คนชั่วจะได้รับการพิพากษาจากพระยะโฮวา
“จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน.”—อาโมศ 4:12.
1, 2. เหตุใดเรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะยุติความชั่ว?
จะมีวันที่พระยะโฮวาจะยุติความชั่วและความทุกข์บนแผ่นดินโลกนี้ไหม? ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ คำถามดังกล่าวยิ่งเหมาะกว่าที่เคยเป็นมา. ดูเหมือนไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็เห็นแต่หลักฐานของการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกันอย่างไร้มนุษยธรรม. เราโหยหาโลกที่ปราศจากความรุนแรง, การก่อการร้าย, และการทุจริตมากสักเพียงไร!
2 ข่าวดีก็คือ เรามั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยมว่าพระยะโฮวาจะยุติความชั่ว. คุณลักษณะของพระเจ้าทำให้มั่นใจว่า พระองค์จะลงมือจัดการกับคนชั่ว. พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ชอบธรรมและยุติธรรม. ที่บทเพลงสรรเสริญ 33:5 พระคำของพระองค์บอกเราว่า “พระองค์ทรงรักความชอบธรรมและความยุติธรรม.” เพลงสรรเสริญอีกบทหนึ่งกล่าวว่า “คนใดที่ชอบความรุนแรงนั้น [พระยะโฮวา] ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.” (บทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.) แน่นอน พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจบริบูรณ์ ผู้ทรงรักความชอบธรรมและความยุติธรรม จะไม่ยอมทนเรื่อยไปกับสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียดชัง.
3. การพิจารณามากขึ้นในคำพยากรณ์ของอาโมศจะมุ่งเน้นไปที่อะไร?
3 ขอพิจารณาเหตุผลอย่างอื่นอีกที่เรามั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาจะขจัดความชั่วช้า. บันทึกเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ปฏิบัติในอดีตให้หลักประกันในเรื่องนี้. ตัวอย่างอันน่าประทับใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่พระยะโฮวาใช้ในการจัดการกับคนชั่วพบได้ในพระธรรมอาโมศ. การพิจารณามากขึ้นในคำพยากรณ์ของอาโมศจะมุ่งเน้นไปที่สามแง่มุมเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้า. อย่างแรก: การพิพากษาของพระเจ้ามีเหตุผลอันสมควรเสมอ. สอง: คนชั่วไม่มีทางรอดพ้น. และสาม: เป็นแบบที่มีการเลือก เนื่องจากว่าพระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษคนชั่ว แต่สำแดงความเมตตาแก่ผู้ที่กลับใจและมีความโน้มเอียงอย่างถูกต้อง.—โรม 9:17-26.
การพิพากษาของพระเจ้ามีเหตุผลอันสมควรเสมอ
4. พระยะโฮวาส่งอาโมศไปที่ไหน และด้วยวัตถุประสงค์อะไร?
4 ในสมัยอาโมศ ชาติอิสราเอลแบ่งออกเป็นสองอาณาจักรแล้ว คืออาณาจักรยูดาห์สองตระกูลทางใต้ กับอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือ. พระยะโฮวามอบหมายงานให้อาโมศเป็นผู้พยากรณ์ ส่งท่านออกจากบ้านเกิดในยูดาห์ไปยังอาณาจักรอิสราเอล. ที่นั่น พระเจ้าจะใช้อาโมศให้ประกาศคำพิพากษาของพระองค์.
5. อาโมศเริ่มแถลงคำพยากรณ์ต่อชาติใดบ้าง และอะไรเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ชาติเหล่านี้สมควรได้รับการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า?
5 อาโมศไม่ได้เริ่มงานของท่านด้วยการแถลงคำพิพากษาของพระยะโฮวาต่ออาณาจักรอิสราเอลทางเหนือที่ดื้อดึง. แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านเริ่มด้วยการประกาศการพิพากษาหกชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอล คือ ซุเรีย, ฟะเลเซ็ธ, ตุโร, อะโดม, อำโมน, และโมอาบ. แต่ชาติเหล่านี้สมควรได้รับการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้าจริง ๆ ไหม? แน่นอน. เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือชาติเหล่านี้แสดงตัวเป็นศัตรูอย่างไม่ละลดต่อประชาชนของพระยะโฮวา.
6. พระเจ้านำวิบัติมาสู่ซุเรีย, ฟะเลเซ็ธ, และตุโรเพราะเหตุใด?
6 ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวากล่าวโทษชาวซุเรียด้วยเหตุที่ “เขาได้นวดฆีละอาด.” (อาโมศ 1:3) ชาวซุเรียยึดเอาแผ่นดินบางส่วนในฆีละอาดไป ซึ่งเป็นเขตแดนอิสราเอลฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และยังปฏิบัติต่อประชาชนของพระเจ้าที่นั่นอย่างโหดร้ายทารุณ. แล้วฟะเลเซ็ธและตุโรล่ะ? ชาวฟะเลเซ็ธมีความผิดฐานกวาดชาวอิสราเอลไปเป็นเชลย และขายพวกเขาแก่ชาวอะโดม และชาวอิสราเอลส่วนหนึ่งก็อยู่ในมือของพ่อค้าทาสชาวตุโร. (อาโมศ 1:6, 9) เหลือที่จะคิดจริง ๆ ที่พวกเขาถึงกับขายประชาชนของพระเจ้าไปเป็นทาส! ไม่น่าประหลาดใจเลยที่พระยะโฮวาจะนำความหายนะมาสู่ซุเรีย, ฟะเลเซ็ธ, และตุโร.
7. อะโดม, อำโมน, และโมอาบมีอะไรที่เหมือนกันกับอิสราเอล และชาติเหล่านี้ปฏิบัติกับชาวอิสราเอลอย่างไร?
7 อะโดม, อำโมน, และโมอาบมีอะไรบางอย่างที่เหมือนกันกับอิสราเอล. ทั้งสามชาตินี้มีความเกี่ยวดองเป็นญาติกับชาวอิสราเอล. ชาวอะโดมสืบเชื้อสายมาจากอับราฮามทางเอซาว พี่ชายฝาแฝดของยาโคบ. ในแง่หนึ่ง ชาวอะโดมจึงเป็นพี่น้องกับชาวอิสราเอล. ส่วนชาวอำโมนกับชาวโมอาบสืบเชื้อสายมาจากโลต หลานชายของอับราฮาม. แต่ว่าอะโดม, อำโมน, และโมอาบปฏิบัติกับญาติชาวอิสราเอลของตนเหมือนพี่เหมือนน้องไหม? ไม่เลย! อะโดมขับไล่ “น้องของตัว” ด้วยกระบี่อย่างไร้ความปรานี และชาวอำโมนปฏิบัติกับเชลยชาวอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยมผิดธรรมดา. (อาโมศ 1:11, 13) แม้ว่าอาโมศไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงการกระทำอันเลวร้ายของโมอาบต่อประชาชนของพระเจ้า แต่ชาวโมอาบก็มีประวัติอันยาวนานในการต่อต้านอิสราเอล. ทั้งสามชาติที่มีบรรพบุรุษร่วมกันนี้จะถูกลงโทษอย่างสาหัส. พระยะโฮวาจะส่งไฟมาเผาผลาญพวกเขา.
ไม่มีทางรอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้า
8. เหตุใดหกชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอลไม่มีทางรอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้าไปได้?
8 ประจักษ์ชัดว่าหกชาติที่กล่าวถึงในส่วนต้นของคำพยากรณ์ของอาโมศสมควรถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษ. นอกจากนั้น พวกเขาไม่มีทางรอดพ้นการลงโทษนั้นไปได้. จากอาโมศบท 1 ข้อ 3 ไปจนถึงบท 2 ข้อ 1 พระยะโฮวาตรัสซ้ำหกครั้งว่า “เราจะไม่กลับซึ่งอาชญาโทษ.” เป็นจริงตามคำตรัส พระองค์ไม่ได้งดการพิพากษาลงโทษพวกเขา. การที่แต่ละชาติเหล่านั้นประสบความหายนะในเวลาต่อมาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์. ที่จริง มีอย่างน้อยสี่ชาติจากชาติเหล่านี้ คือ ฟะเลเซ็ธ, โมอาบ, อำโมน, และอะโดม ที่สูญชาติไปในที่สุดด้วยซ้ำ!
9. ชาวยูดาห์สมควรได้รับอะไร และเพราะเหตุใด?
9 จากนั้น คำพยากรณ์ของอาโมศมุ่งความสนใจไปที่ชาติที่เจ็ด คือยูดาห์อันเป็นภูมิลำเนาของท่านเอง. ผู้ฟังของอาโมศในอาณาจักรอิสราเอลทางเหนืออาจประหลาดใจที่ได้ยินท่านประกาศคำพิพากษาต่ออาณาจักรยูดาห์. ทำไมผู้คนในยูดาห์สมควรได้รับการพิพากษาลงโทษ? อาโมศ 2:4 กล่าวว่า “ด้วยเขาได้ดูหมิ่นกฎหมายแห่งพระยะโฮวา.” พระยะโฮวาไม่ได้ดูเบาที่พวกเขาจงใจดูหมิ่นกฎหมายของพระองค์เช่นนั้น. ตามที่กล่าวในอาโมศ 2:5 พระองค์บอกล่วงหน้าว่า “เราจะยังไฟให้เกิดในประเทศยะฮูดา, แลไฟนั้นจะผลาญบรรดาราชวังยะรูซาเลม.”
10. เหตุใดอาณาจักรยูดาห์จึงไม่มีทางรอดพ้นความหายนะไปได้?
10 อาณาจักรยูดาห์ที่ไม่ซื่อสัตย์ไม่มีทางรอดพ้นความหายนะที่จะเกิดขึ้น. เป็นครั้งที่เจ็ด พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะไม่กลับซึ่งอาชญาโทษ.” (อาโมศ 2:4) ยูดาห์ได้รับการลงโทษดังที่บอกไว้ล่วงหน้าในคราวที่อาณาจักรนั้นประสบความร้างเปล่าด้วยน้ำมือของชาวบาบิโลนในปี 607 ก่อน ส.ศ. อีกครั้งหนึ่งที่เราเห็นว่าคนชั่วไม่มีทางรอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้า.
11-13. อาโมศได้รับมอบหมายให้พยากรณ์ต่อชาติใดเป็นส่วนใหญ่ และมีการกดขี่แบบใดในชาตินั้น?
11 ผู้พยากรณ์อาโมศเพิ่งประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวาต่อเจ็ดชาติจบไป. แต่ถ้าใครในตอนนั้นคิดว่าอาโมศจบคำพยากรณ์ของท่านแล้ว พวกเขาก็เข้าใจผิด. มีอีกมากที่อาโมศจะต้องประกาศ! ท่านได้รับมอบหมายให้ประกาศข่าวสารการพิพากษาอันรุนแรงต่ออาณาจักรอิสราเอลทางเหนือเป็นส่วนใหญ่. และอิสราเอลก็สมควรได้รับการพิพากษาจากพระเจ้า เพราะความเสื่อมทางศีลธรรมและศาสนาของชาตินี้อยู่ในขั้นเลวร้ายเหลือทน.
12 คำพยากรณ์ของอาโมศเปิดโปงการกดขี่ที่พบเห็นทั่วไปในอาณาจักรอิสราเอล. อาโมศ 2:6, 7 กล่าวในเรื่องนี้ว่า “พระยะโฮวาตรัสดังนี้ว่า, เพราะการผิดแห่งประเทศยิศราเอลสามครั้ง, และสี่ครั้ง เราจะไม่กลับซึ่งอาชญาโทษแห่งเมืองนั้น, ด้วยเขาได้ขายคนชอบธรรมเพราะเห็นแก่เงิน, แลคนจนเพราะเห็นแก่รองเท้าคู่หนึ่ง. เขาหาผงคลีดินที่อยู่เหนือศีรษะคนจนจนเหนื่อยหอบ, แลผู้ที่มีความทุกข์ เขาทำให้หลงเสียจากทาง.”
13 คนชอบธรรมถูกขาย “เพราะเห็นแก่เงิน” ซึ่งอาจหมายความว่าพวกผู้พิพากษาที่รับเงินสินบนตัดสินให้ผู้บริสุทธิ์มีความผิด. เจ้าหนี้ขายคนจนไปเป็นทาสเพราะเห็นแก่ “รองเท้าคู่หนึ่ง” ซึ่งคงหมายถึงเพียงเพื่อเป็นการชดใช้หนี้จำนวนเล็กน้อย. คนไร้ความเมตตา “เหนื่อยหอบ” หรือกระหายด้วยใจร้อนรนที่จะลดฐานะของ “คนจน” ให้ตกต่ำไปถึงขั้นที่คนจนเหล่านั้นจะโปรยผงคลีดินบนศีรษะของตน ซึ่งแสดงถึงความทุกข์, ความโศกเศร้า, หรือความอัปยศ. ความทุจริตมีแพร่หลายจน “ผู้ที่มีความทุกข์” ไม่มีหวังจะได้รับความยุติธรรมใด ๆ.
14. ใครได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายในอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล?
14 โปรดสังเกตว่าใครที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย. พวกเขาคือคนชอบธรรม, คนจน, และคนมีความทุกข์ที่อาศัยในแผ่นดินนั้น. พระบัญญัติที่พระยะโฮวาให้กับชาวอิสราเอลมีบัญชาให้พวกเขาแสดงความเมตตาต่อคนด้อยโอกาสและคนขัดสน. แต่คนเช่นนั้นที่อยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลกลับอยู่ในสภาพย่ำแย่ถึงขีดสุด.
“จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน”
15, 16. (ก) ทำไมชาวอิสราเอลได้รับคำเตือนว่า “จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน”? (ข) อาโมศ 9:1, 2 แสดงอย่างไรว่าคนชั่วไม่มีทางรอดพ้นการลงโทษตามการพิพากษาของพระเจ้า? (ค) เกิดอะไรขึ้นกับอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลในปี 740 ก่อน ส.ศ.?
15 เนื่องจากการทำผิดศีลธรรมและบาปอื่น ๆ แพร่หลายในแผ่นดินอิสราเอล จึงมีเหตุผลสมควรที่ผู้พยากรณ์อาโมศเตือนชาติกบฏนี้ว่า “จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน.” (อาโมศ 4:12) อาณาจักรอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ไม่มีทางรอดพ้นการลงโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าที่กำลังใกล้เข้ามา เพราะพระยะโฮวาแถลงเป็นครั้งที่แปดว่า “เราจะไม่กลับซึ่งอาชญาโทษ.” (อาโมศ 2:6) สำหรับคนชั่วที่อาจพยายามหลบซ่อนตัวนั้น พระเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่หนีไปแต่พวกนั้นก็มิพ้น, แลผู้ที่หลบหลีกไปก็มิได้รอด. ถึงเขาจะหักหาญเข้าไปในนรก [“ขุดลงไปในเชโอล,” ล.ม.], พระหัตถ์ของเราจะนำเขามาแต่ที่นั้น, ถึงเขาจะปีนขึ้นไปบนสวรรค์, เราคงจะนำเขาลงมาแต่ที่นั่น.”—อาโมศ 9:1, 2.
16 คนชั่วไม่มีทางหนีพ้นการลงโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวาด้วยการ “ขุดลงไปในเชโอล” ซึ่งเปรียบถึงความพยายามหลบซ่อนตัวใต้ดินให้ลึกที่สุด. นอกจากนี้ พวกเขาไม่อาจหลบหลีกการพิพากษาของพระเจ้าด้วยการปีน “ขึ้นไปบนสวรรค์” ซึ่งหมายถึงความพยายามหาที่หลบภัยบนภูเขาสูง. คำเตือนของพระยะโฮวานั้นชัดแจ้ง คือ ไม่มีที่ซ่อนใดจะพ้นจากเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ไปได้. ความยุติธรรมของพระเจ้าเรียกร้องให้อาณาจักรอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำชั่วของตน. และเวลานั้นก็มาถึงจริง ๆ. ในปี 740 ก่อน ส.ศ. หลังจากอาโมศบันทึกคำพยากรณ์ของท่านประมาณ 60 ปี อาณาจักรอิสราเอลก็ถูกชาวอัสซีเรียพิชิต.
การพิพากษาของพระเจ้าเป็นแบบที่มีการเลือก
17, 18. อาโมศบท 9 เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับความเมตตาของพระเจ้า?
17 คำพยากรณ์ของอาโมศได้ช่วยให้เราเห็นว่าการพิพากษาของพระเจ้ามีเหตุผลอันสมควรเสมอและไม่มีทางรอดพ้น. แต่พระธรรมอาโมศยังแสดงด้วยว่าการพิพากษาของพระยะโฮวาเป็นแบบที่มีการเลือก. พระเจ้าสามารถค้นหาคนชั่วพบและลงโทษ ไม่ว่าพวกเขาจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน. เช่นเดียวกัน พระองค์สามารถค้นหาคนที่กลับใจและซื่อตรง ซึ่งเป็นผู้ที่พระองค์เลือกจะสำแดงความเมตตาแก่เขา. มีการเน้นเรื่องนี้ไว้อย่างน่าจับใจในบทสุดท้ายของพระธรรมอาโมศ.
18 ในอาโมศบท 9 ข้อ 8 พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะไม่ทำลายเรือนยาโคบให้สิ้นเชิง.” และตามที่กล่าวในข้อ 13 ถึง 15 พระยะโฮวาสัญญาว่าพระองค์จะนำประชาชนของพระองค์ที่ตกเป็นเชลยกลับคืนมา. คนเหล่านี้จะได้รับการสำแดงความเมตตาและจะมีความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง. พระยะโฮวาสัญญาว่า “คนที่ไถจะทันคนเกี่ยว.” คิดดูสิ พืชผลจะอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดที่เก็บรวบรวมยังไม่ทันเสร็จ ก็ได้เวลาสำหรับการไถและหว่านรอบใหม่แล้ว!
19. เกิดอะไรขึ้นกับชนที่เหลือชาวอิสราเอลและยูดาห์?
19 เรากล่าวได้ว่าการพิพากษาลงโทษของพระยะโฮวาที่มีต่อคนชั่วในอาณาจักรยูดาห์และอิสราเอลเป็นแบบที่มีการเลือก เพราะคนที่กลับใจและมีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องได้รับการสำแดงความเมตตา. คำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูที่บันทึกในอาโมศบท 9 สำเร็จเป็นจริงด้วยการที่ชนที่เหลือชาวอิสราเอลและยูดาห์ที่กลับใจกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนในปี 537 ก่อน ส.ศ. หลังจากกลับถึงแผ่นดินบ้านเกิดอันเป็นที่รักของตนแล้ว พวกเขาได้ฟื้นฟูการนมัสการอันบริสุทธิ์ และยังสร้างบ้าน, ทำสวนองุ่น, และทำสวนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย.
การพิพากษาของพระยะโฮวาจะมาแน่!
20. การพิจารณาข่าวสารการพิพากษาที่อาโมศประกาศน่าจะทำให้เรามั่นใจในเรื่องใด?
20 การพิจารณาข่าวสารการพิพากษาจากพระเจ้าที่อาโมศประกาศน่าจะทำให้เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะยุติความชั่วในสมัยของเรา. เรามีเหตุผลอะไรที่มั่นใจได้อย่างนั้น? ประการแรก ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาจัดการกับคนชั่วในอดีตทำให้เราทราบแนวทางที่พระองค์จะทรงกระทำในสมัยของเรา. ประการที่สอง การที่พระเจ้าพิพากษาลงโทษอาณาจักรอิสราเอลที่ออกหากทำให้มั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทำลายล้างคริสต์ศาสนจักร ส่วนที่น่าตำหนิมากที่สุดของ “บาบูโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ.—วิวรณ์ 18:2.
21. เหตุใดคริสต์ศาสนจักรสมควรจะถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษ?
21 ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคริสต์ศาสนจักรสมควรจะถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษ. สภาพที่น่าตำหนิทางศีลธรรมและทางศาสนาในคริสต์ศาสนจักรฟ้องตัวเองอยู่แล้ว. การพิพากษาของพระยะโฮวาต่อคริสต์ศาสนจักรพร้อมกับส่วนที่เหลือแห่งโลกของซาตาน เป็นการกระทำอันสมควร. นอกจากนี้ ไม่มีทางจะเลี่ยงพ้นการพิพากษานี้ไปได้ เนื่องจากเมื่อมีการสำเร็จโทษตามการพิพากษา ถ้อยคำในอาโมศ บท 9 ข้อ 1 จะเป็นจริงที่ว่า “ผู้ที่หนีไปแต่พวกนั้นก็มิพ้น, แลผู้ที่หลบหลีกไปก็มิได้รอด.” ใช่แล้ว ไม่ว่าคนชั่วจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน พระยะโฮวาก็จะสามารถหาพวกเขาพบ.
22. แง่มุมอะไรบ้างเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้าที่ปรากฏชัดใน 2 เธซะโลนิเก 1:6-8?
22 การพิพากษาของพระเจ้ามีเหตุผลอันสมควรเสมอ, ไม่มีทางรอดพ้น, และเป็นแบบที่มีการเลือก. เรื่องนี้เห็นได้จากคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “เป็นการยุติธรรมแล้วซึ่งพระเจ้าจะทรงเอาความยากลำบากไปตอบแทนให้กับคนเหล่านั้นที่ก่อความยากลำบากให้กับท่านทั้งหลาย, และจะทรงบันดาลให้ท่านทั้งหลายที่ถูกความยากลำบากนั้นได้รับความบรรเทาด้วยกันกับเรา, เมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ปรากฏพร้อมกับหมู่ทูตสวรรค์ของพระองค์ผู้มีฤทธิ์ดังเปลวเพลิง, และจะทรงสนองโทษแก่คนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักพระเจ้า, และไม่เชื่อฟังกิตติคุณของพระเยซูเจ้าของเรา.” (2 เธซะโลนิเก 1:6-8) “เป็นการยุติธรรมแล้วซึ่งพระเจ้า” จะทรงตอบแทนบรรดาผู้ที่ควรจะได้รับการพิพากษาลงโทษ เนื่องจากพวกเขาก่อความยากลำบากให้กับเหล่าผู้ถูกเจิมของพระองค์. การพิพากษานั้นไม่มีทางรอดพ้น เนื่องจากคนชั่วจะไม่รอดชีวิตผ่าน ‘การปรากฏของพระเยซูพร้อมกับหมู่ทูตสวรรค์ของพระองค์ผู้มีฤทธิ์ดังเปลวเพลิง.’ การพิพากษาของพระเจ้าเป็นแบบที่มีการเลือกด้วย เนื่องจากพระเยซูจะสนองโทษ “แก่คนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักพระเจ้า, และไม่เชื่อฟังกิตติคุณ.” และการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าจะทำให้บรรดาผู้ประสบความยากลำบากที่เกรงกลัวพระเจ้าได้รับการบรรเทา.
ความหวังสำหรับคนซื่อตรง
23. ความหวังและการชูใจอะไรที่ได้จากพระธรรมอาโมศ?
23 คำพยากรณ์ของอาโมศบรรจุข่าวสารล้ำเลิศซึ่งให้ความหวังและการชูใจแก่ผู้มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้อง. ดังที่บอกล่วงหน้าในพระธรรมอาโมศ พระยะโฮวาไม่ได้ทำลายประชาชนของพระองค์ในครั้งโบราณนั้นจนสูญสิ้น. พระองค์ทรงรวบรวมเชลยชาวอิสราเอลและยูดาห์กลับคืนสู่แผ่นดินบ้านเกิดในที่สุด และอวยพรให้พวกเขามีความปลอดภัยและความเจริญอย่างบริบูรณ์. เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับสมัยของเรา? เรามั่นใจได้ว่าในการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวา พระองค์จะหาคนชั่วพบไม่ว่าพวกเขาจะหลบซ่อนอยู่ที่ใด และพระองค์จะหาผู้ที่พระองค์ถือว่าสมควรได้รับความเมตตาจากพระองค์พบ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่แห่งหนใดบนโลกใบนี้.
24. ผู้รับใช้ในสมัยปัจจุบันของพระยะโฮวาได้รับพระพรในทางใดบ้าง?
24 ขณะที่กำลังคอยท่าเวลาที่พระยะโฮวาจะพิพากษาคนชั่ว เราในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ประสบพระพรอะไร? พระยะโฮวาทรงประทานความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณให้แก่เราอย่างล้นเหลือ! เราชื่นชมยินดีกับการนมัสการแบบที่ปราศจากการโกหกและการบิดเบือนอันเนื่องจากคำสอนเท็จของคริสต์ศาสนจักร. นอกจากนี้ พระยะโฮวายังประทานอาหารฝ่ายวิญญาณให้แก่เราอย่างอุดม. แต่อย่าลืมว่าของประทานมากมายเหล่านี้จากพระยะโฮวามาพร้อมกับความรับผิดชอบที่สำคัญ. พระเจ้าทรงคาดหมายให้เราเตือนคนอื่นถึงการพิพากษาที่กำลังใกล้เข้ามา. เราต้องการทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเสาะหาผู้ที่มี “ความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.” (กิจการ 13:48, ล.ม.) ใช่แล้ว เราปรารถนาจะช่วยอีกหลายคนเท่าที่เป็นไปได้ให้มาร่วมรับประโยชน์จากความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้. และเราต้องการให้พวกเขารอดชีวิตจากการสำเร็จโทษคนชั่วตามการพิพากษาของพระเจ้าที่กำลังใกล้เข้ามา. แน่นอน เพื่อจะได้รับพระพรเหล่านี้ เราต้องมีสภาพหัวใจที่ถูกต้อง. ดังที่เราจะได้เห็นในบทความถัดไป มีการเน้นเรื่องนี้ในคำพยากรณ์ของอาโมศเช่นกัน.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คำพยากรณ์ของอาโมศแสดงอย่างไรว่าการพิพากษาของพระยะโฮวามีเหตุผลอันสมควรเสมอ?
• อาโมศให้ข้อพิสูจน์อะไรที่แสดงว่าคนชั่วไม่มีทางรอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้า?
• พระธรรมอาโมศแสดงอย่างไรว่าการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าเป็นแบบที่มีการเลือก?
[ภาพหน้า 16, 17]
อาณาจักรอิสราเอลไม่รอดพ้นการพิพากษาของพระเจ้า
[ภาพหน้า 18]
ในปี 537 ก่อน ส.ศ. ชนที่เหลือชาวอิสราเอลและยูดาห์กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน