“มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง”
“มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่งและมีวาระสำหรับโครงการทุกอย่างภายใต้ฟ้า.”—ท่านผู้ประกาศ 3:1.
1. มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีข้อจำกัดอะไรที่เป็นอุปสรรค และข้อจำกัดนี้บางครั้งทำให้เราประสบกับอะไร?
ผู้คนมักกล่าวว่า “ฉันน่าจะทำเร็วกว่านี้.” หรืออาจมองย้อนหลังแล้วก็บอกว่า “ฉันน่าจะรอเอาไว้ก่อน.” ปฏิกิริยาเช่นนั้นแสดงถึงข้อจำกัดของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นอุปสรรคในการกำหนดเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำบางสิ่งบางอย่าง. ข้อจำกัดนี้ได้ทำให้สายสัมพันธ์บางอย่างขาดสะบั้นลง. ข้อจำกัดดังกล่าวได้ทำให้เกิดความผิดหวังและความข้องขัดใจ. และที่แย่ที่สุดก็คือ ข้อจำกัดเช่นนี้ได้ทำให้ความเชื่อของบางคนที่มีต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์อ่อนลง.
2, 3. (ก) เหตุใดการยอมรับเอาการตัดสินของพระยะโฮวาในเรื่องเวลากำหนดเป็นแนวทางแห่งสติปัญญา? (ข) เราควรมีทัศนะที่สมดุลเช่นไรเกี่ยวด้วยความสมจริงตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล?
2 เนื่องจากทรงมีสติปัญญาและความหยั่งเห็นเข้าใจอย่างที่มนุษย์ไม่มี พระยะโฮวาทรงสามารถมองเห็นล่วงหน้าถึงผลของการกระทำทุกอย่าง หากพระองค์ประสงค์. พระองค์ทรงสามารถรู้ “ตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย.” (ยะซายา 46:10) ดังนั้น พระองค์ทรงสามารถเลือกเวลาที่เหมาะที่สุดอย่างไม่ผิดพลาดเพื่อทำสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ประสงค์จะทำ. ด้วยเหตุนั้น แทนที่จะไว้ใจความสามารถในการกำหนดเวลาของเราเองซึ่งมักผิดพลาด นับว่าสุขุมที่เราจะยอมรับการตัดสินของพระยะโฮวาในเรื่องเวลากำหนด!
3 ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่อาวุโสคอยอย่างภักดีให้ถึงเวลากำหนดของพระยะโฮวาที่คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลบางข้อจะสำเร็จเป็นจริง. พวกเขาขยันขันแข็งในงานรับใช้ของพระองค์อยู่ตลอด ขณะเดียวกันก็เตือนตัวเองให้ระลึกเสมอถึงหลักการที่พบในบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:26 ซึ่งกล่าวว่า “เป็นการดีที่มนุษย์จะสงบใจรอคอยความรอดของพระยะโฮวา.” (เทียบกับฮะบาฆูค 3:16.) ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เชื่อมั่นว่าการสำเร็จโทษตามการพิพากษาที่ได้ประกาศเอาไว้แล้วของพระยะโฮวา “แม้ . . . จะเนิ่นช้า . . . จะสำเร็จเป็นแน่. จะไม่ล่าช้าเลย.”—ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.
4. อาโมศ 3:7 และมัดธาย 24:45 น่าจะช่วยเราอย่างไรให้รอคอยพระยะโฮวาอย่างอดทน?
4 ในอีกด้านหนึ่ง หากเราไม่เข้าใจถ่องแท้ในข้อพระคัมภีร์บางข้อหรือคำอธิบายบางอย่างที่สรรพหนังสือของว็อชเทาเวอร์ได้ให้ไว้ เรามีเหตุผลไหมที่จะเริ่มรู้สึกรำคาญใจ? การคอยให้ถึงเวลากำหนดของพระยะโฮวาเพื่อจะได้รับความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดเจนเป็นแนวทางแห่งสติปัญญา. “ด้วยว่าพระยะโฮวาองค์บรมมหิศรจะไม่ทรงทำสิ่งใด เว้นแต่พระองค์ได้ทรงเปิดเผยเรื่องซึ่งพระองค์ถือเป็นความลับแก่ผู้รับใช้ของพระองค์คือพวกผู้พยากรณ์.” (อาโมศ 3:7, ล.ม.) ช่างเป็นคำสัญญาที่ยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้! แต่เราต้องตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงเปิดเผยเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นความลับในเวลาที่พระองค์ ทรงเห็นว่าเหมาะสม. ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าว พระเจ้าได้ทรงมอบหน้าที่ไว้กับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ให้จัด ‘อาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาที่สมควร’ แก่ไพร่พลของพระองค์. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ไม่มีเหตุผลที่เราจะเป็นห่วงเกินไป หรือแม้แต่ไม่สบายใจ ที่บางเรื่องยังไม่มีคำอธิบายอย่างจุใจ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราสามารถมั่นใจว่าถ้าเราคอยพระยะโฮวาอย่างอดทน พระองค์จะทรงจัดให้มีสิ่งจำเป็น “ตามเวลาที่สมควร” โดยทางทาสสัตย์ซื่อ.
5. การพิจารณาท่านผู้ประกาศ 3:1-8 ให้ประโยชน์อะไร?
5 กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ 28 อย่างที่มี “วาระกำหนดไว้” ของมันเอง. (ท่านผู้ประกาศ 3:1-8) การเข้าใจความหมายและความหมายแฝงของถ้อยคำของซะโลโมจะช่วยเราตัดสินได้ว่าเวลาไหนที่เหมาะและเวลาไหนไม่เหมาะสำหรับการกระทำบางอย่าง ตามทัศนะของพระเจ้า. (เฮ็บราย 5:14) เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะสามารถวางรูปแบบชีวิตของเราให้สอดคล้องตามนั้น.
“มีวารร้องไห้และวารหัวเราะ”
6, 7. (ก) อะไรเป็นเหตุทำให้ประชาชนในปัจจุบันที่รู้สึกเป็นห่วง “ร้องไห้”? (ข) โลกนี้พยายามอย่างไรเพื่อจะหักล้างสภาพการณ์เลวร้ายที่พบเห็นในโลก?
6 แม้ว่ามี “มีวารร้องไห้และวารหัวเราะ” แต่ใครล่ะที่ไม่ชอบอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก? (ท่านผู้ประกาศ 3:4, ฉบับแปลใหม่) น่าเศร้าที่ต้องกล่าวว่า เราอยู่ในโลกซึ่งมีแต่เหตุที่สามารถทำให้เราร้องไห้. มีแต่ข่าวที่น่าหดหู่ในสื่อต่าง ๆ. เรารู้สึกขนลุกเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นที่กราดยิงเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียน, บิดามารดาที่กระทำทารุณต่อบุตร, ผู้ก่อการร้ายที่ฆ่าหรือทำร้ายเหยื่อผู้ไร้ความผิดจนพิการ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เรียกกันว่าพิบัติภัยทางธรรมชาติซึ่งผลาญทำลายชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน. เด็ก ๆ ที่ไม่มีอาหารจะกินขอบตาลึกโบ๋ประชันกันแย่งความสนใจของเราบนจอโทรทัศน์กับผู้ลี้ภัยที่กำลังหนีออกจากบ้านช่องของตน. คำที่เมื่อก่อนไม่ค่อยคุ้นหูอย่างเช่น การล้างชาติพันธุ์, เอดส์, สงครามเชื้อโรค และเอลนินโญ ถึงตอนนี้กำลังสร้างความวิตกกังวลขึ้นในจิตใจและหัวใจของเรา—แต่ละอย่างในแบบของมันเอง.
7 ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมและความปวดร้าวใจ. อย่างไรก็ตาม ราวกับต้องการจะลดทอนความร้ายแรงของสภาพการณ์ อุตสาหกรรมบันเทิงเสนอความบันเทิงที่มีเนื้อหาตื้น ๆ, ไร้รสนิยม และบ่อยครั้งผิดศีลธรรมและรุนแรงออกมาเป็นประจำ ด้วยจุดมุ่งหมายจะชักนำเราให้เพิกเฉยต่อความทุกข์ยากที่ผู้อื่นกำลังประสบอยู่. แต่น้ำใจแบบปล่อยตามสบาย ชอบการพูดตลกคึกคะนองและเสียงหัวเราะอันไร้แก่นสารที่การบันเทิงเช่นนั้นทำให้เกิดขึ้น เป็นคนละอย่างกันเลยกับความยินดีแท้. ความยินดีที่เป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นความยินดีที่โลกของซาตานไม่อาจให้ได้.—ฆะลาเตีย 5:22, 23; เอเฟโซ 5:3, 4.
8. คริสเตียนในปัจจุบันควรให้ความสำคัญต่อการร้องไห้หรือการหัวเราะมากกว่า? จงอธิบาย.
8 เมื่อตระหนักถึงสภาพอันสลดใจของโลก เราจึงเข้าใจได้ว่าปัจจุบันไม่ใช่เวลาที่จะให้ความสำคัญมากเกินไปแก่การหัวเราะ. บัดนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อนันทนาการและความบันเทิง หรือปล่อยให้ “การสนุกสนาน” นำหน้าการแสวงหาสิ่งฝ่ายวิญญาณ. (เทียบกับท่านผู้ประกาศ 7:2-4.) อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “คนที่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้” ควรเป็น “เหมือนมิได้ใช้อย่างเต็มที่.” เพราะเหตุใด? เพราะ “ฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) คริสเตียนแท้ดำเนินชีวิตแต่ละวันโดยสำนึกเต็มเปี่ยมถึงความล่อแหลมของยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่.—ฟิลิปปอย 4:8.
แม้ร้องไห้ แต่ก็มีความสุขแท้!
9. สภาพการณ์อันน่าเสียใจอะไรมีอยู่ในสมัยก่อนมหาอุทกภัย และเรื่องนี้มีความหมายอะไรสำหรับเราในทุกวันนี้?
9 ประชาชนที่มีชีวิตในสมัยน้ำท่วมโลกมีทัศนะต่อชีวิตอย่างที่ไม่จริงจังนัก. พวกเขาดำเนินกิจวัตรประจำวันกันไปเรื่อย ๆ และไม่ได้แสดงความเสียใจแต่อย่างใดต่อ “ความชั่วของมนุษย์ [ที่] มีมากมายในแผ่นดินโลก” มองดูอย่างไม่แยแสขณะที่ “แผ่นดินเต็มไปด้วยความรุนแรง.” (เยเนซิศ 6:5, 11, ล.ม.) พระเยซูทรงอ้างถึงสภาวะอันน่าเศร้าใจดังกล่าว และพระองค์ทรงบอกล่วงหน้าว่าในสมัยของเราจะมีเจตคติคล้าย ๆ กันในหมู่ผู้คน. พระองค์ทรงเตือนว่า “ผู้คนในสมัยก่อนน้ำท่วมเป็นเช่นไร คือกินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรสและผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา จนถึงวันที่โนฮาเข้าในนาวา; และพวกเขาไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้นฉันใด การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.”—มัดธาย 24:38, 39, ล.ม.
10. ชาวยิศราเอลที่มีชีวิตในสมัยของฮาฆีแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาขาดความเข้าใจต่อเวลากำหนดของพระยะโฮวา?
10 ประมาณ 1,850 ปีหลังมหาอุทกภัย ในสมัยของฮาฆี ชาวยิศราเอลจำนวนมากประพฤติอย่างที่เห็นได้ว่าขาดความสนใจอย่างจริงจังต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณคล้าย ๆ กัน. โดยง่วนอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน พวกเขาไม่ได้มีความสังเกตเข้าใจว่าเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้นเป็นเวลาที่ต้องให้ผลประโยชน์ของพระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก. เราอ่านดังนี้: “ประชาชนพากันกล่าวว่า, ‘เวลาที่จะก่อสร้างวิหารของพระยะโฮวาขึ้นนั้น, ยังไม่ถึงกำหนด.’ คำของพระยะโฮวาได้มาทางปากของฮาฆีศาสดาพยากรณ์ว่า, ‘เจ้าทั้งหลายมีเรือนอยู่พร้อมด้วยกั้นเพดาน, ส่วนวิหารหลังนี้ละก็ทิ้งไว้ให้ร้างอยู่เช่นนี้, เวลาอย่างนี้น่ะ, ถึงแล้วรึ?’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘บัดนี้เจ้าทั้งหลายจงพิจารณาแนวทางประพฤติของตน.’”—ฮาฆี 1:1-5.
11. เราอาจจะถามตัวเราเองได้อย่างเหมาะสมเช่นไร?
11 ในฐานะพยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน พร้อมด้วยหน้าที่รับผิดชอบและสิทธิพิเศษเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาเช่นเดียวกับพวกยิศราเอลในสมัยฮาฆี เราก็ควรพิจารณาแนวทางชีวิตของเราด้วยความจริงจังเช่นเดียวกัน. เรา “ร้องไห้” เพราะสภาพการณ์ในโลกและคำตำหนิที่สิ่งเหล่านี้นำมาสู่พระนามของพระเจ้าไหม? เรารู้สึกปวดร้าวไหมเมื่อผู้คนปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเจ้าหรือเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อหลักการอันชอบธรรมของพระองค์? เราแสดงปฏิกิริยาเช่นเดียวกับคนที่ถูกประทับตราซึ่งยะเอศเคลเห็นในนิมิตเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วไหม? เราอ่านเกี่ยวกับพวกเขาดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสแก่ [ชายที่มีกะปุกหมึก] ว่า, จงไปให้ตลอดท่ามกลางเมืองนั้น, คือกลางเมืองยะรูซาเลม, และจงประทับตราบนหน้าผากคนทั้งปวงที่ร้องครางเพราะความชั่วลามกทั้งปวงที่กระทำอยู่ในท่ามกลางเมืองนั้น.”—ยะเอศเคล 9:4.
12. ยะเอศเคล 9:5, 6 มีความสำคัญอย่างไรสำหรับผู้คนในปัจจุบัน?
12 สำหรับเราในปัจจุบัน ความสำคัญของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราอ่านเกี่ยวกับพระบัญชาที่ให้แก่ชายหกคนซึ่งมีอาวุธที่ใช้ในการโจมตีทำลายซึ่งบอกว่า “เจ้าทั้งหลายจงตามเขาไปให้ทั่วตลอดเมืองนั้น, และตีฟัน, และอย่าให้ตาของเจ้ามีความเมตตาและอย่าเอ็นดู. จงฆ่าคนแก่และหนุ่มและหญิงทั้งหญิงสาวและลูกอ่อนให้สิ้นเชิง, และอย่าให้เข้าใกล้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีตราหมายในตัว, และจงจับการฆ่านั้นตั้งแต่วิหารของเราไป.” (ยะเอศเคล 9:5, 6) ความรอดของเราจากความทุกข์ลำบากใหญ่ที่ใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับการที่เราตระหนักว่าปัจจุบันเป็นเวลาสำคัญที่จะร้องไห้.
13, 14. (ก) ผู้คนแบบไหนที่พระเยซูตรัสว่ามีความสุข? (ข) จงอธิบายว่าเหตุใดคุณคิดว่าคำพรรณนานี้ตรงกับพยานพระยะโฮวา.
13 แน่ละ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวา “ร้องไห้” เนื่องด้วยสภาพการณ์ของโลกที่ทำให้หมดกำลังใจไม่ได้กันพวกเขาไว้จากการมีความสุข. ตรงกันข้ามเลยทีเดียว! พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่มีความสุขที่สุดในโลกอย่างแท้จริง. พระเยซูทรงให้หลักเกณฑ์สำหรับความสุขเมื่อพระองค์ตรัสว่า “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ . . . บุคคลผู้ใดโศกเศร้า . . . บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนสุภาพ . . . บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม . . . บุคคลผู้ใดมีใจเมตตาปรานี . . . บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ . . . บุคคลผู้ใดระงับการแตกแยกกัน . . . บุคคลผู้ใดทนความราวีเบียดเบียนเพราะความชอบธรรมก็เป็นสุข.” (มัดธาย 5:3-10) มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าคำพรรณนานี้ตรงกับกลุ่มของพยานพระยะโฮวายิ่งกว่าองค์การศาสนาอื่นใด.
14 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การฟื้นฟูการนมัสการแท้ในปี 1919 เป็นต้นมา ไพร่พลที่เป็นสุขของพระยะโฮวามีเหตุผลที่จะ “หัวเราะ.” ในทางฝ่ายวิญญาณ พวกเขามีส่วนร่วมในประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นยินดีเช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่กลับจากบาบูโลนในศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช “คราวเมื่อพระยะโฮวาทรงนำพวกเชลยกลับมาถึงเมืองซีโอน. พวกข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนคนที่กำลังฝันอยู่. คราวนั้นปากของพวกข้าพเจ้าเต็มไปด้วยการหัวเราะ, และลิ้นของพวกข้าพเจ้าประกอบไปด้วยการขับร้อง . . . พระยะโฮวาได้ทรงกระทำการมโหฬารแก่พวกข้าพเจ้า, และพวกข้าพเจ้าจึงชื่นชมยินดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 126:1-3) กระนั้น แม้อยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะทางฝ่ายวิญญาณ ด้วยความสุขุมพยานพระยะโฮวาระลึกเสมอถึงความจริงจังของยุคสมัย. เมื่อโลกใหม่ได้กลายเป็นจริงและประชากรโลกได้ “ยึดเอาชีวิตแท้ให้มั่น” แล้ว เวลาที่เสียงหัวเราะจะเข้ามาแทนที่เสียงร้องไห้ไปตลอดกาลก็จะมาถึง.—1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.; วิวรณ์ 21:3, 4.
“วาระสำหรับสวมกอด, วาระสำหรับจะถอยจากการสวมกอดนั้น”
15. เหตุใดคริสเตียนเลือกเฟ้นคนที่จะมาเป็นเพื่อน?
15 คริสเตียนเลือกเฟ้นคนที่เขาจะสวมกอดด้วยมิตรภาพ. พวกเขาระลึกเสมอถึงคำเตือนของเปาโลที่ว่า “อย่าให้ผู้ใดลวงท่าน. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) และกษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมชี้ว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.”—สุภาษิต 13:20, ล.ม.
16, 17. พยานพระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรในเรื่องการคบเพื่อน, การนัดพบ, และการสมรส และเพราะเหตุใด?
16 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเลือกเพื่อนที่มีความรักแบบเดียวกับที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาและความชอบธรรมของพระองค์. ในขณะที่พวกเขาหยั่งรู้ค่าและพอใจในมิตรภาพกับเพื่อน ๆ พวกเขาสุขุมที่จะหลีกเลี่ยงทัศนะปล่อยตามอำเภอใจหรือปล่อยตัวเสรีเกินไปในเรื่องการนัดพบซึ่งทำกันแพร่หลายในบางประเทศในปัจจุบัน. แทนที่จะหมกมุ่นในเรื่องนี้โดยถือว่าเป็นเรื่องสนุกที่ไม่มีพิษภัย พวกเขาถือว่าการนัดพบเป็นขั้นตอนที่จริงจังซึ่งนำไปสู่การสมรส ซึ่งคนที่จะนัดพบควรเป็นคนที่มีความพร้อมทางกาย, ทางจิตใจ และทางฝ่ายวิญญาณ—รวมทั้งต้องเป็นคนที่มีอิสระตามหลักพระคัมภีร์—ที่จะเข้าสู่การครองชีวิตคู่อย่างถาวรเท่านั้น.—1 โกรินโธ 7:36.
17 บางคนอาจคิดว่าล้าสมัยที่จะมีทัศนะเช่นนั้นในเรื่องการนัดพบและการสมรส. แต่พยานพระยะโฮวาไม่ปล่อยให้ความกดดันจากคนรอบข้างมีอิทธิพลต่อการเลือกเพื่อนหรือการตัดสินใจในเรื่องการนัดพบและการสมรส. พวกเขาทราบว่า “สติปัญญาได้รับการพิสูจน์ว่าชอบธรรม ก็โดยผลแห่งสติปัญญานั้น.” (มัดธาย 11:19, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงทราบดีที่สุดเสมอ ดังนั้น พวกเขาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำตามคำแนะนำของพระองค์ที่ให้สมรสเฉพาะ “กับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 7:39; 2 โกรินโธ 6:14) พวกเขาหลีกเลี่ยงการรีบร้อนสมรสโดยคิดอย่างผิด ๆ ว่าการหย่าร้างหรือการแยกกันอยู่เป็นทางเลือกที่ยอมรับได้หากความสัมพันธ์เกิดไม่มั่นคงขึ้นมา. พวกเขาใช้เวลาในการเลือกคู่ชีวิตที่เหมาะสม โดยตระหนักว่าเมื่อใดก็ตามที่ให้คำปฏิญาณในการสมรสแล้ว กฎหมายของพระยะโฮวาก็เริ่มมีผลบังคับเมื่อนั้น ที่ว่า “เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป, แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน. เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”—มัดธาย 19:6; มาระโก 10:9.
18. อะไรอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสมรสที่มีความสุข?
18 การสมรสเป็นข้อผูกมัดตลอดชีวิตที่ควรวางแผนอย่างรอบคอบ. ผู้ชายควรจะถามตัวเองอย่างสมเหตุผลว่า ‘เธอเหมาะสำหรับฉันจริง ๆ ไหม?’ แต่ที่สำคัญพอ ๆ กัน เขาควรถามด้วยว่า ‘ฉันเหมาะสำหรับเธอจริง ๆ ไหม? ฉันเป็นคริสเตียนที่อาวุโสที่สามารถเอาใจใส่ความต้องการฝ่ายวิญญาณ ของเธอไหม?’ ทั้งสองฝ่ายมีพันธะเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาที่จะเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ สามารถสร้างสายสมรสที่มั่นคงซึ่งสมควรจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. คู่สมรสคริสเตียนจำนวนมากสามารถให้ข้อพิสูจน์ว่า เนื่องจากเน้นที่การให้มากกว่าการรับ งานรับใช้เต็มเวลาเป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมสำหรับการสมรสที่มีความสุข.
19. เหตุใดคริสเตียนบางคนครองตัวเป็นโสด?
19 คริสเตียนบางคน “จะถอยจากการสวมกอด” โดยเลือกอยู่เป็นโสดเพื่อเห็นแก่ข่าวดี. (ท่านผู้ประกาศ 3:5) คนอื่น ๆ ผัดเลื่อนการสมรสออกไปจนกว่าเขาจะรู้สึกว่าเขามีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณซึ่งจะเป็นที่ดึงดูดใจคู่ครองที่เหมาะสม. แต่ขอให้เราระลึกถึงคริสเตียนโสดเหล่านั้นด้วยซึ่งปรารถนาความใกล้ชิดสนิทสนมและประโยชน์ต่าง ๆ ของการสมรส แต่ว่าไม่พบคู่ครอง. เราสามารถมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงมีพระทัยยินดีในการที่เขาไม่ยอมประนีประนอมหลักการของพระองค์ในการหาคู่สมรส. เราควรหยั่งรู้ค่าความภักดีของพวกเขาด้วยและให้การค้ำจุนที่เหมาะสมตามที่เขาควรได้รับ.
20. เหตุใดแม้แต่คู่สมรสก็ “ถอยจากการสวมกอด” ในบางโอกาส?
20 เป็นเรื่องเหมาะสมไหมที่แม้แต่คู่สมรสจะ “ถอยจากการสวมกอด” ในบางโอกาส? เห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างนั้นในแง่หนึ่ง เพราะเปาโลชี้ว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย, ข้าพเจ้าขอบอกเช่นนี้ว่า, เวลานั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้คนเหล่านั้นที่มีภรรยาได้เป็นเหมือนไม่มี.” (1 โกรินโธ 7:29) ดังนั้น ในบางครั้งความยินดีและพระพรแห่งชีวิตสมรสก็ต้องเป็นรองลงไปจากหน้าที่รับผิดชอบตามระบอบของพระเจ้า. การมีทัศนะที่สมดุลในเรื่องนี้จะไม่ทำให้สายสมรสอ่อนลงไป แต่กลับจะทำให้เข้มแข็งขึ้น เพราะทัศนะที่สมดุลในเรื่องนี้จะช่วยเตือนใจทั้งสองอยู่เสมอว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้สายสัมพันธ์ของเขามั่นคง.—ท่านผู้ประกาศ 4:12.
21. เหตุใดเราไม่ควรตำหนิวิจารณ์คู่สมรสในเรื่องการมีบุตรหรือไม่มีบุตร?
21 นอกจากนั้น คู่สมรสบางคู่เลือกที่จะไม่มีบุตรเพื่อจะมีอิสระมากขึ้นในการทำงานรับใช้พระเจ้า. นี่ย่อมหมายถึงการเสียสละ และพระยะโฮวาจะทรงประทานบำเหน็จแก่เขาในเรื่องนี้. อนึ่ง ในขณะที่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนการเป็นโสดเพื่อเห็นแก่ข่าวดี แต่ก็มิได้กล่าวถึงโดยตรงในเรื่องการเลือกที่จะไม่มีบุตรด้วยเหตุผลเดียวกัน. (มัดธาย 19:10-12; 1 โกรินโธ 7:38; เทียบกับมัดธาย 24:19 และลูกา 23:28-30.) ดังนั้น คู่สมรสต้องตัดสินใจเองตามสภาพการณ์ส่วนตัวและตามสติรู้สึกผิดชอบของตนเอง. ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คู่สมรสนั้นไม่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์.
22. เราต้องรู้อะไรซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ?
22 ใช่แล้ว “มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่งและมีวาระสำหรับโครงการทุกอย่างภายใต้ฟ้า.” มีแม้กระทั่ง “วาระสำหรับทำศึก. และวาระสำหรับสงบศึก.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 8) บทความถัดไปจะอธิบายว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราจะรู้ว่าบัดนี้เป็นวาระอะไรในวาระทั้งสองนั้น.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะทราบว่า “มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง”?
▫ เหตุใดปัจจุบันเป็น “วารร้องไห้” เสียเป็นส่วนมาก?
▫ เหตุใดแม้ว่าคริสเตียน “ร้องไห้” แต่ก็มีความสุขอย่างแท้จริง?
▫ คริสเตียนบางคนแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาถือว่าเวลาปัจจุบันเป็น “วาระสำหรับจะถอยจากการสวมกอด”?
[รูปภาพหน้า 6, 7]
แม้ว่าคริสเตียน “ร้องไห้” เนื่องด้วยสภาพการณ์ในโลก . . .
. . . พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่มีความสุขที่สุดในโลกอย่างแท้จริง
[รูปภาพหน้า 8]
งานรับใช้เต็มเวลาเป็นพื้นฐานที่ดีเยี่ยมสำหรับการสมรสที่มีความสุข