ผู้คนจาก ‘ภาษาทั้งปวง’ ได้ยินข่าวดี
“สิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวงจะ [กล่าว] ว่า ‘เราจะไปด้วยท่าน เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.’ ”—ซะคาระยา 8:23.
1. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอย่างไรเพื่องานประกาศระดับนานาชาติในหลายภาษาจะมีการเริ่มต้นในเวลาและสภาพการณ์ที่เหมาะที่สุด?
เวลาและสภาพการณ์ในตอนนั้นช่างเหมาะเสียจริง ๆ. วันนั้นเป็นวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33. หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ชาวยิวกับผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจำนวนมากมายจากอย่างน้อย 15 ภูมิภาคทั่วจักรวรรดิโรมันและอีกหลายดินแดนพากันมาอยู่ในกรุงเยรูซาเลมเพื่อร่วมฉลองเทศกาลปัศคา. ในวันนั้น หลายพันคนได้ยินคนธรรมดาสามัญที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ประกาศข่าวดี—ไม่ใช่ในภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่องเช่นคนที่หอบาเบลในสมัยโบราณได้ยิน แต่ด้วยความเข้าใจ—ในหลากหลายภาษาที่ใช้พูดกันในจักรวรรดิ. (กิจการ 2:1-12) เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการก่อกำเนิดประชาคมคริสเตียนและเป็นจุดเริ่มต้นงานประกาศระดับนานาชาติในหลายภาษาซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนทุกวันนี้.
2. สาวกของพระเยซูทำให้ผู้ฟังของเขาที่มาจากที่ต่าง ๆ “อัศจรรย์ใจ” อย่างไรในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33?
2 สาวกของพระเยซูคงจะสามารถพูดภาษากรีกสามัญได้ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันแพร่หลายในยุคนั้น. พวกเขาใช้ภาษาฮีบรูด้วย ซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันที่พระวิหาร. อย่างไรก็ตาม ในวันเพนเทคอสต์ พวกสาวกทำให้ผู้ฟังของเขาจากภูมิภาคต่าง ๆ “อัศจรรย์ใจ” โดยการพูดภาษาของคนเหล่านั้น. ผลเป็นอย่างไร? หัวใจของผู้ฟังถูกกระตุ้นด้วยความจริงที่สำคัญยิ่งซึ่งพวกเขาได้ยินในภาษาของตนเอง. เมื่อสิ้นสุดวันนั้น สาวกกลุ่มเล็ก ๆ ได้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 คน!—กิจการ 2:37-42.
3, 4. งานประกาศแผ่ขยายออกไปอย่างไรเมื่อเหล่าสาวกย้ายออกไปจากเยรูซาเลม, ยูเดีย, และแกลิลี?
3 ไม่นานหลังจากเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น เกิดการข่มเหงใหญ่ในกรุงเยรูซาเลม และ “สานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไปก็ได้เที่ยวประกาศพระคำนั้น.” (กิจการ 8:1-4) ตัวอย่างเช่น ที่กิจการบท 8 เราอ่านเรื่องของฟิลิป ผู้เผยแพร่ข่าวดีที่ดูเหมือนพูดภาษากรีก. ฟิลิปได้ประกาศแก่ประชาชนในซะมาเรีย. ท่านประกาศแก่ขันทีชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งด้วย ซึ่งได้ตอบรับข่าวสารเรื่องพระคริสต์.—กิจการ 6:1-5; 8:5-13, 26-40; 21:8, 9.
4 เมื่อคริสเตียนย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกอาณาเขตของเยรูซาเลม, ยูเดีย, และแกลิลี พวกเขาเผชิญอุปสรรคอย่างใหม่ด้านภาษาและชาติพันธุ์. บางคนอาจให้คำพยานเฉพาะกับชาวยิวเท่านั้น. แต่สาวกลูการายงานว่า “มีบางคนในชาตินั้น เป็นชาวเกาะกุบโรกับชาวกุเรเน เมื่อมายังเมืองอันติโอเกีย, ก็ได้กล่าวประกาศกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เจ้าแก่ชาติเฮเลน [“ผู้คนที่พูดภาษากรีก,” ล.ม.] ด้วย.”—กิจการ 11:19-21.
พระเจ้าผู้ไม่เลือกหน้าลำเอียงมีข่าวสารแก่คนทั้งปวง
5. ความไม่เลือกหน้าลำเอียงของพระยะโฮวาประจักษ์ชัดอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข่าวดี?
5 การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นสอดคล้องกับแนวทางของพระเจ้า ผู้ไม่เลือกหน้าลำเอียง. หลังจากอัครสาวกเปโตรได้รับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาให้ปรับทัศนะที่ท่านมีต่อคนต่างชาติ ท่านให้ข้อสังเกตด้วยความรู้สึกขอบพระคุณดังนี้: “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35; บทเพลงสรรเสริญ 145:9) เมื่ออัครสาวกเปาโลซึ่งเคยเป็นผู้ข่มเหงคริสเตียนมาก่อนแถลงว่าพระเจ้ามี “พระทัยประสงค์ให้คนทั้งปวงถึงที่รอด” นั้น ท่านยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าลำเอียง. (1 ติโมเธียว 2:4) ความไม่เลือกหน้าลำเอียงของพระผู้สร้างเห็นได้ชัดจากการที่ผู้คน ไม่ว่าชายหรือหญิง, เผ่าพันธุ์, ชาติ, หรือภาษาใดก็ตาม มีโอกาสได้รับความหวังเรื่องราชอาณาจักร.
6, 7. คำพยากรณ์ใดบ้างในคัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงการเผยแพร่ข่าวดีในหลายภาษาแก่ชนชาติทั้งปวง?
6 การแผ่ขยายดังกล่าวไปยังชาติต่าง ๆ มีการบอกไว้แล้วหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น. ตามคำพยากรณ์ของดานิเอล “[พระเยซู] ได้รับมอบรัช, และเกียรติยศและอาณาจักร, เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน.” (ดานิเอล 7:14) ข้อเท็จจริงที่ว่าวารสารเล่มนี้จัดพิมพ์ใน 151 ภาษาและจ่ายแจกไปตลอดทั่วโลก ซึ่งทำให้คุณสามารถอ่านเรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระยะโฮวา แสดงให้เห็นว่าคำพยากรณ์ดังกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง.
7 คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงสมัยที่ผู้คนในภาษาต่าง ๆ จะได้ยินได้ฟังข่าวสารจากพระคำของพระเจ้าที่ให้ชีวิต. เมื่อพรรณนาว่าการนมัสการแท้จะดึงดูดใจผู้คนมากมายอย่างไรนั้น ซะคาระยาพยากรณ์ว่า “ในวันเหล่านั้นจะเป็นไป, คือว่าสิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง จะยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดาย [คริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ ซึ่งประกอบกันเป็น “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า”] ว่า ‘เราจะไปด้วยท่าน เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.’ ” (ซะคาระยา 8:23; ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.) และเมื่อบอกถึงสิ่งที่เห็นในนิมิต อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “นี่แน่ะ! ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) เราได้เห็นคำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นจริงแล้ว!
การประกาศแก่คนทุกชนิด
8. ข้อเท็จจริงอะไรในทุกวันนี้ที่ทำให้เราจำเป็นต้องปรับตัวในงานให้คำพยาน?
8 ปัจจุบัน ผู้คนย้ายที่อยู่กันมากขึ้น. โลกาภิวัตน์เปิดศักราชใหม่ของการย้ายถิ่น. ผู้คนจำนวนมากอพยพออกจากพื้นที่ที่มีการสู้รบและท้องที่ที่เศรษฐกิจตกต่ำไปยังดินแดนที่มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต. ในหลายประเทศ การหลั่งไหลเข้ามาของคนอพยพเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยทำให้เกิดชุมชนที่ใช้ภาษาต่างประเทศขึ้น. ตัวอย่างเช่น ภาษาที่ใช้พูดกันในฟินแลนด์มีมากกว่า 120 ภาษา และในออสเตรเลียมีมากกว่า 200 ภาษา. ในสหรัฐ แค่ในซานดิเอโกนครเดียว จะได้ยินคนพูดกันมากกว่า 100 ภาษา!
9. เราควรมองดูผู้คนที่พูดภาษาต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตประกาศของเราอย่างไร?
9 ในฐานะคริสเตียนผู้รับใช้พระเจ้า เรามองว่าผู้คนดังกล่าวที่พูดภาษาต่างประเทศในเขตงานเป็นอุปสรรคต่องานประกาศของเราไหม? ไม่เลย! แทนที่จะมองอย่างนั้น เราถือว่านี่เป็นการเปิดเขตงานใหม่—‘ทุ่งนาเหลืองถึงเวลาเกี่ยว’—อันน่าปรารถนาสำหรับเรา. (โยฮัน 4:35) เราบากบั่นพยายามเอาใจใส่ผู้คนที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนภาษาใด. (มัดธาย 5:3) ผลก็คือ ในแต่ละปีมีผู้คนมากมายจาก “ทุกภาษา” เข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์. (วิวรณ์ 14:6) ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม 2004 งานประกาศในเยอรมนีดำเนินการในภาษาต่าง ๆ ราว 40 ภาษา. ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ที่ออสเตรเลียมีการประกาศข่าวดีในเกือบ 30 ภาษา เพิ่มขึ้นจาก 18 ภาษา เมื่อสิบปีก่อนหน้านั้น. ในกรีซ พยานพระยะโฮวากำลังให้คำพยานแก่ผู้คนในเกือบ 20 ภาษา. ทั่วโลก พยานพระยะโฮวาประมาณร้อยละ 80 พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย.
10. ผู้ประกาศแต่ละคนมีบทบาทอะไรในการทำให้คนจาก “ทุกชาติ” เป็นสาวก?
10 จริงทีเดียว กำลังมีการดำเนินการตามพระบัญชาของพระเยซูที่ให้ “ทำให้คนจากทุกชาติ เป็นสาวก”! (มัดธาย 28:19, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาใน 235 ดินแดนตอบรับงานมอบหมายดังกล่าวอย่างกระตือรือร้นด้วยการขยันขันแข็ง แจกจ่ายสิ่งพิมพ์ในมากกว่า 400 ภาษา. ในขณะที่องค์การของพระยะโฮวาจัดเตรียมสิ่งพิมพ์ที่จำเป็นเพื่อเข้าถึงผู้คน ผู้ประกาศราชอาณาจักรแต่ละคนต้องริเริ่มที่จะนำข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลไปยัง “ผู้คนทุกชนิด” ในภาษาที่พวกเขาจะเข้าใจได้ดีที่สุด. (โยฮัน 1:7, ล.ม.) การบากบั่นพยายามร่วมกันเช่นนี้ช่วยหลายล้านคนจากกลุ่มภาษาต่าง ๆ ให้ได้รับประโยชน์จากข่าวดี. (โรม 10:14, 15) ใช่แล้ว เราแต่ละคนต่างมีบทบาทสำคัญ!
การรับมือกับข้อท้าทาย
11, 12. (ก) เราเผชิญข้อท้าทายอะไร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราอย่างไร? (ข) ทำไมบ่อยครั้งจึงดีกว่าที่จะประกาศแก่ผู้คนด้วยภาษาของเขาเอง?
11 ผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคนในทุกวันนี้ต้องการจะเรียนอีกภาษาหนึ่ง แต่พวกเขาไม่อาจจะพึ่งอาศัยหรือคาดหมายของประทานอย่างอัศจรรย์แห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 13:8) การเรียนอีกภาษาหนึ่งเป็นงานใหญ่. แม้แต่ผู้ที่พูดภาษาที่สองได้อยู่แล้วก็อาจต้องปรับความคิดและวิธีประกาศเพื่อให้ข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นที่ดึงดูดใจคนที่พูดภาษานั้นแต่ว่ามีภูมิหลังและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป. นอกจากนี้ คนที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่มักจะขี้อายไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับใคร การเข้าใจวิธีคิดของพวกเขาจึงต้องใช้ความบากบั่นพยายาม.
12 ถึงกระนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ยังคงดำเนินงานอยู่ท่ามกลางผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่พยายามช่วยผู้คนที่พูดภาษาอื่น ๆ. (ลูกา 11:13) แทนที่จะทำให้เราพูดภาษาต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ พระวิญญาณสามารถทำให้เรามีความปรารถนามากยิ่งขึ้นที่จะสนทนากับผู้คนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 143:10) การประกาศหรือการสอนสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้คนด้วยภาษาที่พวกเขาไม่คุ้นเคยอาจถ่ายทอดข่าวสารนั้นเข้าสู่ความคิดของเขาได้ก็จริง. แต่เพื่อจะให้เข้าถึงหัวใจของผู้ฟัง บ่อยครั้งนับว่าดีกว่าที่จะใช้ภาษาของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นภาษาที่สามารถส่งผลถึงความปรารถนา, ความมุ่งหมาย, และความมุ่งหวังแห่งก้นบึ้งหัวใจของพวกเขา.—ลูกา 24:32.
13, 14. (ก) อะไรกระตุ้นให้บางคนเริ่มทำงานประกาศในอีกภาษาหนึ่ง? (ข) มีการแสดงให้เห็นน้ำใจเสียสละอย่างไร?
13 ผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคนรับเอางานประกาศในเขตที่ใช้ภาษาต่างประเทศเมื่อเขาเห็นว่ามีการตอบรับอย่างดีต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. ส่วนคนอื่น ๆ ได้รับการกระตุ้นเมื่องานเผยแพร่ของตนมีข้อท้าทายและน่าสนใจยิ่งขึ้น. สำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวาในยุโรปใต้กล่าวว่า “หลายคนที่มาจากยุโรปตะวันออกกำลังกระหายความจริง.” การได้ช่วยผู้ที่พร้อมจะตอบรับเหล่านั้นก่อให้เกิดความอิ่มใจพอใจสักเพียงไร!—ยะซายา 55:1, 2.
14 แต่เพื่อจะทำงานนี้อย่างบังเกิดผล เราต้องตั้งใจจริงและเสียสละตัวเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3) ตัวอย่างเช่น ครอบครัวพยานฯ จำนวนไม่น้อยในญี่ปุ่นได้สละบ้านที่สะดวกสบายในเมืองใหญ่ แล้วย้ายไปอยู่ในเขตที่ห่างไกลเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวจีนอพยพให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล. ทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ผู้ประกาศหลายคนขับรถหนึ่งถึงสองชั่วโมงเป็นประจำเพื่อไปนำการศึกษากับผู้คนในเขตงานภาษาฟิลิปปินส์. ในนอร์เวย์ สามีภรรยาคู่หนึ่งนำการศึกษากับครอบครัวหนึ่งที่มาจากอัฟกานิสถาน. พวกเขาใช้จุลสารพระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?a ภาษานอร์เวย์กับฉบับภาษาอังกฤษ. ส่วนครอบครัวนั้นอ่านวรรคต่าง ๆ จากฉบับภาษาเปอร์เซีย ซึ่งคล้ายกันกับภาษาดารีของพวกเขา. ทั้งสองฝ่ายสนทนากันในภาษาอังกฤษกับนอร์เวย์. น้ำใจเสียสละและการสามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นนั้นให้ผลตอบแทนอย่างอุดมเมื่อชาวต่างชาติตอบรับข่าวดี.b
15. เราทุกคนจะมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะประกาศในหลายภาษาได้โดยวิธีใด?
15 คุณจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำกันในหลายภาษานี้ได้ไหม? น่าจะเริ่มโดยสำรวจดูว่ามีภาษาใดบ้างที่ใช้กันในเขตงานของคุณ. จากนั้น คุณอาจนำแผ่นพับหรือจุลสารภาษาเหล่านั้นไปด้วย. หนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ ที่ออกในปี 2004 เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับความหวังเรื่องราชอาณาจักรในหลากหลายภาษาที่เข้าใจง่ายและเสริมสร้าง.—ดูบทความ “ข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ” หน้า 32.
“มีความรักต่อคนต่างด้าว”
16. พี่น้องชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะแสดงความห่วงใยอย่างไม่เห็นแก่ตัวได้อย่างไรเพื่อช่วยเหลือคนที่พูดภาษาต่างประเทศ?
16 ไม่ว่าเราจะเรียนอีกภาษาหนึ่งหรือไม่ เราทุกคนสามารถช่วยให้คนต่างด้าวที่อยู่ในท้องถิ่นของเราได้รับการสอนเรื่องพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงบัญชาประชาชนของพระองค์ให้ “มีความรักต่อคนต่างด้าว.” (พระบัญญัติ 10:18, 19, ฉบับแปลใหม่) เพื่อเป็นตัวอย่าง ในนครใหญ่แห่งหนึ่งในอเมริกาเหนือ มีห้าประชาคมใช้หอประชุมเดียวกัน. ดังที่ปฏิบัติกันในหอประชุมหลายแห่ง เวลาประชุมของแต่ละประชาคมจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปทุกปี ซึ่งถ้ามีการหมุนเวียนอย่างนั้นการประชุมภาษาจีนจะไปตกในค่ำวันอาทิตย์. แต่นี่จะทำให้ผู้อพยพหลายคนซึ่งทำงานที่ร้านอาหารมาร่วมประชุมไม่ได้. คณะผู้ปกครองของอีกสี่ประชาคมจึงแสดงความกรุณาด้วยการปรับเวลาประชุมเพื่อการประชุมภาษาจีนจะสามารถเริ่มได้เร็วขึ้นในวันอาทิตย์.
17. เราควรรู้สึกเช่นไรเมื่อบางคนเลือกจะย้ายไปช่วยกลุ่มภาษาอื่น?
17 ผู้ดูแลที่มีความรักจะให้คำชมเชยแก่พี่น้องชายหญิงที่มีคุณวุฒิและมีความชำนาญซึ่งต้องการจะย้ายไปช่วยกลุ่มภาษาอื่น. ประชาคมอาจสูญเสียผู้สอนพระคัมภีร์ที่มีความชำนาญเหล่านี้ไป แต่ว่าผู้ปกครองของประชาคมก็รู้สึกเช่นเดียวกับผู้ปกครองในเมืองลุศตราและเมืองอิโกนิอัน. ผู้ปกครองที่นั่นไม่ได้หน่วงเหนี่ยวติโมเธียวไว้ไม่ให้เดินทางไปกับเปาโล แม้ว่าติโมเธียวเป็นประโยชน์มากแก่ประชาคมของเขาเอง. (กิจการ 16:1-4) นอกจากนี้ ผู้ที่นำหน้าในงานประกาศไม่ย่อท้อเพราะทัศนคติ, ธรรมเนียม, หรือท่าทีที่ต่างออกไปของคนเชื้อชาติอื่น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขายอมรับในความแตกต่าง และหาทางที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อเห็นแก่ข่าวดี.—1 โกรินโธ 9:22, 23.
18. ประตูใหญ่อะไรที่นำไปสู่การงานซึ่งเปิดออกแก่ทุกคน?
18 เป็นดังที่พยากรณ์ไว้ ข่าวดีกำลังได้รับการประกาศใน “บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง.” เขตงานภาษาต่างประเทศยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก. ผู้ประกาศมากมายที่ปรับตัวได้ดีได้เข้าไปสู่ “ประตูใหญ่ซึ่งนำไปสู่การงาน.” (1 โกรินโธ 16:9, ล.ม.) กระนั้น ยังจำเป็นต้องมีคุณลักษณะอย่างอื่นอีกเพื่อช่วยเหลือผู้คนในเขตงานดังกล่าว ดังที่เราจะได้เห็นในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
b สำหรับตัวอย่างอื่น ๆ ดูบทความ “การเสียสละเล็กน้อยนำพระพรมากมายสู่เรา” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 2004 หน้า 24-28.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เราจะเลียนแบบพระยะโฮวาในการแสดงความไม่เลือกหน้าลำเอียงต่อคนทั้งปวงได้อย่างไร?
• เราควรมองดูผู้คนในเขตงานของเราที่ไม่ได้พูดภาษาของเราด้วยทัศนะเช่นไร?
• ทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่จะประกาศแก่ผู้คนด้วยภาษาของเขาเอง?
• เราจะแสดงความห่วงใยคนต่างด้าวที่อยู่ในท้องถิ่นของเราได้อย่างไร?
[แผนที่หน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
โรม
เกรเต
อาเซีย
ฟรูเกีย
ปัมฟูเลีย
ปนโต
กัปปะโดเกีย
เมโซปะตาเมีย
มาดาย
ปาเธีย
เอลาม
อะราเบีย
ลิบูเอ
อายฆุปโต
ยูเดีย
ยะรูซาเลม
[แหล่งน้ำ]
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทะเลดำ
ทะเลแดง
อ่าวเปอร์เซีย
[รูปภาพ]
ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 ผู้คนจาก 15 ภูมิภาคของจักรวรรดิโรมันและอีกหลายดินแดนได้ยินข่าวดีในภาษาท้องถิ่นของเขาเอง
[ภาพหน้า 24]
ชาวต่างชาติมากมายตอบรับความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดี
[ภาพหน้า 25]
ป้ายหอประชุมราชอาณาจักรในห้าภาษา