จงขอบพระคุณ—พระมาซีฮาทรงปกครองในราชอาณาจักรของพระยะโฮวา
“ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบคุณพระองค์ พระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ . . . เพราะพระองค์ทรงไว้ซึ่งอำนาจยิ่งใหญ่และเริ่มครอบครองเป็นพระมหากษัตริย์.”—วิวรณ์ 11:17, ล.ม.
1. นายกสมาคมวอชเทาเวอร์ได้แถลงข่าวอะไรหลังจากการท่องยุโรปในปี 1911?
ย่างเข้าปีสากลศักราช 1911 นายกสมาคมวอชเทาเวอร์คือ ซี. ที. รัสเซลล์ได้จัดชุดคำบรรยายให้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลตามเมืองใหญ่หลายแห่งในยุโรป. จากการเดินทางรอบนั้น รัสเซลล์ได้เขียนแสดงความคิดเห็นลงในวารสารเดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับ 15 พฤษภาคม 1911 ดังนี้: “เรารู้สึกประหลาดใจที่ได้พบหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองทั่วทุกแห่ง . . . ผู้อ่านหนังสือของเรารู้ดีว่าหลายปีแล้วพวกเราได้คาดว่า ยุคนี้จะถึงอวสานพร้อมด้วยเวลาที่ยุ่งยากลำบากแสนเข็ญ และเราคาดหมายว่าวาระนี้จะมาอย่างฉับพลันและรุนแรง ไม่นานหลังเดือนตุลาคม ปี 1914 ซึ่งเท่าที่เราสามารถเข้าใจพระคัมภีร์ว่าเวลาของคนต่างประเทศ—การปล่อยอำนาจปกครองโลกไว้กับคนต่างประเทศ—จะสิ้นสุดลง เหตุฉะนั้น จึงเป็นวาระสำหรับราชอาณาจักรมาซีฮาจะเริ่มใช้อำนาจปกครอง.” ความคาดหมายเช่นนี้สำเร็จสมจริงไหม?
2. ในปี 1914 สันติสุขพังทลายหมดสิ้นไปโดยวิธีใด มีผลน่าเศร้าอะไรตามมา?
2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 1914 โลกดูเหมือนสงบสุขไม่มีวี่แววสงคราม. แต่โดยกะทันหันสันติสุขก็พังทลายด้วยการที่ชาวเซอร์เบียได้ลอบสังหารมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรียเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914. ต่อจากนั้น ประเทศออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย. รุสเซียเข้าช่วยฝ่ายเซอร์เบีย ดังนั้น เยอรมนีก็ได้ประกาศสงครามกับรุสเซีย ณ วันที่ 1 สิงหาคม. แล้ววันที่ 3 สิงหาคม เยอรมนีได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศส; อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 4 สิงหาคม; มอนเตเนโกรประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม; ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 23 สิงหาคม; ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเบลเยียมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม. หลายคนเข้าใจว่าสงครามคงจะยุติในเวลาอันสั้น. แต่ไม่เป็นตามที่คิด สงครามทวีความรุนแรงร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงเวลานั้น ยังมีอีก 19 ชาติร่วมในสงครามนองเลือดระหว่างชาติครั้งนั้นซึ่งคร่าชีวิตทหารและพลเรือนมากกว่า 13 ล้านคน มากกว่า 21 ล้านคนพิการและบาดเจ็บ.
3, 4. เกิดอะไรขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมเมื่อเช้าวันศุกร์ วันที่ 2 ตุลาคม ปี 1914?
3 เช้าวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 1914 รัสเซลล์ประกาศแก่ผู้ร่วมคณะ ณ สำนักงานใหญ่ของสมาคมวอชเทาเวอร์ในบรุคลีน นิวยอร์ก ดังนี้: “เวลาของคนต่างประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว กษัตริย์ทั้งหลายหมดโอกาสแล้ว.” พอจบคำประกาศก็มีเสียงตบมือกึกก้องจากสมาชิกครอบครัวเบเธล “ราชสำนักของพระเจ้า.”
4 ซี. ที. รัสเซลล์พร้อมกับมวลมิตรสหายของท่านมีเหตุผลอะไรถึงกับเกิดความปีติยินดีกันทั่วหน้าในเช้าวันนั้นของเดือนตุลาคม? คำ “เวลาของคนต่างประเทศ” เริ่มขึ้นที่ไหน? มีหลักฐานอะไรซึ่งแสดงว่าเวลาของคนต่างประเทศสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมปี 1914? และเรื่องนี้น่าจะกระทบกระเทือนคุณอย่างไร?
ยะรูซาเลมกับเวลาของคนต่างประเทศ
5. ถ้อยคำ “เวลาของคนต่างประเทศ” มีรากมาจากที่ไหน?
5 คำ “เวลาของคนต่างชาติ” หรือ “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” สืบเนื่องมาจากคำพยากรณ์สำคัญของพระเยซูว่าด้วยความพินาศของกรุงยะรูซาเลม. (ลูกา 21:5-36) สองวันก่อนแถลงคำพยากรณ์นี้ พระเยซูทรงเสนอพระองค์เองแก่ประชาชนในกรุงยะรูซาเลมฐานะพระมาซีฮาที่เขาคอยหา. ขณะที่พระองค์ทรงขี่ลาอย่างสงบไปยังกรุงนั้น ชาวยิวกลุ่มใหญ่ส่งเสียงโห่ร้องต้อนรับพระองค์ เหมือนที่ซะคาระยา 9:9 พยากรณ์ไว้. คนเหล่านั้นร้องดัง ๆ ว่า “พระพรแด่ท่านผู้นั้นซึ่งเสด็จมาเป็นกษัตริย์ในพระนามของพระยะโฮวา.”—ลูกา 19:28-40, ล.ม.
6, 7. ชาวยูดายในศตวรรษแรกก่อเหตุร้ายอะไรอันเป็นความผิดร้ายแรงฐานทำให้โลหิตตก พร้อมกับมีผลอะไรติดตามมา?
6 แต่พระเยซูทรงทราบว่าความคิดเห็นของประชาชนในไม่ช้าจะถูกชักนำให้ต่อต้านพระองค์ เนื่องจากความอาฆาตแค้นของผู้นำฝ่ายศาสนาแห่งยะรูซาเลมภายใต้อำนาจจูงใจของพญามาร พ่อของพวกเขานั่นเอง. (เยเนซิศ 3:15; โยฮัน 8:44) จากนั้นไม่นาน วันที่ 14 เดือนไนซาน คนยิวกลุ่มใหญ่ส่งเสียงเอ็ดอึงให้สังหารพระเยซู. พวกเขาตะโกนขอผู้ว่าราชการชาวโรมันซึ่งยังลังเลใจอยู่ “ให้เลือดเขาตกอยู่บนเรา ทั้งบุตรของเราด้วย.” (มัดธาย 27:24, 25) แทนที่จะยอมรับรองพระเยซูเป็นกษัตริย์มาซีฮา ปุโรหิตใหญ่เหล่านั้นประกาศว่า “เราไม่มีกษัตริย์ นอกจากกายะซา.” (โยฮัน 19:15) ดังนั้น มาซีฮาตัวจริงถูกตอกตรึงติดหลักทรมานจนตาย ในข้อหาอันเป็นเท็จว่า กบฏต่อจักรวรรดิโรมันและหมิ่นประมาทพระเจ้าของชาวยิว.—มาระโก 14:61-64; ลูกา 23:2; โยฮัน 18:36, 19:7.
7 พระพิโรธของพระเจ้าจะตกอยู่กับชาวเมืองยูดายเป็นแท้ เพราะเขามีความผิดอย่างร้ายแรงฐานทำให้โลหิตตก. ยะรูซาเลมพร้อมด้วยพระวิหารอันงามสง่าจะไม่ได้ถูกขนานนามเป็น “ราชธานีของพระบรมมหากษัตริย์” คือพระยะโฮวาอีกต่อไป. (มัดธาย 5:35; ลูกา 13:33-35) ไม่กี่วันก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์ สาวกของพระองค์ต่างก็พูดถึงตัวอาคารวิหารในกรุงนี้ด้วยความรู้สึกชื่นชม. พระเยซูตรัสตอบเขาโดยพยากรณ์ว่า “สิ่งเหล่านี้ที่ท่านทั้งหลายเห็น วันหนึ่งศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ที่นี่ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้.”—ลูกา 21:5, 6.
8. เมื่อพระเยซูทรงให้ “หมายสำคัญ” เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งกรุงยะรูซาเลมถูกทำลายนั้น มีอะไรอื่นอีกที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย?
8 เหล่าสาวกของพระเยซูทูลถามด้วยความฉงนว่า “อาจารย์เจ้าข้า เหตุการณ์เหล่านี้จะบังเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีนิมิตอะไรเป็นหมายสำคัญว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะบังเกิดขึ้น?” (ลูกา 21:7) ในคำตอบ พระเยซูได้ตรัสพยากรณ์อย่างถี่ถ้วนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนยะรูซาเลมจะถูกทำลาย และพระองค์ทรงเพิ่มข้อความสำคัญตอนหนึ่งที่ว่า “คนต่างประเทศจะเหยียบย่ำกรุงยะรูซาเลม จนกว่าเวลากำหนดของคนต่างประเทศจะครบถ้วน.” (ลูกา 21:8-24) ฉะนั้น พระเยซูทรงชี้ไปล่วงหน้าถึงบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากการทำลายกรุงยะรูซาเลม—สิ่งซึ่งต้องรอคอย “จนกว่าเวลากำหนดของคนต่างประเทศจะครบถ้วน.” เมื่อพาดพิงถึง “หมายสำคัญ” นั้น พระเยซูตรัสดังนี้ “เมื่อท่านทั้งหลายเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นบังเกิดมา จงรู้ว่าแผ่นดินของพระเจ้าใกล้จะถึงแล้ว.” (ลูกา 21:31) เหตุฉะนั้น หมายสำคัญนั้นจะต้องสำเร็จสมจริงสองครั้ง. ความสมจริงครั้งแรกหรือในขอบข่ายเล็ก ๆ นั้นจะเป็นข้อบ่งชี้ว่า ‘ความพินาศของกรุงนั้นใกล้เข้ามาแล้ว.’ (ลูกา 21:20) ความสมจริงครั้งที่สอง ในขอบข่ายที่ใหญ่โตกว่า จะมาถึงเมื่อเวลากำหนดของคนต่างประเทศหมดลงแล้ว และจะเป็นข้อบ่งชี้ว่า “แผ่นดินของพระเจ้าใกล้จะถึงแล้ว.”—เทียบกับมัดธาย 24:3.
นครที่เลิศกว่าเข้ามาแทนกรุงยะรูซาเลมทางโลกนี้
9. ยะรูซาเลมทางโลกนี้สูญเสียฐานะเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเมื่อไร และมีอะไรเข้ามาแทนที่?
9 โดยคำพูดที่ว่า “คนต่างประเทศจะเหยียบย่ำกรุงยะรูซาเลม จนกว่าเวลากำหนดของคนต่างประเทศจะครบถ้วน” พระเยซูได้แนะให้รู้ว่ากรุงนั้นซึ่งเคยตั้งอยู่ในโลกในที่สุดจะได้รับการกอบกู้ขึ้นตามชอบพระทัยพระเจ้าเช่นนั้นหรือ? หามิได้. หลังจากพระบุตรสุดที่รักของพระเจ้าถูกฆ่าแล้ว ยะรูซาเลมทางโลกนี้ได้สูญเสียฐานะพิเศษตลอดกาล และมี “นครแห่งพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” เข้ามาแทนที่.—เฮ็บราย 12:22, ล.ม.; มัดธาย 23:37, 38; 27:50, 51.
10. คำพูดที่ว่า “ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” มีความหมายอย่างไร?
10 มีการใช้คำ “ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” ในคัมภีร์ไบเบิลก็เพื่อพรรณนาถึงราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์ที่จะถูกทำลายไม่ได้ ซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกเรียกไว้สำหรับราชอาณาจักรนี้เอง.a (เฮ็บราย 11:10; 12:22, 28) เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนข้อความตอนนี้ กรุงยะรูซาเลมบนแผ่นดินโลกพร้อมด้วยพระวิหารในกรุงนี้ยังคงเป็นที่นิยมชมชอบของคนยิวอยู่. ดังนั้น เปาโลได้เตือนใจคริสเตียนชาวฮีบรูดังนี้: “ที่นี่เราไม่มีเมืองที่ถาวร แต่ว่าเราแสวงหาเมืองที่จะมาเบื้องหน้านั้น.”—เฮ็บราย 13:14.
เหตุผลที่ถูกขนานนามว่ายะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์
11. ยะรูซาเลมเป็นตัวแทนของสิ่งใดจนกระทั่งถูกตัดขาดไม่เป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวาอีกต่อไป?
11 ยะรูซาเลมเคยเป็นเมืองหลวงของชาติยิศราเอลอยู่นาน ซึ่งมีคำกล่าวว่า บรรดากษัตริย์แห่งกรุงนั้น “นั่งบนพระที่นั่งของพระยะโฮวา.” (1 โครนิกา 29:23) อนึ่ง พระยะโฮวาได้ทรงทำสัญญาไมตรีกับดาวิดว่า ฐานะกษัตริย์จะยั่งยืนอยู่กับราชวงศ์ของท่านตลอดไป. เมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น วอชิงตัน มอสโคว์ แคนเบอรา และพริทอเรียถูกใช้แสดงถึงรัฐบาลของแต่ละประเทศโดยลำดับฉันใด ดังนั้น ยะรูซาเลมถูกนำมาใช้ในพระคัมภีร์เพื่อแสดงถึงอาณาจักรที่ปกครองโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ดาวิดฉันนั้น.—2 ซามูเอล 7:16; ลูกา 1:32.
12. “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” นั้นหมายความอย่างไร?
12 อาณาจักรของกษัตริย์ดาวิดมีขอบเขตจำกัด การแผ่อำนาจขยายเขตแดนของประเทศยิศราเอลโบราณเป็นไปตามที่พระเจ้ากำหนดให้เท่านั้น. เหตุฉะนั้น กรุงยะรูซาเลมทางโลกนี้จึงเป็นเพียงแบบแผนของราชอาณาจักรปกครองโดยมาซีฮาอย่างแท้จริง ซึ่งจะทรงปกครองจากสวรรค์และแผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 2:2, 7, 8; ดานิเอล 7:13, 14; 2 ติโมเธียว 4:18) ดังนั้น หนังสือ เวลานั้นมาใกล้แล้ว (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ในปี 1889 กล่าวชัดเจนดังนี้ “ถ้อยคำที่ว่า ‘เวลากำหนดของคนต่างประเทศ’ ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ตรัสถึงนั้นคือ ระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์โลกในช่วงระหว่างการยกเลิกราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งมีอาณาจักรยิศราเอลเป็นตัวอย่าง (ยะเอศเคล 21:25-27) กับการสถาปนาตัวจริงคือราชอาณาจักรแท้ ๆ ของพระเจ้า.”
เวลาของคนต่างประเทศ—นานกี่ปี?
13. เวลากำหนดของคนต่างประเทศเริ่มขึ้นเมื่อไร และทำไมคุณจึงตอบอย่างนั้น?
13 อาณาจักรของพระเจ้าซึ่งเป็นตัวอย่างนั้นถูกนะบูคัดเนซัรกษัตริย์บาบูโลนตีทำลายจนย่อยยับในปี 607 ก่อนสากลศักราช. แผ่นดินเริศร้างจริงประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นเดือนเจ็ดของพวกยิว.b (2 กษัตริย์ 25:8, 9, 22, 25, 26) เพื่อยืนยันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นไปโดยการดำเนินงานจากเบื้องบน พระเจ้ายะโฮวาทรงบันดาลนะบูคัดเนซัรให้ฝัน. ในฝันนั้นมีต้นไม้ต้นหนึ่งถูกโค่นและปล่อยไว้ให้แตกใบอีกภายหลังเวลาที่กำหนดไว้คือ “เจ็ดวาระ.” ความฝันนั้นได้สำเร็จสมจริงครั้งแรกเมื่อราชานะบูคัดเนซัรกลับคืนสู่บัลลังก์หลังจากเสียสติเป็นบ้าไปชั่วคราว.—ดานิเอล 4:10-17, 28–36.
14. อะไรเป็นสาระสำคัญในความฝันของนะบูคัดเนซัร?
14 อย่างไรก็ดี สาระสำคัญในความฝันของนะบูคัดเนซัรชี้ถึงความสมจริงครั้งสำคัญเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้าอันเป็นแบบเล็งถึง ซึ่งพระเจ้าทรงยอมให้กษัตริย์ต่างชาติองค์นั้น ‘โค่น’ ลง. ความฝันนั้นได้จบลงด้วยการระบุถึงวัตถุประสงค์ดังนี้ “เพื่อจะให้คนเป็นรู้ว่า พระผู้สูงสุดทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์ พอพระทัยจะประทานแก่ผู้ใด ก็ทรงประทานแก่ผู้นั้น และทรงยกคนต่ำต้อยที่สุด ตั้งขึ้นไว้ให้ครองแผ่นดินนั้น.”—ดานิเอล 4:17.
15. พระเยซูคริสต์มีคุณสมบัติอย่างไรกับการ “เป็นคนต่ำต้อยที่สุด”? (มัดธาย 11:29)
15 บุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้นซึ่งมีคุณสมบัติด้วยประการทั้งปวงจะถูกเรียกว่า “คนต่ำต้อยที่สุด.” พระบุตรองค์เดียวซึ่งได้รับการกำเนิดของพระเจ้าทรงพิสูจน์พระองค์เองเป็นคนต่ำต้อย โดยที่ทรงเต็มใจสละสง่าราศีทางสวรรค์แล้วลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์คือ พระเยซู ผู้ทรงยอมทนรับการเหยียดหยาม กระทั่งต้องสิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมานจากน้ำมือของซาตาน. (ฟิลิปปอย 2:3, 5–11) ภายหลังการฟื้นคืนพระชนม์และกลับไปรับสง่าราศีฝ่ายสวรรค์ พระเยซูจึงต้องคอยอยู่จนกว่าระยะเจ็ดวาระแห่งการครอบครองโดยคนต่างประเทศได้สิ้นสุดลงก่อนที่พระองค์ทรงประทับบัลลังก์เป็นมหากษัตริย์มาซีฮาปกครองมวลมนุษย์.—เฮ็บราย 10:12, 13.
16. พระธรรมวิวรณ์ช่วยคริสเตียนอย่างไรในการคำนวณเวลาเมื่อเจ็ดวาระนั้นสิ้นสุดลง?
16 แต่พยานพระยะโฮวาได้มาเข้าใจเรื่องระยะเวลาเจ็ดวาระนี้ได้อย่างไร? พระคัมภีร์เปิดเผยว่า “ชั่ววาระหนึ่ง และหลาย [สอง] วาระและกึ่งวาระ” หรือสามวาระครึ่งนั้นนานเท่ากับ 1,260 วัน. (วิวรณ์ 12:6, 14) ดังนั้น เมื่อทำให้จำนวนนั้นเพิ่มเป็นสองเท่าหรือเจ็ดวาระก็จะเป็น 2,520 วัน. โดยอาศัยเครื่องนำทางเชิงพยากรณ์เกี่ยวด้วย “เอาวันเป็นปี” เจ็ดวาระนานเท่ากับ 2,520 ปี. (อาฤธโม 14:34; ยะเอศเคล 4:6) โดยการคำนวณแบบนี้เวลาของคนต่างประเทศซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 607 ก่อนสากลศักราช ได้สิ้นสุดลงในกาลต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1914 เป็นระยะยาวนานถึง 2,520 ปี.
17. คำประกาศอะไรอันน่าชื่นใจซึ่งสมควรประกาศให้รู้กันทั่วในปี 1914?
17 ในเดือนตุลาคม ปี 1914 พระเจ้ายะโฮวาทรงตั้งพระบุตรที่รักคือ องค์พระผู้เป็นเจ้าเยซูคริสต์ให้ประทับบัลลังก์ในราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์. ในที่สุด นิมิตในพระธรรมวิวรณ์ที่คริสเตียนอัครสาวกโยฮันได้เห็นก็เริ่มสำเร็จสมจริง และสามารถป่าวประกาศได้ทีเดียวว่า “อาณาจักรของโลกนี้กลายเป็นอาณาจักรแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา [พระยะโฮวา] และของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์ [ยะโฮวา] จะทรงครอบครองเป็นกษัตริย์ตลอดไป.” (วิวรณ์ 1:10; 4:1; 11:15, ล.ม.) ช่างเป็นข่าวอันน่าปลาบปลื้มใจเสียนี่กระไร และเป็นเหตุทำให้มีความสุขเหลือล้นเพียงไรสำหรับรัชทายาทและไพร่ฟ้าประชากรแห่งราชอาณาจักรนั้น.—วิวรณ์ 11:17, ล.ม.
18. เหตุใดสถานการณ์ที่ชวนสลดใจจึงกระทบกระเทือนมนุษยชาติตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา?
18 เป็นความจริง ตั้งแต่ปี 1914 มนุษยชาติส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ค่อยประสบความสุขมากนัก. แต่สภาพการณ์ต่าง ๆ บนแผ่นดินโลกซึ่งแฝงด้วยความทุกข์เดือดร้อนเป็นข้อพิสูจน์ว่า การปกครองของซาตานจวนจะจบสิ้นลงแล้ว. เราทราบได้อย่างไร? พระธรรมวิวรณ์ระบุว่าการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าเช่นนั้นจะยังผลให้มีสงครามในสวรรค์. ซาตานกับปีศาจบริวารของมันจะถูกขับออกจากสวรรค์และถูกจำกัดตัวอยู่ในบริเวณแผ่นดินโลก. หลังจากได้เห็นชัยชนะนี้ในนิมิตเชิงพยากรณ์แล้ว โยฮันได้ยินเสียงดังร้องว่า “สวรรค์ทั้งหลายกับทั้งผู้ที่อยู่ในสวรรค์นั้นจงชื่นชมยินดีเถิด! วิบัติจะมีแก่แผ่นดินโลกและทะเล เพราะว่ามารลงมาถึงเจ้า มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยมันรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย.”—วิวรณ์ 12:1-12.
19. ทำไมคริสเตียนแท้ต่างก็รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากที่ตนมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน?
19 สภาพการณ์ของโลกซึ่งเลวลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 1914 เป็นข้อพิสูจน์ว่านิมิตที่โยฮันได้เห็นนั้นกลายเป็นเรื่องจริง และที่ว่าอวสานของมนุษย์ทุกคนที่ปฏิเสธไม่ยอมอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้านั้นก็คืบใกล้เข้ามาทุกที. (ลูกา 21:10, 11, 25–32) เป็นสิ่งน่ายินดีเพียงใดที่มีชีวิตอยู่ในยุคอันวิเศษยิ่งเช่นนี้เมื่อพระเจ้ายะโฮวาองค์ทรงอานุภาพทุกประการจะทรงยุติประเด็นสำคัญเกี่ยวด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์! ครั้นแล้ว แผ่นดินโลกจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอุทยานอันสวยงาม และมนุษย์ที่ชอบธรรมซึ่งรอดชีวิตก็จะได้รับการชูช่วยกระทั่งบรรลุความสมบูรณ์เต็มที่. แม้กระทั่งคนตายก็จะถูกปลุกขึ้นจากตายและจะมีโอกาสได้รับชีวิตนิรันดร์.—วิวรณ์ 20:1-3, 12, 13; 21:3-5.
ความจำเป็นที่ต้องปรับแง่คิดในสมัยปัจจุบัน
20. (ก) ใครในโลกนี้ซึ่งได้พิสูจน์ตัวเป็นผู้รับใช้แท้ของพระยะโฮวาก่อนปีสากลศักราช 1914? (ข) คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งซื่อสัตย์มั่นคงได้เต็มใจทำการปรับแง่คิดของตนอย่างไร?
20 ประมาณ 38 ปีก่อนปี 1914 นักศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล อันเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า เวลาของคนต่างประเทศจะครบถ้วนในปีนั้น.c นับว่าเป็นการพิสูจน์อย่างชัดแจ้งทีเดียวว่าพวกเขาเป็นผู้รับใช้แท้ของพระยะโฮวา! แต่ก็เช่นเดียวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยศตวรรษแรก พวกเขาเคยคาดหมายบางอย่างผิดไปเหมือนกัน. อาทิ เขาคาดหมายว่าพอถึงตุลาคม 1914 คริสเตียนผู้ถูกเจิมครบจำนวนจะถูกรับขึ้นสวรรค์. นอกจากนั้น พวกเขาคิดว่า สงครามซึ่งปะทุขึ้นในปี 1914 จะเข้าไปสู่จุดจบของโลกแห่งซาตานโดยตรง.
21. คริสเตียนแท้ได้รับการตีสอนอย่างไรระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
21 กระนั้น ไม่นานเท่าไรคริสเตียนผู้ถูกเจิมก็ตระหนักว่า ยังมีงานให้เขาทำอีกมากมายในโลกนี้. เพราะเหตุที่พวกเขายืนหยัดให้คำพยานแก่ประชาชนทั่วไประหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาจึงถูกข่มเหงอย่างร้ายกาจจากผู้มีอำนาจฝ่ายการเมือง โดยการยุยงส่งเสริมของนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร. (บทเพลงสรรเสริญ 2:1-6) การงานของคริสเตียนแท้เจอการจู่โจมอย่างหนักเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1918 เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ชั้นนำแห่งสมาคมวอชเทาเวอร์ในสหรัฐอเมริกาถูกตัดสินจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาอันเป็นเท็จ.
22, 23. (ก) คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ได้ทำอะไรเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1919 และมีผลสองอย่างอะไรบ้าง? (ข) ยะรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์เป็นภาพเล็งถึงอะไร?
22 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงอย่างกะทันหันในเดือนพฤศจิกายน ปี 1918. ครั้นแล้วในวันที่ 25 มีนาคม 1919. เจ้าหน้าที่สมาคมวอชเทาเวอร์ก็ถูกปล่อยตัวจากคุก. หลังจากนั้น พวกเขาก็พ้นข้อกล่าวหาทุกอย่าง. ช่วงเวลาแห่งความสุขสงบโดยไม่คาดหมายได้เปิดทางให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านั้นที่รักษาความซื่อสัตย์ คล้ายคลึงกับโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเปิดให้แก่สาวกรุ่นแรกของพระคริสต์ หลังจากเขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ประกอบด้วยฤทธิ์อำนาจในปีสากลศักราช 33.—กิจการ 2:17-21, 41.
23 ตั้งแต่ปี 1919 เรื่อยมา คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ฐานะเป็นหมู่คณะได้เชื่อฟังด้วยความกระตือรือร้นต่อคำสั่งที่แฝงอยู่ในคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 24:14 ที่ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะต้องได้ประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่เพื่อให้คำพยานแก่นานาชาติแล้วที่สุดปลายจะมา.” ผลคือ “แกะอื่น” ของพระคริสต์จำนวนเกือบสี่ล้านคนได้อุทิศชีวิตของตนรับใช้พระยะโฮวาอย่างเป็นเอกภาพร่วมกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. (โยฮัน 10:16) คริสต์ศาสนจักรภายใต้อิทธิพลของนักเทศน์นักบวชก็ยังคงปฏิเสธข่าวสารราชอาณาจักรอย่างไม่ละลด. การที่คริสต์ศาสนจักรพอใจเลือกแผนทางการเมืองของมนุษย์ และกดขี่ข่มเหงพยานพระยะโฮวา เทียบได้กับการปฏิบัติของผู้คนแห่งแผ่นดินยูดายในศตวรรษแรกต่อพระคริสต์อย่างเลวทรามจนเหลือจะกล่าว. พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษยะรูซาเลมฉันใด พระองค์ก็จะกระทำเช่นกันกับยะรูซาเลมจำลองซึ่งไม่ซื่อสัตย์ได้แก่คริสต์ศาสนจักรฉันนั้น. และผู้คนในสมัยของพระเยซูได้ยินข่าวพิพากษาของพระองค์แล้วยังมีชีวิตทันได้เห็นและประสบความพินาศตามที่พระองค์ตรัสล่วงหน้าฉันใด คนในชั่วอายุนี้ตั้งแต่ปี 1914 “จะไม่ล่วงลับไป” ก่อนเกิด “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” ตามที่บอกไว้ล่วงหน้าฉันนั้น.—มัดธาย 24:21, 22, 34.
24. ที่จะรอดเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า เราต้องทำอะไร?
24 พวกเราต้องทำประการใดเพื่อจะรอดผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ และมีชีวิตรอดเข้าในโลกใหม่ของพระเจ้า? ไม่ว่าใคร ๆ อาจเคยคาดการณ์ผิดมาแล้ว แต่เราต้องเฝ้าระวังการเผลอหลับใหลโดยไม่ได้ทำหน้าที่คริสเตียน. (ฮะบาฆูค 2:3; 1 เธซะโลนิเก 5:1-6) จำนวนผู้ที่สามารถจำเหตุการณ์ในปี 1914 ได้นั้นลดน้อยลงเรื่อย ๆ. ฉะนั้น เราจำต้องเป็นคนตื่นตัว จะยอมให้เวลาเสียเปล่าไม่ได้. (มัดธาย 24:42) ทุกคนซึ่งต้องการจะมีชีวิตรอดผ่านอวสานของโลกชั่วภายใต้ซาตานจึงต้องลงมือปฏิบัติเสียแต่บัดนี้ ตามวิถีทางซึ่งลงรอยกันกับถ้อยคำโดยการดลบันดาลที่ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบพระคุณพระองค์ พระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ . . . เพราะพระองค์ทรงไว้ซึ่งอำนาจใหญ่ยิ่งและเริ่มครอบครองเป็นพระมหากษัตริย์.”—วิวรณ์ 11:17, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 กันยายน 1983 หน้า 15.
b เพื่อจะได้รายละเอียดเพิ่มว่าทำไมเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งเวลาของคนต่างประเทศ โปรดดูหนังสือ ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก หน้า 138-141. จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทรกท์ แห่งนิวยอร์ก.
c ซี. ที. รัสเซลล์ได้เขียนบทความหนึ่งชื่อ “เวลาของคนต่างประเทศ: จะสิ้นสุดเมื่อไร?” ซึ่งได้ลงพิมพ์ในวารสารผู้ตรวจสอบพระคัมภีร์ ฉบับเดือนตุลาคม 1876. ที่หน้า 27 บทความนั้นบอกว่า “เจ็ดวาระจะสิ้นสุดลงในปีสากลศักราช 1914.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ยะรูซาเลมสมัยโบราณเป็นตัวแทนสิ่งใด และกรุงนี้สูญเสียฐานะที่มีเกียรติโดยวิธีใด?
▫ เวลาของคนต่างชาติเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อไร พร้อมด้วยผลอะไรดังที่บอกล่วงหน้า?
▫ การทำลายยะรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์นั้นเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด?
▫ เรารู้ได้อย่างไรว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งใกล้เข้ามาแล้ว และเราต้องทำอะไรเพื่อจะรอดชีวิตผ่านพ้นความทุกข์ลำบากนั้นได้?
[รูปภาพหน้า 17]
ยะรูซาเลมกับพระวิหารสูญเสียฐานะอันมีเกียรติ แต่พระเจ้าทรงอวยพระพรมาซีฮาพระบุตรของพระองค์อยู่เสมอกระทั่งตรัสกับพระบุตรโดยตรงจากสวรรค์