การพิพากษาลงโทษ ณ หุบเขาแห่งการพิพากษา
“ให้บรรดาประชาชาติ . . . ขึ้นมายังหุบเขาเยโฮชาฟัท เพราะที่นั่นเราจะนั่งพิพากษาบรรดาประชาชาติทั้งสิ้นที่อยู่ล้อมรอบ.”—โยเอล 3:12, ฉบับแปลใหม่.
1. เหตุใดโยเอลเห็นฝูงชนมาชุมนุมกัน ณ “หุบเขาแห่งการพิพากษา”?
“มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขาแห่งการพิพากษา”! เราอ่านถ้อยคำที่เร้าใจดังกล่าวที่โยเอล 3:14. ผู้คนเหล่านี้มาชุมนุมกันด้วยเหตุใด? โยเอลตอบดังนี้: “วันของพระยะโฮวาใกล้จะถึง.” วันนั้นเป็นวันใหญ่ซึ่งจะมีการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูก—วันที่จะมีการพิพากษาลงโทษมหาชนที่ได้ปฏิเสธราชอาณาจักรที่สถาปนาแล้วภายใต้การปกครองของพระเยซูคริสต์. ในที่สุด “ทูตสวรรค์สี่องค์” ในวิวรณ์บท 7 จะปล่อยมือของตนจากการยึดเหนี่ยว “ลมแผ่นดินทั้งสี่ทิศ” ยังผลให้เกิด “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งซึ่งไม่เคยมีตั้งแต่เดิมโลกมาจนบัดนี้, หรือในเบื้องหน้าจะไม่มีต่อไปอีก.”—วิวรณ์ 7:1; มัดธาย 24:21.
2. (ก) เหตุใดจึงเหมาะที่จะเรียกสถานที่สำหรับการพิพากษาลงโทษของพระยะโฮวาว่า “หุบเขาแห่งเยโฮชาฟัท”? (ข) ยะโฮซาฟาดแสดงปฏิกิริยาอย่างเหมาะสมอย่างไรเมื่อถูกโจมตี?
2 ตามโยเอล 3:12 (ฉบับแปลใหม่) สถานที่สำหรับการพิพากษานี้ถูกเรียกว่า “หุบเขาเยโฮชาฟัท [ยะโฮซาฟาด].” นับว่าเหมาะสมทีเดียว เพราะในสมัยอันสับสนอลหม่านแห่งประวัติศาสตร์ของยูดา พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษที่นั่นเพื่อเห็นแก่ยะโฮซาฟาดกษัตริย์ที่ดี ซึ่งชื่อของท่านมีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษา.” การพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นจะช่วยเราให้เข้าใจดีขึ้นต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสมัยของเรา. บันทึกในเรื่องนี้อยู่ที่ 2 โครนิกาบท 20. ในข้อ 1 ของบทนั้น เราอ่านว่า “พวกโมอาบพวกอำโมน, และพวกมะอูนีมลางคนได้ยกกองทัพมาจะสู้รบกับยะโฮซาฟาด.” ยะโฮซาฟาดมีปฏิกิริยาอย่างไร? ท่านทำสิ่งที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาทำเสมอเมื่อตกอยู่ในภาวะวิกฤติ. ท่านขอการชี้นำจากพระยะโฮวา โดยอธิษฐานอย่างแรงกล้าดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้าแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย, พระองค์จะมิทรงพิพากษาปรับโทษพวกนั้นหรือ? ด้วยพวกข้าพเจ้านี้ไม่มีกำลังที่จะต้านทานต่อสู้หมู่คณะใหญ่ที่มาต่อสู้พวกข้าพเจ้านี้; พวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะทำประการใด: แต่แหงนตาระลึกถึงพระองค์.”—2 โครนิกา 20:12.
พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐาน
3. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาให้พวกยูดาทำอะไรเมื่อพวกเขาเผชิญการโจมตีอย่างรุนแรงจากชาติล้อมรอบ?
3 ขณะที่ “บรรดาพวกยูดาได้ยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาทั้งลูกเล็กเด็กน้อยกับภรรยา” อยู่นั้น พระยะโฮวาทรงแสดงการตอบรับ. (2 โครนิกา 20:13) เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงใช้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ของพระองค์ในทุกวันนี้ พระผู้สดับคำอธิษฐานองค์ยิ่งใหญ่ได้ประทานอำนาจแก่ผู้พยากรณ์ยะฮะซีเอ็ลชาวเลวีเพื่อให้คำตอบของพระองค์แก่คนที่ชุมนุมอยู่นั้น. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) เราอ่านดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสแก่ท่านทั้งหลายดังนี้ว่า, ‘อย่ากลัว, อย่าตกใจเพราะเหตุหมู่คนคณะใหญ่นั้น; เพราะการสู้รบครั้งนี้มิใช่พนักงานของพวกท่าน, แต่เป็นกิจธุระของพระเจ้า. . . . ในการนี้ท่านทั้งหลายไม่ต้องสู้รบ: แต่จงยืนนิ่งอยู่กับที่, แล้วท่านทั้งหลายคงจะได้เห็นความสงเคราะห์ช่วยเหลือของพระยะโฮวา, ซึ่งทรงสถิตอยู่ด้วย, . . . อย่ากลัว, อย่าตกใจเลย; พรุ่งนี้จงพากันออกไปสู้พวกนั้นเถิด: เพราะพระยะโฮวาจะทรงสถิตอยู่ด้วย.’”—2 โครนิกา 20:15-17.
4. แทนที่จะอยู่เฉย ๆ พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้ไพร่พลของพระองค์ลงมือปฏิบัติอย่างไรเมื่อพวกเขาเผชิญการท้าทายจากศัตรู?
4 พระยะโฮวาไม่ทรงประสงค์ให้กษัตริย์ยะโฮซาฟาดและประชาชนของท่านเพียงแต่อยู่เฉย ๆ คอยการช่วยให้รอดอย่างอัศจรรย์. พวกเขาต้องลงมือด้วยตัวเองเพื่อรับมือกับการท้าทายของศัตรู. กษัตริย์และ ‘บรรดาพวกยูดา ทั้งลูกเล็กเด็กน้อยกับภรรยา’ แสดงความเชื่อเข้มแข็ง ขณะที่พวกเขาเชื่อฟังโดยลุกขึ้นแต่เช้าตรู่และเดินทัพออกไปประจันหน้ากับเหล่าข้าศึกที่มารุกราน. ระหว่างทาง กษัตริย์คอยออกคำสั่งที่มาจากพระเจ้าและให้กำลังใจ โดยกระตุ้นเตือนเขาเหล่านั้นว่า “จงเชื่อพึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าทั้งหลาย, จึงจะยั่งยืนอยู่ได้; จงเชื่อผู้พยากรณ์ของพระองค์, พวกเจ้าจึงจะมีความเจริญ.” (2 โครนิกา 20:20) เชื่อในพระยะโฮวา! เชื่อในผู้พยากรณ์ของพระองค์! นั่นแหละคือเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ. เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ ขณะที่เราเอาจริงเอาจังต่อ ๆ ไปในการรับใช้พระยะโฮวา ขอให้เราอย่าได้สงสัยข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์จะทำให้ความเชื่อของเราได้ชัย!
5. พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันแสดงความกระตือรือร้นอย่างไรขณะที่พวกเขาสรรเสริญพระยะโฮวา?
5 เช่นเดียวกับชาวยูเดียในสมัยยะโฮซาฟาด เราต้อง “ขอบพระเดชพระคุณพระยะโฮวา; เพราะความเมตตาของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์.” เราจะแสดงความขอบพระคุณได้อย่างไร? โดยการประกาศเรื่องราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้า! เช่นเดียวกับชาวยูเดีย “ได้ยกเสียงขึ้นร้องเพลงสรรเสริญ” ให้เราเสริมความเชื่อของเราด้วยการงาน. (2 โครนิกา 20:21, 22) ถูกแล้ว ให้เราแสดงความเชื่อแท้แบบเดียวกัน ขณะที่พระยะโฮวาทรงตระเตรียมจะลงมือจัดการศัตรูของพระองค์! แม้หนทางดูเหมือนจะยาวไกล ขอเราแน่วแน่ที่จะอดทนและเอาจริงเอาจังในความเชื่อ ดังเช่นไพร่พลของพระองค์ที่ได้ชัยชนะกำลังทำอยู่ตามจุดต่าง ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์ลำบากของแผ่นดินโลก. ในบางดินแดนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการกดขี่ข่มเหง, ความรุนแรง, การกันดารอาหาร, และสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้ากำลังประสบผลที่น่าทึ่ง ดังเห็นได้จากรายงานในหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1998.
พระยะโฮวาทรงช่วยไพร่พลของพระองค์ให้รอด
6. ความเชื่อที่เข้มแข็งช่วยเราอย่างไรให้รักษาความภักดีในสมัยนี้?
6 ชาติต่าง ๆ ที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งอยู่ล้อมรอบยูดาพยายามปิดล้อมไพร่พลของพระเจ้า แต่ด้วยความเชื่ออันเป็นแบบอย่าง ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาตอบโต้ด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระองค์. เราจะแสดงความเชื่อแบบเดียวกันได้ในทุกวันนี้. โดยทำให้ชีวิตของเราเต็มไปด้วยการงานที่เป็นการสรรเสริญแด่พระยะโฮวา เราเสริมเกราะฝ่ายวิญญาณของเราให้แข็งแกร่ง ไม่ทิ้งช่องให้ซาตานใช้วิธีการอันมีเล่ห์เหลี่ยมเจาะทะลวงได้. (เอเฟโซ 6:11) ความเชื่อที่เข้มแข็งจะต้านทานการถูกล่อใจให้เขวโดยความบันเทิงที่เสื่อมทราม, วัตถุนิยม, และความเฉยเมยซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโลกรอบตัวเราที่กำลังจะพินาศไป. ความเชื่อที่ไม่ยอมพ่ายแพ้เช่นนี้จะช่วยเรารักษาการรับใช้อย่างภักดีด้วยกันกับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ขณะที่เรารับการบำรุงเลี้ยงด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณที่จัดให้ “ตามเวลาที่สมควร” ต่อ ๆ ไป.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
7. พยานพระยะโฮวาตอบโต้อย่างไรต่อการโจมตีต่าง ๆ นานา?
7 ความเชื่อของเราซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลจะเสริมเราให้เข้มแข็งเพื่อจะสามารถยืนมั่นต่อต้านการปลุกระดมกระตุ้นความเกลียดชังซึ่งก่อขึ้นโดยพวกคนที่แสดงน้ำใจแบบ “บ่าวชั่ว” ในมัดธาย 24:48-51. สำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งตามคำพยากรณ์นี้ ปัจจุบันพวกออกหากกำลังหว่านคำเท็จและการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตายในหลายประเทศ ถึงขนาดที่มีการคบคิดกับบางคนที่มีตำแหน่งในทางราชการ. เมื่อเห็นว่าเหมาะสม พยานพระยะโฮวาตอบโต้การกระทำดังกล่าว ดังที่มีพรรณนาไว้ที่ฟิลิปปอย 1:7 (ล.ม.) ว่า ‘ป้องกันและทำให้ข่าวดีมีกฎหมายรองรับ.’ ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1996 ในคดีความหนึ่งที่ประเทศกรีซ ผู้พิพากษาเก้าคนจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ที่สตราสบูร์ก ยืนยันอีกครั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า “พยานพระยะโฮวามีลักษณะตามคำนิยามของ ‘ศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จัก’” จึงมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพทางความคิด, สติรู้สึกผิดชอบ, ความเชื่อ, และมีสิทธิที่จะประกาศความเชื่อของตน. สำหรับพวกออกหาก คำพิพากษาของพระเจ้าบอกไว้ดังนี้: “คำกล่าวของสุภาษิตแท้ก็ตกแก่เขาคือ: ‘สุนัขได้กลับกินของซึ่งมันได้สำรอกออกมา และสุกรที่ล้างแล้วก็กลับลงไปเกลือกกลั้วในปลักอีก.’”—2 เปโตร 2:22, ล.ม.
8. ในสมัยของยะโฮซาฟาด พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษศัตรูแห่งไพร่พลของพระองค์อย่างไร?
8 ย้อนกลับไปในสมัยของยะโฮซาฟาด พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษคนพวกนั้นที่ต้องการทำอันตรายไพร่พลของพระองค์. เราอ่านดังนี้: “พระยะโฮวาทรงจัดกองซุ่มต่อชาติอำโมนกับโมอาบและชาวภูเขาเซอีรที่ยกมาต่อสู้ชาวยูดาให้พวกเหล่านั้นพ่ายแพ้. ด้วยชาติอำโมนและโมอาบได้พากันต่อสู้ชาวภูเขาเซอีรฆ่าฟันล้างผลาญเสียสิ้น: ครั้นเขาล้างผลาญชนชาวภูเขาเซอีรนั้นเสียหมดแล้ว, ต่างคนต่างก็ล้างผลาญกันเอง.” (2 โครนิกา 20:22, 23) ชาวยูเดียตั้งชื่อสถานที่แห่งนั้นว่าหุบเขาบะราคา ซึ่งคำบะราคานี้มีความหมายว่า “พระพร.” ในสมัยปัจจุบันก็เช่นกัน การพิพากษาลงโทษของพระยะโฮวาต่อศัตรูของพระองค์จะยังผลเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่สำหรับไพร่พลของพระองค์เอง.
9, 10. ใครที่ได้แสดงตัวว่าสมควรถูกพระยะโฮวาพิพากษาลงโทษ?
9 เราอาจถามว่า ใครจะถูกพระยะโฮวาตัดสินลงโทษในสมัยปัจจุบัน? เพื่อจะได้คำตอบ เราต้องกลับไปที่คำพยากรณ์ของโยเอล. โยเอล 3:3 กล่าวถึงศัตรูของไพร่พลของพระองค์ที่ “ได้ขายเด็กชายเพื่อเอาเงินไปเสียให้แก่หญิงโสเภณี, และขายเด็กหญิงเพื่อเอาเงินมาซื้อเหล้าองุ่น.” ใช่แล้ว พวกเขาถือว่าผู้รับใช้พระเจ้าต่ำกว่าพวกเขามาก ลูก ๆ ของผู้รับใช้พระเจ้ามีค่าเพียงค่าโสเภณีหรือราคาเหล้าองุ่นเหยือกหนึ่ง. พวกเขาจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้.
10 ที่สมควรถูกพิพากษาพอ ๆ กันก็คือคนเหล่านั้นที่ผิดประเวณีฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 17:3-6) และที่น่าตำหนิเป็นพิเศษได้แก่คนเหล่านั้นที่กระตุ้นอำนาจทางการเมืองให้กดขี่ข่มเหงพยานพระยะโฮวาและขัดขวางกิจกรรมของพวกเขา เช่นที่พวกหัวหน้าศาสนาบางคนได้ทำการยุแหย่ฝูงชนให้ก่อความวุ่นวายในยุโรปตะวันออกเมื่อไม่นานมานี้. พระยะโฮวาทรงแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะจัดการคนทำเรื่องชั่วร้ายเหล่านั้น.—โยเอล 3:4-8.
‘จงเตรียมตัวทำพิธีเข้าสงคราม’
11. พระยะโฮวาทรงท้าศัตรูของพระองค์โดยวิธีใดให้ทำสงคราม?
11 จากนั้น พระยะโฮวาทรงเรียกไพร่พลของพระองค์ให้ประกาศคำท้าแก่ชาติทั้งหลายดังนี้: “ให้เตรียมตัวทำพิธีเข้าสงคราม; ให้ปลุกใจชายฉกรรจ์; ให้ระดมพลทหารเข้าหมู่เข้ากอง.” (โยเอล 3:9) นี่เป็นการประกาศสงครามที่ไม่มีสงครามใดเหมือน กล่าวคือสงครามที่ชอบธรรม. เหล่าพยานฯ ที่ภักดีของพระยะโฮวาไว้วางใจในอาวุธฝ่ายวิญญาณ ขณะที่พวกเขาโต้ตอบการโฆษณาชวนเชื่อที่โป้ปดและหักล้างความเท็จด้วยความจริง. (2 โกรินโธ 10:4; เอเฟโซ 6:17) อีกไม่ช้า พระเจ้าจะทรงประกาศ “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” สงครามนี้จะขจัดผู้ต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าให้หมดไปจากแผ่นดินโลก. ไพร่พลของพระองค์บนแผ่นดินโลกจะไม่มีส่วนร่วมลงมือในสงครามนี้. พวกเขาได้ “เอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง” ทั้งตามตัวอักษรและโดยนัย. (ยะซายา 2:4) ในทางกลับกัน พระยะโฮวาทรงท้านานาชาติที่ต่อต้านให้ทำในสิ่งตรงกันข้ามโดยบอกว่า “จงตีเหล็กผาลแปลงเป็นดาบ, และตีเหล็กขอแปลงเป็นทวน.” (โยเอล 3:10) พระองค์เชิญพวกเขาให้เทเครื่องมือสงครามและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในคลังสรรพาวุธของตนทั้งหมดออกมาทำสงคราม. แต่พวกเขาจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จ เพราะสงครามนี้และชัยชนะเป็นของพระยะโฮวา!
12, 13. (ก) แม้ว่าสงครามเย็นยุติลงแล้ว มีชาติมากมายได้แสดงอย่างไรว่าพวกเขายังคงกระหายสงคราม? (ข) ชาติต่าง ๆ ไม่พร้อมสำหรับอะไร?
12 ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ชาติต่าง ๆ ประกาศว่าสงครามเย็นยุติลงแล้ว. โดยคำนึงถึงข้อนี้ เป้าหมายสำคัญเรื่องสันติภาพและความปลอดภัยของสหประชาชาติบรรลุผลแล้วไหม? ไม่เลย! เหตุการณ์ในบุรุนดี, สาธารณรัฐคองโก, อิรัก, ไลบีเรีย, รวันดา, โซมาเลีย, และอดีตยูโกสลาเวียบอกอะไรแก่เรา? ตามคำพูดที่ยิระมะยา 6:14 (ล.ม.) พวกเขากล่าวว่า “‘มีสันติภาพ! มีสันติภาพ!’ เมื่อหามีสันติภาพไม่.”
13 แม้ว่าสงครามที่ปะทะกันซึ่ง ๆ หน้าได้ยุติไปแล้วในบางแห่ง ชาติสมาชิกของสหประชาชาติยังคงแข่งขันกันในการผลิตอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ. บางประเทศยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองมากมาย. ส่วนประเทศอื่นก็พัฒนาอาวุธเคมีและอาวุธแบคทีเรียซึ่งมีอำนาจทำลายสูง. เมื่อนานาชาติเข้ามารวมตัวกัน ณ สมรภูมิโดยนัยที่เรียกว่าอาร์มาเก็ดดอน พระองค์ทรงท้าพวกเขาดังนี้: “จงให้คนอ่อนแอกล่าวว่า, ‘ฉันก็เป็นคนแข็งแรงมาก.’ บรรดาประเทศทั้งหลายที่อยู่ล้อมรอบ, จงเร่งมาประชุมกันเถอะ.” ถึงตรงนี้โยเอลแทรกคำทูลวิงวอนของท่านเองว่า “โอพระยะโฮวา, ขอให้ผู้เข้มแข็งของพระองค์ ลงมาที่นั่น.”—โยเอล 3:10, 11.
พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้ที่เป็นของพระองค์เอง
14. ใครคือผู้เข้มแข็งของพระยะโฮวา?
14 ใครคือผู้เข้มแข็งของพระยะโฮวา? มีประมาณ 280 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลที่เรียกพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ว่า “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา.” (2 กษัตริย์ 3:14) พลโยธาเหล่านี้ได้แก่เหล่าทูตสวรรค์จำนวนมากมายในสวรรค์ซึ่งอยู่พร้อมที่จะทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวา. เมื่อพวกซีเรียพยายามจะจับอะลีซา ในที่สุดพระยะโฮวาทรงเปิดตาคนใช้ของอะลีซาให้เห็นสาเหตุที่พวกเขาทำไม่สำเร็จ: “ดูเถอะ, ภูเขานั้นเต็มไปด้วยม้าและรถเป็นเปลวไฟล้อมรอบอะลีซา.” (2 กษัตริย์ 6:17) พระเยซูตรัสว่าพระองค์สามารถขอต่อพระบิดาให้ประทาน ‘ทูตสวรรค์มากกว่าสิบสองกอง.’ (มัดธาย 26:53) ในคำพรรณนาถึงการที่พระเยซูจะทรงควบม้าออกมาเพื่อพิพากษาลงโทษ ณ อาร์มาเก็ดดอน พระธรรมวิวรณ์รายงานดังนี้: “เหล่ากองทัพซึ่งอยู่ในสวรรค์ก็นั่งบนม้าขาวตามเสด็จไป และพวกเขาได้นุ่งห่มผ้าลินินเนื้อละเอียด สะอาดสีขาว. และมีพระแสงดาบยาวคมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เพื่อพระองค์จะฟาดฟันชาติต่าง ๆ ด้วยพระแสงนั้น และพระองค์จะทรงเลี้ยงดูพวกเขาด้วยคทาเหล็ก. พระองค์ยังได้ทรงย่ำบ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธแห่งความกริ้วของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการอีกด้วย.” (วิวรณ์ 19:14, 15, ล.ม.) มีการพรรณนาถึงบ่อย่ำองุ่นโดยนัยนั้นอย่างชัดเจนว่าเป็น “บ่อย่ำองุ่นอันใหญ่แห่งพระพิโรธของพระเจ้า.”—วิวรณ์ 14:17-20, ล.ม.
15. โยเอลพรรณนาสงครามของพระยะโฮวาต่อนานาชาติอย่างไร?
15 ถ้าอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงตอบคำขอของโยเอลอย่างไรที่ให้ส่งผู้เข้มแข็งของพระเจ้าเอง ลงมา? คำตอบอยู่ในถ้อยคำซึ่งอธิบายภาพได้อย่างแจ่มชัดดังนี้: “ให้นานาประเทศพากันตื่นเต้น, และมายังหุบเขาแห่งการพิพากษา; ด้วยว่าในที่นั่นเราจะนั่งพิพากษาบรรดาชาวนานาประเทศที่อยู่ล้อมรอบ. พืชซึ่งควรจะเกี่ยวก็สุกแล้ว:จงเอาเคียวสอดเข้าไป; มาเถอะ, จงลงไปย่ำ, ด้วยว่าเครื่องหีบน้ำองุ่นเต็มอยู่แล้ว. และถังรองน้ำองุ่นก็เต็มล้น; เพราะว่าความชั่วร้ายของเขามีมากมายอยู่แล้ว. มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขาแห่งการพิพากษา; ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึงหุบเขาแห่งการพิพากษาแล้ว. ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มืดไป, และดาวทั้งหลายก็อับแสง. และพระยะโฮวาจะทรงแผดพระสุรเสียงจากซีโอน, และจะทรงเปล่งเสียงจากยะรูซาเลม; และท้องฟ้าและแผ่นดินโลกจะหวั่นไหว.”—โยเอล 3:12-16.
16. ใครจะรวมอยู่ด้วยในกลุ่มคนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษ?
16 ชื่อยะโฮซาฟาดมีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษา” ฉันใด เป็นเรื่องแน่นอนว่า พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงพิสูจน์จนถึงที่สุดว่าพระบรมเดชานุภาพของพระองค์นั้นถูกต้องเที่ยงธรรมในคราวที่พระองค์ทรงพิพากษาลงโทษฉันนั้น. คำพยากรณ์นี้พรรณนาถึงคนที่ถูกพิพากษาลงโทษว่าเป็น ‘มหาชนมากมายในหุบเขาแห่งการพิพากษา.’ ผู้สนับสนุนศาสนาเท็จที่ยังหลงเหลือจะอยู่ในกลุ่มชนเหล่านั้น. คนที่จะถูกนับรวมอยู่ด้วยได้แก่คนที่มีการพรรณนาถึงในเพลงสรรเสริญบทสอง ซึ่งก็ได้แก่ประเทศทั้งหลาย, ชนประเทศต่าง ๆ, กษัตริย์ในแผ่นดินโลก, และเจ้านายทั้งหลาย ซึ่งมีใจชอบในระบบอันเสื่อมทรามของโลกนี้มากกว่าจะ “ปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจเกรงกลัว.” คนเหล่านี้ปฏิเสธที่จะ “จุบพระบุตร.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2, 11, 12) พวกเขาไม่ยอมรับพระเยซูในฐานะพระมหากษัตริย์รองจากพระยะโฮวา. นอกจากนั้น ฝูงชนเหล่านี้ที่จะต้องประสบความพินาศรวมถึงบรรดาประชาชนที่กษัตริย์ผู้ทรงสง่าราศีจะพิพากษาว่าเป็น “แพะ.” (มัดธาย 25:33, 41) เมื่อถึงเวลาที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้ที่จะแผดพระสุรเสียงจากยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์ พระมหากษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายของพระองค์ที่ได้รับการสถาปนาแล้วจะทรงม้าออกมาเพื่อพิพากษาลงโทษ. สวรรค์และแผ่นดินโลกจะต้องสะเทือนสะท้านไป! อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่า “พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์, เป็นป้อมสำหรับเชื้อวงศ์ยิศราเอล.”—โยเอล 3:16.
17, 18. ใครถูกระบุตัวว่าจะเป็นผู้รอดชีวิตจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ และพวกเขาจะมีชีวิตในสภาพเช่นไร?
17 วิวรณ์ 7:9-17 (ล.ม.) ระบุถึงคนเหล่านี้ที่รอดชีวิตจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ว่าเป็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งประกอบด้วยคนเหล่านั้นที่แสดงความเชื่อในอำนาจแห่งค่าไถ่ของพระโลหิตพระเยซู. คนเหล่านี้จะได้รับการปกป้องในวันของพระยะโฮวา ในขณะที่ฝูงชนซึ่งมารวมกลุ่มกันตามคำพยากรณ์ของโยเอลจะพบกับการพิพากษาลงโทษ. พระธรรมโยเอลพูดแก่ผู้รอดชีวิตว่า “เจ้าทั้งหลายจะได้รู้สำนึกว่า เรายะโฮวาเป็นพระเจ้าของเจ้า, ผู้สถิตอยู่ในซีโอนซึ่งเป็นภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา”—ที่สถิตทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวา.—โยเอล 3:17ก.
18 จากนั้นคำพยากรณ์นี้บอกเราว่า อาณาเขตแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าฝ่ายสวรรค์ “จะได้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์, และไม่มีคนต่างด้าวผ่านเข้าไปอีกเลย.” (โยเอล 3:17ข) ภายในอาณาเขตที่สวรรค์และบนแผ่นดินโลกของราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์นั้นจะไม่มีคนแปลกหน้า เพราะทั้งหมดจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการนมัสการอันบริสุทธิ์.
19. โยเอลพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับความสุขภายใต้สภาพอุทยานแห่งไพร่พลของพระเจ้าในทุกวันนี้?
19 แม้แต่ในทุกวันนี้ มีสันติสุขอย่างบริบูรณ์อยู่ทั่วไปในหมู่ไพร่พลของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกนี้. ด้วยเอกภาพ พวกเขาประกาศการพิพากษาของพระองค์ใน 230 กว่าดินแดนและในภาษาต่าง ๆ มากกว่า 300 ภาษา. โยเอลพยากรณ์ถึงความรุ่งเรืองของพวกเขาเอาไว้อย่างงดงามดังนี้: “ในกาลวันนั้นน้ำองุ่นอันหวานจะหยดลงมาจากภูเขา, และน้ำนมจะไหลหลั่งแต่เนินเขา, และน้ำจะไหลไปในลำธารตลอดทั่วประเทศยะฮูดา.” (โยเอล 3:18) ใช่แล้ว พระยะโฮวาจะทรงเทพระพรอันเปี่ยมด้วยความยินดีและความเจริญรุ่งเรืองและสายน้ำแห่งความจริงอันล้ำค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แก่ผู้สรรเสริญพระองค์บนแผ่นดินโลก. พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาจะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องอย่างครบถ้วน ณ หุบเขาแห่งการพิพากษา และความยินดีจะมีบริบูรณ์ขณะที่พระองค์ทรงสถิตอยู่ตลอดไปท่ามกลางไพร่พลของพระองค์ซึ่งได้รับการไถ่.—วิวรณ์ 21:3, 4.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงช่วยไพร่พลของพระองค์อย่างไรในสมัยของยะโฮซาฟาด?
▫ พระยะโฮวาตัดสินว่าใครสมควรพินาศ ณ “หุบเขาแห่งการพิพากษา”?
▫ ใครคือผู้เข้มแข็งของพระเจ้า และพวกเขาจะมีบทบาทเช่นไรในการต่อสู้ขั้นสุดท้าย?
▫ ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์มีความสุขเช่นไร?
[รูปภาพหน้า 21]
พวกยูดาได้รับแจ้งว่า ‘อย่ากลัวเลย ด้วยว่าการรบนั้นมิใช่พนักงานของพวกท่าน แต่เป็นกิจธุระของพระเจ้า’
[รูปภาพหน้า 23]
พระยะโฮวาทรงท้าศัตรูของพระองค์ให้ ‘ตีเหล็กผาลของพวกเขาแปลงเป็นดาบ’
[รูปภาพหน้า 24]
คัมภีร์ไบเบิลระบุตัวชนฝูงใหญ่แห่งผู้รอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่