พระธรรมเล่มที่ 27—ดานิเอล
ผู้เขียน: ดานิเอล
สถานที่เขียน: บาบูโลน
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 536 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: 618-ประมาณปี 536 ก.ส.ศ.
1. ประวัติศาสตร์แบบใดที่มีบันทึกในพระธรรมดานิเอล และเน้นเรื่องอะไร?
ในสมัยนี้ ขณะที่นานาชาติล่อแหลมต่อภัยพิบัติ พระธรรมดานิเอลชี้ให้สนใจข่าวสารเชิงพยากรณ์ที่มีความหมายสำคัญ. ในขณะที่พระธรรมซามูเอล, พงศาวดารกษัตริย์, และโครนิกาอาศัยประจักษ์พยานเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรซึ่งเป็นภาพเล็งถึงราชอาณาจักรของพระเจ้า (ราชวงศ์ของดาวิด) พระธรรมดานิเอลกลับมุ่งสนใจนานาชาติในโลกและให้ภาพล่วงหน้าของการต่อสู้ชิงอำนาจของราชวงศ์ใหญ่ ๆ ตั้งแต่สมัยของดานิเอลเรื่อยมาจนถึง “วาระสุดท้าย.” นี่เป็นประวัติศาสตร์โลกที่เขียนไว้ล่วงหน้า. พระธรรมดานิเอลนำไปสู่จุดสุดยอดที่น่าสนใจยิ่งเพื่อแสดงว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น “ในระยะเวลาเบื้องปลาย.” เหมือนนะบูคัดเนซัร นานาชาติจะต้องเรียนรู้ว่า “พระผู้สูงสุดได้ทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์” และในที่สุดพระองค์จะทรงประทานอาณาจักรนั้นแก่ผู้ที่เป็น “ดังบุตรของมนุษย์” อันได้แก่พระมาซีฮาและผู้นำ คือพระคริสต์เยซู. (ดานิ. 12:4; 10:14; 4:25; 7:13, 14; 9:25; โย. 3:13-16) โดยเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต่อความสำเร็จเป็นจริงเชิงพยากรณ์ของพระธรรมดานิเอลที่มีขึ้นโดยการดลใจ เราจะเข้าใจมากขึ้นในเรื่องอำนาจพยากรณ์ของพระยะโฮวารวมทั้งคำรับรองของพระองค์เรื่องการคุ้มครองและพระพรสำหรับไพร่พลของพระองค์.—2 เป. 1:19.
2. อะไรยืนยันว่าดานิเอลเป็นบุคคลจริง ๆ และท่านพยากรณ์ในช่วงเวลาใดซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์?
2 พระธรรมนี้ตั้งชื่อตามผู้เขียน. “ดานิเอล” (ฮีบรู, ดานิเยลʹ) หมายความว่า “ผู้พิพากษาของข้าฯ คือพระเจ้า.” ยะเอศเคลซึ่งมีชีวิตในสมัยเดียวกันยืนยันว่าดานิเอลเป็นบุคคลจริง โดยเอ่ยชื่อท่านพร้อมกับโนฮาและโยบ. (ยเอศ. 14:14, 20; 28:3) ดานิเอลระบุวันที่เริ่มเขียนพระธรรมนี้ว่าเป็น “ปีที่สามในรัชกาลของราชายะโฮยาคิมกษัตริย์ของยะฮูดา.” นั่นคือปี 618 ก.ส.ศ. ปีที่สามซึ่งยะโฮยาคิมเป็นกษัตริย์ประเทศราช ของนะบูคัดเนซัร.a นิมิตเชิงพยากรณ์ของดานิเอลดำเนินมาจนถึงปีที่สามของไซรัส คือประมาณปี 536 ก.ส.ศ. (ดานิ. 1:1; 2:1; 10:1, 4) ช่วงชีวิตของดานิเอลนับว่าครอบคลุมหลายปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ จริง ๆ! ท่านใช้ชีวิตช่วงแรกอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้าในยูดา. ต่อมา ในฐานะเจ้านายหนุ่ม ท่านถูกนำไปบาบูโลนพร้อมกับเพื่อน ๆ ชาวยูดาที่สูงศักดิ์เพื่อมีชีวิตผ่านช่วงแห่งความรุ่งเรืองและความล่มจมของมหาอำนาจที่สามของโลกตามประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิล. ดานิเอลมีชีวิตอยู่มาจนทำหน้าที่เป็นข้าราชการในมหาอำนาจที่สี่ของโลก คือมิโด-เปอร์เซีย. ดานิเอลคงต้องมีชีวิตอยู่เกือบ 100 ปีทีเดียว.
3. อะไรพิสูจน์ว่าพระธรรมดานิเอลเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์และเชื่อถือได้?
3 ชาวยิวรวมพระธรรมดานิเอลไว้ในรายชื่อพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเสมอ. ชิ้นส่วนของพระธรรมดานิเอลถูกค้นพบอยู่ในหมู่พระธรรมอื่น ๆ ของสารบบพระคัมภีร์ในม้วนหนังสือทะเลตาย (เดดซี) ซึ่งบางชิ้นมีอายุตั้งแต่ช่วงห้าสิบปีแรกของศตวรรษที่หนึ่ง ก.ส.ศ. อย่างไรก็ตาม ข้อพิสูจน์ที่สำคัญกว่าในเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้พบในการอ้างอิงถึงพระธรรมนี้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. พระเยซูทรงเอ่ยชื่อดานิเอลโดยเฉพาะในคำพยากรณ์ของพระองค์เรื่อง “ช่วงอวสานของระบบ” ซึ่งพระองค์ได้ยกจากพระธรรมดานิเอลไปกล่าวหลายตอน.—มัด. 24:3, ล.ม.; โปรดดู ดานิ. 9:27; 11:31; และ 12:11—มัด. 24:15 และ มโก. 13:14; ดานิ. 12:1—มัด. 24:21; ดานิ. 7:13, 14—มัด. 24:30 ด้วย.
4, 5. โบราณคดีได้หักล้างคำกล่าวของพวกนักวิจารณ์พระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับพระธรรมดานิเอลอย่างไร?
4 แม้พวกนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลตั้งข้อสงสัยว่าพระธรรมดานิเอลเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่การค้นพบทางโบราณคดีตลอดหลายปีก็ได้หักล้างคำกล่าวของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง. ยกตัวอย่าง นักวิจารณ์เหล่านี้ดูถูกคำกล่าวของดานิเอลที่ว่า เบละซาซัรเป็นกษัตริย์ในบาบูโลนในเวลาที่นะโบไนดัสเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นผู้ปกครองประเทศ. (ดานิ. 5:1) บัดนี้ โบราณคดีได้ให้หลักฐานที่แย้งไม่ได้ว่า เบละซาซัรเป็นบุคคลจริงและเป็นกษัตริย์ครองราชย์ร่วมกับนะโบไนดัสในช่วงปีท้าย ๆ ของจักรวรรดิบาบูโลน. ตัวอย่างเช่น ข้อความโบราณที่เขียนด้วยอักษรรูปลิ่มซึ่งมีพรรณนาว่าเป็น “จดหมายเหตุของนะโบไนดัส” ยืนยันชัดเจนว่า เบละซาซัรใช้อำนาจกษัตริย์ที่บาบูโลนและอธิบายวิธีที่ท่านได้ขึ้นมาเป็นผู้ครองราชย์ร่วมกับนะโบไนดัส.b หลักฐานอื่น ๆ ที่เป็นข้อความที่เป็นอักษรรูปลิ่มก็สนับสนุนความเห็นที่ว่า เบละซาซัรใช้อำนาจกษัตริย์. แผ่นดินเหนียวแผ่นหนึ่งซึ่งระบุว่าเขียนในปีที่ 12 แห่งรัชกาลนะโบไนดัส มีคำปฏิญาณที่ทำในนามกษัตริย์นะโบไนดัสและเบละซาซัรราชบุตร จึงแสดงว่าเบละซาซัรครองตำแหน่งร่วมกับราชบิดา.c อนึ่ง เรื่องนี้นับว่าน่าสนใจในการอธิบายสาเหตุที่เบละซาซัรเสนอจะตั้งดานิเอลเป็น “อุปราชชั้นตรีครองแผ่นดินนี้” ถ้าท่านสามารถตีความถ้อยคำที่เขียนด้วยมือบนกำแพงได้. นับว่านะโบไนดัสจะอยู่ในอันดับแรก, เบละซาซัรจะเป็นอันดับสอง, และดานิเอลจะได้รับการประกาศว่าเป็นผู้ปกครองอันดับสาม. (5:16, 29) นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า “อักขระรูปลิ่มที่พูดถึงเบละซาซัรให้ความกระจ่างถึงบทบาทของท่านซึ่งเผยให้เห็นชัดเจนถึงตำแหน่งของท่านในประวัติศาสตร์. มีข้อความหลายตอนระบุว่าเบละซาซัรเกือบจะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับนะโบไนดัส. การครองราชย์ร่วมระหว่างเวลาส่วนใหญ่ของช่วงสุดท้ายของนีโอ-บาบิโลนเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยัน. นะโบไนดัสใช้อำนาจสูงสุดจากราชสำนักของตนในเมืองเทมาบนคาบสมุทรอาหรับ ขณะที่เบละซาซัรทำหน้าที่เป็นผู้ครองอำนาจร่วมในปิตุภูมิโดยมีบาบูโลนเป็นศูนย์อำนาจ. ปรากฏชัดว่าเบละซาซัรไม่ใช่อุปราชที่อ่อนแอ; ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘กษัตริย์.’”d
5 บางคนพยายามบั่นทอนความน่าเชื่อถือของเรื่องราวในดานิเอลเกี่ยวกับเตาไฟที่ร้อนแรง (บท 3) โดยบอกว่าเรื่องนี้เป็นนิทานที่แต่งขึ้น. ตอนหนึ่งในจดหมายของชาวบาบูโลนโบราณฉบับหนึ่งอ่านว่า “ริม-ซิน นายเจ้าจึงกล่าวว่า เพราะเขาได้โยนทาสหนุ่มลงไปในเตาไฟ เจ้าจงโยนทาสนั้นลงในเตาไฟ.” ที่น่าสนใจคือ เมื่อกล่าวถึงจดหมายนี้ จี. อาร์. ไดรเวอร์ กล่าวว่า การลงโทษแบบนี้ “ปรากฏในเรื่องของชายผู้บริสุทธิ์สามคน (ดานิ. 3:6, 15, 19-27).”e
6. พระธรรมดานิเอลประกอบด้วยสองตอนอะไร?
6 ชาวยิวไม่ได้รวมพระธรรมดานิเอลไว้กับหมวดผู้พยากรณ์แต่รวมไว้กับหมวดข้อเขียน. อีกด้านหนึ่ง พระคัมภีร์ภาษาไทยจัดลำดับรายชื่อตามแบบของฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ และฉบับแปลลาตินวัลเกต โดยจัดดานิเอลให้อยู่ระหว่างกลุ่มผู้พยากรณ์ใหญ่และกลุ่มผู้พยากรณ์น้อย. จริง ๆ แล้วพระธรรมนี้มีสองตอน. ตอนแรกคือบท 1 ถึง 6 บอกถึงประสบการณ์ของดานิเอลกับเพื่อนในงานราชการเรียงตามลำดับเวลานับจากปี 617 ก.ส.ศ. ถึงปี 538 ก.ส.ศ. (ดานิ. 1:1, 21) ตอนที่สองซึ่งประกอบด้วยบท 7 ถึง 12 เขียนโดยดานิเอลโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งในฐานะผู้บันทึกและพรรณนานิมิตและการสนทนากับทูตสวรรค์ที่ดานิเอลได้ประสบตั้งแต่ประมาณปี 553 ก.ส.ศ.f ถึงประมาณปี 536 ก.ส.ศ. (7:2, 28; 8:2; 9:2; 12:5, 7, 8) ทั้งสองตอนประกอบกันเป็นพระธรรมดานิเอลเล่มเดียวที่สอดคล้องกัน.
เนื้อเรื่องในดานิเอล
7. อะไรทำให้ดานิเอลและเพื่อน ๆ เข้ารับราชการในบาบูโลน?
7 การเตรียมตัวรับราชการ (1:1-21). ในปี 617 ก.ส.ศ. ดานิเอลมายังบาบูโลนพร้อมกับชาวยิวที่ตกเป็นเชลย. ภาชนะศักดิ์สิทธิ์จากพระวิหารในยะรูซาเลมถูกนำมาด้วย แล้วเก็บไว้ในท้องพระคลังของคนนอกรีต. ดานิเอลกับเพื่อนชาวฮีบรูสามคนอยู่ในกลุ่มเยาวชนจากยูเดียที่เป็นราชนิกุลซึ่งถูกเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรม 3 ปีในวังกษัตริย์. โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำตัวให้เป็นมลทินด้วยอาหารแบบนอกรีตและเหล้าองุ่นของกษัตริย์ ดานิเอลเสนอให้มีการทดสอบสิบวันด้วยการกินแต่ผัก. การทดสอบปรากฏผลตามที่ดานิเอลกับเพื่อน ๆ คาดไว้ และพระเจ้าทรงประทานความรู้และสติปัญญาแก่พวกเขา. นะบูคัดเนซัรแต่งตั้งทั้งสี่คนเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์. ข้อสุดท้ายของบท 1 ซึ่งอาจถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากเขียนส่วนแรกเสร็จนานแล้วนั้นบ่งชี้ว่า ดานิเอลยังรับราชการอยู่หลังจากเป็นเชลยถึงประมาณ 80 ปี ซึ่งตกในราวปี 538 ก.ส.ศ.
8. พระเจ้าทรงเผยให้ดานิเอลทราบถึงพระสุบินและความหมายของพระสุบินอะไร และนะบูคัดเนซัรแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างไร?
8 พระสุบินเรื่องรูปปั้นที่น่าสะพรึงกลัว (2:1-49). ในปีที่สองแห่งการเป็นกษัตริย์ (คงนับตั้งแต่ความพินาศของยะรูซาเลมในปี 607 ก.ส.ศ.) นะบูคัดเนซัรหวั่นวิตกเนื่องด้วยพระสุบินเรื่องหนึ่ง. คนของท่านซึ่งเป็นพวกปุโรหิตที่ใช้เวทมนตร์ไม่อาจเผยให้ทราบเนื้อหาและความหมายของพระสุบินนั้นได้. ท่านเสนอของกำนัลมากมายแก่พวกเขา แต่พวกเขาแย้งว่าไม่มีใครเว้นแต่เหล่าเทพเจ้าเท่านั้นจึงจะบอกให้กษัตริย์ทราบเรื่องที่กษัตริย์ถาม. กษัตริย์ทรงกริ้วจัดและสั่งประหารพวกนักปราชญ์. เนื่องจากชาวฮีบรูสี่คนถูกรวมไว้ในราชโองการนี้ด้วย ดานิเอลจึงขอเวลาแก้พระสุบินนั้น. ดานิเอลกับเพื่อน ๆ อธิษฐานขอการทรงนำจากพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระสุบินและความหมายของพระสุบินนั้นแก่ดานิเอล ซึ่งหลังจากนั้นจึงได้เข้าเฝ้ากษัตริย์และทูลว่า “มีพระเจ้าอยู่องค์หนึ่งสถิตอยู่ในสรวงสวรรค์, ผู้ทรงสำแดงเรื่องลับลึกให้ประจักษ์แจ้งได้, และพระองค์นั้นก็ทรงสำแดงการซึ่งจะบังเกิดขึ้นในภายหน้าให้ราชานะบูคัศเนซัรรู้.” (2:28) ดานิเอลอธิบายพระสุบินนั้นซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปปั้นมหึมา. ศีรษะของรูปนั้นเป็นทอง อกและแขนเป็นเงิน ท้องและโคนขาเป็นทองแดง ขาเป็นเหล็ก เท้าเป็นเหล็กปนดินเหนียว. หินก้อนหนึ่งมาชนและทำให้รูปปั้นแตกเป็นชิ้น ๆ และหินนั้นกลายเป็นภูเขาใหญ่ครอบคลุมทั้งแผ่นดินโลก. นั่นหมายความอย่างไร? ดานิเอลแจ้งให้ทราบว่า กษัตริย์บาบูโลนคือศีรษะที่เป็นทองนั้น. หลังจากอาณาจักรของท่านจะมีอาณาจักรที่สอง, ที่สาม, และที่สี่. ในที่สุด “พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรอันหนึ่งขึ้น, ซึ่งจะไม่มีวันทำลายเสียได้. . . . อาณาจักรนี้จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น, และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.” (2:44) ด้วยความขอบคุณและหยั่งรู้ค่า กษัตริย์ได้ยกย่องพระเจ้าของดานิเอลว่าเป็น “พระเจ้าของพระทั้งหลาย” และแต่งตั้งดานิเอลเป็น “ผู้ครอบครองหมดเมืองบาบิโลนและเป็นประธานใหญ่ของนักปราชญ์ทั้งสิ้นแห่งบาบิโลน.” เพื่อนสามคนของดานิเอลถูกแต่งตั้งเป็นผู้บริหารราชการในอาณาจักร.—2:47, 48, ฉบับแปลใหม่.
9. ที่ชาวฮีบรูสามคนยืนหยัดอย่างกล้าหาญไม่ยอมนมัสการรูปเคารพยังผลประการใด?
9 ชาวฮีบรูทั้งสามรอดจากเตาไฟที่ร้อนแรง (3:1-30). นะบูคัดเนซัรตั้งรูปทองคำใหญ่โตสูง 60 ศอก (88 ฟุต) และมีราชโองการให้เหล่าเจ้านายทั่วจักรวรรดิมาชุมนุมกันเพื่อการอุทิศ. เมื่อเสียงดนตรีพิเศษดังขึ้น ทุกคนจะต้องก้มกราบรูปนั้น. ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกโยนลงในเตาไฟที่ลุกโพลง. มีรายงานว่าเพื่อนสามคนของดานิเอลคือ ซัดรัค, เมเซ็ค, และอะเบ็ดนะโคไม่ปฏิบัติตามราชโองการ. พวกเขาถูกนำตัวมาเฝ้ากษัตริย์ที่กริ้ว พวกเขายืนยันอย่างกล้าหาญว่า “พระเจ้าของข้าพเจ้าซึ่งพวกข้าพเจ้ารับใช้อยู่นั้นทรงสามารถช่วยพวกข้าพเจ้า . . . รูปทองคำซึ่งฝ่าพระบาทได้ทรงตั้งไว้นั้นพวกข้าพเจ้าจะไม่นมัสการ.” (3:17, 18, ล.ม.) ด้วยพระพิโรธกล้า กษัตริย์ทรงบัญชาให้เพิ่มความร้อนในเตาไฟเป็นเจ็ดเท่าและให้มัดชาวฮีบรูทั้งสามโยนลงไป. ขณะที่ทำเช่นนั้น พวกเพชฌฆาตถูกความร้อนจากเตาไฟเผาตาย. นะบูคัดเนซัรรู้สึกกลัวขึ้นมา. ท่านเห็นอะไรในเตาไฟ? มีชายสี่คนกำลังเดินไปมาท่ามกลางไฟนั้นโดยไม่เป็นอันตราย และ “รูปโฉมของคนที่สี่นั้นดูละม้ายคล้ายคลึงกับองค์เทพบุตร.” (3:25) กษัตริย์ทรงเรียกชาวฮีบรูทั้งสามออกมาจากไฟ. พวกเขาออกมาโดยไม่มีอะไรไหม้ ไม่มีแม้กลิ่นควันไฟ! เนื่องด้วยพวกเขายืนหยัดอย่างกล้าหาญเพื่อการนมัสการแท้ นะบูคัดเนซัรทรงประกาศให้ชาวยิวทั่วจักรวรรดิมีเสรีภาพในการนมัสการ.
10. นะบูคัดเนซัรมีพระสุบินที่น่าสะพรึงกลัวอะไรซึ่งเกี่ยวข้องกับ “เจ็ดวาระ” และพระสุบินนั้นสำเร็จเป็นจริงขึ้นกับท่านไหม?
10 พระสุบินเรื่อง “เจ็ดวาระ” (4:1-37). พระสุบินนี้ปรากฏในบันทึกซึ่งดานิเอลคัดจากเอกสารราชการของบาบูโลน. เอกสารนี้เขียนโดยนะบูคัดเนซัรผู้ถูกทำให้ถ่อมใจ. ทีแรกนะบูคัดเนซัรยอมรับฤทธิ์อำนาจและอาณาจักรของพระเจ้าองค์สูงสุด. ต่อมาท่านเล่าพระสุบินที่น่ากลัวและวิธีที่พระสุบินนั้นสำเร็จเป็นจริงกับท่าน. ท่านเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งสูงเสียดฟ้า ให้ร่มเงาและอาหารแก่สิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น. ผู้พิทักษ์ร้องว่า ‘จงโค่นต้นไม้ต้นนั้นลง. เอาปลอกเหล็กและปลอกทองแดงสวมตอไว้. ปล่อยทิ้งไว้ให้เจ็ดวาระผ่านไป เพื่อจะเป็นที่รู้กันว่าพระผู้สูงสุดทรงปกครองอาณาจักรของมนุษย์และทรงยกคนต่ำต้อยที่สุดในมนุษยชาติขึ้นตั้งไว้เหนืออาณาจักรนั้น.’ (4:14-17) ดานิเอลแก้ฝันนั้น แจ้งว่าต้นไม้นั้นหมายถึงนะบูคัดเนซัร. ความสำเร็จเป็นจริงของพระสุบินเชิงพยากรณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน. ขณะที่แสดงความเย่อหยิ่งทะนงตนอย่างมาก กษัตริย์ถูกทำให้สติวิปลาส และท่านใช้ชีวิตเหมือนสัตว์ในทุ่งนาเป็นเวลาเจ็ดปี. หลังจากนั้น ท่านได้สติคืนมาและท่านยอมรับฐานะสูงสุดของพระยะโฮวา.
11. ระหว่างการดื่มเมามายอะไรที่เบละซาซัรเห็นอักษรที่เขียนด้วยมือซึ่งบ่งชี้ชะตากรรม, ดานิเอลไขความอย่างไร, และเรื่องนั้นเกิดขึ้นจริงอย่างไร?
11 งานเลี้ยงของเบละซาซัร: การตีความอักษรที่เขียนด้วยมือ (5:1-31). ในคืนอันสำคัญของวันที่ 5 ตุลาคม ปี 539 ก.ส.ศ. กษัตริย์เบละซาซัร ราชบุตรของนะโบไนดัส ซึ่งเป็นผู้ครองราชย์ร่วมกับราชบิดาในบาบูโลน ได้จัดงานเลี้ยงใหญ่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หนึ่งพันคน. กษัตริย์ที่เมามายสั่งให้นำภาชนะศักดิ์สิทธิ์ที่ทำด้วยทองและเงินจากพระวิหารของพระยะโฮวา แล้วเบละซาซัรกับแขกของท่านจึงดื่มด้วยความเมามายจากภาชนะเหล่านี้ในขณะที่ยกย่องพระนอกรีตของตน. ทันใดนั้น มีมือปรากฏขึ้นเขียนข่าวสารลึกลับบนผนัง. กษัตริย์ตกใจกลัว. นักปราชญ์ของท่านตีความข้อความนั้นไม่ได้. ในที่สุดจึงให้ดานิเอลเข้าเฝ้า. กษัตริย์เสนอจะแต่งตั้งให้ท่านเป็นใหญ่อันดับสามในอาณาจักร ถ้าท่านอ่านและตีความข้อความนั้นได้ แต่ดานิเอลทูลกษัตริย์ให้เก็บของพระราชทานไว้สำหรับตัวกษัตริย์เอง. แล้วท่านได้ทูลข้อความนั้นให้ทราบพร้อมกับความหมาย นั่นคือ “เมเน, เมเน, เทเคล และฟารสิน. . . . พระเจ้าได้ทรงคำนวณวาระแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้วและทรงนำราชอาณาจักรนั้นมาถึงสิ้นสุด . . . ฝ่าพระบาทได้ถูกชั่งในตราชูทรงเห็นว่ายังขาดอยู่ . . . ราชอาณาจักรของฝ่าพระบาทถูกแบ่งออกให้แก่คนมีเดียและคนเปอร์เซีย.” (5:25-28, ฉบับแปลใหม่) คืนนั้นเอง เบละซาซัรถูกสังหารและดาระยาศชาวมีเดีย (มาดาย) ได้ครองอาณาจักร.
12. แผนปองร้ายดานิเอลล้มเหลวอย่างไร และดาระยาศจึงออกราชกฤษฎีกาอะไร?
12 ดานิเอลในบ่อสิงโต (6:1-28). ข้าราชการชั้นสูงในรัฐบาลของดาระยาศวางแผนปองร้ายดานิเอลโดยให้กษัตริย์ออกกฎหมายห้ามการวิงวอนต่อพระหรือมนุษย์คนใดนอกจากต่อกษัตริย์เป็นเวลา 30 วัน. ใครก็ตามที่ละเมิดจะถูกโยนให้สิงโต. ดานิเอลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ส่งผลกระทบการนมัสการของท่านและทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวา. ท่านถูกโยนลงในบ่อสิงโต. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาได้ปิดปากสิงโตไว้อย่างน่าอัศจรรย์ และเช้าวันรุ่งขึ้นกษัตริย์ดาระยาศดีพระทัยที่ดานิเอลไม่ได้รับอันตราย. พวกศัตรูถูกโยนให้สิงโตกิน และกษัตริย์ออกราชโองการให้เกรงกลัวพระเจ้าของดานิเอล เนื่องจาก “พระองค์นั้นเป็นพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่.” (6:26) ดานิเอลเจริญรุ่งเรืองในงานราชการจนถึงรัชกาลของไซรัส.
13. ในความฝันของท่านเอง ดานิเอลเห็นนิมิตอะไรที่เกี่ยวกับสัตว์ร้ายสี่ตัวและการปกครองอาณาจักร?
13 นิมิตเรื่องสัตว์ร้าย (7:1–8:27). เรากลับไปยัง “ปีแรกแห่งรัชกาลของราชาเบละซาซัร” ซึ่งดูเหมือนว่ารัชกาลของท่านเริ่มต้นในปี 553 ก.ส.ศ. ดานิเอลเองได้รับความฝันซึ่งท่านบันทึกไว้เป็นภาษาอาระเมอิก.g ท่านเห็นสัตว์ร้ายรูปร่างมหึมาและน่ากลัวสี่ตัวปรากฏทีละตัว. ตัวที่สี่แข็งแรงเป็นพิเศษ และท่ามกลางเขาอื่น ๆ มีเขาเล็กอันหนึ่งงอกขึ้นมา “พูดคุยโต.” (7:8) ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ปรากฏและประทับลงบนพระที่นั่ง. “มีคนนับแสนนับล้าน” ปรนนิบัติท่าน. “มีผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” มาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระองค์และ “ได้รับมอบรัช, และเกียรติยศและอาณาจักร, เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน.” (7:10, 13, 14) แล้วดานิเอลจึงได้รับคำอธิบายความหมายของนิมิตเรื่องสัตว์ร้ายทั้งสี่. สัตว์ทั้งสี่แสดงถึงกษัตริย์สี่องค์ หรือสี่อาณาจักร. จากท่ามกลางเขาทั้งสิบของสัตว์ร้ายตัวที่สี่นั้นมีเขาเล็ก ๆ อันหนึ่งงอกขึ้นมา. เขานั้นได้มีอำนาจมากและทำสงครามกับเหล่าผู้บริสุทธิ์. อย่างไรก็ตาม ศาลฝ่ายสวรรค์เข้าแทรกแซงเพื่อ “อาณาจักรและเกียรติยศ, รัช, และอำนาจราชศักดิ์แห่งรัฐทั้งปวงทั่วใต้ฟ้าจะถูกมอบไว้แก่เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น.”—7:27.
14. ดานิเอลเห็นนิมิตอะไรเกี่ยวกับแพะตัวผู้ และแกะตัวผู้ที่มีสองเขา? ฆับรีเอลอธิบายนิมิตนี้อย่างไร?
14 สองปีต่อมา นานก่อนบาบูโลนล่มจม ดานิเอลเห็นอีกนิมิตหนึ่งซึ่งท่านบันทึกในภาษาฮีบรู. แพะตัวผู้ตัวหนึ่งมีเขาหนึ่งขึ้นเด่นอยู่ระหว่างตาทั้งสอง และสู้ชนะแกะตัวผู้ที่โอ้อวดซึ่งมีสองเขา. เขาใหญ่ของแพะตัวผู้ตัวนั้นหักไปและเขาที่เล็กกว่าสี่เขางอกขึ้นมา. เขาจิ๋วอันหนึ่งงอกจากหนึ่งในสี่เขานี้และได้เป็นใหญ่เป็นโต ท้าแม้กระทั่งกองทัพแห่งสวรรค์. มีการบอกล่วงหน้าถึงระยะเวลา 2,300 วันจนกว่าสถานบริสุทธิ์จะถูกนำเข้าสู่ “สภาพอันถูกต้อง.” (8:14, ล.ม.) ฆับรีเอลอธิบายนิมิตแก่ดานิเอล. แกะตัวผู้นั้นเป็นภาพเล็งถึงกษัตริย์ของมีเดียและเปอร์เซีย. แพะตัวผู้คือกษัตริย์ของกรีซซึ่งอาณาจักรจะถูกแยกเป็นสี่ส่วน. ต่อมาจะมีกษัตริย์ที่ดุร้ายตั้งตัวขึ้นต่อสู้ “ผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพ.” เนื่องจากนิมิตนี้ “ยังอยู่อีกนาน” ดานิเอลจึงต้องเก็บไว้เป็นความลับสำหรับสมัยปัจจุบัน.—8:25, 26.
15. อะไรทำให้ดานิเอลอธิษฐานถึงพระยะโฮวา และตอนนี้ฆับรีเอลแจ้งเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ “เจ็ดสิบสัปดาห์”?
15 การบอกล่วงหน้าถึงมาซีฮาผู้นำ (9:1-27). “ในปีที่หนึ่งแห่งรัชกาลของราชาดาระยาศ . . . ชาวมาดาย” ดานิเอลกำลังตรวจสอบคำพยากรณ์ของยิระมะยา. โดยตระหนักว่าระยะเวลา 70 ปีแห่งความร้างเปล่าของยะรูซาเลมที่มีบอกไว้ล่วงหน้านั้นจวนจะสิ้นสุด ดานิเอลอธิษฐานสารภาพความบาปของท่านเองและของชาติยิศราเอลต่อพระยะโฮวา. (ดานิ. 9:1-4; ยิระ. 29:10) ฆับรีเอลปรากฏตัวเพื่อแจ้งว่าจะมี “เจ็ดสิบสัปดาห์ . . . เพื่อทำให้การล่วงละเมิดสิ้นสุดลง และยุติบาป และเพื่อไถ่ความผิด.” พระมาซีฮาผู้นำจะมาเมื่อ 69 สัปดาห์สิ้นสุดลง ซึ่งหลังจากนั้นพระองค์จะถูกตัดขาด. สัญญาไมตรีจะยังมีผลบังคับต่อไปสำหรับคนเป็นอันมากจนสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 70 และในที่สุดจะมีความร้างเปล่าและการล้างผลาญ.—ดานิ. 9:24-27, ล.ม.
16. ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏแก่ดานิเอลอีกครั้ง?
16 ทิศเหนือต่อสู้ทิศใต้ มิคาเอลยืนขึ้น (10:1–12:13). เป็น “ปีที่สามแห่งรัชกาลของราชาโคเร็ศ [ไซรัส]” จึงตกประมาณปี 536 ก.ส.ศ. ไม่นานหลังจากที่ชาวยิวกลับคืนสู่ยะรูซาเลม. หลังจากการอดอาหารสามสัปดาห์ ดานิเอลอยู่ริมแม่น้ำฮิเดเค็ล. (ดานิ. 10:1, 4, 5; เย. 2:14) ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏแก่ดานิเอลและอธิบายว่า “เทพผู้พิทักษ์อาณาจักรฟารัศ” ขัดขวางการที่ท่านมาหาดานิเอล แต่ “มิคาเอล, อัครเทวทูต” ช่วยท่าน. ตอนนี้ทูตสวรรค์ได้เล่าให้ดานิเอลทราบนิมิตสำหรับ “ระยะเวลาเบื้องปลาย.”—ดานิ. 10:13, 14.
17. ประวัติศาสตร์เชิงพยากรณ์เรื่องอะไรอันเกี่ยวกับกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้ที่ดานิเอลบันทึกในตอนนี้?
17 ขณะเริ่มเรื่อง นิมิตที่น่าตื่นเต้นนี้พูดถึงราชวงศ์เปอร์เซีย และการปะทะกับกรีซที่จะเกิดขึ้น. กษัตริย์ทรงเดชานุภาพองค์หนึ่งจะยืนขึ้นพร้อมกับการแผ่อาณาจักรอย่างกว้างขวาง แต่อาณาจักรของท่านจะถูกแยกเป็นสี่ส่วน. ผลสุดท้ายจะมีกษัตริย์อยู่สองราชวงศ์ซึ่งสืบราชวงศ์ต่อเนื่องยาวนาน คือกษัตริย์ทิศใต้ที่ต่อต้านกษัตริย์ทิศเหนือ. การต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่จะผลัดกันรุกผลัดกันรับ. กษัตริย์ชั่วที่หัวแข็งเหล่านี้ต่างก็จะพูดคำหลอกลวงเสมอเมื่อร่วมโต๊ะเดียวกัน. “พอได้เวลากำหนด” สงครามจะระเบิดขึ้นอีกครั้ง. จะมีการล่วงละเมิดสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และ “สิ่งน่าเกลียดอันเป็นที่สะอิดสะเอียน” จะถูกตั้งขึ้นแทน. (11:29-31) กษัตริย์ทิศเหนือจะคุยโวต่อสู้พระเจ้าใหญ่ยิ่งและยกย่องพระแห่งป้อมปราการ. พอถึง “เวลาอวสาน” กษัตริย์ทิศใต้จะเข้าผลักดันกษัตริย์ทิศเหนือ กษัตริย์ทิศเหนือจะบุกเหมือนน้ำไหลบ่าเข้าไปในหลายดินแดน บุกเข้าไปแม้กระทั่ง “ในแผ่นดินแห่งสิ่งประดับ” อีกด้วย. เมื่อถูกรายงานจากทิศตะวันออกและทิศเหนือรบกวนใจ ท่านจะกริ้วและตั้ง “พลับพลาอันโอ่อ่าของท่านระหว่างทะเลใหญ่และภูเขาอันบริสุทธิ์แห่งสิ่งประดับ; และท่านจะต้องมาถึงจุดจบของท่านทีเดียว และจะไม่มีผู้ใดช่วยท่าน.”—11:40, 41, 45, ล.ม.
18. เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่มิคาเอลยืนอยู่ ‘เพื่อเห็นแก่บุตรทั้งหลายแห่งไพร่พลของพระเจ้า’?
18 นิมิตอันยิ่งใหญ่ดำเนินต่อไป: ปรากฏมิคาเอลยืนอยู่ ‘เพื่อเห็นแก่บุตรทั้งหลายแห่งไพร่พลของพระเจ้า.’ จะมี “ยุคแห่งความยากลำบาก” ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่ผู้มีชื่อจดไว้ในสมุดนั้นจะรอด. หลายคนจะตื่นจากผงคลีสู่ชีวิตถาวร “และผู้ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะส่องแสงเหมือนแสงสว่างแห่งท้องฟ้า.” พวกเขาจะนำหลายคนมาสู่ความชอบธรรม. ดานิเอลต้องประทับตราม้วนหนังสือไว้ “จนกระทั่งถึงเวลาอวสาน.” “จะนานเพียงใดจึงจะถึงที่สุดปลายแห่งสิ่งน่าอัศจรรย์เหล่านั้น?” ทูตสวรรค์องค์นี้กล่าวถึงช่วงเวลาสามวาระครึ่ง 1,290 วัน และ 1,335 วัน และบอกว่าเฉพาะ “คนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะเข้าใจ.” คนเช่นนั้นช่างมีความสุขจริง! สุดท้าย ทูตสวรรค์องค์นี้ให้คำสัญญารับรองแก่ดานิเอลว่าท่านจะพักผ่อนและจะยืนขึ้นรับส่วนของท่านเมื่อถึง “ที่สุดปลาย.”—12:1, 3, 4, 6, 10, 13, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
19. แบบอย่างที่ดีอะไรบ้างเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคงและความไว้วางใจอย่างจริงจังต่อพระยะโฮวาที่พบได้ในพระธรรมดานิเอล?
19 ทุกคนที่ตั้งใจจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงในโลกที่เหินห่างจากพระเจ้าควรพิจารณาแบบอย่างอันดีของดานิเอลกับเพื่อนทั้งสามของท่าน. ไม่ว่าการข่มขู่จะร้ายกาจเพียงไร คนเหล่านี้ก็ยังดำเนินชีวิตตามหลักการของพระเจ้าเรื่อยไป. เมื่อชีวิตพวกเขาตกอยู่ในอันตราย ดานิเอลได้ปฏิบัติ “ด้วยถ้อยคำแยบคายและปรีชาสามารถ” และด้วยความนับถือต่ออำนาจที่สูงกว่าของกษัตริย์. (2:14-16, ฉบับแปลใหม่) เมื่อมีราชโองการออกมาบังคับ ชาวฮีบรูสามคนเลือกเอาเตาไฟร้อนแรงดีกว่าจะไหว้รูปเคารพ และดานิเอลเลือกเอาถ้ำสิงโตดีกว่าจะยอมเสียสิทธิพิเศษในการอธิษฐานถึงพระยะโฮวา. ในแต่ละกรณี พระยะโฮวาทรงให้การคุ้มครอง. (3:4-6, 16-18, 27; 6:10, 11, 23) ดานิเอลเองเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมเรื่องความไว้วางใจอย่างจริงจังในพระยะโฮวาพระเจ้า.—2:19-23; 9:3-23; 10:12.
20. นิมิตสี่เรื่องอะไรที่มีบันทึกไว้ซึ่งเกี่ยวกับมหาอำนาจต่าง ๆ ของโลก และเหตุใดการพิจารณานิมิตเหล่านั้นในสมัยนี้จึงเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง?
20 นิมิตของดานิเอลน่าตื่นเต้นและเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งซึ่งน่าจะพิจารณา. ประการแรก จงพิจารณานิมิตสี่เรื่องเกี่ยวกับมหาอำนาจต่าง ๆ ของโลก: (1) นิมิตเรื่องรูปปั้นที่น่ากลัว ซึ่งศีรษะทองคำแสดงถึงราชวงศ์ของกษัตริย์บาบูโลนซึ่งเริ่มด้วยนะบูคัดเนซัร หลังจากบาบูโลนก็มีอีกสามอาณาจักรเกิดขึ้น ตามที่แสดงไว้โดยส่วนอื่นของรูปปั้น. อาณาจักรเหล่านี้คืออาณาจักรที่ถูกบดขยี้โดย “หิน” ซึ่งต่อมาได้เป็น ‘อาณาจักรหนึ่งซึ่งจะไม่มีวันถูกทำลาย’ คือราชอาณาจักรของพระเจ้า. (2:31-45, ล.ม.) (2) แล้วต่อมาก็เป็นนิมิตของดานิเอลเอง เรื่องแรกเป็นนิมิตเกี่ยวกับสัตว์ร้ายสี่ตัวที่แสดงถึง “กษัตริย์สี่องค์.” สัตว์เหล่านี้เหมือนสิงโต, หมี, เสือดาวสี่หัว, และสัตว์ที่มีฟันเหล็กซี่ใหญ่, มีสิบเขา, และต่อมาก็มีเขาเล็ก ๆ อีกหนึ่งอัน. (7:1-8, 17-28) (3) ต่อจากนั้นก็มีนิมิตเกี่ยวกับแกะตัวผู้ (มีโด-เปอร์เซีย), แพะตัวผู้ (กรีซ), และเขาเล็ก. (8:1-27) (4) สุดท้าย เรามีนิมิตเกี่ยวกับกษัตริย์ทิศใต้และกษัตริย์ทิศเหนือ. ดานิเอล 11:5-19 พรรณนาอย่างถูกต้องถึงการแข่งขันชิงดีกันระหว่างชาวอียิปต์กับราชวงศ์เซเลอคิดซึ่งแตกแขนงจากจักรวรรดิกรีซของอะเล็กซานเดอร์หลังจากท่านสิ้นชีพในปี 323 ก.ส.ศ. ตั้งแต่ข้อ 20 คำพยากรณ์พรรณนาถึงชาติต่าง ๆ ของทิศใต้และทิศเหนือที่สืบทอดอำนาจ. ที่พระเยซูอ้างอิงถึง “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า.” (11:31, ล.ม.) ในคำพยากรณ์เรื่องหมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์นั้นแสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ชิงอำนาจของกษัตริย์ทั้งสองยังดำเนินต่อมาจนถึง “ช่วงอวสานของระบบนี้.” (มัด. 24:3, ล.ม.) คำรับรองในคำพยากรณ์นี้นับว่าให้การปลอบโยนจริง ๆ ที่ว่า ใน “ยุคของความยากลำบาก, ตั้งแต่เกิดเป็นชาติมาจนถึงสมัยนั้นก็ยังไม่เคยมีลำบากใดเท่า” มิคาเอลเองจะยืนขึ้นเพื่อกำจัดชาติที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและนำสันติสุขมาสู่มนุษยชาติที่เชื่อฟัง!—ดานิ. 11:20–12:1.
21. คำพยากรณ์ของดานิเอลเรื่อง “เจ็ดสิบสัปดาห์” สำเร็จเป็นจริงอย่างน่าสังเกตเช่นไร?
21 ต่อจากนั้นก็เป็นคำพยากรณ์ของดานิเอลเรื่อง “เจ็ดสิบสัปดาห์.” หลังจาก 69 สัปดาห์ “มาซีฮาผู้นำ” จะมาปรากฏ. ที่น่าสังเกตคือ 483 ปี (69 คูณ 7 ปี) หลังจาก “มีรับสั่งออกมา” ให้สร้างกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่ ตามที่อะระธาสัศธาอนุมัติในปีที่ 20 แห่งรัชกาลของท่าน และนะเฮมยาคือผู้ทำตามบัญชานั้นที่กรุงยะรูซาเลม เยซูชาวนาซาเร็ธรับบัพติสมาในแม่น้ำยาระเดน (จอร์แดน) และถูกเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงได้เป็นพระคริสต์หรือพระมาซีฮา (ซึ่งก็คือผู้ถูกเจิม).h นั่นคือในปี ส.ศ. 29. หลังจากนั้น ดังที่ดานิเอลก็พยากรณ์ไว้เช่นกัน “การทำลายล้าง” ก็เกิดขึ้นเมื่อยะรูซาเลมถูกทำให้ร้างเปล่าในปี ส.ศ. 70.—ดานิ. 9:24-27, ล.ม.; ลูกา 3:21-23; 21:20.
22. เราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากการที่นะบูคัดเนซัรถูกทำให้ถ่อมใจลง?
22 ในพระสุบินของนะบูคัดเนซัรเกี่ยวกับต้นไม้ที่ถูกโค่นดังที่ดานิเอลบันทึกไว้ในบท 4 มีบอกว่า กษัตริย์ผู้โอ้อวดความสำเร็จของตนเองและมั่นใจในกำลังของตนเองนั้นถูกพระยะโฮวาพระเจ้าทำให้ถ่อมใจลง. ท่านถูกบันดาลให้ต้องใช้ชีวิตเหมือนสัตว์ป่าในทุ่งจนท่านตระหนักว่า “พระผู้สูงสุดบงการอาณาจักรของมนุษย์, แล้วพระองค์พอพระทัยจะประทานอาณาจักรแก่ผู้ใดก็ทรงประทานให้แก่ผู้นั้น.” (ดานิ. 4:32) พวกเราสมัยนี้กำลังจะเป็นเหมือนนะบูคัดเนซัรไหม คือโอ้อวดความสำเร็จของเราและไว้วางใจในกำลังของมนุษย์ พระเจ้าจึงต้องลงโทษเรา หรือว่าเราจะยอมรับด้วยความสุขุมว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองอาณาจักรของมนุษยชาติและไว้วางใจในราชอาณาจักรของพระองค์?
23. (ก) มีการเน้นความหวังเรื่องราชอาณาจักรอย่างไรตลอดพระธรรมดานิเอล? (ข) หนังสือแห่งคำพยากรณ์เล่มนี้น่าจะหนุนใจเราให้ทำอะไร?
23 มีการเน้นความหวังเรื่องราชอาณาจักรตลอดพระธรรมดานิเอลในแบบที่กระตุ้นให้เกิดความเชื่อ! มีการเผยให้เห็นว่าพระยะโฮวาเจ้าทรงเป็นองค์บรมมหิศรที่ตั้งราชอาณาจักรหนึ่งขึ้นซึ่งไม่มีวันถูกทำลายและซึ่งจะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ทั้งสิ้น. (2:19-23, 44; 4:25) แม้แต่นะบูคัดเนซัรและดาระยาศกษัตริย์นอกรีตก็จำต้องยอมรับฐานะสูงสุดของพระยะโฮวา. (3:28, 29; 4:2, 3, 37; 6:25-27) พระยะโฮวาได้รับการเชิดชูและถวายเกียรติในฐานะผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ผู้ทรงตัดสินประเด็นเรื่องราชอาณาจักรและทรงประทานให้ผู้หนึ่ง “รูปร่างดังบุตรของมนุษย์” มี “รัช, และเกียรติยศและอาณาจักร, เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน.” “เหล่าผู้บริสุทธิ์แห่งพระเจ้าผู้สูงสุด” คือผู้ที่ร่วมกับพระคริสต์เยซู “บุตรมนุษย์” ในราชอาณาจักร. (ดานิ. 7:13, 14, 18, 22; มัด. 24:30; วิ. 14:14) พระองค์คือมิคาเอล เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่ซึ่งสำแดงราชอำนาจของพระองค์เพื่อบดขยี้และนำอวสานมาสู่อาณาจักรทั้งปวงของโลกเก่านี้. (ดานิ. 12:1; 2:44; มัด. 24:3, 21; วิ. 12:7-10) การเข้าใจคำพยากรณ์เหล่านี้และนิมิตต่าง ๆ ควรหนุนใจผู้รักความชอบธรรมให้กระตือรือร้นและค้นดูหน้าต่าง ๆ แห่งพระคำของพระเจ้าเพื่อจะพบ “สิ่งมหัศจรรย์” ที่แท้จริงในจุดประสงค์ต่าง ๆ แห่งราชอาณาจักรพระเจ้าซึ่งเปิดเผยแก่เราโดยทางพระธรรมดานิเอลที่มีขึ้นโดยการดลใจและเป็นประโยชน์.—ดานิ. 12:2, 3, 6.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 1269.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 283.
c โบราณคดีและคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) 1949 จอร์จ เอ. บาร์ตัน หน้า 483.
d The Yale Oriental Series · Researches เล่ม 15, 1929.
e Archiv für Orientforschung เล่ม 18, 1957-1958 หน้า 129.
f ดูเหมือนว่าเบละซาซัรเริ่มครองราชย์เป็นอุปราชตั้งแต่ปีที่สามของรัชกาลนะโบไนดัสเป็นต้นมา. เนื่องจากเชื่อกันว่านะโบไนดัสเริ่มปกครองในปี 556 ก.ส.ศ. ปีที่สามที่เขาปกครองและ ปีแรกของเบละซาซัร” จึงปรากฏว่าเป็นปี 553 ก.ส.ศ.—ดานิเอล 7:1; ดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 283; เล่ม 2 หน้า 457.
g ดานิเอล 2:4ข–7:28 เขียนในภาษาอาระเมอิก ขณะที่ส่วนอื่นของพระธรรมนี้เขียนในภาษาฮีบรู.
h นะเฮมยา 2:1-8; ดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 899-901.