บทสิบเอ็ด
การเปิดเผยเวลาที่พระมาซีฮาเสด็จมา
1. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่ เราจึงมั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่. เวลาและวาระต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการงานของพระองค์อยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์. (กิจการ 1:7) เหตุการณ์ทั้งปวงที่พระองค์ทรงกำหนดว่าจะเกิดในเวลาและวาระเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน. จะไม่ล้มเหลวเลย.
2, 3. ดานิเอลเอาใจใส่คำพยากรณ์อะไร และจักรวรรดิไหนกำลังปกครองกรุงบาบูโลนอยู่ในตอนนั้น?
2 ในฐานะนักศึกษาพระคัมภีร์ที่ขยันหมั่นเพียร ผู้พยากรณ์ดานิเอลมีความเชื่อในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะกำหนดเหตุการณ์ต่าง ๆ และทำให้เกิดขึ้นจริง. คำพยากรณ์ที่ดานิเอลสนใจเป็นพิเศษก็คือคำพยากรณ์เกี่ยวกับความร้างเปล่าของกรุงยะรูซาเลม. ท่านยิระมะยาได้บันทึกเกี่ยวกับการเปิดเผยของพระเจ้าที่ว่านครบริสุทธิ์จะร้างเปล่าอยู่นานเท่าไร และดานิเอลได้พิจารณาคำพยากรณ์นี้อย่างรอบคอบ. ท่านบันทึกว่า “ครั้นอยู่มาในปีที่หนึ่งแห่งรัชกาลของราชาดาระยาศ, โอรสของราชาอะฮัศเวโรศ, เชื้อชาติชาวมาดาย, ได้ถูกอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติ ณ แผ่นดินของชาวเคเซ็ด. ในปีที่หนึ่งแห่งรัชกาลของราชาองค์นี้, ข้าพเจ้า, ดานิเอล, ได้เข้าใจจากทะเบียนบันทึกปี, ซึ่งจารึกพระดำรัสของพระเจ้าที่ได้มีมายังยิระมะยา, ศาสดาพยากรณ์, กล่าวถึงความร้างของกรุงยะรูซาเลมครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์.”—ดานิเอล 9:1, 2; ยิระมะยา 25:11.
3 ตอนนั้น ดาระยาศชาวมีเดียกำลังปกครอง “แผ่นดินของชาวเคเซ็ด [“อาณาจักรของชาวแคลเดีย,” ล.ม.].” คำทำนายของดานิเอลก่อนหน้านี้เมื่อแปลความหมายลายมือบนผนังได้สำเร็จสมจริงอย่างรวดเร็ว. จักรวรรดิบาบูโลนไม่มีอีกต่อไป. จักรวรรดินี้ “ถูกแบ่งแยกปันกันระหว่างชาวมาดายและชาวฟารัศ” ในปี 539 ก.ส.ศ.—ดานิเอล 5:24-28, 30, 31.
ดานิเอลวิงวอนพระยะโฮวาด้วยความถ่อม
4. (ก) จำเป็นต้องมีอะไรเพื่อได้รับการช่วยให้รอดจากพระเจ้า? (ข) ดานิเอลดำเนินการอย่างไรเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้า?
4 ท่านดานิเอลตระหนักว่าความร้างเปล่าของกรุงยะรูซาเลมที่ยาวนาน 70 ปีนั้นกำลังจะจบลง. ท่านจะทำอะไรต่อไป? ท่านเองบอกเราว่า “ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งหน้าตั้งตาทูลอธิษฐานและวิงวอนขอต่อพระยะโฮวาเจ้าด้วยการบำเพ็ญศีลอดอาหารนุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบและนั่งบนกองขี้เถ้า. ข้าพเจ้าได้วอนขอต่อพระยะโฮวา, พระเจ้าของข้าพเจ้า; และได้ขอขมาโทษ.” (ดานิเอล 9:3, 4) จำต้องมีสภาพหัวใจที่ถูกต้องเพื่อได้รับการช่วยให้รอดด้วยความเมตตาจากพระเจ้า. (เลวีติโก 26:31-46; 1 กษัตริย์ 8:46-53) จำต้องมีความเชื่อ, น้ำใจถ่อม, และการกลับใจอย่างเต็มที่จากบาปซึ่งเป็นเหตุให้ถูกเนรเทศและตกเป็นทาส. ดังนั้น ดานิเอลจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อเห็นแก่ชนร่วมชาติที่ผิดบาปของท่าน. โดยวิธีใด? โดยการถือศีลอดอาหาร, โศกเศร้า, และสวมผ้าเนื้อหยาบเป็นเครื่องหมายถึงการกลับใจและความจริงใจ.
5. ทำไมดานิเอลรู้สึกมั่นใจว่าชาวยิวจะได้กลับสู่มาตุภูมิของตน?
5 คำพยากรณ์ของยิระมะยาให้ความหวังแก่ดานิเอล เพราะคำพยากรณ์นั้นระบุว่าอีกไม่นานชาวยิวจะได้กลับสู่ยูดา มาตุภูมิของพวกเขา. (ยิระมะยา 25:12; 29:10) ไม่ต้องสงสัย ดานิเอลรู้สึกมั่นใจว่าชาวยิวที่ถูกพิชิตจะได้รับการปลดปล่อยเพราะว่าบุรุษชื่อไซรัสได้ขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซียแล้ว. ท่านยะซายาพยากรณ์ไว้ว่าไซรัสจะเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยชาวยิวเพื่อจะบูรณะกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารอีกมิใช่หรือ? (ยะซายา 44:28–45:3) แต่ดานิเอลไม่ทราบเลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร. ดังนั้น ท่านจึงวิงวอนขอพระยะโฮวาต่อไป.
6. ดานิเอลยอมรับอะไรในคำอธิษฐาน?
6 ท่านดานิเอลมุ่งความสนใจไปที่ความเมตตาและความรักกรุณาของพระยะโฮวา. ท่านยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าชาวยิวได้ทำบาปโดยการกบฏ, การหันไปจากพระบัญญัติของพระยะโฮวา, และเมินผู้พยากรณ์ของพระองค์. ดังนั้น จึงเหมาะสมที่พระเจ้าทรง “ขับไล่ [พวกเขา] . . . เนื่องจากการล่วงละเมิด.” ท่านดานิเอลอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ความอับอายขายหน้าก็สมควรแก่พวกข้าพเจ้า, แก่ปวงกษัตริย์, แก่เหล่าเจ้านาย, และแก่บรรพบุรุษของข้าพเจ้า, เพราะพวกข้าพเจ้าทั้งหลายได้กระทำผิดต่อพระองค์. ความเมตตาและการไม่ถือโทษยังคงอยู่กับพระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย, แม้นว่าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายได้กบฏต่อพระองค์ก็ดี; และมิได้ฟังสำเนียงตรัสของพระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, หากได้ฟังก็คงจะได้ประพฤติตามบัญญัติของพระองค์, ซึ่งได้ถูกตั้งไว้ต่อหน้าข้าพเจ้าโดยทางศาสดาพยากรณ์, ผู้รับใช้ของพระองค์, ก็ตาม. จริงพระเจ้าค่ะ, พวกยิศราเอลทั้งปวงได้ผิดบัญญัติของพระองค์โดยได้เลี่ยงไปเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องฟังคำตรัสของพระองค์, เหตุฉะนี้ พระองค์จึงได้หลั่งคำแช่ง, คำสาป, ซึ่งจารึกไว้ในบัญญัติของโมเซ, ผู้รับใช้ของพระเจ้า, ลงมาเหนือพวกข้าพเจ้าแล้ว; เพราะพวกข้าพเจ้าได้ทำผิดต่อพระองค์.”—ดานิเอล 9:5-11; เอ็กโซโด 19:5-8; 24:3, 7, 8.
7. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วที่ปล่อยให้ชาวยิวตกเป็นเชลย?
7 พระเจ้าได้ทรงเตือนชาวยิศราเอลไว้แล้วถึงผลของการไม่เชื่อฟังพระองค์และการไม่นับถือคำสัญญาไมตรีที่พระองค์ได้ทรงทำไว้กับพวกเขา. (เลวีติโก 26:31-33; พระบัญญัติ 28:15; 31:17) ดานิเอลยอมรับว่าปฏิบัติการของพระเจ้านั้นถูกต้อง ท่านกล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงยืนคำของพระองค์, ซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่าขานพวกข้าพเจ้า, และว่าขานพวกตุลาการผู้ได้พิจารณาพิพากษาพวกข้าพเจ้า, โดยได้ทรงให้เกิดความทุกข์โศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงตกมาต้องข้าพเจ้า, อย่างที่ยังมิได้เคยกระทำแก่ใครที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้า, เหมือนอย่างได้กระทำแก่ยะรูซาเลม. ความทุกข์โศกเศร้าที่ได้มาท่วมทับพวกข้าพเจ้า, ก็ตรงตามที่เขียนไว้ในบัญญัติของโมเซแล้ว; ถึงกระนั้นพวกข้าพเจ้าก็ยังมิได้หันหลังให้ความชั่วร้าย, และอาศัยความสัตย์จริงของพระเจ้าเป็นบรรทัดฐานในการประพฤติ, เพื่อเป็นการเอาอกเอาใจพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกข้าพเจ้า. เหตุฉะนี้พระยะโฮวาได้ทรงเฝ้าดูความชั่วนั้น, แล้วได้ให้มันตกมาต้องพวกข้าพเจ้า; ด้วยว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าทรงแสดงความสัตย์ธรรมให้ปรากฏอยู่ในบรรดาพระราชกิจที่ทรงประกอบ, และพวกข้าพเจ้าหาได้ฟังพระดำรัสเรียกของพระองค์ไม่.”—ดานิเอล 9:12-14.
8. ดานิเอลทูลวิงวอนต่อพระยะโฮวาโดยคำนึงถึงอะไรเป็นหลัก?
8 ดานิเอลไม่ได้พยายามแก้ตัวสำหรับการกระทำของชนร่วมชาติของท่าน. การที่พวกเขาถูกเนรเทศนั้นก็สมควรแล้ว ดังที่ท่านสารภาพด้วยความเต็มใจว่า “พวกข้าพเจ้าได้กระทำผิดไปแล้ว, พวกข้าพเจ้าได้กระทำการชั่วร้ายเสียแล้ว.” (ดานิเอล 9:15) และความห่วงใยของท่านก็ไม่ใช่เพียงเพื่อได้การบรรเทาทุกข์เท่านั้น. แต่ที่ท่านอ้อนวอนเช่นนั้นก็เนื่องด้วยคำนึงถึงสง่าราศีและพระเกียรติของพระยะโฮวา. โดยที่พระองค์ทรงอภัยโทษให้ชาวยิวและให้พวกเขากลับสู่มาตุภูมิ พระเจ้าจะทำให้คำสัญญาของพระองค์ที่ผ่านมาทางยิระมะยาสำเร็จและจะทำให้พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์เป็นที่นับถือ. ดานิเอลอ้อนวอนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, เนื่องด้วยพระมหาอุปการะที่ได้เคยมี, ข้าพเจ้าจึงขอให้ความกริ้วและความขึ้งโกรธของพระองค์เบือนกลับไปจากยะรูซาเลมกรุงของพระองค์, ภูเขาอันบริสุทธิ์ของพระองค์; ด้วยว่ายะรูซาเลมและพลเมืองของพระองค์ถูกคนใกล้เคียงดูหมิ่นก็เพราะความผิดของพวกข้าพเจ้า, และเพราะความอสัตย์อธรรมของบรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้า.”—ดานิเอล 9:16.
9. (ก) ดานิเอลจบคำอธิษฐานด้วยคำวิงวอนอะไร? (ข) อะไรทำให้ดานิเอลทุกข์ใจ แต่ท่านแสดงความนับถือต่อพระนามของพระเจ้าอย่างไร?
9 ในคำอธิษฐานด้วยใจแรงกล้า ดานิเอลทูลต่อไปว่า “บัดนี้, โอพระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขอสดับฟังคำของทาสของพระองค์, และคำวิงวอนของเขา, และขอให้พระรัศมีแห่งพระพักตร์ของพระองค์ส่องลงมาเหนือพระวิหารบริสุทธิ์ร้างนั้นเถอะ! ที่ขอนี้ก็ขอเพราะเห็นแก่พระองค์เอง. โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า, ขอเงี่ยพระโสตสดับฟัง; ขอทรงลืมพระเนตรมองดูความเริดร้างของพวกข้าพเจ้า, และมองดูเมืองซึ่งถูกขนานนามตามพระนามของพระองค์; ด้วยว่าพวกข้าพเจ้ามิได้ถวายคำวอนนี้ต่อพระองค์, ในฐานที่มีความดีความชอบ, แต่ได้วอนขอฐานที่อยู่ในข่ายแห่งพระมหาเมตตาคุณของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงสดับฟัง; ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงอภัยโทษให้; โอ้พระยะโฮวา, ขอทรงเงี่ยพระโสตและโปรดกระทำเถอะ; ขออย่าได้เนิ่นช้าไว้เลยพระเจ้าค่ะ, โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า, นึกว่าเห็นแก่พระนามของพระองค์เถอะ, ด้วยว่าเมืองของพระองค์และพลเมืองของพระองค์ก็ถูกขนานนามตามพระนามของพระองค์.” (ดานิเอล 9:17-19) หากพระเจ้าไม่ทรงให้อภัยและทิ้งไพร่พลของพระองค์ไว้ในการเนรเทศ ปล่อยให้กรุงยะรูซาเลม นครบริสุทธิ์ร้างเปล่าตลอดไป ชาติต่าง ๆ จะมองพระองค์ฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพไหม? พวกเขาจะลงความเห็นว่าพระยะโฮวาทรงไร้อำนาจต่อต้านเทพเจ้าของบาบูโลนมิใช่หรือ? ถูกแล้ว พระนามของพระยะโฮวาจะถูกตำหนิ และนี่ทำให้ดานิเอลรู้สึกเป็นทุกข์ใจ. ยะโฮวา พระนามของพระเจ้าที่ปรากฏในข้อความดั้งเดิมของพระธรรมดานิเอลทั้งหมด 19 ครั้งมี 18 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับคำอธิษฐานนี้!
ฆับรีเอลมาอย่างรวดเร็ว
10. (ก) ใครถูกส่งมาหาดานิเอลโดยด่วน และทำไม? (ข) เหตุใดดานิเอลกล่าวถึงฆับรีเอลว่าเป็น “บุรุษ”?
10 ขณะที่ดานิเอลยังกำลังอธิษฐานอยู่ ทูตสวรรค์ฆับรีเอลปรากฏออกมา. ท่านกล่าวว่า “ดานิเอลเอ๋ย, ข้าพเจ้าออกมาเพื่อจะให้ความสว่างอกสว่างใจแก่ท่าน. พอท่านเริ่มบรรยายคำวิงวอนของท่านก็มีรับสั่งให้ข้าพเจ้ามาแจ้งแก่ท่าน; เพราะท่านเป็นคนโปรดปรานยิ่งนัก. เหตุฉะนี้จงใส่ใจต่อถ้อยคำนี้และสนใจฟังเรื่องนิมิตนั้นเถอะ.” แต่ทำไมดานิเอลเรียกทูตสวรรค์องค์นี้ว่า “บุรุษฆับรีเอล”? (ดานิเอล 9:20-23) เมื่อดานิเอลแสวงหาความเข้าใจในนิมิตก่อนหน้านี้เรื่องแพะตัวผู้ มี “ผู้หนึ่งรูปร่างเหมือนมนุษย์” มาปรากฏต่อท่าน. นั่นคือทูตสวรรค์ฆับรีเอล ซึ่งพระเจ้าทรงส่งมาชี้แจงให้ดานิเอลเข้าใจ. (ดานิเอล 8:15-17) คล้าย ๆ กัน หลังจากดานิเอลอธิษฐานเสร็จ ทูตสวรรค์องค์นี้เข้ามาใกล้ดานิเอลในรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ และพูดกับท่านเหมือนมนุษย์พูดกับมนุษย์ด้วยกัน.
11, 12. (ก) ถึงแม้ว่าไม่มีพระวิหารและแท่นบูชาของพระยะโฮวาในกรุงบาบูโลน ชาวยิวผู้เลื่อมใสแสดงความนับถือต่อการถวายเครื่องบูชาตามที่พระบัญญัติเรียกร้องอย่างไร? (ข) ทำไมดานิเอลถูกเรียกว่า “คนโปรดปรานยิ่งนัก”?
11 ฆับรีเอลมาถึงใน “เวลาถวายมังสะเครื่องบูชายัญตอนเย็น.” แท่นบูชาของพระยะโฮวาถูกทำลายไปพร้อมกับพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม และชาวยิวก็ตกเป็นเชลยของชาวบาบูโลนนอกรีต. ดังนั้น ชาวยิวในบาบูโลนไม่ได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับถวายเครื่องบูชาภายใต้พระบัญญัติของโมเซ เป็นการเหมาะสมสำหรับชาวยิวที่เลื่อมใสซึ่งอยู่ในบาบูโลนจะสรรเสริญและทูลวิงวอนพระยะโฮวา. ดานิเอลเป็นผู้เลื่อมใสพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง ท่านจึงถูกเรียกว่า “คนโปรดปรานยิ่งนัก.” พระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงพอพระทัยท่าน และฆับรีเอลถูกส่งมาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบคำอธิษฐานที่ทูลด้วยความเชื่อของดานิเอล.—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
12 แม้แต่เมื่อการอธิษฐานถึงพระเจ้าเป็นการเสี่ยงชีวิต ดานิเอลก็ยังคงอธิษฐานถึงพระยะโฮวาวันละสามครั้ง. (ดานิเอล 6:10, 11) ไม่น่าแปลกใจที่พระยะโฮวาทรงโปรดปรานท่านมาก! นอกจากดานิเอลจะอธิษฐานแล้ว การที่ท่านใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าทำให้ท่านสามารถเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. ดานิเอลยืนหยัดอธิษฐานต่อไป และท่านทราบวิธีเข้าเฝ้าพระยะโฮวาอย่างถูกต้องเพื่อคำอธิษฐานของท่านจะได้รับคำตอบ. ท่านเน้นความชอบธรรมของพระเจ้า. (ดานิเอล 9:7, 14, 16) และถึงแม้ศัตรูของท่านไม่สามารถจับผิดท่านได้ ดานิเอลก็ทราบว่าท่านเป็นคนบาปในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและพร้อมจะสารภาพบาปของท่าน.—ดานิเอล 6:4; โรม 3:23.
“เจ็ดสิบสัปดาห์” ที่จะยุติบาป
13, 14. (ก) ข่าวสารสำคัญอะไรที่ฆับรีเอลเปิดเผยแก่ดานิเอล? (ข) “เจ็ดสิบสัปดาห์” นานเท่าไร และเรารู้ได้อย่างไร?
13 ดานิเอลผู้เลื่อมใสได้รับคำตอบที่น่าตื่นเต้นอะไรเช่นนี้! พระยะโฮวาไม่เพียงรับรองกับท่านว่าชาวยิวจะได้กลับสู่มาตุภูมิของตนเท่านั้น แต่ยังให้ท่านเข้าใจบางสิ่งที่สำคัญกว่านั้นมากนัก นั่นคือการปรากฏของพระมาซีฮาที่บอกไว้ล่วงหน้า. (เยเนซิศ 22:17, 18; ยะซายา 9:6, 7) ฆับรีเอลบอกดานิเอลว่า “มีเจ็ดสิบสัปดาห์ที่กำหนดไว้สำหรับชนร่วมชาติของท่าน และสำหรับนครบริสุทธิ์ของท่าน เพื่อทำให้การล่วงละเมิดสิ้นสุดลง และยุติบาป และเพื่อไถ่ความผิด และเพื่อนำความชอบธรรมเข้ามาเป็นเวลาไม่กำหนด และเพื่อลงตราประทับนิมิตและผู้พยากรณ์ และเพื่อเจิมสถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง. และท่านควรรู้ และหยั่งเห็นเข้าใจว่า ตั้งแต่มีรับสั่งออกมาให้กู้กรุงเยรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่ไปจนกระทั่งถึงมาซีฮาผู้นำนั้น จะเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ และหกสิบสองสัปดาห์. กรุงจะคืนสภาพและจะถูกสร้างขึ้นใหม่จริง ๆ พร้อมด้วยจัตุรัสกลางเมืองและคูเมือง ถึงแม้จะเป็นยามทุกข์ลำเค็ญก็ตาม.”—ดานิเอล 9:24, 25, ล.ม.
14 นี่เป็นข่าวดีจริง ๆ! ไม่เพียงแค่กรุงยะรูซาเลมจะถูกสร้างขึ้นใหม่และการนมัสการจะได้รับการฟื้นฟู ณ พระวิหารหลังใหม่เท่านั้น แต่ “พระมาซีฮาผู้นำ” จะปรากฏในเวลาที่กำหนดไว้ด้วย. สิ่งนี้จะเกิดขึ้นภายใน “เจ็ดสิบสัปดาห์.” เนื่องจากฆับรีเอลไม่ได้กล่าวถึงวัน นี่จึงไม่ใช่สัปดาห์ที่มีเจ็ดวัน ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลานั้นยาว 490 วัน—เพียงหนึ่งปีเศษ. การสร้างกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่ “พร้อมด้วยจัตุรัสกลางเมืองและคูเมือง” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าใช้เวลานานกว่านั้นมาก. นี่เป็นสัปดาห์แห่งปี. ฉบับแปลสมัยใหม่หลายฉบับแนะว่ามีเจ็ดปีในแต่ละสัปดาห์. ยกตัวอย่าง เชิงอรรถสำหรับดานิเอล 9:24 ในทานักฮ์—พระคัมภีร์บริสุทธิ์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมการพิมพ์ชาวยิวแปลว่า “เจ็ดสิบสัปดาห์แห่งปี.” ฉบับแอน อเมริกัน แทรนสเลชัน แปลว่า “เจ็ดสิบสัปดาห์แห่งปีถูกกำหนดไว้สำหรับชนร่วมชาติของท่านและสำหรับนครบริสุทธิ์ของท่าน.” การแปลคล้าย ๆ กันมีในฉบับแปลของมอฟฟัตและฉบับแปลของรอเทอร์แฮม.
15. “เจ็ดสิบสัปดาห์” ถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงอะไรบ้าง และช่วงเวลานั้นเริ่มต้นเมื่อไร?
15 ตามที่ทูตสวรรค์กล่าว “เจ็ดสิบสัปดาห์” ถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ (1) “เจ็ดสัปดาห์” (2) “หกสิบสองสัปดาห์” และ (3) หนึ่งสัปดาห์. นั่นคือช่วงเวลา 49 ปี, 434 ปี, และ 7 ปี—รวมกันเป็น 490 ปี. น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับแก้ไขใหม่ อ่านว่า “เจ็ดสิบคูณเจ็ดปีถูกกำหนดไว้สำหรับชนร่วมชาติของท่านและนครบริสุทธิ์ของท่าน.” หลังจากการถูกเนรเทศและการทนทุกข์ในบาบูโลนเป็นเวลา 70 ปี ชาวยิวจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้านาน 490 ปี หรือ 70 ปีคูณด้วย 7. จุดเริ่มต้นก็คือ จะ “มีรับสั่งออกมาให้กู้กรุงยะรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่.” นี่เป็นตอนไหน?
“เจ็ดสิบสัปดาห์” เริ่มต้น
16. ดังที่แสดงในกฤษฎีกาของท่าน ไซรัสอนุญาตให้ชาวยิวกลับสู่มาตุภูมิของตนเพื่ออะไร?
16 มีเหตุการณ์ที่น่าสังเกตสามเหตุการณ์ซึ่งสมควรได้รับการพิจารณาเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นของ “เจ็ดสิบสัปดาห์.” เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในปี 537 ก.ส.ศ. เมื่อไซรัสออกกฤษฎีกาให้ชาวยิวกลับสู่มาตุภูมิ. กฤษฎีกานั้นบอกว่า “โฆเร็ศ [“ไซรัส,” ล.ม.] กษัตริย์ประเทศฟารัศประกาศดังนี้ว่า, พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์ทั้งหลายได้ทรงมอบแผ่นดินและประเทศทั้งปวงทั่วพิภพโลกให้ไว้แก่เรา; และพระองค์นั้นได้ทรงมอบให้เราสร้างโบสถ์วิหารโบสถ์หนึ่งสำหรับพระองค์ ณ กรุงยะรูซาเลม, ในแผ่นดินยะฮูดา. และท่ามกลางคนทั้งปวงมีผู้หนึ่งผู้ใดที่เป็นไพร่พลของพระองค์? ขอพระองค์จงทรงสถิตอยู่ด้วยผู้นั้น, และให้ผู้นั้นขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลม, ณ ประเทศยูดา, และทำการสร้างโบสถ์วิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, คือพระองค์ผู้ทรงพระนามปรากฏ ณ กรุงยะรูซาเลม. และฝ่ายคนทั้งปวงที่เหลืออยู่นั้น, เขาเคยตั้งอาศัยอยู่ที่บ้านไหน, เมืองไหน, ก็ให้คนที่บ้านนั้นเมืองนั้น, ช่วยเขาด้วยเงินและทอง, และเครื่องใช้สอย, และด้วยสัตว์ใช้ต่าง ๆ, นอกจากของที่ทุกคนได้จัดถวายสำหรับโบสถ์วิหารของพระองค์ที่กรุงยะรูซาเลมนั้น.” (เอษรา 1:2-4) เห็นได้ชัดว่า วัตถุประสงค์โดยเฉพาะของกฤษฎีกานี้คือเพื่อสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาบนที่ตั้งเดิม.
17. หนังสือที่ให้แก่เอษราบอกว่าท่านเดินทางสู่กรุงยะรูซาเลมเพื่ออะไร?
17 เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในปีที่เจ็ดแห่งการครองราชย์ของกษัตริย์อะระธาสัศธาชาวเปอร์เซีย (อาร์ทาเซอร์เซส ลอนกิมานุส บุตรของเซอร์เซสที่ 1). ในเวลานั้น เอษรา ผู้คัดลอกออกเดินทางเป็นเวลาสี่เดือนจากกรุงบาบูโลนถึงกรุงยะรูซาเลม. ท่านถือหนังสือพิเศษจากกษัตริย์ แต่หนังสือนั้นไม่ได้มอบอำนาจให้สร้างกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่. แต่เอษรามีอำนาจจำกัดอยู่แค่การ “บำรุงตกแต่งโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา.” นั่นคือสาเหตุที่หนังสือนี้กล่าวถึงทองคำและเงิน, ภาชนะศักดิ์สิทธิ์, และการบริจาคข้าวสาลี, เหล้าองุ่น, น้ำมัน, และเกลือ เพื่อสนับสนุนการนมัสการที่พระวิหาร, รวมทั้งการที่คนซึ่งรับใช้ที่นั่นได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บภาษี.—เอษรา 7:6-27.
18. ข่าวอะไรทำให้นะเฮมยาเป็นทุกข์ และกษัตริย์อะระธาสัศธารู้เรื่องนี้อย่างไร?
18 เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นอีก 13 ปีต่อมา ในปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของกษัตริย์อะระธาสัศธาชาวเปอร์เซีย. ตอนนั้น นะเฮมยาเป็นพนักงานเชิญจอกเสวยใน “พระราชวัง ณ กรุงซูซัร.” กรุงยะรูซาเลมถูกสร้างขึ้นใหม่บางส่วนแล้วโดยคนที่เหลืออยู่ที่ได้กลับไปจากกรุงบาบูโลน. แต่สภาพการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยดีนัก. นะเฮมยาได้มารู้ว่า “กำแพงที่กรุงยะรูซาเลมก็หักพัง, และประตูทั้งปวงไฟก็ไหม้เสียหมดแล้ว.” เรื่องนี้ทำให้ท่านเป็นทุกข์มาก และหัวใจของท่านก็เศร้าหมอง. เมื่อถามนะเฮมยาว่าท่านเศร้าด้วยเรื่องอะไร ท่านตอบว่า “ขอให้กษัตริย์ทรงมีพระชนมายุเจริญยืนนานเถิด: แต่เห็นว่าสมควรที่ข้าพเจ้าจะมีหน้าโศกเศร้า, เมื่อเมืองอันเป็นที่สถานสำหรับฝังศพแห่งเชื้อวงศ์บิดาของข้าพเจ้านั้นเป็นเมืองร้าง, และประตูทั้งปวงนั้นไฟก็ไหม้เสียหมดแล้ว?”—นะเฮมยา 1:1-3; 2:1-3.
19. (ก) เมื่อถูกกษัตริย์อะระธาสัศธาถาม นะเฮมยาทำอะไรก่อน? (ข) นะเฮมยาขออะไร และท่านยอมรับบทบาทของพระเจ้าในเรื่องนี้อย่างไร?
19 บันทึกเกี่ยวกับนะเฮมยาดำเนินต่อไปดังนี้: “กษัตริย์จึงตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า, ‘เจ้าปรารถนาจะขอสิ่งใดบ้าง?’ ข้าพเจ้าจึงได้อธิษฐานทูลขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์ให้ทรงพระกรุณาโปรด. ข้าพเจ้าจึงได้กราบทูลแก่กษัตริย์ว่า, ‘ถ้าข้าพเจ้ามีความชอบต่อพระพักตร์, และเป็นที่พอพระทัยของพระองค์แล้ว, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ากลับไปยังแผ่นดินยูดา, ถึงเมืองที่ฝังศพแห่งเชื้อวงศ์บิดาของข้าพเจ้า, และให้ข้าพเจ้าสร้างเมืองนั้นขึ้นใหม่.’” อะระธาสัศธาเห็นชอบตามคำขอนี้ กษัตริย์ยังอนุญาตตามคำขออื่นของนะเฮมยาอีกที่ว่า “ถ้าทรงเห็นชอบแล้ว, ขอทรงโปรดมีพระราชสาส์นไปยังเจ้าเมืองทั้งปวงที่ฝั่งข้างโน้น, ให้ช่วยส่งข้าพเจ้าไปจนถึงแผ่นดินยูดา; และขอโปรดมีพระราชสาส์นไปยังท่านอาซาพนักงานป่าไม้หลวง, ให้ถากไม้เป็นสี่เหลี่ยมส่งมาให้ข้าพเจ้าทำประตูทั้งปวงในพระราชวังที่อยู่ใกล้โบสถ์วิหารนั้น, และสำหรับใช้ในการก่อกำแพงเมือง, และทำเรือนเป็นที่อาศัยของข้าพเจ้า.” นะเฮมยายอมรับบทบาทของพระยะโฮวาในเรื่องทั้งหมดนี้โดยกล่าวว่า “กษัตริย์ได้ทรงอนุญาตทุกประการด้วยว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าอันทรงฤทธิ์ได้ทรงสถิตอยู่กับข้าพเจ้า.”—นะเฮมยา 2:4-8.
20. (ก) รับสั่งที่ “ให้กู้กรุงยะรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่” มีผลเมื่อไร? (ข) “เจ็ดสิบสัปดาห์” เริ่มต้นเมื่อไร และจบลงเมื่อไร? (ค) มีหลักฐานอะไรที่ชี้ถึงความถูกต้องแม่นยำของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของ “เจ็ดสิบสัปดาห์”?
20 ถึงแม้มีรับสั่งออกมาในเดือนไนซาน ช่วงต้นปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของอะระธาสัศธา แต่ ‘รับสั่งให้กู้กรุงยะรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่’ จริง ๆ นั้น มีผลหลายเดือนหลังจากนั้น. สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อนะเฮมยามาถึงกรุงยะรูซาเลมและเริ่มงานฟื้นฟู. การเดินทางของเอษราใช้เวลานานสี่เดือน แต่กรุงซูซัรอยู่ไปทางตะวันออกของกรุงบาบูโลนกว่า 322 กิโลเมตรและจึงยิ่งไกลจากกรุงยะรูซาเลม. ดังนั้น เป็นไปได้มากที่นะเฮมยาจะถึงกรุงยะรูซาเลมใกล้สิ้นปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของอะระธาสัศธา หรือในปี 455 ก.ส.ศ. ในตอนนั้นเองที่ช่วงเวลา “เจ็ดสิบสัปดาห์” หรือ 490 ปีซึ่งบอกล่วงหน้าไว้ได้เริ่มต้น. ช่วงเวลานี้จบลงตอนปลายปี ส.ศ. 36.—ดู “การครองราชย์ของอะระธาสัศธาเริ่มขึ้นเมื่อไร?” ในหน้า 197.
“มาซีฮาผู้นำนั้น” ปรากฏตัว
21. (ก) มีอะไรที่จะต้องเกิดขึ้นใน “เจ็ดสัปดาห์” แรก และถึงแม้ว่ามีสภาพการณ์เช่นไร? (ข) พระมาซีฮาต้องมาปรากฏในปีไหน และกิตติคุณของลูกาบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นตอนนั้น?
21 กี่ปีผ่านไปก่อนที่กรุงยะรูซาเลมถูกสร้างขึ้นใหม่จริง ๆ? การฟื้นฟูกรุงนี้จะเสร็จใน “ยามทุกข์ลำเค็ญ” เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ท่ามกลางชาวยิวเองและการต่อต้านจากชาวซะมาเรียและชาติอื่น ๆ. งานนี้ดูเหมือนว่าสำเร็จถึงระดับที่จำเป็นเมื่อถึงปี 406 ก.ส.ศ. ภายใน “เจ็ดสัปดาห์” หรือ 49 ปี. (ดานิเอล 9:25) ช่วงเวลา 62 สัปดาห์ หรือ 434 ปีจะตามมา. หลังจากช่วงเวลาที่ยาวนานนี้ พระมาซีฮาซึ่งทรงสัญญาไว้นานมาแล้วจะปรากฏตัว. นับจากปี 455 ก.ส.ศ. มา 483 ปี (49 บวกกับ 434) ก็จะตกในปี ส.ศ. 29. เกิดอะไรขึ้นตอนนั้น? ลูกา ท่านผู้บันทึกกิตติคุณบอกเราว่า “เมื่อปีที่สิบห้าในรัชกาลติเบเรียวกายะซา, ปนเตียวปีลาตเป็นเจ้าเมืองยูดาย, เฮโรดเป็นเจ้าเมืองฆาลิลาย, . . . คราวนั้นคำของพระเจ้ามาถึงโยฮันบุตรซะคาเรียในป่า. แล้วโยฮันจึงไปทั่วแว่นแคว้นฝั่งแม่น้ำยาระเดน ประกาศเรื่องบัพติศมาเป็นที่ให้คนกลับใจเสียใหม่เพื่อบาปโทษจะยกเสียได้.” ในเวลานั้น “คนทั้งหลายกำลังมุ่งคอย” พระมาซีฮา.—ลูกา 3:1-3, 15.
22. เมื่อไรและโดยวิธีใดที่พระเยซูกลายมาเป็นพระมาซีฮาที่ทรงสัญญาไว้?
22 โยฮันไม่ใช่พระมาซีฮาตามคำสัญญา. แต่ท่านกล่าวเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเห็นเป็นพยาน ณ การบัพติสมาของเยซูชาวนาซาเร็ธ ในฤดูใบไม้ร่วงปี ส.ศ. 29 ว่า “เราได้เห็นพระวิญญาณเสด็จจากฟ้าดั่งนกพิราบสถิตอยู่บนพระองค์. เราเองหาได้รู้จักพระองค์ไม่, แต่พระองค์ผู้ได้ทรงใช้เรามาให้บัพติศมาด้วยน้ำ, พระองค์นั้นตรัสแก่เราว่า, ‘เมื่อเห็นพระวิญญาณเสด็จมาสถิตอยู่บนผู้ใด. ผู้นั้นแหละเป็นผู้ที่จะให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.’ เราได้เห็น, จึงเป็นพยานว่าพระองค์นั้นแหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” (โยฮัน 1:32-34) ตอนที่พระเยซูรับบัพติสมา พระองค์ทรงกลายเป็นผู้ถูกเจิม—พระมาซีฮา หรือพระคริสต์. ไม่นานหลังจากนั้น อันดะเรอา สาวกของโยฮันได้พบพระเยซูคริสต์ซึ่งถูกเจิมแล้ว และเขาบอกซีโมน เปโตรว่า “เราพบมาซีฮาแล้ว.” (โยฮัน 1:41) ด้วยเหตุนี้ “มาซีฮาผู้นำนั้น” ปรากฏตัวตรงตามเวลาพอดี—คือตอนจบของ 69 สัปดาห์!
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสัปดาห์สุดท้าย
23. ทำไม “มาซีฮาผู้นำนั้น” ต้องสิ้นพระชนม์ และเมื่อไร?
23 จะเกิดอะไรขึ้นในสัปดาห์ที่ 70? ฆับรีเอลกล่าวว่า ช่วงเวลา “เจ็ดสิบสัปดาห์” ถูกกำหนดไว้ “เพื่อทำให้การล่วงละเมิดสิ้นสุดลง และยุติบาป และเพื่อไถ่ความผิด และเพื่อนำความชอบธรรมเข้ามาเป็นเวลาไม่กำหนด และเพื่อลงตราประทับนิมิตและผู้พยากรณ์ และเพื่อเจิมสถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง.” เพื่อสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จ “มาซีฮาผู้นำนั้น” จะต้องเสียชีวิต. เมื่อไร? ฆับรีเอลกล่าวว่า “หลังจากหกสิบสองสัปดาห์แล้ว มาซีฮาจะถูกตัดขาด โดยไม่มีอะไรสำหรับพระองค์เอง. . . . และพระองค์จะยังรักษาคำสัญญาไมตรีสำหรับคนเป็นอันมากเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์; และพอถึงกึ่งสัปดาห์ พระองค์จะทำให้การถวายเครื่องบูชาและการถวายของหยุดไป.” (ดานิเอล 9:26ก, 27ก, ล.ม.) เวลาวิกฤติคือตอน “กึ่งสัปดาห์” นั่นคือตอนกลางของสัปดาห์สุดท้ายแห่งปี.
24, 25. (ก) ตามคำพยากรณ์ พระคริสต์สิ้นพระชนม์เมื่อไร และความตายและการเป็นขึ้นจากตายของพระองค์ทำให้อะไรยุติลง? (ข) ความตายของพระเยซูทำให้อะไรเป็นไปได้?
24 งานรับใช้ของพระเยซูคริสต์ต่อสาธารณะเริ่มขึ้นในช่วงหลังของปี ส.ศ. 29 และนานสามปีครึ่ง. ดังที่พยากรณ์ไว้ ช่วงต้นปี ส.ศ. 33 พระคริสต์ถูก “ตัดขาด” ตอนที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน ทรงมอบชีวิตมนุษย์ของพระองค์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติ. (ยะซายา 53:8; มัดธาย 20:28) ไม่มีความจำเป็นที่ต้องถวายเครื่องบูชาสัตว์และถวายของตามที่พระบัญญัติกำหนดไว้อีกต่อไปเมื่อพระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ได้ทรงเสนอคุณค่าแห่งเครื่องบูชาชีวิตมนุษย์ของพระองค์แด่พระเจ้าในสวรรค์. ถึงแม้ว่าปุโรหิตชาวยิวยังถวายเครื่องบูชาต่อไปจนกระทั่งพระวิหารของกรุงยะรูซาเลมถูกทำลายในปี ส.ศ. 70 พระเจ้าก็ไม่รับเครื่องบูชาเหล่านั้นอีกต่อไป. สิ่งเหล่านั้นถูกแทนที่โดยเครื่องบูชาที่ประเสริฐกว่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องถวายซ้ำอีกเลย. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “[พระคริสต์] ทรงกระทำบูชาเพราะความบาปเพียงหนเดียวซึ่งใช้ได้เป็นนิตย์ . . . เพราะว่าโดยการทรงถวายบูชาหนเดียว พระองค์ได้ทรงกระทำให้คนทั้งหลายที่ถูกชำระแล้วถึงที่สำเร็จเป็นนิตย์.”—เฮ็บราย 10:12, 14.
25 ถึงแม้ว่าความบาปและความตายยังคงทำให้มนุษยชาติเป็นทุกข์เดือดร้อน การที่พระเยซูทรงถูกตัดขาดในความตายและการที่พระองค์เป็นขึ้นมาสู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์ได้ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริง. นั่น “ทำให้การล่วงละเมิดสิ้นสุดลง และยุติบาป และเพื่อไถ่ความผิด และเพื่อนำความชอบธรรมเข้ามา.” พระเจ้าได้ทรงเพิกถอนคำสัญญาไมตรี ซึ่งเปิดเผยและประณามชาวยิวว่าเป็นคนบาป. (โรม 5:12, 19, 20; ฆะลาเตีย 3:13, 19; เอเฟโซ 2:15; โกโลซาย 2:13, 14) ตอนนี้บาปของผู้ทำผิดที่กลับใจแล้วจะถูกยกเลิกไป และโทษของบาปนั้นจะได้รับการยกเว้น. โดยอาศัยเครื่องบูชาระงับพระพิโรธของพระมาซีฮา เป็นไปได้ที่ผู้ที่แสดงความเชื่อจะกลับคืนดีกับพระเจ้า. พวกเขาสามารถคอยท่าที่จะได้รับ “ชีวิตนิรันดรโดยพระคริสต์เยซู.”—โรม 3:21-26; 6:22, 23, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:1, 2.
26. (ก) ถึงแม้ว่าคำสัญญาไมตรีตามพระบัญญัติถูกเพิกถอนแล้ว คำสัญญาไมตรีอะไรยังได้รับการ “รักษา . . . เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์”? (ข) เกิดอะไรขึ้นในตอนจบของสัปดาห์ที่ 70?
26 ดังนั้น พระยะโฮวาทรงเพิกถอนคำสัญญาไมตรีตามพระบัญญัติโดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ในปี ส.ศ. 33. แต่จะกล่าวว่าพระมาซีฮา “จะยังรักษาคำสัญญาไมตรีสำหรับคนเป็นอันมากเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์” ได้อย่างไร? เนื่องจากว่าพระองค์ทรงรักษาคำสัญญาไมตรีกับอับราฮาม. พระเจ้าได้ทรงยืดพระพรของคำสัญญาไมตรีนี้ให้แก่ลูกหลานชาวฮีบรูของอับราฮามจนกระทั่งสัปดาห์ที่ 70 จบลง. แต่เมื่อ “เจ็ดสิบสัปดาห์” แห่งปีจบลงในปี ส.ศ. 36 อัครสาวกเปโตรได้ประกาศแก่โกระเนเลียว ชาวอิตาลีผู้เลื่อมใส รวมทั้งครอบครัวของท่านและคนต่างชาติคนอื่น ๆ. และจากวันนั้นเป็นต้นมา ได้เริ่มมีการประกาศข่าวดีในหมู่ผู้คนแห่งชาติต่าง ๆ.—กิจการ 3:25, 26; 10:1-48; ฆะลาเตีย 3:8, 9, 14.
27. “สถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง” อะไรที่ถูกเจิม และโดยวิธีใด?
27 คำพยากรณ์ยังได้บอกล่วงหน้าถึงการเจิม “สถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง.” นี่ไม่ได้กล่าวถึงการเจิมห้องบริสุทธิ์ที่สุด หรือห้องชั้นในสุดของพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม. ถ้อยคำที่ว่า “สถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง” ในที่นี่กล่าวถึงสถานบริสุทธิ์บนสวรรค์ของพระเจ้า. ที่นั่น พระเยซูทรงเสนอคุณค่าของเครื่องบูชาที่เป็นชีวิตมนุษย์ของพระองค์ให้แก่พระบิดาของพระองค์. การรับบัพติสมาของพระเยซูในปี ส.ศ. 29 เป็นการเจิม หรือแยกสิ่งที่มีจริงฝ่ายวิญญาณทางภาคสวรรค์ไว้ต่างหาก ซึ่งเคยมีห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพลับพลาและในเวลาต่อมาของพระวิหารทางแผ่นดินโลกเป็นสัญลักษณ์.—เฮ็บราย 9:11, 12.
คำพยากรณ์ได้รับการยืนยันจากพระเจ้า
28. การ “ลงตราประทับนิมิตและผู้พยากรณ์” หมายถึงอะไร?
28 คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮาที่ทูตสวรรค์ฆับรีเอลประกาศนั้น ยังพูดถึงการ “ลงตราประทับนิมิตและผู้พยากรณ์.” นี่หมายความว่า ทุกสิ่งที่บอกล่วงหน้าเกี่ยวกับพระมาซีฮา—ทุกอย่างที่พระองค์ทำให้สำเร็จโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระองค์, การคืนพระชนม์, และการปรากฏในสวรรค์ รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 70—จะถูกลงตราประทับที่แสดงว่าได้รับการเห็นชอบจากพระเจ้า, จะปรากฏว่าจริงแท้, และไว้วางใจได้. นิมิตนี้จะได้รับการประทับตรา สงวนไว้สำหรับพระมาซีฮาเท่านั้น. ความสำเร็จเป็นจริงจะเกิดขึ้นกับพระองค์และกับพระราชกิจของพระเจ้าโดยทางพระองค์. เราจะได้รับการตีความที่ถูกต้องของนิมิตนี้เกี่ยวข้องกับพระมาซีฮาที่บอกล่วงหน้าไว้เท่านั้น. ไม่มีอะไรอื่นที่จะเปิดเผยความหมายของนิมิตนี้ได้.
29. จะต้องเกิดอะไรขึ้นกับกรุงยะรูซาเลมที่สร้างขึ้นใหม่ และเพราะเหตุใด?
29 ฆับรีเอลได้พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่ากรุงยะรูซาเลมจะได้รับการสร้างขึ้นใหม่. ตอนนี้ ท่านบอกล่วงหน้าถึงการทำลายกรุงที่ถูกสร้างขึ้นใหม่และพระวิหารของกรุงนั้นไว้ว่า “นครและสถานบริสุทธิ์ ประชากรของผู้นำที่จะมาจะทำลายเสีย. และที่สุดปลายนั้นจะเกิดขึ้นโดยน้ำท่วม. และจนกระทั่งที่สุดปลายจะมีสงคราม; สิ่งที่กำหนดไว้คือการล้างผลาญจนสิ้นเชิง. . . . และบนปีกของสิ่งอันน่าสะอิดสะเอียนก็จะมีผู้ซึ่งทำให้ร้างเปล่า; และจนกระทั่งถึงการทำลายล้าง สิ่งซึ่งถูกตัดสินจะเทลงมาบนที่ร้างเปล่าอยู่ด้วย.” (ดานิเอล 9:26ข, 27ข, ล.ม.) ถึงแม้ว่าการทำให้ร้างเปล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจาก “เจ็ดสิบสัปดาห์” การร้างเปล่านี้จะเป็นผลโดยตรงจากสิ่งที่เกิดขึ้นใน “สัปดาห์” สุดท้าย เมื่อชาวยิวปฏิเสธพระคริสต์และทำให้พระองค์ถูกประหาร.—มัดธาย 23:37, 38.
30. ดังที่มีในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ประกาศิตของผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
30 บันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงว่าในปี ส.ศ. 66 กองทหารโรมันที่นำโดยผู้ว่าราชการแห่งซีเรีย เซสติอุส กัลลุส ได้ล้อมกรุงยะรูซาเลม. ทั้ง ๆ ที่ชาวยิวต่อต้าน กองกำลังโรมันที่ติดธงสัญลักษณ์อันเป็นเช่นรูปเคารพ ได้บุกเข้าเมืองและเริ่มขุดอุโมงค์ใต้กำแพงพระวิหารด้านเหนือ. การปรากฏของสิ่งเหล่านั้นทำให้นั่นเป็น “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ซึ่งอาจทำให้ร้างเปล่า. (มัดธาย 24:15, 16) ในปี ส.ศ. 70 พวกโรมันที่นำโดยแม่ทัพทิทุส มาเหมือนกับ “น้ำท่วม” และได้ทำให้กรุงและพระวิหารในกรุงนั้นร้างเปล่า. ไม่มีอะไรหยุดพวกเขาได้ เพราะนี่เป็นประกาศิต—หรือ “กำหนดไว้”—โดยพระเจ้า. พระยะโฮวา ผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่ได้ทรงทำให้พระคำของพระองค์สำเร็จเป็นจริงอีกครั้งหนึ่ง!
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• เมื่อการร้างเปล่า 70 ปีของกรุงยะรูซาเลมใกล้จะจบลง ดานิเอลวิงวอนเรื่องอะไรต่อพระยะโฮวา?
• “เจ็ดสิบสัปดาห์” ยาวนานเท่าไร และเริ่มต้นและจบลงเมื่อไร?
• “มาซีฮาผู้นำนั้น” ปรากฏเมื่อไร และในเวลาวิกฤติไหนที่พระองค์ถูก “ตัดขาด”?
• คำสัญญาไมตรีอะไรที่ได้รับการ “รักษา . . . สำหรับคนเป็นอันมากเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์”?
• เกิดอะไรขึ้นภายหลัง “เจ็ดสิบสัปดาห์”?
[กรอบ/ภาพหน้า 197]
การครองราชย์ของอะระธาสัศธาเริ่มขึ้นเมื่อไร?
พวกนักประวัติศาสตร์ขัดแย้งกันเกี่ยวกับปีที่กษัตริย์อาระธาสัศธาแห่งเปอร์เซียเริ่มครองราชย์. บางคนระบุว่า ท่านเริ่มเป็นกษัตริย์ในปี 465 ก.ส.ศ. เพราะว่าเซอร์เซส บิดาของท่านได้เริ่มครองราชย์ในปี 486 ก.ส.ศ. และสิ้นชีวิตในปีที่ 21 แห่งการครองราชย์ของท่าน. แต่มีหลักฐานว่า อะระธาสัศธาขึ้นครองราชย์ในปี 475 ก.ส.ศ. และเริ่มปีแรกแห่งการครอบครองในปี 474 ก.ส.ศ.
คำจารึกและรูปจำลองที่ขุดพบในกรุงเพอร์เซโพลิส เมืองหลวงของเปอร์เซียโบราณบ่งชี้ถึงการครองราชย์ร่วมกันระหว่างเซอร์เซสและบิดาของท่าน คือดาระยาศที่ 1. หากการครองราชย์ร่วมกันนี้นาน 10 ปีและเซอร์เซสปกครองคนเดียวอีก 11 ปีหลังจากดาระยาศสิ้นชีวิตในปี 486 ก.ส.ศ. ปีที่หนึ่งแห่งการครองราชย์ของอะระธาสัศธาก็จะตกในปี 474 ก.ส.ศ.
หลักฐานแนวที่สองเกี่ยวข้องกับแม่ทัพเทอมิสโทคลีสชาวเอเธนส์ ผู้ปราบกองกำลังของเซอร์เซสในปี 480 ก.ส.ศ. ต่อมาเขาเป็นที่เกลียดชังของชาวกรีกและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ. เทอมิสโทคลีสหนีไปและขอการคุ้มครองจากราชสำนักเปอร์เซีย ซึ่งก็รับเขาไว้อย่างดี. ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ทูซีดีดิส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่ออะระธาสัศธา “รับราชบัลลังก์ได้ไม่นาน.” นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ดิโอโดรุส ซิคูลุส ระบุว่า เทอมิสโทคลีสเสียชีวิตในปี 471 ก.ส.ศ. เนื่องจากเทอมิสโทคลีสขอเวลาหนึ่งปีเพื่อเรียนภาษาเปอร์เซียก่อนจะเข้าเฝ้ากษัตริย์อะระธาสัศธา เขาจึงต้องมาถึงเอเชียน้อยไม่ช้ากว่าปี 473 ก.ส.ศ. บันทึกเหตุการณ์ของยูเซบิอุส ของเจโรมสนับสนุนปีนี้. เนื่องจากอะระธาสัศธา “รับราชบัลลังก์ได้ไม่นาน” ตอนที่เทอมิสโทคลีสมาถึงเอเชียในปี 473 ก.ส.ศ. เอินสต์ เฮงสเทนเบิร์ก ผู้คงแก่เรียนชาวเยอรมันกล่าวในหนังสือวิชาคริสต์ศาสนาของพระคัมภีร์พันธะสัญญาเก่า (ภาษาอังกฤษ) ว่า การครองราชย์ของอะระธาสัศธาเริ่มในปี 474 ก.ส.ศ. เหมือนกับแหล่งอื่น ๆ. เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ปีที่ยี่สิบแห่งการครองราชย์ของอะระธาสัศธาคือปี 455 ก่อนคริสต์ศักราช.”
[ภาพ]
รูปจำลองของเทอมิสโทคลีส
[แผนผัง/ภาพหน้า 188, 189]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
“เจ็ดสิบสัปดาห์”
455 ก.ส.ศ. 406 ก.ส.ศ. 29 ส.ศ. 33 ส.ศ. 36 ส.ศ.
“รับสั่ง . . . กรุงยะรูซาเลม พระมาซีฮา พระมาซีฮา จุดสิ้นสุดของ
ให้กู้กรุงยะรูซาเลม” ถูกสร้างขึ้นใหม่ ปรากฏ ถูกตัดขาด “เจ็ดสิบสัปดาห์”
7 สัปดาห์ 62 สัปดาห์ 1 สัปดาห์
49 ปี 434 ปี 7 ปี
[ภาพเต็มหน้า 180]
[ภาพเต็มหน้า 193]