กษัตริย์องค์หนึ่งดูหมิ่นสถานนมัสการของพระยะโฮวา
“ส่วนประชาชนที่รู้จักพระเจ้าของตน พวกเขาจะมีชัย.”—ดานิเอล 11:32, ล.ม.
1, 2. การต่อสู้อันน่าทึ่งอะไรเป็นลักษณะเด่นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มานานกว่า 2,000 ปี?
กษัตริย์คู่แข่งสององค์ต่างก็พันตูอย่างสุดกำลังเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่. องค์หนึ่งขึ้นเถลิงอำนาจก่อน แล้วก็อีกองค์หนึ่ง ขณะสงครามดำเนินอยู่นานกว่าสองพันปี. ในสมัยของเรา การต่อสู้เช่นนี้มีผลกระทบผู้คนส่วนใหญ่ในโลกและเป็นการทดสอบความภักดีท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า แล้วก็จบสิ้นด้วยเหตุการณ์ที่มหาอำนาจฝ่ายใดก็คาดไม่ถึง. ประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้นซึ่งบอกไว้ล่วงหน้าได้เผยแก่ผู้พยากรณ์ดานิเอลแต่โบราณกาล.—ดานิเอล, บท 10 ถึง 12.
2 คำพยากรณ์นี้เกี่ยวข้องกับความเป็นศัตรูกันอยู่เรื่อยไประหว่างกษัตริย์ทิศเหนือกับกษัตริย์ทิศใต้ และได้อธิบายรายละเอียดไปแล้วในหนังสือ “ขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก.” (ภาษาอังกฤษ)a ในหนังสือเล่มนี้ได้ชี้แจงว่ากษัตริย์ทิศเหนือเดิมทีได้แก่ซีเรีย อยู่ทางเหนือของแผ่นดินยิศราเอล. ต่อมา บทบาทนี้ตกไปอยู่กับโรม. แรกทีเดียว กษัตริย์ทิศใต้คืออียิปต์.
การปะทะกันในสมัยสุดท้าย
3. ตามที่ทูตสวรรค์ได้ตรัส คำพยากรณ์ว่าด้วยกษัตริย์ทิศเหนือกับกษัตริย์ทิศใต้จะเป็นที่เข้าใจได้เมื่อไร และอย่างไร?
3 ทูตสวรรค์องค์ที่เปิดเผยเรื่องนี้แก่ดานิเอลตรัสดังนี้: “และส่วนท่าน โอ้ดานิเอล จงเก็บถ้อยคำเหล่านั้นไว้เป็นความลับ และผนึกม้วนหนังสือไว้ จนกระทั่งถึงสมัยอวสาน. หลายคนจะไป ๆ มา ๆ และความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ใช่แล้ว คำพยากรณ์ข้อนี้เกี่ยวข้องกับสมัยสุดท้าย—ช่วงเวลาที่เริ่มต้นในปี 1914. ระหว่างช่วงเวลาที่กำหนดไว้นั้น หลายคนจะ “ไป ๆ มา ๆ” ในคัมภีร์ไบเบิล และด้วยการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งความเข้าใจเรื่องคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล จะมีอย่างบริบูรณ์. (สุภาษิต 4:18) ขณะที่เราล้ำเข้ามาในสมัยสุดท้ายมากขึ้น รายละเอียดเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของดานิเอลยิ่งกระจ่างชัดมากขึ้น. ดังนั้น เราจะเข้าใจคำพยากรณ์นี้อย่างไรเกี่ยวด้วยกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้ในปี 1993 ซึ่งนานถึง 35 ปีหลังจากการออกหนังสือ “ขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก”?
4, 5. (ก) ปี 1914 ปรากฏอยู่ตอนไหนในคำพยากรณ์ของดานิเอลเกี่ยวด้วยกษัตริย์ทิศเหนือกับกษัตริย์ทิศใต้? (ข) ตามคำตรัสของทูตสวรรค์ จะเกิดอะไรขึ้นในปี 1914?
4 การเริ่มต้นสมัยสุดท้ายในปี 1914 นั้นเห็นหมายสำคัญได้จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและความทุกข์เดือดร้อนต่าง ๆ ในโลกซึ่งพระเยซูตรัสพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 24:3, 7, 8) เราสามารถระบุปีนั้นในคำพยากรณ์ของดานิเอลได้ไหม? ได้. การเริ่มต้นของสมัยสุดท้ายคือ “เวลากำหนด” ตามที่กล่าวไว้ในดานิเอล 11:29. (ดูหนังสือ “ขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก” ภาษาอังกฤษ, หน้า 269-270) พระยะโฮวาได้กำหนดเวลาดังกล่าวไว้แล้วในสมัยของดานิเอล เนื่องจากเวลากำหนดเริ่มต้นเมื่อสิ้น 2,520 ปี ตามข้อบ่งชี้ถึงเหตุการณ์สำคัญเชิงพยากรณ์ในดานิเอล บท 4.
5 ช่วง 2520 ปีนั้น นับจากการทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช ในสมัยที่ดานิเอลยังหนุ่มแน่น กระทั่งถึงปีสากลศักราช 1914 เรียกว่า “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ.” (ลูกา 21:24) จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเวลากำหนดนั้นสิ้นสุดลง? ทูตสวรรค์ได้เผยเรื่องนี้แก่ดานิเอล. ทูตสวรรค์นั้นตรัสดังนี้: “พอได้เวลากำหนดเขา [กษัตริย์ทิศเหนือ] จะยกทัพไปล้อมเมืองทิศทักษิณอีก; แต่ครั้งนี้เหตุการณ์จะไม่เป็นไปอย่างครั้งก่อน.”—ดานิเอล 11:29.
กษัตริย์ปราชัยในสงคราม
6. ในปี 1914 ใครคือกษัตริย์ทิศเหนือ และใครคือกษัตริย์ทิศใต้?
6 เมื่อมาถึงปี 1914 เยอรมนี ซึ่งมีไคเซอร์ วิลเฮล์มเป็นประมุขของประเทศ ครองบทบาทของกษัตริย์ทิศเหนือ (“ไคเซอร์” ผันมาจากตำแหน่ง “ซีซาร์” แห่งอาณาจักรโรมัน.) การสู้รบที่ระบาดในยุโรปยังจะเป็นอีกระลอกหนึ่งแห่งลำดับการปะทะกันระหว่างกษัตริย์ทิศเหนือกับกษัตริย์ทิศใต้. ตอนนั้น บทบาทของกษัตริย์องค์หลังหรือกษัตริย์ทิศใต้ก็ตกอยู่กับอังกฤษ ซึ่งยึดครองอียิปต์ได้อย่างรวดเร็ว อาณาเขตปกครองของกษัตริย์ทิศใต้องค์แรกเดิม. ขณะทำสงครามขับเคี่ยวกันอยู่ อังกฤษก็ได้สหรัฐอเมริกาซึ่งเมื่อก่อนเป็นอาณานิคมเข้ามาร่วมด้วย. กษัตริย์ทิศใต้จึงได้กลายเป็นมหาอำนาจแองโกล-อเมริกัน จักรวรรดิที่เกรียงไกรอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์.
7, 8. (ก) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็น “เหมือนครั้งก่อน ๆ” ในทางใด? (ข) ผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นอย่างไร แต่ตามคำพยากรณ์นั้น กษัตริย์ทิศเหนือมีปฏิกิริยาอย่างไร?
7 ในการสู้รบครั้งก่อน ๆ ระหว่างกษัตริย์สององค์ จักรวรรดิโรมัน ในฐานะเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ เป็นฝ่ายมีชัยเสมอ. คราวนี้ ‘เหตุการณ์ไม่เป็นเหมือนครั้งก่อน ๆ.’ เพราะเหตุใด? เพราะว่ากษัตริย์ทิศเหนือปราชัย. สาเหตุอย่างหนึ่งคือ “ทัพเรือของเมืองคีธิม” ยกมาปะทะกษัตริย์ทิศเหนือ. (ดานิเอล 11:30) กองเรือเหล่านั้นได้แก่อะไร? ในสมัยดานิเอลเมืองคีธิมคือไซปรัส และในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษได้ยึดครอบครองไซปรัส. ยิ่งกว่านั้น ตามเดอะซอนเดอร์วันสารานุกรมภาพเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ชื่อคีธิม “ได้ใช้หมายรวมถึงทางตะวันตกทั่ว ๆ ไป แต่โดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่ท่องไปตามทะเล.” ฉบับเดอะนิวอินเตอร์แนชันแนลเวอร์ชัน แปลสำนวน “ทัพเรือของเมืองคีธิม” ว่า “กองเรือแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก.” ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทัพเรือของคีธิมปรากฏเป็นเรือของประเทศอังกฤษ จอดรายเรียงนอกฝั่งตะวันตกของยุโรป. ต่อมากองทัพเรืออังกฤษได้รับการเสริมกำลังโดยเรือจากทวีปทางตะวันตกคืออเมริกาเหนือ.
8 เมื่อถูกโจมตีเช่นนี้ กษัตริย์ทิศเหนือจึง “เกิดท้อใจ” และยอมรับความพ่ายแพ้ในปี 1918. แต่ทว่าเขายังไม่ถูกปราบโดยเด็ดขาด. “และจะเกรี้ยวกราดต่อพันธสัญญาบริสุทธิ์ และลงมือปฏิบัติงาน เขาจะหันกลับมาเชื่อฟังบรรดาผู้ที่ทิ้งพันธสัญญาบริสุทธิ์.” (ดานิเอล 11:30, ฉบับแปลใหม่) ทูตสวรรค์พยากรณ์ไว้อย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น.
กษัตริย์ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผล
9. อะไรเป็นสาเหตุทำให้อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ และโดยวิธีใดเขาได้ “ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผล”?
9 หลังสงคราม ในปี 1918 ฝ่ายพันธมิตรที่มีชัยได้จัดตั้งสนธิสัญญาสันติภาพลงโทษเยอรมนี ดูเหมือนเจตนาจะให้ชาวเยอรมันประสบความยากลำบากในวันข้างหน้าอย่างไม่มีกำหนด. ผลก็คือ หลังจากซวดเซด้วยความทุกข์ลำบากเหลือประมาณอยู่หลายปี เยอรมนีก็พร้อมสำหรับการขึ้นมาของอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์. เขาได้บรรลุอำนาจสูงสุดในปี 1933 และทันทีทันใดก็เริ่มโจมตีอย่างฮึกห้าวต่อ “พันธสัญญาบริสุทธิ์” อันมีพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูคริสต์เป็นตัวแทน. ในเรื่องนี้ เขาปฏิบัติงานต่อต้านคริสเตียนเหล่านั้นที่สัตย์ซื่ออย่างมีประสิทธิผล, ข่มเหงคนเหล่านั้นเป็นจำนวนมากอย่างเหี้ยมโหด.
10. ด้วยความพยายามจะได้การสนับสนุน ฮิตเลอร์สร้างสัมพันธไมตรีกับใคร พร้อมด้วยผลประการใด?
10 ฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและการทูต ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลในด้านนี้ด้วย. เพียงไม่กี่ปี เขาสร้างประเทศเยอรมนีให้เกรียงไกรจนเป็นที่รับรู้กัน ความพยายามของเขาได้รับการสนับสนุนโดย “ผู้ที่ทิ้งพันธสัญญาบริสุทธิ์.” คนเหล่านี้เป็นใคร? โดยอาศัยหลักฐานที่เชื่อได้ คนเหล่านี้เป็นผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งอ้างตัวมีสัมพันธภาพทางคำสัญญาไมตรีกับพระเจ้า ทว่าได้เลิกเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์นานมาแล้ว. ฮิตเลอร์เรียกร้องการสนับสนุนจาก “ผู้ที่ทิ้งพันธสัญญาบริสุทธิ์” ได้สำเร็จ. สันตะปาปาในโรมได้ทำสนธิสัญญากับเขา และคริสต์จักรโรมันคาทอลิก รวมทั้งคริสต์จักรโปรเตสแตนต์ในเยอรมนี ต่างก็สนับสนุนฮิตเลอร์ตลอด 12 ปีแห่งการปกครองอันร้ายกาจของเขา.
11. กษัตริย์ทิศเหนือได้ ‘ดูหมิ่นสถานนมัสการ’ และ “ให้เลิกเครื่องเผาบูชาเนืองนิตย์” โดยวิธีใด?
11 ฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จถึงขนาด เขาจึงทำสงคราม ดังที่ทูตสวรรค์ทำนายอย่างแม่นยำ. “กองทัพของเขาจะมาทำลาย [ดูหมิ่น, ล.ม.] สถานนมัสการ คือป้อมปราการให้เป็นมลทิน และจะให้เลิกเครื่องเผาบูชาเนืองนิตย์นั้นเสีย.” (ดานิเอล 11:31ก, ฉบับแปลใหม่) ในประเทศยิศราเอลโบราณ สถานนมัสการเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม. อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกยิวปฏิเสธพระเยซู พระยะโฮวาทรงทอดทิ้งพวกเขาและพระวิหารด้วย. (มัดธาย 23:37–24:2) อันที่จริง ตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่ง พระวิหารของพระยะโฮวาเป็นฝ่ายวิญญาณ โดยมีสถานบริสุทธิ์ที่สุดอยู่ในสวรรค์ พร้อมด้วยมีลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณอยู่ทางแผ่นดินโลก ซึ่ง ณ ที่นั่น พี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระเยซูมหาปุโรหิตได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้. ตั้งแต่ทศวรรษปี 1930 ชนฝูงใหญ่ได้นมัสการร่วมกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าคนเหล่านี้ปฏิบัติ ‘ในพระวิหารของพระเจ้า.’ (วิวรณ์ 7:9, 15; 11:1, 2; เฮ็บราย 9:11, 12, 24) ลานพระวิหารทางแผ่นดินโลกเป็นที่ดูหมิ่นเนื่องด้วยชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและสหายของเขาได้รับการข่มเหงอย่างสาหัสสากรรจ์ในหลายประเทศซึ่งกษัตริย์ทิศเหนือใช้อำนาจปกครอง. การข่มเหงรุนแรงถึงขนาด เครื่องเผาบูชาเนืองนิตย์—คือการถวายเครื่องบูชาอันเป็นคำสรรเสริญอย่างเปิดเผยแด่พระนามพระยะโฮวานั้น—ถูกยกเลิก. (เฮ็บราย 13:15) ถึงกระนั้น ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ต้องทนทุกข์อย่างร้ายกาจ คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์รวมทั้ง “แกะอื่น” ก็ยังคงทำงานประกาศอย่างลับ ๆ ต่อไป.—โยฮัน 10:16.
“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน”
12, 13. อะไรคือ “สิ่งอันน่าสะอิดสะเอียน” และ—ดังที่ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมมองเห็นล่วงหน้า—สิ่งนั้นได้ตั้งขึ้นอีกเมื่อไรและอย่างไร?
12 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้สงบ มีอีกสิ่งหนึ่งได้อุบัติขึ้น. “และเขาทั้งหลายจะตั้งสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งกระทำให้เกิดความวิบัติขึ้น.” (ดานิเอล 11:31ข, ฉบับแปลใหม่) “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” นี้ซึ่งพระเยซูทรงกล่าวถึงด้วย เคยรับรู้กันว่าเป็นสันนิบาตชาติ สัตว์ร้ายสีแดงเข้มซึ่งตามที่พระธรรมวิวรณ์กล่าวไว้ก็ได้ตกลงไปในเหวลึก. (มัดธาย 24:15; วิวรณ์ 17:8; ดูหนังสือแสงสว่าง ภาษาอังกฤษ เล่มสอง, หน้า 94.) มันตกเข้าสู่สภาพดังกล่าวเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น. อย่างไรก็ตาม ณ การประชุมใหญ่แห่งพยานพระยะโฮวา ภายใต้ชื่อ “โลกใหม่” ตามระบอบของพระเจ้า ปี 1942 นายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์คนที่สาม นาธาน เอช. นอรร์ ได้อธิบายคำพยากรณ์ในวิวรณ์ บท 17 และเตือนว่าสัตว์ร้ายตัวนี้จะขึ้นมาอีกจากเหวลึก.
13 ประวัติศาสตร์ยืนยันความจริงแห่งคำพูดของท่าน. ระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนตุลาคม 1944 ที่ดัมบาร์ทันโอ๊กส์ ในสหรัฐ ได้มีการเริ่มร่างปฏิญญาสากล ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่าองค์การสหประชาชาติ. มี 51 ชาติได้รับรองกฎบัตรนี้ รวมทั้งอดีตสหภาพโซเวียต ครั้นมีการบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1945 โดยแท้แล้ว สันนิบาตชาติที่ล้มไปกลับขึ้นมาจากเหวลึกนั่นเอง.
14. ตัวกษัตริย์ทิศเหนือเปลี่ยนไปเมื่อไรและโดยวิธีใด?
14 เยอรมนีเป็นศัตรูตัวเอ้ของกษัตริย์ทิศใต้ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งของเยอรมนีได้ถูกวางแนวใหม่ให้เป็นพันธมิตรของกษัตริย์ทิศใต้. แต่อีกส่วนหนึ่งของเยอรมนีตอนนี้ได้วางแนวเข้าร่วมกับอีกจักรวรรดิหนึ่งที่มีพลังเข้มแข็ง. กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นนับรวมเอาส่วนหนึ่งของเยอรมนีเข้าด้วย ได้ตั้งตัวเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงกับฝ่ายพันธมิตรแองโกล-อเมริกัน และการชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์สององค์จึงกลายเป็นสงครามเย็น.—ดู “ขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก” (ภาษาอังกฤษ) หน้า 264-284.
กษัตริย์กับคำสัญญาไมตรี
15. ใครคือ ‘ผู้ที่ละเมิดพันธสัญญา’ และคนเหล่านั้นมีสัมพันธภาพเช่นไรกับกษัตริย์ทิศเหนือ?
15 ตอนนี้ทูตสวรรค์ตรัสว่า “เขาจะใช้ความสอพลอล่อลวงผู้ที่ละเมิดพันธสัญญา.” (ดานิเอล 11:32ก, ฉบับแปลใหม่) ใครคือคนเหล่านั้นซึ่งละเมิดพันธสัญญา? อีกนั่นแหละ จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพวกผู้นำคริสต์ศาสนจักร ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนแต่การกระทำของเขาทำให้ชื่อคริสเตียนเป็นที่ดูหมิ่น. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง “รัฐบาลโซเวียตพยายามเกณฑ์เอาความช่วยเหลือจากคริสต์จักรต่าง ๆ ทั้งทางด้านวัตถุและทางธรรมจริยาเพื่อป้องกันมาตุภูมิ.” (ศาสนาในประเทศสหภาพโซเวียต โดยวอลเตอร์ โคลาร์ซ) หลังสงคราม พวกผู้นำคริสต์จักรพยายามรักษามิตรภาพอย่างนั้นให้คงอยู่ แม้มหาอำนาจซึ่งเวลานั้นเป็นกษัตริย์ทิศเหนือจะมีนโยบายแบบอเทวนิยมก็ตาม.b ด้วยเหตุนี้ คริสต์ศาสนจักรจึงกลายเป็นส่วนของโลกยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมา—เป็นการออกหากอันน่าสะอิดสะเอียนในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.—โยฮัน 17:14; ยาโกโบ 4:4.
16, 17. ใครคือ “คนเหล่านั้นที่ฉลาด” และความเป็นไปของเขาเป็นอย่างไรภายใต้กษัตริย์ทิศเหนือ?
16 คริสเตียนแท้ล่ะเป็นอย่างไร? “แต่ประชาชนผู้รู้จักพระเจ้าของเขาทั้งหลายจะยืนมั่นและปฏิบัติงาน. และในหมู่ประชาชนคนเหล่านั้นที่ฉลาดจะกระทำให้คนเป็นอันมากเข้าใจ แม้ว่าเขาจะล้มลงด้วยดาบหรือด้วยเปลวไฟ ด้วยการเป็นเชลย ด้วยถูกปล้นสักวาระหนึ่งก็ไม่ว่า.” (ดานิเอล 11:32ข, 33, ฉบับแปลใหม่) เหล่าคริสเตียนซึ่งดำรงชีวิตภายใต้กษัตริย์ทิศเหนือ ขณะที่ “ยอมอยู่ใต้บังคับผู้มีอำนาจ” อย่างสมควร แต่หาได้เป็นส่วนของโลกนี้ไม่. (โรม 13:1; โยฮัน 18:36) พวกเขาเอาใจใส่ที่จะคืนของของซีซาร์ให้แก่ซีซาร์ เช่นเดียวกัน เขาถวาย “ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.” (มัดธาย 22:21) ด้วยเหตุนี้เอง ความซื่อสัตย์ภักดีของเขาถูกทดสอบ.—2 ติโมเธียว 3:12.
17 ผลเป็นอย่างไร? พวกเขาทั้ง ‘ยืนมั่น’ และ ‘ล้มลง.’ เขาล้มลงในแง่ที่ว่าเขาถูกข่มเหงและได้รับความทุกข์แสนสาหัส บางคนถูกฆ่าด้วยซ้ำ. แต่พวกเขายืนมั่น เพราะส่วนใหญ่พวกเขาธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์. ถูกแล้ว เขาชนะโลก เหมือนพระเยซูได้ชนะโลก. (โยฮัน 16:33) ยิ่งกว่านั้น คนเหล่านี้ไม่ได้เลิกงานประกาศ แม้ว่าเขาติดคุกหรืออยู่ในค่ายกักกัน. ด้วยการกระทำเช่นนี้ พวกเขา ‘จึงได้ให้ความเข้าใจแก่คนเป็นอันมาก.’ ทั้ง ๆ ที่มีการข่มเหงในประเทศส่วนใหญ่ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ทิศเหนือ แต่จำนวนพยานพระยะโฮวาเพิ่มขึ้น. เนื่องจากความซื่อสัตย์ของ “คนเหล่านั้นที่ฉลาด” นี้แหละ “ชนฝูงใหญ่” ที่แผ่ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงปรากฏให้เห็นในประเทศเหล่านั้น.—วิวรณ์ 7:9-14.
18. ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้รับ “ความช่วยเหลือเล็กน้อย” อย่างไร เมื่อดำรงชีวิตภายใต้กษัตริย์ทิศเหนือ?
18 พูดถึงการข่มเหงไพร่พลของพระเจ้า ทูตสวรรค์ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า “เมื่อเขาล้มลงนั้นเขาได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อย.” (ดานิเอล 11:34ก, ฉบับแปลใหม่) เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างไร? อย่างหนึ่งคือ ชัยชนะของกษัตริย์ทิศใต้ในสงครามโลกครั้งที่สองยังผลให้คริสเตียนที่อยู่ภายใต้การครอบครองของกษัตริย์คู่แข่งโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง. (เทียบกับวิวรณ์ 12:15, 16.) ครั้นแล้ว บรรดาคนเหล่านั้นซึ่งถูกกดขี่ข่มเหงโดยกษัตริย์องค์ต่อมา ได้ประสบการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว และขณะสงครามเย็นใกล้จะเลิกรา ผู้นำทางการเมืองหลายคนได้มาตระหนักว่าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ไม่เป็นภัยคุกคามแต่อย่างใด และดังนั้น จึงได้มีการรับรองพวกเขาตามกฎหมาย.c การช่วยอย่างใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อชนฝูงใหญ่จำนวนมากมายตอบรับงานประกาศที่ผู้ถูกเจิมกระทำด้วยความซื่อสัตย์ และได้ให้การสนับสนุนพวกเขา ดังคำพรรณนาที่มัดธาย 25:34-40.
การชำระไพร่พลของพระเจ้า
19. (ก) โดยวิธีใดบางคนได้ “ร่วมเข้ากับความสอพลอ”? (ข) คำพูดที่ว่า “จนกว่าจะถึงเวลาสุดท้าย” มีความหมายอย่างไร? (ดูที่เชิงอรรถ.)
19 ไม่ใช่ทุกคนที่แสดงตัวสนใจรับใช้พระเจ้าในช่วงนั้นทำด้วยเจตนาที่ดี. ทูตสวรรค์เตือนดังนี้: “และจะมีคนมากด้วยกันที่ร่วมเข้ากับความสอพลอ. คนที่ฉลาดบางคนจะล้มลงเพื่อถลุงและชำระเขาทั้งหลายให้ขาวสะอาด จนกว่าจะถึงเวลาสุดท้าย เพราะวาระนั้นก็จะมาตามเวลากำหนด.”d (ดานิเอล 11:34ข, 35, ฉบับแปลใหม่) บางคนแสดงความสนใจความจริง แต่ไม่เต็มใจจะอุทิศตนจริง ๆ เพื่อรับใช้พระเจ้า. ส่วนบางคนก็ดูเหมือนรับรองเอาข่าวดีแต่ที่แท้ก็เป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่. รายงานจากประเทศหนึ่งมีใจความว่า “บางคนที่ไม่มีหลักธรรมเหล่านี้ เป็นคอมมิวนิสต์เคร่งครัดที่เล็ดลอดเข้ามาในองค์การของพระเจ้า แสร้งทำท่าเป็นคนกระตือรือร้น และเคยได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบทำหน้าที่สำคัญในองค์การของพระยะโฮวา.”
20. เพราะเหตุใดพระยะโฮวาทรงยอมให้คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์บางคน “ล้มลง” เนื่องจากพวกผู้แทรกซึมที่แสร้งทำตัวเป็นคนดี?
20 ผู้แทรกซึมเป็นเหตุให้ผู้ซื่อสัตย์บางคนตกเข้าไปในเงื้อมมือเจ้าหน้าที่. เพราะเหตุใดพระยะโฮวาทรงยอมให้เกิดการเช่นนั้น? ก็เพื่อการถลุง การชำระให้สะอาด. ดังที่พระเยซู “ได้ทรงเรียนรู้จักการเชื่อฟังจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา” ฉันใด ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้เรียนรู้จักความอดทนจากการทดลองความเชื่อของเขาฉันนั้น. (เฮ็บราย 5:8; ยาโกโบ 1:2, 3; เทียบกับมาลาคี 3:3.) ฉะนั้น พวกเขา ‘ถูกถลุง, ถูกชำระให้ขาวสะอาด.’ ความยินดีอย่างใหญ่หลวงมีไว้คอยบรรดาผู้ซื่อสัตย์เหล่านั้นเมื่อวาระนั้นมาตามกำหนด เพื่อเขาจะได้รับบำเหน็จสำหรับความอดทนของเขา. เราจะเข้าใจเรื่องนี้เมื่อพิจารณาคำพยากรณ์ของดานิเอลมากขึ้น.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก และออกเป็นภาษาอังกฤษปี 1958 ณ การประชุมนานาชาติ “พระประสงค์ของพระเจ้า” จัดโดยคณะพยานพระยะโฮวา.
b เวิลด์ เพรส รีวิว ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1992 ได้นำลงบทความยกมาจาก เดอะ โตรอนโต สตาร์ ซึ่งว่าดังนี้: “เท่าที่ผ่านมาหลายปี คนรัสเซียได้เห็นภาพเกี่ยวด้วยประวัติศาสตร์ประเทศของตนซึ่งครั้งหนึ่งหลงคิดว่าไม่อาจโจมตีได้ต้องทลายลงนับสิบ ๆ อย่างเมื่อเผชิญข้อเท็จจริง. แต่การเปิดเผยเรื่องความร่วมมือระหว่างคริสต์จักรกับระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเหตุให้เกิดความสะเทือนใจอย่างหนักที่สุด.”
d “จนกว่าจะถึงเวลาสุดท้าย” อาจหมายถึง “ในระหว่างยุคสุดท้าย.” คำที่ได้รับการแปลว่า “จนกว่า” ปรากฏในดานิเอล 7:25 ภาษาอะราเมอิก และที่นั้นหมายความว่า “ในระหว่าง” หรือ “สำหรับ.” คำนี้มีความหมายคล้ายคลึงกันในข้อความภาษาฮีบรูที่ 2 กษัตริย์ 9:22, โยบ 20:5, และวินิจฉัย 3:26. อย่างไรก็ตาม ที่ดานิเอล 11:35 ฉบับแปลส่วนใหญ่ใช้คำ “จนกว่า” และหากว่าความเข้าใจนี้ถูกต้อง “เวลาสุดท้าย” ในข้อนี้ต้องหมายถึงเวลาสุดท้ายแห่งความอดทนของไพร่พลของพระเจ้า.—เทียบกับหนังสือ “ขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก” (ภาษาอังกฤษ) หน้า 286.
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดพวกเราทุกวันนี้พึงคาดหมายจะได้รับความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของดานิเอล?
▫ กษัตริย์ทิศเหนือ ‘เกรี้ยวกราด และลงมือปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผล’ อย่างไร?
▫ ชนจำพวกทาสเห็นล่วงหน้าอย่างไรว่า “สิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน” จะได้ปรากฏขึ้นมาอีก?
▫ โดยวิธีใด ชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ‘ล้มลง, ยืนมั่น, และได้รับการช่วยเหลือเล็กน้อย’?
[รูปภาพหน้า 15]
โดยฮิตเลอร์ กษัตริย์ทิศเหนือได้ฟื้นตัวเต็มที่จากการที่ตนพ่ายแพ้ต่ออำนาจกษัตริย์ทิศใต้เมื่อปี 1918
[รูปภาพหน้า 16]
พวกผู้นำคริสต์ศาสนจักรได้พยายามปลูกฝังสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ทิศเหนือ
[ที่มาของภาพ]
Zoran/Sipa Press