เราจะ “คอยท่า” อย่างอดทนและไว้วางใจได้อย่างไร?
“ข้าฯ จะ . . . คอยท่า.”—มีคา 7:7
1. ทำไมเราอาจขาดความอดทน?
สมัยสุดท้ายของระบบของซาตานเริ่มต้นในปี 1914 เมื่อพระคริสต์ขึ้นเป็นกษัตริย์ในสวรรค์. ในปีนั้นเอง มีสงครามเกิดขึ้นในสวรรค์ และพระเยซูเหวี่ยงพญามารและปิศาจบริวารของมันลงมายังแผ่นดินโลก. (อ่านวิวรณ์ 12:7-9 ) ซาตานรู้ว่า “เวลาของมันมีน้อย.” (วิ. 12:12) แต่ “เวลา” ที่ว่ามีน้อยนี้นานกว่าที่พวกเราบางคนคิด. ขณะที่เราคอยให้พระยะโฮวานำอวสานมาสู่ระบบของซาตาน เรากลายเป็นคนขาดความอดทนไหม?
2. บทความนี้จะตอบคำถามอะไรบ้าง?
2 การขาดความอดทนเป็นอันตรายอย่างยิ่ง. ทำไม? เพราะเมื่อเราไม่อดทน เราอาจทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อน. ดังนั้น อะไรจะช่วยเราให้คอยอย่างอดทน? บทความนี้จะช่วยเราตอบคำถามต่อไปนี้: (1) เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างความอดทนของผู้พยากรณ์มีคา? (2) เหตุการณ์อะไรจะเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าใกล้จะถึงอวสาน? (3) เราจะแสดงว่าเราขอบคุณที่พระยะโฮวาอดทนได้อย่างไร?
เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างความอดทนของมีคา?
3. ชาวอิสราเอลเป็นอย่างไรในสมัยของมีคา?
3 อ่านมีคา 7:2-6. มีคา ผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา เห็นว่าชาวอิสราเอลมีความเชื่อน้อยลงเรื่อย ๆ และระหว่างการปกครองของกษัตริย์อาฮาศ พวกเขากลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์อย่างยิ่ง. มีคาเปรียบชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์เหมือนกับพืชมีหนามที่ทำให้คนบาดเจ็บได้. ชาวอิสราเอลเหล่านั้นเหมือนกับกอระกำที่มีหนามเพราะพวกเขาปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเลวร้าย ทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย. สภาพการณ์เลวร้ายถึงขั้นที่แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่รักกันอีกต่อไป. มีคาเข้าใจดีว่าท่านเองไม่สามารถเปลี่ยนสภาพการณ์นี้ได้ ท่านจึงอธิษฐานระบายความในใจต่อพระยะโฮวา. แล้วท่านก็คอยอย่างอดทนให้พระเจ้าจัดการ. มีคามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะแก้ไขสถานการณ์ตามเวลาที่พระองค์กำหนด.
4. มีข้อท้าทายอะไรที่เราต้องรับมือ?
4 เช่นเดียวกับมีคา เราเองก็มีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เห็นแก่ตัว. ผู้คนจำนวนมาก “อกตัญญู ไม่ภักดี ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ.” (2 ติโม. 3:2, 3) เราอาจรู้สึกเครียดมากเมื่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียน และเพื่อนบ้านแสดงความเห็นแก่ตัว. แต่พวกเราบางคนต้องรับมือข้อท้าทายที่หนักกว่านั้น. พระเยซูบอกว่าสาวกของพระองค์จะถูกคนในครอบครัวต่อต้าน. คำกล่าวของพระองค์คล้ายกับสิ่งที่เราอ่านในมีคา 7:6. พระเยซูกล่าวว่า “เรามาเพื่อทำให้เกิดการแตกแยก คือ บุตรชายกับบิดา บุตรสาวกับมารดา และลูกสะใภ้กับแม่ผัว. ที่จริง คนในครอบครัวเดียวกันจะเป็นศัตรูกัน.” (มัด. 10:35, 36) อาจเป็นเรื่องยากมากเมื่อสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาเยาะเย้ยและต่อต้านเรา. ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับเรา เราไม่ควรยอมแพ้แรงกดดันนี้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาและคอยอย่างอดทนให้พระองค์ช่วยแก้ไข. ถ้าเราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์ต่อ ๆ ไป พระองค์จะให้กำลังและสติปัญญาที่จำเป็นแก่เราเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์.
5, 6. พระยะโฮวาอวยพรมีคาอย่างไร? แต่มีคาไม่ทันได้เห็นอะไร?
5 พระยะโฮวาอวยพรมีคาที่ได้อดทนคอย. มีคาได้เห็นจุดจบของกษัตริย์อาฮาศที่ชั่วช้าและการปกครองของเขา. ท่านเห็นฮิศคียา บุตรของอาฮาศ ขึ้นเป็นกษัตริย์และช่วยชาวอิสราเอลให้กลับมานมัสการพระยะโฮวา. นอกจากนั้น มีคายังได้เห็นว่าคำพยากรณ์ที่ท่านเขียนเกี่ยวกับซะมาเรียสำเร็จเป็นจริง เมื่ออัสซีเรียทำลายอาณาจักรอิสราเอลซึ่งอยู่ทางเหนือ.—มีคา 1:6
6 แต่มีคาเสียชีวิตก่อนที่ท่านจะเห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ทั้งหมดที่พระยะโฮวาดลใจให้ท่านเขียน. ตัวอย่างเช่น มีคาเขียนว่า “เมื่อถึงสมัยสุดท้าย . . . ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งพระยะโฮวานั้นจะถูกสถาปนาขึ้นให้เท่าเทียมกับขุนเขาสูงทั้งหลาย, แล้วจะถูกยกชูขึ้นให้สูงเยี่ยมเหนือภูเขาทั้งมวล; ประชาชนจะหลั่งไหลไปถึงที่นั่น. และประชาชนเป็นอันมากจะพากันกล่าวว่า, ‘มาเถิดพวกเรา, ให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา.’” (มีคา 4:1, 2) มีคาตั้งใจแน่วแน่ที่จะภักดีต่อพระยะโฮวาจนกระทั่งสิ้นชีวิต ถึงแม้ว่าผู้คนที่อยู่รอบตัวท่านไม่ภักดี. ท่านเขียนว่า “ประชาชนทั้งสิ้นต่างก็ประพฤติในโอวาทแห่งพระของเขา; ส่วนเราจะประพฤติตามโอวาทแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนตลอดไป.” (มีคา 4:5) มีคาคอยอย่างอดทนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นเพราะท่านมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทำทุกสิ่ง ที่พระองค์สัญญาไว้ให้สำเร็จ. ผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ผู้นี้ไว้วางใจพระยะโฮวา.
7, 8. (ก) เรามีเหตุผลอะไรที่จะไว้วางใจพระยะโฮวา? (ข) อะไรจะทำให้เวลาดูเหมือนว่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว?
7 เราไว้วางใจพระยะโฮวาเช่นเดียวกับมีคาไหม? เรามีเหตุผลที่จะไว้วางใจพระองค์ เพราะเราได้เห็นว่าคำพยากรณ์ของมีคากำลังสำเร็จเป็นจริง. ระหว่างสมัยสุดท้ายนี้ หลายล้านคนจากทุกประเทศและทุกตระกูล และทุกภาษาพากันมายัง “ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของโบสถ์ [“ราชนิเวศ,” ล.ม.] แห่งพระยะโฮวา.” ถึงแม้ว่าพวกเขามาจากชาติต่าง ๆ ที่มักสู้รบกัน แต่ผู้นมัสการแท้เหล่านี้ “เอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา” และพวกเขา “ไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (มีคา 4:3) นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราได้เป็นประชาชนของพระยะโฮวาที่รักสันติ!
8 เราทุกคนอยากให้พระยะโฮวาทำลายระบบชั่วนี้เร็ว ๆ. แต่เพื่อเราจะคอยอย่างอดทน เราต้องคิดอย่างที่พระยะโฮวาคิด. พระองค์ได้เลือกพระเยซูคริสต์เป็นผู้พิพากษาประชาชน และพระองค์ได้กำหนดวันที่จะพิพากษาเอาไว้แล้ว. (กิจ. 17:31) แต่ก่อนจะถึงวันนั้น พระเจ้าให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะได้รับ “ความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง” ทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ และได้รับความรอด. เราต้องจำไว้ว่าชีวิตของผู้คนกำลังตกอยู่ในอันตราย. (อ่าน 1 ติโมเธียว 2:3, 4 ) ในไม่ช้า อวสานจะมาถึง. ถ้าเราขยันขันแข็งในการช่วยผู้คนให้รู้จักพระยะโฮวา เวลาก็จะดูเหมือนว่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว. และเมื่ออวสานมาถึง เราจะยินดีที่เราขยันทำงานประกาศ!
เหตุการณ์อะไรบ้างที่เป็นสัญญาณบอกว่าใกล้จะถึงอวสาน?
9-11. คำพยากรณ์ที่ 1 เทสซาโลนิเก 5:3 สำเร็จเป็นจริงแล้วไหม? จงอธิบายว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น.
9 อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:1-3. ในไม่ช้า ชาติต่าง ๆ จะพูดว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” ถ้าเราไม่อยากถูกหลอกโดยคำประกาศนี้ เราต้อง “ตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ.” (1 เทส. 5:6) ต่อไปนี้เราจะพิจารณาเหตุการณ์บางอย่างที่นำไปถึงการประกาศที่สำคัญนี้.
10 หลังจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง นานาชาติร้องหาสันติภาพ. หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นโดยหวังว่าองค์การนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพ. ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนต่างก็หวังว่าองค์การสหประชาชาติจะนำสันติภาพมาสู่โลก. เหล่าผู้นำของรัฐบาลและศาสนาต่าง ๆ ไว้วางใจองค์การทั้งสองนี้. ตัวอย่างเช่น องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี 1986 เป็นปีสันติภาพสากล. ในปีนั้น บรรดาผู้นำของชาติและศาสนาต่าง ๆ ได้มาพบกับประมุขของคริสตจักรคาทอลิกเพื่ออธิษฐานขอให้มีสันติภาพ.
11 อย่างไรก็ตาม คำประกาศดังกล่าวและคำประกาศอื่น ๆ ที่คล้ายกันไม่ได้ทำให้คำพยากรณ์ที่ 1 เทสซาโลนิเก 5:3 เกี่ยวกับสันติภาพและความปลอดภัยสำเร็จเป็นจริง. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะ “ความพินาศ” ที่คำพยากรณ์ข้อนี้บอกว่าจะเกิดขึ้นกับพวกเขา “ทันที” ยังไม่เกิดขึ้น.
12. เรารู้อะไรเกี่ยวกับการประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว”?
12 ใครจะเป็นคนประกาศคำประกาศสำคัญนี้ที่ว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว”? เหล่าผู้นำศาสนาในคริสต์ศาสนจักรและศาสนาอื่น ๆ จะมีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้? รัฐบาลต่าง ๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเรา. แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ไม่ว่าจะมีการประกาศอย่างไรและคำประกาศนั้นฟังดูน่าเชื่อถือขนาดไหน ก็จะไม่ทำให้เกิด ‘ความสงบสุขและความปลอดภัย’ จริง ๆ. ซาตานจะยังคงควบคุมระบบนี้. ระบบนี้ผุพังไปหมดแล้วและไม่มีทางจะเปลี่ยนได้. คงเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าเราเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อของซาตานและไม่รักษาความเป็นกลาง!
13. ทูตสวรรค์กำลังคอยอะไรก่อนที่จะปล่อยลมแห่งการทำลายล้าง?
13 อ่านวิวรณ์ 7:1-4. ขณะที่เราคอยให้ 1 เทสซาโลนิเก 5:3 สำเร็จเป็นจริง ทูตสวรรค์ผู้มีฤทธิ์สี่องค์ก็กำลังห้ามลมแห่งความทุกข์ลำบากใหญ่ไม่ให้ทำความเสียหาย. ทูตสวรรค์เหล่านี้กำลังคอยอะไรก่อนที่จะปล่อยลมแห่งการทำลายล้างนั้น? อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ทาสทั้งหลายของพระเจ้า” ต้องได้รับการประทับตราขั้นสุดท้ายก่อน.a เมื่อเหตุการณ์สำคัญนี้เสร็จสิ้นแล้ว ทูตสวรรค์จะปล่อยลมแห่งการทำลายล้างนั้น. จะมีอะไรเกิดขึ้นในตอนนั้น?
14. มีอะไรที่แสดงให้เราเห็นว่าบาบิโลนใหญ่จะถูกทำลายในไม่ช้า?
14 บาบิโลนใหญ่หรือหญิงแพศยา ซึ่งก็คือจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ จะถูกทำลาย ซึ่งนับว่าสมควรแล้ว. ในเวลานี้ เราเห็นอยู่แล้วว่าอวสานของศาสนาเท็จใกล้เข้ามาแล้ว. เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จะไม่มีใครช่วยนางได้. (วิ. 16:12; 17:15-18; 18:7, 8, 21) ข้อเท็จจริงที่ว่าบาบิโลนใหญ่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นเรื่องที่เห็นได้อยู่แล้วในเวลานี้เมื่อมีรายงานข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาและเหล่าหัวหน้าศาสนา. แม้ว่าเป็นอย่างนี้ เหล่าหัวหน้าศาสนาก็ไม่รู้สึกว่าตนกำลังตกอยู่ในอันตราย. พวกเขาคิดผิดจริง ๆ! หลังจากที่มีการประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว” รัฐบาลทั้งหลายจะโจมตีศาสนาเท็จทันทีและทำลายให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง. บาบิโลนใหญ่จะสูญสิ้นไปตลอดกาล! เป็นเรื่องคุ้มค่าอย่างแน่นอนที่จะคอยอย่างอดทนจนกระทั่งได้เห็นเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้.—วิ. 18:8, 10
เราจะแสดงความขอบคุณที่พระเจ้าอดทนได้อย่างไร?
15. ทำไมพระยะโฮวาจึงคอยอย่างอดทน?
15 แม้ว่าผู้คนทำให้พระนามของพระเจ้าเสื่อมเสีย พระองค์ก็ยังคอยอย่างอดทนให้ถึงเวลาที่กำหนดไว้เพื่อจะลงมือจัดการ. พระยะโฮวาไม่ต้องการให้คนที่มีหัวใจสุจริตถูกทำลาย. (2 เป. 3:9, 10) เรารู้สึกแบบเดียวกันนี้ไหม? ก่อนอวสานจะมาถึง มีหลายวิธีที่เราจะแสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าเราขอบคุณที่พระองค์อดทน.
16, 17. (ก) ทำไมเราควรช่วยคนที่เลิกรับใช้พระยะโฮวา? (ข) ทำไมจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับคนที่เลิกรับใช้พระยะโฮวาจะกลับมาหาพระองค์ในตอนนี้?
16 จงช่วยคนที่เลิกรับใช้พระเจ้า. พระเยซูกล่าวว่ามีความยินดีในสวรรค์เมื่อพบแกะที่หลงหายเพียงหนึ่งตัว. (มัด. 18:14; ลูกา 15:3-7) พระยะโฮวาแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อคนที่ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขารักพระองค์ แม้ว่าพวกเขาไม่ได้รับใช้พระองค์ในตอนนี้. เมื่อเราช่วยคนเหล่านี้ให้กลับมายังประชาคม เราทำให้พระยะโฮวาและทูตสวรรค์ยินดี.
17 คุณเป็นคนหนึ่งไหมที่ไม่ได้รับใช้พระเจ้าในตอนนี้? คุณอาจเลิกมาประชุมเพราะมีบางคนในประชาคมทำให้คุณเจ็บใจ. เวลาอาจผ่านไปนานพอสมควรแล้ว. ดังนั้น ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ชีวิตของฉันดีขึ้นไหมในตอนนี้ และฉันมีความสุขมากขึ้นไหม? พระยะโฮวาเป็นผู้ที่ทำให้ฉันขุ่นเคืองไหม หรือว่าเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ที่ทำอย่างนั้น? พระยะโฮวาพระเจ้าเคยทำอะไรที่ทำให้ฉันได้รับความเสียหายไหม?’ ที่จริง พระยะโฮวาทำดีต่อเราเสมอ. แม้ว่าในตอนนี้เราไม่ได้รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับพระยะโฮวาว่าจะรับใช้พระองค์ แต่พระองค์ก็ยังคงอนุญาตให้เราได้ชื่นชมกับสิ่งดีต่าง ๆ ที่พระองค์จัดเตรียมไว้. (ยโก. 1:16, 17) อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าวันของพระยะโฮวาจะมา. ตอนนี้เป็นเวลาที่จะกลับมาหาพระยะโฮวา พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และกลับมาหาประชาคม. นี่เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวในสมัยสุดท้ายนี้.—บัญ. 33:27; ฮีบรู 10:24, 25
18. ทำไมเราควรสนับสนุนคนที่นำหน้า?
18 จงให้การสนับสนุนอย่างภักดีแก่คนที่นำหน้า. ในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก พระยะโฮวาชี้นำและปกป้องเรา. พระองค์ได้แต่งตั้งพระบุตรให้เป็นผู้เลี้ยงแกะองค์เอก. (1 เป. 5:4) ผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ 100,000 กว่าประชาคมบำรุงเลี้ยงแกะแต่ละตัวของพระเจ้า. (กิจ. 20:28) เมื่อเราให้การสนับสนุนอย่างภักดีแก่คนที่นำหน้า เราแสดงให้พระยะโฮวาและพระเยซูเห็นว่าเราเห็นคุณค่าทุกสิ่งที่พระองค์ทั้งสองได้ทำเพื่อเรา.
19. เราจะต้านทานการโจมตีของซาตานได้อย่างไร?
19 จงใกล้ชิดกับพี่น้อง. นี่หมายความว่าอย่างไร? เมื่อกองทัพที่ได้รับการฝึกอย่างดีถูกศัตรูโจมตี ทหารก็จะผนึกกำลังกัน กล่าวคือพวกเขาจะเข้ามารวมตัวกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อจะไม่มีช่องโหว่ในแนวรบ. โดยทำอย่างนี้ พวกเขาสร้างแนวป้องกันที่ไม่อาจทะลุทะลวงได้. ซาตานกำลังโจมตีประชาชนของพระเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ. ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาต่อสู้กันเอง แต่เป็นเวลาที่จะต้องใกล้ชิดกัน มองข้ามข้อบกพร่องของพี่น้อง และไว้วางใจพระยะโฮวา.
20. เราควรทำอะไรในตอนนี้?
20 ขอให้เราทุกคนรักษาสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาให้มั่นคงและคอยอย่างอดทนและไว้วางใจพระองค์. ขอให้เราคอยอย่างอดทนจนกว่าจะได้ยินคำประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” และจนกว่าการประทับตราผู้ถูกเจิมในขั้นสุดท้ายจะเสร็จสิ้น. หลังจากนั้น ทูตสวรรค์ทั้งสี่องค์จะปล่อยลมแห่งการทำลายล้างออกมา และบาบิโลนใหญ่จะถูกทำลาย. ขณะที่เราคอยที่จะเห็นเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้เกิดขึ้น ขอให้เราทำตามคำแนะนำที่ได้รับจากคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำหน้าในองค์การของพระยะโฮวา. จงผนึกกำลังกันต่อต้านพญามารและพวกปิศาจ! ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องทำตามคำแนะนำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ที่บอกว่า “ท่านทั้งหลายที่คอยท่าพระยะโฮวา, จงตั้งข้อให้แข็ง, และทำใจไว้ให้กล้าหาญเถิด.”—เพลง. 31:24
a สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการประทับตราสมาชิกผู้ถูกเจิมในขั้นต้นกับการประทับตราในขั้นสุดท้าย โปรดดูหอสังเกตการณ์ 1 มกราคม 2007 หน้า 30-31.