บทเจ็ด
คำสี่คำที่เปลี่ยนโลก
1. คำสี่คำที่เขียนบนผนังนานมาแล้วส่งผลกระทบกว้างไกลขนาดไหน?
คำธรรมดาสี่คำถูกเขียนบนผนังปูน. แต่คำสี่คำนี้ทำให้กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจกลัวจนเกือบประสาทเสีย. คำสี่คำนี้ประกาศถึงการถอดกษัตริย์สององค์ออกจากตำแหน่ง, องค์หนึ่งต้องเสียชีวิต, และมหาอำนาจอันเกรียงไกรจะต้องถึงจุดจบ. คำเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักศาสนาที่ได้รับการยกย่องนับถือถูกเหยียดลง. ที่สำคัญที่สุด คำเหล่านี้ยกย่องการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาและยืนยันอีกครั้งถึงพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ในเวลาที่คนส่วนใหญ่แทบไม่สนใจต่อทั้งสองสิ่งนั้น. คำเหล่านี้ถึงกับอธิบายเหตุการณ์โลกในสมัยนี้เสียด้วยซ้ำ! คำเพียงสี่คำทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดได้อย่างไร? ขอให้เรามาดูกัน.
2. (ก) เกิดอะไรขึ้นในบาบูโลนหลังจากนะบูคัดเนซัรสิ้นชีวิต? (ข) ผู้ปกครองคนใดที่กุมอำนาจอยู่?
2 หลายทศวรรษผ่านไปนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่มีการพรรณนาในพระธรรมดานิเอลบทสี่. การครอบครองบาบูโลนที่นาน 43 ปี ของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรผู้ยโสจบลงเมื่อท่านเสียชีวิตในปี 582 ก.ส.ศ. มีผู้สืบทอดตำแหน่งที่มาจากเชื้อวงศ์ของท่านจำนวนหนึ่ง แต่การปกครองของคนเหล่านี้ก็จบลงเพราะการเสียชีวิตก่อนเวลาหรือไม่ก็การลอบสังหาร. ในที่สุด ชายคนหนึ่งชื่อนะโบไนดัสได้รับราชบัลลังก์โดยการปฏิวัติ. นะโบไนดัสเป็นบุตรของมหาปุโรหิตหญิงแห่งซินซึ่งเป็นจันทราเทพ. ดูเหมือนว่าท่านไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับราชวงศ์ของบาบูโลน. แหล่งอ้างอิงบางแหล่งบอกว่า ท่านสมรสกับบุตรสาวคนหนึ่งของนะบูคัดเนซัรเพื่อทำให้การปกครองของท่านถูกต้องตามคลองธรรม มีการตั้งเบละซาซัร บุตรของทั้งสองเป็นผู้ปกครองร่วมกับท่าน และทิ้งให้เบละซาซัรดูแลบาบูโลนเป็นเวลานาน. ถ้าเป็นอย่างนั้น เบละซาซัรจึงเป็นหลานของนะบูคัดเนซัร. ท่านได้เรียนจากประสบการณ์ของท่านตาของท่านไหมที่ว่า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์สูงสุดที่สามารถเหยียดกษัตริย์องค์ใดให้ตกต่ำลงก็ได้? ไม่เลย!—ดานิเอล 4:37.
งานเลี้ยงที่เลยเถิด
3. งานเลี้ยงของเบละซาซัรเป็นแบบใด?
3 บทที่ห้าของพระธรรมดานิเอลเริ่มด้วยการเลี้ยงใหญ่. “ราชาเบละซาซัรได้ทรงจัดให้มีการเลี้ยงใหญ่สำหรับเจ้านายพันคน, แล้วได้เสวยน้ำจัณฑ์ต่อหน้าเจ้านายพันคนนั้น.” (ดานิเอล 5:1) อย่างที่คุณอาจนึกภาพออก จะต้องมีห้องโถงขนาดมโหฬารเพื่อจะรองรับคนมากขนาดนี้ รวมทั้งพระสนมและนางห้ามของกษัตริย์. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งบอกว่า “งานเลี้ยงของชาวบาบูโลนนั้นใหญ่โตหรูหรามาก ถึงแม้ว่างานแบบนี้ปกติมักลงเอยด้วยการเมาเหล้า. เหล้าองุ่นที่นำเข้ามาจากต่างแดน และสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยสารพัดอย่างมีเต็มโต๊ะ. กลิ่นน้ำหอมอบอวลทั้งห้อง; นักร้องและนักดนตรีให้ความบันเทิงแก่แขกที่มาชุมนุมกัน.” เบละซาซัรอยู่ในตำแหน่งที่ทุกคนสามารถเห็นได้ ดื่มเหล้าองุ่น—จอกแล้วจอกเล่า.
4. (ก) ทำไมอาจดูแปลกที่ชาวบาบูโลนจัดงานเลี้ยงในคืนวันที่ 5/6 ตุลาคม 539 ก.ส.ศ.? (ข) ปรากฏว่าอะไรทำให้ชาวบาบูโลนมั่นใจในการเผชิญกับกองทัพที่มารุกราน?
4 นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ชาวบาบูโลนมีอารมณ์จัดงานเลี้ยงในคืนนั้น—คืนวันที่ 5/6 ตุลาคม 539 ก.ส.ศ. ชาติของตนกำลังอยู่ในสงคราม และสภาพการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยดีนักสำหรับพวกเขา. นะโบไนดัสเพิ่งจะพ่ายแพ้กองกำลังมิโด-เปอร์เซียที่มารุกรานและได้ลี้ภัยไปอยู่ที่บอร์ซิปปะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบาบูโลน. และตอนนี้กองทัพของไซรัสกำลังตั้งค่ายอยู่นอกกรุงบาบูโลน. กระนั้น ดูเหมือนว่าเบละซาซัรและพวกเจ้านายไม่กังวลเลย. ถึงอย่างไร เมืองของพวกเขาก็คือบาบูโลนที่ไม่มีวันถูกพิชิตได้! กำแพงมหึมาของกรุงนี้ตั้งตระหง่านเหนือคูเมืองที่เต็มด้วยน้ำจากแม่น้ำยูเฟรทิสที่ไหลผ่านกลางเมือง. ไม่มีศัตรูบุกเข้ายึดกรุงบาบูโลนมานานกว่าพันปีแล้ว. ดังนั้น จะกังวลไปทำไม? บางทีเบละซาซัรอาจหาเหตุผลว่า เสียงอึกทึกของงานเลี้ยงจะเป็นการแสดงความมั่นใจของตนให้ศัตรูที่อยู่ข้างนอกเห็นและจะทำลายกำลังใจของพวกเขา.
5, 6. เบละซาซัรทำอะไรภายใต้ฤทธิ์เหล้าองุ่น และทำไมสิ่งนี้เป็นการหมิ่นประมาทพระยะโฮวาอย่างร้ายแรง?
5 ไม่ช้าการดื่มเหล้าองุ่นมากเกินไปก็ส่งผลกับเบละซาซัร. ดังที่สุภาษิต 20:1 กล่าวไว้ “เหล้าองุ่นทำให้เกิดการเย้ยหยัน.” ในกรณีนี้ เหล้าองุ่นทำให้กษัตริย์ทำสิ่งที่โง่เขลาแบบที่ร้ายแรงที่สุดอย่างแท้จริง. ท่านสั่งให้นำภาชนะศักดิ์สิทธิ์จากพระวิหารของพระยะโฮวาเข้ามาในงาน. ภาชนะเหล่านี้—ซึ่งยึดมาได้ตอนที่นะบูคัดเนซัรพิชิตกรุงยะรูซาเลม—ควรจะใช้ในการนมัสการอันบริสุทธิ์เท่านั้น. แม้แต่ปุโรหิตชาวยิวซึ่งได้รับอำนาจให้ใช้ภาชนะเหล่านี้ที่พระวิหารของกรุงยะรูซาเลมในสมัยก่อนก็ได้รับคำเตือนให้รักษาตัวสะอาด.—ดานิเอล 5:2; เทียบกับยะซายา 52:11.
6 อย่างไรก็ตาม เบละซาซัรยังคิดจะทำสิ่งที่ดูหมิ่นเหยียดหยามมากกว่านี้อีก. “กษัตริย์กับเจ้านาย, พระสนมและนางห้ามของพระองค์ . . . ได้ดื่มเหล้าองุ่นพลางก็ได้สรรเสริญเหล่าพระผู้เป็นพระของทองคำและเงิน, ทองเหลืองและเหล็ก, ไม้และหิน.” (ดานิเอล 5:3, 4) ดังนั้น เบละซาซัรตั้งใจจะยกย่องพระเท็จของตนเหนือพระยะโฮวา! ดูเหมือนว่าทัศนะนี้เป็นเรื่องปกติของชาวบาบูโลน. ชาวบาบูโลนถือว่าเชลยชาวยิวนั้นน่าดูหมิ่น จึงทำการเย้ยหยันการนมัสการของพวกเขาและไม่ให้ความหวังใด ๆ ในการกลับสู่มาตุภูมิอันเป็นที่รักของพวกเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 137:1-3; ยะซายา 14:16, 17) กษัตริย์ขี้เมาองค์นี้อาจคิดว่า การเหยียดหยามคนที่ถูกเนรเทศเหล่านี้และการสบประมาทพระเจ้าของพวกเขาจะทำให้พวกผู้หญิงและข้าราชสำนักของท่านประทับใจ ทำให้ตัวท่านเองดูเข้มแข็ง.a แต่ถ้าเบละซาซัรได้รู้สึกถึงความตื่นเต้นของอำนาจ ความรู้สึกนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน.
ลายมือบนผนัง
7, 8. งานเลี้ยงของเบละซาซัรถูกขัดจังหวะอย่างไร และสิ่งนี้ส่งผลอะไรต่อกษัตริย์?
7 บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจกล่าวว่า “ในทันใดนั้นก็มีนิ้วมือคนปรากฏออกมาเขียนที่ฝาผนังตรงดวงประทีปในราชวัง; และกษัตริย์นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นนิ้วมือซึ่งเขียนนั้น.” (ดานิเอล 5:5) ช่างเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวจริง ๆ! มีมือหนึ่งปรากฏออกมาจากที่ไหนไม่รู้ ลอยบนอากาศใกล้ ๆ กับผนังด้านที่มีไฟสว่างไสว. ลองนึกภาพว่างานเลี้ยงเงียบสงัดไปทันทีเมื่อพวกแขกรับเชิญต่างหันไปดูมือนั้นด้วยความตะลึงพรึงเพริด. มือนั้นเริ่มเขียนข้อความลี้ลับบนผนังปูน.b ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นลางบอกเหตุ และเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงจริง ๆ ถึงขนาดที่ผู้คนในสมัยนี้ใช้สำนวน (ในภาษาอังกฤษ) “ลายมือบนผนัง” เพื่อชี้ถึงลางบอกเหตุของความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น.
8 เหตุการณ์นี้มีผลกระทบอย่างไรต่อกษัตริย์ผู้หยิ่งจองหององค์นี้ซึ่งพยายามยกย่องตัวเองและเทพเจ้าของตนเหนือพระยะโฮวา? “ขณะนั้นพักตร์อันชื่นบานของกษัตริย์ก็สลดลงพระทัยก็ตะลึงพรึงเพริด, พระชงฆ์ก็อ่อนไป, พระชานุก็กะทบกัน.” (ดานิเอล 5:6) เบละซาซัรตั้งใจจะทำตัวให้ดูยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามต่อหน้าราษฎร. แต่แล้วท่านกลายเป็นภาพแสดงถึงความหวาดกลัวอย่างน่าเวทนา—หน้าซีด, สะโพกสั่น, สั่นสะท้านไปทั้งตัวถึงขนาดที่หัวเข่ากระทบกัน. แท้จริง ถ้อยคำของดาวิดที่ชี้ถึงพระยะโฮวาในบทเพลงเป็นจริงที่ว่า “พระองค์ . . . ทรงทอดพระเนตรดูผู้ที่ถือตนเพื่อจะทรงบันดาลให้ตกต่ำลงไป.”—2 ซามูเอล 22:1, 28; เทียบกับสุภาษิต 18:12.
9. (ก) เหตุใดความกลัวของเบละซาซัรไม่เหมือนความเกรงกลัวพระเจ้า? (ข) กษัตริย์เสนออะไรให้แก่พวกนักปราชญ์แห่งบาบูโลน?
9 น่าสังเกตด้วยว่า ความกลัวของเบละซาซัรนั้นไม่เหมือนกับความเกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งเป็นความเคารพอย่างสุดซึ้งต่อพระยะโฮวา และเป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญาทั้งปวง. (สุภาษิต 9:10) นี่เป็นความกลัวแบบขนพองสยองเกล้า และไม่ได้ทำให้เกิดสติปัญญาหรืออะไรทำนองนั้นกับกษัตริย์ผู้ตัวสั่นงันงกคนนี้.c แทนที่จะทูลขออภัยพระเจ้าที่ตนเพิ่งหมิ่นประมาท ท่านกลับร้องเสียงดังเรียกหา “พวกหมอดู, พวกเคเซ็ดและพวกนักทำเล่ห์กล.” ท่านถึงกับประกาศว่า “คนใดอ่านอักษรนั้นออก, และแปลได้, คนนั้นจะได้เสื้อยศสีม่วงและได้คล้องสายสร้อยคอทองคำ, แล้วจะตั้งให้เป็นอุปราชชั้นตรีครองแผ่นดินนี้.” (ดานิเอล 5:7) ผู้ปกครองอันดับที่สามแห่งอาณาจักรคงจะมีอำนาจมากจริง ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รองจากกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่สองคนเท่านั้น คือนะโบไนดัสและเบละซาซัรเอง. ตามปกติตำแหน่งเช่นนี้จะสงวนไว้สำหรับบุตรคนโตของเบละซาซัร. กษัตริย์ยอมถึงขนาดนั้นเพราะอยากจะให้มีการอธิบายข้อความอันมหัศจรรย์นี้!
10. ความพยายามของพวกนักปราชญ์ที่จะแปลลายมือบนผนังประสบผลแค่ไหน?
10 พวกนักปราชญ์เข้ามาที่ห้องโถงใหญ่. ไม่เคยมีการขาดแคลนคนพวกนี้ เพราะบาบูโลนเป็นกรุงที่จมปลักอยู่ในศาสนาเท็จและเต็มไปด้วยวิหาร. คนที่อ้างว่าสามารถอ่านลางบอกเหตุและแปลข้อความลี้ลับได้นั้นต้องมีอยู่มากมายแน่ ๆ. พวกนักปราชญ์เหล่านี้คงต้องตื่นเต้นกับโอกาสที่อยู่ต่อหน้าพวกเขา. นี่เป็นโอกาสที่จะสำแดงวิชาของตนต่อหน้าผู้ชมที่สูงศักดิ์ ได้ความโปรดปรานจากกษัตริย์ และเลื่อนสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจมาก. แต่พวกเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า! “ไม่มีใครอ่านอักษรนั้นออก, หรือแปลความในอักษรนั้นให้กษัตริย์ฟังได้.”d—ดานิเอล 5:8.
11. ทำไมพวกนักปราชญ์ของบาบูโลนอาจไม่สามารถอ่านข้อความนี้ได้?
11 พวกนักปราชญ์แห่งบาบูโลนจะอ่านข้อความ—ตัวอักษรนั้น—ได้หรือไม่ก็ไม่แน่. หากพวกเขาอ่านตัวอักษรเหล่านั้นไม่ออก คนที่ไร้คุณธรรมพวกนี้คงมีโอกาสมากมายที่จะแต่งคำแปลเท็จขึ้น อะไรก็ได้ที่อาจป้อยอกษัตริย์. อีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ตัวอักษรเหล่านี้สามารถอ่านออกได้. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอาระเมอิกและภาษาฮีบรูเขียนโดยไม่มีสระ แต่ละคำอาจมีความหมายได้หลายอย่าง. ถ้าเป็นอย่างนี้ พวกนักปราชญ์คงจะไม่สามารถตัดสินได้ว่าคำเหล่านี้ตั้งใจให้มีความหมายอย่างไร. ถึงแม้พวกเขาบอกได้ พวกเขาก็ไม่สามารถเข้าใจและแปลความหมายของคำเหล่านี้ได้. ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ พวกนักปราชญ์ของบาบูโลนล้มเหลว—อย่างไม่เป็นท่า!
12. ความล้มเหลวของพวกนักปราชญ์พิสูจน์อะไร?
12 ดังนั้น พวกนักปราชญ์เหล่านี้ถูกเปิดโปงว่าเป็นพวกต้มตุ๋น กลุ่มนักศาสนาที่ได้รับการยกย่องนับถือถูกเปิดโปงว่าเป็นผู้หลอกลวง. พวกเขาช่างทำให้ผิดหวังสักเพียงไร! เมื่อเบละซาซัรเห็นว่า ความไว้วางใจของท่านต่อนักศาสนาพวกนี้ไร้ประโยชน์ ท่านยิ่งกลัวมากขึ้น หน้าตาก็ซีดลงไปอีก และแม้แต่พวกเจ้านายก็ “ฉงนสนเท่ห์.”e—ดานิเอล 5:9.
บุรุษผู้มีความหยั่งเห็นเข้าใจถูกเรียกตัวมา
13. (ก) ทำไมราชินีแนะให้เรียกตัวดานิเอลมา? (ข) ดานิเอลมีชีวิตแบบไหนในตอนนั้น?
13 ในช่วงวิกฤตินี้ ราชินีเอง—ดูเหมือนว่าเป็นพระชนนี—เข้ามาในห้องที่มีงานเลี้ยง. นางได้ยินเรื่องความโกลาหลวุ่นวายของงานเลี้ยง และนางรู้จักผู้หนึ่งที่สามารถถอดความหมายลายมือบนผนังนั้นได้. หลายทศวรรษก่อนหน้านั้น นะบูคัดเนซัร บิดาของนางได้แต่งตั้งดานิเอลเหนือพวกนักปราชญ์ทั้งปวง. ราชินีจำได้ว่า ดานิเอลเป็นคนที่มี “ความปรีชาสามารถ, ความรู้, ความเข้าใจ.” เนื่องจากดูเหมือนว่าเบละซาซัรไม่รู้จักดานิเอล ท่านผู้พยากรณ์จึงอาจสูญเสียตำแหน่งสูงในราชสำนักหลังจากนะบูคัดเนซัรสิ้นชีวิตแล้ว. แต่ตำแหน่งสูงไม่สำคัญต่อดานิเอล. ท่านอาจมีอายุกว่า 90 ปีแล้วในตอนนั้น และยังคงรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์. ทั้ง ๆ ที่ถูกเนรเทศไปอยู่ในบาบูโลนประมาณแปดทศวรรษ ท่านยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อฮีบรูของท่าน. แม้แต่ราชินีก็ยังเรียกท่านว่าดานิเอล ไม่ได้ใช้ชื่อแบบบาบูโลนที่ดานิเอลเคยได้รับ. ที่จริง นางกระตุ้นกษัตริย์ว่า “ขอทรงเรียกดานิเอลให้เข้ามาเฝ้า, แล้วเขาจะได้ถวายคำแก้.”—ดานิเอล 1:7; 5:10-12.
14. ดานิเอลอยู่ในสภาพการณ์อันยุ่งยากอะไรเมื่อเห็นลายมือบนผนัง?
14 ดานิเอลถูกเรียกตัวมาเข้าเฝ้าเบละซาซัร. เป็นสิ่งน่าละอายที่จะขอความช่วยเหลือจากชาวยิวคนนี้ ซึ่งกษัตริย์เพิ่งจะหมิ่นประมาทพระเจ้าของเขาไปหยก ๆ. แต่เบละซาซัรก็ยังคงพยายามป้อยอดานิเอล โดยเสนอรางวัลอย่างเดียวกัน—ตำแหน่งที่สามในอาณาจักร—ถ้าดานิเอลสามารถอ่านและอธิบายคำลึกลับเหล่านี้ได้. (ดานิเอล 5:13-16) ดานิเอลเงยหน้าดูลายมือบนผนัง และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้ท่านเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้น. นั่นคือข่าวสารแห่งการพิพากษาจากพระยะโฮวาพระเจ้า! ดานิเอลจะประกาศคำพิพากษาที่รุนแรงต่อหน้ากษัตริย์ผู้ยโส—และต่อหน้าบรรดาพระสนมของกษัตริย์และพวกเจ้านายได้อย่างไร? ลองนึกถึงสภาพการณ์อันยุ่งยากของดานิเอลก็แล้วกัน! ท่านจะหันเหไปเพราะคำป้อยอของกษัตริย์และข้อเสนอของพระองค์เรื่องความร่ำรวยและชื่อเสียงไหม? ท่านผู้พยากรณ์จะทำให้คำประกาศของพระยะโฮวาอ่อนลงไหม?
15, 16. บทเรียนอันสำคัญยิ่งอะไรจากประวัติศาสตร์ที่เบละซาซัรไม่ได้เรียนรู้ และคนทั่วไปในสมัยนี้พลาดไปในทำนองนั้นอย่างไร?
15 ดานิเอลพูดขึ้นด้วยความกล้าหาญว่า “ขอให้ทรงเก็บของประทานนั้นไว้สำหรับพระองค์, และทรงประทานบำเหน็จนั้นให้แก่ผู้อื่นเถิดพ่ะจ้ะค่ะ; ฝ่ายข้าพเจ้าจะอ่านอักษรนี้ถวายพระราชา, และแปลความตามอักษรนั้นให้ฝ่าพระบาทฟัง.” (ดานิเอล 5:17) ต่อจากนั้น ดานิเอลกล่าวยอมรับความยิ่งใหญ่ของนะบูคัดเนซัร กษัตริย์ที่มีอำนาจมากถึงขนาดที่ท่านสามารถประหาร, ตี, ยกย่อง, เหยียดหยามใครก็ได้ที่ท่านต้องการ. อย่างไรก็ดี ดานิเอลเตือนให้เบละซาซัรระลึกว่า พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้สูงสุด” ทรงทำให้นะบูคัดเนซัรยิ่งใหญ่. เป็นพระยะโฮวานั่นเองที่ทรงเหยียดกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจนี้ลงเมื่อท่านจองหอง. ถูกแล้ว นะบูคัดเนซัรจำต้องรับรู้ว่า “พระเจ้าผู้สูงสุดนั้นได้ทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์, และพระองค์พอพระทัยจะตั้งผู้ใดก็ทรงตั้งผู้นั้นไว้ให้ครอบครอง.”—ดานิเอล 5:18-21.
16 เบละซาซัร “ได้รู้เรื่องราวเหล่านี้ทั้งสิ้นแล้ว.” แต่ท่านไม่ได้เรียนจากประวัติศาสตร์. ที่จริง ท่านไปไกลกว่าบาปของนะบูคัดเนซัรมากนักในเรื่องความหยิ่งจองหองและการอวดดีต่อพระยะโฮวาอย่างโจ่งแจ้ง. ดานิเอลเปิดโปงความบาปของกษัตริย์. ยิ่งกว่านั้น ต่อหน้าคนนอกรีตที่มาชุมนุม ท่านบอกเบละซาซัรอย่างกล้าหาญว่า พระเท็จ “หาได้เห็น, หาได้ยิน, และหาได้รู้ไม่.” ผู้พยากรณ์ที่กล้าหาญของพระเจ้ากล่าวต่อไปว่า ไม่เหมือนพระเหล่านี้ที่ไร้ประโยชน์ พระยะโฮวาเป็นพระเจ้า “ผู้ทรงกำชีวิตของฝ่าพระบาทไว้ในอุ้งพระหัตถ์.” จนถึงทุกวันนี้ ผู้คนทำพระจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต บูชาเงิน, งานอาชีพ, เกียรติยศ, กระทั่งความเพลิดเพลิน. แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถให้ชีวิตได้. พระยะโฮวาองค์เดียวเป็นผู้ที่เราทุกคนเป็นหนี้ชีวิต เป็นผู้ที่เราพึ่งพาทุกลมหายใจ.—ดานิเอล 5:22, 23; กิจการ 17:24, 25.
ปริศนาถูกไข!
17, 18. คำสี่คำที่เขียนบนผนังมีอะไรบ้าง และความหมายตามตัวอักษรคืออะไร?
17 ตอนนี้ผู้พยากรณ์ที่ชราทำสิ่งที่พวกนักปราชญ์ทุกคนในบาบูโลนทำไม่ได้. ท่านอ่านและแปลลายมือที่เขียนบนผนัง. คำเหล่านั้นคือ “เมʹเน เมʹเน เทʹเคล และพาร์ʹซิน.” (ดานิเอล 5:24, 25, ล.ม.) คำเหล่านี้หมายถึงอะไร?
18 ตามตัวอักษรแล้วคำเหล่านี้หมายความว่า “หนึ่งมินา [ชั่ง], หนึ่งมินา, หนึ่งเชเกล [ซะเก็ล], และครึ่งเชเกล.” แต่ละคำเป็นมาตราชั่งน้ำหนักเงินตรา เรียงลำดับตั้งแต่ค่ามากลงมาหาค่าน้อย. น่าฉงนสักเพียงไร! แม้ว่าพวกนักปราชญ์ของบาบูโลนจะสามารถอ่านคำเหล่านี้ออก แต่ก็ไม่น่าแปลกที่พวกเขาไม่สามารถแปลความหมายได้.
19. มีการอธิบายคำ “เมʹเน” ว่าอย่างไร?
19 ภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดานิเอลอธิบายว่า “คำแปลของอักษรนั้นคือ, มะนา [“เมʹเน,” ล.ม.] แปลว่า, พระเจ้าได้นับวันรัชกาลของฝ่าพระบาทไว้, และวันครบกำหนดก็มาถึงแล้ว.” (ดานิเอล 5:26) พยัญชนะที่ประกอบเป็นคำแรกนี้จะหมายถึงคำ “มินา” หรือเป็นรูปหนึ่งของคำภาษาอาระเมอิกที่แปลว่า “นับ” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสระที่ผู้อ่านใส่ลงไปเอง. ดานิเอลรู้ดีว่าการถูกเนรเทศของชาวยิวกำลังจะจบลงแล้ว. เวลา 70 ปีที่บอกไว้ล่วงหน้าได้ผ่านไปแล้ว 68 ปี. (ยิระมะยา 29:10) พระยะโฮวา ผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่ได้นับวันของการครอบครองของบาบูโลนในฐานะมหาอำนาจโลก และจุดจบก็ใกล้กว่าที่ใคร ๆ ในงานเลี้ยงของเบละซาซัรคิด. ที่จริง เวลาหมดลงแล้ว—ไม่ใช่แค่สำหรับเบละซาซัรเท่านั้นแต่สำหรับนะโบไนดัส บิดาของท่านด้วย. นี่อาจเป็นเหตุผลที่คำ “เมʹเน” ถูกเขียนสองครั้ง—เพื่อประกาศจุดจบของกษัตริย์ทั้งสอง.
20. มีการอธิบายคำ “เทʹเคล” ว่าอย่างไร และคำนี้ใช้กับเบละซาซัรอย่างไร?
20 ส่วนคำ “เทʹเคล” ถูกเขียนเพียงครั้งเดียวในรูปเอกพจน์. นี่อาจบ่งชี้ว่า คำนี้ชี้ถึงเบละซาซัรเป็นสำคัญ. และนี่คงจะเหมาะสมแล้ว เพราะตัวท่านเองได้แสดงความไม่นับถือพระยะโฮวาอย่างมาก. คำนี้โดยตัวเองแล้วหมายถึง “เชเกล” แต่พยัญชนะในคำนี้จะหมายถึงคำ “ชั่งน้ำหนัก” ก็ได้. ดังนั้น ดานิเอลกล่าวกับเบละซาซัรว่า “ธะเคล [“เทʹเคล,” ล.ม.] แปลว่าฝ่าพระบาทถูกชั่งในตราชู, ปรากฏว่าหย่อนอยู่.” (ดานิเอล 5:27) สำหรับพระยะโฮวาแล้ว ชาติต่าง ๆ ทั้งหมดด้อยค่าเหมือนฝุ่นที่ติดอยู่บนตราชู. (ยะซายา 40:15) ชาติเหล่านั้นไม่มีอำนาจต่อต้านพระประสงค์ของพระยะโฮวาได้. แล้วกษัตริย์ผู้หยิ่งยโสคนเดียวจะมีค่าเท่ากับอะไร? เบละซาซัรได้พยายามยกตัวขึ้นเหนือองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. ผู้ที่เป็นแค่มนุษย์คนนี้บังอาจดูหมิ่นพระยะโฮวาและเย้ยหยันการนมัสการบริสุทธิ์แต่ “ปรากฏว่าหย่อนอยู่.” ถูกแล้ว เบละซาซัรสมควรได้รับการพิพากษาที่กำลังมาถึงอย่างรวดเร็ว!
21. คำ “พาร์ʹซิน” เป็นการเล่นคำสามต่ออะไรบ้าง และคำนี้บ่งชี้อะไรเกี่ยวกับอนาคตของบาบูโลนในฐานะมหาอำนาจโลก?
21 คำสุดท้ายบนผนังคือ “พาร์ʹซิน.” ดานิเอลอ่านคำนี้ในรูปเอกพจน์คือ “เพʹเรส” อาจเป็นเพราะท่านกำลังพูดกับกษัตริย์ผู้เดียวในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่อยู่ที่นั่น. คำนี้ทำให้ปริศนาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาถึงจุดสุดยอดโดยการเล่นคำถึงสามต่อ. “พาร์ʹซิน” มีความหมายตรงตัวว่า “ครึ่งเชเกล.” แต่ตัวอักษรในคำนี้ยังแปลได้อีกสองความหมายด้วย คือ “การแบ่ง” และ “ชาวเปอร์เซีย.” ด้วยเหตุนี้ ดานิเอลจึงบอกล่วงหน้าว่า “อูฟาระซีน [“พาร์ʹซิน,” ล.ม.] แปลว่าแผ่นดินของฝ่าพระบาทถูกแบ่งแยกปันกันระหว่างชาวมาดายและชาวฟารัศ [“ชาวมีเดียและชาวเปอร์เซีย,” ล.ม.].”—ดานิเอล 5:28.
22. เบละซาซัรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการไขปริศนา และท่านอาจหวังอะไร?
22 ดังนั้น ปริศนาถูกไขแล้ว. บาบูโลนอันทรงอำนาจกำลังจะพ่ายแพ้แก่กองกำลังของมิโด-เปอร์เซีย. แม้ว่าจะหน้าสลดไปเพราะเผชิญกับการประกาศคำพิพากษานี้ เบละซาซัรก็รักษาคำพูด. ท่านให้คนรับใช้นำเสื้อสีม่วงกับสร้อยคอทองคำมาสวมให้ดานิเอล และประกาศตั้งท่านเป็นผู้ครอบครองอันดับที่สามของอาณาจักร. (ดานิเอล 5:29) ดานิเอลไม่ได้ปฏิเสธเกียรติยศเหล่านี้ โดยตระหนักว่าเป็นการให้เกียรติแด่พระยะโฮวา. แน่ล่ะ เบละซาซัรอาจหวังให้คำพิพากษาของพระยะโฮวาเบาลงบ้างโดยให้เกียรติผู้พยากรณ์ของพระองค์. หากเป็นเช่นนั้นจริง มันก็สายไปเสียแล้ว.
บาบูโลนล่มจม
23. คำพยากรณ์โบราณอะไรกำลังสำเร็จเป็นจริงขณะที่งานเลี้ยงของเบละซาซัรยังดำเนินอยู่ทีเดียว?
23 ขณะที่เบละซาซัรและข้าราชสำนักกำลังดื่มให้แก่เทพเจ้าของตนและเย้ยหยันพระยะโฮวาอยู่นั้นทีเดียว สถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกำลังเกิดขึ้นในความมืดนอกวัง. คำพยากรณ์ซึ่งท่านยะซายากล่าวก่อนหน้านั้นสองศตวรรษกำลังสำเร็จเป็นจริง. พระยะโฮวาได้ตรัสบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับบาบูโลนว่า “เราได้ระงับการคร่ำครวญทั้งหมดของเขาเสียแล้ว.” ใช่แล้ว การกดขี่ที่ชั่วช้าต่อพลไพร่ที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้ามาถึงจุดจบแล้ว. โดยวิธีใด? คำพยากรณ์เดียวกันบอกว่า “ชาวเอลามจงขึ้นไปเถิด; ชนชาวมาดายจงไปล้อมตีเอาเถิด.” เอลามกลายเป็นส่วนของเปอร์เซียหลังจากสมัยของผู้พยากรณ์ยะซายา. ตอนที่มีงานเลี้ยงของเบละซาซัร ซึ่งได้มีการบอกไว้ล่วงหน้าด้วยในคำพยากรณ์เดียวกันของยะซายา เปอร์เซียและมีเดียได้รวมกำลังกันจริง ๆ เพื่อ “ขึ้นไป” และ “ล้อมตี” บาบูโลน.—ยะซายา 21:1, 2, 5, 6.
24. รายละเอียดอะไรที่มีบอกไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการล่มจมของบาบูโลนในคำพยากรณ์ของยะซายา?
24 ที่จริง ได้มีการบอกชื่อของผู้นำกองกำลังนี้ไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับจุดสำคัญของยุทธวิธีของท่าน. ก่อนหน้านั้นประมาณ 200 ปี ยะซายาได้พยากรณ์ว่า พระยะโฮวาจะเจิมผู้หนึ่งชื่อไซรัสให้มาต่อสู้บาบูโลน. ในตอนที่ท่านเข้าโจมตี อุปสรรคทุกอย่างที่ขวางหน้าท่านจะถูกปราบให้ราบ. น้ำของบาบูโลนจะ “แห้ง” ไป และประตูใหญ่มหึมาของกรุงนี้จะถูกเปิดทิ้งไว้. (ยะซายา 44:27–45:3) และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ. กองทัพของไซรัสได้เปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำยูเฟรทิส ทำให้ระดับน้ำต่ำลงเพื่อพวกเขาจะเคลื่อนพลผ่านก้นแม่น้ำได้. ประตูเมืองของบาบูโลนถูกเปิดทิ้งไว้โดยยามที่สะเพร่า. ดังที่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายโลกเห็นพ้องกัน เมืองนี้ถูกโจมตีในขณะที่ชาวเมืองกำลังเลี้ยงฉลองกัน. บาบูโลนถูกยึดโดยแทบไม่มีการต่อต้านใด ๆ. (ยิระมะยา 51:30) แต่อย่างน้อยก็มีการสิ้นชีวิตที่น่าสังเกตของคนหนึ่ง ดานิเอลรายงานว่า “ในกลางคืนวันนั้นราชาเบละซาซัรกษัตริย์ของชาวเคเซ็ดก็ถูกสำเร็จโทษ. แล้วราชาดาระยาศชาวมาดายได้ขึ้นเสวยราชย์ในแผ่นดินนั้นมีพระชนม์มายุได้ประมาณสิบสอง [“หกสิบสอง,” ล.ม.] พรรษา.”—ดานิเอล 5:30, 31.
บทเรียนจากลายมือบนผนัง
25. (ก) เพราะเหตุใดบาบูโลนโบราณเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะเจาะของระบบศาสนาเท็จทั่วโลกในสมัยนี้? (ข) ผู้รับใช้ในสมัยปัจจุบันของพระเจ้าถูกจับเป็นเชลยในบาบูโลนในแง่ใด?
25 บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจในพระธรรมดานิเอลบท 5 นั้นมีความหมายมากสำหรับเรา. ในฐานะเป็นศูนย์กลางของกิจปฏิบัติแห่งศาสนาเท็จ บาบูโลนโบราณเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะเจาะของจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. ตามที่พระธรรมวิวรณ์แสดงภาพไว้ว่าเป็นหญิงแพศยาที่กระหายเลือด การรวมตัวของการหลอกลวงที่มีอยู่ทั่วโลกนี้ถูกเรียกว่า “บาบูโลนใหญ่.” (วิวรณ์ 17:5) โดยไม่สนใจคำเตือนทุกอย่างเกี่ยวกับหลักคำสอนและกิจปฏิบัติที่ผิดและลบหลู่พระเจ้า นางได้กดขี่คนเหล่านั้นที่ประกาศความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า. เช่นเดียวกับผู้อาศัยในกรุงยะรูซาเลมและยูดา ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์แห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมราวกับเป็นเชลยใน “บาบูโลนใหญ่” เมื่อการกดขี่ที่นักเทศน์นักบวชเป็นผู้ยุยงนั้นทำให้งานประกาศราชอาณาจักรแทบจะยุติลงในปี 1918.
26. (ก) “บาบูโลนใหญ่” ล่มจมอย่างไรในปี 1919? (ข) คำเตือนอะไรที่เราควรเอาใจใส่และบอกคนอื่น?
26 แต่แล้วจู่ ๆ “บาบูโลนใหญ่” ก็ล่มจม! ช่างเป็นการล่มจมที่เงียบจริง ๆ —เช่นเดียวกับการล่มจมของบาบูโลนโบราณซึ่งแทบจะไม่ได้ยินเสียงเลยในปี 539 ก.ส.ศ. แต่กระนั้น การล่มจมโดยนัยนี้ก็เป็นความหายนะอย่างแท้จริง. การล่มจมนี้เกิดขึ้นในปี ส.ศ. 1919 เมื่อไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยของบาบูโลนและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า. ทั้งนี้เป็นการสิ้นอำนาจของ “บาบูโลนใหญ่” ที่มีเหนือไพร่พลของพระเจ้าและแสดงว่าการเปิดโปงบาบูโลนใหญ่ต่อสาธารณชนฐานะผู้หลอกลวงที่เชื่อถือไม่ได้นั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว. การล่มจมนี้ปรากฏว่าไม่อาจเปลี่ยนกลับคืนได้ และการทำลายล้างขั้นสุดท้ายก็จวนจะเกิดขึ้นแล้ว. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจึงได้ประกาศคำเตือนด้วยเสียงดังก้องว่า “จงออกมาจากเมืองนั้นเถิด, เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ได้มีส่วนในการบาปของเมืองนั้น.” (วิวรณ์ 18:4) คุณเอาใจใส่ฟังคำเตือนนี้ไหม? คุณกำลังบอกเรื่องนี้แก่คนอื่นไหม?f
27, 28. (ก) ดานิเอลไม่เคยลืมความจริงอันสำคัญยิ่งอะไร? (ข) เรามีหลักฐานอะไรว่าอีกไม่นานพระยะโฮวาจะทรงจัดการกับโลกชั่วในสมัยนี้?
27 ดังนั้น มีลายมือบนผนังในสมัยนี้—แต่ไม่ใช่สำหรับ “บาบูโลนใหญ่” เท่านั้น. จงจดจำความจริงอันสำคัญยิ่งซึ่งเป็นหลักสำคัญของพระธรรมดานิเอลคือ พระยะโฮวาทรงเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. พระองค์ และพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น ทรงมีสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครอบครองมนุษยชาติทั้งหมด. (ดานิเอล 4:17, 25; 5:21) อะไรก็ตามที่ต่อต้านพระประสงค์ของพระยะโฮวาจะถูกกำจัดออกไป. ประเด็นมีอยู่เพียงว่าพระยะโฮวาจะทรงจัดการเมื่อใด. (ฮะบาฆูค 2:3) สำหรับดานิเอล เวลานั้นมาถึงในทศวรรษที่สิบแห่งชีวิตของท่าน. ตอนนั้นท่านได้เห็นพระยะโฮวาทรงถอดมหาอำนาจโลกหนึ่ง—มหาอำนาจที่กดขี่ไพร่พลของพระเจ้านับตั้งแต่ที่ดานิเอลอยู่ในวัยเด็ก.
28 มีข้อพิสูจน์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้ว่าพระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงตั้งผู้ครอบครองมนุษยชาติขึ้นบนบัลลังก์ฝ่ายสวรรค์. ที่ว่าโลกได้เมินเฉยต่อกษัตริย์องค์นี้และได้ต่อต้านอำนาจการปกครองของพระองค์นั้นเป็นหลักฐานที่แน่นอนว่า ไม่ช้าพระยะโฮวาจะทรงขจัดบรรดาผู้ต่อต้านการปกครองของราชอาณาจักร. (บทเพลงสรรเสริญ 2:1-11; 2 เปโตร 3:3-7) คุณกำลังปฏิบัติตามความเร่งด่วนแห่งยุคของเราและมอบความไว้วางใจในราชอาณาจักรของพระเจ้าไหม? ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็ได้บทเรียนจากลายมือบนผนังแล้วจริง ๆ!
[เชิงอรรถ]
a ในคำจารึกโบราณ กษัตริย์ไซรัสกล่าวเกี่ยวกับเบละซาซัรว่า “คนอ่อนแอถูกตั้งเป็น [ผู้ครอบครอง] ประเทศของเขา.”
b แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อยนี้ในบันทึกของดานิเอลก็ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง. นักโบราณคดีได้พบว่า ผนังวังในบาบูโลนโบราณทำจากก้อนอิฐฉาบด้วยปูน.
c การถือโชคลางของชาวบาบูโลนอาจทำให้การอัศจรรย์นี้น่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก. หนังสือชีวิตและประวัติศาสตร์ของชาวบาบูโลน (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “นอกเหนือจากเทพเจ้าจำนวนหนึ่งที่ชาวบาบูโลนนมัสการแล้ว เราพบว่าพวกเขายึดติดกับความเชื่อเรื่องวิญญาณอย่างมาก และความเชื่อนี้มีมากจนถึงขนาดที่บทสวดและเวทมนตร์ต่อต้านวิญญาณเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในหนังสือทางศาสนาของพวกเขา.”
d วารสารบทวิจารณ์โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านบาบูโลนจัดเรียงรายการสัญลักษณ์ที่เป็นลางบอกเหตุหลายพันรายการ . . . เมื่อเบละซาซัรต้องการรู้ความหมายของข้อความบนผนัง ไม่ต้องสงสัยว่า พวกนักปราชญ์แห่งบาบูโลนคงต้องไปดูสารานุกรมเหล่านี้. แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร.”
e ผู้เรียบเรียงพจนานุกรมตั้งข้อสังเกตว่า คำที่มีการใช้ที่นี่สำหรับคำ “ฉงนสนเท่ห์” แสดงนัยถึงความวุ่นวายมาก ประหนึ่งว่างานเลี้ยงเกิดความสับสนอลหม่านขึ้น.
f ดูหน้า 205-271 ของหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• งานเลี้ยงของเบละซาซัรถูกขัดจังหวะอย่างไรในคืนวันที่ 5/6 ตุลาคม 539 ก.ส.ศ.?
• มีการอธิบายลายมือบนผนังว่าอย่างไร?
• คำพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับความล่มจมของบาบูโลนสำเร็จเป็นจริงในขณะที่งานเลี้ยงของเบละซาซัรกำลังดำเนินอยู่?
• บันทึกเรื่องลายมือบนผนังมีความหมายอะไรต่อเราในทุกวันนี้?
[ภาพเต็มหน้า 98]
[ภาพเต็มหน้า 103]