บทบาทอันมีเกียรติของสตรีในหมู่ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยก่อน
“พระยะโฮวาเจ้าทรงดำริว่า, ‘ซึ่งมนุษย์ผู้นั้นจะอยู่คนเดียวก็ไม่เหมาะ; เราจะสร้างขึ้นอีกคนหนึ่ง, ให้เป็นคู่เคียงเหมาะกับเขา.’”—เยเนซิศ 2:18.
1. พจนานุกรมศัพท์คัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งพรรณนาสภาพชีวิตของสตรีสมัยโบราณอย่างไร?
“ไม่มีประเทศใดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือตะวันออกใกล้ที่สตรีมีอิสระอย่างที่มีในสังคมตะวันตกปัจจุบัน. ลักษณะทั่วไปคือสตรีอยู่ใต้บังคับของบุรุษ เฉกเช่นทาสอยู่ใต้บังคับของนาย และคนหนุ่มอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอายุมากกว่า. . . . มีการยกย่องเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และบางครั้งทารกเพศหญิงถูกปล่อยให้ตากแดดตากฝนจนเสียชีวิต.” พจนานุกรมศัพท์คัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งพรรณนาสภาพชีวิตของผู้หญิงสมัยโบราณไว้อย่างนั้น.
2, 3. (ก) ตามรายงานหนึ่ง สภาพการณ์ของสตรีจำนวนมากเป็นเช่นไรในทุกวันนี้? (ข) มีการตั้งคำถามอะไรขึ้นมา?
2 สภาพการณ์ในหลายส่วนของโลกทุกวันนี้ก็ไม่ดีไปกว่าที่กล่าวมา. ปี 1994 นับเป็นครั้งแรกที่รายงานประจำปีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้มุ่งความสนใจไปยังวิธีปฏิบัติต่อสตรี. หัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส กล่าวเกี่ยวกับรายงานนั้นว่า “ข้อมูลจาก 193 ประเทศแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันนั้นมีอยู่จริง.”
3 เนื่องจากสตรีจำนวนมากที่มีพื้นเพต่างกันทางวัฒนธรรมได้มาสมทบกับประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวาทั่วโลก จึงเกิดคำถามบางอย่างขึ้นมา เช่น การปฏิบัติต่อสตรีอย่างที่กล่าวมานั้นเป็นไปตามที่พระเจ้าทรงมุ่งหมายไว้แต่แรกไหม? สตรีในท่ามกลางผู้นมัสการพระยะโฮวาสมัยพระคัมภีร์ได้รับการปฏิบัติอย่างไร? และสมัยนี้สตรีควรได้รับการปฏิบัติเช่นไร?
“ผู้ช่วย” และ “คู่เคียง”
4. พระยะโฮวาได้ทรงสังเกตสิ่งใดหลังจากผู้ชายคนแรกอยู่ในสวนเอเดนแต่ลำพังระยะหนึ่ง แล้วพระเจ้าทรงกระทำอะไร?
4 หลังจากอาดามอยู่ในสวนเอเดนเพียงลำพังระยะหนึ่ง พระยะโฮวาทรงสังเกตว่า “ซึ่งมนุษย์ผู้นั้นจะอยู่คนเดียวก็ไม่เหมาะ; เราจะสร้างขึ้นอีกคนหนึ่ง, ให้เป็น [ผู้ช่วย, ล.ม.] คู่เคียงเหมาะกับเขา.” (เยเนซิศ 2:18) ถึงแม้อาดามเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์พร้อม แต่จำต้องมีสิ่งอื่นอีกเพื่อพระประสงค์ของพระผู้สร้างจะบรรลุผลสำเร็จ. เพื่อสนองความจำเป็นนั้น พระยะโฮวาจึงสร้างผู้หญิงและทรงประกอบการสมรสรายแรก.—เยเนซิศ 2:21-24.
5. (ก) บ่อยครั้ง ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำนามภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ผู้ช่วย” นั้นอย่างไร? (ข) ข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงอ้างถึงสตรีคนแรกเป็น “คู่เคียง” นั้นบ่งชี้ถึงอะไร?
5 คำ “ผู้ช่วย” และ “คู่เคียง” แสดงว่า บทบาทตามที่พระเจ้ากำหนดไว้สำหรับสตรีนั้นเป็นการลดฐานะหรือ? ตรงกันข้าม. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลนำเอาคำนามภาษาฮีบรู (เอʹเซอร์) ซึ่งได้รับการแปลว่า “ผู้ช่วย” มาใช้กับพระเจ้าบ่อย ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ช่วยและเป็นโล่ของพวกข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 33:20; เอ็กโซโด 18:4; พระบัญญัติ 33:7) ที่โฮเซอา 13:9 พระยะโฮวาถึงกับตรัสถึงพระองค์เองว่าเป็น “ผู้ช่วย” ของยิศราเอล. สำหรับคำฮีบรู (เนʹเกดห์) ที่ได้รับการแปลว่า “คู่เคียง” ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายดังนี้: “การช่วยเหลือที่คาดหวังจะได้นั้นไม่ใช่การช่วยงานประจำวัน หรือการให้กำเนิดบุตรเท่านั้น . . . แต่เป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอันเนื่องมาจากการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข.”
6. พระยะโฮวาตรัสว่าอย่างไรหลังจากสร้างผู้หญิง และเพราะเหตุใด?
6 ฉะนั้น การที่พระยะโฮวาพรรณนาว่าผู้หญิงเป็น “ผู้ช่วย” และ “คู่เคียง” จึงหาได้ลดฐานะแต่อย่างใด. ผู้หญิงมีโครงสร้างเฉพาะตัวทางจิตใจ, อารมณ์, และร่างกาย. ผู้หญิงเป็นคู่เคียงที่เหมาะ เป็นคู่ที่ให้ความพึงพอใจ. แต่ละฝ่ายต่างกัน กระนั้น จำต้องมีทั้งสองฝ่ายเพื่อจะ “บังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน” ตามพระประสงค์ของพระผู้สร้าง. ปรากฏชัดว่า ภายหลังการสร้างมนุษย์ชายและหญิงแล้ว “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.”—เยเนซิศ 1:28, 31.
7, 8. (ก) เมื่อบาปเริ่มมีขึ้นในสวนเอเดน บทบาทของสตรีได้รับผลกระทบอย่างไร? (ข) มีคำถามอะไรเกี่ยวกับความสำเร็จเป็นจริงของเยเนซิศ 3:16 ท่ามกลางผู้นมัสการพระยะโฮวา?
7 หลังจากที่บาปเริ่มมีขึ้น สิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปสำหรับผู้ชายและผู้หญิง. พระยะโฮวาทรงแถลงคำพิพากษาคนทั้งสองฐานะคนบาป. พระยะโฮวาตรัสแก่นางฮาวาว่า “เราจะเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้นในระหว่างเจ้ามีครรภ์” พระองค์ตรัสถึงผลที่พระองค์ทรงยอมให้เป็นไป ประหนึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้กระทำเสียเอง. พระองค์ตรัสต่อไปว่า “เจ้าจะคลอดบุตรด้วยความปวดร้าว เจ้าใคร่จะอยู่กับสามีของเจ้า และเขาจะใช้อำนาจเหนือเจ้า.” (เยเนซิศ 3:16, ล.ม.) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภรรยาหลายคนถูกบังคับบัญชาโดยสามี มีอยู่บ่อย ๆ ที่ถูกสามีปฏิบัติอย่างหยาบคาย. แทนที่จะได้รับการมองว่ามีคุณค่าฐานะเป็นผู้ช่วยและเป็นคู่เคียง บ่อยครั้ง พวกเขาได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นคนใช้หรือทาสเสียมากกว่า.
8 ทว่า ความสำเร็จเป็นจริงของเยเนซิศ 3:16 หมายถึงอะไรสำหรับสตรีผู้นมัสการพระยะโฮวา? พวกเขาถูกลดฐานะจนต่ำต้อยและหมดศักดิ์ศรีหรือเปล่า? หามิได้! แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับบันทึกเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งพูดถึงธรรมเนียมและกิจปฏิบัติต่าง ๆ อันมีผลกระทบต่อสตรีซึ่งดูเหมือนว่าไม่เป็นที่ยอมรับในบางสังคมสมัยนี้?
การเข้าใจธรรมเนียมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล
9. เมื่อเราพิจารณาขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงสมัยคัมภีร์ไบเบิล เราพึงจดจำสามสิ่งอะไรบ้าง?
9 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีท่ามกลางผู้รับใช้ของพระเจ้า. แน่นอน เมื่อพิจารณาธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสตรีสมัยก่อน นับว่าเป็นประโยชน์หากจะจดจำปัจจัยบางประการไว้. ประการแรก เมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสภาพการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจสืบเนื่องจากผู้ชายที่ชั่วได้ใช้อำนาจอย่างเห็นแก่ตัว นั่นไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงเห็นชอบกับการปฏิบัติดังกล่าวต่อสตรี. ประการที่สอง ถึงแม้ระยะหนึ่งพระยะโฮวายอมให้มีการปฏิบัติธรรมเนียมบางอย่างในหมู่ผู้รับใช้ของพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงควบคุมธรรมเนียมเหล่านั้นเพื่อคุ้มครองสตรี. ประการที่สาม เราต้องระมัดระวังไม่ตัดสินธรรมเนียมเก่า ๆ โดยอาศัยมาตรฐานปัจจุบัน. ธรรมเนียมบางอย่างซึ่งอาจดูเหมือนไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในปัจจุบัน ผู้หญิงสมัยก่อนอาจไม่ถือว่าเป็นการลดฐานะ. ให้เราพิจารณาบางตัวอย่าง.
10. พระยะโฮวาทรงมีทัศนะเช่นไรต่อกิจปฏิบัติของการมีภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน และอะไรแสดงว่าพระองค์ไม่เคยละทิ้งมาตรฐานแรกเดิม คือการมีคู่สมรสคนเดียว?
10 การมีภรรยาหลายคน: (โพลิกามี)a ตามวัตถุประสงค์เดิมของพระยะโฮวา ภรรยาจะไม่ปล่อยสามีของตนไปข้องแวะกับหญิงอื่น. พระเจ้าได้สร้างภรรยาคนเดียวสำหรับอาดาม. (เยเนซิศ 2:21, 22) ภายหลังการกบฏในสวนเอเดน การมีภรรยาหลายคนปรากฏครั้งแรกในเชื้อวงศ์ของคายิน. ในที่สุดจึงกลายเป็นธรรมเนียม และบางคนซึ่งเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาก็รับเอาธรรมเนียมนี้มาใช้. (เยเนซิศ 4:19; 16:1-3; 29:21-28) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงยอมให้กับการมีภรรยาหลายคนและกิจปฏิบัติเช่นนี้ทำให้จำนวนพลเมืองในชาติยิศราเอลทวีขึ้น กระนั้น พระองค์ทรงแสดงการคำนึงถึงผู้หญิงโดยได้ควบคุมกิจปฏิบัตินั้น เพื่อว่าภรรยาและบุตรของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง. (เอ็กโซโด 21:10, 11; พระบัญญัติ 21:15-17) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาไม่เคยละทิ้งมาตรฐานดั้งเดิมของพระองค์ว่าด้วยการมีภรรยาหรือสามีเพียงคนเดียว. โนฮาและบุตรชายของท่านซึ่งได้รับพระบัญชาซ้ำให้ ‘บังเกิดพงศ์พันธุ์ทวีมากขึ้นทั่วแผ่นดิน’ ต่างก็มีภรรยาคนเดียว. (เยเนซิศ 7:7; 9:1; 2 เปโตร 2:5) พระเจ้าทรงพรรณนาถึงพระองค์เองว่าเป็นดุจสามีของภรรยาคนเดียว เมื่อบ่งนัยถึงสัมพันธภาพที่พระองค์มีกับชาติยิศราเอล. (ยะซายา 54:1, 5) ครั้นแล้ว มาตรฐานดั้งเดิมของพระเจ้าว่าด้วยการมีภรรยาหรือสามีเพียงคนเดียวก็ได้ตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยพระเยซูคริสต์ และได้ถือปฏิบัติกันในประชาคมคริสเตียนสมัยแรก.—มัดธาย 19:4-8; 1 ติโมเธียว 3:2, 12.
11. เหตุใดจึงมีการจ่ายค่าสินสอดในสมัยคัมภีร์ไบเบิล และการนี้ลดเกียรติผู้หญิงไหม?
11 การจ่ายค่าสินสอด: หนังสือชาติยิศราเอลโบราณ—ชีวิตและประเพณีสืบต่อของพวกเขา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวไว้ว่า “พันธะนี้ที่ให้จ่ายเงินก้อนหนึ่ง หรือของมีค่าทัดเทียมกันแก่ครอบครัวของหญิงสาว ปรากฏชัดว่าทำให้การสมรสของชนยิศราเอลดูเหมือนเป็นการซื้อขาย. ทว่า [ค่าสินสอด] ดูเหมือนจะไม่ใช่ค่าตัวผู้หญิง แต่เป็นการทดแทนให้แก่ครอบครัว.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) ดังนั้น การจ่ายค่าสินสอดจึงเป็นไปเพื่อทดแทนให้กับครอบครัวของผู้หญิง เนื่องจากครอบครัวได้สูญเสียการปรนนิบัติของลูกสาวไป อีกทั้งเป็นการทดแทนที่ครอบครัวได้ลงแรงและใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร. ดังนั้นแล้ว แทนที่จะเป็นการหลู่เกียรติสตรี กลับกลายเป็นการยืนยันค่าของสตรีต่อครอบครัวของตน.—เยเนซิศ 34:11, 12; เอ็กโซโด 22:16; ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 มกราคม 1989 หน้า 21-24.
12. (ก) บางครั้งได้มีการอ้างถึงชายหรือหญิงที่สมรสแล้วอย่างไรในคัมภีร์ไบเบิล และถ้อยคำเช่นนั้นถือเป็นการดูหมิ่นสตรีไหม? (ข) มีอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ในสวนเอเดน? (ดูเชิงอรรถ.)
12 สามีเป็นเสมือน “เจ้าของ”: เรื่องราวชีวิตของอับราฮามกับซาราประมาณปี 1918 ก่อนสากลศักราชแสดงว่า เวลานั้นนับเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถือว่าชายที่สมรสแล้วเป็นดุจ “เจ้าของ” (คำฮีบรู บาʹอัล) และสตรีที่สมรสแล้วเป็น ‘ผู้มีเจ้าของ’ (คำฮีบรู เบอุลาห์ ʹ). (เยเนซิศ 20:3) จึงมีการใช้คำพูดดังกล่าวบางครั้งในคัมภีร์ไบเบิล และไม่มีข้อบ่งชี้เลยว่าสตรียุคก่อนคริสเตียนเห็นคำเหล่านั้นเป็นสิ่งน่ารังเกียจ.b (พระบัญญัติ 22:22) กระนั้น ภรรยาทั้งหลายไม่พึงได้รับการปฏิบัติประหนึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง. ที่ดินหรือทรัพย์สินเป็นสิ่งของที่ซื้อหาได้, ขายได้, กระทั่งรับเป็นมรดกได้ แต่สำหรับภรรยาจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลมีว่าดังนี้: “บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ; แต่ภรรยาที่เฉลียวฉลาดมาจากพระยะโฮวา.”—สุภาษิต 19:14; พระบัญญัติ 21:14.
บทบาทอันมีเกียรติ
13. เมื่อผู้ชายที่เกรงกลัวพระเจ้าติดตามแบบอย่างของพระยะโฮวาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ มีผลประการใดต่อสตรี?
13 แล้วบทบาทของสตรีท่ามกลางผู้รับใช้ของพระเจ้ายุคก่อนคริสเตียนเป็นเช่นไร? สตรีเหล่านั้นถูกมองและได้รับการปฏิบัติอย่างไร? กล่าวได้เลยว่า เมื่อผู้ชายที่เกรงกลัวพระเจ้าได้ประพฤติตามแบบอย่างของพระยะโฮวาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ เหล่าสตรีย่อมได้รับการเอาใจใส่ในศักดิ์ศรีของตน และมีสิทธิและได้รับสิทธิพิเศษมากมาย.
14, 15. มีข้อบ่งชี้อะไรแสดงว่าสตรีได้รับความนับถือในชาติยิศราเอล และเหตุใดพระยะโฮวาทรงคาดหมายอย่างเหมาะสมว่าบรรดาผู้ชายที่นมัสการพระองค์พึงให้ความนับถือต่อสตรี?
14 สตรีต้องได้รับความนับถือ. พระบัญญัติของพระเจ้ากำชับชาวยิศราเอลให้นับถือทั้งบิดาและมารดา. (เอ็กโซโด 20:12; 21:15, 17) เลวีติโก 19:3 กล่าวอย่างนี้: “จงเกรงกลัวและฟังบิดาและมารดาของตนทุกคน.” เมื่อพระนางบัธเซบะได้เข้าเฝ้าซะโลโมราชบุตร ณ โอกาสหนึ่ง “กษัตริย์ก็ลุกขึ้นต้อนรับพระนาง” ด้วยอากัปกิริยาที่แสดงความนับถือ. (1 กษัตริย์ 2:19) สารานุกรมจูไดกา ตั้งข้อสังเกตว่า “การเปรียบเทียบเชิงพยากรณ์ถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อยิศราเอลเสมือนความรักของสามีที่มีต่อภรรยาย่อมทำได้เฉพาะในสังคมที่สตรีได้รับความนับถือเท่านั้น.”
15 พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้บรรดาผู้ชายที่นมัสการพระองค์ให้ความนับถือต่อสตรี เพราะพระองค์ทรงนับถือสตรี. ข้อบ่งชี้เกี่ยวกับเรื่องนี้หาพบได้ในข้อคัมภีร์ ซึ่งที่นั่นพระยะโฮวาทรงใช้ประสบการณ์ของสตรีเป็นภาพเปรียบเทียบ และทรงเปรียบความรู้สึกส่วนพระองค์กับความรู้สึกของผู้หญิง. (ยะซายา 42:14; 49:15; 66:13) การเปรียบเทียบแบบนี้ช่วยผู้อ่านให้เข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไร. น่าสนใจ คำภาษาฮีบรูที่หมายถึง “ความเมตตา” หรือ “ความสงสาร” ซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้กับพระองค์เองเป็นคำที่เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับคำว่า “ครรภ์” และอาจพรรณนาได้ว่าเป็น “ความรู้สึกอย่างที่แม่มี.”—เอ็กโซโด 33:19; ยะซายา 54:7.
16. มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงว่ามีการถือว่าข้อคิดเห็นของสตรีที่เลื่อมใสพระเจ้ามีคุณค่า?
16 มีการเห็นคุณค่าข้อคิดเห็นของสตรีที่เลื่อมใส. เมื่ออับราฮามผู้เกรงกลัวพระเจ้าลังเลใจจะทำตามข้อคิดเห็นของซารา ภรรยาของตนที่เลื่อมใสพระเจ้า พระยะโฮวาทรงสั่งท่านดังนี้: “จงยอมตามที่นางขอเถิด.” (เยเนซิศ 21:10-12, ฉบับแปลใหม่) ภรรยาชาวเฮธของเอซาว “ทำให้ยิศฮาคกับนางริบะคามีใจโศกเศร้านัก.” ต่อมา นางริบะคาพูดถึงความระทมทุกข์ที่นางจะประสบหากยาโคบบุตรชายจะแต่งงานกับหญิงชาติเฮธ. ยิศฮาคมีปฏิกิริยาอย่างไร? เรื่องราวบันทึกกล่าวว่า “ยิศฮาคก็เรียกยาโคบมาอวยพรแล้วสั่งว่า ‘เจ้าอย่ารับหญิงชาวคะนาอันเป็นภรรยาเป็นอันขาด.’” ใช่แล้ว แม้ริบะคาไม่ได้เสนอข้อคิดเห็นโดยตรง แต่สามีของนางได้ตัดสินใจโดยคำนึงถึงความรู้สึกของนาง. (เยเนซิศ 26:34, 35; 27:46; 28:1) ต่อมา กษัตริย์ดาวิดได้ละเว้นจากความผิดฐานทำให้โลหิตตก เพราะท่านเชื่อฟังคำอ้อนวอนของนางอะบีฆายิล.—1 ซามูเอล 25:32-35.
17. อะไรแสดงว่า สตรีมีอำนาจระดับหนึ่งในครอบครัว?
17 สตรีมีอำนาจระดับหนึ่งในครอบครัว. บุตรได้รับคำกระตุ้นเตือนดังนี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงฟังโอวาทบิดาของเจ้า, และอย่าละทิ้งคำสอนของมารดาเจ้า.” (สุภาษิต 1:8) การพรรณนาถึง “ภรรยาที่มีความสามารถ” ในสุภาษิตบท 31 เผยให้เห็นว่า สตรีที่ขยันซึ่งมีสามีแล้วไม่เพียงแต่ดูแลการงานภายในเรือนเท่านั้น แต่ยังอาจดำเนินกิจการซื้อขายที่ดิน, ทำสวน, ทำธุรกิจขนาดย่อม, และเป็นที่รู้จักเนื่องด้วยถ้อยคำประกอบด้วยสติปัญญา. สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่สตรีผู้คู่ควรแก่การยกย่องมีความเคารพยำเกรงพระยะโฮวา. ไม่แปลกที่ภรรยาประเภทนี้มีค่า “ล้ำกว่าทับทิม [หินปะการังสีแดง, ล.ม.]”! หินปะการังสีแดงอันล้ำค่ามีราคาสูงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นอัญมณีประดับและตกแต่ง.—สุภาษิต 31:10-31.
สตรีที่ได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษจากพระเจ้า
18. สมัยคัมภีร์ไบเบิลมีสตรีบางคนได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษในทางใด?
18 ความใฝ่พระทัยของพระยะโฮวาต่อพวกสตรีมีการสะท้อนให้เห็นในความโปรดปรานเป็นพิเศษที่พระองค์ทรงสำแดงต่อบางคนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. นางฮาฆาร, ซารา, และภรรยาของมาโนฮาต่างก็เคยมีทูตสวรรค์ผู้แจ้งข่าวจากพระเจ้ามาหา. (เยเนซิศ 16:7-12; 18:9-15; วินิจฉัย 13:2-5) และยังมี “เหล่าผู้หญิงที่ปรนนิบัติ” ณ พลับพลาประชุม และนักร้องหญิงประจำพระราชวังของกษัตริย์ซะโลโม.—เอ็กโซโด 38:8; 1 ซามูเอล 2:22; ท่านผู้ประกาศ 2:8.
19. บางครั้ง พระยะโฮวาทรงใช้เหล่าสตรีเป็นตัวแทนพระองค์ในทางใด?
19 หลายครั้งในประวัติศาสตร์ชาติยิศราเอล พระยะโฮวาทรงใช้ผู้หญิงเป็นผู้พูดแทนพระองค์. เราอ่านเกี่ยวกับผู้พยากรณ์หญิงดะโบราดังนี้: “พวกยิศราเอลเคยมาหานางให้ชำระความ.” (วินิจฉัย 4:5) หลังจากชาติยิศราเอลปราบกษัตริย์ยาบินชาวคะนาอันได้ชัยชนะแล้ว ดะโบราได้รับสิทธิพิเศษอย่างแท้จริง. ปรากฏว่านางเป็นผู้แต่งบทเพลง อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของบทเพลงแห่งชัยชนะ ซึ่งในที่สุดก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในบันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวา.c (วินิจฉัย บท 5) หลายศตวรรษต่อมา เมื่อกษัตริย์โยซียาจะทูลถามพระยะโฮวา ท่านได้ส่งตัวแทนรวมทั้งมหาปุโรหิตไปหาฮินดา ผู้พยากรณ์หญิง. ฮินดาสามารถตอบพวกเขาอย่างผู้มีอำนาจดังนี้: “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลได้ตรัสดังนี้.” (2 กษัตริย์ 22:11-15) ณ โอกาสนั้น กษัตริย์ทรงมีรับสั่งให้คณะตัวแทนไปหาผู้พยากรณ์หญิง แต่นั่นก็เพื่อรับการชี้นำจากพระยะโฮวา.—เทียบกับมาลาคี 2:7.
20. ตัวอย่างอะไรแสดงว่า พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยต่อความรู้สึกและสวัสดิภาพของสตรี?
20 การที่พระยะโฮวาทรงคำนึงถึงสวัสดิภาพของสตรีนั้นเห็นได้ชัดจากกรณีต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติการเพื่อเห็นแก่เหล่าสตรีที่นมัสการพระองค์. พระองค์ทรงเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องซาราภรรยาคนสวยของอับราฮามให้หลุดพ้นการถูกทำมิดีมิร้ายถึงสองครั้งด้วยกัน. (เยเนซิศ 12:14-20; 20:1-7) พระเจ้าแสดงความโปรดปรานต่อนางเลอา ภรรยาซึ่งยาโคบรักน้อยกว่า โดย ‘ทรงบันดาลให้นางตั้งครรภ์’ เพื่อจะได้ลูกชาย. (เยเนซิศ 29:31, 32) เมื่อนางผดุงครรภ์ชาวยิศราเอลสองคนซึ่งเกรงกลัวพระเจ้าเสี่ยงชีวิตของตนพิทักษ์เด็กชายชาวฮีบรูไม่ให้ถูกฆ่าในประเทศอียิปต์ พระยะโฮวาด้วยทรงหยั่งรู้ค่าจึงได้โปรดปรานเขาทั้งสองให้ “มีครอบครัว.” (เอ็กโซโด 1:17, 20, 21) พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานด้วยใจจริงของฮันนา. (1 ซามูเอล 1:10, 20) และเมื่อหญิงม่ายของผู้พยากรณ์คนหนึ่งจะถูกเจ้าหนี้พรากบุตรชายสองคนไปเป็นการใช้หนี้ พระยะโฮวาก็หาได้ทอดทิ้งนาง. ด้วยความรัก พระเจ้าทรงให้ฤทธิ์อำนาจแก่ผู้พยากรณ์อะลีซาเพื่อทำให้นางมีน้ำมันมากพอชำระหนี้ได้. ด้วยวิธีนี้ นางได้รักษาครอบครัวให้อยู่รอดและคงศักดิ์ศรีของตนไว้ได้.—เอ็กโซโด 22:22, 23; 2 กษัตริย์ 4:1-7.
21. พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูให้ภาพพรรณนาอันสมดุลเช่นไรเกี่ยวกับสภาพชีวิตของสตรี?
21 ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูซึ่งไม่สนับสนุนทัศนะเหยียดสตรีเลย กลับให้ภาพพรรณนาที่สมดุลเกี่ยวกับสภาพชีวิตของสตรีท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า. ถึงแม้พระยะโฮวาไม่ได้คุ้มกันบรรดาสตรีที่นมัสการพระองค์ให้พ้นผลกระทบต่าง ๆ ที่เป็นไปตามถ้อยคำในเยเนซิศ 3:16 กระนั้น สตรีก็ยังได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความนับถือจากผู้ชายผู้เลื่อมใสพระเจ้า ซึ่งได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระยะโฮวาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์.
22. สมัยพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก บทบาทของสตรีได้เปลี่ยนไปอย่างไร และมีการตั้งคำถามอะไร?
22 ในศตวรรษต่าง ๆ หลังจากการจารึกคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูเสร็จบริบูรณ์ บทบาทของสตรีได้เปลี่ยนไปท่ามกลางชาวยิว. พอถึงสมัยที่พระเยซูเสด็จมาบนแผ่นดินโลก คำสอนสืบปากของผู้นำศาสนายิวก็มีข้อจำกัดอย่างเข้มงวดในเรื่องสิทธิพิเศษทางศาสนาและชีวิตในสังคมสำหรับสตรี. คำสอนเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อวิธีที่พระเยซูปฏิบัติต่อเหล่าสตรีไหม? สตรีคริสเตียนในปัจจุบันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างไร? คำถามเหล่านี้จะมีการพิจารณาในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ตามพจนานุกรมเว็บสเตอร์ นิว คอลลิจิเอต ฉบับพิมพ์ครั้งที่เก้า คำ “โพลิกามี” พาดพิงถึง “การสมรสซึ่งฝ่ายชายหรือหญิงมีคู่ครองมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน.” คำที่เจาะจงยิ่งกว่าก็คือ “โพลิจินี” ซึ่งหมายถึง “สภาพหรือกิจปฏิบัติของการมีภรรยาหรือคู่นอนผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน.”
b พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูตลอดเล่ม มีการพูดบ่อยครั้งกว่าถึงชายหญิงที่สมรสแล้วว่าเป็น “สามี” (คำฮีบรู อิช) และ “ภรรยา” (คำฮีบรู อิชชาห์ʹ). ยกตัวอย่าง ในสวนเอเดน พระยะโฮวาไม่ได้ใช้คำ “เจ้าของ” และ “ผู้มีเจ้าของ” แต่ทรงใช้คำว่า “สามี” และ “ภรรยา.” (เยเนซิศ 2:24; 3:16, 17) คำพยากรณ์ของโฮเซอาบอกไว้ว่า ภายหลังการกลับจากต่างแดน ชาติยิศราเอลจะเรียกพระยะโฮวาอย่างสำนึกผิดกลับใจว่า “สามี” และไม่เรียกว่า “นาย” อีกต่อไป. ข้อนี้อาจแสดงว่า คำ “สามี” นั้นคงแฝงความรู้สึกที่อ่อนโยนกว่าคำ “เจ้าของ” ก็ได้.—โฮเซอา 2:16.
c ที่น่าสนใจคือการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเมื่อกล่าวถึงดะโบราที่วินิจฉัย 5:7.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ คำว่า “ผู้ช่วย” และ “คู่เคียง” แสดงถึงสิ่งใดในเรื่องบทบาทของสตรีตามที่พระเจ้ากำหนด?
▫ เมื่อพิจารณาขนบธรรมเนียมซึ่งมีผลกระทบต่อสตรีสมัยคัมภีร์ไบเบิล พวกเราพึงจดจำอะไรไว้เสมอ?
▫ อะไรแสดงว่าสตรีเคยมีบทบาทอันมีเกียรติท่ามกลางผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยโบราณ?
▫ พระยะโฮวาทรงแสดงความโปรดปรานเป็นพิเศษต่อสตรีก่อนยุคคริสเตียนในทางใดบ้าง?