บทความศึกษา 42
คนที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาก็มีความสุข
“คนที่ใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าก็มีความสุข คือคนที่ทำตามกฎหมายของพระยะโฮวา”—สด. 119:1, เชิงอรรถ
เพลง 124 ภักดีเสมอไม่เปลี่ยนแปลง
ใจความสำคัญa
1-2. (ก) รัฐบาลบางประเทศทำอะไรกับคนของพระยะโฮวา? และพี่น้องทำยังไง? (ข) คนที่ถูกข่มเหงมีความสุขได้ยังไง? (ตอบจากภาพหน้าปกด้วย)
ตอนนี้มีมากกว่า 30 ประเทศแล้วที่งานของเราถูกสั่งห้ามหรือไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ บางประเทศเจ้าหน้าที่จับพี่น้องเราขังคุก พวกเขาทำผิดอะไร? พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลยในสายตาพระยะโฮวา พวกเขาแค่อ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เล่าเรื่องความเชื่อให้คนอื่นฟัง และเข้าร่วมการประชุม พี่น้องของเรายังไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทางการเมืองด้วย ถึงจะถูกต่อต้านอย่างหนักแต่พวกเขาก็ยังคงซื่อสัตย์bและอุทิศทั้งชีวิตให้กับพระยะโฮวา พวกเขาไม่ยอมให้ใครมาทำให้พวกเขาล้มเลิกความตั้งใจได้ พี่น้องเหล่านี้มีความสุขมากที่ได้ทำแบบนั้น
2 คุณคงได้เห็นภาพพี่น้องที่กล้าหาญเหล่านี้บางคนและได้เห็นรอยยิ้มที่สดชื่นของพวกเขา ที่พวกเขามีความสุขก็เพราะรู้ว่าพระยะโฮวาภูมิใจที่พวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสมอ (1 พศ. 29:17ก) พระเยซูบอกว่า “คนที่ถูกข่มเหงเพราะทำสิ่งที่ถูกต้องก็มีความสุข . . . ดีใจได้เลย เพราะคุณจะได้รางวัลที่มีค่ามาก”—มธ. 5:10-12
ตัวอย่างสำหรับเรา
3. อย่างที่บอกไว้ในกิจการ 4:19, 20 ตอนที่พวกอัครสาวกเจอการข่มเหง พวกเขาทำยังไง? และทำไมพวกเขาถึงทำแบบนั้น?
3 พี่น้องของเรากำลังเจอเหมือนที่พวกอัครสาวกเคยเจอตอนที่ถูกข่มเหงเพราะประกาศเรื่องพระเยซู มีหลายครั้งที่พวกผู้พิพากษาศาลสูงของชาวยิว “สั่งให้ [พวกเขา] เลิกพูดเกี่ยวกับพระเยซู หรือสอนในนามของท่าน” (กจ. 4:18; 5:27, 28, 40) แล้วพวกอัครสาวกทำยังไง? (อ่านกิจการ 4:19, 20) พวกเขารู้ว่าผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าผู้พิพากษาเหล่านี้ ‘สั่งพวกเขาให้ประกาศกับผู้คนและเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วกัน’ เกี่ยวกับพระคริสต์ (กจ. 10:42) ดังนั้น เปโตรกับยอห์นซึ่งเป็นตัวแทนของอัครสาวกจึงพูดอย่างกล้าหาญว่าพวกเขาต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังผู้พิพากษาเหล่านั้น และยังบอกด้วยว่าพวกเขาจะไม่เลิกประกาศเรื่องพระเยซู มันเหมือนกับพวกเขากำลังถามผู้พิพากษากลับไปว่า ‘พวกคุณกล้าไหมที่จะบอกว่าคำสั่งของพวกคุณเหนือกว่าคำสั่งของพระเจ้า?’
4. พวกอัครสาวกทำอะไรที่กิจการ 5:27-29? และเราจะเลียนแบบพวกเขาได้ยังไง?
4 พวกอัครสาวกเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคริสเตียนทุกคนในเรื่องที่ว่า “ต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (อ่านกิจการ 5:27-29) หลังจากที่พวกอัครสาวกถูกเฆี่ยนเพราะซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า พวกเขาก็ออกไปจากศาลสูงของชาวยิว “ด้วยความดีใจ เพราะถือว่าที่พวกเขาโดนดูถูกเหยียดหยามเพราะชื่อของพระเยซูนั้นเป็นเกียรติอย่างสูง” แล้วพวกเขาก็ทำงานประกาศต่อไป—กจ. 5:40-42
5. มีคำถามอะไรที่เราต้องการคำตอบ?
5 ตัวอย่างของพวกอัครสาวกทำให้เกิดคำถามบางอย่าง เช่น คำสั่งที่ให้เชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์ขัดกันไหมกับคำสั่งที่ให้ “ยอมเชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครอง”? (รม. 13:1) แล้วเราจะ “เชื่อฟังรัฐบาลและผู้มีอำนาจปกครอง” และยังซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดได้ยังไง?—ทต. 3:1
“คนที่มีอำนาจปกครอง”
6. (ก) “คนที่มีอำนาจปกครอง” ในโรม 13:1 หมายถึงใครบ้าง? และเรามีหน้าที่อะไร? (ข) อำนาจของพวกเขาเป็นยังไง?
6 อ่านโรม 13:1 อย่างที่บอกในข้อคัมภีร์นี้ คริสเตียนต้องเชื่อฟัง “คนที่มีอำนาจปกครอง” ซึ่งก็คือพวกผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐบาล คนเหล่านี้คอยควบคุมบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และบางครั้งถึงกับช่วยปกป้องคนของพระเจ้า (วว. 12:16) คัมภีร์ไบเบิลเลยสั่งให้เราให้ความร่วมมือกับรัฐบาลโดยเสียภาษีอากร รวมถึงเกรงกลัวและให้เกียรติพวกเขา (รม. 13:7) แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลมีอำนาจได้ก็เพราะพระยะโฮวายอมให้มีอำนาจ พระเยซูทำให้เห็นเรื่องนี้ตอนที่ท่านถูกปอนทิอัสปีลาตผู้ปกครองแคว้นโรมันสอบสวน ตอนที่ปีลาตบอกว่าเขามีอำนาจจะไว้ชีวิตหรือจะให้พระเยซูตายก็ได้ ท่านพูดว่า “คุณจะมีอำนาจเหนือผมไม่ได้หรอกถ้าไม่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า” (ยน. 19:11) จากเรื่องนี้เราเห็นว่าพวกผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐบาล และนักการเมืองในทุกวันนี้มีอำนาจจำกัด
7. ตอนไหนที่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครอง? และพวกเขาต้องจำอะไรไว้?
7 คริสเตียนต้องเชื่อฟังกฎหมายของรัฐบาลถ้ามันไม่ขัดต่อกฎหมายของพระเจ้า แต่เราจะไม่เชื่อฟังถ้าพวกเขาบอกให้เราทำสิ่งที่พระเจ้าห้าม หรือห้ามเราทำสิ่งที่พระเจ้าสั่ง เช่น รัฐบาลอาจออกกฎหมายให้ผู้ชายจับอาวุธและต่อสู้เพื่อชาติc หรืออาจสั่งห้ามคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือขององค์การ หรือห้ามประกาศและประชุม เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ข่มเหงคริสเตียน พวกเขาก็ต้องให้การต่อพระเจ้าในสิ่งที่พวกเขาทำเพราะพระองค์คอยดูพวกเขาอยู่—ปญจ. 5:8
8. “คนที่มีอำนาจปกครอง” ต่างจากพระยะโฮวายังไง? และทำไมการรู้เรื่องนี้ถึงสำคัญ?
8 “คนที่มีอำนาจปกครอง” เช่น พวกผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมีอำนาจปกครองก็จริงแต่ไม่มีอำนาจสูงสุด ผู้มีอำนาจสูงสุดในเอกภพคือพระยะโฮวา มี 4 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูที่เรียกพระองค์ว่า “พระผู้สูงสุด”—ดนล. 7:18, 22, 25, 27
“พระผู้สูงสุด”
9. ผู้พยากรณ์ดาเนียลเห็นนิมิตหลายเรื่องเกี่ยวกับอะไร?
9 ผู้พยากรณ์ดาเนียลเห็นนิมิตหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระยะโฮวามีอำนาจสูงสุดยิ่งกว่าอำนาจอะไรทั้งหมด ตอนแรกดาเนียลเห็นสัตว์ตัวใหญ่มหึมา 4 ตัวซึ่งหมายถึงมหาอำนาจโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น บาบิโลน มีเดีย-เปอร์เซีย กรีซ โรม และอังกฤษ-อเมริกา (ดนล. 7:1-3, 17) แล้วดาเนียลก็เห็นพระยะโฮวาพระเจ้านั่งลงบนบัลลังก์ในศาลที่อยู่ในสวรรค์ (ดนล. 7:9, 10) และเขาเห็นอะไรอีกที่เป็นคำเตือนสำหรับคนที่มีอำนาจปกครองในทุกวันนี้?
10. อย่างที่บอกไว้ในดาเนียล 7:13, 14, 27 พระยะโฮวาจะให้อำนาจปกครองโลกกับใคร? และนี่ทำให้เราเห็นชัดว่าพระองค์เป็นยังไง?
10 อ่านดาเนียล 7:13, 14, 27 พระเจ้าจะเอาอำนาจทั้งหมดไปจากรัฐบาลมนุษย์และให้กับคนที่สมควรได้รับและมีอำนาจมากกว่า นั่นคือใครบ้าง? คือ ‘ผู้หนึ่งที่เหมือนลูกมนุษย์’ ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ รวมถึง “พวกผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุด” ซึ่งก็คือ 144,000 คนที่จะปกครอง “ตลอดไปไม่สิ้นสุด” (ดนล. 7:18) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาเป็น “พระผู้สูงสุด” เพราะพระองค์เท่านั้นที่มีอำนาจจะทำแบบนี้ได้
11. ดาเนียลบอกอะไรอีกที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวามีอำนาจสูงสุด?
11 สิ่งที่ดาเนียลเห็นสอดคล้องกับที่เขาพูดก่อนหน้านี้ว่า “พระเจ้าผู้อยู่ในสวรรค์ . . . แต่งตั้งและถอดถอนกษัตริย์” เขาบอกอีกว่า “พระเจ้าองค์สูงสุดเป็นผู้ปกครองอาณาจักรของมนุษย์ พระองค์จะให้อำนาจการปกครองกับใครก็ได้ . . . ถ้าพระองค์ต้องการ” (ดนล. 2:19-21; 4:17) แล้วพระยะโฮวาเคยแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้นำของชาติต่าง ๆ มาแล้วไหม? ใช่
12. มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาถอดถอนกษัตริย์ในอดีต? (ดูภาพ)
12 พระยะโฮวามีอำนาจสูงสุดเหนือกว่า “คนที่มีอำนาจปกครอง” เราจะดูเรื่องนี้จาก 3 ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล ฟาโรห์กษัตริย์ของอียิปต์กดขี่ชาวอิสราเอลคนของพระยะโฮวาและบังคับพวกเขาเป็นทาส แถมยังไม่ยอมปล่อยให้เป็นอิสระด้วย แต่ในที่สุดพระยะโฮวาก็ช่วยคนของพระองค์และทำให้ฟาโรห์จมน้ำตายในทะเลแดง (อพย. 14:26-28; สด. 136:15) กษัตริย์เบลชัสซาร์ของบาบิโลนจัดงานเลี้ยง เขา “ตั้งตัวเป็นคู่แข่งกับพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของสวรรค์” และยัง ‘สรรเสริญเทพเจ้าที่ทำจากเงินและทอง’ แทนที่จะสรรเสริญพระยะโฮวา (ดนล. 5:22, 23) แต่พระยะโฮวาก็จัดการกับกษัตริย์ที่หยิ่งยโสคนนี้ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คืนนั้นเอง” เบลชัสซาร์ถูกฆ่าและอาณาจักรของเขาถูกเอาไปให้พวกมีเดียกับเปอร์เซีย (ดนล. 5:28, 30, 31) กษัตริย์เฮโรดอากริปปาที่หนึ่งที่ปกครองปาเลสไตน์ประหารอัครสาวกยากอบ และยังจับอัครสาวกเปโตรขังคุกโดยตั้งใจว่าจะเอามาประหารหลังจากนั้น แต่พระยะโฮวาก็ขัดขวางเฮโรดโดยส่ง “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา” มา “ลงโทษเฮโรด” และในที่สุดเขาก็ตาย—กจ. 12:1-5, 21-23
13. มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวามีอำนาจเหนือกว่ากลุ่มผู้นำของชาติต่าง ๆ?
13 พระยะโฮวาแสดงว่าพระองค์มีอำนาจสูงสุดเหนือกว่ากลุ่มผู้นำของชาติต่าง ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ตอนที่กษัตริย์คานาอัน 31 องค์ยกทัพมาสู้กับชาวอิสราเอล พระยะโฮวาก็ช่วยพวกเขาเอาชนะกษัตริย์ทั้งหมดนั้นได้ และยังยึดครองดินแดนซึ่งเป็นแผ่นดินที่พระองค์สัญญาด้วย (ยชว. 11:4-6, 20; 12:1, 7, 24) ตอนที่กษัตริย์เบนฮาดัดกับกษัตริย์ซีเรียอีก 32 องค์ยกทัพมาสู้กับชาวอิสราเอล พระยะโฮวาก็ช่วยพวกเขาให้เอาชนะกษัตริย์เหล่านั้นได้อย่างราบคาบ—1 พก. 20:1, 26-29
14-15. (ก) กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์กับกษัตริย์ดาริอัสพูดยังไงเกี่ยวกับอำนาจปกครองของพระยะโฮวา? (ข) ผู้เขียนหนังสือสดุดีพูดยังไงเกี่ยวกับพระยะโฮวาและชนชาติของพระองค์?
14 ตลอดประวัติศาสตร์ พระยะโฮวาได้แสดงว่าพระองค์มีอำนาจสูงสุดหลายต่อหลายครั้ง เช่น ตอนที่เนบูคัดเนสซาร์กษัตริย์บาบิโลนไม่ถ่อมตัวยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา แต่กลับอวด “อำนาจ . . . เกียรติยศและบารมี” ของเขา พระองค์ก็ทำให้เขาเสียสติ หลังจากที่เขาหายแล้ว เนบูคัดเนสซาร์ก็ “ยกย่องสรรเสริญพระเจ้าองค์สูงสุด” และบอกว่า “พระองค์ปกครองอยู่ตลอดกาล” แล้วเขายังบอกอีกว่าไม่มีใครจะขัดขวางพระองค์ได้ (ดนล. 4:30, 33-35) อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ดาเนียลถูกโยนลงในบ่อสิงโตเพราะเขาซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา พอกษัตริย์ดาริอัสเห็นว่าพระยะโฮวาช่วยชีวิตดาเนียล เขาก็ออกคำสั่งว่า “ให้ประชาชนทั่วทุกเขตในอาณาจักรของเราเคารพเกรงกลัวพระเจ้าของดาเนียล เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่ตลอดกาล รัฐบาลของพระองค์ไม่มีวันถูกทำลาย และพระองค์มีอำนาจปกครองสูงสุดตลอดไป”—ดนล. 6:7-10, 19-22, 26, 27, เชิงอรรถ
15 ผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่า “พระยะโฮวาขัดขวางแผนการของชาติต่าง ๆ พระองค์ทำให้แผนของชนชาติทั้งหลายล้มเหลว” และบอกอีกว่า “ชาติที่มีพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าก็มีความสุข คือชนชาติที่พระองค์เลือกให้เป็นสมบัติของพระองค์” (สด. 33:10, 12) เรามีเหตุผลที่ดีจริง ๆ ที่จะซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสมอ
สงครามครั้งสุดท้าย
16. เรามั่นใจอะไรได้ตอนที่เกิด “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่”? และทำไม? (ดูภาพ)
16 เมื่อเราได้รู้ว่าที่ผ่านมาพระยะโฮวาทำอะไรบ้าง เราก็มั่นใจว่าพระองค์จะช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้รอดผ่าน “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” ได้แน่นอน (มธ. 24:21; ดนล. 12:1) พระยะโฮวาจะทำอย่างนี้ด้วยตอนที่โกกแห่งมาโกกซึ่งก็คือกลุ่มชาติต่าง ๆ ร่วมมือกันกำจัดผู้รับใช้ของพระองค์ ถึงแม้กลุ่มชาติต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันจะรวมถึงสมาชิก 193 ประเทศของสหประชาชาติ แต่พวกเขาก็ไม่มีทางที่จะต่อสู้พระยะโฮวาพระผู้สูงสุดและกองทัพสวรรค์ของพระองค์ได้ พระยะโฮวาสัญญาว่า “เราจะทำให้ชาติต่าง ๆ รู้จักเราและเห็นว่าเราเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ พวกเขาจะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา”—อสค. 38:14-16, 23; สด. 46:10
17. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าอนาคตของกษัตริย์ทั่วโลกจะเป็นยังไง? และคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาจะเป็นยังไง?
17 พอโกกโจมตีผู้รับใช้ของพระยะโฮวา พระองค์ก็จะทำลาย “กษัตริย์ทั่วโลก” ในสงครามอาร์มาเกดโดนซึ่งเป็นสงครามครั้งสุดท้าย (วว. 16:14, 16; 19:19-21) แต่ “คนซื่อตรงจะได้อยู่บนโลก และคนที่ซื่อสัตย์จะอยู่บนโลกต่อไป”—สภษ. 2:21, เชิงอรรถ
เราต้องซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
18. คริสเตียนแท้หลายคนเต็มใจทำอะไร? และทำไมพวกเขาถึงทำอย่างนั้น? (ดาเนียล 3:28)
18 ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คริสเตียนแท้มากมายหลายคนยอมติดคุกและยอมตายเพราะพวกเขารักพระยะโฮวาและยอมรับว่าพระองค์เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด พวกเขาซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาเป็นเหมือนชายชาวฮีบรู 3 คนที่ยอมถูกโยนลงเตาไฟที่ร้อนแรงเพราะตั้งใจที่จะซื่อสัตย์ต่อพระผู้สูงสุด—อ่านดาเนียล 3:28
19. พระยะโฮวาตัดสินผู้รับใช้ของพระองค์โดยดูจากอะไร? และเราต้องทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้?
19 ดาวิดพูดถึงความสำคัญของการซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาว่า “พระยะโฮวาจะพิพากษาชนชาติต่าง ๆ พระยะโฮวา โปรดตัดสินผมโดยดูที่ความดีของผม และความซื่อสัตย์ที่ผมมีต่อพระองค์” (สด. 7:8) แล้วเขายังบอกอีกว่า “ขอให้ความซื่อสัตย์และความซื่อตรงคุ้มครองผม” (สด. 25:21) สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำก็คือซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและภักดีต่อพระองค์เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะเป็นเหมือนที่ผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกไว้ว่า “คนที่ใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าก็มีความสุข คือคนที่ทำตามกฎหมายของพระยะโฮวา”—สด. 119:1, เชิงอรรถ
เพลง 122 ขอให้มั่นคงไว้ อย่าหวั่นไหว
a คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นให้คริสเตียนทุกคนเชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครองหรือรัฐบาลต่าง ๆ ในโลก แต่บางรัฐบาลก็ต่อต้านพระยะโฮวาและผู้รับใช้ของพระองค์ แล้วเราจะเชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครองแต่ก็ยังซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาได้ยังไง?
b อธิบายคำศัพท์ การซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาหมายถึง การภักดีต่อพระยะโฮวาและการปกครองของพระองค์ไม่ว่าจะเจอการทดสอบหรือความยากลำบากอะไรก็ตาม
c ดูบทความ “ถ้าชาวอิสราเอลยังทำสงครามได้ แล้วทำไมเราถึงทำไม่ได้ล่ะ?” ในเล่มนี้