“วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว”
“วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว ใกล้เข้ามาแล้ว และเร่งมาก.” —ซะฟันยา 1:14, ล.ม.
1, 2. (ก) คริสเตียนคอยท่าวันพิเศษอะไร? (ข) เราจำเป็นต้องถามคำถามอะไรบ้าง และเพราะเหตุใด?
สตรีสาวที่ใบหน้าฉายแววยินดีคอยท่าอย่างกระตือรือร้นอยากให้ถึงวันแต่งงานของเธอเร็ว ๆ. แม่ที่อุ้มท้องตั้งตาคอยด้วยความรักอยากให้ถึงวันที่ลูกน้อยจะคลอดออกมา. คนทำงานที่อ่อนเปลี้ยปรารถนาเหลือเกินให้ถึงวันหยุดพักร้อนที่เขาเฝ้าคอยมานาน. คนเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกัน? ทุกคนรอคอยวันพิเศษ—วันที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเขา. พวกเขามีความรู้สึกอย่างแรงกล้าต่อสิ่งที่รอคอย แต่ด้วยอารมณ์คนละอย่าง. วันที่พวกเขารอคอยจะมาถึงในที่สุด และเมื่อวันนั้นมาถึงแล้ว พวกเขาก็หวังว่าจะพร้อมสำหรับวันนั้น.
2 คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ก็คอยท่าอย่างกระตือรือร้นให้ถึงวันพิเศษวันหนึ่งด้วยเช่นกัน. วันดังกล่าวคือ ‘วันใหญ่แห่งพระยะโฮวา.’ (ยะซายา 13:9; โยเอล 2:1; 2 เปโตร 3:12) “วันแห่งพระยะโฮวา” ที่กำลังจะมาถึงนี้คืออะไร และเมื่อวันนั้นมาถึงจะมีผลกระทบอย่างไรต่อมนุษยชาติ? นอกจากนั้น เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะพร้อมเมื่อวันนั้นมาถึง? เราจำเป็นต้องหาคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวเสียแต่ตอนนี้ เพราะมีหลักฐานยืนยันความเป็นจริงของถ้อยคำนี้ในคัมภีร์ไบเบิล ที่ว่า “วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว ใกล้เข้ามาแล้ว และเร่งมาก.”—ซะฟันยา 1:14, ล.ม.
“วันใหญ่ของพระยะโฮวา”
3. “วันใหญ่ของพระยะโฮวา” คืออะไร?
3 “วันใหญ่ของพระยะโฮวา” คืออะไร? ตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม คำ “วันของพระยะโฮวา” พาดพิงถึงช่วงเวลาพิเศษที่พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษศัตรูของพระองค์และเชิดชูเกียรติแห่งพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์. ประชาชนที่ไม่ซื่อสัตย์แห่งยูดาห์และเยรูซาเลม รวมไปถึงประชากรผู้กดขี่แห่งบาบิโลนและอียิปต์ ล้วนเผชิญกับ “วันของพระยะโฮวา” เมื่อพวกเขาถูกสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวา. (ยะซายา 2:1, 10-12; 13:1-6; ยิระมะยา 46:7-10) อย่างไรก็ตาม “วันของพระยะโฮวา” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยังคงรอที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า. วันนั้นเป็น “วัน” ที่พระยะโฮวาจะทรงสำเร็จโทษตามการพิพากษาต่อคนเหล่านั้นที่ทำให้พระนามของพระองค์เสื่อมเสีย. วันนั้นจะเริ่มด้วยการทำลาย “บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ และจะถึงจุดสุดยอดในการทำลายล้างระบบชั่วที่เหลือทั้งหมด ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน.—วิวรณ์ 16:14, 16; 17:5, ล.ม., 15-17; 19:11-21.
4. เหตุใดมนุษยชาติส่วนใหญ่น่าจะกลัววันของพระยะโฮวาที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว?
4 ไม่ว่าจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม มนุษยชาติส่วนใหญ่น่าจะกลัววันที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วนี้. เพราะเหตุใด? พระยะโฮวาทรงตอบโดยทางผู้พยากรณ์ซะฟันยาว่า “วันนั้นเป็นวันแห่งพระพิโรธกล้า, วันแห่งความทุกข์เดือดร้อนและความกลัดกลุ้ม, วันแห่งพายุและความร้างเปล่า, วันแห่งความมืดและความครึ้ม, วันแห่งเมฆและความมืดมัว.” ช่างน่ากลัวจริง ๆ! นอกจากนั้น ผู้พยากรณ์ยังกล่าวอีกว่า “เราจะก่อความทุกข์ยากแก่มนุษยชาติ . . . เพราะพวกเขาได้ทำบาปต่อพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 1:15, 17, ล.ม.
5. หลายล้านคนมีมุมมองในแง่บวกเช่นไรเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวา และเพราะเหตุใด?
5 อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ อีกหลายล้านคนคอยท่าให้ถึงวันของพระยะโฮวาด้วยใจจดจ่อ. เพราะเหตุใด? พวกเขาทราบว่าวันของพระยะโฮวาเป็นเวลาแห่งความรอดและการช่วยให้รอดพ้นสำหรับคนชอบธรรม วันซึ่งพระยะโฮวาเองได้รับการเชิดชูให้สูงยิ่งและพระนามอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์. (โยเอล 3:16, 17; ซะฟันยา 3:12-17) วันนั้นจะน่ากลัวหรือว่าเป็นวันที่มีการรอคอยอย่างกระตือรือร้นส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับว่าคนเรากำลังดำเนินชีวิตอย่างไรในขณะนี้. คุณมีทัศนะอย่างไรต่อวันนั้นที่กำลังคืบใกล้เข้ามา? คุณพร้อมสำหรับวันนั้นไหม? ข้อเท็จจริงที่ว่าวันของพระยะโฮวานั้นใกล้เข้ามาจนพอจะมองเห็นอยู่รำไรมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณในขณะนี้ไหม?
“จะมีคนเยาะเย้ยโดยใช้การหัวเราะเยาะของเขา”
6. ผู้คนส่วนใหญ่มอง “วันของพระยะโฮวา” อย่างไร และเหตุใดคริสเตียนแท้ไม่แปลกใจในเรื่องนี้?
6 แม้สถานการณ์เร่งด่วน แต่ประชากรโลกส่วนใหญ่ไม่สนใจไยดีในเรื่อง “วันของพระยะโฮวา” ที่กำลังใกล้เข้ามา. พวกเขาล้อเลียนและเยาะเย้ยคนที่เตือนพวกเขาว่าวันนั้นจวนจะถึงแล้ว. คริสเตียนแท้ไม่แปลกใจในเรื่องนี้. พวกเขาจำได้ถึงคำเตือนที่อัครสาวกเปโตรบันทึกไว้ ที่ว่า “ท่านทั้งหลายรู้เรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว คือว่า ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเยาะเย้ยโดยใช้การหัวเราะเยาะของเขา ดำเนินตามความปรารถนาของตนเอง และกล่าวว่า ‘การประทับของพระองค์ที่ทรงสัญญาไว้นี้อยู่ที่ไหนล่ะ? ก็ตั้งแต่สมัยที่บรรพบุรุษของเราได้ล่วงหลับไปในความตาย สิ่งทั้งปวงก็ดำเนินต่อไปเหมือนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้างนั้นทีเดียว.’ ”—2 เปโตร 3:3, 4, ล.ม.
7. อะไรจะช่วยเราให้รักษาไว้ซึ่งความสำนึกถึงความเร่งด่วน?
7 อะไรจะช่วยเราให้ต้านทานการคิดในแง่ลบเช่นนั้น และโดยวิธีนั้นจึงรักษาความสำนึกถึงความเร่งด่วน? เปโตรบอกเราดังนี้: “ข้าพเจ้ากระตุ้นความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัดของท่าน โดยการเตือนความทรงจำ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้จดจำคำกล่าวที่พวกผู้พยากรณ์บริสุทธิ์ได้กล่าวไว้แต่ก่อน และพระบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด โดยทางพวกอัครสาวกของท่านทั้งหลาย.” (2 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) การที่เราเอาใจใส่คำเตือนเชิงพยากรณ์จะช่วย ‘กระตุ้นความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัดของเรา.’ เราอาจได้ยินข้อเตือนใจเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สำคัญที่ในตอนนี้ เราจะเอาใจใส่คำเตือนเหล่านี้อยู่เสมอ ยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา.—ยะซายา 34:1-4; ลูกา 21:34-36.
8. เหตุใดหลายคนไม่ใส่ใจข้อเตือนใจในคัมภีร์ไบเบิล?
8 เหตุใดบางคนจึงไม่ใส่ใจข้อเตือนใจเหล่านี้? เปโตรกล่าวต่อว่า “ตามความประสงค์ของเขา ข้อเท็จจริงเรื่องนี้พ้นจากการสังเกตของเขา คือว่า โดยคำตรัสของพระเจ้า มีฟ้าสวรรค์ในครั้งโบราณ และแผ่นดินโลกตั้งเป็นปึกแผ่นออกจากน้ำ และในท่ามกลางน้ำ และโดยวิธีนี้ โลกในสมัยนั้นประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม.” (2 เปโตร 3:5, 6, ล.ม.) ใช่แล้ว มีคนที่ไม่ปรารถนาให้ถึงวันของพระยะโฮวา. พวกเขาไม่ต้องการถูกขัดจังหวะชีวิต. พวกเขาไม่อยากให้การต่อพระยะโฮวาเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตที่เห็นแก่ตัวของพวกเขา! ดังที่เปโตรกล่าว พวกเขาดำเนินชีวิต “ตามความปรารถนาของตนเอง.”
9. ผู้คนในสมัยของโนฮาและโลตมีทัศนคติเช่นไร?
9 เพราะตาม “ความประสงค์ของเขา” พวกผู้เยาะเย้ยเหล่านี้อยากเพิกเฉยต่อเรื่องที่ว่าพระยะโฮวาได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าจัดการในกิจธุระของมนุษยชาติในอดีต. ทั้งพระเยซูคริสต์และอัครสาวกเปโตรต่างก็อ้างถึงเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เป็นอย่างนั้น คือ “สมัยของโนฮา” และ “สมัยของโลต.” (ลูกา 17:26-30; 2 เปโตร 2:5-9) ก่อนมหาอุทกภัย ผู้คนไม่สนใจคำเตือนที่โนฮาบอก. เช่นเดียวกัน ก่อนการทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ ลูกเขยของโลตมองว่าท่าน “พูดล้อเล่น.”—เยเนซิศ 19:14.
10. พระยะโฮวาทรงมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อคนที่ไม่ใส่ใจคำเตือน?
10 ในทุกวันนี้ก็ไม่แตกต่างกัน. ถึงกระนั้น ขอให้สังเกตปฏิกิริยาของพระยะโฮวาต่อคนที่ไม่ใส่ใจคำเตือน: “เราจะลงโทษคนที่ปล่อยตัวดังตะกอนเหล้าองุ่นที่เกรอะไว้นาน ผู้ที่กล่าวในใจของตนว่าพระเจ้าจะไม่ทรงกระทำการดีและพระองค์ก็จะไม่ทรงกระทำการชั่ว. ทรัพย์สิ่งของของเขาจะถูกปล้นและเรือนของเขาจะเริศร้าง. ถึงเขาจะสร้างเรือนเขาก็จะไม่ได้อยู่ในเรือนนั้น ถึงเขาจะทำสวนองุ่นเขาจะไม่ได้ดื่มเหล้าองุ่นจากสวนนั้น.” (ซะฟันยา 1:12, 13, ฉบับแปลใหม่) ผู้คนอาจทำกิจวัตรประจำวันของตนต่อไปตาม “ปกติ” แต่พวกเขาจะไม่ได้รับประโยชน์ถาวรใด ๆ จากงานหนักของตน. เพราะเหตุใด? เพราะวันของพระยะโฮวาจะมาถึงอย่างฉับพลัน และความมั่งคั่งใด ๆ ฝ่ายวัตถุที่เขาอาจได้สะสมไว้จะไม่ช่วยให้เขารอด.—ซะฟันยา 1:18.
“จงคอยท่า”
11. เราควรจำคำเตือนอะไรไว้เสมอ?
11 ไม่เหมือนกับโลกชั่วรอบตัวเรา เราต้องจำไว้เสมอถึงคำเตือนที่ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคบันทึกไว้ ที่ว่า “นิมิตนั้นก็มีไว้สำหรับเวลากำหนด และกำลังรุดเร่งไปสู่ที่สุดปลาย และนิมิตนั้นจะไม่กล่าวเท็จเลย. ถึงแม้นิมิตจะเนิ่นช้า ก็จงคอยท่า; ด้วยว่าจะสำเร็จเป็นแน่ จะไม่ล่าช้าเลย.” (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.) แม้ว่าจากมุมมองที่ไม่สมบูรณ์ของเรา วันนั้นอาจดูเหมือนเนิ่นช้า แต่เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาไม่ทรงชักช้า. วันของพระองค์จะมาตรงเวลา ในยามที่ผู้คนไม่คาดคิด.—มาระโก 13:33; 2 เปโตร 3:9, 10.
12. พระเยซูทรงให้คำเตือนอะไร และนั่นต่างกันอย่างไรกับการกระทำของเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซู?
12 โดยเน้นความสำคัญของการคาดหมายวันของพระยะโฮวาเสมอ พระเยซูทรงเตือนว่าแม้แต่เหล่าสาวกของพระองค์บางคนก็จะสูญเสียความสำนึกถึงความเร่งด่วน. พระองค์ทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับคนเหล่านี้ว่า “ถ้าเป็นบ่าวชั่ว, และจะคิดในใจว่า, ‘นายของเรามาช้า’ แล้วจะตั้งต้นโบยตีเพื่อนบ่าวและกินดื่มอยู่กับคนเมา เมื่อนายของบ่าวผู้นั้นจะมาในวันที่เขาไม่คิดในโมงที่เขาไม่รู้, ก็จะทำโทษเขาถึงสาหัส.” (มัดธาย 24:48-51) ตรงกันข้าม ชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมรักษาความสำนึกถึงความเร่งด่วนอย่างภักดี. ชนชั้นทาสได้เฝ้าคอยและพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเตรียมพร้อมอยู่เสมอ. พระเยซูได้ทรงตั้งชนชั้นทาสนี้ไว้ ‘ให้ดูแลบรรดาสิ่งของของพระองค์’ ที่แผ่นดินโลกนี้.—มัดธาย 24:42-47.
ความจำเป็นที่ต้องสำนึกถึงความเร่งด่วน
13. พระเยซูทรงเน้นอย่างไรในเรื่องความจำเป็นต้องสำนึกถึงความเร่งด่วน?
13 คริสเตียนในศตวรรษแรกจำเป็นต้องรักษาความสำนึกถึงความเร่งด่วน. พวกเขาจำเป็นต้องลงมือทำทันทีในการหนีออกจากกรุงเยรูซาเลมเมื่อพวกเขาเห็น “กองทัพมาตั้งล้อมรอบ” กรุงนี้. (ลูกา 21:20, 21) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีสากลศักราช 66. โปรดสังเกตวิธีที่พระเยซูทรงเน้นความจำเป็นที่คริสเตียนในตอนนั้นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน: “ผู้ที่อยู่บนดาดฟ้าหลังคาตึก, อย่าให้ลงมาเอาอะไรออกจากตึกของตน ผู้ที่อยู่ตามทุ่งนา, อย่าให้กลับไปเอาเสื้อผ้าของตน.” (มัดธาย 24:17, 18) เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่ากรุงเยรูซาเลมยังอยู่รอดต่อมาอีกสี่ปี เหตุใดคริสเตียนจำเป็นต้องเอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูอย่างเร่งด่วนถึงขนาดนั้นในปี ส.ศ. 66?
14, 15. เหตุใดคริสเตียนในศตวรรษแรกจึงจำเป็นต้องลงมือทำโดยไม่รอช้าเมื่อเห็นว่ากรุงเยรูซาเลมถูกกองทัพมาตั้งล้อม?
14 แม้เป็นความจริงที่ว่ากองทัพโรมันยังไม่ได้ทำลายกรุงเยรูซาเลมจนกระทั่งถึงปี ส.ศ. 70 แต่ช่วงเวลาระหว่างนั้นก็ใช่ว่าปราศจากปัญหา. ที่จริง มีปัญหายุ่งยากมากเลยทีเดียว! ช่วงดังกล่าวเต็มไปด้วยความรุนแรงและการนองเลือด. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งพรรณนาสถานการณ์ของกรุงเยรูซาเลมในช่วงเวลานั้นว่ามี “สงครามกลางเมืองนองเลือดที่น่าพรั่นพรึง พร้อมกับการกระทำที่โหดเหี้ยมอันน่าชิงชังรังเกียจ.” คนหนุ่มถูกเกณฑ์เข้ามาเสริมป้อมปราการให้แข็งแรงยิ่งขึ้น, ให้จับอาวุธ, และเป็นทหาร. พวกเขาต้องฝึกรบทุกวัน. คนที่ไม่ได้สนับสนุนมาตรการอันสุดโต่งทั้งหลายถูกมองว่าเป็นคนทรยศ. หากคริสเตียนยังคงอยู่ต่อไปในกรุงนี้ พวกเขาก็จะพบว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง.—มัดธาย 26:52; มาระโก 12:17.
15 พึงสังเกตว่า พระเยซูตรัสว่า “คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดาย” ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลม ต้องเริ่มหนี. นี่นับว่าสำคัญ เพราะภายในไม่กี่เดือนที่พวกเขาถอนตัวออกจากกรุงเยรูซาเลม กองทัพโรมันก็ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำสงครามต่อ. ทีแรก แกลิลีถูกพิชิตในปี ส.ศ. 67 และจากนั้นยูเดียก็ถูกพิชิตอย่างเป็นระบบในปีถัดมา. เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความทุกข์ใหญ่หลวงตลอดทั่วเขตพื้นที่ชนบท. นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีกที่ชาวยิวคนใดจะหนีจากกรุงเยรูซาเลมเอง. มีการวางยามป้องกันประตูเมือง และใครก็ตามที่พยายามหนีก็จะถูกถือว่าทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปเข้ากับพวกโรมัน.
16. คริสเตียนในศตวรรษแรกจำเป็นต้องมีเจตคติเช่นไรเพื่อจะรอดชีวิตผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์นั้น?
16 เมื่อคำนึงถึงปัจจัยทั้งหมดนี้ เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระเยซูทรงเน้นถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์. คริสเตียนต้องเต็มใจเสียสละ ไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกชักนำให้เขวโดยทรัพย์สมบัติวัตถุ. พวกเขาต้องเต็มใจ “สละสิ่งสารพัตรที่ตนมีอยู่” เพื่อปฏิบัติตามคำเตือนของพระเยซู. (ลูกา 14:33) คนที่ปฏิบัติตามทันทีและหนีไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำจอร์แดนรอดชีวิต.
การรักษาความสำนึกของเราในเรื่องความเร่งด่วน
17. เหตุใดเราควรเสริมความสำนึกในเรื่องความเร่งด่วน?
17 คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยไว้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังมีชีวิตล่วงเข้ามาถึงช่วงท้าย ๆ ของเวลาอวสานแล้ว. ยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา เราจำเป็นต้องเสริมความสำนึกในเรื่องความเร่งด่วน. ทหารในยามสงบไม่รู้สึกถึงความตึงเครียดและอันตรายของสงคราม. กระนั้น หากด้วยเหตุดังกล่าวเขาไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอแล้วถูกเรียกเข้าประจำการอย่างกะทันหัน เขาคงอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม ซึ่งอาจยังผลเสียหายร้ายแรงถึงตาย. เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกันสำหรับสงครามฝ่ายวิญญาณ. หากเราปล่อยให้ความสำนึกของเราในเรื่องความเร่งด่วนลดน้อยลงไป เราอาจไม่พร้อมจะป้องกันตัวเมื่อถูกจู่โจมโดยตรง และอาจไม่ทันตั้งตัวเมื่อในที่สุดวันของพระยะโฮวามาถึง. (ลูกา 21:36; 1 เธซะโลนิเก 5:4) หากใครได้ “หันกลับจากการติดตามพระยะโฮวา” บัดนี้เป็นเวลาที่พวกเขาจะกลับมาแสวงหาพระองค์อีกครั้งหนึ่ง.—ซะฟันยา 1:3-6, ล.ม.; 2 เธซะโลนิเก 1:8, 9.
18, 19. อะไรจะช่วยเราให้คำนึงถึง “วันของพระยะโฮวา” เสมอ?
18 ไม่แปลกเลยที่อัครสาวกเปโตรเตือนสติเราให้คำนึงถึง “วันของพระยะโฮวา” เสมอ! เราจะทำเช่นนี้ได้โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือโดยการมีส่วนร่วม “ในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:11, 12, ล.ม.) การมีงานยุ่งอยู่เสมอในกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเราให้คอยท่าอย่างกระตือรือร้นให้ถึง “วันของพระยะโฮวา.” คำภาษากรีกซึ่งแปลในที่นี้ว่า “คำนึงถึง . . . เสมอ” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “เร่ง.” เราไม่สามารถเร่งเวลาที่ยังเหลืออยู่ก่อนจะถึงวันของพระยะโฮวาได้จริง ๆ. ถึงกระนั้น ขณะที่เราคอยวันนั้น เวลาจะดูเหมือนว่าผ่านไปเร็วกว่ามากหากเรามีธุระยุ่งอยู่ในการรับใช้พระเจ้า.—1 โกรินโธ 15:58.
19 การคิดรำพึงพระคำของพระเจ้าและใคร่ครวญข้อเตือนใจที่พบในพระคำนั้นจะช่วยเราสามารถทำอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน คือ “เร่งวันของพระเจ้าให้มาถึง” “คำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” (2 เปโตร 3:12, ฉบับแปลใหม่; ล.ม.) สิ่งที่รวมอยู่ในข้อเตือนใจเหล่านี้คือคำพยากรณ์มากมายที่บอกล่วงหน้าไม่เพียงการมาถึงของวันของพระยะโฮวา แต่ยังบอกถึงพระพรอันอุดมที่จะโปรดประทานแก่คนที่ ‘คอยท่าพระยะโฮวาอยู่เสมอ.’—ซะฟันยา 3:8.
20. เราควรเอาใจใส่คำเตือนอะไร?
20 บัดนี้ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่เราทุกคนต้องเอาใจใส่คำเตือนที่ประทานมาทางผู้พยากรณ์ซะฟันยา ที่ว่า “ก่อนที่พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้า ชนทั้งหลาย ก่อนที่วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าผู้มีใจอ่อนน้อมทั้งปวงบนแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 2:2, 3, ล.ม.
21. ประชาชนของพระเจ้าจะตั้งใจแน่วแน่เช่นไรระหว่างปี 2007?
21 ด้วยเหตุนั้น จึงนับว่าเหมาะสักเพียงไรที่ข้อพระคัมภีร์ประจำปีซึ่งได้เลือกไว้สำหรับปีปฏิทิน 2007 คือ “วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว.” ประชาชนของพระเจ้ามั่นใจว่า วันนั้น “ใกล้เข้ามาแล้ว และเร่งมาก.” (ซะฟันยา 1:14, ล.ม.) วันนั้น “จะไม่ล่าช้าเลย.” (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.) ดังนั้น ขณะที่เราคอยวันนั้น ขอให้เราตื่นตัวเสมอในเรื่องยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้ โดยตระหนักว่าความสำเร็จขั้นสุดท้ายของคำพยากรณ์เหล่านี้ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว!
คุณตอบได้ไหม?
• “วันใหญ่ของพระยะโฮวา” คืออะไร?
• เหตุใดหลายคนเพิกเฉยต่อความเร่งด่วนของยุคสมัย?
• เหตุใดคริสเตียนในศตวรรษแรกจำเป็นต้องลงมือทำด้วยความสำนึกถึงความเร่งด่วน?
• เราจะเพิ่มความสำนึกถึงความเร่งด่วนให้มากขึ้นได้โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 19]
ข้อพระคัมภีร์ประจำปีสำหรับปี 2007 คือ “วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว.”—ซะฟันยา 1:14, ล.ม.
[ภาพหน้า 16, 17]
เช่นเดียวกับสมัยของโนฮา พวกผู้เยาะเย้ยจะตกตะลึงเมื่อพระยะโฮวาทรงลงมือจัดการ
[ภาพหน้า 18]
เหล่าคริสเตียนต้องลงมือทำโดยไม่รอช้าเมื่อพวกเขาเห็น “กองทัพมาตั้งล้อมรอบ” กรุงเยรูซาเลม