได้รับเลือกมาจากชนผู้ถูกเจิม. ผู้ปกครองที่เป็นผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้อบรมผู้ที่จะประกอบเป็นชนจำพวกหัวหน้ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เตรียมคนเหล่านี้ไว้เพื่อจะเป็นสมาชิกของชนจำพวกหัวหน้า เพื่อว่าเมื่อเวลามาถึง พวกเขาจะรับมอบหน้าที่อย่างเต็มที่ในโลกใหม่ของพระเจ้าที่กำลังจะมาถึง.
16. ตามในยะซายา 32:1, 2 ผู้ปกครองทุกคนต้องปฏิบัติอย่างไร?
16 คนเหล่านี้ที่คาดว่าจะเป็นสมาชิกที่จะรับเอาหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นในฐานะชนจำพวกหัวหน้าเป็นผู้ดูแลชนิดใด? คำพยากรณ์ซึ่งพบในยะซายา 32:1, 2 (ล.ม.) บอกดังนี้: “นี่แน่ะ! กษัตริย์จะครองราชย์เพื่อความชอบธรรม; ส่วนพวกเจ้าชาย พวกเขาจะปกครองเป็นเจ้าชายเพื่อความยุติธรรม. และแต่ละท่านต้องเป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน เหมือนสายธารในประเทศที่แล้งน้ำ เหมือนร่มเงาแห่งหินผาใหญ่ในแดนกันดาร.” คำพยากรณ์นี้กำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่คริสเตียนผู้ปกครองทั้งที่เป็นผู้ถูกเจิมและแกะอื่นต่างก็ทำงานเพื่อปกป้องฝูงแกะให้พ้น “พายุฝน” แห่งการกดขี่และความท้อแท้ใจ.
17. คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงควรมีทัศนะต่อตัวเองอย่างไร และฝูงแกะควรมีทัศนะอย่างไรต่อพวกเขา?
17 คำว่า “เจ้าชาย” และ “หัวหน้า” ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกันในภาษาฮีบรู ไม่ได้ใช้เป็นชื่อตำแหน่งที่มุ่งหมายจะยกย่องมนุษย์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คำทั้งสองนี้ใช้เพื่อบอกถึงหน้าที่รับผิดชอบที่ผู้ชายเหล่านี้แบกรับในการเอาใจใส่ดูแลเหล่าแกะของพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงเตือนอย่างจริงจังดังนี้: “เจ้า [“หัวหน้า,” ล.ม.] ทั้งหลายของยิศราเอลเอ๋ย, จงให้พอแก่เจ้า, การชั่วร้ายแก่การปล้นต้องละทิ้งเสีย, และจงประพฤติความสัตย์และความชอบธรรม.” (ยะเอศเคล 45:9) ผู้ปกครองทุกคนในปัจจุบันควรจำคำแนะนำนี้เอาไว้เสมอ. (1 เปโตร 5:2, 3) ส่วนฝูงแกะเองก็ตระหนักว่าพระเยซูทรงจัดผู้บำรุงเลี้ยงเหล่านี้ไว้ให้เป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์.” (เอเฟโซ 4:8, ล.ม.) คุณวุฒิของพวกเขามีกำหนดไว้ในพระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:5-9) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนจึงติดตามการนำของผู้ปกครอง.—เฮ็บราย 13:7.
18. หน้าที่รับผิดชอบบางประการในเวลานี้ของผู้ที่จะประกอบเป็นชนจำพวกหัวหน้าคืออะไร และหน้าที่รับผิดชอบของชนจำพวกนี้ในอนาคตคืออะไร?
18 ในสมัยที่เขียนคัมภีร์ไบเบิล หัวหน้าบางคนมีอำนาจมาก บางคนมีอำนาจน้อย. ในปัจจุบัน ผู้ปกครองที่เป็นชนฝูงใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างหลากหลาย. บางคนรับใช้ในประชาคมหนึ่ง; บางคนรับใช้หลาย ๆ ประชาคมในฐานะผู้ดูแลเดินทาง; บางคนรับใช้ทั้งประเทศในฐานะสมาชิกคณะกรรมการสาขา; และบางคนช่วยโดยตรงในงานของคณะกรรมการปกครองคณะต่าง ๆ. ในโลกใหม่ พระเยซูจะทรงแต่งตั้ง “เจ้าชายทั่วแผ่นดินโลก” ให้นำหน้าในท่ามกลางผู้นมัสการพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกนี้. (บทเพลงสรรเสริญ 45:16, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูจะทรงเลือกคนเหล่านี้หลายคนจากท่ามกลางเหล่าผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์ในสมัยนี้. เนื่องจากชายเหล่านี้กำลังพิสูจน์ตัวเองอยู่ในเวลานี้ พระองค์จะทรงเลือกมอบสิทธิพิเศษที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคตให้แก่หลายคน เมื่อพระองค์ทรงเปิดเผยบทบาทของชนจำพวกหัวหน้าในโลกใหม่.
แผ่นดินของไพร่พลพระเจ้าในปัจจุบัน
19. แผ่นดินในนิมิตของยะเอศเคลหมายถึงอะไร?
19 นิมิตของยะเอศเคลยังพรรณนาถึงแผ่นดินยิศราเอลที่ได้รับการฟื้นฟูด้วย. แง่มุมนี้ของนิมิตหมายถึงอะไร? คำพยากรณ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูข้ออื่น ๆ บอกล่วงหน้าว่าแผ่นดินยิศราเอลจะเป็นอุทยานดุจดังสวนเอเดน. (ยะเอศเคล 36:34, 35) ปัจจุบัน เรามี “แผ่นดิน” ที่ได้รับการฟื้นฟู และแผ่นดินนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนสวนเอเดนด้วย. ในทำนองเดียวกัน หลายครั้งเรากล่าวว่าเราอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. หอสังเกตการณ์ นิยามคำ “แผ่นดิน” ว่าหมายถึง “ดินแดนแห่งกิจกรรม” ของไพร่พลที่ได้รับการเลือกสรรของพระเจ้า.b ไม่ว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ตราบใดเขาบากบั่นพยายามที่จะเชิดชูการนมัสการแท้โดยเดินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์ ตราบนั้นเขาก็อยู่ในแผ่นดินนั้นที่ได้รับการฟื้นฟู.—1 เปโตร 2:21.
20. หลักการอะไรที่เราอาจเรียนได้จาก “ตำบลบริสุทธิ์” ในนิมิตของยะเอศเคล และเราอาจใช้หลักการข้อนี้อย่างไร?
20 จะว่าอย่างไรสำหรับส่วนของแผ่นดินที่เรียกว่า “ตำบลบริสุทธิ์”? ที่ดินส่วนนี้เป็นส่วนที่ประชาชนถวายให้เพื่อสนับสนุนค้ำจุนคณะปุโรหิตและเมืองนั้น. ในทำนองเดียวกัน “ประชาชนทั้งปวงในแผ่นดิน” ต้องถวายที่ดินส่วนหนึ่งแก่หัวหน้า. เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรในทุกวันนี้? แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าไพร่พลของพระเจ้าควรรับภาระในการให้เงินเดือนแก่ชนจำพวกนักเทศน์. (2 เธซะโลนิเก 3:8) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การสนับสนุนที่ให้แก่เหล่าผู้ปกครองในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นทางฝ่ายวิญญาณ. การสนับสนุนนี้รวมถึงการช่วยงานที่ผู้ปกครองทำและแสดงน้ำใจร่วมมือและยอมอยู่ใต้อำนาจ. กระนั้น เช่นเดียวกับในสมัยยะเอศเคล การถวายนี้ถวาย “แก่พระยะโฮวา” ไม่ใช่แก่มนุษย์.—ยะเอศเคล 45:1, 7, 16.
21. เราอาจเรียนอะไรได้จากการแบ่งที่ดินในนิมิตของยะเอศเคล?
21 ไม่เฉพาะหัวหน้าและคณะปุโรหิตเท่านั้นที่มีสถานที่ซึ่งได้มีการโอนให้แก่พวกเขาในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟูนี้. การแบ่งส่วนที่ดินแสดงว่าแต่ละตระกูลของ 12 ตระกูลมีมรดกอันมั่นคง. (ยะเอศเคล 47:13, 22, 23) ดังนั้น ชนฝูงใหญ่ไม่เพียงแต่มีที่อยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณในปัจจุบัน แต่ยังจะได้รับมอบที่ดินเมื่อพวกเขาได้รับมรดกให้อยู่ในอาณาเขตทางแผ่นดินโลกนี้แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.
22. (ก) เมืองในนิมิตของยะเอศเคลหมายถึงอะไร? (ข) เราอาจเรียนอะไรจากการที่เมืองมีประตูรอบด้าน?
22 ประการสุดท้าย เมืองที่อยู่ในนิมิตนั้นหมายถึงอะไร? เมืองนี้ไม่ใช่เมืองสวรรค์ เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินซึ่ง “มิได้เป็นที่บริสุทธิ์” (ไม่ศักดิ์สิทธิ์). (ยะเอศเคล 48:15-17) ดังนั้น เมืองนี้ต้องเป็นอะไรบางอย่างฝ่ายแผ่นดินโลก. เอาละ เมืองคืออะไร? เมื่อพูดถึงเมืองเราคิดถึงผู้คนที่มารวมกันเป็นกลุ่มและประกอบกันเป็นสิ่งที่มีโครงสร้างและจัดไว้ให้เป็นระเบียบมิใช่หรือ? ใช่. ฉะนั้น เมืองนี้จึงดูเหมือนจะเป็นภาพเล็งถึงการบริหารทางแผ่นดินโลกนี้ ซึ่งอำนวยผลประโยชน์แก่ทุกคนที่จะประกอบกันเป็นสังคมโลกที่ชอบธรรม. เมืองนี้จะดำเนินงานอย่างเต็มที่ใน “แผ่นดินโลกใหม่” ที่กำลังจะมาถึง. (2 เปโตร 3:13) ประตูเมืองที่อยู่รอบด้าน ซึ่งแต่ละประตูก็สำหรับตระกูลหนึ่ง เป็นภาพแสดงอย่างดีถึงความเปิดเผย. ปัจจุบัน ไพร่พลพระเจ้ามิได้อยู่ภายใต้การบริหารแบบลับ ๆ. พี่น้องที่ดูแลรับผิดชอบสามารถเข้าพบได้; หลักการที่ชี้นำพวกเขาก็เป็นที่เข้าใจดีกันทุกคน. ข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนจากทุกตระกูลเพาะปลูกบนที่ดินซึ่งให้การค้ำจุนแก่เมืองนั้นเตือนให้เรานึกถึงการที่แกะอื่นให้การสนับสนุน แม้แต่ในทางวัตถุ ต่อการจัดเตรียมด้านการบริหารสำหรับไพร่พลพระเจ้าทั่วโลก.—ยะเอศเคล 48:19, 30-34.
23. เราจะพิจารณาเรื่องอะไรในบทความต่อไป?
23 แต่จะว่าอย่างไรสำหรับแม่น้ำที่ไหลจากพระวิหารอันบริสุทธิ์? แม่น้ำนั้นหมายถึงอะไรในทุกวันนี้และต่อไปในอนาคตด้วย นั่นคือหัวข้อเรื่องของบทความที่สามและเป็นบทความสุดท้ายในชุดนี้.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 64 ข้อ 22 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
จุดทบทวน
▫ พระวิหารในนิมิตของยะเอศเคลเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
▫ ปุโรหิตที่รับใช้อยู่ ณ พระวิหารเป็นภาพเล็งถึงใคร?
▫ ชนจำพวกหัวหน้าได้แก่ใคร และหน้าที่รับผิดชอบบางประการของชนจำพวกนี้คืออะไร?
▫ แผ่นดินในนิมิตของยะเอศเคลหมายถึงอะไร และแผ่นดินนี้ถูกจัดสรรแก่ 12 ตระกูลในแง่ใด?
▫ เมืองเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การจัดสรรที่ดินตามคำพรรณนาในนิมิตของยะเอศเคล
สิบสองตระกูล
ทะเลใหญ่
ทะเลฆาลิลาย
แม่น้ำยาระเดน
ทะเลตาย
ดาน
อาเซร
นัฟธาลี
มะนาเซ
เอฟรายิม
รูเบ็น
ยูดา
หัวหน้า
เบนยามิน
ซิมโอน
ยิศซาคาร
ซะบูโลน
ฆาด
[แผนภูมิ]
ภาพขยายของตำบลบริสุทธิ์
A. พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ที่นั่น (ยะโฮวาชัมมาห์); B. ที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ของเมือง
ส่วนของชาวเลวี
พระวิหารของพระยะโฮวา
ส่วนของปุโรหิต
B A B