พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโอบัดยา, โยนา, และมีคา
“เรื่องนิมิตของโอบัดยา.” (โอบัดยา 1) นี่เป็นถ้อยคำเริ่มต้นของพระธรรมโอบัดยา. ผู้พยากรณ์ไม่ได้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับตนเองเว้นแต่ชื่อของท่านในพระธรรมที่ท่านเขียนเมื่อปี 607 ก่อนสากลศักราช. สำหรับพระธรรมที่เขียนเสร็จมากกว่าสองศตวรรษก่อนหน้านี้ ผู้พยากรณ์โยนาได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านประสบด้วยตนเองในงานมอบหมายฐานะผู้เผยแพร่ในต่างแดน. มีคาทำงานรับใช้ฐานะผู้พยากรณ์นาน 60 ปี ตั้งแต่ปี 777 ก่อน ส.ศ. ถึงปี 717 ก่อน ส.ศ. ระหว่างสมัยของโอบัดยาและโยนา. เรื่องที่ท่านบอกเกี่ยวกับตนเองมีแค่ว่าท่านเป็น “ชาวเมืองโมเรเซ็ธ” และพระคำของพระยะโฮวามาถึงท่าน “ในรัชกาลแห่งโยธาม, อาฮาศ, และฮิศคียา, กษัตริย์แห่งประเทศยะฮูดา.” (มีคา 1:1) ความคุ้นเคยของท่านผู้พยากรณ์กับชีวิตในชนบทเห็นได้จากวิธีที่ท่านใช้คำเปรียบเพื่อเน้นจุดสำคัญของข่าวสารที่ท่านประกาศ.
เอโดม “จะถูกทำลายเสียตลอดกาล”
โอบัดยากล่าวเกี่ยวกับเอโดมว่า “เนื่องด้วยการร้ายที่เจ้าได้กระทำแก่ยาโคบน้องชายของเจ้า, การน่าบัดสีจะหุ้มห่อเจ้าไว้, และเจ้าจะถูกทำลายเสียตลอดกาล.” ผู้พยากรณ์จำได้อย่างแม่นยำว่าก่อนหน้านี้ชาวเอโดมกระทำทารุณต่อเหล่าบุตรชายของยาโคบซึ่งก็คือชาวอิสราเอล. ในปี 607 ก่อน ส.ศ. เมื่อชาวบาบิโลนทำลายกรุงเยรูซาเลม ชาวเอโดม “ยืนดูเหตุการณ์อยู่ข้าง ๆ” และเข้าเป็นพันธมิตรกับพวก “คนต่างด้าว” ที่บุกรุก.—โอบัดยา 10, 11.
ในทางกลับกัน วงศ์วานของยาโคบจะได้รับการฟื้นฟู. คำพยากรณ์ของโอบัดยากล่าวว่า “ส่วน ณ ภูเขาซีโอนนั้นจะมีผู้ที่หนีรอดมาอยู่บ้าง, และที่นั้นจะเป็นที่สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ.”—โอบัดยา 17.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
ข้อ 5-8—การเปรียบเทียบพินาศกรรมของเอโดมกับพวกปล้นชิงที่มาตอนกลางคืนและคนเก็บผลองุ่นมีความหมายอย่างไร? ถ้าพวกโจรมาปล้นเอโดม พวกเขาก็จะเอาแต่สิ่งที่ตนต้องการ. ถ้าคนเก็บเกี่ยวมา พวกเขาก็จะเหลือพืชผลไว้บ้าง. แต่เมื่อเอโดมล่มจม ทรัพย์ของพวกเขาก็จะถูกกวาดไปจนเกลี้ยงและจะถูก “คนที่เป็นมิตรไมตรีกับ [พวกเขา]” ซึ่งก็คือชาวบาบิโลนพันธมิตรเอโดม ปล้นไปจนหมดไม่มีเหลือ.—ยิระมะยา 49:9, 10.
ข้อ 10—เอโดมถูก “ทำลายเสียตลอดกาล” อย่างไร? ดังที่บอกไว้ล่วงหน้า ชาติเอโดมซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลและประชาชนชาวเอโดมที่อาศัยในดินแดนส่วนหนึ่งของแผ่นดินโลกไม่มีเหลือแล้ว. เนโบไนดัสกษัตริย์บาบิโลนพิชิตเอโดมประมาณกลางศตวรรษที่หกก่อน ส.ศ. พอถึงศตวรรษที่สี่ก่อน ส.ศ. ดินแดนเอโดมถูกครอบครองโดยชาวนาบาเทีย และชาวเอโดมก็ต้องไปอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของยูเดียในเนเกบซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่ออิดูเมีย. หลังจากชาวโรมันทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 70 ชาวเอโดมก็สาบสูญไป.
บทเรียนสำหรับเรา:
ข้อ 3, 4. เนื่องจากชาวเอโดมอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ขรุขระ มีภูเขาสูงและช่องเขาลึกซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งทางยุทธศาสตร์ พวกเขาจึงอาจหลอกตนเองด้วยความมั่นใจมากเกินไปว่ามีความมั่นคงและปลอดภัย. แต่ไม่อาจหนีพ้นการพิพากษาของพระยะโฮวาได้.
ข้อ 8, 9, 15 (ฉบับแปลใหม่). สติปัญญาและกำลังของมนุษย์ไม่อาจให้การปกป้องได้ใน “วันแห่งพระเจ้า.”—ยิระมะยา 49:7, 22.
ข้อ 12-14. ชาวเอโดมเป็นตัวอย่างเตือนใจสำหรับคนที่รู้สึกยินดีที่เห็นผู้รับใช้ของพระเจ้าประสบความยากลำบาก. พระยะโฮวาไม่ทรงมองว่าการที่ประชาชนของพระองค์ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย.
ข้อ 17-20. คำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูวงศ์วานของยาโคบเริ่มสำเร็จเป็นจริงเมื่อชาวยิวที่เหลือออกจากบาบิโลนกลับสู่กรุงเยรูซาเลมในปี 537 ก่อน ส.ศ. พระคำของพระยะโฮวาเป็นจริงเสมอ. เราสามารถมั่นใจได้เต็มที่ในคำสัญญาของพระองค์.
“กรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป”
แทนที่โยนาจะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ “ไปยังนีนะเวกรุงใหญ่นั้น, และร้องประกาศ” ข่าวสารการพิพากษา แต่โยนากลับหนีไปในทิศตรงกันข้าม. โดยทำให้เกิด ‘กระแสลมใหญ่พัดผ่านทะเล’ และใช้ “ปลาใหญ่” พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนเส้นทางของโยนาและมอบหมายงานให้ท่านอีกเป็นครั้งที่สองให้ไปยังเมืองหลวงของอัสซีเรีย.—โยนา 1:2, 4, 17; 3:1, 2.
โยนาเข้าไปในกรุงนีเนเวห์และประกาศข่าวสารที่ตรงไปตรงมาว่า “อีกสี่สิบวันกรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป.” (โยนา 3:4) การประกาศของโยนาส่งผลที่ไม่คาดคิดซึ่งทำให้ท่าน “โกรธมาก.” พระยะโฮวาใช้ “ต้นละหุ่ง” เพื่อสอนบทเรียนแก่โยนาในเรื่องความเมตตา.—โยนา 4:1, 6.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
3:3—เมืองนีเนเวห์มีขนาดใหญ่มากจนถึงกับต้องใช้ “เวลาสามวันจึงจะเดินข้ามเมืองนั้น” ได้จริงไหม? จริง. ในสมัยโบราณ เป็นที่เข้าใจว่าเมืองนีเนเวห์ดูเหมือนหมายรวมถึงชุมชนอื่น ๆ ด้วยโดยเริ่มจากเมืองคอร์ซาบาดซึ่งอยู่ทางเหนือไปจนถึงเมืองนิมรุดที่อยู่ทางใต้. ชุมชนทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนีเนเวห์ตั้งอยู่ในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งมีระยะทางโดยรอบประมาณ 100 กิโลเมตร
3:4—โยนาต้องเรียนภาษาอัสซีเรียไหมเพื่อจะประกาศกับชาวเมืองนีเนเวห์? โยนาอาจรู้ภาษาอัสซีเรียอยู่แล้ว หรือท่านอาจได้รับความสามารถในการพูดภาษานั้นโดยการอัศจรรย์. เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งว่าท่านประกาศข่าวสารที่สั้นกระชับเป็นภาษาฮีบรู และมีล่ามแปลให้. ถ้าเป็นในกรณีหลัง คำพูดของท่านคงจะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นในข่าวสารของท่านมากขึ้นทีเดียว.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:1-3. การจงใจจัดตารางเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก เป็นการส่อเจตนาที่ผิด. ใครที่ทำเช่นนั้นอาจกล่าวได้ว่าเขาหนีงานมอบหมายที่พระเจ้าประทานให้.
1:1, 2; 3:10. ความเมตตาของพระยะโฮวาไม่ได้จำกัดแค่ชาติหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่งหรือประชาชนพิเศษกลุ่มหนึ่ง. “พระยะโฮวาทรงแสดงพระคุณแก่มนุษย์ทั่วไป; พระเมตตากรุณาอันอ่อนละมุนมีปรากฏอยู่ในบรรดาพระราชกิจของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:9.
1:17; 2:10. ช่วงเวลาสามวันสามคืนที่โยนาอยู่ในท้องปลาใหญ่เป็นเรื่องราวเชิงพยากรณ์ที่ชี้ถึงการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู.—มัดธาย 12:39, 40; 16:21.
1:17; 2:10; 4:6. พระยะโฮวาทรงช่วยโยนาให้พ้นจากทะเลที่ปั่นป่วน. นอกจากนั้น พระยะโฮวา “ทรงให้ต้นละหุ่งงอกขึ้นมา, ให้เป็นร่มศีรษะของท่านไว้เพื่อบรรเทาทุกข์ความกลุ้มใจในเรื่องนี้.” ผู้นมัสการพระยะโฮวาในทุกวันนี้สามารถวางใจในพระเจ้าของตนและในพระกรุณารักใคร่ของพระองค์ที่จะปกป้องคุ้มครองและช่วยพวกเขาให้รอด.—บทเพลงสรรเสริญ 13:5; 40:11.
2:1, 2, 9, 10. พระยะโฮวาสดับฟังคำอธิษฐานของผู้รับใช้พระองค์และทรงเอาพระทัยใส่คำวิงวอนของพวกเขา.—บทเพลงสรรเสริญ 120:1; 130:1, 2.
3:8, 10. พระเจ้าเที่ยงแท้ “กลับพระทัย” หรือเปลี่ยนใจไม่ลงโทษตามที่ได้ตรัสไว้และ “ก็มิได้ทรงกระทำ.” เพราะเหตุใด? เพราะชาวนีเนเวห์ “ได้กลับไม่ประพฤติในทางชั่วต่อไป.” คล้ายกันในทุกวันนี้ การพิพากษาลงโทษของพระเจ้าอาจไม่เกิดขึ้นหากคนบาปแสดงการกลับใจอย่างแท้จริง.
4:1-4. ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถกำหนดว่าพระเจ้าควรแสดงความเมตตาถึงขีดไหน. เราควรระวังที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระยะโฮวา.
4:11. พระยะโฮวาทรงอดทนรอให้มีการประกาศข่าวสารราชอาณาจักรไปตลอดทั่วโลกเพราะทรงรู้สึกสงสารคนที่ “ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย” ดังเช่นที่ทรงสงสารชาวนีเนเวห์ 120,000 คนนั้น. เราน่าจะสงสารผู้คนในเขตทำงานของเราและเข้าส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการประกาศข่าวสารราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกมิใช่หรือ?—2 เปโตร 3:9.
‘ผมของเขาถูกตัดจนเลี่ยนเตียน’
มีคาเปิดโปงบาปของอิสราเอลและยูดาห์ และบอกล่วงหน้าถึงความร้างเปล่าของเมืองหลวงของพวกเขารวมถึงคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟู. ซะมาเรียจะเป็น “เนื้อนาที่ไถแล้ว.” เนื่องจากการบูชารูปเคารพ ชาวอิสราเอลสมควรถูก “โกนศีรษะ” หรือได้รับความอับอาย. โดยถูกจับตัวไปเป็นเชลย พวกเขาถูกกล้อนผมบนศีรษะจนเกลี้ยง “เหมือนกับนกตะกรุม” ซึ่งดูเหมือนเป็นนกแร้งชนิดหนึ่งที่มีขนอ่อนบนหัวเพียงไม่กี่เส้น. พระยะโฮวาสัญญาว่า “โอ้พวกยาโคบ, เราจะรวบรวมเจ้าทั้งหลายเข้ามาเป็นแน่.” (มีคา 1:6, 16; 2:12) เนื่องมาจากพวกผู้นำที่กินสินบนและพวกผู้พยากรณ์ที่ฝ่าฝืนพระบัญญัติ กรุงเยรูซาเลมก็จะเป็นเหมือน “เนื้อนาที่ไถแล้ว” เช่นกัน. แต่พระยะโฮวาจะ “ทรงรวบรวมเขาทั้งหลายเข้ามา.” จะมี “กษัตริย์ครองยิศราเอล” จาก “บ้านเบธเลเฮ็มเอฟราธา.”—มีคา 3:12; 4:12, ฉบับแปลใหม่; 5:2.
พระยะโฮวาไม่ให้ความเป็นธรรมกับอิสราเอลไหม? ข้อเรียกร้องของพระองค์เข้มงวดเกินไปไหม? ไม่เลย. ทั้งหมดที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องจากผู้นมัสการพระองค์คือ ให้พวกเขา “สำแดงความยุติธรรมและให้รักความกรุณาและให้เจียมตัว” ในการดำเนินกับพระเจ้าของพวกเขา. (มีคา 6:8, ล.ม.) แต่คนร่วมสมัยของมีคาทำความชั่วมากเสียจน “คนที่ดีที่สุดของเขาก็เปรียบเหมือนอย่างกอระกำ, และคนซื่อตรงที่สุดของเขาก็ร้ายเสียยิ่งกว่ารั้วหนาม” สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับทุกคนที่เข้าใกล้. แต่ผู้พยากรณ์ถามว่า “ใครเล่าเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนกับ [พระยะโฮวา]?” พระเจ้าจะแสดงความเมตตาอีกครั้งแก่ประชาชนของพระองค์และ ‘ทรงโยนบาปผิดของเขาลงไปเสียในทะเลลึก.’—มีคา 7:4, 18, 19.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:12—เมื่อใดที่คำพยากรณ์เกี่ยวกับ ‘การรวบรวมพวกยิศราเอลที่เหลือ’ สำเร็จเป็นจริง? ความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 537 ก่อน ส.ศ. เมื่อชาวยิวที่เหลือกลับคืนสู่มาตุภูมิหลังจากเป็นเชลยในบาบิโลน. ในสมัยปัจจุบัน คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงกับ “อิสราเอลของพระเจ้า.” (กาลาเทีย 6:16) นับตั้งแต่ปี 1919 คริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกรวบรวม “ดุจฝูงแกะเข้าอยู่ในคอก.” เนื่องจากมี “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” เข้ามาร่วมสมทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 1935 พวกเขาก็พากัน “ส่งเสียงขรม.” (วิวรณ์ 7:9; โยฮัน 10:16) ทั้งสองกลุ่มต่างก็ส่งเสริมการนมัสการแท้ด้วยกันอย่างกระตือรือร้น.
4:1-4 (ล.ม.)—“ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย” พระยะโฮวา “จะทรงตัดสินความท่ามกลางหลายชนชาติ . . . และจัดการเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับชาติต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง . . . ให้เรียบร้อย” อย่างไร? วลีที่ว่า “หลายชนชาติ” และ “ชาติต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง” ไม่ได้หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หรืออำนาจทางการเมือง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคลจากชาติต่าง ๆ ทั้งมวลที่มาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. พระยะโฮวาจะทรงตัดสินความและจัดการเรื่องราวเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างพวกเขากับพระองค์ให้เรียบร้อย.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:6, 9; 3:12; 5:2. ซะมาเรียถูกชาวอัสซีเรียทำลายในปี 740 ก่อน ส.ศ. ในสมัยของมีคา. (2 กษัตริย์ 17:5, 6) ชาวอัสซีเรียมาถึงกรุงเยรูซาเลมก็เป็นช่วงที่ฮิศคียาครองราชย์. (2 กษัตริย์ 18:13) กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายโดยชาวบาบิโลนในปี 607 ก่อน ส.ศ. (2 โครนิกา 36:19) ดังที่พยากรณ์ไว้ มาซีฮาเกิดที่ “บ้านเบธเลเฮ็มเอฟราธา.” (มัดธาย 2:3-6) คำตรัสเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริงเสมอ.
2:1, 2. นับว่าอันตรายสักเพียงไรหากเราอ้างว่ารับใช้พระเจ้าแต่กลับแสวงหาความร่ำรวยก่อนแทนที่จะแสวงหา “ราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์.”—มัดธาย 6:33; 1 ติโมเธียว 6:9, 10.
3:1-3, 5. พระยะโฮวาคาดหมายคนที่นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าปฏิบัติอย่างยุติธรรม.
3:4. หากเราปรารถนาให้พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเรา เราต้องหลีกเว้นจากบาปและการดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า.
3:8. หน้าที่มอบหมายของเราในการประกาศข่าวดี ซึ่งรวมถึงข่าวสารการพิพากษา จะบรรลุผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับการเสริมกำลังโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาเท่านั้น.
5:5 (ฉบับแปลใหม่). คำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮาข้อนี้ให้คำรับรองกับเราว่า เมื่อประชาชนของพระเจ้าถูกศัตรูโจมตี “ผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคน [หมายถึงความครบถ้วน]” และ “เจ้านายแปดคน” หมายถึงชายที่มีความสามารถจำนวนมาก จะถูกยกให้เป็นผู้นำประชาชนของพระยะโฮวา.
5:7, 8. สำหรับหลายคน คริสเตียนผู้ถูกเจิมในทุกวันนี้เป็น “ดุจน้ำค้างมาจากพระยะโฮวา” นั่นคือเป็นพระพรจากพระเจ้า. ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระองค์ทรงใช้ผู้ถูกเจิมให้ประกาศข่าวสารราชอาณาจักร. “แกะอื่น” ช่วยผู้คนให้มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้าโดยการสนับสนุนผู้ถูกเจิมในงานประกาศอย่างแข็งขัน. (โยฮัน 10:16) นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในงานนี้ซึ่งนำความสดชื่นที่แท้จริงมาสู่ผู้อื่น!
6:3, 4. เราควรเลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าและเป็นคนกรุณาและเมตตาแม้กระทั่งกับคนที่เข้ากับเราได้ยากหรือคนที่อ่อนแอฝ่ายวิญญาณ.
7:7 (ล.ม.). ขณะที่เราจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในช่วงสุดท้ายของระบบชั่วนี้ เราไม่ควรจะหมดหวัง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้อง “แสดงเจตคติแบบที่รอคอยพระเจ้า [ของเรา]” เช่นเดียวกับมีคา.
7:18, 19. เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยยกโทษความผิดของเรา เราก็ควรเต็มใจให้อภัยคนที่ทำบาปต่อเรา.
“ประพฤติตามโอวาทแห่งพระยะโฮวา” ต่อ ๆ ไป
คนที่ต่อสู้พระเจ้าและประชาชนของพระองค์ “จะถูกทำลายเสียตลอดกาล.” (โอบัดยา 10) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาอาจหายพิโรธหากเราเอาใจใส่คำเตือนของพระองค์และ ‘หันกลับไม่ประพฤติในทางชั่วต่อไป.’ (โยนา 3:10) “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย” ซึ่งอยู่ในช่วง “สมัยสุดท้าย” นี้ การนมัสการแท้กำลังได้รับการยกชูขึ้นเหนือศาสนาเท็จทั้งสิ้นและคนที่เชื่อฟังกำลังหลั่งไหลเข้าสู่การนมัสการแท้. (มีคา 4:1, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) ด้วยเหตุนี้ ขอเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “ประพฤติตามโอวาทแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนตลอดไป.”—มีคา 4:5.
บทเรียนต่าง ๆ ในพระธรรมโอบัดยา, โยนา, และมีคาช่างล้ำค่าต่อเราจริง ๆ! แม้จะเขียนเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แต่ข่าวสารในพระธรรมเหล่านี้ก็ “มีชีวิต ทรงพลัง” แม้แต่ในทุกวันนี้.—ฮีบรู 4:12.
[ภาพหน้า 13]
โอบัดยาพยากรณ์ว่า “[เอโดม] จะถูกทำลายเสียตลอดกาล”
[ภาพหน้า 15]
มีคา ‘แสดงเจตคติแบบที่รอคอยพระยะโฮวา’ และคุณก็ทำได้เช่นกัน
[ภาพหน้า 16]
งานประกาศเป็นสิทธิพิเศษที่ควรทะนุถนอม