การหยั่งรู้เข้าใจเหตุผลที่พระมาซีฮาจะต้องมา
“เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว.”—โยฮัน 1:41, ล.ม.
1. คำประกาศอะไรที่ชวนให้ตื่นเต้นถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล และได้แถลงเมื่อไร?
คนยิวชื่ออันดะเรอาได้ประกาศข่าวน่าตื่นเต้นดังข้อความข้างบนนี้แก่พี่ชายของเขาเมื่อกว่า 1,950 ปีมาแล้ว. คุณจับความตื่นเต้นที่แฝงอยู่ในคำพูดของเขาได้ไหม ตามการบันทึกของคริสเตียนอัครสาวกโยฮัน? ลูกา คริสเตียนนักประวัติศาตร์ได้ระบุปีซึ่งไม่อาจจะลืมเลือนเสียได้นั้นว่า เป็น “ปีที่สิบห้าในรัชกาลของติเบเรียวกายะซา.” ปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลติเบเรียว ตั้งแต่ที่ได้มีการประกาศตั้งเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน เริ่มเดือนกันยายนปีสากลศักราช 28 และสิ้นสุดในเดือนกันยายนปีสากลศักราช 29.—ลูกา 3:1-3, 21, 22; โยฮัน 1:32-35, 41.
2. คำพยากรณ์ของดานิเอลได้เพ่งเล็งปีสากลศักราช 29 โดยวิธีใด?
2 ปีที่มาซีฮาปรากฏตัวก็ได้มีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างถูกต้อง. ระยะเวลาผ่านไปนานถึง 483 ปีพอดี นับตั้งแต่กษัตริย์อาระธาสัทธาแห่งเปอร์เซียมีราชโองการให้สร้างกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่ในปีที่ 20 แห่งรัชกาลของท่านอันได้แก่ปี 455 ก่อนสากลศักราช.a (นะเฮมยา 2:1-8) ผู้พยากรณ์ดานิเอลบอกล่วงหน้าดังนี้: “ตั้งแต่มีรับสั่งออกมาให้กู้กรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่จนกระทั่งถึงมาซีฮาผู้นำนั้นจะเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ และหกสิบสองสัปดาห์.” (ดานิเอล 9:25, ล.ม.) ดังนั้น ระยะเวลา 7+62 = 69 สัปดาห์เชิงพยากรณ์จะแยกเหตุการณ์สำคัญสองอย่าง. หกสิบเก้าสัปดาห์ตามตัวอักษรเท่ากับ 483 วัน. ตามกฎที่ใช้ในเชิงพยากรณ์คือ “วันละปี” มาซีฮาจะปรากฏตัวในเวลาต่อมาอีก 483 ปี ตกในปีสากลศักราช 29.—ยะเอศเคล 4:6.
3. (ก) คำ “มาซีฮา” มีความหมายว่าอะไร? (ข) พระมาซีฮาต้องทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ข้อใดบ้าง?
3 โดยเหตุผลอันควร ในปีสากลศักราช 29 “คนทั้งหลายกำลังมุ่งคอย” มาซีฮา. (ลูกา 3:1, 15) ตำแหน่ง “มาซีฮา” มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำ “คริสต์” ในภาษากรีก ทั้งสองคำหมายถึง “ผู้ถูกเจิม.” (โยฮัน 1:41) คำถามที่รุมเร้าอยู่ในใจชาวยิวหลายคนคือ ‘พระเจ้ายะโฮวาจะเจิม ผู้ใดเป็นกษัตริย์ปกครองไม่เฉพาะชาวยิว แต่มนุษยชาติทั้งสิ้น?’ โดยทางคำพยากรณ์ ทางเลือกนั้นแคบลงถึงลูกหลานของยูดา ซึ่งเป็นเหลนของอับราฮาม. ยิ่งกว่านั้น มาซีฮาต้องเป็นรัชทายาทสืบเชื้อวงศ์มาแต่กษัตริย์ดาวิดแห่งตระกูลยูดา และต้องได้มาบังเกิดที่เมืองเบ็ธเลเฮ็ม บ้านเกิดของดาวิดด้วย.—เยเนซิศ 17:5, 6; 49:10; บทเพลงสรรเสริญ 132:11; ดานิเอล 7:13, 14; มีคา 5:2; โยฮัน 7:42.
การระบุตัวอย่างไม่ผิดพลาด
4, 5. (ก) เกิดอะไรขึ้นในปีสากลศักราช 29 ซึ่งเป็นปีสำคัญ? (ข) มีการระบุท่านผู้นั้นซึ่งสรรไว้เป็นมาซีฮาโดยวิธีใดโดยไม่มีข้อสงสัยเลย?
4 ณ ปีสากลศักราช 29 ซึ่งเป็นปีที่สำคัญยิ่งนั้นได้เกิดเหตุการณ์นี้: “คราวนั้นคำของพระเจ้ามาถึงโยฮันบุตรซะคาเรียในป่า. แล้วโยฮันจึงไปทั่วแว่นแคว้นฝั่งแม่น้ำยาระเดน ประกาศเรื่องบัพติสมาเป็นที่ให้คนกลับใจเสียใหม่ เพื่อบาปโทษจะยกเสียได้.” (ลูกา 3:2, 3) งานประกาศของโยฮันได้เตรียมชาวยิวที่สำนึกผิดแล้วกลับใจให้รับรองพระมาซีฮาซึ่งจวนเสด็จมาอยู่ทีเดียว. ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่โยฮัน. ท่านต้องคอยหาผู้นั้นซึ่ง ‘พระวิญญาณจะเสด็จลงมาสถิตอยู่ด้วย.’—โยฮัน 1:33.
5 ภายหลังการให้บัพติสมาพระเยซูแห่งเมืองนาซาเร็ธ โยฮันได้เห็นการเจิมโดยไม่มีข้อสงสัย. พระเยซูหาได้รับการเจิมด้วยน้ำมันอย่างที่ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์เคยถูกเจิมนั้นไม่ แต่ทรงรับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้ายะโฮวา. (1 ซามูเอล 16:13; กิจการ 10:38) ขณะเดียวกัน สุรเสียงของพระเจ้าก็ตรัสว่า “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.” (มัดธาย 3:16, 17) ต่อมา โยฮันได้กล่าวเป็นพยานว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นพระวิญญาณดังนกพิราบเสด็จลงมาจากสวรรค์ และสถิตอยู่บนพระองค์. ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว และได้เป็นพยานว่าผู้นี้แหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า.”—โยฮัน 1:32, 34. ล.ม.
6. อันดะเรอากับโยฮันได้วางตัวอย่างที่ดีอะไรไว้สำหรับพวกเรา?
6 พร้อมด้วยคำพูดเช่นนั้น โยฮันผู้ให้บัพติสมาตั้งใจแนะนำศิษย์ของท่านต่อพระเยซู ทั้งได้เรียกพระองค์ว่า “พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับความผิดบาปของโลกไป.” (โยฮัน 1:29, ล.ม.) ศิษย์สองคนตอบรับโดยเร็ว. หลังจากได้อยู่ร่วมกับพระเยซูหนึ่งวัน คนทั้งสองก็เชื่อมั่นเต็มที่. คนหนึ่งชื่ออันดะเรอาผู้ซึ่งเร่งรีบตามหาพี่ชายของตนคือซีโมนเปโตร. อีกคนหนึ่งเข้าใจว่าคงเป็นโยฮันบุตรเซเบดาย ซึ่งต่อมาได้เป็นอัครสาวกที่พระเยซูทรงรักมาก. หลังจากให้การเป็นพยานเกี่ยวกับมาซีฮานานเกือบเจ็ดสิบปี โยฮันผู้นี้ถูกกระตุ้นให้เขียนสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้นเพื่อประโยชน์ของพวกเรา. คุณซาบซึ้งตรึงใจกับตัวอย่างของท่านและตัวอย่างของอันดะเรอาไหม? คุณกระตือรือร้นเหมือนท่านทั้งสองและ ‘อัครสาวกคนอื่น ๆ ของพระเมษโปดก’ ไหมที่จะประกาศสัจธรรมเกี่ยวด้วยมาซีฮาอันก่อความปีติยินดี?—วิวรณ์ 1:9; 21:14; โยฮัน 1:35-41; กิจการ 5:40-42.
ถูกเจิมเป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิต
7. เหตุใดพระเยซูจะปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตในวิหารที่กรุงยะรูซาเลมไม่ได้?
7 เนื่องจากพระเยซูเกิดเป็นเชื้อสายยิวพระองค์ “บังเกิดใต้พระบัญญัติ.” (ฆะลาเตีย 4:4) เหตุฉะนั้น การเป็นคนตระกูลยูดา พระองค์จะปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตในพระวิหารของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกนี้ไม่ได้ มีแต่ปุโรหิตสืบจากอาโรนแห่งตระกูลเลวีเท่านั้นจะทำได้. อัครสาวกเปาโลเตือนใจเพื่อนคริสเตียนทั้งหลายดังนี้: “องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงสืบมาจากตระกูลยะฮูดา โมเซไม่ได้ว่าจะมีปุโรหิตมาจากตระกูลนั้นเลย.”—เฮ็บราย 7:14.
8. วิหารของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลกเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด?
8 อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่คนทุกชนิดนั้นจวนจะเข้ามาในโลกแล้ว.” (โยฮัน 1:6-9, ล.ม.) เมื่อพระเยซูได้รับบัพติสมา นั้นเป็นประหนึ่งว่าเกิดมีมหาวิหารฝ่ายวิญญาณขึ้นแล้ว ขณะนั้นทีเดียว ก็มีมหาปุโรหิตฝ่ายวิญญาณผู้ซึ่งทรงช่วยมนุษย์หลุดพ้นจากการเป็นทาสต่อความมืดฝ่ายวิญญาณในโลกของซาตานได้.—เฮ็บราย 8:1-5; 9:24.
9, 10. (ก) คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เครื่องบูชาและของบรรณาการพระองค์ไม่ทรงประสงค์” และ “พระองค์ทรงจัดเตรียมกายประทานแก่ข้าพเจ้า” นั้นมีความหมายอย่างไร? (ข) พระเยซูทรงแสดงความรู้สึกส่วนพระองค์เองอย่างไรในเรื่องนี้?
9 พระเยซูทรงอธิษฐานในคราวที่รับบัพติสมา. พระคัมภีร์มีบันทึกถ้อยคำสำคัญบางตอนที่พระองค์ได้ตรัส และในเวลาต่อมาอัครสาวกเปาโลยกขึ้นมากล่าว ดังนี้: “‘เครื่องบูชาและของบรรณาการพระองค์ไม่ทรงประสงค์ แต่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมกายประทานแก่ข้าพเจ้า. เครื่องบูชาเพลิงและบูชาแก้บาปพระองค์หาชอบพระทัยไม่.’ ขณะนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้ามาเพื่อจะให้น้ำพระทัยของพระองค์สำเร็จ ตามคัมภีร์ที่เขียนไว้กล่าวถึงข้าพเจ้าแล้วนั้น.’”—เฮ็บราย 10:5-7; ลูกา 3:21.
10 ดังนั้น พระเยซูเองได้ทรงกระทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ที่บทเพลงสรรเสริญ 40:6-8 ซึ่งที่นั่นแจ้งไว้ล่วงหน้าถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะระงับการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาซึ่งกระทำโดยปุโรหิตที่เป็นเชื้อสายของอาโรน ณ พระวิหารกรุงยะรูซาเลม. พระยะโฮวามิได้ “ชอบพระทัย” ในของถวายเหล่านั้นเนื่องด้วยเป็นเพียงสัญลักษณ์และไม่สามารถจะไถ่ถอนบาปของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน. ดังนั้น พระยะโฮวาทรงตระเตรียมกายมนุษย์สมบูรณ์ไว้เพื่อพระเยซูจะใช้เป็นเครื่องบูชา. พระเจ้าได้ย้ายชีวิตพระบุตรทางภาคสวรรค์เข้าไว้ในครรภ์ของหญิงสาวพรหมจารีชาวยิว. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงกำเนิดโดยไม่ติดเชื้อบาปของอาดาม. พระองค์เป็นมนุษย์สมบูรณ์ฐานะบุตรของพระเจ้า พระองค์สามารถถวายชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาปลดเปลื้องบาปของมนุษย์ได้. (ลูกา 1:30-35) ดังมีบอกล่วงหน้าที่บทเพลงสรรเสริญ 40:8 ว่า เป็นความปรารถนาเปี่ยมล้นในหัวใจของพระเยซูที่จะกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา. “โดยน้ำพระทัยนั้นเองที่เราทั้งหลายได้ถูกชำระให้บริสุทธิ์แล้ว คือการถวายพระกายของพระเยซูคริสต์ แต่ครั้งเดียวเท่านั้น.”—เฮ็บราย 10:10, 11.
11. การสิ้นพระชนม์ของมาซีฮาสำเร็จสมจริงตามคำพยากรณ์ข้อใด และการนี้เป็นเหตุให้ ‘การถวายเครื่องบูชาต้องสิ้นสุด’ โดยวิธีใด?
11 การถวายบูชาด้วยชีวิตมนุษย์ของพระเยซูครั้งเดียวแต่ใช้ได้ตลอดไปนี้ ยกเลิกความจำเป็นที่จะนำเครื่องบูชาอื่น ๆ มาถวายคราวต่อไป ณ พระวิหารตัวอย่างในกรุงยะรูซาเลม. ยิ่งกว่านั้น พระองค์สิ้นพระชนม์วันปัศคา ปีสากลศักราช 33. นั้นคือประมาณสามปีครึ่งภายหลังการรับบัพติสมาของพระองค์. สามปีครึ่งคือครึ่งสัปดาห์เชิงพยากรณ์. (อาฤธโม 14:34) ดังนั้น เรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นตามที่ดานิเอลพยากรณ์ไว้ว่า มาซีฮาจะถูกตัดขาดดังนี้: “และพอถึงกึ่งสัปดาห์ พระองค์จะทำให้การถวายเครื่องบูชาอื่น ๆ หยุดไป.” (ดานิเอล 9:26, 27, ล.ม.) ถึงแม้ว่าคณะปุโรหิตในกรุงยะรูซาเลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์นั้นยังคงปฏิบัติงานจนกระทั่งพระวิหารถูกทำลายในปีสากลศักราช 70 ก็ตาม เครื่องบูชาซึ่งปุโรหิตจัดถวายในช่วงนั้นก็ไม่มีคุณประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากเครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์อันมีค่ามากกว่าได้เข้ามาแทนแล้ว.—มัดธาย 23:37, 38.
12. ฐานะปุโรหิตของพระเยซูมีค่าล้ำกว่าฐานะของอาโรนในทางใด?
12 อาโรนเป็นมหาปุโรหิตคนแรกในลำดับมหาปุโรหิตชาวยิวอันต่อเนื่องยาวนาน. หลังจากท่านถูกเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านจำต้องคอยอยู่ในพลับพลาเจ็ดวันก่อนได้รับอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่มหาปุโรหิต. (เลวีติโก 8:12, 33) ในทำนองเดียวกัน พระเยซูทรงคอยอยู่ช่วงหนึ่งก่อนได้รับอำนาจให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ. ช่วงนั้นคือจากเวลาที่พระองค์ได้รับการเจิมเป็นมหาปุโรหิตกระทั่งทรงคืนพระชนม์. ไม่เหมือนอาโรน พระบุตรของพระเจ้าทรงไว้ซึ่งอมฤตยู ไม่จำเป็นต้องมีผู้สืบตำแหน่ง และพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นทั้งปุโรหิตและกษัตริย์ “ตามอย่างของมัลคีเซเด็ค.”—บทเพลงสรรเสริญ 110:1-4; เยเนซิศ 14:18-20; เฮ็บราย 6:20; 7:1-3, 11–17, 23–25.
13. (ก) ความรับผิดชอบใหญ่หลวงอะไรตกเป็นหน้าที่ของมหาปุโรหิตแห่งยิศราเอล? (ข) โดยวิธีใดพระเยซูคริสต์ทรงแบกความรับผิดชอบสำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีก?
13 ในประเทศยิศราเอลสมัยโบราณ มหาปุโรหิตมีความรับผิดชอบสำคัญในการสั่งสอนด้านศาสนาอย่างถูกต้อง. (เลวีติโก 10:8-11; มาลาคี 2:7) โดยให้เป็นไปตามนั้น พระเยซูทรงเปิดเผยข้อเรียกร้องอันถูกต้องเป็นธรรมของพระยะโฮวาสำหรับบรรดาผู้ที่ประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรและมีชีวิตนิรันดร์. (มัดธาย 6:9, 10, 33; 7:28, 29; 11:12; 25:34, 46) เมื่อพระเยซูอยู่ในธรรมศาลาเมืองนาซาเร็ธ พระองค์ได้อ่านคำพยากรณ์และชี้แจงว่าสิ่งที่กล่าวนั้นเล็งถึงพระองค์เองที่ว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตบนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ได้ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดี.” แล้วหลังจากได้ทรงใช้เวลาอยู่ที่เมืองกัปเรนาอูม พระองค์ตรัสว่า “เราต้องไปประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่เมืองอื่นด้วย เพราะว่าที่เราได้รับใช้มาก็เพราะเหตุนี้เอง.” (ลูกา 4:18, 19, ล.ม., 43; ยะซายา 61:1, 2) นอกจากนี้ พระเยซูยังทรงฝึกอบรมสาวกของพระองค์ 70 คนเพื่อขยายงานประกาศสั่งสอนให้กว้างขวางออกไป และพระองค์ตรัสล่วงหน้าว่าพวกสาวกจะทำงานใหญ่โตกว่าที่พระองค์เองกระทำ. (ลูกา 10:1-9; โยฮัน 14:12) ทั้งนี้เป็นการวางฐานไว้สำหรับด้านการสอนคัมภีร์ไบเบิลตลอดทั่วโลกซึ่งพระเยซูจะทรงบริหารโดยทาง “บ่าวสัตย์ซื่อ” ประกอบด้วยสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์.—มัดธาย 24:45-47; 28:19, 20.
ผู้เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาผู้ยิ่งใหญ่
14. (ก) ทำไมมหาปุโรหิตชาติยิศราเอลเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดในวันไถ่โทษประจำปี? (ข) กลิ่นเครื่องหอมที่เผาบูชาเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด?
14 เหตุผลสำคัญที่สุดที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาในโลกหาใช่เพื่อการช่วยชีวิตมนุษย์ให้รอดไม่ แต่เพื่อจัดการกับประเด็นที่มีขึ้นเมื่อซาตานพูดใส่ร้ายพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. เราสามารถเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้ได้โดยการใคร่ครวญถึงวันไถ่โทษประจำปีของชาติยิศราเอล เมื่อมหาปุโรหิตอันเป็นสัญลักษณ์ต้องเข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุดหลายครั้ง. การเข้าไปครั้งแรกก็เพื่อถวายเครื่องหอมซึ่งต้องได้เทลงในกระถางที่มีถ่านไฟที่ลุกไหม้อยู่. (เลวีติโก 16:12-16) ทั้งนี้แสดงภาพอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่มหาปุโรหิตตัวจริงจะได้กระทำในโลกนี้ก่อนเสด็จสู่สวรรค์เพื่อจะปรากฏต่อพระยะโฮวาพร้อมด้วยคุณค่าแห่งเครื่องบูชาอันได้แก่ร่างกายมนุษย์ของพระองค์.b (เฮ็บราย 9:24) ดังที่ได้บ่งชี้โดยการใช้เครื่องหอม แนวทางของพระเยซูอย่างซื่อสัตย์มั่นคงควบกับการอธิษฐานด้วยน้ำใสใจจริง ความร้อนรนอันแรงกล้าเพื่อการนมัสการที่บริสุทธิ์สะอาดและความรักอันล้ำลึกต่อพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 141:2; มาระโก 1:35; โยฮัน 2:13-17; 12:27, 28; 14:30, 31; เฮ็บราย 5:7) พระเยซูสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนถึงที่สุดได้อย่างไม่มีที่ติ ทั้ง ๆ ที่ต้องเผชิญการล่อใจอันแยบยล การพูดเยาะเย้ย และการข่มเหงอย่างร้ายกาจโดยซาตานและตัวแทนของมัน.—สุภาษิต 27:11; มัดธาย 22:15-18; มาระโก 14:60-65; 15:16-32; ลูกา 4:13, 29; โยฮัน 8:44, 59.
15. เราจะแสดงความกตัญญูรู้คุณพระยะโฮวาโดยวิธีใด เนื่องจากพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมมหาปุโรหิตที่วิเศษยิ่งสำหรับพวกเรา? (เฮ็บราย 10:21-26)
15 เพราะการเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา พระเยซูจึงได้บำเหน็จด้วยการฟื้นคืนพระชนม์รับชีวิตอมตะในสวรรค์. สมควรเพียงไรที่พวกเราจะพึงรู้สึกกตัญญูรู้คุณพระยะโฮวาที่ได้ทรงจัดเตรียมมหาปุโรหิตผู้ประเสริฐยิ่งเช่นนั้นแก่พวกเรา! “เหตุฉะนั้น เมื่อเรามีมหาปุโรหิตผู้เป็นใหญ่ที่ผ่านท้องฟ้าไปแล้ว คือพระเยซูพระบุตรของพระเจ้า ก็ให้เราทั้งหลายยึดความที่เราได้รับเชื่อนั้นไว้ให้มั่นคง.” (เฮ็บราย 4:14) คุณปรารถนาด้วยใจจริงไหมที่จะติดตามตัวอย่างความซื่อสัตย์มั่นคงของพระเยซู ไม่ว่าพญามารจะทำอะไรก็ตาม? ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็มั่นใจได้ในเรื่องการช่วยเหลือ และคุณจะยืนหยัดได้สำเร็จ. ทั้งนี้เพราะการช่วยเหลืออันดียิ่งมีอยู่พร้อมแล้ว. “เรามิได้มีมหาปุโรหิตที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์กับเราไม่ได้ แต่พระองค์ได้ทรงถูกทดลองเหมือนอย่างเราทุกประการ ถึงกระนั้นก็ยังปราศจากความบาป. เหตุฉะนั้น เราทั้งหลายจงมีใจกล้าเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณเพื่อเราจะได้รับพระเมตตา และจะได้พบพระคุณที่จะช่วยเราในวาระที่ต้องการ.”—เฮ็บราย 4:15, 16; 5:7-10; ฟิลิปปอย 4:13; 1 โยฮัน 2:1, 2.
จำเป็นต้องปรับตัว
16. สาวกสมัยแรกของพระมาซีฮาคาดหมายอะไรเกี่ยวด้วยการปกครองราชอาณาจักรของพระองค์?
16 อันดะเรอากับโยฮันรู้จักเอกลักษณ์พระมาซีฮาแท้ได้ทันที แต่คนทั้งสองพร้อมกับสาวกอื่นรุ่นแรกนั้นยังจะต้องเรียนรู้อีกมาก. (โยฮัน 16:12, 13) เช่นเดียวกับชาวยิวมากมายที่ถือเคร่งในเวลานั้น พวกเขาหวังว่าอาณาจักรมาซีฮาจะเริ่มปกครองตั้งแต่สมัยนั้นทีเดียว และคาดว่าการปกครองของมาซีฮาจะกู้ชาติยิศราเอลกับกรุงยะรูซาเลมเป็นอิสระจากอำนาจปกครองของคนต่างชาติ. (ลูกา 2:38; 3:15; 19:11; 23:51; 24:21) ถึงกระนั้น อาณาจักรนี้จะให้ประโยชน์อันถาวรอะไรแก่มนุษยชาติที่ผิดบาป?
17, 18. ทำไมพระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่อง “เจ้าประเทศราชองค์หนึ่ง”?
17 เพื่อบาปและความตายจะถูกขจัดออกไปจากราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ในอนาคต จำเป็นที่พระมาซีฮาจะถูกตัดขาดเหมือนลูกแกะที่ถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชา. (โยฮัน 1:29; ยะซายา 53:7, 12) เมื่อพระเยซูกล่าวไว้ล่วงหน้าว่าเรื่องนี้จะเป็นไปอย่างไร และพระองค์จะถูกปลุกขึ้นจากตายอย่างไร เปโตรทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า จงกรุณาพระองค์เองเถิด พระองค์จะไม่เจอบั้นปลายเช่นนั้นเลย.” (มัดธาย 16:21, 22 ล.ม.) อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงทราบว่าสาวกของพระองค์ ‘หาเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ไม่.’—มาระโก 9:31, 32; เทียบกับมัดธาย 17:22, 23.
18 ขณะเดินทางไปยะรูซาเลมเที่ยวสุดท้ายนั้น พระเยซูทรงแจ้งเรื่องต่าง ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น. (มัดธาย 20:18, 19) นอกจากนั้น พระองค์ได้ชี้แจงว่าการตายของพระองค์จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงดังนี้ “บุตรมนุษย์มาเพื่อ . . . ประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28) การคาดหมายอย่างผิด ๆ ทำให้สาวกของพระองค์ไม่สามารถเข้าใจคำตรัสนี้. ลูกาบันทึกไว้ว่า “พระองค์เสด็จมาใกล้กรุงยะรูซาเลมแล้ว และเขาทั้งหลายคิดว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะปรากฏโดยพลัน.” เพื่อแก้ไขความคิดของเขา พระเยซูทรงให้อุทาหรณ์เปรียบเทียบพระองค์เองเป็น “เจ้าประเทศราช” ผู้ซึ่ง “ต้องไปยังเมืองไกลเพื่อจะรับอำนาจมาครองแผ่นดินของตน.” (ลูกา 19:11, 12) “เมือง” นั้นได้แก่สวรรค์ ซึ่งพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์หลังจากพระองค์วายพระชนม์แล้วได้รับการปลุกขึ้นมาอีก.
19. (ก) สาวกของพระเยซูเคยคาดการณ์อย่างผิด ๆ เช่นไรขณะที่เขากล่าวกับพระองค์ภายหลังการคืนพระชนม์? (ข) เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับสัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33? (เฮ็บราย 8:7-9, 13)
19 อย่างไรก็ดี ไม่นานก่อนพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์ สาวกของพระองค์ทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงตั้งพลยิศราเอลให้เป็นเอกราชอีกในครั้งนี้หรือ?” (กิจการ 1:6) พระเยซูตวาดเขาไหมที่ถามเช่นนั้น? หามิได้ พระองค์ทรงอธิบายว่ายังไม่ถึงเวลา และพวกเขายังต้องขะมักเขม้นกับงานสำคัญเกี่ยวกับการให้คำพยานถึงพระมาซีฮาแท้. (กิจการ 1:7, 8) อีกไม่ช้าไม่นานสัมพันธภาพโดยคำสัญญาไมตรีของพระเจ้าที่ทรงกระทำไว้กับชนชาติยิศราเอลจะสิ้นสุดลง. เหตุฉะนั้น ราชอาณาจักรมาซีฮาในภายหน้าคงจะไม่กู้เอกราชให้ชนชาติที่ไม่ซื่อสัตย์ทางโลกนี้. พระเยซูตรัสแก่พวกยิวที่ขัดขวางต่อต้านว่า “แผ่นดินของพระเจ้าจะต้องเอาไปจากท่าน ยกให้ประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดินนั้น.” (มัดธาย 21:43) สิบวันหลังจากพระเยซูได้เสด็จสู่สวรรค์ ชาตินั้นมีกำเนิดขึ้นมา. พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ถูกหลั่งลงมาบนสาวก 120 คนของพระเยซู ด้วยเหตุนี้ บุคคลเหล่านั้นได้รับการเจิมเป็น “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ของพระเจ้า และ “ทายาทร่วมกับพระคริสต์” ในราชอาณาจักรมาซีฮาซึ่งจะมีมา.—ดานิเอล 7:13, 14, 18; โรม 1:7; 8:1, 16, 17; กิจการ 2:1-4; ฆะลาเตีย 6:15, 16.
20. ทั้งที่คาดหมายอย่างผิด ๆ คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในศตวรรษแรกได้ทำประการใด?
20 แม้ภายหลังพวกเขาถูกเจิมแล้ว พวกคริสเตียนในศตวรรษแรกก็ยังคงคาดการณ์ผิด. (2 เธซะโลนิเก 2:1, 2) แต่แทนที่จะกลายเป็นคนวางมืออย่างไม่พอใจ พวกเขากลับยอมรับการปรับปรุงแก้ไขด้วยความถ่อมใจ. โดยที่ได้รับอำนาจและฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระเจ้า เขาจึงต่างก็ปลาบปลื้มยินดีรับเอางานมอบหมายเพื่อให้คำพยานและ “ออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก.”—มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8; โกโลซาย 1:23.
21. จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดจากนี้?
21 ศตวรรษที่ 20 นี้ล่ะเป็นอย่างไร? ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันตื่นตัวต่อการสถาปนาราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้าหรือเปล่า? และเช่นเดียวกันกับคู่เทียบสมัยศตวรรษแรก พวกเขาจะต้องรับการแก้ไขปรับปรุงการคาดหวังของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไหม?
[เชิงอรรถ]
a สารานุกรม ดิ เอ็นไซโคลพีเดีย อเมริกานา และ เกรทโซเวียต เอ็นไซโคลพีเดีย เห็นพ้องกันว่ารัชกาลของอาระธาสัทธาสิ้นสุดในปี 424 ก่อนสากลศักราช. และเริ่มต้นเมื่อไร? เริ่มปี 474 ก่อนสากลศักราช. เพื่อยืนยันเรื่องนี้ คำจารึกที่ค้นพบโดยนักโบราณคดีได้ระบุปีที่ 50 ของรัชกาลอาระธาสัทธา และอีกรายหนึ่งระบุว่ามีผู้สืบทอดตำแหน่งของท่านในปีที่ 51. เมื่อนับย้อนหลัง 50 ปีบริบูรณ์จากปี 424 ก่อนสากลศักราช เรามาถึงปีเริ่มต้นรัชกาลของท่าน. ดังนั้น ปีที่ 20 แห่งรัชกาลของอาระธาสัทธา เมื่อมีราชโองการออกมา ก็คงได้ปกครองครบ 19 ปีแล้วคือปี 455 ก่อนสากลศักราช. เพื่อจะได้รายละเอียดเพิ่ม โปรดอ่านอินไซท์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ เล่ม 2 หน้า 616 จัดพิมพ์โดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กท์ แห่งนิวยอร์ก.
b โปรดอ่านวารสารวอชเทาเวอร์ ฉบับ 1 เมษายน 1974 หน้า 222.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ตำแหน่ง “มาซีฮา” หมายความว่าอะไร?
▫ เกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรเมื่อปีสากลศักราช 29?
▫ มาซีฮา ‘ได้ทำให้เครื่องบูชาต้องเลิกไปในตอนกึ่งสัปดาห์’ นั้นอย่างไร?
▫ นับตั้งแต่พระเยซูรับการเจิม ความรับผิดชอบอะไรตกอยู่กับพระองค์?
▫ การมาครั้งแรกของมาซีฮามีจุดประสงค์สำคัญอะไร และเรื่องนี้น่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อพวกเรา?
[รูปภาพหน้า 13]
การเข้าไปครั้งแรกโดยมหาปุโรหิตในห้องบริสุทธิ์ที่สุดนั้นเป็นภาพเล็งถึงบางสิ่งซึ่งสำคัญกว่าความรอดของมนุษยชาติ