บทสิบ
ใครจะยืนขึ้นต่อต้านเจ้าแห่งเจ้าได้?
1, 2. ทำไมนิมิตที่ดานิเอลได้เห็นในปีที่สามแห่งการครองราชย์ของเบละซาซัรจึงมีความสำคัญสำหรับเรา?
ห้าสิบเจ็ดปีได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่พระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงยะรูซาเลมถูกทำลาย. เบละซาซัรและนะโบไนดัสผู้เป็นบิดาร่วมกันปกครองจักรวรรดิบาบูโลน ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่สามในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล.a ดานิเอล ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าอยู่ในระหว่างการถูกเนรเทศที่บาบูโลน. และใน “ปีที่สามแห่งรัชกาลของราชาเบละซาซัร” พระยะโฮวาทรงให้นิมิตแก่ดานิเอลซึ่งเปิดเผยรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้.—ดานิเอล 8:1.
2 นิมิตเชิงพยากรณ์ที่ดานิเอลเห็นนั้นมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อท่านและเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับเราซึ่งอยู่ใน “เวลาเบื้องปลาย.” ทูตสวรรค์ฆับรีเอลบอกดานิเอลว่า “นี่แน่ะ, ข้าพเจ้าจะสำแดงให้ท่านรู้ถึงตอนปลายแห่งพระพิโรธ; เพราะว่ามันตกอยู่ในเวลากำหนดตอนเบื้องปลาย.” (ดานิเอล 8:16, 17, 19, 27) ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาสิ่งที่ดานิเอลเห็นและดูว่าสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอะไรต่อเราในสมัยนี้ด้วยความสนใจอย่างแรงกล้า.
แกะตัวผู้ซึ่งมีสองเขา
3, 4. สัตว์อะไรที่ดานิเอลเห็นยืนอยู่ริมแม่น้ำ และมันหมายถึงอะไร?
3 ดานิเอลเขียนว่า “ในฝันนั้นว่า, ข้าพเจ้าอยู่ในราชวังซูซัร ณ แขวงเมืองเอลาม, ริมแม่น้ำอูลาย.” (ดานิเอล 8:2) ไม่ว่าดานิเอลจะอยู่ที่กรุงซูซัร (ซูซา) จริง ๆ —ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเอลาม ตั้งอยู่ประมาณ 350 กิโลเมตรทางตะวันออกของบาบูโลน—หรือว่าท่านอยู่ที่นั่นแค่ในนิมิตเท่านั้น เรื่องนี้ไม่มีการบ่งชี้ไว้.
4 ดานิเอลเขียนต่อไปว่า “ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนตาขึ้นไปแลเห็น, นี่แน่ะ, มีแกะตัวผู้ยืนอยู่ริมแม่น้ำนั้น, มีเขาสองอัน.” (ดานิเอล 8:3ก) เอกลักษณ์ของแกะตัวนี้ไม่ได้เป็นความลึกลับสำหรับดานิเอล. ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าวในเวลาต่อมาว่า “แกะตัวผู้ซึ่งท่านเห็นมีสองเขานั้น, คือราชาของมาดายและฟารัศ.” (ดานิเอล 8:20) ชาวมีเดียมาจากเทือกเขาทางตะวันออกของอัสซีเรีย และเดิมชาวเปอร์เซียใช้ชีวิตส่วนใหญ่เร่ร่อนอยู่ในเขตทางเหนือของอ่าวเปอร์เซีย. อย่างไรก็ตาม ขณะที่จักรวรรดิมิโด-เปอร์เซียขยายตัวขึ้น ประชาชนก็พัฒนารสนิยมสำหรับความหรูหราขึ้น.
5. เขาที่ “งอกขึ้นทีหลัง” กลายเป็นเขาที่ยาวกว่าอย่างไร?
5 ดานิเอลรายงานว่า “เขาทั้งสองนั้นก็ยาว; แต่เขาข้างหนึ่งยาวกว่าเขาอีกข้างหนึ่ง, และเขายาวนั้นได้งอกขึ้นทีหลัง.” (ดานิเอล 8:3ข) เขาข้างที่ยาวกว่าซึ่งงอกขึ้นมาทีหลังคือเปอร์เซีย ขณะที่เขาอีกข้างหนึ่งคือมีเดีย. ตอนแรก ชาวมีเดียมีอำนาจเหนือกว่า. แต่ในปี 550 ก.ส.ศ. ไซรัสผู้ปกครองแห่งเปอร์เซียได้ชัยชนะอย่างง่ายดายต่อกษัตริย์แอสไทอาจิสแห่งมีเดีย. ไซรัสรวมประเพณีและกฎหมายของทั้งสองชาติ รวมอาณาจักรของพวกเขาเข้าด้วยกัน และขยายขอบเขตการพิชิตมากขึ้น. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จักรวรรดินี้กลายเป็นมหาอำนาจคู่.
แกะตัวผู้พองตัวขึ้น
6, 7. เป็นไปอย่างไรที่ “ไม่มีสัตว์ตัวใดต้านทาน” แกะตัวผู้ตัวนี้ได้?
6 ดานิเอลพรรณนาแกะตัวผู้ต่อไปโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นแกะผู้นั้นขวิดไปทางตะวันตกและทางเหนือและทางใต้ ไม่มีสัตว์ตัวใดต้านทานมันได้ และไม่มีใครที่จะช่วยให้พ้นจากอำนาจของมันได้ มันทำตามชอบใจของมันและก็พองตัวขึ้น.”—ดานิเอล 8:4, ฉบับแปลใหม่.
7 ในนิมิตที่ให้แก่ดานิเอลก่อนหน้านี้ มีการให้ภาพบาบูโลนเป็นสัตว์ที่ขึ้นมาจากทะเลและเป็นเหมือนสิงโตมีปีกนกอินทรี. (ดานิเอล 7:4, 17) สัตว์โดยนัยตัวนั้นไม่สามารถต้านทาน “แกะตัวผู้” ในนิมิตใหม่นี้ได้. บาบูโลนถูกไซรัสมหาราชยึดได้ในปี 539 ก.ส.ศ. เป็นเวลาเกือบ 50 ปีตั้งแต่นั้นมาที่ “ไม่มีสัตว์ตัวใด” หรือรัฐบาลการเมืองใด ๆ สามารถต้านทานจักรวรรดิมิโด-เปอร์เซีย—มหาอำนาจที่สี่ตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล.
8, 9. (ก) “แกะตัวผู้” “ขวิดไปทางตะวันตกและทางเหนือและทางใต้” อย่างไร? (ข) พระธรรมเอศเธระบอกอย่างไรเกี่ยวกับผู้สืบตำแหน่งต่อจากดาระยาศที่ 1 กษัตริย์เปอร์เซีย?
8 มหาอำนาจมิโด-เปอร์เซียมาจาก “ทิศตะวันออก” และทำตามความชอบใจของตนโดย “ขวิดไปทางตะวันตกและทางเหนือและทางใต้.” (ยะซายา 46:11) กษัตริย์แคมบีซิสที่ 2 ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากไซรัสมหาราชได้พิชิตอียิปต์. ผู้สืบต่อจากท่านคือดาระยาศที่ 1 กษัตริย์ชาวเปอร์เซียที่ได้เคลื่อนทัพไปทางตะวันตกข้ามช่องแคบบอสพอรัสในปี 513 ก.ส.ศ. และโจมตีเขตแดนเทรสในยุโรป ที่มีกรุงไบแซนติอุมเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบุล). ในปี 508 ก.ส.ศ. ท่านปราบเทรส และพิชิตมาซิโดเนียในปี 496 ก.ส.ศ. ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงสมัยของดาระยาศ “แกะตัวผู้” แห่งมิโด-เปอร์เซียได้ยึดเขตแดนในสามทิศทางหลักคือ ทางเหนือถึงบาบิโลเนียและอัสซีเรีย, ทางตะวันตกตลอดเอเชียน้อย, และทางใต้ถึงอียิปต์.
9 คัมภีร์ไบเบิลเป็นพยานถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิมิโด-เปอร์เซียโดยกล่าวถึงเซอร์เซสที่ 1 ผู้ครองราชย์สืบต่อจากดาระยาศว่าเป็น “อะหัศวะโรศที่ได้ทรงครอบครองตั้งแต่ประเทศโฮดู [“อินเดีย,” ล.ม.] จนถึงประเทศอายธิโอบ [“เอธิโอเปีย,” ล.ม.], มีร้อยยี่สิบเจ็ดหัวเมือง.” (เอศเธระ 1:1) แต่จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่นี้จะต้องศิโรราบต่อจักรวรรดิอีกจักรวรรดิหนึ่ง และในเรื่องนี้ นิมิตของดานิเอลเปิดเผยรายละเอียดบางอย่างที่เร้าความสนใจซึ่งน่าจะเสริมความเชื่อของเราในพระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้า.
แพะตัวผู้ชนแกะตัวผู้ล้มลง
10. ในนิมิตของดานิเอล สัตว์อะไรพุ่งชน “แกะตัวผู้” ล้มลง?
10 ลองนึกภาพว่าดานิเอลจะประหลาดใจสักเพียงไรในสิ่งที่ท่านได้เห็นตอนนี้. บันทึกนั้นกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้ากำลังดูอยู่, นี่แน่ะ, มีแพะผู้ตัวหนึ่งมาแต่ทิศอัสดงคตเหาะมาบนพื้นแผ่นดินทั่วพิภพ, และตีนมันหาต้องดินไม่; และแพะตัวนี้มีเขาใช้การได้ดีทีเดียวขึ้นอยู่หว่างตาสองข้าง. มันได้เข้ามาหาแกะผู้ตัวนั้น, ซึ่งมีเขาสองอัน, ที่ข้าพเจ้าได้เห็นยืนอยู่ริมแม่น้ำนั้น, แล้ววิ่งเข้าชนแกะตัวนั้นเต็มกำลังโดยความโกรธ. ข้าพเจ้าได้เห็นมันแอบเข้ามาชิดแกะผู้ตัวนั้น, และโกรธยิ่งนัก, ชนแกะผู้ตัวนั้นโดนเขาทั้งสองหักไป; และแกะนั้นหมดกำลังที่จะสู้มัน; แล้วแพะตัวนั้นก็ขวิดมันล้มลงกับดินแล้วเหยียบย่ำมันเสียด้วยเท้า, และไม่มีผู้ใดช่วยแกะตัวนั้นให้รอดพ้นมือมัน.” (ดานิเอล 8:5-7) ทั้งหมดนี้หมายความว่าอะไร?
11. (ก) ทูตสวรรค์ฆับรีเอลอธิบายความหมายของ “แพะตัวผู้” และ “เขาสัตว์อันใหญ่” ว่าอย่างไร? (ข) เขาที่ใช้การได้ดีหมายถึงใคร?
11 ทั้งดานิเอลและพวกเราไม่จำเป็นต้องเดาว่านิมิตนี้มีความหมายอะไร. ทูตสวรรค์ฆับรีเอลบอกดานิเอลว่า “แพะตัวผู้นั้น, คือราชาของเฮเลน [“กษัตริย์แห่งกรีซ,” ล.ม.]; และเขาสัตว์อันใหญ่ระหว่างลูกตาสองข้างนั้น, คือราชาองค์แรก.” (ดานิเอล 8:21) ในปี 336 ก.ส.ศ. กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย ดาระยาศที่ 3 (โคดอมมานุส) ขึ้นครองราชย์. ในปีเดียวกันนั้น อะเล็กซานเดอร์ได้เป็นกษัตริย์แห่งมาซิโดเนีย. ประวัติศาสตร์แสดงว่า อะเล็กซานเดอร์มหาราชเป็น “กษัตริย์แห่งกรีซ” องค์แรกตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. โดยเริ่มจาก “ทิศอัสดงคต” หรือทิศตะวันตก ในปี 334 ก.ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์เคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว. ราวกับว่า ‘ตีนหาต้องดินไม่’ ท่านปราบอาณาเขตต่าง ๆ และชน “แกะผู้ตัวนั้น” ล้มลง. เมื่อสิ้นการครอบครองของมิโด-เปอร์เซียที่นานเกือบสองศตวรรษ กรีซก็ได้กลายเป็นมหาอำนาจที่ห้าที่มีความสำคัญในคัมภีร์ไบเบิล. เป็นความสำเร็จอย่างน่าทึ่งของคำพยากรณ์ของพระเจ้าจริง ๆ!
12. “เขาสัตว์อันใหญ่” ของแพะโดยนัย “หัก” อย่างไร และเขาสี่เขาซึ่งขึ้นมาแทนที่คืออะไร?
12 แต่อำนาจของอะเล็กซานเดอร์จะอยู่ได้ไม่นาน. นิมิตนั้นเปิดเผยเรื่องราวต่อไปว่า “แล้วแพะผู้ก็พองตัวขึ้นอย่างยิ่ง แต่เมื่อมันแข็งแรงเขาใหญ่ของมันก็หัก มีเขาเด่นอีกสี่เขางอกขึ้นแทนที่ หันไปทางทิศลมทั้งสี่ของฟ้าสวรรค์.” (ดานิเอล 8:8, ฉบับแปลใหม่) ทูตสวรรค์ฆับรีเอลอธิบายคำพยากรณ์นี้ว่า “พอเขาสัตว์หักลงแล้ว, และสี่เขาขึ้นมาแทนที่นั้น, ก็ได้แก่สี่อาณาจักรจะบังเกิดขึ้นจากประเทศของเขา, แต่ก็ไม่เรืองนามเหมือนดังตัวเขา.” (ดานิเอล 8:22) เป็นดังที่ได้ทำนายไว้ ในขณะที่ท่านอยู่ ณ จุดสุดยอดของแนวทางแห่งชัยชนะของท่าน อะเล็กซานเดอร์ก็ “หัก” หรือสิ้นชีวิต ตอนที่อายุเพียง 32 ปี. และในที่สุดจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ของท่านก็ถูกแบ่งระหว่างแม่ทัพของท่านสี่คน.
เขาเล็กลึกลับ
13. เขาหนึ่งในสี่เขานั้นเติบโตขึ้นเป็นอะไร และมันแสดงกิริยาอย่างไร?
13 ส่วนถัดมาของนิมิตครอบคลุมเวลากว่า 2,200 ปี ความสำเร็จของนิมิตนี้ทอดยาวมาถึงสมัยปัจจุบัน. ดานิเอลเขียนว่า “จากเขาหนึ่งในเขาเหล่านั้น [ทั้งสี่เขา] ได้มีอีกเขาหนึ่งออกมา เขาเล็ก และมันใหญ่ขึ้น ๆ ทีละมาก ๆ ไปทางทิศใต้และทางตะวันออกและทางสิ่งประดับ. และมันใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกองทัพแห่งฟ้าสวรรค์ทีเดียว จนทำให้กองทัพบางส่วนและดาวบางดวงตกสู่แผ่นดินโลก และมันได้เหยียบย่ำสิ่งเหล่านั้น. และมันวางท่าใหญ่โตแม้กระทั่งต่อเจ้าแห่งกองทัพ และเครื่องบูชาเนืองนิตย์ถูกเอาไปจากพระองค์ และที่ตั้งแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ก็ถูกเหวี่ยงลง. และกองทัพกองหนึ่งทีเดียวค่อย ๆ ถูกมอบไว้ พร้อมกับเครื่องบูชาเนืองนิตย์นั้น เนื่องด้วยการล่วงละเมิด; และมันเหวี่ยงความจริงมายังแผ่นดินโลกอยู่ร่ำไป และมันได้กระทำและได้ประสบความสำเร็จ.”—ดานิเอล 8:9-12, ล.ม.
14. ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าวอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมของเขาเล็กโดยนัย และจะเกิดอะไรขึ้นกับเขานั้น?
14 ก่อนที่เราจะเข้าใจความหมายของถ้อยคำที่พึ่งยกมานี้ เราต้องตั้งใจฟังทูตสวรรค์ของพระเจ้า. หลังจากชี้ว่าสี่อาณาจักรจะขึ้นมามีอำนาจจากจักรวรรดิของอะเล็กซานเดอร์ ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าวว่า “ในช่วงท้ายแห่งอาณาจักรของพวกเขา เมื่อผู้ละเมิดทำการจนสำเร็จ จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้ายและเข้าใจถ้อยคำที่กำกวมทรงยืนขึ้น. และกำลังของท่านต้องเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของท่านเอง. และท่านจะก่อความพินาศด้วยวิธีที่น่าพิศวง และท่านจะปรากฏว่าประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอนและทำอย่างบังเกิดผล. และท่านจะทำให้ผู้ที่เข้มแข็งพินาศอย่างแท้จริง อีกทั้งไพร่พลที่ประกอบกันเป็นเหล่าผู้บริสุทธิ์ด้วย. และตามความหยั่งเห็นของท่าน ท่านจะทำให้การล่อลวงประสบผลด้วยฝีพระหัตถ์ของท่านเช่นกัน. และท่านจะมีพระทัยเหิมเกริม และในช่วงที่ปราศจากความกังวลท่านจะทำให้หลายคนพินาศไป. และท่านจะยืนขึ้นต่อต้านเจ้าแห่งเจ้า แต่จะไม่ใช่ด้วยมือที่ท่านจะถูกหักทำลาย.”—ดานิเอล 8:23-25, ล.ม.
15. ทูตสวรรค์บอกดานิเอลให้ทำอะไรเกี่ยวกับนิมิตนั้น?
15 ทูตสวรรค์บอกดานิเอลว่า “จงสงวนนิมิตนี้ไว้เป็นความลับ, เพราะว่ากว่าจะถึงเวลานั้นก็ยังอยู่อีกนาน.” (ดานิเอล 8:26) ความสำเร็จของนิมิตส่วนนี้จะยังไม่เกิดขึ้น “อีกนาน” และดานิเอลต้อง “สงวนนิมิตนี้ไว้เป็นความลับ.” ดูเหมือนว่าความหมายของนิมิตนี้เป็นความลึกลับสำหรับดานิเอล. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ช่วง “อีกนาน” ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างแน่นอน. ดังนั้น เราจึงถามว่า ‘ประวัติศาสตร์โลกเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับความสำเร็จของนิมิตเชิงพยากรณ์นี้?’
เขาเล็กขึ้นมามีอำนาจมาก
16. (ก) เขาเล็กแตกออกมาจากเขาโดยนัยเขาไหน? (ข) โรมกลายมาเป็นมหาอำนาจที่หกในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร แต่ทำไมโรมจึงไม่ใช่เขาเล็กโดยนัย?
16 ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เขาเล็กเป็นเขาที่แตกออกมาจากเขาหนึ่งในสี่เขาโดยนัยนี้—เป็นเขาที่อยู่สุดทางตะวันตก. นี่เป็นอาณาจักรกรีกของแม่ทัพคัสซันเดอร์แห่งมาซิโดเนียและกรีซ. ต่อมา อาณาจักรนี้ถูกกลืนโดยอาณาจักรของแม่ทัพลีซิมาคุส กษัตริย์แห่งเทรสและเอเชียน้อย. ในศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช โรมพิชิตเขตแดนฝั่งตะวันตกของกรีกนี้. และเมื่อถึงปี 30 ก.ส.ศ. โรมยึดอาณาจักรกรีกได้ทั้งหมด และเถลิงตัวเองขึ้นเป็นมหาอำนาจที่หกในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล. แต่จักรวรรดิโรมันไม่ใช่เขาเล็กในนิมิตของดานิเอล เพราะจักรวรรดินี้ไม่ได้คงอยู่จนกระทั่ง “เวลากำหนดตอนเบื้องปลาย.”—ดานิเอล 8:19.
17. (ก) บริเตนเกี่ยวข้องอย่างไรกับจักรวรรดิโรมัน? (ข) จักรวรรดิอังกฤษเกี่ยวข้องกับอาณาจักรมาซิโดเนียและกรีซอย่างไร?
17 ถ้าอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ระบุว่าใครเป็น “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย”? จริง ๆ แล้วบริเตนเป็นกิ่งก้านสาขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของจักรวรรดิโรมัน. ดินแดนซึ่งตอนนี้คือบริเตนเคยเป็นแคว้นของโรมจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ห้าสากลศักราช. เมื่อเวลาผ่านไป จักรวรรดิโรมันเสื่อมลง แต่อิทธิพลของอารยธรรมกรีก-โรมันยังคงมีอยู่ในบริเตนและในยุโรปส่วนอื่น ๆ ซึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองของโรม. ออกตาเบียว ปาซ กวีและนักเขียนผู้ชนะรางวัลโนเบลชาวเม็กซิโกเขียนว่า “เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย คริสตจักรก็ขึ้นมาแทนที่.” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้เขียนเรื่องคริสตจักรสมัยต้นรวมทั้งผู้คงแก่เรียนสมัยต่อมา เอาปรัชญากรีกมาประสานกับหลักคำสอนคริสเตียน.” และเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 ให้ข้อสังเกตว่า “อารยธรรมตะวันตก ซึ่งแตกออกจากแหล่งที่มาแบบกรีก อาศัยพื้นฐานของแนวความคิดที่สืบทอดกันมาทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ซึ่งเริ่มต้นที่เมืองมิเลตุส [เมืองของกรีซในเอเชียน้อย] สองพันห้าร้อยปีมาแล้ว.” ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าจักรวรรดิอังกฤษมีรากฐานทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรกรีกแห่งมาซิโดเนียและกรีซ.
18. เขาเล็กซึ่งกลายเป็น “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย” ใน “เวลาเบื้องปลาย” คืออะไร? จงอธิบาย.
18 พอถึงปี 1763 จักรวรรดิอังกฤษได้เอาชนะคู่ปรับที่เข้มแข็งของตน คือสเปนและฝรั่งเศส. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จักรวรรดิอังกฤษสำแดงตัวเป็นเจ้าแห่งน่านน้ำและมหาอำนาจที่เจ็ดในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล. แม้แต่เมื่ออาณานิคมอเมริกัน 13 แห่งแยกตัวออกจากบริเตนในปี 1776 เพื่อตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา จักรวรรดิอังกฤษก็เติบโตต่อไปและครอบครองผืนแผ่นดินและประชากรถึงหนึ่งในสี่ของโลก. มหาอำนาจที่เจ็ดยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นอีกเมื่อสหรัฐอเมริการ่วมมือกับบริเตนกลายเป็นมหาอำนาจคู่แองโกล-อเมริกัน. แท้จริงแล้ว มหาอำนาจนี้ได้กลายเป็น “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย” ทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร. ดังนั้น เขาเล็กที่กลายเป็นมหาอำนาจทางการเมืองที่ดุร้ายใน “เวลาเบื้องปลาย” คือมหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน.
19. “สิ่งประดับ” ในนิมิตคืออะไร?
19 ดานิเอลเห็นว่าเขาเล็ก “ใหญ่ขึ้น ๆ ทีละมาก ๆ” ไปทาง “สิ่งประดับ.” (ดานิเอล 8:9, ล.ม.) แผ่นดินแห่งคำสัญญาซึ่งพระยะโฮวาทรงประทานแก่ผู้ถูกเลือกสรรของพระองค์งดงามยิ่งนักถึงขนาดที่ถูกเรียกว่า “สิ่งประดับแห่งแผ่นดินทั้งปวง” คือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. (ยะเอศเคล 20:6, 15, ล.ม.) จริงอยู่ บริเตนได้ยึดครองกรุงเยรูซาเลมในวันที่ 9 ธันวาคม 1917 และในปี 1920 สันนิบาตชาติได้มอบปาเลสไตน์ให้อยู่ใต้อาณัติของบริเตนใหญ่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 1948. แต่นิมิตนี้เป็นเชิงพยากรณ์และมีสัญลักษณ์หลายอย่าง. และ “สิ่งประดับ” ในนิมิตไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ถึงกรุงเยรูซาเลม แต่เป็นสัญลักษณ์ถึงสภาพทางแผ่นดินโลกของผู้คนซึ่งพระเจ้าทรงถือว่าบริสุทธิ์ที่อยู่ในสมัยของมหาอำนาจที่เจ็ด. ให้เราดูว่ามหาอำนาจแองโกล-อเมริกันพยายามคุกคามเหล่าผู้บริสุทธิ์อย่างไร.
“ที่ตั้งแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” ถูกเหวี่ยงลง
20. “กองทัพแห่งฟ้าสวรรค์” และ “ดาว” ซึ่งเขาเล็กพยายามเหวี่ยงลงมาคือใคร?
20 เขาเล็ก “ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกองทัพแห่งฟ้าสวรรค์ทีเดียว จนทำให้กองทัพบางส่วนและดาวบางดวงตกสู่แผ่นดินโลก.” ตามคำอธิบายของทูตสวรรค์ “กองทัพแห่งฟ้าสวรรค์” และ “ดาว” ซึ่งเขาเล็กพยายามเหวี่ยงลงมาคือ “ไพร่พลที่ประกอบกันเป็นเหล่าผู้บริสุทธิ์.” (ดานิเอล 8:10, 24, ล.ม.) “เหล่าผู้บริสุทธิ์” นี้คือคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. เนื่องจากถูกนำเข้ามามีสัมพันธภาพกับพระเจ้าโดยทางคำสัญญาไมตรีใหม่ ซึ่งดำเนินการได้โดยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออก พวกเขาถูกทำให้บริสุทธิ์, ถูกชำระให้สะอาด, และถูกแยกไว้ต่างหากสำหรับการรับใช้เฉพาะต่อพระเจ้า. (เฮ็บราย 10:10; 13:20) โดยเหตุที่พระยะโฮวาได้ทรงแต่งตั้งพวกเขาเป็นรัชทายาทร่วมกับพระบุตรของพระองค์ในมรดกฝ่ายสวรรค์ พระยะโฮวาจึงทรงถือว่าพวกเขาบริสุทธิ์. (เอเฟโซ 1:3, 11, 18-20) ดังนั้น ในนิมิตของดานิเอล “กองทัพแห่งฟ้าสวรรค์” จึงหมายถึงชนที่เหลืออยู่ทางแผ่นดินโลกของ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” จำนวน 144,000 คน ซึ่งจะปกครองในสวรรค์กับพระเมษโปดก.—วิวรณ์ 14:1-5.
21. ใครอยู่ใน “สถานบริสุทธิ์” ที่มหาอำนาจที่เจ็ดพยายามทำให้ร้างเปล่า?
21 ในปัจจุบันนี้ ชนที่เหลือของ 144,000 คนเป็นตัวแทนทางแผ่นดินโลกของ “เยรูซาเลมฝ่ายสวรรค์”—คือราชอาณาจักรของพระเจ้าที่เป็นเสมือนเมือง—และการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหาร. (เฮ็บราย 12:22, 28, ล.ม.; 13:14) ในความหมายนี้ พวกเขาอยู่ใน “สถานบริสุทธิ์” ที่มหาอำนาจที่เจ็ดพยายามเหยียบย่ำและทำให้ร้างเปล่า. (ดานิเอล 8:13, ล.ม.) ดานิเอลเรียกสถานบริสุทธิ์นั้นด้วยว่า “ที่ตั้งแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของ” พระยะโฮวา และบอกดังนี้: “เครื่องบูชาเนืองนิตย์ถูกเอาไปจากพระองค์ [พระยะโฮวา] และที่ตั้งแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ก็ถูกเหวี่ยงลง. และกองทัพกองหนึ่งทีเดียวค่อย ๆ ถูกมอบไว้ พร้อมกับเครื่องบูชาเนืองนิตย์นั้น เนื่องด้วยการล่วงละเมิด; และมันเหวี่ยงความจริงมายังแผ่นดินโลกอยู่ร่ำไป และมันได้กระทำและได้ประสบความสำเร็จ.” (ดานิเอล 8:11, 12, ล.ม.) เรื่องนี้เป็นจริงอย่างไร?
22. มหาอำนาจที่เจ็ด “ล่วงละเมิด” อย่างเด่นชัดอย่างไรระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง?
22 ประสบการณ์ของพยานพระยะโฮวาระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเช่นไร? พวกเขาทนการข่มเหงอย่างรุนแรงมาก! การข่มเหงนี้เริ่มในประเทศที่ปกครองในระบอบนาซีและฟาสซิสต์. แต่ไม่นาน ‘ความจริงก็ถูกเหวี่ยงมายังแผ่นดินโลก’ ตลอดทั่วอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของ ‘เขาเล็กซึ่งมีอำนาจมาก.’ “กองทัพ” แห่งผู้ประกาศราชอาณาจักรและงานของพวกเขาในการประกาศ “ข่าวดี” ถูกสั่งห้ามในจักรภพอังกฤษเกือบทั้งหมด. (มาระโก 13:10, ล.ม.) เมื่อเกณฑ์ทหาร ชาติต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ยอมยกเว้นให้แก่พยานพระยะโฮวาที่เป็นผู้เผยแพร่ ไม่แสดงความนับถือต่องานมอบหมายตามระบอบของพระเจ้าในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระองค์. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาในสหรัฐประสบกับฝูงชนที่กลุ้มรุมทำร้ายและการสบประมาทต่าง ๆ. มหาอำนาจที่เจ็ดราวกับว่าพยายามเอาเครื่องบูชาแห่งการสรรเสริญไป—คือ “ผลแห่งริมฝีปาก”—ซึ่งไพร่พลของพระยะโฮวาถวายแด่พระองค์เป็นประจำเป็น “เครื่องบูชาเนืองนิตย์” แห่งการนมัสการของพวกเขา. (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) มหาอำนาจนี้จึงได้ “ล่วงละเมิด” คือได้โจมตีอาณาเขตโดยชอบธรรมของพระเจ้าองค์สูงสุด—นั่นคือ “ที่ตั้งแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์.”
23. (ก) มหาอำนาจแองโกล-อเมริกันยืนขึ้น “ต่อต้านเจ้าแห่งเจ้า” อย่างไร? (ข) ใครคือ “เจ้าแห่งเจ้า”?
23 โดยการข่มเหง “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเล็กได้วางท่าใหญ่โต “แม้กระทั่งต่อเจ้าแห่งกองทัพ.” หรืออย่างที่ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าว มันยืนขึ้น “ต่อต้านเจ้าแห่งเจ้า.” (ดานิเอล 8:11, 25, ล.ม.) ตำแหน่ง “เจ้าแห่งเจ้า” ใช้กับพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น. คำภาษาฮีบรูซาร์ ซึ่งมีการแปลว่า “เจ้า” นั้นเกี่ยวข้องกับคำกริยาที่หมายความว่า “ดำเนินการปกครอง.” นอกจากจะหมายถึงบุตรของกษัตริย์หรือบุคคลผู้มีฐานะในราชวงศ์แล้ว คำนี้ใช้หมายถึงประมุข หรือหัวหน้า. พระธรรมดานิเอลกล่าวถึงเจ้าองค์อื่น ๆ ที่เป็นทูตสวรรค์—เช่นมิคาเอล. พระเจ้าทรงเป็นเจ้าองค์สูงสุดในเจ้าเหล่านั้นทั้งปวง. (ดานิเอล 10:13, 21; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 83:18.) เราสามารถจะนึกภาพได้ไหมว่าจะมีใครยืนหยัดต่อต้านพระยะโฮวา เจ้าแห่งเจ้าได้?
“สถานบริสุทธิ์” ถูกนำเข้าสู่สภาพอันถูกต้อง
24. พระธรรมดานิเอล 8:14 รับรองเรื่องอะไรกับเรา?
24 ไม่มีใครเลยสามารถยืนขึ้นต่อต้านเจ้าแห่งเจ้าได้—แม้แต่กษัตริย์ที่มี “พระพักตร์ดุร้าย” อย่างมหาอำนาจแองโกล-อเมริกันก็ไม่อาจทำได้! ความพยายามของกษัตริย์องค์นี้ที่จะทำให้สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าร้างเปล่านั้นไม่สำเร็จ. ทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวกล่าวว่า หลังจากช่วงเวลา “สองพันสามร้อยเวลาเย็นและเวลาเช้า; และสถานบริสุทธิ์จะถูกนำเข้าสู่สภาพอันถูกต้องอย่างแน่นอน” หรือ “จะปรากฏว่าได้ชัยชนะ.”—ดานิเอล 8:13, 14; เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.
25. ช่วงเวลาเชิงพยากรณ์ 2,300 วันนั้นยาวนานเท่าไร และช่วงเวลานี้ต้องเกี่ยวพันกับเหตุการณ์อะไร?
25 ช่วงเวลา 2,300 วันเป็นช่วงเวลาเชิงพยากรณ์. ดังนั้น ปีเชิงพยากรณ์ที่ยาว 360 วันจึงเกี่ยวข้องด้วย. (วิวรณ์ 11:2, 3; 12:6, 14) ช่วงเวลา 2,300 วันนี้จึงเท่ากับ 6 ปี 4 เดือนกับอีก 20 วัน. ช่วงเวลานี้เกิดขึ้นเมื่อไร? ในทศวรรษ 1930 ไพร่พลของพระเจ้าเริ่มประสบกับการข่มเหงที่มากขึ้นในหลายประเทศ. และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงอย่างทารุณในดินแดนต่าง ๆ ของมหาอำนาจคู่แองโกล-อเมริกัน. ทำไมหรือ? เพราะว่าพวกเขายืนยันจะ “เชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.” (กิจการ 5:29) ดังนั้น ช่วงเวลา 2,300 วันจะต้องเกี่ยวโยงกับสงครามนั้น.b แต่จะกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของช่วงเวลาเชิงพยากรณ์นี้?
26. (ก) อย่างเร็วที่สุดควรจะเริ่มนับช่วงเวลา 2,300 วันตั้งแต่เมื่อไร? (ข) ช่วงเวลา 2,300 วันจบลงเมื่อไร?
26 เพื่อ “สถานบริสุทธิ์” จะถูก “นำ” หรือบูรณะสู่สภาพที่ควรจะเป็น ช่วงเวลา 2,300 วันก็ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่สถานบริสุทธิ์นี้อยู่ใน “สภาพอันถูกต้อง” ครั้งหลังสุดในทัศนะของพระยะโฮวา. อย่างเร็วที่สุด นั่นจะตกในวันที่ 1 มิถุนายน 1938 เมื่อวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ลงตอนที่หนึ่งของบทความเรื่อง “องค์การ.” ตอนที่สองลงในฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 1938. การนับเวลา 2,300 วัน (6 ปี 4 เดือนกับ 20 วันตามปฏิทินฮีบรู) จากวันที่ 1 หรือวันที่ 15 มิถุนายน 1938 จะนำเรามาถึงวันที่ 8 หรือ 22 ตุลาคม 1944. ในวันแรกของการประชุมพิเศษที่จัดขึ้นที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 30 กันยายนและ 1 ตุลาคม 1944 นายกสมาคมว็อชเทาเวอร์บรรยายในหัวเรื่อง “แนวทางแห่งการปกครองของพระเจ้าในทุกวันนี้.” ณ การประชุมประจำปีสำหรับสมาชิกนิติบุคคลในวันที่ 2 ตุลาคม ตราสารของสมาคมฯถูกแก้ไขเพื่อพยายามทำให้ใกล้เคียงกับการจัดเตรียมตามระบอบของพระเจ้าเท่าที่กฎหมายอนุญาต. พร้อมด้วยหนังสือที่ชี้แจงชัดเจนเรื่องข้อเรียกร้องของคัมภีร์ไบเบิล ไม่นาน ระเบียบตามระบอบของพระเจ้าจึงถูกตั้งอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นในประชาคมของพยานพระยะโฮวา.
27. มีหลักฐานอะไรที่ว่า “เครื่องบูชาเนืองนิตย์” ถูกจำกัดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหง?
27 ขณะที่ช่วงเวลา 2,300 วันดำเนินไประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1939 การถวาย “เครื่องบูชาเนืองนิตย์” ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าถูกจำกัดอย่างมากเนื่องจากการกดขี่ข่มเหง. ในปี 1938 สมาคมว็อชเทาเวอร์มีสำนักงานสาขา 39 สาขาดูแลการงานของเหล่าพยานฯทั่วโลก. แต่พอถึงปี 1943 มีเพียง 21 สาขาเท่านั้น. การเพิ่มทวีของจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรระหว่างช่วงสงครามนี้ก็มีเพียงเล็กน้อยด้วย.
28, 29. (ก) เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้จะยุติลง มีพัฒนาการอะไรในองค์การของพระยะโฮวา? (ข) อาจกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับความพยายามอันร้ายกาจของศัตรูที่จะทำลายและทำให้ “สถานบริสุทธิ์” ร้างเปล่า?
28 ดังที่เราได้สังเกต ระหว่างเดือนท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง พยานพระยะโฮวายืนยันอีกครั้งถึงความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเชิดชูอำนาจการปกครองของพระเจ้าโดยรับใช้พระองค์ฐานะเป็นองค์การตามระบอบของพระเจ้า. เพื่อจุดประสงค์นั้นจึงมีการจัดระเบียบโครงสร้างการงานและการปกครองของพวกเขาใหม่ซึ่งเริ่มในปี 1944. ที่จริง หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 ตุลาคม 1944 มีบทความเรื่อง “จัดระเบียบเพื่อการงานสุดท้าย.” บทความนี้และบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการรับใช้ในช่วงเวลาเดียวกันบ่งชี้ว่า ช่วงเวลา 2,300 วันได้จบลงแล้วและ “สถานบริสุทธิ์” อยู่ใน “สภาพอันถูกต้อง” อีกครั้ง.
29 ความพยายามอันร้ายกาจของศัตรูที่จะทำให้ “สถานบริสุทธิ์” ร้างเปล่าและทำลายเสียนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง. แท้จริง “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ที่เหลืออยู่บนแผ่นดินโลก รวมทั้งสหายของพวกเขาคือ “ชนฝูงใหญ่” ได้ปรากฏออกมาอย่างมีชัยชนะ. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) และตอนนี้สถานศักดิ์สิทธิ์ในสภาพอันถูกต้องตามระบอบของพระเจ้าถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวาต่อไป.
30. อีกไม่นานจะเกิดอะไรขึ้นกับ “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย”?
30 มหาอำนาจแองโกล-อเมริกันยังคงยืนหยัดต่อไป. ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าวว่า “แต่จะไม่ใช่ด้วยมือที่ท่านจะถูกหักทำลาย.” (ดานิเอล 8:25, ล.ม.) อีกไม่นานแล้ว มหาอำนาจที่เจ็ดแห่งคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล—คือ “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย” นี้—จะถูกหักทำลาย ไม่ใช่ด้วยมือมนุษย์ แต่ด้วยอำนาจเหนือมนุษย์ ณ อาร์มาเก็ดดอน. (ดานิเอล 2:44; วิวรณ์ 16:14, 16) ช่างน่าตื่นเต้นเสียจริงที่รู้ว่าพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาพระเจ้า เจ้าแห่งเจ้า จะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง!
[เชิงอรรถ]
a เจ็ดมหาอำนาจโลกซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษทางคัมภีร์ไบเบิลคืออียิปต์, อัสซีเรีย, บาบิโลเนีย, มิโด-เปอร์เซีย, กรีซ, โรม, และมหาอำนาจคู่แองโกล-อเมริกัน. มหาอำนาจเหล่านี้มีความโดดเด่นเพราะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับไพร่พลของพระยะโฮวา.
b ดานิเอล 7:25 ยังพูดถึงช่วงเวลาหนึ่งเมื่อมีการ “เบียดเบียนข่มเหงเหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น.” ดังที่ได้อธิบายในบทก่อน สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 1.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• อะไรคือ
“แกะตัวผู้” ที่มี “สองเขา”?
“แพะตัวผู้” ที่มี “เขาสัตว์อันใหญ่”?
เขาสี่เขาที่ขึ้นมาแทนที่ “เขาสัตว์อันใหญ่”?
เขาเล็กซึ่งแตกออกมาจากเขาหนึ่งในสี่เขา?
• ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจแองโกล-อเมริกันพยายามทำให้ “สถานบริสุทธิ์” ร้างเปล่าโดยวิธีใด และมันทำสำเร็จไหม?
[แผนที่/ภาพหน้า 166]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
จักรวรรดิมิโด-เปอร์เซีย
มาซิโดเนีย
อียิปต์
เมมฟิส
เอธิโอเปีย
ยะรูซาเลม
บาบูโลน
เอกบาทานา
ซูซา
เพอร์เซโพลิส
อินเดีย
[แผนที่/ภาพหน้า 169]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
จักรวรรดิกรีก
มาซิโดเนีย
อียิปต์
บาบูโลน
แม่น้ำสินธุ
[แผนที่หน้า 172]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
จักรวรรดิโรมัน
บริแทนเนีย
อิตาลี
โรม
ยะรูซาเลม
อียิปต์
[ภาพเต็มหน้า 164]
[รูปภาพหน้า 174]
บุคคลสำคัญบางคนของมหาอำนาจแองโกล-อเมริกัน:
1. จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ (1789-1797)
2. สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แห่งบริเตน (1837-1901)
3. วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐ (1913-1921)
4. เดวิด ลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีของบริเตน (1916-1922)
5. วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีของบริเตน (1940-1945, 1951-1955)
6. แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ (1933-1945)