พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?
“อะไรคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องจากเจ้านอกจากให้สำแดงความยุติธรรมและให้รักความกรุณาและให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเจ้า?”—มีคา 6:8, ล.ม.
1, 2. เหตุใดผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบางคนอาจรู้สึกท้อใจ แต่อะไรจะช่วยได้?
วีราเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์อายุราว ๆ 75 ปีและสุขภาพไม่ดี. เธอบอกว่า “บางครั้ง ดิฉันมองไปนอกหน้าต่างและเห็นพี่น้องคริสเตียนกำลังประกาศตามบ้าน. นั่นทำให้ดิฉันน้ำตาไหลเพราะอยากจะอยู่ด้วยกันกับพวกเขา แต่ความเจ็บป่วยทำให้ดิฉันรับใช้พระยะโฮวาได้อย่างจำกัด.”
2 คุณเคยรู้สึกอย่างนั้นไหม? แน่นอน ทุกคนที่รักพระยะโฮวาต้องการจะดำเนินในพระนามของพระองค์และบรรลุข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์. แต่จะว่าอย่างไรหากสุขภาพของเราแย่ลง, อายุมากขึ้น, หรือมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว? เราอาจรู้สึกท้อใจอยู่บ้าง เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นอาจทำให้เราไม่สามารถทำทุกสิ่งที่ใจเราอยากทำในการรับใช้พระเจ้า. หากสภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเรา การพิจารณามีคาบท 6 และ 7 คงจะให้กำลังใจมากทีเดียว. สองบทนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ข้อเรียกร้องของพระยะโฮวานั้นสมเหตุสมผลและสามารถบรรลุได้.
วิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อพลเมืองของพระองค์
3. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อชาวอิสราเอลที่กบฏอย่างไร?
3 ให้เราเริ่มพิจารณาที่มีคา 6:3-5 (ล.ม.) และสังเกตว่าพระยะโฮวาปฏิบัติเช่นไรต่อพลเมืองของพระองค์. อย่าลืมว่าในสมัยของมีคานั้น ชาวอิสราเอลกบฏต่อพระยะโฮวา. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงตรัสกับพวกเขาด้วยความเมตตาโดยใช้ถ้อยคำที่ว่า “โอ้ พลเมืองของเรา.” พระองค์วิงวอนว่า “โอ้ พลเมืองของเรา ขอระลึก.” แทนที่จะต่อว่าพวกเขาอย่างเกรี้ยวกราด พระองค์พยายามจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาโดยถามว่า “เราได้ทำอะไรแก่เจ้า?” พระองค์ถึงกับสนับสนุนพวกเขาให้ “บอกมาเถิด.”
4. ตัวอย่างของพระเจ้าในเรื่องความเมตตาควรมีผลกระทบเช่นไรต่อเรา?
4 ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริง ๆ ที่พระเจ้าทรงวางไว้ให้เราทุกคน! ด้วยความเมตตา พระองค์ทรงเรียกชาวอิสราเอลและชาวยูดาห์ที่กบฏในสมัยมีคาว่า “พลเมืองของเรา” และตรัสกับพวกเขาด้วยคำว่า “ขอ.” เราจึงควรแสดงความเมตตากรุณาเมื่อปฏิบัติต่อผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคม. จริงอยู่ อาจไม่ง่ายที่จะเข้ากันได้กับบางคน หรือพวกเขาอาจอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ. แต่หากพวกเขารักพระยะโฮวา เราก็ต้องการที่จะช่วยและแสดงความเมตตาต่อพวกเขา.
5. มีการเน้นจุดสำคัญอะไรในมีคา 6:6, 7?
5 ให้เราดูต่อไปที่มีคา 6:6, 7 (ล.ม.). มีคาถามคำถามหลายข้อติดต่อกัน ดังนี้: “ข้าพเจ้าควรนำอะไรเข้ามาเฝ้าพระยะโฮวา? ข้าพเจ้าควรนำอะไรมากราบไหว้พระเจ้าผู้สถิตเบื้องสูง? ข้าพเจ้าควรเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยเครื่องบูชาเผาที่ถวายทั้งตัวหรือ ด้วยลูกวัวอายุหนึ่งขวบหรือ? พระยะโฮวาจะพอพระทัยกับแกะผู้หลายพันตัว กับธารน้ำมันหลายหมื่นสายหรือ? ข้าพเจ้าควรถวายบุตรหัวปีเพราะการขัดขืนของข้าพเจ้า คือผลแห่งบั้นเอวของข้าพเจ้าเพราะบาปของข้าพเจ้าหรือ?” เปล่าเลย เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยด้วย “แกะผู้หลายพันตัว กับธารน้ำมันหลายหมื่นสาย.” แต่มีบางสิ่งที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. สิ่งนั้นคืออะไร?
เราต้องสำแดงความยุติธรรม
6. ข้อเรียกร้องของพระเจ้าสามประการอะไรบ้างที่แถลงไว้ในมีคา 6:8?
6 ที่มีคา 6:8 (ล.ม.) เราเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา. มีคาถามดังนี้: “อะไรคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องจากเจ้านอกจากให้สำแดงความยุติธรรมและให้รักความกรุณาและให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเจ้า?” ข้อเรียกร้องสามประการนี้เกี่ยวข้องกับวิธีที่เรารู้สึก, คิด, และทำ. เราต้องรู้สึกอยากที่จะสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้, คิดว่าจะสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้เช่นไร, และลงมือสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้. ขอให้เราพิจารณาข้อเรียกร้องสามประการนี้ทีละอย่าง.
7, 8. (ก) การ “สำแดงความยุติธรรม” หมายถึงอะไร? (ข) ความอยุติธรรมอะไรบ้างที่มีแพร่หลายในสมัยของมีคา?
7 การ “สำแดงความยุติธรรม” หมายถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องเที่ยงธรรม. แนวทางของพระเจ้าในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นมาตรฐานความยุติธรรม. ถึงกระนั้น ผู้คนในสมัยมีคาไม่ได้แสดงความยุติธรรม แต่กลับแสดงความอยุติธรรม. ในทางใดบ้าง? ขอให้พิจารณาที่มีคา 6:10. ตอนท้ายของข้อนั้นบอกว่าพวกพ่อค้าใช้ “เครื่องตวงขี้ฉ้อ” นั่นคือ ถังตวงที่มีขนาดย่อมเหลือเกิน. ข้อ 11 กล่าวด้วยว่าพวกเขาใช้ “ลูกตุ้มฉ้อโกง.” และตามที่กล่าวไว้ในข้อ 12 “ลิ้น . . . ของเขาก็เต็มไปด้วยอุบายล่อลวง.” ด้วยเหตุนี้ การฉ้อโกงในการตวงและการชั่ง อีกทั้งคำโกหก มีอยู่อย่างแพร่หลายในโลกการค้าสมัยมีคา.
8 กิจปฏิบัติที่คดโกงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการค้า. ความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในศาลเช่นกัน. มีคา 7:3 บอกว่า “เจ้านายก็เรียกร้องเอา, และตุลาการก็พร้อมที่จะรับสินบนเสมอ.” มีการให้สินบนแก่ผู้พิพากษาเพื่อตัดสินให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับโทษอย่างไม่เป็นธรรม. “คนใหญ่คนโต” หรือผู้มีอิทธิพลก็เข้าร่วมในการกระทำผิดนี้ด้วย. อันที่จริง มีคากล่าวว่าเจ้านาย, ผู้พิพากษา, และคนใหญ่คนโต “ต่างคนก็สาน” หรือคบคิดกันกระทำความชั่ว.
9. ความอยุติธรรมที่คนชั่วกระทำส่งผลกระทบเช่นไรในยูดาห์และอิสราเอล?
9 ความอยุติธรรมที่พวกผู้นำที่ชั่วช้ากระทำนั้นส่งผลกระทบต่อทุกคนในยูดาห์และอิสราเอล. มีคา 7:5 บอกให้ทราบว่า ความอยุติธรรมทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างเพื่อนสนิท, มิตรสหาย, และแม้แต่คู่สมรส. ข้อ 6 ชี้ว่าสิ่งนี้นำไปสู่สภาพการณ์ซึ่งสมาชิกใกล้ชิดในวงครอบครัว เช่น ลูกชายกับพ่อ ลูกสาวกับแม่ ต่างเกลียดชังกัน.
10. คริสเตียนประพฤติตัวเช่นไรในบรรยากาศแห่งความอยุติธรรมทุกวันนี้?
10 ทุกวันนี้ล่ะเป็นอย่างไร? เราเห็นสภาพการณ์คล้าย ๆ กันนั้นมิใช่หรือ? เช่นเดียวกับมีคา เราถูกแวดล้อมด้วยความอยุติธรรม, บรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจ, และความล้มเหลวของสังคมและชีวิตครอบครัว. อย่างไรก็ตาม ขณะที่เราเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าในโลกที่อธรรม เราไม่ปล่อยให้น้ำใจแห่งการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เป็นธรรมของโลกนี้แทรกซึมเข้ามาในประชาคมคริสเตียน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราพยายามยึดมั่นในหลักการเรื่องความซื่อสัตย์และความมีคุณธรรม แสดงให้เห็นคุณลักษณะเหล่านี้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน. จริงทีเดียว เรา “ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่า เมื่อเราสำแดงความยุติธรรม เราได้รับพระพรมากมายจากภราดรภาพที่แสดงออกถึงความไว้วางใจกันอย่างแท้จริง?
ผู้คนได้ยิน “พระสุรเสียงของพระยะโฮวา” โดยวิธีใด?
11. มีคา 7:12 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
11 มีคาพยากรณ์ว่า ทั้ง ๆ ที่สภาพการณ์ไม่เที่ยงธรรมมีอยู่ทั่วไป ความยุติธรรมจะมีไปถึงคนทุกชนิด. ท่านผู้พยากรณ์บอกล่วงหน้าว่า ผู้คนจะถูกรวบรวม “จากทะเลข้างนี้ถึงทะเลข้างโน้น, จากทิวเขานี้ถึงทิวเขาโน้น” ให้เข้ามาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. (มีคา 7:12) ปัจจุบัน เมื่อคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงในขั้นสุดท้าย ไม่ใช่ชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นปัจเจกบุคคลจากทุกชาติที่กำลังได้รับประโยชน์จากความยุติธรรมที่ไม่ลำเอียงของพระเจ้า. (ยะซายา 42:1) ข้อนี้เป็นจริงอย่างไร?
12. ในทุกวันนี้ ผู้คนกำลังได้ยิน “พระสุรเสียงของพระยะโฮวา” โดยวิธีใด?
12 เพื่อจะได้คำตอบ ขอพิจารณาคำกล่าวของมีคาข้อก่อนหน้านั้น. มีคา 6:9 กล่าวว่า “พระสุรเสียงของพระยะโฮวาประกาศก้องแก่กรุงนั้น; ผู้มีปัญญาก็ยำเกรงต่อพระนามของพระองค์.” ผู้คนจากทุกชาติได้ยิน “พระสุรเสียงของพระยะโฮวา” โดยวิธีใด และเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่เราสำแดงความยุติธรรม? แน่นอน ผู้คนในทุกวันนี้ไม่ได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าจริง ๆ. อย่างไรก็ตาม โดยงานประกาศที่เราทำอยู่ทั่วโลก ปัจเจกบุคคลจากทุกชาติ ทุกฐานะในสังคม กำลังได้ยินพระสุรเสียงของพระยะโฮวา. ผลคือ ผู้ที่รับฟัง ‘ยำเกรงพระนามของพระเจ้า.’ เมื่อเรารับใช้ฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้า เรากำลังประพฤติในแนวทางแห่งความรักและความยุติธรรมอย่างแท้จริง. โดยการทำให้ทุกคนรู้จักพระนามของพระเจ้าโดยไม่เลือกหน้าลำเอียง เรากำลัง “สำแดงความยุติธรรม.”
เราต้องรักความกรุณา
13. ความกรุณารักใคร่กับความรักต่างกันอย่างไร?
13 ต่อไป ให้เราพิจารณาข้อเรียกร้องประการที่สองซึ่งกล่าวไว้ที่มีคา 6:8 (ล.ม.). พระยะโฮวาเรียกร้องให้เรา “รักความกรุณา.” คำในภาษาฮีบรูที่มีการแปลว่า “ความกรุณา” ยังแปลได้ด้วยว่า “ความกรุณารักใคร่” หรือ “ความรักอย่างภักดี.” ความกรุณารักใคร่เป็นการแสดงความสนใจห่วงใยผู้อื่น ซึ่งมาจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ. ความกรุณารักใคร่ต่างจากความรัก. อย่างไร? ความรักเป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่า ที่นำไปใช้ได้แม้กับสิ่งของและความคิด. ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์กล่าวถึงคนที่ “รัก . . . เหล้าองุ่นและน้ำมันหอม” และกล่าวถึงคนที่ “รักปัญญา.” (สุภาษิต 21:17; 29:3) ส่วนความกรุณารักใคร่ใช้กับบุคคลเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่รับใช้พระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ มีคา 7:20 (ล.ม.) จึงกล่าวถึง “ความกรุณารักใคร่ที่ได้ประทานแก่อับราฮาม”—บุคคลผู้หนึ่งที่รับใช้พระยะโฮวาพระเจ้า.
14, 15. ความกรุณารักใคร่มีการแสดงออกอย่างไร และมีกล่าวถึงตัวอย่างอะไรที่เป็นหลักฐานในเรื่องนี้?
14 ตามที่กล่าวในมีคา 7:18 (ล.ม.) ท่านผู้พยากรณ์กล่าวว่า พระเจ้า “ทรงยินดีในความกรุณารักใคร่.” ที่มีคา 6:8 เราไม่ได้รับการบอกเพียงแค่ให้แสดงความกรุณารักใคร่ แต่ให้รักคุณลักษณะนี้ คือชื่นชมอย่างมาก. เราเรียนอะไรได้จากข้อคัมภีร์สองข้อนี้? เราแสดงความกรุณารักใคร่ด้วยความเต็มใจอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องการทำเช่นนั้น. เช่นเดียวกับพระยะโฮวา เรามีความสุขหรือความยินดีจากการแสดงความกรุณารักใคร่ต่อผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ.
15 ในทุกวันนี้ ความกรุณารักใคร่เช่นนั้นเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่ระบุตัวประชาชนของพระเจ้า. ขอให้พิจารณาสักตัวอย่าง. ในเดือนมิถุนายน ปี 2001 พายุโซนร้อนลูกหนึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายหมื่นหลัง ซึ่งรวมถึงบ้านของพยานพระยะโฮวาหลายร้อยหลัง. พยานฯ ราว 10,000 คนเต็มใจใช้เวลาและกำลังของตนโดยไม่คิดค่าแรง เพื่อให้การช่วยเหลือแก่พี่น้องคริสเตียนที่จำเป็นต้องได้รับ. อาสาสมัครเหล่านี้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดกว่าครึ่งปี ใช้เวลาทั้งกลางวัน, กลางคืน, และวันสุดสัปดาห์ เพื่อสร้างหอประชุม 8 หลัง และบ้านพี่น้องคริสเตียนกว่า 700 หลังขึ้นใหม่. คนที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานนี้ก็บริจาคเงินและเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ. ทำไมพยานฯ นับหมื่นคนเหล่านี้จึงเสนอตัวช่วยเหลือพี่น้องของตน? นั่นก็เพราะพวกเขา “รักความกรุณา.” และเป็นเรื่องที่ทำให้ชื่นใจสักเพียงไรที่รู้ว่า พี่น้องของเราตลอดทั่วโลกกระทำสิ่งซึ่งแสดงออกถึงความกรุณารักใคร่อย่างนั้น! ถูกแล้ว การทำตามข้อเรียกร้องที่ให้ “รักความกรุณา” ไม่ใช่ภาระหนัก แต่นำมาซึ่งความยินดี!
เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า
16. ตัวอย่างอะไรที่ช่วยเน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะเจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า?
16 ข้อเรียกร้องประการที่สามที่กล่าวไว้ในมีคา 6:8 (ล.ม.) คือ “ให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเจ้า.” นี่หมายถึงการยอมรับข้อจำกัดของตัวเองและหมายพึ่งพระเจ้า. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ขอให้นึกภาพเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่จับมือพ่อของตนไว้แน่นขณะเดินฝ่าลมพายุไปด้วยกัน. เด็กน้อยคนนี้รู้ดีว่าเธอมีกำลังจำกัด แต่เธอมั่นใจในพ่อของเธอ. เราต้องสำนึกถึงข้อจำกัดของตัวเองเช่นกัน และมั่นใจในพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์. เราจะรักษาความมั่นใจนี้ไว้โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือ ระลึกอยู่เสมอว่าทำไมจึงเป็นการฉลาดที่จะอยู่ใกล้พระเจ้าตลอดเวลา. มีคาเตือนใจเราให้ระลึกถึงเหตุผลสามประการคือ พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยให้รอด, เป็นผู้นำ, และเป็นผู้ปกป้องเรา.
17. พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยให้รอด, เป็นผู้นำ, และเป็นผู้ปกป้องประชาชนของพระองค์ในครั้งโบราณอย่างไร?
17 ตามที่กล่าวไว้ในมีคา 6:4, 5 พระเจ้าตรัสว่า “เราได้นำพวกเจ้าออกมาจากประเทศอายฆุบโต.” ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดของชนชาติอิสราเอล. พระองค์ตรัสต่อไปว่า “เราได้ตั้งให้โมเซ, อาโรนและมิระยามเป็นผู้นำของพวกเจ้า.” โมเซและอาโรนถูกใช้ให้นำชาตินี้ ส่วนมิระยามนำเหล่าสตรีอิสราเอลในการเต้นรำฉลองชัยชนะ. (เอ็กโซโด 7:1, 2; 15:1, 19-21; พระบัญญัติ 34:10) พระยะโฮวาทรงให้การชี้นำผ่านทางเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์. ในข้อ 5 พระยะโฮวาทรงเตือนชาติอิสราเอลให้ระลึกว่า พระองค์ทรงปกป้องพวกเขาจากบาลาคและบีละอาม และทรงปกป้องพวกเขาระหว่างการเดินทางช่วงสุดท้ายตั้งแต่ตำบลซิติมในโมอาบ จนถึงตำบลฆีละฆาลในแผ่นดินตามคำสัญญา.
18. พระเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยให้รอด, เป็นผู้นำ, และเป็นผู้ปกป้องเราในทุกวันนี้อย่างไร?
18 ขณะที่เราดำเนินกับพระเจ้า พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากโลกของซาตาน, ทรงชี้นำเราผ่านทางพระคำและองค์การของพระองค์, และปกป้องเราในฐานะกลุ่มชน จากการโจมตีของพวกผู้ต่อต้าน. ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะยึดพระหัตถ์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ไว้ให้แน่น ขณะที่เราดำเนินกับพระองค์ฝ่าลมพายุในช่วงสุดท้ายของการเดินทางเข้าสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าแผ่นดินตามคำสัญญาในอดีต นั่นคือโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า.
19. ความเจียมตัวเกี่ยวข้องอย่างไรกับข้อจำกัดต่าง ๆ ของเรา?
19 การเจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าช่วยเราให้มีทัศนะที่ตรงกับสภาพการณ์จริงในชีวิตของเรา. นี่เป็นเพราะการเป็นคนเจียมตัวหมายรวมถึงการสำนึกถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของเรา. อายุที่มากขึ้นหรือสุขภาพที่แย่ลงอาจทำให้เรามีข้อจำกัดบางอย่างในสิ่งที่เราทำได้ในการรับใช้พระเจ้า. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ทำให้เราท้อใจ เราควรระลึกว่า พระเจ้าทรงยอมรับความพยายามและความเสียสละของเรา ‘ตามที่เรามีอยู่ มิใช่ตามที่เราไม่มี.’ (2 โกรินโธ 8:12) ที่จริง พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้เรารับใช้พระองค์อย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ ทำเท่าที่สภาพการณ์ต่าง ๆ ของเราอำนวย. (โกโลซาย 3:23) เมื่อเราทำงานรับใช้อย่างจริงจังและกระตือรือร้น อย่างสุดกำลังความสามารถ พระเจ้าทรงอวยพรเราอย่างอุดม.—สุภาษิต 10:22.
การมีเจตคติที่รอคอยนำพระพรมาให้
20. การตระหนักถึงเรื่องใดจะช่วยเราให้สำแดงเจตคติแบบที่รอคอยเช่นเดียวกับมีคา?
20 การได้รับพระพรจากพระยะโฮวากระตุ้นเราให้เลียนแบบน้ำใจของมีคา. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะสำแดงเจตคติแบบที่รอคอยพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.” (มีคา 7:7, ล.ม.) ถ้อยคำนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า? การมีเจตคติแบบที่รอคอย หรือการรู้จักอดทน ช่วยให้เราไม่รู้สึกผิดหวัง เมื่อวันของพระยะโฮวายังมาไม่ถึง. (สุภาษิต 13:12) พูดกันตามตรง เราทุกคนต่างปรารถนาให้โลกชั่วนี้ถึงจุดอวสาน. อย่างไรก็ตาม แต่ละสัปดาห์มีผู้คนหลายพันคนที่เพิ่งเริ่มดำเนินกับพระเจ้า. การสำนึกถึงเรื่องนั้นทำให้เรามีเหตุผลที่จะสำแดงเจตคติแบบที่รอคอย. ชายคนหนึ่งที่เป็นพยานฯ มานานหลายปีกล่าวในเรื่องนี้ว่า “เมื่อผมมองย้อนหลังไปกว่า 55 ปีที่ทำงานประกาศ ผมมั่นใจว่าผมไม่ได้สูญเสียอะไรจากการคอยท่าพระยะโฮวา. ตรงกันข้าม ผมไม่ต้องพบกับความปวดร้าวใจมากมาย.” คุณมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้ไหม?
21, 22. มีคา 7:14 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในทุกวันนี้?
21 ไม่มีข้อสงสัย การดำเนินกับพระยะโฮวาเป็นประโยชน์สำหรับเรา. ดังที่เราอ่านในมีคา 7:14 (ล.ม.) มีคาเปรียบพลเมืองของพระเจ้าเหมือนกับฝูงแกะที่อยู่อย่างปลอดภัยกับผู้เลี้ยง. ปัจจุบัน ในความสำเร็จเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าของคำพยากรณ์ข้อนี้ ชนที่เหลือแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณและ “แกะอื่น” ประสบความปลอดภัยเมื่ออยู่กับพระยะโฮวา พระผู้เลี้ยงแกะของพวกเขาที่วางใจได้. พวกเขาอาศัยอยู่ “ลำพังในป่า ท่ามกลางสวนผลไม้” นั่นคือ แยกตัวต่างหากทางฝ่ายวิญญาณจากโลกซึ่งมีเหตุการณ์วุ่นวายและอันตรายต่าง ๆ มากขึ้นทุกที.—โยฮัน 10:16; พระบัญญัติ 33:28; ยิระมะยา 49:31; ฆะลาเตีย 6:16.
22 นอกจากนี้ พลเมืองของพระยะโฮวายังประสบความเจริญมั่งคั่ง เหมือนดังที่มีคา 7:14 (ล.ม.) พยากรณ์ไว้. มีคากล่าวถึงแกะหรือพลเมืองของพระเจ้าดังนี้: “ให้พวกเขาหากินที่บาชานและกิเลียด.” เช่นเดียวกับพวกแกะในบาชานและกิเลียดที่อ้วนพีและหากินในทุ่งหญ้าอันอุดมสมบูรณ์ พลเมืองของพระเจ้าในทุกวันนี้ประสบความเจริญมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นพระพรอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า.—อาฤธโม 32:1; พระบัญญัติ 32:14.
23. เราได้บทเรียนอะไรจากการพิจารณามีคา 7:18, 19?
23 ที่มีคา 7:18, 19 ท่านผู้พยากรณ์เน้นพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะให้อภัยบาปแก่ผู้กลับใจ. มีคา 7 ข้อ 18 กล่าวว่าพระยะโฮวา “ทรงยกโทษโปรดบาป, และทรงมองเลยความผิดบาป.” และดังที่มีคา 7 ข้อ 19 กล่าว พระองค์ “จะทรงโยนบาปผิดของเราลงไปเสียในทะเลลึก.” เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้? เราอาจถามตัวเองว่าเราเลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องนี้ไหม. เราให้อภัยความผิดที่คนอื่นอาจกระทำต่อเราไหม? แน่นอนว่าเมื่อคนเหล่านั้นกลับใจและพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด เราต้องการที่จะสะท้อนความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาในการให้อภัยอย่างสิ้นเชิงและตลอดไป.
24. คุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากคำพยากรณ์ของมีคา?
24 เราได้รับประโยชน์อย่างไรจากการพิจารณาคำพยากรณ์ของมีคา? คำพยากรณ์นี้เตือนเราให้ระลึกว่า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งความหวังแท้สำหรับคนเหล่านั้นที่ถูกชักนำให้มาหาพระองค์. (มีคา 2:1-13) เราได้รับการสนับสนุนให้ทำทุกสิ่งเท่าที่เป็นไปได้ในการส่งเสริมการนมัสการแท้ เพื่อเราจะสามารถดำเนินในพระนามของพระเจ้าได้ตลอดไป. (มีคา 4:1-4) และเราได้รับคำรับรองว่า เราสามารถบรรลุข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาได้ ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร. ถูกแล้ว คำพยากรณ์ของมีคาเสริมกำลังเราอย่างแท้จริงให้ดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ตามที่กล่าวในมีคา 6:8 พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?
• เราต้องทำอะไรเพื่อจะ “สำแดงความยุติธรรม”?
• เราจะแสดงอย่างไรว่าเรา “รักความกรุณา”?
• การ “เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า” เกี่ยวข้องกับอะไร?
[ภาพหน้า 21]
ทั้งที่สภาพการณ์ชั่วช้ามีอยู่ทั่วไปในสมัยของมีคา ท่านทำตามข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา. คุณก็ทำได้เช่นกัน
[ภาพหน้า 23]
สำแดงความยุติธรรมโดยให้คำพยานแก่คนทุกระดับฐานะ
[ภาพหน้า 23]
จงแสดงว่าคุณรักความกรุณาโดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็น
[ภาพหน้า 23]
ทำทุกสิ่งที่คุณทำได้ขณะที่สำนึกถึงขีดจำกัดของตัวเองด้วยความเจียมตัว