กล่าวคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ
“จงไปพยากรณ์แก่พลไพร่ของเรา.”—อาโมศ 7:15.
1, 2. อาโมศเป็นใคร และคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยให้ทราบอะไรเกี่ยวกับตัวท่าน?
ขณะทำงานรับใช้ ผู้รับใช้คนหนึ่งของพระยะโฮวาเผชิญหน้ากับปุโรหิต. ปุโรหิตคนนั้นกล่าวเสียงดังว่า ‘หยุดประกาศเดี๋ยวนี้ แล้วออกไปจากที่นี่!’ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาคนนั้นทำอย่างไร? เขายอมทำตามคำสั่งนั้นไหม หรือว่าเขาประกาศพระคำของพระเจ้าต่อไปด้วยความกล้าหาญ? คุณสามารถรู้คำตอบได้เพราะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาคนนี้เขียนประสบการณ์ของเขาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ใช้ชื่อเขาเป็นชื่อหนังสือนั้น. หนังสือนั้นก็คือพระธรรมอาโมศ. ก่อนที่เราจะได้ทราบมากขึ้นเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับปุโรหิตคนนี้ ขอให้เราพิจารณาภูมิหลังบางอย่างของอาโมศก่อน.
2 อาโมศเป็นใคร? ท่านมีชีวิตอยู่เมื่อไรและที่ไหน? เราพบคำตอบเหล่านี้ที่อาโมศ 1:1 ซึ่งกล่าวว่า “คำทั้งหลายแห่งอาโมศผู้อยู่ในพวกเลี้ยงสัตว์ในเมืองธะโคอา . . . ในวันทั้งหลายแห่งแผ่นดินอุซียาผู้เป็นกษัตริย์ยะฮูดา, แลในวันทั้งหลายแห่งแผ่นดินยาราบะอาม, ผู้บุตรโยอาศเป็นกษัตริย์ยิศราเอล.” อาโมศเป็นชาวยูดาห์. บ้านเกิดของท่านคือเมืองธะโคอา อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเลมไปทางใต้ 16 กิโลเมตร. ท่านมีชีวิตอยู่ตอนปลายศตวรรษที่เก้าก่อนสากลศักราช ช่วงที่อุซียาเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรยูดาห์ และยาราบะอามที่ 2 ปกครองอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล. อาโมศทำงานเป็นคนเลี้ยงแกะ. ที่จริง อาโมศ 7:14 (ล.ม.) กล่าวว่าท่านไม่ใช่แค่ “คนเลี้ยงสัตว์” เท่านั้น แต่เป็นคน “กรีดผลมะเดื่อเทศ” ด้วย. ฉะนั้น ท่านจึงใช้เวลาบางช่วงของปีเป็นคนงานรับจ้างตามฤดูกาล ทำงานกรีดผลมะเดื่อ. การกรีดนี้จะช่วยให้ผลมะเดื่อสุกเร็วขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย.
“จงไปพยากรณ์”
3. การรู้ภูมิหลังของอาโมศช่วยเราอย่างไรหากรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณวุฒิที่จะประกาศ?
3 อาโมศกล่าวตามตรงว่า “ข้าพเจ้ามิได้เป็นผู้พยากรณ์, แลข้าพเจ้ามิได้เป็นบุตรแห่งผู้พยากรณ์.” (อาโมศ 7:14) อาโมศไม่ได้เกิดมาเป็นบุตรผู้พยากรณ์ หรือเคยได้รับการฝึกอบรมให้เป็นผู้พยากรณ์. แม้พระยะโฮวาสามารถเลือกใครก็ได้จากผู้คนทั่วแผ่นดินยูดาห์ แต่ทรงเลือกอาโมศให้ทำราชกิจของพระองค์. ในครั้งนั้น พระเจ้าไม่ได้เลือกกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ, ปุโรหิตผู้ทรงความรู้, หรือหัวหน้าประชาชนผู้มั่งคั่ง. เรื่องนี้ให้แง่คิดที่ทำให้เราอบอุ่นใจ. เราอาจมีสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยหรือมีการศึกษาน้อย. แต่นั่นควรทำให้เรารู้สึกว่าขาดคุณวุฒิที่จะประกาศพระคำของพระเจ้าไหม? ไม่เลย! พระยะโฮวาสามารถทำให้เรามีคุณวุฒิประกาศข่าวสารของพระองค์ แม้ในเขตงานที่ท้าทายด้วยซ้ำ. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงทำเช่นนั้นไปแล้วจริง ๆ ในกรณีของอาโมศ จึงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่ปรารถนาจะกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญที่จะพิจารณาตัวอย่างที่ผู้พยากรณ์กล้าหาญคนนี้ได้วางไว้.
4. เหตุใดการพยากรณ์ในอาณาจักรอิสราเอลจึงเป็นงานที่ท้าทายสำหรับอาโมศ?
4 พระยะโฮวาบัญชาอาโมศว่า “จงไปพยากรณ์แก่พลไพร่ของเราคือยิศราเอล.” (อาโมศ 7:15) งานมอบหมายดังกล่าวเป็นงานที่ท้าทาย. ในเวลานั้น อาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลมีความสงบสุข, ปลอดภัย, และเจริญมั่งคั่ง. หลายคนมี “เรือนสำหรับฤดูหนาว, แลเรือนสำหรับฤดูร้อน” ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นจากอิฐธรรมดา แต่จาก ‘ศิลาสกัด’ ราคาแพง. บางคนมีเครื่องเรือนที่ประดับด้วยงาช้างอันงดงาม และดื่มเหล้าองุ่นที่ผลิตจาก “สวนองุ่นอันดี.” (อาโมศ 3:15; 5:11) ผลก็คือ หลายคนพึงพอใจกับสภาพที่ตนเป็นอยู่. อันที่จริง เขตมอบหมายของอาโมศดูเหมือนคล้ายกันมากกับเขตงานที่พวกเราบางคนรับใช้อยู่ในปัจจุบัน.
5. ชาวอิสราเอลบางคนกระทำการไม่ยุติธรรมอะไร?
5 การที่ชาวอิสราเอลมีสมบัติวัตถุนั้น ในตัวมันเองไม่มีอะไรผิด. อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลบางคนได้สะสมความมั่งคั่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต. คนมั่งมี “ข่มขี่คนจน, และเบียดเบียนคนเข็ญใจ.” (อาโมศ 4:1) พวกพ่อค้า, ผู้พิพากษา, และปุโรหิตที่ทรงอิทธิพลคบคิดกันเบียดบังเอาทรัพย์สินของคนจน. ตอนนี้ ขอให้เราย้อนกลับไปในสมัยนั้นและสังเกตดูสิ่งที่คนเหล่านี้กระทำ.
พระบัญญัติของพระเจ้าถูกละเมิด
6. พวกพ่อค้าชาวอิสราเอลเอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างไร?
6 เราไปที่ตลาดกันก่อน. ที่นั่น พวกพ่อค้าที่คดโกง “ย่อทะนานให้ย่อมลง ขายให้แพงขึ้น” แม้กระทั่งขาย “ข้าวที่เหลือเดน” เป็นข้าวดี. (อาโมศ 8:5, 6) พวกพ่อค้าโกงปริมาณสินค้าที่ขายแก่ลูกค้า, ราคาก็แพงลิบ, อีกทั้งสินค้าก็ด้อยคุณภาพ. หลังจากพวกพ่อค้ารีดนาทาเร้นคนยากไร้จนสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว คนจนเหล่านั้นก็จำใจต้องขายตัวเป็นทาส. จากนั้น พวกพ่อค้าก็ซื้อตัวพวกเขา “ด้วยราคารองเท้าคู่หนึ่ง.” (อาโมศ 8:6) คิดดูสิ! พวกพ่อค้าที่ละโมบถือว่าเพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอลมีค่าแค่รองเท้าคู่หนึ่ง! ช่างเป็นการเหยียดหยามคนยากไร้อย่างไม่มีชิ้นดี และเป็นการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างโจ่งแจ้งเสียจริง ๆ! กระนั้น พวกพ่อค้าเหล่านี้ถือรักษา “วันซะบาโต” ตามกำหนด. (อาโมศ 8:5) ใช่ พวกเขาเคร่งศาสนาแต่เพียงเปลือกนอก.
7. อะไรทำให้พวกพ่อค้าชาวอิสราเอลสามารถละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าได้?
7 พวกพ่อค้าหลบเลี่ยงการถูกลงโทษเนื่องจากละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าไปได้อย่างไร ซึ่งบัญชาว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”? (เลวีติโก 19:18) พวกเขาทำเช่นนั้นได้ เพราะผู้ที่ควรจะบังคับใช้กฎหมาย คือเหล่าผู้พิพากษา สมรู้ร่วมคิดกับพวกเขา. ที่ประตูเมือง ซึ่งเป็นที่พิพากษาคดีนั้น ผู้พิพากษา “รับสินบน, แลข่มขี่คนจน.” แทนที่จะปกป้องคนจน พวกผู้พิพากษากลับหักหลังพวกเขาด้วยเห็นแก่สินบน. (อาโมศ 5:10, 12) ผู้พิพากษาก็ไม่ใส่ใจพระบัญญัติของพระเจ้าเช่นกัน.
8. พวกปุโรหิตชั่วปิดหูปิดตาต่อการกระทำอะไร?
8 ในเวลาเดียวกัน พวกปุโรหิตในอิสราเอลมีบทบาทอะไร? เพื่อจะทราบคำตอบ เราต้องพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกสถานที่หนึ่ง. ดูสิว่าพวกปุโรหิตปล่อยให้มีการกระทำบาปอะไร “ในเรือนพระทั้งหลายของเขา”! พระเจ้าตรัสผ่านทางอาโมศว่า “ทั้งลูกแลบิดาของเขาไปยังที่หญิงสาวผู้เดียว, เพื่อจะยังพระนามอันบริสุทธิ์ของเราให้เป็นที่ดูหมิ่น.” (อาโมศ 2:7, 8) คิดดูสิ! ชาวอิสราเอลทั้งพ่อและลูกกระทำผิดศีลธรรมทางเพศกับโสเภณีประจำวิหารคนเดียวกัน. และพวกปุโรหิตชั่วเหล่านี้ปิดหูปิดตาต่อการทำผิดศีลธรรมเช่นนั้น!—เลวีติโก 19:29; พระบัญญัติ 5:18; 23:17.
9, 10. ชาวอิสราเอลกระทำผิดฐานละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าในข้อใด และมีความคล้ายอะไรที่อาจเทียบกันได้กับสมัยของเรา?
9 เมื่อกล่าวถึงการกระทำบาปอย่างอื่น พระยะโฮวาตรัสว่า “เขานอนใกล้แท่นทั้งปวงบนผ้าที่รับจำนำไว้, แลเขากินน้ำองุ่นแห่งผู้ที่ต้องปรับไหมในเรือนพระทั้งหลายของเขา.” (อาโมศ 2:8) ใช่แล้ว พวกปุโรหิตและประชาชนทั่วไปไม่ใส่ใจพระบัญญัติซึ่งบันทึกไว้ที่เอ็กโซโด 22:26, 27 อีกด้วย ซึ่งกล่าวว่าเสื้อคลุมที่รับจำนำไว้เป็นของประกันจะต้องคืนแก่เจ้าของก่อนตะวันตก. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขากลับใช้เสื้อคลุมนั้นเป็นผ้ารองนั่งขณะเลี้ยงฉลองและดื่มถวายพรแก่พระเท็จ. และโดยอาศัยค่าปรับที่บีบบังคับเอาจากคนจน พวกเขาซื้อเหล้าองุ่นไปดื่มในเทศกาลฉลองศาสนาเท็จ. พวกเขาช่างหลงไปไกลเหลือเกินจากแนวทางแห่งการนมัสการบริสุทธิ์!
10 ชาวอิสราเอลละเมิดพระบัญญัติข้อใหญ่ที่สุดสองข้ออย่างไร้ยางอาย คือข้อที่ให้รักพระยะโฮวาและรักเพื่อนมนุษย์. ด้วยเหตุนั้น พระเจ้าจึงทรงส่งอาโมศไปตำหนิความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเขา. ทุกวันนี้ ชาติต่าง ๆ ในโลก รวมถึงชาติต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร สะท้อนสภาพการณ์ที่เสื่อมทรามอย่างเดียวกับอิสราเอลโบราณ. ขณะที่บางคนรุ่งเรืองมั่งคั่ง แต่อีกหลายคนประสบความเสียหายทางการเงินและทางอารมณ์จากการกระทำผิดศีลธรรมของพวกผู้นำที่ทุจริตในธุรกิจขนาดใหญ่, การเมือง, และศาสนาเท็จ. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงห่วงใยผู้ที่ทนทุกข์และปรารถนาจะแสวงหาพระองค์. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมอบหมายเหล่าผู้รับใช้สมัยปัจจุบันของพระองค์ให้ทำการงานที่คล้ายกับของอาโมศ นั่นคือให้ประกาศพระคำของพระองค์ด้วยความกล้าหาญ.
11. เราเรียนรู้อะไรได้จากตัวอย่างของอาโมศ?
11 เนื่องจากมีความคล้ายกันระหว่างงานของเรากับงานของอาโมศ เราย่อมจะได้ประโยชน์มากจากการพิจารณาตัวอย่างของท่าน. อันที่จริง อาโมศแสดงให้เราเห็นว่า (1) ข่าวสารอะไรที่เราควรประกาศ, (2) เราควรประกาศข่าวสารนั้นอย่างไร, และ (3) เหตุใดผู้ต่อต้านจึงไม่อาจยับยั้งงานประกาศของเราได้. ขอให้เราพิจารณาจุดเหล่านี้ทีละจุด.
วิธีที่เราสามารถทำตามตัวอย่างของอาโมศ
12, 13. พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าพระองค์ไม่พอพระทัยชาวอิสราเอล และพวกเขาตอบสนองอย่างไร?
12 ฐานะพยานพระยะโฮวา เรามุ่งงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนของเราไปที่งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำคนเป็นสาวก. (มัดธาย 28:19, 20; มาระโก 13:10) กระนั้น เราก็นำความสนใจของผู้คนไปยังคำเตือนของพระเจ้าด้วย เช่นเดียวกับที่อาโมศประกาศว่าพระยะโฮวาจะนำการพิพากษาลงโทษมาสู่คนชั่ว. ตัวอย่างเช่น อาโมศ 4:6-11 แสดงว่าพระยะโฮวาทำให้ชาวอิสราเอลเห็นชัดครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพระองค์ไม่พอพระทัยพวกเขา. พระองค์ทำให้ประชาชนเหล่านั้น “ขัดสน [อาหาร],” “ปิดบังฝนไว้มิให้ตก,” โจมตีพวกเขาด้วยการทำให้ “ผลเหี่ยวและลีบไป,” และให้เกิด “โรคห่า” ท่ามกลางพวกเขา. ภัยพิบัติเหล่านี้กระตุ้นชาวอิสราเอลให้กลับใจไหม? พระเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายมิได้กลับมาหาเรา.” ที่จริง ชาวอิสราเอลปฏิเสธพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า.
13 พระยะโฮวาลงโทษชาวอิสราเอลที่ไม่กลับใจ. อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้รับคำเตือนก่อนในลักษณะของคำพยากรณ์. สอดคล้องกับเรื่องนี้ พระเจ้าทรงแถลงว่า “พระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศรจะไม่ทรงทำสิ่งใด เว้นแต่พระองค์ได้ทรงเปิดเผยเรื่องซึ่งพระองค์ถือเป็นความลับแก่ผู้รับใช้ของพระองค์คือพวกผู้พยากรณ์.” (อาโมศ 3:7, ล.ม.) พระเจ้าเปิดเผยเรื่องน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นแก่โนฮาและมีพระบัญชาให้ท่านประกาศคำเตือน. เช่นเดียวกัน พระยะโฮวาทรงบอกอาโมศให้ประกาศคำเตือนเป็นครั้งสุดท้าย. น่าเศร้า ชาวอิสราเอลเพิกเฉยข่าวสารจากพระเจ้าและไม่ลงมือกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง.
14. มีความคล้ายกันอย่างไรบ้างระหว่างสมัยของอาโมศกับสมัยของเรา?
14 คุณคงจะเห็นด้วยว่ามีความคล้ายกันที่น่าทึ่งระหว่างสมัยของอาโมศกับสมัยของเรา. พระเยซูคริสต์พยากรณ์ว่าจะมีภัยพิบัติหลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยสุดท้าย. พระองค์บอกล่วงหน้าถึงงานประกาศทั่วโลกด้วย. (มัดธาย 24:3-14) แต่เช่นเดียวกับสมัยของอาโมศ ผู้คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้เพิกเฉยทั้งหมายสำคัญแห่งยุคสมัยและข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. คนเหล่านี้จะได้รับผลเช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลที่ไม่กลับใจเคยประสบ. พระยะโฮวาทรงเตือนพวกเขาว่า “จงจัดแจงเพื่อจะพบพระเจ้าของตน.” (อาโมศ 4:12) ชาวอิสราเอลพบพระเจ้าโดยประสบการพิพากษาลงโทษเมื่อกองทัพอัสซีเรียพิชิตพวกเขา. ในสมัยปัจจุบัน โลกที่ขาดความเลื่อมใสพระเจ้านี้จะ “พบพระเจ้า” ในคราวอาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16) แต่ในระหว่างนี้ ตราบใดที่พระยะโฮวายังอดกลั้นพระทัย เราจะพยายามกระตุ้นเตือนผู้คนมากเท่าที่เป็นไปได้ให้ “แสวงหาพระยะโฮวาและมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—อาโมศ 5:6, ล.ม.
เผชิญการต่อต้านเช่นเดียวกับอาโมศ
15-17. (ก) อามาซิยาเป็นใคร และเขามีปฏิกิริยาเช่นไรต่อคำแถลงของอาโมศ? (ข) อามาซิยาโจมตีอาโมศด้วยข้อกล่าวหาอะไรบ้าง?
15 เราสามารถเอาอย่างอาโมศไม่เฉพาะในเรื่องข่าวสารที่เราประกาศเท่านั้น แต่วิธีประกาศด้วย. มีการเน้นข้อเท็จจริงนี้ในบท 7 ซึ่งบอกเราเกี่ยวกับปุโรหิตคนที่กล่าวถึงในตอนต้นของบทความนี้. เขาผู้นี้คือ “อามาซิยาห์ ปุโรหิตแห่งเบธเอล.” (อาโมศ 7:10, ฉบับแปลใหม่) เมืองเบทเอลเป็นศูนย์กลางศาสนาที่ออกหากของอาณาจักรอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบูชารูปลูกวัว. อามาซิยาจึงเป็นปุโรหิตคนหนึ่งในศาสนาประจำชาตินี้. เขามีปฏิกิริยาเช่นไรต่อการประกาศด้วยความกล้าหาญของอาโมศ?
16 อามาซิยากล่าวแก่อาโมศว่า “โอ้ผู้พยากรณ์จงหนีไปยังแผ่นดินยะฮูดา, แลกินขนมแลพยากรณ์ที่นั้นเถิด. แต่อย่าพยากรณ์ซ้ำที่เบ็ธเอลอีกเลย, เพราะเป็นวิหารแห่งมหากษัตริย์แลเป็นเรือนหลวง.” (อาโมศ 7:12, 13) โดยกล่าวเช่นนั้น ก็เหมือนกับอามาซิยาบอกว่า ‘กลับบ้านไปซะเถอะ! พวกเรามีศาสนาของเราอยู่แล้ว.’ เขายังพยายามยุยงผู้มีอำนาจปกครองให้ระงับงานประกาศของอาโมศด้วย โดยบอกแก่กษัตริย์ยาราบะอามที่ 2 ว่า “อาโมศได้คิดกบฏต่อท่านในท่ามกลางเรือนแห่งยิศราเอล.” (อาโมศ 7:10) ถูกแล้ว อามาซิยากล่าวหาว่าอาโมศคิดกบฏ! เขาบอกกษัตริย์ว่า “อาโมศกล่าวดังนี้ว่า, ‘ยาราบะอามจะตายด้วยกะบี่, แลพวกยิศราเอลจะต้องจากแผ่นดินของตนไปเป็นเชลยเป็นแท้.’ ”—อาโมศ 7:11.
17 ในคำพูดดังกล่าว อามาซิยารวมเอาคำกล่าวที่ลวงให้เข้าใจผิดสามประการเข้าไว้ด้วยกัน. เขาบอกว่า “อาโมศกล่าวดังนี้ว่า.” แต่จริง ๆ แล้วอาโมศไม่เคยอ้างเลยว่าคำพยากรณ์มาจากตัวท่านเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านกล่าวเสมอมาว่า “พระยะโฮวาตรัสดังนี้ว่า.” (อาโมศ 1:3) อาโมศยังถูกกล่าวหาอีกว่าท่านกล่าวว่า “ยาราบะอามจะตายด้วยกะบี่.” แต่ดังบันทึกที่อาโมศ 7:9 อาโมศพยากรณ์ว่า “เรา [ยะโฮวา] จะลุกขึ้นต่อเรือนยาราบะอามด้วยกะบี่.” พระเจ้าบอกล่วงหน้าว่าความหายนะดังกล่าวจะเกิดแก่ “เรือน” ของยาราบะอาม คือเชื้อวงศ์ของท่าน. นอกจากนั้น อามาซิยาอ้างว่าอาโมศได้กล่าวว่า “พวกยิศราเอลจะต้อง . . . ไปเป็นเชลยเป็นแท้.” แต่อาโมศก็ได้พยากรณ์เช่นกันว่า ชาวอิสราเอลคนใด ๆ ที่กลับไปหาพระเจ้าจะได้รับพระพร. เห็นได้ชัดว่า อามาซิยาใช้ถ้อยคำที่จริงบ้างไม่จริงบ้างบิดเบือนความจริงเพื่อพยายามจะให้มีการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการห้ามงานประกาศของอาโมศ.
18. มีความคล้ายกันอย่างไรระหว่างวิธีที่อามาซิยาใช้กับวิธีที่ผู้นำศาสนาในปัจจุบันใช้?
18 คุณสังเกตเห็นความคล้ายกันไหมระหว่างวิธีที่อามาซิยาใช้กับวิธีที่พวกผู้ต่อต้านประชาชนของพระยะโฮวาใช้ในปัจจุบัน? เช่นเดียวกับที่อามาซิยาพยายามทำให้อาโมศเงียบเสียง พวกนักเทศน์นักบวชหรือผู้นำศาสนาในสมัยของเราก็พยายามขัดขวางงานประกาศของเหล่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. อามาซิยาใส่ความอาโมศว่ากบฏ. ผู้นำศาสนาบางคนในสมัยนี้ก็กล่าวหาพยานพระยะโฮวาอย่างผิด ๆ เช่นกันว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ. และเช่นเดียวกับที่อามาซิยาขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ในการต่อต้านยับยั้งอาโมศ ผู้นำศาสนาในปัจจุบันก็มักขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรทางการเมืองในการข่มเหงพยานพระยะโฮวา.
ผู้ต่อต้านไม่สามารถยุติงานประกาศของเราได้
19, 20. อาโมศมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อการต่อต้านของอามาซิยา?
19 อาโมศมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อการต่อต้านของอามาซิยา? อาโมศถามปุโรหิตผู้นี้ก่อนว่า ‘ท่านว่าอย่าพยากรณ์ต่อยิศราเอลอย่างนั้นหรือ?’ แล้วจากนั้น โดยไม่อึกอัก ผู้พยากรณ์ที่กล้าหาญของพระเจ้าก็กล่าวถ้อยคำที่อามาซิยาไม่อยากจะได้ยินแน่ ๆ นั้นต่อไป. (อาโมศ 7:16, 17) อาโมศไม่หวาดหวั่น. ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริง ๆ สำหรับเรา! ในเรื่องการประกาศพระคำของพระเจ้า เราจะทำตามพระบัญชาของพระเจ้า แม้ในดินแดนที่อามาซิยาสมัยปัจจุบันยุยงให้เกิดการกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายกาจก็ตาม. เช่นเดียวกับอาโมศ เราประกาศต่อ ๆ ไปว่า ‘พระยะโฮวาตรัสดังนี้ว่า.’ และพวกผู้ต่อต้านไม่มีวันยุติงานประกาศของเราได้ เนื่องจาก “พระหัตถ์ของพระเจ้า” อยู่กับเรา.—กิจการ 11:19-21.
20 อามาซิยาน่าจะรู้ดีว่าการข่มขู่ของตนจะไร้ผล. อาโมศได้ชี้แจงไปแล้วว่าทำไมจึงไม่มีใครบนแผ่นดินโลกจะมาทำให้ท่านหยุดพูดได้ และนี่เป็นจุดที่สามที่เราจะพิจารณา. ตามที่กล่าวในอาโมศ 3:3-8 อาโมศใช้คำถามต่อเนื่องกันเป็นชุด พร้อมกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ. แล้วจากนั้น ท่านก็ชักเหตุผลดังนี้: “สิงโตแผดเสียงแล้วจะมีผู้ใดที่ไม่กลัวหรือ? พระยะโฮวาเจ้าได้ตรัสจะมีผู้ใดที่จะไม่พยากรณ์หรือ?” พูดอีกอย่างหนึ่ง อาโมศบอกผู้ที่ฟังท่านว่า ‘ท่านทั้งหลายอดไม่ได้ที่จะกลัวเสียงคำรามของสิงโตฉันใด ข้าฯ ก็อดไม่ได้ที่จะประกาศพระคำของพระเจ้าเมื่อได้ยินพระบัญชาจากพระยะโฮวาให้ทำฉันนั้น.’ ความเกรงกลัวพระยะโฮวาหรือความยำเกรงพระองค์กระตุ้นให้อาโมศประกาศด้วยความกล้าหาญ.
21. เรามีท่าทีเช่นไรต่อพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้เราประกาศข่าวดี?
21 เราได้ยินพระบัญชาของพระยะโฮวาให้ประกาศเช่นกัน. เรามีท่าทีอย่างไร? เช่นเดียวกับอาโมศและเหล่าสาวกของพระเยซูในยุคแรก เรากล่าวพระคำของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์. (กิจการ 4:23-31) ไม่ว่าจะเป็นการข่มเหงที่ปลุกเร้าโดยพวกผู้ต่อต้าน หรือท่าทีไม่แยแสของผู้คนที่เราประกาศแก่เขา ต่างก็ไม่ทำให้เราเงียบเสียงลง. ด้วยความมีใจแรงกล้าเช่นเดียวกับอาโมศ พยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกถูกกระตุ้นให้ประกาศข่าวดีด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไป. เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเตือนผู้คนให้ทราบถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาที่ใกล้เข้ามา. มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับการพิพากษาดังกล่าว? จะมีการตอบคำถามนี้ในบทความถัดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
• อาโมศทำงานมอบหมายจากพระเจ้าภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
• เช่นเดียวกับอาโมศ ข่าวสารอะไรที่เราควรประกาศ?
• เราควรทำงานประกาศของเราด้วยท่าทีเช่นไร?
• ทำไมพวกผู้ต่อต้านไม่สามารถยุติงานให้คำพยานของเราได้?
[ภาพหน้า 10]
พระเจ้าเลือกอาโมศซึ่งเป็นคนกรีดผลมะเดื่อเทศให้ทำราชกิจของพระองค์
[ภาพหน้า 13]
คุณประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญเช่นเดียวกับอาโมศไหม?