เขาได้กระทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา
พระเยซูได้รับการต้อนรับในฐานะเป็นมาซีฮาและกษัตริย์!
ฝูงชนที่ส่งเสียงอึกทึกซึ่งเข้ามาในกรุงยะรูซาเลมเมื่อวันที่ 9 เดือนไนซาน สากลศักราช 33 ยังความประหลาดใจแก่ชาวยูเดียเป็นจำนวนมาก. ถึงแม้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่ประชาชนหลั่งไหลเข้าเมืองก่อนเทศกาลปัศคา แต่ฝูงชนเหล่านี้ต่างออกไป. ท่ามกลางฝูงชนนั้นมีบุรุษผู้หนึ่งลักษณะเด่นทรงขี่ลูกลา. ท่านผู้นั้นคือพระเยซูคริสต์ และผู้คนพากันเอาเสื้อคลุมของตนปูตามหนทางที่พระองค์เสด็จ พร้อมกับโบกทางปาล์มและโห่ร้องขึ้นว่า “โฮซันนาแก่ราชโอรสของดาวิด, ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในนามของพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] จงทรงพระเจริญสุขสวัสดิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป.” ครั้นเห็นฝูงชน หลายคนซึ่งได้อยู่ที่กรุงยะรูซาเลมแล้วก็เกิดแรงจูงใจเข้าร่วมในขบวนแห่ด้วย.—มัดธาย 21:7-9; โยฮัน 12:12, 13.
แม้ว่าขณะนั้นพระเยซูได้รับการโห่ร้องต้อนรับ แต่พระองค์ ทรงทราบว่าการทดสอบอันยากลำบากรออยู่เบื้องหน้า. ในเมื่ออีกห้าวันเท่านั้น พระองค์จะถูกประหาร ณ กรุงเดียวกันนี้! ใช่แล้ว พระเยซูทรงตระหนักว่ายะรูซาเลมเป็นแดนศัตรู และพระองค์ทรงเตรียมการเสด็จเข้ากรุงให้เป็นอย่างที่ดึงดูดความสนใจพร้อมกับมีแนวความคิดนั้นในพระทัย.
คำพยากรณ์แต่โบราณกาลสำเร็จสมจริง
ในปี 518 ก่อนสากลศักราช ซะคาระยาได้พยากรณ์การเสด็จของพระเยซูเข้ากรุงยะรูซาเลมอย่างมีชัย. ท่านเขียนดังนี้: “โอ้บุตรีแห่งยะรูซาเลมจงโห่ร้องด้วยชื่นชม, นี่แน่ะ, กษัตริย์ของท่านเสด็จมาหาท่าน, มีความชอบธรรมแลประกอบด้วยฤทธิ์ช่วยให้รอด, แลมีพระทัยอันสุภาพ, แลเสด็จนั่งบนลาแลลูกลา. . . . แลพระองค์จะกล่าวซึ่งความสุขสำราญแก่นานาประเทศ, แลพระองค์จะได้ครอบงำตั้งแต่สมุทรตลอดถึงสมุทร, แลตั้งแต่แม่น้ำนั้นจนถึงที่สุดปลายทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก.”—ซะคาระยา 9:9, 10.
ดังนั้น การเสด็จของพระเยซูเข้ากรุงยะรูซาเลมเมื่อวันที่ 9 เดือนไนซานจึงสมจริงตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล. การนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีการวางแผนการอย่างรอบคอบไว้ล่วงหน้า. ก่อนหน้านั้น ขณะอยู่ไม่ห่างจากกรุงยะรูซาเลม พระเยซูทรงสั่งสาวกสองคนดังนี้: “จงเข้าไปในบ้านที่อยู่ตรงหน้าท่าน, ในบัดเดี๋ยวนั้น ท่านจะพบแม่ลาตัวหนึ่งผูกอยู่กับลูกของมัน จงแก้จูงมาให้เรา. ถ้ามีผู้ใดว่าอะไรแก่ท่าน, ท่านจงว่า, ‘พระองค์ต้องประสงค์.’ แล้วเขาจะปล่อยให้มาทันที.” (มัดธาย 21:1-3) แต่ทำไมพระเยซูประสงค์จะทรงลาเข้ากรุงยะรูซาเลม และปฏิกิริยาของฝูงชนส่อถึงลักษณะสำคัญอะไร?
สาระสำคัญเกี่ยวกับตำแหน่งกษัตริย์
รูปลักษณ์ที่เห็นประจักษ์มักจะมีพลังมากกว่าถ้อยคำ. ดังนั้น บางครั้งพระยะโฮวาทรงให้เหล่าผู้พยากรณ์ของพระองค์แสดงบทบาทที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารของเขาเพื่อเพิ่มน้ำหนักแก่ข่าวเชิงพยากรณ์. (1 กษัตริย์ 11:29-32; ยิระมะยา 27:1-6; ยะเอศเคล 4:1-17) วิธีติดต่อสื่อสารที่เห็นได้ชัดเช่นนี้ก่อความประทับใจอย่างไม่รู้เลือนแก่คนที่เฝ้าสังเกตการณ์ แม้ว่าใจของเขาสุดแข็งกระด้างเพียงใดก็ตาม. ในวิธีคล้ายคลึงกัน โดยการทรงลาเข้ากรุงยะรูซาเลม พระเยซูได้แสดงหมายสำคัญอันทรงพลัง. โดยวิธีใด?
ในสมัยพระคัมภีร์ ลาถูกนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์อันสูงส่ง. ยกตัวอย่าง ซะโลโมทรง “ลา” ของพระราชบิดาคราวเสด็จไปรับการเจิมเป็นกษัตริย์.a (1 กษัตริย์ 1:33-40) ฉะนั้น การที่พระเยซูทรงลาเสด็จเข้ากรุงยะรูซาเลมก็ย่อมให้ความหมายว่าพระองค์แสดงตนในฐานะกษัตริย์. ปฏิกิริยาของฝูงชนได้เสริมน้ำหนักข่าวสารนี้. ไม่ต้องสงสัย ฝูงชนเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฆาลิลายได้เอาเสื้อผ้าของตนปูตามทางที่พระเยซูเสด็จ—อากัปกิริยาซึ่งทำให้นึกไปถึงอดีตเมื่อมีการประกาศอย่างเปิดเผยฐานะกษัตริย์ของเยฮู. (2 กษัตริย์ 9:13) ที่ฝูงชนกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “ราชโอรสของดาวิด” เป็นการเน้นสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์ที่จะปกครอง. (ลูกา 1:31-33) และการใช้ทางปาล์มก็แสดงชัดแจ้งว่าพวกเขาอ่อนน้อมอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ฐานะเป็นกษัตริย์.—เทียบกับวิวรณ์ 7:9, 10.
ดังนั้น ขบวนแห่ที่เข้าไปในกรุงยะรูซาเลมเมื่อวันที่ 9 เดือนไนซานจึงให้ภาพชัดเจนว่าพระเยซูเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งเป็นพระมาซีฮาและกษัตริย์. แน่ละ ไม่ใช่ทุกคนดีใจที่เห็นพระเยซูแสดงตนด้วยวิธีนี้. โดยเฉพาะพวกฟาริซายคิดว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่พระเยซูจะได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติยศสง่าราศีเยี่ยงกษัตริย์ขนาดนั้น. พวกเขาได้ขอร้องดังนี้: “อาจารย์เจ้าข้า,” แน่นอน ความโกรธแค้นคงแฝงอยู่ในน้ำเสียงนั้น “จงห้ามเหล่าสาวกของท่าน.” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า, ถึงคนเหล่านี้จะนิ่งเสีย, ศิลาทั้งหลายก็ยังจะร้องออกเสียง.” (ลูกา 19:39, 40) ถูกแล้ว ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นสาระสำคัญในงานเผยแพร่ของพระเยซู. พระองค์ย่อมจะประกาศข่าวสารนี้อย่างกล้าหาญ ไม่ว่าผู้คนตอบรับหรือไม่ก็ตาม.
บทเรียนสำหรับพวกเรา
การที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงยะรูซาเลมตามลักษณาการที่ผู้พยากรณ์ซะคาระยาได้บอกไว้ล่วงหน้าจึงต้องอาศัยความกล้าหาญจริง ๆ. พระองค์ตระหนักดีว่าเมื่อกระทำเช่นนั้นจะทำให้พวกศัตรูโกรธเป็นฟืนเป็นไฟแน่ ๆ. ก่อนพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ได้ทรงมอบหมายสาวกของพระองค์ให้ทำการเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า และ “ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 24:14; 28:19, 20, ล.ม.) ที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จต้องมีความกล้าเช่นกัน. ไม่ใช่ทุกคนยินดีรับฟังข่าวสาร. บางคนไม่สนใจจะฟัง บางคนต่อต้าน. รัฐบาลบางประเทศได้วางข้อจำกัดขัดขวางงานเผยแพร่นี้ หรือไม่ก็ประกาศสั่งห้ามโดยตรง.
ถึงกระนั้น พยานพระยะโฮวาทราบดีว่า ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ถูกสถาปนาแล้วจะต้องได้ประกาศไปทั่ว แม้ประชาชนจะรับฟังหรือปิดกั้นตัวเองไม่ฟังก็ตาม. (ยะเอศเคล 2:7) ขณะที่พวกเขายังคงดำเนินงานอันเป็นการช่วยชีวิต พวกเขามั่นใจได้ในคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “นี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.”—มัดธาย 28:20, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a บันทึกของมาระโกเพิ่มข้อความว่าลูกลาตัวนั้น “ยังไม่มีใครขึ้นขี่เลย.” (มาระโก 11:2) ปรากฏชัดว่า สัตว์ตัวใดที่ยังไม่ถูกใช้งานจึงเหมาะเป็นพิเศษที่จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์.—เทียบกับอาฤธโม 19:2; พระบัญญัติ 21:3; 1 ซามูเอล 6:7.