ชัยชนะเด็ดขาดของมิคาเอลเจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่
“ในสมัยนั้นมิคาเอลจะยืนขึ้น เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งยืนอยู่เพื่อเห็นแก่บุตรทั้งหลายแห่งชนร่วมชาติของเจ้า.”—ดานิเอล 12:1, ล.ม.
1. เหล่าผู้นำโลกหลายคนมีทัศนะเช่นไรต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา และกษัตริย์ทิศเหนือไม่ต่างจากคนเหล่านั้นอย่างไร?
“พระยะโฮวานั้นเป็นผู้ใดเล่า, ที่เราจะต้องฟังคำของท่าน, และปล่อยชนชาติยิศราเอลไป?” (เอ็กโซโด 5:2) นี้คือคำท้าทายที่ฟาโรห์ตรัสแก่โมเซ. ด้วยการไม่ยอมรับรองตำแหน่งองค์บรมมหิศรของพระยะโฮวา ฟาโรห์จึงปลงพระทัยแน่วแน่จะให้ชาติยิศราเอลเป็นทาสสืบไป. ผู้ปกครองอื่น ๆ ต่างก็เคยแสดงอาการดูหมิ่นพระยะโฮวาทำนองนี้ด้วย และบรรดากษัตริย์ในคำพยากรณ์ของดานิเอลก็ไม่มีข้อยกเว้น. (ยะซายา 36:13-20) ตามจริงแล้ว กษัตริย์ทิศเหนือทำเกินเลยเสียด้วยซ้ำ. ทูตสวรรค์ตรัสว่า “และกษัตริย์จะกระทำตามความพอใจของเขา เขาจะยกตนขึ้นและพองตัวขึ้นเหนือพระทุกองค์ และจะพูดสิ่งที่น่าอัศจรรย์กล่าวต่อสู้พระเจ้าแห่งพระทั้งหลาย . . . เขาจะไม่เชื่อฟังพระแห่งบรรพบุรุษของเขา หรือเชื่อฟังผู้ที่ผู้หญิงรัก เขาจะไม่เชื่อฟังพระองค์ใดเลยเพราะเขาจะพองตัวเองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง.”—ดานิเอล 11:36, 37, ฉบับแปลใหม่.
2, 3. ในทางใดกษัตริย์ทิศเหนือได้ปฏิเสธ “พระแห่งบรรพบุรุษของเขา” แล้วนิยมนมัสการ “พระเจ้า” อีกองค์หนึ่ง?
2 สำเร็จสมจริงดังถ้อยคำเชิงพยากรณ์เหล่านี้ กษัตริย์ทิศเหนือปฏิเสธ “พระแห่งบรรพบุรุษของเขา” (หรือตามฉบับแปลนิวอิงลิชไบเบิลว่า “พวกพระแห่งปู่ย่าตายายของเขา”) ไม่ว่าพวกพระนอกรีตของโรมหรือพระตรีเอกานุภาพแห่งคริสต์ศาสนจักร. ฮิตเลอร์ได้ใช้คริสต์ศาสนจักรเพื่อเป้าหมายของตัวเอง แต่ดูเหมือนวางแผนจะนำคริสต์จักรเยอรมันนิคแนวใหม่เข้ามาแทน. ผู้สืบทอดตำแหน่งจากเขาได้สนับสนุนลัทธิอเทวนิยมอย่างเปิดเผยทีเดียว. ดังนั้น กษัตริย์ทิศเหนือจึงตั้งตัวเองเป็นพระเจ้า ‘พองตัวขึ้นเหนือพระทุกองค์.’
3 คำพยากรณ์กล่าวต่อดังนี้: “เขาจะให้เกียรติยศแก่พระของป้อมปราการแทนสิ่งเหล่านี้ พระองค์หนึ่งที่บรรพบุรุษของเขาไม่รู้จัก เขาก็จะให้เกียรติด้วยทองคำและเงิน ด้วยเพชรนิลจินดา ด้วยของขวัญอันมีค่า.” (ดานิเอล 11:38, ฉบับแปลใหม่) แท้จริง กษัตริย์ทิศเหนือมอบความวางใจของตนไว้กับลัทธิวิทยาศาสตร์การทหารอันทันสมัย “พระของป้อมปราการ.” ตลอดสมัยสุดท้ายนี้ เขาพยายามแสวงความรอดผ่านมาทาง “พระเจ้า” องค์นี้ด้วยการถวายทรัพย์อันมีค่ามหาศาลบนแท่นของพระองค์นี้.
4. กษัตริย์ทิศเหนือประสบความสำเร็จในทางใด?
4 “เขาจะสู้รบกับป้อมปราการที่แข็งแรงที่สุดด้วยความช่วยเหลือของพระต่างด้าว ใคร ๆ ที่นับถือเขา เขาก็พอกพูนศักดิ์ศรีให้ เขาจะแต่งตั้งให้ครอบครองคนเป็นอันมาก และเขาจะแบ่งแผ่นดินให้เป็นสิ่งตอบแทน.” (ดานิเอล 11:39, ฉบับแปลใหม่) ด้วยการไว้วางใจ “พระต่างด้าว” คือการทหาร กษัตริย์ทิศเหนือได้ดำเนินการ ‘อย่างมีประสิทธิผล’ มากที่สุด จึงแสดงตัวเป็นมหาอำนาจทางทหารที่น่าเกรงขามใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1) คนทั้งหลายที่ส่งเสริมอุดมการณ์ของเขาได้รับการสนับสนุนทางการเมือง, ทางการเงิน, และบางครั้งในทางทหารเป็นการตอบแทน.
“ถึงเวลาวาระสุดท้าย”
5, 6. กษัตริย์ทิศใต้ ‘สู้รบ’ โดยวิธีใด และกษัตริย์ทิศเหนือโต้ตอบอย่างไร?
5 ดานิเอล 11:40ก (ฉบับแปลใหม่) บอกอย่างนี้: “พอถึงเวลาวาระสุดท้าย พระราชาแห่งถิ่นใต้จะมาสู้กับเขา.” ข้อนี้และข้อถัดไปเคยมีความคิดเห็นว่าความสำเร็จสมจริงนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคต. อย่างไรก็ตาม ถ้า “วาระสุดท้าย” ที่นี้หมายความทำนองเดียวกันกับที่กล่าวในดานิเอล 12:4, 9, เราก็ควรจะคาดว่าความสมจริงแห่งถ้อยคำเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างยุคสุดท้าย. ในช่วงนี้กษัตริย์ทิศใต้ได้ ‘มาสู้กับ’ กษัตริย์ทิศเหนือไหม? แน่นอน. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สนธิสัญญาสันติภาพเพื่อลงโทษนั้นที่แท้ก็เป็นการ ‘สู้’ เป็นการยุให้เกิดการโต้ตอบ. ภายหลังชัยชนะของเขาในสงครามโลกครั้งที่สอง กษัตริย์ทิศใต้เล็งเป้าอาวุธนิวเคลียร์อันน่าสะพรึงกลัวไปที่คู่แข่งของตน และได้รวบรวมพันธมิตรทางทหารที่มีกำลังเข้มแข็งตั้งเป็นองค์การนาโตเพื่อต่อสู้เขา. เมื่อกาลเวลาผ่านไป การ “มาสู้” ของเขารวมเอาการทำจารกรรมซึ่งอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงและการรุกทั้งทางการทูตและกำลังทหาร.
6 กษัตริย์ทิศเหนือมีปฏิกิริยาอย่างไร? “และพระราชาแห่งถิ่นเหนือจะพุ่งเข้าใส่ท่านอย่างลมบ้าหมู พร้อมด้วยรถรบและเรือรบเป็นอันมาก เขาจะเข้ามาในประเทศต่าง ๆ แล้วไหลท่วมและผ่านไป.” (ดานิเอล 11:40ข, ฉบับแปลใหม่) ประวัติศาสตร์สมัยสุดท้ายแสดงให้เห็นเด่นชัดในเรื่องการขยายอำนาจของกษัตริย์ทิศเหนือ. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง “กษัตริย์” ฝ่ายนาซีได้รุกทะลักข้ามพรมแดนของตนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. พอสิ้นสงครามครั้งนั้น “กษัตริย์” ที่สืบตำแหน่งได้สร้างจักรวรรดิที่มีอำนาจนอกเขตแดนของตัวเอง. ในช่วงสงครามเย็น กษัตริย์ทิศเหนือได้สู้รบกับคู่แข่งของตนในประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ทิศเหนือและทิศใต้ และเป็นตัวก่อการจลาจลในแอฟริกา, เอเชีย, และในลาตินอเมริกา. เขาได้ข่มเหงคริสเตียนแท้ จำกัดกิจการของพวกเขา (แต่ไม่อาจทำให้พวกเขาหยุดได้). การรุกทางทหารและทางการเมืองทำให้เขาได้หลายประเทศมาไว้ใต้อำนาจของเขา. ทั้งนี้ตรงกับคำตรัสพยากรณ์ของทูตสวรรค์ที่ว่า “เขาจะเข้ามาในแผ่นดินที่รุ่งโรจน์ [ภาวะฝ่ายวิญญาณแห่งไพร่พลของพระเจ้า] และจะตายเป็นหมื่น ๆ [และจะมีหลายดินแดนซึ่งจะถูกทำให้สะดุดล้ม, ล.ม.].”—ดานิเอล 11:41ก, ฉบับแปลใหม่.
7. การขยายอำนาจของกษัตริย์ทิศเหนือมีขอบเขตมากน้อยเท่าไร?
7 แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า—ในสายตาคู่แข่งของเขา—กษัตริย์ทิศเหนือปรากฏขึ้นมาราง ๆ พร้อมกับความหายนะ เขาหาได้ปราบโลกจนมีชัยชนะไม่. “แต่คนเหล่านี้จะได้รับการช่วยกู้ให้พ้นมือของเขา คือเอโดมและโมอับ และส่วนใหญ่ของอัมโมน.” (ดานิเอล 11:41ข, ฉบับแปลใหม่) พูดอย่างคร่าว ๆ ในสมัยโบราณ เมืองอะโดม โมอาบและอำโมนตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ประเทศอียิปต์กับซีเรีย. อาจพอเข้าใจได้ว่าประเทศดังกล่าวหมายถึงชาติและองค์การต่าง ๆ สมัยนี้ซึ่งกษัตริย์ทิศเหนือได้เล็งเป้าไว้แล้วแต่ไม่สามารถรวบให้มาอยู่ใต้อำนาจของตน.
‘อียิปต์ก็จะพ้นไปไม่ได้’
8, 9. โดยวิธีใดอิทธิพลของกษัตริย์ทิศเหนือจึงเป็นที่สังเกต กระทั่งจากคู่แข่งสำคัญของเขาด้วยซ้ำ?
8 ทูตสวรรค์ตรัสต่อไปอีกว่า “เขาจะยืดมือของเขาออกต่อประเทศต่าง ๆ และแผ่นดินอียิปต์ก็จะพ้นไปไม่ได้. เขาจะปกครองทรัพย์สมบัติที่เป็นทองและเงิน และสิ่งประเสริฐทั้งหลายของอียิปต์ คนลิเบีย และคนเอธิโอเปียก็จะติดตามไปด้วย.” (ดานิเอล 11:42, 43, ฉบับแปลใหม่) แม้แต่ “อียิปต์” กษัตริย์ทิศใต้ หาได้พ้นผลกระทบต่าง ๆ ตามนโยบายขยายอำนาจแห่งกษัตริย์ทิศเหนือไม่. เขาได้ประสบ เป็นต้นว่า การแพ้สงครามอย่างเห็นได้ชัดในเวียดนาม. จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับ “คนลิเบียและคนเอธิโอเปีย”? ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ของอียิปต์ครั้งโบราณอาจหมายถึงชาติต่าง ๆ ที่พูดกันทางภูมิศาสตร์ เป็นเพื่อนบ้านกับ “อียิปต์” สมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และซึ่งบางครั้งเป็นบริวาร ‘ติดตาม’ กษัตริย์ทิศเหนือ.
9 กษัตริย์ทิศเหนือได้ครอบครอง ‘คลังทรัพย์ของอียิปต์’ ไหม? เอาละ ที่แน่ ๆ คือ เขาไม่ได้ชนะกษัตริย์ทิศใต้ และจนถึงปี 1993 สถานการณ์โลกทำให้ดูเหมือนว่าเขาคงไม่สามารถทำได้. แต่เขาก็มีอิทธิพลมากในวิธีที่กษัตริย์ทิศใต้ได้ใช้แหล่งทรัพยากรทางการเงินของตน. เนื่องจากกลัวคู่แข่งของตน กษัตริย์ทิศใต้จึงได้สละเงินจำนวนมากทุกปีเพื่อคงไว้ซึ่งแสนยานุภาพอันน่าเกรงขามของกองทัพบก, กองทัพเรือ, และกองทัพอากาศ. ถึงขั้นนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่ากษัตริย์ทิศเหนือมีอำนาจ ‘ครอบครอง,’ ควบคุม, การใช้ทรัพย์สินของกษัตริย์ทิศใต้.
การรณรงค์รอบสุดท้ายของกษัตริย์ทิศเหนือ
10. ทูตสวรรค์พรรณนาอย่างไรเกี่ยวด้วยอวสานการช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์สององค์นี้?
10 การช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์สององค์นี้จะดำเนินไปจนไม่มีเวลากำหนดหรือ? หามิได้. ทูตสวรรค์บอกแก่ดานิเอลดังนี้: “ข่าวจากทิศตะวันออกและทิศเหนือจะกระทำให้เขาตกใจ และเขาจะยกออกไปด้วยความเคียดแค้นอย่างยิ่งที่จะทำลายและล้างผลาญคนเป็นอันมากเสียให้สิ้นเชิง และเขาจะกางเต็นท์หลวงระหว่างทะเลและภูเขาบริสุทธิ์รุ่งโรจน์, แล้วก็จะสิ้นชีวิต ไม่มีใครช่วยเขาเลย.”—ดานิเอล 11:44, 45, ฉบับแปลใหม่.
11, 12. เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์ทิศเหนือกับกษัตริย์ทิศใต้ และเรายังจะต้องเรียนรู้สิ่งใด?
11 เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เราบอกรายละเอียดไม่ได้ว่าคำพยากรณ์นี้จะสำเร็จสมจริงอย่างไร. ไม่นานมานี้ สภาพการณ์ด้านการเมืองเกี่ยวด้วยกษัตริย์สององค์นี้ได้เปลี่ยนไป. การแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างประเทศสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกค่อยผ่อนคลายลง. นอกจากนั้น สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายเมื่อปี 1991 และไม่มีอีกต่อไป.—ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 1992 หน้า 4, 5.
12 ฉะนั้น ใครคือกษัตริย์ทิศเหนือในปัจจุบัน? เขาจะได้รับการระบุว่าเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเคยเป็นส่วนของอดีตสหภาพโซเวียตไหม? หรือเขากำลังเปลี่ยนเอกลักษณ์อย่างสิ้นเชิง อย่างเมื่อก่อนเคยเป็นเช่นนั้นหลายครั้ง? เราไม่สามารถบอกได้. ใครจะเป็นกษัตริย์ทิศเหนือเมื่อคำพยากรณ์ในดานิเอล 11;44, 45 สำเร็จสมจริง? การช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์สององค์จะลุกเป็นไฟอีกไหม? และจะว่าอย่างไรกับคลังอาวุธนิวเคลียร์มากมายซึ่งยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ? เวลาเท่านั้นจะตอบคำถามเหล่านี้.
13, 14. เรารู้อะไรเกี่ยวกับอนาคตของกษัตริย์สององค์นี้?
13 เรารู้อยู่ข้อหนึ่ง. ในไม่ช้ากษัตริย์ทิศเหนือจะลงมือเป็นฝ่ายรุกซึ่งจะถูกจุดชนวนโดย “ข่าวจากทิศตะวันออกและทิศเหนือ จะกระทำให้เขาตกใจ.” เมื่อปฏิบัติการนี้จะเกิดขึ้น “การสิ้นพระชนม์” ของเขาจะตามมาทันที. เราจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ “ข่าว” เหล่านี้ ถ้าเราพิจารณาคำพยากรณ์ข้ออื่นของคัมภีร์ไบเบิล.
14 แต่ก่อนอื่น โปรดสังเกตว่าไม่มีการพูดถึงการกระทำเหล่านี้ของกษัตริย์ทิศเหนือว่าจะเป็นการต่อสู้กษัตริย์ทิศใต้. เขาไม่ได้สิ้นชีวิตโดยน้ำมือคู่แข่งสำคัญของเขา. ในทำนองเดียวกัน กษัตริย์ทิศใต้ก็หาได้ถูกกษัตริย์ทิศเหนือล้างผลาญไม่. กษัตริย์ฝ่ายใต้ (แสดงในคำพยากรณ์ข้ออื่น ๆ ว่าเป็นเขาสุดท้ายที่จะปรากฏขึ้นบนหัวสัตว์ร้าย) ถูกทำลายโดยราชอาณาจักรของพระเจ้า ‘ไม่ใช่ด้วยมือมนุษย์คนใด.’ (ดานิเอล 7:26; 8:25) อันที่จริง ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำลายกษัตริย์ทั้งปวงทางแผ่นดินโลกในที่สุดคราวสงครามอาร์มาเก็ดดอน, และปรากฏชัดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์ทิศเหนือ. (ดานิเอล 2:44; 12:1; วิวรณ์ 16:14, 16) ดานิเอล 11:44, 45 พรรณนาเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามครั้งสุดท้ายนี้. ไม่แปลกที่ “ไม่มีใครจะช่วยเขา” เมื่อกษัตริย์ทิศเหนือได้มาถึงจุดจบ!
15. ยังเหลือคำถามสำคัญอะไรที่ต้องพิจารณากัน?
15 ครั้นแล้ว คำพยากรณ์อื่น ๆ อะไรบ้างส่องประกายให้เห็น “ข่าว” ซึ่งทำให้กษัตริย์ทิศเหนือยกออกไป “ทำลายและล้างผลาญคนเป็นอันมากเสียให้สิ้นเชิง.” และใครคือ ‘คนเป็นอันมาก’ ที่เขาต้องการทำลาย?
ข่าวจากทิศตะวันออก
16. (ก) เหตุการณ์เด่นอะไรต้องเกิดขึ้นก่อนอาร์มาเก็ดดอน? (ข) ใครคือ “กษัตริย์องค์เหล่านั้นที่มาจากตะวันออก“?
16 ก่อนสงครามครั้งสุดท้ายคืออาร์มาเก็ดดอน ศัตรูสำคัญของการนมัสการแท้ต้องถูกทำลาย—บาบูโลนใหญ่ที่เปรียบเหมือนหญิงแพศยา จักรวรรดิแห่งศาสนาเท็จทั่วโลก. (วิวรณ์ 18:3-8) ความพินาศของเมืองนี้แสดงภาพล่วงหน้าโดยการเทขันที่หกแห่งพระพิโรธของพระเจ้าลงบนแม่น้ำใหญ่ยูเฟรติสโดยนัย. และแม่น้ำก็แห้งไป “เพื่อจะได้เตรียมมรรคาไว้สำหรับกษัตริย์องค์เหล่านั้นที่มาจากทิศตะวันออก.” (วิวรณ์ 16:12) กษัตริย์เหล่านี้คือใคร? ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์!a
17. (ก) คัมภีร์ไบเบิลแจ้งแก่เราอย่างไรถึงการทำลายบาบูโลนใหญ่? (ข) ข่าว “จากทิศตะวันออก” อาจปรากฏว่าเป็นอะไร?
17 การทำลายบาบูโลนใหญ่มีภาพบรรยายไว้อย่างชัดเจนในพระธรรมวิวรณ์ดังนี้: “และเขาสิบเขาที่ท่านได้เห็นนั้น [‘บรรดากษัตริย์’ ที่ปกครองในสมัยสุดท้าย] และสัตว์ร้ายนั้น [สัตว์ร้ายสีแดงเข้ม แสดงนัยถึงองค์การสหประชาชาติ] เหล่านี้จะเกลียดชังหญิงแพศยานั้นและจะทำให้นางถูกล้างผลาญและเปลือยกายและจะกินเนื้อของนางและเผานางจนสิ้นด้วยไฟ.” (วิวรณ์ 17:16, ล.ม.) ชาติต่าง ๆ ‘กินเนื้อมาก’ จริง ๆ! (ดานิเอล 7:5) แต่เหตุใดบรรดาผู้ครอบครอง รวมทั้งกษัตริย์ทิศเหนือ จะทำลายบาบูโลนใหญ่? เพราะว่า ‘พระเจ้าทรงบันดาลใจเขาให้ทำตามความคิดของพระองค์.’ (วิวรณ์ 17:17) ข่าว “จากทิศตะวันออก” อาจพาดพิงถึงการกระทำนั้น ๆ ของพระยะโฮวาในวิถีทางที่พระองค์ทรงเลือก เมื่อพระองค์บันดาลใจพวกผู้นำที่เป็นมนุษย์ให้ล้างผลาญแพศยาตัวสำคัญทางศาสนาให้สิ้นสูญ.—ดานิเอล 11:44.
ข่าวจากทิศเหนือ
18. กษัตริย์ทิศเหนือมีเป้าหมายอื่นอะไรอีก และเรื่องนี้แจ้งว่าเขาอยู่ที่ไหนเมื่อเขามาถึงจุดจบของเขา?
18 แต่มีอีกที่หนึ่งเป็นเป้าหมายแห่งความกริ้วของกษัตริย์ทิศเหนือ? ทูตสวรรค์ตรัสว่าเขาจะ “กางเต็นท์หลวงระหว่างทะเลและภูเขาบริสุทธิ์รุ่งโรจน์.” (ดานิเอล 11:45, ฉบับแปลใหม่) ในสมัยดานิเอล ทะเลนั้นก็คือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และภูเขาบริสุทธิ์ได้แก่ซีโอน ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งพระวิหารของพระเจ้า. ดังนั้น ในความสำเร็จของคำพยากรณ์ กษัตริย์ทิศเหนือที่กริ้วโกรธจะนำทัพไปต่อสู้ไพร่พลของพระเจ้า! พูดในแง่ฝ่ายวิญญาณ เวลานี้ “ระหว่างทะเลและภูเขาบริสุทธิ์” ทำให้เขาอยู่ในพื้นที่ฝ่ายวิญญาณแห่งผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระเจ้า ซึ่งได้ออกมาจาก “ทะเล” อันหมายถึงมนุษย์ที่ห่างเหินจากพระเจ้า และมีความหวังจะร่วมการปกครองที่ซีโอนทางภาคสวรรค์กับพระเยซูคริสต์.—ยะซายา 57:20; เฮ็บราย 12:22; วิวรณ์ 14:1.
19. ตามที่แสดงไว้ในคำพยากรณ์ของยะเอศเคล เราอาจระบุรายงานที่เร้าโฆฆให้โจมตีนั้นอย่างไร? (ดูเชิงอรรถ.)
19 ยะเอศเคล ผู้พยากรณ์ร่วมสมัยกับดานิเอลก็เช่นกันได้พยากรณ์เรื่องการโจมตีไพร่พลของพระเจ้า “ในวันทั้งหลายที่สุด.” ท่านได้พูดว่าโฆฆแห่งมาโฆฆ หมายถึงซาตานพญามารจะเริ่มเปิดฉากสู้รบ. (ยะเอศเคล 38:16) โดยอุปมาแล้ว โฆฆมาจากทิศใด? พระยะโฮวาตรัสผ่านยะเอศเคลดังนี้: “ท่านมาแต่ในตำบลของท่านอันอยู่ในที่สุดทิศเหนือ.” (ยะเอศเคล 38:15) ฉะนั้น ข่าว “จากทิศเหนือ” อาจเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของซาตานที่เร้าใจกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์องค์อื่น ๆ ให้จู่โจมไพร่พลของพระยะโฮวา.b—เทียบกับวิวรณ์ 16:13, 14; 17:14.
20, 21. (ก) ทำไมโฆฆจะปลุกเร้านานาประเทศ รวมทั้งกษัตริย์ทิศเหนือด้วย ให้โจมตีไพร่พลของพระเจ้า? (ข) การโจมตีของเขาจะสำเร็จไหม?
20 โฆฆจัดตั้งการโจมตีอย่างเต็มที่เนื่องด้วยความเจริญมั่งคั่งแห่ง “ยิศราเอลของพระเจ้า” ผู้ซึ่งพร้อมกับชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นไม่เป็นส่วนของโลกอีกต่อไป. (ฆะลาเตีย 6:16; โยฮัน 10:16; 17:15, 16; 1 โยฮัน 5:19) ด้วยความริษยา โฆฆมองดู “ประชาชนซึ่งรวบรวมจากบรรดาประชาชาติ ผู้ที่ได้สัตว์และข้าวของ [ฝ่ายวิญญาณ].” (ยะเอศเคล 38:12; ฉบับแปลใหม่, วิวรณ์ 5:9; 7:9) สมจริงตามถ้อยคำเหล่านี้ ไพร่พลของพระยะโฮวาเจริญมั่งคั่งในเวลานี้มากกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมา. ในหลายประเทศในยุโรป, แอฟริกา, และเอเชีย ซึ่งเคยสั่งห้ามไพร่พลเหล่านี้ บัดนี้พวกเขานมัสการพระเจ้าได้อย่างเสรี. ระหว่างปี 1987 ถึง 1992 “สิ่งน่าปรารถนา” จากนานาชาติได้พากันเข้ามายังสถานแห่งการนมัสการแท้ของพระยะโฮวา. ในแง่ฝ่ายวิญญาณ พวกเขามั่งคั่งและมีสันติสุข.—ฮาฆี 2:7, ล.ม; ยะซายา 2:2-4; 2 โกรินโธ 8:9.
21 เมื่อมองดูที่อาศัยฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนเป็นดุจ “ชนบทไม่มีกำแพงล้อม” เข้าปล้นได้ง่าย โฆฆพยายามอย่างยิ่งที่จะขจัดสิ่งกีดขวางนี้เพื่อตนจะมีอำนาจควบคุมมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง. (ยะเอศเคล 38:11, ฉบับแปลใหม่) ทว่ามันทำไม่สำเร็จ. เมื่อบรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกโจมตีไพร่พลของพระยะโฮวา พวกเขาต่างก็จะ ‘มาถึงจุดจบ.’ โดยวิธีใด?
กษัตริย์องค์ที่สาม
22, 23. เมื่อโฆฆโจมตี ใครจะยืนขึ้นเพื่อเห็นแก่ไพร่พลของพระเจ้า และผลเป็นประการใด?
22 ยะเอศเคลบอกว่าการโจมตีของโฆฆเป็นหมายสำคัญสำหรับพระเจ้ายะโฮวาให้ลุกขึ้นเพื่อเห็นแก่ไพร่พลของพระองค์และจะทรงทำลายกองกำลังของโฆฆ “ที่ภูเขาทั้งหลายแห่งยิศราเอล.” (ยะเอศเคล 38:18; 39:4) เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ทูตสวรรค์ตรัสแก่ดานิเอลว่า “ในสมัยนั้นมิคาเอลจะยืนขึ้น เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งยืนอยู่เพื่อเห็นแก่บุตรทั้งหลายแห่งชนร่วมชาติของเจ้า. และเมื่อนั้นจะเป็นยุคแห่งความยากลำบากแน่ ๆ ซึ่งไม่เคยมีความลำบากใดเท่านับตั้งแต่เกิดเป็นชาติมาจนถึงเวลานั้น. และในสมัยนั้นชนร่วมชาติของเจ้าจะหนีรอด คือทุกคนที่มีชื่อจารึกไว้ในสมุดนั้น.”—ดานิเอล 12:1, ล.ม.
23 ในปี 1914 พระเยซู—มิคาเอล นักรบทางภาคสวรรค์—ทรงรับอำนาจเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภาคสวรรค์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 11:15; 12:7-9) ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงยืนอยู่ ‘เพื่อเห็นแก่เพื่อนร่วมชาติของดานิเอล.’ อีกไม่นาน พระองค์จะ “ทรงยืนขึ้น” ในพระนามแห่งพระยะโฮวาฐานะกษัตริย์นักรบที่ไม่มีผู้ใดชนะได้ แล้วพระองค์ “จะทรงสนองโทษแก่คนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักพระเจ้า, และไม่เชื่อฟังกิตติคุณของพระเยซูเจ้าของเรา..” (2 เธซะโลนิเก 1:8) บรรดาชาติต่าง ๆ บนแผ่นดินโลก รวมทั้งกษัตริย์ที่ระบุในคำพยากรณ์ของดานิเอลก็จะ “จะพิลาปร่ำไร.” (มัดธาย 24:30) ด้วยความคิดชั่วต่อ ‘เพื่อนร่วมชาติของดานิเอล’ ยังคาอยู่ในหัวใจของเขา เขาจะพินาศชั่วกาลนานโดยพระหัตถ์ของ ‘มิคาเอล เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่.’—วิวรณ์ 19:11-21.
24. การศึกษาคำพยากรณ์ของดานิเอลน่าจะส่งผลกระทบเช่นไรต่อพวกเรา?
24 พวกเราปรารถนาจะเห็นชัยชนะครั้งใหญ่ของมิคาเอลและของพระยะโฮวา พระเจ้าของท่านมิใช่หรือ? เพราะชัยชนะนั้นจะหมายถึง “การหนีรอด,” รอดชีวิตสำหรับคริสเตียนแท้. (เทียบมาลาคี 4:1-3) ดังนั้น เมื่อเรามองอนาคตด้วยความคาดหวังอันแรงกล้า เราระลึกถึงถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงทำอย่างรีบด่วน ทั้งในยามเอื้ออำนวยและในยามยากลำบาก.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ขอให้พวกเรายึดมั่นในถ้อยคำแห่งชีวิตและขยันเสาะหาแกะของพระยะโฮวาขณะที่ยามเอื้ออำนวยยังไม่หมด. การวิ่งเพื่อชีวิตของพวกเราอยู่ในช่วงระหว่างหัวโค้งสุดท้าย. เรามองเห็นรางวัลอยู่ข้างหน้า. ขอให้ทุกคนตั้งใจอดทนจนถึงที่สุด และเมื่อทำเช่นนั้นจะอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่จะรอด.—มัดธาย 24:13; เฮ็บราย 12:1.
[เชิงอรรถ]
a ดูหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก หน้า 229-230
b หรือมิฉะนั้น ข่าว “จากทิศเหนือ” อาจเริ่มขึ้นที่พระยะโฮวาก็ได้เมื่อคำนึงถึงคำตรัสของพระองค์ต่อโฆฆที่ว่า “เราจะให้ . . . ขอเกี่ยวที่ต้นคางของท่าน, และจะนำท่านออกไป.” “เราจะยังเจ้าให้กลับ . . . แต่ที่สุดทิศเหนือ, และจะให้เจ้ามายังภูเขาทั้งหลายแห่งยิศราเอล.”—ยะเอศเคล 38:4; 39:2; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 48:2.
คุณเข้าใจไหม?
▫ กษัตริย์ทิศใต้ปะทะกับกษัตริย์ทิศเหนือตลอดยุคสุดท้ายอย่างไร?
▫ พวกเรายังต้องเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผลของการชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์สององค์?
▫ เหตุการณ์สองอย่างอะไรก่อนอาร์มาเก็ดดอนจะเกี่ยวข้องแน่นอนกับกษัตริย์ทิศเหนือ?
▫ โดยวิธีใด ‘มิคาเอล เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่’ จะคุ้มครองไพร่พลของพระเจ้า?
▫ พวกเราน่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อเราได้ศึกษาคำพยากรณ์ของดานิเอล?
[รูปภาพหน้า 19]
กษัตริย์ทิศเหนือได้นมัสการพระเจ้าที่ต่างจากพระทั้งหลายแห่งบรรพบุรุษของเขา
[ที่มาของภาพ]
Top left and middle: UPI/Bettmann; bottom left: Reuters/Bettmann; bottom right: Jasmin/Gamma Liaison