พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโยเอลและอาโมศ
ทั้งหมดที่ท่านบอกเกี่ยวกับตนเองคือ ท่านคือ “โยเอลบุตรพะธูเอล.” (โยเอล 1:1) ในพระธรรมที่ตั้งตามชื่อของท่าน โยเอลไม่ได้บอกอะไรมากกว่านี้ในเรื่องอื่น ๆ ยกเว้นข่าวสารของท่าน แม้แต่ช่วงเวลาที่ท่านพยากรณ์ก็ต้องกะประมาณเอา ว่าเป็นราว ๆ ปี 820 ก่อนสากลศักราช เก้าปีหลังจากอุซียาเริ่มเป็นกษัตริย์ปกครองยูดาห์. เหตุใดโยเอลจึงไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองมากนัก? เหตุผลอาจเป็นได้ว่าท่านต้องการเน้นข่าวสาร ไม่ใช่ตัวผู้ส่งข่าว.
ในสมัยของอุซียา อาโมศชาวยูดาห์ซึ่งเป็น “คนเลี้ยงฝูงสัตว์แลเก็บมะเดื่อป่า” ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ด้วย. (อาโมศ 7:14) ต่างจากโยเอลซึ่งพยากรณ์ในยูดาห์ อาโมศถูกส่งขึ้นเหนือไปยังอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล. พระธรรมอาโมศได้รับการเขียนด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่ก็ให้ภาพชัดเจนโดยเขียนเสร็จราวปี 804 ก่อน ส.ศ.หลังจากที่ผู้พยากรณ์อาโมศกลับมาที่ยูดาห์.
“น่าสังเวชเมื่อคิดถึงวันนั้น”—เพราะเหตุใด?
สิ่งที่โยเอลเห็นในนิมิตคือการบุกของหนอนผีเสื้อ, ตั๊กแตน, และแมลงสาบ (ตั๊กแตนตัวอ่อน, ตั๊กแตนที่เริ่มสอนบิน, และฝูงตั๊กแตนอื่น [ฉบับแปลเก่า]). มีการพาดพิงถึงผู้บุกรุกเหล่านั้นว่าเป็น “พลโยธาอันมีจำนวนเหลือที่จะนับประมาณได้และเข้มแข็ง” และเป็น “ชายฉกรรจ์.” (โยเอล 1:4; 2:2-7) โยเอลทอดถอนใจว่า “น่าสังเวชเมื่อคิดถึงวันนั้น! เพราะว่าวันของพระยะโฮวานั้นจวนจะถึงอยู่แล้ว, และจะมาเหมือนอย่างความพินาศอันมาจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์.” (โยเอล 1:15) พระยะโฮวาทรงแนะนำชาวซีโอนว่า “ท่านทั้งหลายจงหันกลับมาหาเราเดี๋ยวนี้ด้วยความสมัครเต็มใจ.” ถ้าพวกเขาทำตาม พระยะโฮวาจะ “ทรงเมตตาแก่พลไพร่ของพระองค์” และจะทรงกำจัด “ศัตรูซึ่งมาจากทิศเหนือ” ซึ่งเป็นเสมือนการโจมตีจากแมลงนั้น. แต่ก่อนที่วันใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาจะมาถึง พระองค์จะ “หลั่งพระวิญญาณ [ของพระองค์] ลงมาบนมนุษย์ทั้งปวง” และจะ “สำแดงการอัศจรรย์ในท้องฟ้าและบนพื้นโลก.”—โยเอล 2:12, 18-20, 28-31.
มีการท้าทายชาติต่าง ๆ ดังนี้: “จงตีเหล็กผาลแปลงเป็นดาบ, และตีเหล็กขอแปลงเป็นทวน” และเตรียมทำสงคราม. พวกเขาได้รับคำสั่งให้ “มายังหุบเขาแห่งการพิพากษา” ซึ่งพวกเขาถูกพิพากษาและถูกทำลายที่นั่น. “แต่แผ่นดินยะฮูดาจะมีคนอาศัยอยู่เป็นนิตย์.”—โยเอล 3:10, 12, 20.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:15; 2:1, 11, 31; 3:14—“วันของพระยะโฮวา” คืออะไร? วันของพระยะโฮวาคือวันแห่งการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อเหล่าศัตรูของพระองค์ ซึ่งยังผลเป็นความพินาศสำหรับพวกเขา แต่เป็นความรอดสำหรับผู้นมัสการแท้. ตัวอย่างเช่น วันดังกล่าวมาถึงบาบิโลนโบราณในปี 539 ก่อน ส.ศ. เมื่อบาบิโลนถูกพิชิตโดยชาวมีเดียและชาวเปอร์เซีย. (ยะซายา 13:1, 6) “วันของพระยะโฮวา” อีกวันหนึ่งกำลังใกล้เข้ามา เมื่อพระองค์จะสำเร็จโทษตามการพิพากษาต่อ “บาบูโลนใหญ่”—จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ.—วิวรณ์ 18:1-4, 21.
2:1-10, 28—คำพยากรณ์เกี่ยวกับการบุกของพวกแมลงสำเร็จเป็นจริงอย่างไร? ไม่มีการบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลว่ามีแมลงจำนวนมหาศาลบุกเข้ามาในดินแดนคะนาอันดังที่พรรณนาในพระธรรมโยเอล. ด้วยเหตุนั้น การโจมตีที่โยเอลพรรณนาไว้ปรากฏว่าเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับปี ส.ศ. 33 เมื่อพระยะโฮวาเริ่มเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงเหนือสาวกของพระคริสต์รุ่นแรก ๆ และคนเหล่านี้เริ่มประกาศข่าวสารที่ทรมานพวกหัวหน้าศาสนาเท็จ. (กิจการ 2:1, 14-21; 5:27-33) นับเป็นสิทธิพิเศษที่เรามีส่วนร่วมในงานที่คล้ายกันนั้นในทุกวันนี้.
2:32—การ “ออกพระนามพระยะโฮวา” หมายความว่าอย่างไร? ที่จะออกพระนามพระเจ้าหมายถึงการรู้จักพระนามนั้น, ให้ความนับถืออย่างสูง, และพึ่งพาและวางใจผู้ที่เป็นเจ้าของพระนามนั้น.—โรม 10:13, 14.
3:14—“หุบเขาแห่งการพิพากษา” คืออะไร? นี่คือสถานที่ในความหมายเป็นนัยเล็งถึงการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้า. ในสมัยของกษัตริย์ยะโฮซาฟาดแห่งยูเดียซึ่งชื่อของท่านหมายถึง “พระยะโฮวาเป็นผู้พิพากษา” พระเจ้าทรงช่วยยูดาห์ให้พ้นจากชาติต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ โดยทำให้กองทหารของพวกเขาสับสนอลหม่าน. ฉะนั้น สถานที่นี้จึงถูกเรียกด้วยว่า “หุบเขาเยโฮซาฟัท.” (โยเอล 3:2, 12, ฉบับแปลใหม่) ในสมัยของเรา หุบเขานั้นเป็นภาพเล็งถึงสถานที่โดยนัยซึ่งชาติต่าง ๆ จะถูกบดขยี้ดุจผลองุ่นในเครื่องหีบน้ำองุ่น.—วิวรณ์ 19:15.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:13, 14. การกลับใจอย่างแท้จริงและการยอมรับว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้คือสิ่งจำเป็นสำหรับความรอด.
2:12, 13. การกลับใจอย่างแท้จริงต้องมาจากหัวใจ. นี่เกี่ยวข้องกับการ ‘ฉีกใจของเรา’ ไม่ใช่ “ฉีกเสื้อผ้า.”
2:28-32. เฉพาะแต่คนที่ “ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด” ใน “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวา.” เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงเทพระวิญญาณของพระองค์ลงเหนือมนุษย์ทุกเพศทุกวัย และให้ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ ชายและหญิง มีส่วนร่วมในงานกล่าวคำพยากรณ์นี้ นั่นคือ การประกาศ “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า”! (กิจการ 2:11, ล.ม.) ขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา เราควรเต็มไปด้วยการ ‘ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าเราเลื่อมใสในพระเจ้า’ มิใช่หรือ?—2 เปโตร 3:10-12, ล.ม.
3:4-8, 19. โยเอลพยากรณ์ว่าชาติต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบยูดาห์จะถูกคิดบัญชีเนื่องจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ถูกเลือกสรรของพระเจ้า. เป็นจริงตามถ้อยคำเชิงพยากรณ์เหล่านั้น แผ่นดินของเมืองไทร์ (ตุโร) ถูกกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนทำลาย. ต่อมา เมื่อเกาะของเมืองนั้นถูกอะเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิต ทหารหลายพันคนและเหล่าคนสำคัญของเมืองนั้นถูกสังหาร และชาวเมือง 30,000 คนถูกขายเป็นทาส. ชาวฟิลิสตินก็ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันนั้นโดยน้ำมือของอะเล็กซานเดอร์และผู้สืบทอดอำนาจต่อจากท่าน. พอถึงศตวรรษที่สี่ก่อน ส.ศ. เอโดมกลายเป็นที่ร้างเปล่า. (มาลาคี 1:3) คำพยากรณ์เหล่านี้ที่สำเร็จเป็นจริงเสริมความเชื่อที่เรามีต่อพระยะโฮวาฐานะผู้ทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จ. คำพยากรณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นด้วยว่า พระยะโฮวาจะปฏิบัติเช่นไรต่อชาติต่าง ๆ ที่ข่มเหงผู้นมัสการพระองค์ในทุกวันนี้.
3:16-21. “ท้องฟ้าและแผ่นดินโลกจะหวั่นไหว” และชาติต่าง ๆ จะพบกับการพิพากษาลงโทษจากพระยะโฮวา. “แต่พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์” โดยประทานชีวิตในอุทยานให้พวกเขา. เราควรตั้งใจแน่วแน่ที่จะติดสนิทกับพระองค์ขณะที่วันพิพากษาลงโทษโลกชั่วใกล้เข้ามามิใช่หรือ?
“จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน”
อาโมศมีข่าวสารสำหรับชาติศัตรูที่อยู่ล้อมรอบอิสราเอล และสำหรับทั้งยูดาห์และอิสราเอล. ความพินาศจะต้องเกิดขึ้นกับซีเรีย, ฟิลิสเตีย, ไทร์, เอโดม, และโมอาบ เนื่องจากพวกเขาได้ปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมต่อประชาชนของพระเจ้า. ชาวยูดาห์จะถูกทำลาย “ด้วยเขาได้ดูหมิ่นกฎหมายแห่งพระยะโฮวา.” (อาโมศ 2:4) จะว่าอย่างไรกับอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล? บาปของอาณาจักรนี้รวมไปถึงการกดขี่คนจนด้วยความละโมบ, การผิดศีลธรรม, และการลบหลู่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. อาโมศเตือนว่าพระยะโฮวาจะ “ลงพระราชอาชญาแก่แท่นทั้งปวงแห่งเมืองเบ็ธเอล” และ “จะตีเรือนสำหรับฤดูหนาว, แลเรือนสำหรับฤดูร้อน.”—อาโมศ 3:14, 15.
แม้จะถูกลงโทษมามากมายแล้ว แต่ชาติอิสราเอลที่บูชารูปเคารพก็ยังคงดื้อดึง. อาโมศบอกพวกเขาว่า “จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน.” (อาโมศ 4:12) สำหรับชาวอิสราเอล วันของพระยะโฮวาจะหมายถึงการที่พวกเขาจะถูก ‘กวาดไปเป็นเชลยพ้นเมืองดาเมเซ็ค’ นั่นคือที่อัสซีเรีย. (อาโมศ 5:27) อาโมศเผชิญการต่อต้านจากปุโรหิตแห่งเมืองเบทเอล แต่ท่านไม่กลัว. พระยะโฮวาตรัสกับอาโมศว่า “วาระสุดท้ายมาถึงพลเมืองของเราแล้ว, คือชนชาติยิศราเอล, แล้วเราจะไม่ผ่านเขาไปอีก.” (อาโมศ 8:2) ทั้งเชโอลและภูเขาสูงไม่อาจปิดกำบังพวกเขาให้พ้นจากการพิพากษาของพระเจ้า. (อาโมศ 9:2, 3) กระนั้น ยังมีคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟู. พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะให้อิสราเอลประชากรของเรากลับสู่สภาพเดิม เขาจะสร้างเมืองที่พังนั้นขึ้นใหม่และเข้าอาศัยอยู่ เขาจะปลูกสวนองุ่นและดื่มเหล้าองุ่นของสวนนั้น เขาจะทำสวนผลไม้และรับประทานผลของมัน.”—อาโมศ 9:14, ฉบับแปลใหม่.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
4:1—“โคทั้งหลายแห่งเมืองบาซาน” เป็นภาพเล็งถึงใคร? ที่ราบสูงแห่งเมืองบาซานซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทะเลแกลิลีขึ้นชื่อว่ามีสัตว์พันธุ์ดีรวมถึงวัวด้วย. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะที่ราบนี้มีความอุดมสมบูรณ์. อาโมศเปรียบหญิงชาวซะมาเรียที่ชอบความหรูหราฟุ่มเฟือยกับโคแห่งเมืองบาซาน. ไม่ต้องสงสัย ผู้หญิงเหล่านี้คงจะกดดัน “นายของตน” หรือสามีให้ขูดรีดเอากับคนจนเพื่อจะตอบสนองรสนิยมที่หรูหราของตน.
4:6—ถ้อยคำที่ว่า “ฟันสะอาด” หมายถึงอะไร? มีการใช้ถ้อยคำนี้ควบคู่ไปกับถ้อยคำที่ว่า “ขัดสนด้วยขนม [ปัง]” ถ้อยคำนี้อาจพาดพิงถึงช่วงการกันดารอาหาร เมื่อฟันจะยังคงสะอาดอยู่เพราะไม่มีอาหารรับประทาน.
5:5—อิสราเอลไม่ควร “แสวงหาเบ็ธเอล” ในแง่ใด? ยาราบะอามได้ตั้งการนมัสการรูปโคในเบทเอล. นับแต่นั้นมา เมืองนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการนมัสการเท็จ. กิลกาล (ฆีละฆาล) และเบเออร์-เชบา (บะเอละซาบา) ก็เช่นกัน คงต้องได้เป็นสถานที่สำหรับการนมัสการที่ออกหากด้วย. เพื่อจะหนีพ้นจากความหายนะที่บอกไว้ล่วงหน้า ชาติอิสราเอลจะต้องเลิกเดินทางเพื่อไปนมัสการที่เมืองเหล่านี้และเริ่มแสวงหาพระยะโฮวา.
7:1 (ฉบับแปลใหม่)—“พืช . . . ที่กษัตริย์ได้เกี่ยว” พาดพิงถึงอะไร? เป็นได้ว่านี่พาดพิงถึงภาษีที่กษัตริย์เรียกเก็บเพื่อนำไปจุนเจือทหารม้าและฝูงสัตว์. ต้องมีการจ่ายภาษีนี้ “เมื่อพืชรุ่นหลังเริ่มงอกขึ้น.” หลังจากนั้น ประชาชนจึงจะเก็บเกี่ยวส่วนของตน. อย่างไรก็ตาม ก่อนจะได้เก็บเกี่ยว ตั๊กแตนก็รวมตัวกันเป็นฝูงและกินพืชผลของพวกเขาพร้อมกับพืชอื่น ๆ เสียหมด.
8:1, 2—‘ผลไม้สุกในฤดูร้อนกระจาดหนึ่ง’ บ่งชี้ถึงอะไร? ข้อนี้บ่งชี้ว่าวันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว. มีการเก็บผลไม้สุกในฤดูร้อนเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว นั่นคือตอนสิ้นปีเกษตรกรรม. เมื่อพระยะโฮวาทำให้อาโมศเห็น ‘ผลไม้สุกในฤดูร้อนกระจาดหนึ่ง’ นั่นหมายความว่าจุดจบของชาติอิสราเอลใกล้จะถึงแล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระเจ้าตรัสแก่อาโมศว่า “วาระสุดท้ายมาถึงพลเมืองของเราแล้ว, คือชนชาติยิศราเอล, แล้วเราจะไม่ผ่านเขาไปอีก.”
บทเรียนสำหรับเรา:
1:3, 6, 9, 11, 13; 2:1, 4, 6. ด้วยความพิโรธต่อชาติอิสราเอล, ยูดาห์, และหกชาติที่อยู่ล้อมรอบ พระยะโฮวาจึงตรัสว่า “เราจะไม่กลับซึ่งอาชญาโทษ.” การพิพากษาของพระยะโฮวาไม่อาจหนีพ้นได้.—อาโมศ 9:2-5.
2:12. เราไม่ควรทำให้เหล่าไพโอเนียร์, ผู้ดูแลเดินทาง, มิชชันนารี, หรือสมาชิกครอบครัวเบเธลซึ่งทำงานหนักรู้สึกท้อใจโดยการคะยั้นคะยอให้พวกเขาเลิกทำงานรับใช้เต็มเวลาแล้วกลับเข้าสู่ชีวิตที่เรียกกันว่าเป็นชีวิตปกติ. ในทางตรงกันข้าม เราควรสนับสนุนพวกเขาให้ทำงานที่ดีต่อไป.
3:8. เช่นเดียวกับที่คนเรารู้สึกกลัวเมื่อได้ยินเสียงสิงโตคำราม อาโมศก็รู้สึกถูกกระตุ้นให้ประกาศเมื่อได้ยินเสียงพระยะโฮวาตรัสว่า “จงไปพยากรณ์แก่พลไพร่ของเรา.” (อาโมศ 7:15) ความเกรงกลัวพระเจ้าควรกระตุ้นเราให้เป็นผู้ประกาศข่าวสารราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้า.
3:13-15 (ฉบับแปลใหม่); 5:11. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา อาโมศซึ่งเป็นคนเลี้ยงสัตว์ที่ต่ำต้อยสามารถ “เป็นพยานกล่าวโทษ” ประชาชนซึ่งเป็นคนร่ำรวยและจึงไม่แยแส. เช่นเดียวกัน พระยะโฮวาจะทรงเตรียมเราให้พร้อมเพื่อจะประกาศข่าวสารราชอาณาจักรแม้ว่าเขตประกาศของเราอาจทำงานลำบากเพียงไรก็ตาม.
4:6-11; 5:4, 6, 14. แม้ชาวอิสราเอลไม่ได้ “กลับมาหา” พระยะโฮวาหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็ได้รับการกระตุ้นให้ “แสวงหาพระยะโฮวาจึงจะมีชีวิต.” ตราบใดที่พระยะโฮวาทรงอดทนปล่อยให้ระบบชั่วนี้มีอยู่ต่อไป เราก็ควรกระตุ้นเตือนผู้คนให้กลับมาหาพระเจ้า.
5:18, 19. การ “ปรารถนาวันแห่งพระยะโฮวา” โดยไม่เตรียมตัวให้พร้อมจริง ๆ นับเป็นเรื่องโง่เขลา. สภาพของคนเช่นนั้นเป็นเหมือนคนที่วิ่งหนีสิงโตแล้วไปเจอหมี และเมื่อวิ่งหนีหมีก็ไปถูกงูกัด. นับว่าสุขุมที่เราจะ ‘เฝ้าระวังอยู่เสมอ’ ทางฝ่ายวิญญาณและเตรียมพร้อมเสมอ.—ลูกา 21:36, ล.ม.
7:12-17. เรากล้าหาญและมีความมั่นใจเมื่อประกาศข่าวสารของพระเจ้า.
9:7-10. การเป็นลูกหลานของปฐมบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์และเป็นลูกหลานของคนที่รอดจากอียิปต์ฐานะเป็นประชาชนของพระเจ้าที่ทรงเลือกสรรไว้ ไม่อาจป้องกันชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ไว้จากการอยู่ในฐานะที่พระเจ้าไม่พอพระทัยเช่นเดียวกับกับชาวคูช (อายธิโอบ). การได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าผู้ไม่ทรงเลือกหน้าลำเอียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อสายหนึ่งเชื้อสายใดโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับความ “เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรม.”—กิจการ 10:34, 35.
สิ่งที่เราควรทำ
วันแห่งการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าต่อโลกของซาตานใกล้เข้ามาแล้ว. พระเจ้าทรงเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงบนผู้นมัสการพระองค์ เตรียมพวกเขาให้พร้อมเพื่อจะเตือนมนุษยชาติเกี่ยวกับวันของพระองค์ที่ใกล้เข้ามา. เราควรมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการช่วยคนอื่นให้รู้จักพระยะโฮวาและ ‘ออกพระนามของพระองค์’ มิใช่หรือ?—โยเอล 2:31, 32.
อาโมศกระตุ้นเตือนว่า “จงชังความชั่วแลรักความดี, แลให้ความซื่อสัตย์ตั้งมั่นคงอยู่ที่ประตูเมือง.” (อาโมศ 5:15) ขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา นับเป็นแนวทางอันฉลาดสุขุมที่เราจะเข้าใกล้พระเจ้าและแยกตัวอยู่ต่างหากจากโลกชั่วและสังคมที่เสื่อมทรามของโลก. เพื่อจะทำเช่นนั้นได้ บทเรียนที่เราได้จากพระธรรมโยเอลและอาโมศช่างเหมาะกับเวลาจริง ๆ!—เฮ็บราย 4:12.
[ภาพหน้า 12]
โยเอลพยากรณ์ว่า “วันของพระยะโฮวานั้นจวนจะถึงอยู่แล้ว!”
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับอาโมศ เราควรเป็นผู้ประกาศข่าวสารของพระเจ้าที่กล้าหาญและมีความมั่นใจ