บทเก้า
ใครจะครองโลก?
1-3. จงพรรณนาความฝันและนิมิตที่ดานิเอลได้รับในปีที่หนึ่งแห่งการครองราชย์ของเบละซาซัร.
ตอนนี้คำพยากรณ์ที่ตรึงใจของดานิเอลพาเรากลับไปยังปีที่หนึ่งแห่งการครองราชย์ของกษัตริย์เบละซาซัรแห่งบาบูโลน. ดานิเอลถูกเนรเทศไปอยู่บาบูโลนนานแล้ว แต่ความซื่อสัตย์มั่นคงของท่านที่มีต่อพระยะโฮวาไม่เคยคลอนแคลน. ขณะนั้นผู้พยากรณ์ผู้ซื่อสัตย์มีอายุกว่า 70 ปีแล้ว ท่านได้เห็น “ความฝันและนิมิตผุดขึ้นในศีรษะของท่านเมื่อท่านนอนอยู่ในที่นอน.” และนิมิตเหล่านั้นทำให้ท่านตกใจกลัวจริง ๆ!—ดานิเอล 7:1, 15, ฉบับแปลใหม่.
2 ดานิเอลกล่าวว่า “ในเวลากลางคืนข้าพเจ้าได้ฝันเห็นจัตุวาตของท้องฟ้าทั้งสี่ทิศ [“ลมทั้งสี่แห่งฟ้าสวรรค์,” ล.ม.] พัดปลุกปั่นมหาสมุทร. แล้วสัตว์ใหญ่สี่ตัวได้โผล่ขึ้นมาจากทะเล, รูปร่างต่างตัวต่างก็ไปกันคนละอย่าง.” ช่างเป็นสัตว์ที่แปลกประหลาดเสียจริง! ตัวแรกเป็นสิงโตมีปีก, และตัวที่สองเป็นเหมือนหมี. แล้วเสือดาวที่มีสี่ปีกและสี่หัวก็โผล่ออกมา! สัตว์ตัวที่สี่ซึ่งแข็งแรงผิดธรรมดามีฟันเหล็กซี่ใหญ่และมีเขาสิบเขา. ในระหว่างเขาสิบเขานั้นมี “เขาอันเล็ก” งอกขึ้นซึ่งมี “ตาเหมือนตามนุษย์, และมีปากพูดคุยโต.”—ดานิเอล 7:2-8.
3 ต่อจากนั้นนิมิตของดานิเอลกลับไปเป็นเรื่องราวในสวรรค์. ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ประทับอย่างมีสง่าราศีฐานะเป็นผู้พิพากษาในศาลฝ่ายสวรรค์. “มีคนนับแสนนับล้านปฏิบัติท่าน; มีคนนับล้านนับโกฏิยืนเฝ้าต่อหน้าพระที่นั่ง.” พระองค์ทรงพิพากษาลงโทษสัตว์ทั้งสี่ตัว โดยยึดอำนาจการปกครองไปจากมันและทำลายสัตว์ตัวที่สี่เสีย. อำนาจการปกครองอันถาวรเหนือ “ทุกประเทศทุกชาติทุกภาษา” ตกเป็นของ “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์.”—ดานิเอล 7:9-14.
4. (ก) ดานิเอลขอคำอธิบายอันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จากใคร? (ข) ทำไมสิ่งที่ดานิเอลเห็นและได้ยินในคืนนั้นจึงสำคัญต่อเรา?
4 ดานิเอลกล่าวว่า “ฝ่ายข้าพเจ้า, ดานิเอล, จิตต์ใจของข้าพเจ้าก็หม่นหมอง, เพราะความฝันได้กวนใจข้าพเจ้า.” ท่านจึงขอให้ทูตสวรรค์องค์หนึ่ง “อธิบายข้อความอันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้.” แท้จริงแล้วทูตสวรรค์องค์นั้นบอกดานิเอลให้รู้ “ความหมายของสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด.” (ดานิเอล 7:15-28) สิ่งที่ดานิเอลเห็นและได้ยินในคืนนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับเรา เพราะนั่นเป็นการวางเค้าโครงเหตุการณ์โลกในอนาคตที่ทอดยาวมาจนถึงสมัยของเรา เมื่อ “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” ได้รับอำนาจการปกครองเหนือ “ทุกประเทศทุกชาติทุกภาษา.” ด้วยความช่วยเหลือจากพระคำและพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเราเช่นกันสามารถเข้าใจความหมายของนิมิตเชิงพยากรณ์เหล่านี้ได้.a
สัตว์สี่ตัวขึ้นมาจากทะเล
5. ทะเลที่ปั่นป่วนเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร?
5 ดานิเอลกล่าวว่า “สัตว์ใหญ่สี่ตัวได้โผล่ขึ้นมาจากทะเล.” (ดานิเอล 7:3) ทะเลที่ปั่นป่วนเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? หลายปีต่อมา อัครสาวกโยฮันได้เห็นสัตว์ร้ายเจ็ดหัวขึ้นมาจาก “ทะเล.” ทะเลนั้นหมายถึง “ประชาชน, และประเทศ, และภาษาต่าง ๆ” ซึ่งก็คือมนุษยชาติส่วนใหญ่ที่เหินห่างจากพระเจ้า. ดังนั้น ทะเลนี้จึงเป็นสัญลักษณ์อันเหมาะเจาะของมวลหมู่มนุษยชาติที่เหินห่างจากพระเจ้า.—วิวรณ์ 13:1, 2; 17:15; ยะซายา 57:20.
6. สัตว์สี่ตัวเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
6 ทูตสวรรค์ของพระเจ้ากล่าวว่า “สัตว์ใหญ่สี่ตัวนี้ได้แก่กษัตริย์สี่องค์ที่จะเกิดมีขึ้นในแผ่นดินโลกนี้.” (ดานิเอล 7:17) เห็นได้ชัดว่า ทูตสวรรค์ได้ระบุสัตว์สี่ตัวที่ดานิเอลเห็นว่าเป็น “กษัตริย์สี่องค์.” ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จึงหมายถึงมหาอำนาจโลก. แต่มหาอำนาจไหนล่ะ?
7. (ก) ผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลบางคนกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับนิมิตที่ดานิเอลฝันเห็นเรื่องสัตว์สี่ตัวและความฝันของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรเรื่องรูปปั้นมหึมา? (ข) ส่วนที่เป็นโลหะสี่ส่วนของรูปปั้นนั้น แต่ละส่วนเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร?
7 ผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลมักจะเชื่อมนิมิตที่ดานิเอลฝันเห็นเกี่ยวกับสัตว์สี่ตัวเข้ากับความฝันของนะบูคัดเนซัรเรื่องรูปปั้นมหึมา. ยกตัวอย่าง หนังสือคำอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของผู้ให้อรรถาธิบาย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “[ดานิเอล] บท 7 คล้ายคลึงกับบท 2.” หนังสือคำอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของวิคลิฟฟ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่เห็นพ้องกันทั่วไปว่า การสืบต่อของสี่อำนาจการปกครองของชนต่างชาติ . . . ในที่นี่ [ที่ดานิเอลบท 7] เหมือนกันกับที่มีพิจารณาใน [ดานิเอล] บท 2.” สี่มหาอำนาจโลกที่มีสัญลักษณ์เป็นโลหะสี่ชนิดในความฝันของนะบูคัดเนซัรคือจักรวรรดิบาบูโลน (ศีรษะที่เป็นทองคำ), มิโด-เปอร์เซีย (อกและแขนที่เป็นเงิน), กรีซ (ท้องและโคนขาที่เป็นทองแดง), และจักรวรรดิโรมัน (ขาที่เป็นเหล็ก).b (ดานิเอล 2:32, 33) ให้เรามาดูกันว่า อาณาจักรเหล่านี้ตรงกันกับสัตว์ใหญ่สี่ตัวที่ดานิเอลเห็นอย่างไร.
ดุร้ายราวกับสิงโต รวดเร็วราวกับนกอินทรี
8. (ก) ดานิเอลพรรณนาสัตว์ตัวแรกอย่างไร? (ข) สัตว์ตัวแรกเป็นสัญลักษณ์ถึงจักรวรรดิใด และจักรวรรดินี้ทำตัวเหมือนสิงโตอย่างไร?
8 ดานิเอลเห็นสัตว์ที่น่าพิศวงเสียจริง ๆ! ดานิเอลพรรณนาสัตว์ตัวหนึ่งว่า “สัตว์ตัวที่หนึ่งเหมือนสิงห์, [“สิงโต,” ล.ม.] มีปีกเป็นปีกนกอินทรี, ข้าพเจ้าได้มองดูจนขนปีกถูกถอนออกหมด, แล้วมันถูกยกให้ผงกขึ้นจากพื้นดิน, และถูกบังคับให้ยืนสองตีนอย่างคน; และจิตต์ของมนุษย์ถูกสวมใส่ลงไปในตัวมัน.” (ดานิเอล 7:4) สัตว์ตัวนี้เป็นภาพเล็งถึงอำนาจปกครองเดียวกันกับอำนาจปกครองที่มีสัญลักษณ์เป็นศีรษะทองคำของรูปปั้นมหึมา คือมหาอำนาจบาบูโลน (ปี 607-539 ก.ส.ศ.). เช่นเดียวกับ “สิงโต” ที่ล่าเหยื่อเป็นอาหาร บาบูโลนขย้ำกลืนชาติต่าง ๆ อย่างตะกละตะกลาม รวมทั้งไพร่พลของพระเจ้าด้วย. (ยิระมะยา 4:5-7; 50:17) ประหนึ่งติดปีกนกอินทรี “สิงโต” ตัวนี้พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว รุกรานเอาชัยชาติต่าง ๆ.—บทเพลงร้องทุกข์ 4:19; ฮะบาฆูค 1:6-8.
9. สัตว์ที่เหมือนสิงโตเผชิญการเปลี่ยนแปลงอะไร และสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ตัวนั้นอย่างไร?
9 ต่อมา สิงโตติดปีกที่แปลกประหลาดตัวนี้ก็ ‘ถูกถอนขนปีก.’ ช่วงที่การครองราชย์ของกษัตริย์เบละซาซัรใกล้จะถึงจุดจบ บาบูโลนสูญเสียความรวดเร็วในการพิชิตและสูญเสียอำนาจดุจสิงโตที่เคยมีเหนือชาติต่าง ๆ. มันไม่เร็วไปกว่ามนุษย์ที่เดินสองขา. เมื่อใส่ “จิตต์ของมนุษย์” ลงไปในตัวมัน มันก็อ่อนแอ. โดยที่ไม่มี “ใจดุจสิงโต” บาบูโลนไม่สามารถทำตัวเสมือนกษัตริย์ “ท่ามกลางหมู่สัตว์ในป่า.” (เทียบกับ 2 ซามูเอล 17:10; มีคา 5:8.) สัตว์ใหญ่อีกตัวหนึ่งได้โค่นล้มมัน.
ตะกละราวกับหมี
10. “หมี” เป็นสัญลักษณ์ถึงเชื้อสายแห่งผู้ครอบครองเชื้อสายใด?
10 ดานิเอลบอกว่า “ดูเถิด มีสัตว์อีกตัวหนึ่งเป็นตัวที่สองเหมือนหมี มันขยับตัวข้างหนึ่งขึ้น มีกระดูกซี่โครงสามซี่อยู่ในปากของมันระหว่างซี่ฟัน มีเสียงบอกมันว่า ‘จงลุกขึ้นกินเนื้อให้มาก ๆ.’” (ดานิเอล 7:5, ฉบับแปลใหม่) กษัตริย์ที่มีสัญลักษณ์เป็น “หมี” เหมือนกันทีเดียวกับกษัตริย์ที่มีสัญลักษณ์เป็นอกและแขนที่เป็นเงินของรูปปั้นใหญ่ นั่นก็คือเชื้อสายของผู้ครอบครองแห่งมิโด-เปอร์เซีย (ปี 539-331 ก.ส.ศ.) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ดาระยาศชาวมีเดียและไซรัสมหาราชและสิ้นสุดที่ดาระยาศที่ 3.
11. การที่หมีโดยนัยขยับตัวข้างหนึ่งขึ้นและมีซี่โครงสามซี่อยู่ในปากของมันหมายถึงอะไร?
11 หมีโดยนัย “ขยับตัวข้างหนึ่งขึ้น” บางทีเพื่อเตรียมพร้อมจะโจมตีและปราบชาติต่าง ๆ และโดยวิธีนี้จึงรักษาความเป็นมหาอำนาจโลกไว้. หรือไม่ก็อาจทำท่านี้เพื่อตั้งใจแสดงว่าเชื้อสายของผู้ครอบครองชาวเปอร์เซียจะขึ้นมามีอำนาจเหนือดาระยาศ กษัตริย์องค์เดียวที่เป็นชาวมีเดีย. ซี่โครงสามซี่ในฟันของหมีตัวนี้อาจหมายถึงสามทิศทางที่มันได้พิชิต. “หมี” มิโด-เปอร์เซียขึ้นไปทางเหนือยึดกรุงบาบูโลนในปี 539 ก.ส.ศ. แล้วมันก็ไปทางตะวันตกผ่านเอเชียน้อยและเข้าไปถึงเทรส. ในที่สุด “หมี” ตัวนี้ก็ไปทางใต้เพื่อพิชิตอียิปต์. เนื่องจากบางครั้งเลขสามเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น ซี่โครงสามซี่อาจเน้นถึงความโลภในชัยชนะของหมีโดยนัยตัวนี้ด้วย.
12. อะไรเป็นผลจากการที่หมีโดยนัยเชื่อฟังคำสั่งที่ว่า “จงลุกขึ้นกินเนื้อให้มาก ๆ”?
12 “หมี” จู่โจมชาติต่าง ๆ สมตามถ้อยคำที่ว่า “จงลุกขึ้นกินเนื้อให้มาก ๆ.” โดยขย้ำกลืนบาบูโลนตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า มิโด-เปอร์เซียจึงอยู่ในฐานะที่จะทำงานรับใช้ที่มีค่าต่อไพร่พลของพระยะโฮวา. และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ! (ดู “กษัตริย์ผู้ยอมทนให้” ในหน้า 149.) โดยทางไซรัสมหาราช, ดาระยาศที่ 1 (ดาระยาศมหาราช), และอะระธาสัศธา (อาร์ทาเซอร์เซสที่ 1) มิโด-เปอร์เซียปล่อยเชลยชาวยิวของบาบูโลนให้เป็นอิสระและช่วยพวกเขาสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาขึ้นใหม่และซ่อมแซมกำแพงกรุงยะรูซาเลม. ในที่สุด มิโด-เปอร์เซียได้ครอบครอง 127 เขตการปกครอง และอะหัศวะโรศ (เซอร์เซสที่ 1) พระสวามีของราชินีเอศเธระ ได้ “ครอบครองตั้งแต่ประเทศโฮดู [“อินเดีย,” ล.ม.] จนถึงประเทศอายธิโอบ [“เอธิโอเปีย,” ล.ม.].” (เอศเธระ 1:1) อย่างไรก็ตาม สัตว์อีกตัวหนึ่งกำลังจะโผล่ขึ้นมา.
ว่องไวราวกับเสือดาว!
13. (ก) สัตว์ตัวที่สามเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? (ข) จะกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับความว่องไวของสัตว์ตัวที่สาม และเขตแดนที่มันครอง?
13 สัตว์ตัวที่สาม “รูปร่างเหมือนเสือดาว, บนหลังของมันมีปีกนกสี่ปีก; และสัตว์นั้นมีสี่หัวด้วย; และเขามอบรัชไว้ให้แก่มัน.” (ดานิเอล 7:6) เหมือนกับคู่เทียบของมัน—ท้องและโคนขาที่เป็นทองแดงของรูปปั้นมหึมาในความฝันของนะบูคัดเนซัร—เสือดาวที่มีสี่หัวและสี่ปีกตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงเชื้อสายของผู้ครอบครองชาวมาซิโดเนีย หรือชาวกรีก ซึ่งเริ่มตั้งแต่อะเล็กซานเดอร์มหาราช. ด้วยความคล่องแคล่วและว่องไวเหมือนเสือดาว อะเล็กซานเดอร์เคลื่อนทัพผ่านเอเชียน้อย ลงใต้ไปอียิปต์ และไปถึงพรมแดนฝั่งตะวันตกของอินเดีย. (เทียบกับฮะบาฆูค 1:8.) อาณาเขตของท่านกว้างใหญ่กว่าอาณาเขตของ “หมี” เนื่องจากครอบคลุมมาซิโดเนีย, กรีซ, และจักรวรรดิเปอร์เซีย.—ดู “กษัตริย์หนุ่มพิชิตโลก” ในหน้า 153.
14. “เสือดาว” กลายเป็นสัตว์สี่หัวโดยวิธีใด?
14 “เสือดาว” ตัวนี้กลายเป็นสัตว์สี่หัวหลังจากอะเล็กซานเดอร์สิ้นชีวิตในปี 323 ก.ส.ศ. ในที่สุด แม่ทัพของท่านสี่คนได้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่านในอาณาเขตของท่านที่ถูกแบ่งเป็นสี่ส่วน. เซเลอคุสยึดเมโสโปเตเมียและซีเรีย. ปโตเลมีควบคุมอียิปต์และปาเลสไตน์. ลีซิมาคุสครอบครองเอเชียน้อยและเทรส และคัสซันเดอร์ได้มาซิโดเนียและกรีซ. (ดู “อาณาจักรอันกว้างใหญ่ถูกแบ่งแยก” ในหน้า 162.) แล้วเกิดมีการคุกคามอย่างใหม่ขึ้น.
สัตว์ที่น่ากลัวที่แตกต่างออกไป
15. (ก) จงพรรณนาถึงสัตว์ตัวที่สี่. (ข) สัตว์ตัวที่สี่เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร และโดยวิธีใดที่มันกินและกัดอะไรต่ออะไรที่ขวางทางมัน?
15 ดานิเอลพรรณนาสัตว์ตัวที่สี่ว่า “น่ากลัวขนลุกขนพอง, มันแข็งแรงยิ่งนัก.” ท่านกล่าวต่อไปว่า มัน “มีฟันเหล็กซี่ใหญ่ ๆ, มันกินและกัดอะไรต่ออะไรลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และอะไร ๆ ที่เหลือจากกัดกินนั้น, มันก็เหยียบลงยับอยู่กับตีน, สัตว์ตัวนี้ต่างกันกับสัตว์ตัวอื่นทั้งปวงที่โผล่ขึ้นมาก่อน ๆ นั้น, และมีเขาสิบเขา.” (ดานิเอล 7:7) สัตว์ที่น่ากลัวนี้เริ่มต้นฐานะเป็นอำนาจทางการเมืองและทางทหารของโรม. มันค่อย ๆ ยึดครองทั้งสี่ส่วนของจักรวรรดิกรีก และพอถึงปี 30 ก.ส.ศ. โรมได้ขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกถัดมาในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล. โดยใช้กำลังทหารปราบทุกสิ่งที่ขวางหน้า ในที่สุด จักรวรรดิโรมันขยายขึ้นครอบคลุมเขตแดนตั้งแต่หมู่เกาะอังกฤษลงไปจนถึงส่วนใหญ่ของยุโรป รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเลยบาบูโลนไปถึงอ่าวเปอร์เซีย.
16. ทูตสวรรค์ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับสัตว์ตัวที่สี่?
16 โดยปรารถนาจะรู้แน่ว่าสัตว์ที่ “น่ากลัวขนลุกขนพอง” ตัวนี้หมายถึงอะไร ดานิเอลตั้งใจฟังขณะที่ทูตสวรรค์อธิบายดังนี้: “แต่ฝ่ายเขาสัตว์ทั้งสิบเขานั้น, จะได้แก่กษัตริย์สิบองค์บังเกิดขึ้นจากอาณาจักรนี้, แล้วภายหลังจะมีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น, แล้วจะแตกต่างกันกับองค์ก่อน ๆ, และองค์หลังนี้จะโค่นสามกษัตริย์ลงเสีย.” (ดานิเอล 7:19, 20, 24) “เขาสิบเขา” หรือ “กษัตริย์สิบองค์” นี้หมายถึงอะไร?
17. “เขาสิบเขา” ของสัตว์ตัวที่สี่เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร?
17 ขณะที่โรมมั่งคั่งขึ้นและเสื่อมโทรมลงเนื่องจากชนชั้นปกครองที่ใช้ชีวิตอย่างผิดศีลธรรม โรมเสื่อมถอยจากการเป็นมหาอำนาจทางทหาร. ต่อมา ความถดถอยของกำลังทหารของโรมเห็นได้อย่างชัดเจน. ในที่สุด จักรวรรดิอันเกรียงไกรจึงแตกออกเป็นหลายอาณาจักร. เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลมักใช้เลขสิบเพื่อบ่งถึงความครบถ้วน “เขาสิบเขา” ของสัตว์ตัวที่สี่จึงเป็นสัญลักษณ์ถึงทุกอาณาจักรซึ่งเกิดจากการล่มสลายของโรม.—เทียบกับพระบัญญัติ 4:13; ลูกา 15:8; 19:13, 16, 17.
18. โดยวิธีใดที่โรมทำการครอบครองเหนือยุโรปต่อไปเป็นเวลาหลายศตวรรษหลังจากจักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกถอดออกจากตำแหน่ง?
18 อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจโรมันไม่ได้สูญสิ้นไปตอนที่จักรพรรดิองค์สุดท้ายของกรุงโรมถูกถอดจากตำแหน่งในปี ส.ศ. 476. เป็นเวลาหลายศตวรรษ โรมภายใต้การปกครองของโปปแสดงอำนาจครอบงำทางการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านศาสนาเหนือยุโรปต่อไป. โรมทำเช่นนั้นโดยทางระบบศักดินา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของยุโรปอยู่ใต้อำนาจขุนนาง แล้วก็กษัตริย์. และกษัตริย์ทุกองค์ยอมรับอำนาจของโปป. ด้วยวิธีนี้ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีโรมฝ่ายโปปเป็นจุดศูนย์รวมจึงได้ครอบงำเหตุการณ์ของโลกตลอดช่วงเวลายาวนานแห่งประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่ายุคมืด.
19. ตามที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าว โรมเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับจักรวรรดิต่าง ๆ ก่อนหน้านั้น?
19 ใครจะปฏิเสธได้ว่าสัตว์ตัวที่สี่นั้น “แตกต่างกันกับอาณาจักรอื่นทั้งปวง”? (ดานิเอล 7:7, 19, 23) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอช. จี. เวลส์ นักประวัติศาสตร์ ได้เขียนว่า “มหาอำนาจโรมันใหม่นี้ . . . เป็นสิ่งที่ต่างไปจากจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ใด ๆ ซึ่งได้ครอบครองโลกที่เจริญแล้วจนกระทั่งถึงตอนนั้นในหลายแง่. . . . [มหาอำนาจโรมันใหม่] นับรวมชาวกรีกเกือบทั้งหมดในโลก และประชาชนของมหาอำนาจนี้มีชาวแฮไมต์และชาวเซไมต์น้อยกว่าประชาชนของจักรวรรดิก่อนหน้านั้นอย่างมาก . . . มหาอำนาจนี้เป็นรูปแบบใหม่ในประวัติศาสตร์กระทั่งถึงตอนนั้น . . . จักรวรรดิโรมันเป็นการเติบโต เป็นการเติบโตแบบใหม่ที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า; ชาวโรมันพบว่าตนเองเข้าไปพัวพันกับการทดลองด้านการบริหารที่ใหญ่โตโดยแทบไม่ทันรู้ตัว.” กระนั้น สัตว์ตัวที่สี่ยังจะต้องเติบโตต่อไป.
เขาอันเล็กได้รับอำนาจปกครอง
20. ทูตสวรรค์บอกอะไรเกี่ยวกับเขาอันเล็กที่งอกขึ้นจากหัวของสัตว์ตัวที่สี่?
20 ดานิเอลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ากำลังดูเขาทั้งสิบนั้น, และนี่แน่ะ, ก็มีเขาอันเล็กผุดขึ้นมาหว่างเขาอื่น, เลยกะแซะสามเขาที่ขึ้นอยู่ก่อนนั้นให้ถอนหลุดออกไปทั้งราก.” (ดานิเอล 7:8) ทูตสวรรค์บอกดานิเอลเกี่ยวกับการที่เขาอันเล็กงอกขึ้นมานี้ว่า “จะมีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น [หลังจากกษัตริย์สิบองค์], แล้วจะแตกต่างกันกับองค์ก่อน ๆ, และองค์หลังนี้จะโค่นสามกษัตริย์ลงเสีย.” (ดานิเอล 7:24) ใครคือกษัตริย์องค์นี้ ท่านได้ปรากฏขึ้นเมื่อไร และกษัตริย์สามองค์ที่ถูกโค่นคือใคร?
21. บริเตนกลายเป็นเขาอันเล็กโดยนัยของสัตว์ตัวที่สี่อย่างไร?
21 ขอพิจารณาเหตุการณ์ต่อไปนี้. ในปี 55 ก.ส.ศ. แม่ทัพชาวโรมันจูเลียส ซีซาร์ ได้รุกรานบริแทนเนียแต่ไม่อาจตั้งอาณานิคมถาวรได้. ในปี ส.ศ. 43 จักรพรรดิเกลาดิอุสเริ่มทำการพิชิตที่ถาวรกว่าที่บริเตนตอนใต้. แล้วในปี ส.ศ. 122 จักรพรรดิฮาเดรียนได้เริ่มสร้างกำแพงจากแม่น้ำไทน์จนถึงชะวากทะเลซอลเวย์ ซึ่งกำหนดจุดสิ้นสุดเขตทางเหนือของจักรวรรดิโรมัน. ต้นศตวรรษที่ห้า กองทหารโรมันไปจากเกาะ. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งอธิบายว่า “ในศตวรรษที่สิบหก อังกฤษเป็นมหาอำนาจระดับรอง. ความมั่งคั่งของอังกฤษมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเนเธอร์แลนด์. ประชากรของอังกฤษก็น้อยกว่าของฝรั่งเศสมาก. กำลังทหาร (รวมทั้งกองทัพเรือ) ก็ด้อยกว่าของสเปน.” ดูเหมือนว่าบริเตนเป็นอาณาจักรที่ไม่สำคัญในตอนนั้น เป็นเขาเล็กโดยนัยของสัตว์ตัวที่สี่. แต่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง.
22. (ก) เขาสามอันที่พ่ายแพ้แก่ “เขาอันเล็ก” คืออะไร? (ข) ครั้นแล้วบริเตนขึ้นมาเป็นอะไร?
22 ในปี 1588 ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนส่งกองเรือรบมาต่อสู้กับบริเตน. กองเรือนี้ซึ่งมีเรือ 130 ลำ บรรทุกทหารกว่า 24,000 คน แล่นมาทางช่องแคบอังกฤษ แต่แล้วก็พ่ายแพ้แก่กองทัพเรืออังกฤษและเป็นเหยื่อของกระแสลมทวนและพายุอันรุนแรงแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ “บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนอำนาจทางทะเลอย่างเด็ดขาดจากสเปนมาสู่อังกฤษ.” ในศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ได้ก่อตั้งกองเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก. อย่างไรก็ตาม พร้อมกับอาณานิคมโพ้นทะเลที่เพิ่มมากขึ้น บริเตนเอาชนะพวกดัตช์ได้. ระหว่างศตวรรษที่ 18 อังกฤษและฝรั่งเศสสู้รบกันในอเมริกาเหนือ และอินเดีย ซึ่งนำไปสู่สนธิสัญญาแห่งกรุงปารีสในปี 1763. นักเขียนชื่อ วิลเลียม บี. วิลคอกซ์ กล่าวว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ “ยอมรับฐานะใหม่ของบริเตนว่าเป็นมหาอำนาจของยุโรปในโลกที่นอกเหนือจากยุโรป.” ความยิ่งใหญ่ของบริเตนได้รับการยืนยันโดยชัยชนะเด็ดขาดที่มีเหนือนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสในปี ส.ศ. 1815. ดังนั้น “สามกษัตริย์” ที่บริเตน “โค่น” ก็คือสเปน, เนเธอร์แลนด์, และฝรั่งเศส. (ดานิเอล 7:24) ผลคือ บริเตนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางอาณานิคมและทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก. ถูกแล้ว “เขาอันเล็ก” เติบโตขึ้นจนกลายเป็นมหาอำนาจโลก!
23. เขาอันเล็กโดยนัย “กลืนทั้งพิภพกินเสีย” โดยวิธีใด?
23 ทูตสวรรค์บอกดานิเอลว่าสัตว์ตัวที่สี่ หรืออาณาจักรที่สี่ จะ “กลืนทั้งพิภพกินเสีย.” (ดานิเอล 7:23) เรื่องนี้เป็นจริงกับแคว้นของโรมซึ่งเคยรู้จักกันว่าบริแทนเนีย. ในที่สุดดินแดนนี้ก็กลายเป็นจักรวรรดิอังกฤษและ “กลืนทั้งพิภพกินเสีย.” มีอยู่ช่วงหนึ่ง จักรวรรดินี้เคยครอบครองผืนแผ่นดินและประชากรถึงหนึ่งในสี่ของโลก.
24. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการที่จักรวรรดิอังกฤษแตกต่างออกไป?
24 จักรวรรดิโรมันแตกต่างจากมหาอำนาจโลกก่อน ๆ ฉันใด กษัตริย์ที่มีภาพเป็น “เขาอันเล็ก” ก็ “แตกต่างกันกับองค์ก่อน ๆ ฉันนั้น.” (ดานิเอล 7:24) นักประวัติศาสตร์ชื่อ เอช. จี. เวลส์ กล่าวเกี่ยวกับจักรวรรดิอังกฤษว่า “ไม่เคยมีอะไรเหมือนจักรวรรดินี้มาก่อนเลย. ส่วนที่สำคัญยิ่งของทั้งระบบคือ ‘สาธารณรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข’ แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ . . . ไม่เคยมีรัฐบาลใดและมนุษย์คนใดเข้าใจจักรวรรดิอังกฤษได้ทั้งหมด. จักรวรรดินี้เป็นส่วนผสมของการเติบโตและเก็บเล็กผสมน้อยซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งใด ๆ ที่เคยเรียกกันว่าจักรวรรดิก่อนหน้านี้.”
25. (ก) ในการเปลี่ยนแปลงล่าสุด อะไรที่ประกอบกันเป็นเขาอันเล็ก? (ข) “เขาอันเล็ก” มี “ตาเหมือนตามนุษย์” และมี “ปากพูดคุยโต” ในความหมายใด?
25 “เขาอันเล็ก” ไม่ได้หมายถึงแค่จักรวรรดิอังกฤษเท่านั้น. ในปี 1783 บริเตนยอมรับเอกราชของอาณานิคมอเมริกัน 13 แห่ง. ในที่สุด สหรัฐอเมริกากลายเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ แล้วปรากฏออกมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะชาติที่โดดเด่นในโลก. สหรัฐ ยังคงผูกพันกับบริเตนอย่างเหนียวแน่น. มหาอำนาจคู่แองโกล-อเมริกันที่เป็นผล ประกอบกันเป็น ‘เขาที่มีตา.’ ที่จริง มหาอำนาจนี้มีสายตาเฉียบแหลม! มหาอำนาจนี้ “พูดคุยโต” คือพูดเรื่องนโยบายสำหรับโลกส่วนใหญ่และทำตัวเป็นกระบอกเสียง หรือ “ผู้พยากรณ์เท็จ.”—ดานิเอล 7:8, 11, 20; วิวรณ์ 16:13; 19:20.
เขาอันเล็กต่อต้านพระเจ้าและเหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระองค์
26. ทูตสวรรค์บอกล่วงหน้าเช่นไรเกี่ยวกับคำพูดและการกระทำที่เขาโดยนัยแสดงต่อพระยะโฮวาและผู้รับใช้ของพระองค์?
26 ดานิเอลพรรณนานิมิตของท่านต่อไปดังนี้: “ข้าพเจ้ากำลังดูอยู่ก็เห็นเขาสัตว์นั้นสู้รบกับเหล่าผู้บริสุทธิ์และเอาชนะได้.” (ดานิเอล 7:21) ทูตสวรรค์ของพระเจ้าบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับ “เขา” หรือกษัตริย์องค์นี้ว่า “องค์นี้จะพูดจาก้าวร้าวต่อพระผู้สูงสุด, และจะเบียดเบียนข่มเหงเหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น, และจะคิดเปลี่ยนวาระและบทบัญญัติ, และเขาสัตว์เหล่านั้น [“พวกเขา,” ล.ม.] จะถูกมอบไว้ในมือผู้นี้จนถึงเวลากำหนดสามปีกึ่ง [“หนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ,” ฉบับแปลใหม่].” (ดานิเอล 7:25) คำพยากรณ์ส่วนนี้สำเร็จเป็นจริงอย่างไรและเมื่อไร?
27. (ก) ใครคือ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งถูก “เขาอันเล็ก” ข่มเหง? (ข) เขาโดยนัยได้พยายาม “เปลี่ยนวาระและบทบัญญัติ” อย่างไร?
27 “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งถูก “เขาอันเล็ก”—มหาอำนาจแองโกล-อเมริกัน—ข่มเหงนั้น คือเหล่าผู้ติดตามพระเยซูบนแผ่นดินโลกที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ. (โรม 1:7; 1 เปโตร 2:9) เป็นเวลาหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชนที่เหลือของผู้ถูกเจิมเหล่านี้ออกคำเตือนอย่างเปิดเผยว่าปี 1914 จะเป็นตอนจบของ “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ.” (ลูกา 21:24) เมื่อสงครามระเบิดขึ้นในปีนั้น ปรากฏว่า “เขาอันเล็ก” ได้เพิกเฉยต่อคำเตือนนี้ เพราะมันไม่ยอมหยุดข่มเหง “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งได้รับการเจิม. มหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกันถึงกับต่อต้านความพยายามของพวกเขาที่จะทำตามข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา (หรือ “บทบัญญัติ”) ที่ให้พยานของพระองค์ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก. (มัดธาย 24:14) โดยวิธีนี้ “เขาอันเล็ก” ได้พยายาม “เปลี่ยนวาระและบทบัญญัติ.”
28. ช่วงเวลา “หนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ” นานเท่าไร?
28 ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวากล่าวถึงช่วงเวลาเชิงพยากรณ์ที่นาน “หนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ.” ช่วงเวลานี้นานเท่าไร? ผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลทั่วไปเห็นพ้องกันว่า วลีนี้บ่งบอกถึงเวลาสามวาระครึ่ง—ผลบวกของหนึ่งวาระ, สองวาระ, และครึ่งวาระ. เนื่องจากช่วงเวลา “เจ็ดวาระ” แห่งการเสียสติของนะบูคัดเนซัรเท่ากับเจ็ดปี สามวาระครึ่งจึงเป็นเวลาสามปีครึ่ง.c (ดานิเอล 4:16, 25) ฉบับแอน อเมริกัน แทรนสเลชัน แปลประโยคนี้ว่า “พวกเขาจะถูกมอบไว้กับเขาเป็นเวลาหนึ่งปี, สองปี, และครึ่งปี.” ฉบับของ เจมส์ มอฟฟัต แปลว่า “เป็นเวลาสามปีและครึ่งปี.” ช่วงเวลาเดียวกันนี้มีบอกไว้ที่พระธรรมวิวรณ์ 11:2-7 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า พยานทั้งสองของพระเจ้าจะประกาศโดยสวมผ้ากระสอบเป็นเวลา 42 เดือน หรือ 1,260 วัน แล้วจะถูกฆ่า. ช่วงเวลานี้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อไร?
29. ช่วงเวลาเชิงพยากรณ์สามปีครึ่งเริ่มเมื่อไรและอย่างไร?
29 สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิม สงครามโลกครั้งที่หนึ่งหมายถึงเวลาแห่งการทดสอบ. พอถึงช่วงปลายปี 1914 พวกเขาคาดหมายว่าจะถูกกดขี่ข่มเหง. ที่จริง ข้อพระคัมภีร์ประจำปีที่เลือกไว้สำหรับปี 1915 ซึ่งอาศัยมัดธาย 20:22 เป็นคำถามที่พระเยซูทรงถามสาวกของพระองค์ว่า “จอกนั้นซึ่งเราจะดื่ม ท่านจะดื่มได้หรือ?” ดังนั้น เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 1914 พยานกลุ่มเล็ก ๆ ได้ประกาศโดย “สวมผ้ากระสอบ.”
30. คริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกมหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกันโจมตีอย่างไรระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
30 ขณะที่ความบ้าคลั่งของสงครามลุกลามไป คริสเตียนผู้ถูกเจิมเผชิญการต่อต้านขัดขวางมากขึ้น. พวกเขาบางคนถูกจำคุก. บางคนอย่างเช่น แฟรงก์ แพลตต์ในอังกฤษและโรเบิร์ต เคลกก์ในแคนาดา ถูกเจ้าหน้าที่ที่เหี้ยมโหดทรมานอย่างทารุณ. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1918 แคนาดา อาณาจักรปกครองตนเองของอังกฤษสั่งห้ามหนังสือเล่มที่เจ็ดของคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ ที่ชื่อว่าความลึกลับสำเร็จแล้ว (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเพิ่งจัดพิมพ์ได้ไม่นาน รวมทั้งแผ่นพับชื่อนักศึกษาพระคัมภีร์รายเดือน (ภาษาอังกฤษ). ในเดือนถัดมา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐประกาศว่าการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือเล่มที่เจ็ดนี้ผิดกฎหมาย. ผลเป็นอย่างไร? มีการค้นบ้าน, ยึดหนังสือ, และจับกุมผู้นมัสการพระยะโฮวา!
31. ช่วงเวลา “หนึ่งวาระ, สองวาระ, กับครึ่งวาระ” จบลงเมื่อไรและอย่างไร?
31 การข่มเหงผู้ถูกเจิมของพระเจ้ามาถึงจุดสุดยอดในวันที่ 21 มิถุนายน 1918 เมื่อนายกสมาคม เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด และสมาชิกคนสำคัญของสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ถูกตัดสินในข้อหาเท็จให้จำคุกระยะยาว. โดยพยายามจะ “เปลี่ยนวาระและบทบัญญัติ” “เขาอันเล็ก” ราวกับว่าได้ “ฆ่า” งานประกาศที่ได้รับการจัดระเบียบแล้ว. (วิวรณ์ 11:7) ดังนั้น ช่วงเวลาที่บอกล่วงหน้านาน “หนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ” จึงจบลงในเดือนมิถุนายน 1918.
32. ทำไมคุณจึงบอกว่า “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ไม่ได้ถูกกวาดล้างโดย “เขาอันเล็ก”?
32 แต่ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ไม่ได้ถูกกวาดล้างโดยการข่มเหงของ “เขาอันเล็ก.” ดังที่ได้พยากรณ์ไว้ในพระธรรมวิวรณ์ ภายหลังการชะงักงันไปชั่วระยะสั้น ๆ คริสเตียนผู้ถูกเจิมก็คืนชีพและทำการงานอย่างขันแข็งอีก. (วิวรณ์ 11:11-13) ในวันที่ 26 มีนาคม 1919 นายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์และผู้ร่วมงานกับท่านถูกปล่อยตัวจากคุก และเวลาต่อมาพวกเขาก็พ้นข้อกล่าวหาเท็จทุกประการที่ถูกนำขึ้นฟ้องร้อง. ทันทีหลังจากนั้น ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเริ่มจัดระเบียบใหม่สำหรับกิจกรรมต่อไป. แต่มีอะไรรอ “เขาอันเล็ก” อยู่?
ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ทรงออกพิพากษา
33. (ก) ใครคือผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์? (ข) ‘บรรดาสมุดทั้งหลายที่ถูกเปิดออก’ ในศาลแห่งสวรรค์คืออะไร?
33 หลังจากแสดงให้เห็นสัตว์สี่ตัวแล้ว ดานิเอลก็ละสายตาจากสัตว์ตัวที่สี่ไปดูฉากเหตุการณ์หนึ่งในสวรรค์. ท่านเห็นผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ประทับบนพระที่นั่งอันรุ่งเรืองในฐานะผู้พิพากษา. ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระยะโฮวาพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 90:2) เมื่อการพิจารณาพิพากษาในสวรรค์เริ่มขึ้น ดานิเอลเห็น “บรรดาสมุดทั้งหลายถูกเปิดกางออก.” (ดานิเอล 7:9, 10) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ทรงทราบประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษย์ประหนึ่งว่าถูกบันทึกไว้ในสมุด. พระองค์ได้ทรงสังเกตสัตว์ทั้งสี่ตัวโดยนัยและทรงสามารถพิพากษาสัตว์ทั้งสี่ตัวด้วยความรู้แจ้ง.
34, 35. จะเกิดอะไรขึ้นกับ “เขาอันเล็ก” และมหาอำนาจอื่น ๆ ที่เป็นประหนึ่งสัตว์?
34 ดานิเอลกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าได้เฝ้าดูอยู่, ในขณะที่เขาเล็กนั้นพูดคุยโต, ได้ดูจนกะทั่งสัตว์ตัวนั้นถูกฆ่าตาย, และตัวมันถูกทำลาย, มันถูกโยนให้ไฟเผาเสีย. ส่วนสัตว์ที่เหลือนั้น, รัชก็ถูกริบเอาไปเสียจากมัน: แต่ชีวิตของมันถูกปล่อยให้ยืนยาวไปพักหนึ่ง [“หนึ่งวาระและหนึ่งฤดู,” ล.ม.].” (ดานิเอล 7:11, 12) ทูตสวรรค์บอกดานิเอลว่า “แต่ภายหลังก็จะตั้งศาลพิจารณาตัดสินให้ริบเอารัชของผู้นี้ไปเผาทำลายให้พินาศจนสิ้นเชิง.”—ดานิเอล 7:26.
35 โดยคำตัดสินของพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้พิพากษาองค์ยิ่งใหญ่ เขานั้นที่พูดสบประมาทพระเจ้าและข่มเหง “เหล่าผู้บริสุทธิ์” จะประสบสิ่งเดียวกันกับที่จักรวรรดิโรมันซึ่งข่มเหงคริสเตียนรุ่นแรกได้ประสบมาแล้ว. การปกครองของมันจะไม่มีต่อไป. แม้แต่ “กษัตริย์” ที่เป็นเหมือนเขาที่ด้อยกว่าซึ่งเกิดจากจักรวรรดิโรมันก็จะไม่มีต่อไปด้วย. แต่จะเป็นอย่างไรกับอำนาจการปกครองที่ได้รับมาจากมหาอำนาจก่อน ๆ ที่เป็นประหนึ่งสัตว์? ดังที่มีพยากรณ์ไว้ ชีวิตของอำนาจเหล่านั้นยืนยาวไป “หนึ่งวาระและหนึ่งฤดู.” เขตแดนของอำนาจเหล่านั้นยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่จนถึงสมัยของเรา. ยกตัวอย่างเช่น อิรักยึดครองเขตแดนของบาบูโลนโบราณ. เปอร์เซีย (อิหร่าน) และกรีซยังมีอยู่. ส่วนที่เหลือของมหาอำนาจโลกเหล่านี้เป็นส่วนของสหประชาชาติ. อาณาจักรเหล่านี้เช่นกันจะสูญสลายไปพร้อมกับการทำลายล้างมหาอำนาจสุดท้าย. รัฐบาลมนุษย์ทุกรัฐบาลจะสูญสิ้นไปใน “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์.” (วิวรณ์ 16:14, 16) แต่แล้ว ใครล่ะที่จะครองโลก?
การปกครองถาวรมาใกล้แล้ว!
36, 37. (ก)“ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” หมายถึงใคร และผู้นี้ปรากฏตัวในศาลแห่งสวรรค์เมื่อไรและเพื่อจุดประสงค์อะไร? (ข) มีการสถาปนาอะไรขึ้นในปี 1914?
36 ดานิเอลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ฝันเห็นในกลางคืนนั้น, และนี่แน่ะ, มีผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์นั่งมาบนเมฆ, แล้วเข้ามาหาผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์, แล้วเขาก็พาผู้นั้นมาเฝ้าต่อหน้าพระที่นั่ง.” (ดานิเอล 7:13) เมื่อพระเยซูคริสต์อยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์เรียกตนเองว่า “บุตรมนุษย์” บ่งชี้ถึงความเกี่ยวพันของพระองค์กับมนุษยชาติ. (มัดธาย 16:13; 25:31) พระเยซูตรัสต่อศาลซันเฮดริน ศาลสูงของพวกยิวว่า “ในเวลาเบื้องหน้านั้นท่านทั้งหลายจะได้เห็นบุตรมนุษย์นั่งอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธานุภาพ, และเสด็จมาบนเมฆฟ้า.” (มัดธาย 26:64) ดังนั้น ในนิมิตของดานิเอล ผู้ที่เสด็จมา ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตามนุษย์ และได้เข้าเฝ้าพระยะโฮวาพระเจ้าก็คือพระเยซูคริสต์ซึ่งถูกปลุกให้คืนพระชนม์และได้รับสง่าราศีแล้ว. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร?
37 พระเจ้าทรงทำสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักรกับพระเยซูคริสต์ เหมือนที่ทรงทำกับกษัตริย์ดาวิด. (2 ซามูเอล 7:11-16; ลูกา 22:28-30) เมื่อ “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” สิ้นสุดลงในปี ส.ศ. 1914 พระเยซูคริสต์ ในฐานะรัชทายาทของดาวิด จึงสามารถรับเอาการปกครองราชอาณาจักรได้อย่างถูกต้อง. บันทึกเชิงพยากรณ์ของดานิเอลบอกว่า “ผู้นั้นได้รับมอบรัช, และเกียรติยศและอาณาจักร, เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน. รัชของท่านดำรงอยู่เป็นนิจ, ไม่มีวันสิ้นสุด, และอาณาจักรของท่านไม่รู้จักล่มจม.” (ดานิเอล 7:14) ด้วยเหตุนี้ ราชอาณาจักรมาซีฮาจึงถูกสถาปนาขึ้นในสวรรค์ในปี 1914. อย่างไรก็ดี มีการมอบอำนาจการปกครองให้แก่คนอื่นด้วย.
38, 39. ใครจะรับอำนาจปกครองอันถาวรเหนือโลกนี้?
38 ทูตสวรรค์กล่าวว่า “เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้าผู้สูงสุดนั้นจะรับมอบอาณาจักรนั้น.” (ดานิเอล 7:18, 22, 27) พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์องค์เอก. (กิจการ 3:14; 4:27, 30) “เหล่าผู้บริสุทธิ์” คนอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนในการปกครองคือคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ที่ได้รับการเจิม 144,000 คน ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรร่วมกับพระคริสต์. (โรม 1:7; 8:17; 2 เธซะโลนิเก 1:5; 1 เปโตร 2:9) พวกเขาถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเป็นวิญญาณอมตะเพื่อจะปกครองร่วมกับพระคริสต์บนภูเขาซีโอนทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 2:10; 14:1; 20:6) ด้วยเหตุนี้ พระคริสต์เยซูและคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เป็นขึ้นจากตายจะปกครองโลกมนุษย์.
39 ทูตสวรรค์ของพระเจ้ากล่าวเกี่ยวกับการปกครองของบุตรมนุษย์และ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” อื่น ๆ ที่เป็นขึ้นจากตายว่า “อาณาจักรและเกียรติยศ, รัช, และอำนาจราชศักดิ์แห่งรัฐทั้งปวงทั่วใต้ฟ้าจะถูกมอบไว้แก่เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น: อาณาจักรของเขาเป็นอาณาจักรถาวร, และรัฐทั้งปวงจะรับใช้และเชื่อฟังเขา.” (ดานิเอล 7:27) ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนี้ที่มนุษยชาติซึ่งเชื่อฟังจะประสบภายใต้ราชอาณาจักรนี้!
40. เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการเอาใจใส่ความฝันและนิมิตของดานิเอล?
40 ดานิเอลไม่เข้าใจความสำเร็จเป็นจริงอันยอดเยี่ยมทั้งหมดนี้ในนิมิตต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงประทานให้. ท่านกล่าวว่า “เรื่องนั้นก็จบเพียงเท่านี้. ส่วนข้าพเจ้า, ดานิเอล, จิตต์ใจก็ปั่นป่วน, และหน้าตาก็สลดไป; แต่ข้าพเจ้าได้สงวนเรื่องนี้ไว้ในใจของข้าพเจ้า.” (ดานิเอล 7:28) กระนั้น พวกเราอยู่ในสมัยที่เราสามารถเข้าใจความสำเร็จเป็นจริงของสิ่งที่ดานิเอลได้เห็น. การเอาใจใส่ต่อคำพยากรณ์นี้จะเสริมความเชื่อและความมั่นใจของเราให้เข้มแข็งขึ้นในเรื่องที่ว่า กษัตริย์มาซีฮาของพระยะโฮวาจะปกครองโลก.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อความชัดเจนและหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อน เราจะพิจารณานิมิตที่มีบันทึกในดานิเอล 7:1-14 เป็นข้อ ๆ พร้อมกันกับข้อที่เป็นคำอธิบายที่อยู่ในดานิเอล 7:15-28.
b ดูบท 4 ของหนังสือนี้.
c ดูบท 6 ของหนังสือนี้.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ‘สัตว์ใหญ่สี่ตัวที่โผล่ขึ้นมาจากทะเล’ เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไรบ้าง?
• อะไรที่ประกอบกันเป็น “เขาอันเล็ก”?
• “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ถูกข่มเหงจากเขาอันเล็กโดยนัยอย่างไรระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
• จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาอันเล็กโดยนัยและมหาอำนาจอื่น ๆ ที่เป็นประหนึ่งสัตว์?
• คุณได้รับประโยชน์อะไรจากการเอาใจใส่ความฝันและนิมิตของดานิเอลเกี่ยวกับ “สัตว์ใหญ่สี่ตัว”?
[กรอบ/ภาพหน้า 149-152]
กษัตริย์ผู้ยอมทนให้
ในความทรงจำของนักเขียนชาวกรีกแห่งศตวรรษที่ห้า ก.ส.ศ. ท่านเป็นกษัตริย์ที่ดีเยี่ยมผู้ยอมทนให้. คัมภีร์ไบเบิลเรียกท่านว่า ‘ผู้ถูกเจิม’ ของพระเจ้า และ “นกกินเหยื่อ” มา “จากทิศตะวันออก.” (ยะซายา 45:1; 46:11, ล.ม.) กษัตริย์ที่พูดถึงองค์นี้คือไซรัสมหาราชแห่งเปอร์เซีย.
ไซรัสเริ่มก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงตั้งแต่ประมาณปี 560/559 ก.ส.ศ. เมื่อท่านครองราชย์ต่อจากบิดาของท่าน คือแคมบีซิสที่ 1 ขึ้นสู่บัลลังก์แห่งแอนแชน ซึ่งเป็นเมืองหรือเขตหนึ่งในเปอร์เซียโบราณ. ตอนนั้นแอนแชนขึ้นอยู่กับแอสไทอาจิส กษัตริย์มีเดีย. ไซรัสกบฏต่อการปกครองของมีเดีย และท่านได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วเนื่องจากกองทัพของแอสไทอาจิสเอาใจออกหากมาอยู่ฝ่ายไซรัส. แล้วชาวมีเดียก็ภักดีต่อไซรัส. ตั้งแต่นั้นมา ชาวมีเดียและชาวเปอร์เซียก็ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันภายใต้การนำของไซรัส. โดยวิธีนี้จึงเกิดมีการปกครองของมิโด-เปอร์เซียซึ่งในที่สุดก็ขยายอาณาเขตจากทะเลอีเจียนไปถึงแม่น้ำสินธุ.—ดูแผนที่.
ตอนแรกไซรัสเคลื่อนกองกำลังผสมของมีเดียและเปอร์เซียไปควบคุมจุดที่เป็นปัญหา—คือส่วนทางตะวันตกของมีเดีย ซึ่งเครอซุส กษัตริย์แห่งลิเดียได้ขยายอาณาเขตของท่านเข้ามาในอาณาเขตของมีเดีย. ไซรัสบุกไปที่พรมแดนทางตะวันออกของจักรวรรดิลิเดียในเอเชียน้อย เอาชนะเครอซุส และยึดซาร์ดิสเมืองหลวงของท่าน. แล้วไซรัสจึงปราบเมืองของไอโอเนียและยึดเอเชียน้อยทั้งหมดเข้าไว้ในอาณาเขตของจักรวรรดิมิโด-เปอร์เซีย. ท่านจึงกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของบาบูโลนและนะโบไนดัสกษัตริย์ของบาบูโลน.
แล้วไซรัสก็เตรียมการเผชิญหน้ากับบาบูโลนอันเกรียงไกร. ตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นมา ท่านได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความสำเร็จสมจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล. เกือบสองศตวรรษก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาได้ทรงระบุชื่อไซรัสผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า ท่านจะเป็นผู้ปกครองที่จะโค่นล้มบาบูโลนและปลดปล่อยชาวยิวจากพันธนาการ. เป็นเพราะการแต่งตั้งล่วงหน้านี้เองที่ทำให้พระคัมภีร์เรียกไซรัสว่าเป็น “ผู้ถูกเจิม” ของพระยะโฮวา.—ยะซายา 44:26-28, ล.ม.
เมื่อไซรัสยกมาต่อสู้บาบูโลนในปี 539 ก.ส.ศ. ท่านเผชิญกับงานที่น่าครั่นคร้าม. กรุงนี้มีกำแพงใหญ่มหึมาล้อมรอบและมีคูเมืองที่ทั้งลึกและกว้างซึ่งมีน้ำจากแม่น้ำยูเฟรทิส กรุงนี้ดูเหมือนไม่อาจพิชิตได้. บริเวณที่แม่น้ำยูเฟรทิสไหลผ่านเมืองก็มีกำแพงสูงราวกับขุนเขาพร้อมด้วยประตูทองแดงบานใหญ่ตลอดแนวบนริมฝั่งแม่น้ำ. ไซรัสจะตีกรุงบาบูโลนได้อย่างไร?
กว่าหนึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาทรงตรัสไว้ล่วงหน้าถึง “ความหายนะเหนือน้ำของกรุงนี้” และทรงตรัสว่า “น้ำนั้นจะต้องแห้งไป.” (ยิระมะยา 50:38, ล.ม.) จริงตามคำพยากรณ์นี้ ไซรัสเบี่ยงแม่น้ำยูเฟรทิสให้ไหลไปทางอื่นช่วงไม่กี่กิโลเมตรทางเหนือของกรุงบาบูโลน. แล้วกองทัพของท่านก็ลุยก้นแม่น้ำมา ปีนขึ้นฝั่งไปที่กำแพง และเข้ากรุงนั้นอย่างง่ายดายเนื่องจากประตูทองแดงถูกเปิดทิ้งไว้. เหมือน “นกกินเหยื่อ” ที่โฉบเหยื่ออย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองคนนี้—“จากทิศตะวันออก”—ยึดกรุงบาบูโลนได้ในคืนเดียว!
สำหรับชาวยิวในกรุงบาบูโลน ชัยชนะของไซรัสหมายถึงการปลดปล่อยที่รอมานานจากการเป็นเชลย และจุดจบของการร้างเปล่า 70 ปีของมาตุภูมิของเขา. พวกเขาต้องตื่นเต้นสักเพียงไรเมื่อไซรัสออกคำประกาศอนุญาตให้พวกเขากลับไปกรุงยะรูซาเลมและสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ได้! ไซรัสยังได้คืนภาชนะล้ำค่าของพระวิหารซึ่งนะบูคัดเนซัรได้นำไปบาบูโลน, อนุญาตให้นำเข้าไม้จากเลบานอน, และให้ทุนจากราชสำนักเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างด้วย.—เอษรา 1:1-11; 6:3-5.
ตามปกติ ไซรัสดำเนินนโยบายที่มีมนุษยธรรมและยอมทนให้ในการปฏิบัติต่อชาวประเทศที่ท่านพิชิตได้. สาเหตุหนึ่งสำหรับลักษณะนิสัยนี้อาจเป็นเพราะศาสนาของท่าน. ไซรัสคงยึดถือคำสอนของโซโรอัสเตอร์ ศาสดาชาวเปอร์เซีย และนมัสการพระอหุระ มาซดะ—เทพเจ้าที่คิดกันว่าเป็นผู้สร้างสิ่งดีทุกอย่าง. ฟาร์ฮัง เมร์ เขียนในหนังสือของเขาชื่อประเพณีของพวกโซโรอัสเตอร์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “โซโรอัสเตอร์แสดงว่าพระเจ้าสมบูรณ์ด้านศีลธรรม. เขาบอกผู้คนว่าอหุระ มาซดะ ไม่ชอบแก้แค้นแต่มีความยุติธรรม และจึงไม่ควรกลัวแต่ควรจะรักเทพเจ้าองค์นี้.” ความเชื่อในเทพเจ้าที่มีศีลธรรมและยุติธรรมอาจส่งผลต่อจริยธรรมของไซรัสและกระตุ้นให้แสดงความใจกว้างและความยุติธรรม.
อย่างไรก็ตาม กษัตริย์องค์นี้ทนภูมิอากาศของกรุงบาบูโลนแทบไม่ได้. ฤดูร้อนก็ร้อนระอุจนเหลือที่ท่านจะทนไหว. ดังนั้น ขณะที่กรุงบาบูโลนยังคงเป็นราชธานีของจักรวรรดิ และเป็นศูนย์กลางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ท่านไม่ค่อยได้ใช้กรุงนี้ทำอะไรอื่นนอกเหนือจากใช้เป็นเมืองหลวงฤดูหนาวเท่านั้น. ที่จริง หลังจากพิชิตบาบูโลนได้แล้ว ไม่นานไซรัสก็กลับไปเมืองหลวงฤดูร้อนของท่าน คือกรุงเอกบาทานา ซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,900 เมตร ที่เชิงเขาแอลวันด์. ที่นั่น มีฤดูหนาวอันหนาวเหน็บแต่มีฤดูร้อนที่เย็นสบายเป็นสิ่งที่ท่านชอบมากกว่า. ไซรัสยังได้สร้างวังอันงดงามในพาซาร์กาดี (ใกล้กรุงเพอร์เซโพลิส) ที่ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นเมืองหลวงของท่าน ซึ่งอยู่ 650 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอกบาทานา. ที่พักนี้เป็นสถานที่พักผ่อนอันสงบของท่าน.
ไซรัสจึงทิ้งความประทับใจไว้ในฐานะเป็นผู้พิชิตที่กล้าหาญ และกษัตริย์ผู้ยอมทนให้. การปกครองของท่านที่ยาวนาน 30 ปีจบลงเมื่อท่านสิ้นชีวิตในปี 530 ก.ส.ศ. ขณะที่ท่านกำลังทำสงคราม. บุตรของท่าน แคมบีซิสที่ 2 สืบบัลลังก์แห่งเปอร์เซียต่อจากท่าน.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ไซรัสชาวเปอร์เซียเป็น ‘ผู้ถูกเจิม’ ของพระพระยะโฮวาอย่างไร?
• ไซรัสทำงานรับใช้ที่มีค่าอะไรบ้างต่อไพร่พลของพระยะโฮวา?
• ไซรัสปฏิบัติอย่างไรต่อชาวประเทศที่ท่านพิชิตได้?
[แผนที่]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
จักรวรรดิมิโด-เปอร์เซีย
มาซิโดเนีย
เมมฟิส
อียิปต์
เอธิโอเปีย
ยะรูซาเลม
บาบูโลน
เอกบาทานา
ซูซา
เพอร์เซโพลิส
อินเดีย
[ภาพ]
ที่ฝังศพของไซรัส ในเมืองพาซาร์กาดี
[ภาพ]
รูปสลักลายนูนที่เมืองพาซาร์กาดี แสดงภาพของไซรัส
[กรอบ/ภาพหน้า 153-161]
กษัตริย์หนุ่มพิชิตโลก
ประมาณ 2,300 ปีมาแล้ว แม่ทัพผมสีบลอนด์คนหนึ่งซึ่งมีอายุ 20 กว่าปีกำลังยืนอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. สายตาของท่านจ้องไปที่เมืองบนเกาะซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบหนึ่งกิโลเมตร. เมื่อถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง แม่ทัพที่โกรธจัดผู้นี้จึงตั้งใจจะพิชิตเมืองนั้นให้ได้. อะไรคือแผนการของท่านในการโจมตี? ก็คือการสร้างทางข้ามไปถึงเกาะนั้นและระดมกำลังโจมตีเมืองนั้น. การสร้างทางข้ามได้เริ่มขึ้นแล้ว.
แต่สาสน์จากกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิเปอร์เซียเข้ามาขัดจังหวะแม่ทัพหนุ่ม. ผู้ปกครองแห่งเปอร์เซียต้องการสงบศึกอย่างยิ่ง จึงยื่นข้อเสนอพิเศษคือ ทองคำ 10,000 ตะลันต์ (มูลค่าในปัจจุบันคือกว่าสองพันล้านดอลลาร์), ยกบุตรสาวคนหนึ่งของกษัตริย์ให้สมรส, และให้ครองส่วนทางตะวันตกทั้งหมดของจักรวรรดิเปอร์เซีย. ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับครอบครัวของกษัตริย์ ซึ่งถูกแม่ทัพจับตัวมา.
แม่ทัพที่ต้องเผชิญการตัดสินใจว่าจะรับหรือปฏิเสธข้อเสนอนี้คืออะเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิโดเนีย. ท่านควรจะรับข้อเสนอนี้ไหม? นักประวัติศาสตร์ อุลริค วิลค์เคน กล่าวว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งสำหรับโลกยุคโบราณ. แท้จริง ผลจากการตัดสินใจของท่านนั้นกระทบมาถึงยุคกลางเรื่อยมาจนถึงสมัยของเรา ทั้งทางตะวันออกและทางตะวันตก.” ก่อนที่เราจะพิจารณาคำตอบของอะเล็กซานเดอร์ ขอให้เราดูว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่นำไปสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้.
การก้าวสู่ผู้พิชิต
อะเล็กซานเดอร์เกิดที่เพลลา มาซิโดเนีย ในปี 356 ก.ส.ศ. บิดาของท่านคือกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 และมารดาคือนางโอลิมเปียส. นางสอนอะเล็กซานเดอร์ว่า กษัตริย์มาซิโดเนียสืบเชื้อสายมาจากเฮอร์คิวลิส บุตรของซูส เทพเจ้ากรีก. ตามที่โอลิมเปียสบอก บรรพบุรุษของอะเล็กซานเดอร์คืออะคิลลิส วีรบุรุษในบทกวีของโฮเมอร์เรื่องอิเลียด. โดยได้รับการหล่อหลอมจากบิดามารดาในเรื่องการพิชิตและในเรื่องสง่าราศีของกษัตริย์ อะเล็กซานเดอร์วัยเยาว์แทบไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเลย. เมื่อถูกถามว่าจะวิ่งแข่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไหม อะเล็กซานเดอร์ตอบว่าท่านจะลงหากได้วิ่งแข่งกับกษัตริย์. ท่านทะเยอทะยานอยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ากิจการของบิดาของท่าน และอยากได้สง่าราศีจากความสำเร็จ.
เมื่ออายุ 13 ปี อะเล็กซานเดอร์ได้รับการสอนจากอาริสโตเติล นักปรัชญากรีกผู้ซึ่งช่วยท่านให้พัฒนาความสนใจด้านปรัชญา, การแพทย์, และวิทยาศาสตร์. ยังคงมีการถกเถียงกันว่า คำสอนทางปรัชญาของอาริสโตเติลส่งผลต่อแนวความคิดของอะเล็กซานเดอร์มากน้อยสักแค่ไหน. เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปรัชญาแห่งศตวรรษที่ 20 ให้ข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนจะรอบคอบกว่าที่จะบอกว่ามีไม่มากนักที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกัน. แนวคิดทางการเมืองของอาริสโตเติลอยู่บนพื้นฐานของระบบนครรัฐกรีก ซึ่งกำลังเสื่อมลง.” แนวคิดเรื่องการปกครองแบบนครรัฐเล็ก ๆ ไม่ดึงดูดใจเจ้าชายผู้ทะเยอทะยานซึ่งต้องการสร้างจักรวรรดิรวมศูนย์ที่ยิ่งใหญ่. นอกจากนี้ อะเล็กซานเดอร์คงต้องสงสัยในคำสอนของอาริสโตเติลที่ให้ปฏิบัติต่อคนที่ไม่ใช่ชาวกรีกในฐานะทาส เพราะท่านนึกภาพเห็นจักรวรรดิที่เจริญรุ่งเรืองด้วยความร่วมมือกันระหว่างผู้ชนะกับผู้ถูกพิชิต.
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสงสัยว่าอาริสโตเติลได้ส่งเสริมความสนใจของอะเล็กซานเดอร์ในการอ่านและการเรียนรู้. อะเล็กซานเดอร์เป็นนักอ่านตัวยงตลอดชีวิตของท่าน ท่านชื่นชอบข้อเขียนของโฮเมอร์เป็นพิเศษ. กล่าวกันว่าท่านจำเรื่องอิเลียด—โคลงทั้ง 15,693 บรรทัด—ได้ขึ้นใจ.
การศึกษาจากอาริสโตเติลต้องยุติลงกลางคันในปี 340 ก.ส.ศ. เมื่อเจ้าชายวัย 16 ปีกลับไปเพลลาเพื่อจะปกครองมาซิโดเนียเมื่อบิดาของท่านไม่อยู่. และไม่ช้า มกุฎราชกุมารผู้นี้ก็สำแดงตัวโดดเด่นในวีรกรรมทางทหาร. ด้วยความชื่นชมของฟิลิป ท่านปราบกบฏเผ่าแมดีแห่งเทรสได้อย่างรวดเร็ว, บุกเข้ายึดเมืองหลักของพวกเขา, และตั้งชื่อให้ใหม่ว่าอะเล็กซานดรูโพลิส ตามชื่อของท่านเอง.
ดำเนินการพิชิต
การลอบสังหารฟิลิปในปี 336 ก.ส.ศ. ทำให้อะเล็กซานเดอร์ในวัย 20 ปีได้รับบัลลังก์แห่งมาซิโดเนีย. อะเล็กซานเดอร์เข้าทวีปเอเชียทางช่องแคบเฮลเลสพอนต์ (ปัจจุบันคือช่องแคบดาร์ดาเนลส์) ในฤดูใบไม้ผลิปี 334 ก.ส.ศ. ท่านเริ่มทำสงครามเพื่อการพิชิตด้วยกองทัพเล็ก ๆ แต่ก็มีประสิทธิภาพด้วยทหารราบ 30,000 คนและทหารม้า 5,000 คน. ในกองทัพของท่านยังมีวิศวกร, นักสำรวจ, สถาปนิก, นักวิทยาศาสตร์, และนักประวัติศาสตร์ร่วมอยู่ด้วย.
อะเล็กซานเดอร์รบชนะพวกเปอร์เซียเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำแกรนิคุสทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียน้อย (ปัจจุบันเป็นประเทศตุรกี). ฤดูหนาวปีนั้น ท่านพิชิตทางตะวันตกของเอเชียน้อย. ในฤดูใบไม้ร่วงถัดมา มีการสู้รบครั้งใหญ่ครั้งที่สองกับพวกเปอร์เซียที่อิสซุส ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียน้อย. กษัตริย์ดาระยาศที่ 3 ผู้ยิ่งใหญ่พร้อมด้วยกองทหารประมาณห้าแสนคนมาที่นั่นเพื่อรบกับอะเล็กซานเดอร์. ดาระยาศผู้มั่นใจมากเกินไปได้นำมารดา, ภรรยา, และสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของท่านมาด้วยเพื่อพวกเขาจะได้เป็นพยานถึงสิ่งที่ท่านคิดว่าจะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่. แต่พวกเปอร์เซียไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการจู่โจมอย่างกะทันหันและรุนแรงของพวกมาซิโดเนีย. กองกำลังของอะเล็กซานเดอร์เอาชนะกองทัพเปอร์เซียได้อย่างเด็ดขาด และดาระยาศก็หนีไป ทิ้งครอบครัวของท่านไว้ในกำมือของอะเล็กซานเดอร์.
แทนที่จะไล่ตามพวกเปอร์เซียที่กำลังหนี อะเล็กซานเดอร์เดินทัพไปทางใต้ตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปราบฐานที่มั่นของกองทัพเรือที่เกรียงไกรของเปอร์เซีย. แต่ตุโร เมืองที่อยู่บนเกาะได้ต่อต้านการบุกรุก. อะเล็กซานเดอร์ตั้งใจแน่วแน่ที่จะพิชิตเมืองนี้ให้ได้ ท่านเริ่มการล้อมเมืองซึ่งใช้เวลานานถึงเจ็ดเดือน. ในระหว่างการล้อมนี้เองที่ดาระยาศได้ยื่นข้อเสนอเพื่อสงบศึกดังที่กล่าวข้างต้น. การยินยอมนี้น่าดึงดูดใจถึงขนาดที่มีบันทึกกล่าวว่า ที่ปรึกษาผู้ซึ่งอะเล็กซานเดอร์ไว้ใจชื่อ พาร์เมนีโอ กล่าวว่า ‘หากข้าฯเป็นอะเล็กซานเดอร์ ข้าฯจะรับ.’ แต่แม่ทัพหนุ่มตอบกลับว่า ‘ข้าฯก็จะรับเช่นกัน หากข้าฯเป็นพาร์เมนีโอ.’ อะเล็กซานเดอร์ไม่ยอมตกลงด้วย ท่านล้อมเมืองต่อไปและทำลายเจ้าแห่งน่านน้ำที่หยิ่งผยองในเดือนกรกฎาคม ปี 332 ก.ส.ศ.
อะเล็กซานเดอร์ไม่ได้ทำลายกรุงยะรูซาเลมซึ่งยอมแพ้ท่าน ท่านมุ่งลงใต้เพื่อพิชิตกาซา. ขณะที่อียิปต์ระอาต่อการปกครองของเปอร์เซีย พวกเขายินดีต้อนรับท่านฐานะเป็นผู้ปลดปล่อย. ที่กรุงเมมฟิสท่านถวายเครื่องบูชาแก่เอพิสที่เป็นพระโค จึงทำให้พวกปุโรหิตชาวอียิปต์พอใจ. ท่านยังวางรากเมืองอะเล็กซานเดรียด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาเมืองนี้เป็นคู่แข่งกับกรุงเอเธนส์ในฐานะศูนย์กลางของการศึกษาและยังคงใช้ชื่อของท่านอยู่.
ต่อจากนั้น อะเล็กซานเดอร์มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านปาเลสไตน์และไปถึงแม่น้ำไทกริส. ในปี 331 ก.ส.ศ. ท่านเข้าสู่การรบครั้งใหญ่ครั้งที่สามกับพวกเปอร์เซีย ที่เกากาเมลา ไม่ไกลจากซากปรักหักพังของเมืองนีนะเว. ที่นี่เอง ทหาร 47,000 คนของอะเล็กซานเดอร์ได้เอาชนะกองทัพเปอร์เซียที่ได้รับการปฏิรูปใหม่ซึ่งมีทหารอย่างน้อย 250,000 คน! ดาระยาศหนีไปและต่อมาถูกสังหารโดยคนของท่านเอง.
ด้วยความฮึกเหิมในชัยชนะ อะเล็กซานเดอร์ลงใต้และยึดกรุงบาบูโลนเมืองหลวงฤดูหนาวของเปอร์เซีย. ท่านได้ยึดเมืองหลวงที่กรุงซูซา และกรุงเพอร์เซโพลิสด้วย ยึดสมบัติมหาศาลของชาวเปอร์เซียและเผาวังอันใหญ่โตของเซอร์เซส. สุดท้าย เมืองหลวงที่เอกบาทานาก็ถูกท่านยึด. แล้วผู้พิชิตซึ่งว่องไวคนนี้ก็พิชิตอาณาเขตที่เหลือของเปอร์เซียไปไกลทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสินธุ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน.
เมื่อข้ามแม่น้ำสินธุ ที่เขตพรมแดนของแคว้นแทกซิลาแห่งเปอร์เซีย อะเล็กซานเดอร์พบกับคู่ต่อสู้ที่น่าเกรงขาม กษัตริย์โพรุสแห่งอินเดีย. อะเล็กซานเดอร์รบครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สี่และเป็นครั้งสุดท้ายของท่านกับโพรุสในเดือนมิถุนายนปี 326 ก.ส.ศ. กองทัพของโพรุสประกอบด้วยทหาร 35,000 คนและช้าง 200 เชือกที่ทำให้ม้าของชาวมาซิโดเนียตื่นกลัว. การสู้รบรุนแรงและนองเลือด แต่กองกำลังของอะเล็กซานเดอร์ได้ชัยชนะ. โพรุสยอมแพ้และกลายมาเป็นพันธมิตร.
กว่าแปดปีได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่กองทัพชาวมาซิโดเนียเข้ามาในเอเชีย และทหารทั้งหลายก็อิดโรยและคิดถึงบ้าน. พวกเขาท้อแท้เนื่องจากการรบอันดุเดือดกับโพรุส พวกเขาจึงอยากกลับบ้าน. ถึงแม้ตอนแรกอะเล็กซานเดอร์ไม่ต้องการให้กลับ ท่านก็ยอมตามความต้องการของทหาร. กรีซได้กลายเป็นมหาอำนาจโลกอย่างแท้จริง. เมื่อมีการตั้งอาณานิคมกรีกขึ้นในดินแดนที่พิชิตได้ ภาษาและประเพณีกรีกก็แพร่ขยายไปตลอดทั่วอาณาจักร.
บุรุษที่อยู่หลังโล่
สิ่งที่ยึดเหนี่ยวกองทัพชาวมาซิโดเนียไว้ด้วยกันตลอดหลายปีแห่งการพิชิตคือบุคลิกภาพของอะเล็กซานเดอร์เอง. หลังจากการสู้รบแต่ละครั้ง เป็นธรรมเนียมของอะเล็กซานเดอร์ที่จะเยี่ยมผู้บาดเจ็บ, ตรวจดูบาดแผลของพวกเขา, ยกย่องเหล่าทหารสำหรับวีรกรรมของพวกเขา, และให้เกียรติยศพวกเขาโดยให้เงินรางวัลตามความสำเร็จของพวกเขา. ส่วนคนที่เสียชีวิตในการรบ อะเล็กซานเดอร์จัดการฝังศพให้อย่างสง่างาม. บิดามารดาและบุตรของผู้เสียชีวิตจะได้รับการยกเว้นภาษีและงานหลวงทุกอย่าง. สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจหลังจากการสู้รบ อะเล็กซานเดอร์จัดการเล่นกีฬาและการแข่งขันต่าง ๆ. ครั้งหนึ่ง ท่านถึงกับจัดให้ทหารที่พึ่งสมรสใหม่ลาพัก คืออนุญาตให้พวกเขาใช้เวลาช่วงฤดูหนาวกับภรรยาในมาซิโดเนีย. การทำอย่างนี้ทำให้ท่านได้รับความรักใคร่และความนิยมชมชอบจากทหารของท่าน.
ส่วนเรื่องการสมรสของอะเล็กซานเดอร์กับเจ้าหญิงร็อกซานาชาวแบกเทรีย ผู้เขียนชีวประวัติชาวกรีกชื่อ พลูทาร์ก เขียนว่า “นับว่าเป็นเรื่องของความรักจริง ๆ กระนั้น ดูเหมือนว่าในขณะเดียวกันเรื่องนี้มีส่วนช่วยให้ท่านบรรลุวัตถุประสงค์ของท่านด้วย. เพราะผู้ที่ถูกพิชิตพอใจที่เห็นท่านเลือกภรรยาจากท่ามกลางพวกตน และสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกชื่นชอบท่านมากขึ้นไปอีกก็คือ การที่ได้รู้ว่าถึงแม้นี่จะเป็นความรักเดียวที่ท่านมี บุรุษผู้ระงับใจตนเองได้ดีที่สุดในบรรดาบุรุษทั้งปวง ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเธอจนกระทั่งท่านสามารถได้เธอมาอย่างถูกกฎหมายและอย่างมีเกียรติ.”
อะเล็กซานเดอร์ยังเคารพต่อการสมรสของผู้อื่นด้วย. แม้ว่าราชินีของกษัตริย์ดาระยาศเป็นเชลยของท่าน ท่านคอยดูแลให้นางได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ. ทำนองเดียวกัน เมื่อรู้ว่าทหารชาวมาซิโดเนียสองคนข่มขืนภรรยาของคนแปลกหน้า ท่านสั่งให้ประหารคนทั้งสองหากพบว่ามีความผิดจริง.
อะเล็กซานเดอร์เคร่งศาสนาเหมือนโอลิมเปียส มารดาของท่าน. ท่านจะถวายเครื่องบูชาก่อนและหลังการสู้รบทั้งปรึกษาผู้ทำนายเกี่ยวกับความหมายของลางต่าง ๆ. ท่านยังได้ปรึกษาคนทรงแห่งอำโมนในลิเบีย. และที่บาบูโลนท่านติดตามคำแนะนำของชาวแคลเดียเกี่ยวกับการบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเบล (มาร์ดุก) เทพเจ้าแห่งบาบูโลน.
แม้ว่าอะเล็กซานเดอร์จะเป็นคนประมาณตนในนิสัยการรับประทาน แต่ในที่สุดท่านก็ปล่อยตัวเป็นคนดื่มจัด. ยิ่งดื่มมากท่านก็ยิ่งพูดมากและโอ้อวดในความสำเร็จของท่าน. การกระทำที่ชั่วช้าที่สุดครั้งหนึ่งของอะเล็กซานเดอร์คือการประหารคลีทุส สหายของท่านด้วยอารมณ์ชั่ววูบตอนที่เมาสุรา. แต่อะเล็กซานเดอร์โทษตัวเองมากถึงขนาดที่ท่านนอนอยู่บนเตียงสามวันโดยไม่รับอาหารหรือน้ำเลย. ในที่สุด สหายของท่านก็สามารถชักจูงท่านให้รับประทานได้.
เมื่อเวลาผ่านไป ความปรารถนาของอะเล็กซานเดอร์ต่อสง่าราศีทำให้เกิดลักษณะนิสัยอื่น ๆ ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้น. ท่านเริ่มเชื่อการใส่ร้ายและพร้อมจะสั่งลงโทษแบบรุนแรงที่สุด. ยกตัวอย่าง เมื่อถูกชักจูงให้เชื่อว่าฟิโลทัสพัวพันกับการพยายามจะสังหารท่าน อะเล็กซานเดอร์สั่งประหารเขาพร้อมกับพาร์เมนีโอ บิดาของเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาที่ท่านไว้ใจ.
การพ่ายแพ้ของอะเล็กซานเดอร์
เมื่อกลับมาบาบูโลนได้ไม่นาน อะเล็กซานเดอร์ก็ล้มป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ซึ่งท่านไม่ได้ฟื้นขึ้นมาอีกเลย. ในวันที่ 13 มิถุนายน 323 ก.ส.ศ. เมื่ออายุได้เพียง 32 ปี 8 เดือน อะเล็กซานเดอร์ได้ยอมแพ้แก่ศัตรูที่น่าเกรงขามที่สุด นั่นคือความตาย.
นี่เป็นดังที่นักปราชญ์ชาวอินเดียพวกหนึ่งได้กล่าวไว้ “โอ้ กษัตริย์อะเล็กซานเดอร์ มนุษย์แต่ละคนเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินมากเท่า ๆ กับที่พวกข้าพเจ้ายืนอยู่นี้; และท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับคนอื่น ๆ เว้นเสียแต่ว่าท่านเต็มไปด้วยกิจกรรมและไม่ยอมท้อถอย ท่านท่องไปมาทั่วโลกไกลแสนไกลจากบ้านของท่าน ทำให้ท่านเองลำบาก และทำให้คนอื่นลำบาก. แต่ไม่ช้า ท่านก็จะสิ้นชีวิต และท่านจะได้เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินมากพอแค่จะฝังศพของท่านเท่านั้น.”
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ภูมิหลังของอะเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นเช่นไร?
• ไม่นานหลังจากได้สืบทอดบัลลังก์แห่งมาซิโดเนีย อะเล็กซานเดอร์เข้าสู่การทำสงครามอะไร?
• จงพรรณนาการพิชิตของอะเล็กซานเดอร์สักสองสามตัวอย่าง.
• อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับบุคลิกภาพของอะเล็กซานเดอร์?
[แผนที่]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
การพิชิตของอะเล็กซานเดอร์
มาซิโดเนีย
อียิปต์
บาบูโลน
แม่น้ำสินธุ
[ภาพ]
อะเล็กซานเดอร์
[ภาพ]
อาริสโตเติลและอะเล็กซานเดอร์ ลูกศิษย์
[ภาพเต็มหน้า]
[ภาพ]
เหรียญที่กล่าวกันว่าแสดงรูปของอะเล็กซานเดอร์มหาราช
[กรอบ/ภาพ หน้า 162, 163]
อาณาจักรอันกว้างใหญ่ถูกแบ่งแยก
คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับอาณาจักรของอะเล็กซานเดอร์มหาราชว่าจะแตกออกและถูกแบ่งแยก แต่ “ไม่ได้ตกไปอยู่ในมือของทายาทของท่าน.” (ดานิเอล 11:3, 4) เป็นจริงอย่างนั้น ภายในช่วง 14 ปีหลังจากอะเล็กซานเดอร์สิ้นชีวิตอย่างกะทันหันในปี 323 ก.ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์ที่ 4 บุตรตามกฎหมายของท่าน และฮีรา-คลีสบุตรนอกกฎหมายของท่านก็ถูกลอบสังหาร.
พอถึงปี 301 ก.ส.ศ. แม่ทัพสี่คนของอะเล็กซานเดอร์ก็สถาปนาตนเองขึ้นมามีอำนาจเหนือจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ที่ผู้บังคับบัญชาของตนได้สร้างขึ้น. แม่ทัพคัสซันเดอร์ยึดครองมาซิโดเนียและกรีซ. แม่ทัพลีซิมาคุสได้เอเชียน้อยและเทรส. เซเลอคุสที่ 1 นิคาเตอร์ได้เมโสโปเตเมียและซีเรีย. และปโตเลมี ลากุส หรือปโตเลมีที่ 1 ปกครองอียิปต์และปาเลสไตน์. จากอาณาจักรใหญ่อาณาจักรเดียวของอะเล็กซานเดอร์จึงเกิดเป็นอาณาจักรกรีกสี่อาณาจักร.
ในอาณาจักรกรีกสี่อาณาจักรนี้ การปกครองของคัสซันเดอร์มีอายุสั้นที่สุด. ไม่กี่ปีหลังจากคัสซันเดอร์ขึ้นมามีอำนาจ เชื้อสายของท่านที่เป็นชายก็หมดไป และในปี 285 ก.ส.ศ. ลีซิมาคุสยึดจักรวรรดิกรีกส่วนในยุโรปไว้ได้. สี่ปีต่อมา ลีซิมาคุสเสียชีวิตในการรบกับเซเลอคุสที่ 1 นิคาเตอร์ ทำให้เซเลอคุสได้ควบคุมส่วนหลักของอาณาเขตในเอเชีย. เซเลอคุสกลายเป็นต้นตระกูลของกษัตริย์เชื้อสายเซเลอคิดในซีเรีย. ท่านก่อตั้งเมืองอันติโอเกียในซีเรียและสร้างเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของท่าน. เซเลอคุสถูกลอบสังหารในปี 281 ก.ส.ศ. แต่ราชวงศ์ที่ท่านก่อตั้งขึ้นมีอำนาจอยู่จนกระทั่งปี 64 ก.ส.ศ. เมื่อปอมปีย์ แม่ทัพโรมันยึดซีเรียให้เป็นแคว้นหนึ่งของโรม.
ในสี่อาณาจักรที่แบ่งแยกออกมาจากจักรวรรดิของอะเล็กซานเดอร์ อาณาจักรของปโตเลมียืนอยู่ได้นานที่สุด. ปโตเลมีที่ 1 ได้รับตำแหน่งกษัตริย์ในปี 305 ก.ส.ศ. และกลายเป็นกษัตริย์หรือฟาโรห์ ชาวมาซิโดเนียองค์แรกแห่งอียิปต์. ท่านตั้งอะเล็กซานเดรียเป็นเมืองหลวง และเริ่มโครงการพัฒนาเมืองทันที. หนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของท่านคือห้องสมุดอะเล็กซานเดรียอันโด่งดัง. ปโตเลมีนำดีมีตรีอุส ฟาลีรีอุสผู้คงแก่เรียนซึ่งมีชื่อเสียง มาจากกรีซเพื่อจะดูแลโครงการก่อสร้างอันยิ่งใหญ่นี้. มีบันทึกว่า พอถึงศตวรรษที่หนึ่งแห่งสากลศักราช ห้องสมุดนี้มีม้วนหนังสือถึงหนึ่งล้านม้วน. ราชวงศ์ปโตเลมีครองอียิปต์ต่อไปจนกระทั่งพ่ายแพ้แก่โรมในปี 30 ก.ส.ศ. แล้วโรมจึงแทนที่กรีซฐานะเป็นมหาอำนาจโลกที่ครอบงำอยู่.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• จักรวรรดิกว้างใหญ่ของอะเล็กซานเดอร์ถูกแบ่งแยกอย่างไร?
• กษัตริย์เชื้อสายเซเลอคิดปกครองมาจนถึงเมื่อไร?
• อาณาจักรปโตเลมีแห่งอียิปต์มาถึงจุดจบเมื่อไร?
[แผนที่]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
การแบ่งแยกจักรวรรดิของอะเล็กซานเดอร์
คัสซันเดอร์
ปโตเลมีที่ 1
ลีซิมาคุส
เซเลอคุสที่ 1
[ภาพ]
ปโตเลมีที่ 1
เซเลอคุสที่ 1
[แผนผัง/ภาพหน้า 139]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
มหาอำนาจโลกในคำพยากรณ์ของดานิเอล
รูปปั้นมหึมา (ดานิเอล 2:31-45)
สัตว์สี่ตัวขึ้นมาจากทะเล (ดานิเอล 7:3-8, 17, 25)
บาบิโลเนีย ตั้งแต่ปี 607 ก.ส.ศ.
มิโด-เปอร์เซีย ตั้งแต่ปี 539 ก.ส.ศ.
กรีซ ตั้งแต่ปี 331 ก.ส.ศ.
โรม ตั้งแต่ปี 30 ก.ส.ศ.
มหาอำนาจแองโกล-อเมริกัน ตั้งแต่ปี ส.ศ. 1763
โลกที่แตกแยกทางการเมือง ในเวลาอวสาน
[ภาพเต็มหน้า 149]
[ภาพเต็มหน้า 147]