จงให้มือของคุณมีกำลัง
“ท่านจงมีกำลังมือ, คือท่านทั้งหลายซึ่งได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ณ บัดนี้โดยปากพวกผู้พยากรณ์.”—ซะคาระยา 8:9.
1, 2. เหตุใดจึงสมควรที่เราจะสนใจพระธรรมฮาฆีและซะคาระยา?
แม้ว่าเขียนประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว แต่คำพยากรณ์ของฮาฆีและซะคาระยามีความหมายเกี่ยวข้องกับชีวิตของคุณอย่างแน่นอน. เรื่องราวในพระธรรมทั้งสองของคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นเพียงเรื่องในประวัติศาสตร์. พระธรรมทั้งสองเป็นส่วนของ “สิ่งสารพัตรที่เขียนไว้แล้วคราวก่อน . . . เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย.” (โรม 15:4) หลายส่วนที่เราอ่านในพระธรรมทั้งสองทำให้เรานึกถึงสถานการณ์จริงที่ได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ราชอาณาจักรได้รับการสถาปนาขึ้นที่สวรรค์ในปี 1914.
2 เมื่ออ้างถึงเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ประชาชนของพระเจ้าได้ประสบนานมาแล้ว อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “เหตุการณ์เหล่านี้ได้บังเกิดแก่เขาเป็นตัวอย่างสำหรับผู้อื่น และได้บันทึกไว้แล้วเพื่อจะเตือนสติเราทั้งหลายผู้อยู่ในปัจจุบันนี้, ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในกาลสุดปลายของแผ่นดินโลก.” (1 โกรินโธ 10:11) ดังนั้น คุณอาจสงสัยว่า ‘พระธรรมฮาฆีและซะคาระยามีคุณค่าเช่นไรในสมัยของเรา?’
3. ฮาฆีและซะคาระยามุ่งสนใจในเรื่องอะไร?
3 ดังที่บทความก่อนได้กล่าวไปแล้ว คำพยากรณ์ของฮาฆีและซะคาระยาเกี่ยวข้องกับเวลาเมื่อชาวยิวกลับมายังดินแดนที่พระเจ้าประทานแก่พวกเขาหลังจากที่พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นเชลยในบาบิโลน. ผู้พยากรณ์ทั้งสองมุ่งสนใจในเรื่องการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. ชาวยิววางฐานรากพระวิหารในปี 536 ก่อนสากลศักราช. แม้ว่าชาวยิวสูงอายุบางคนยังถวิลถึงอดีต แต่ผู้คนส่วนใหญ่พากัน “โห่ร้องด้วยความชื่นบาน.” แต่อันที่จริง มีบางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นมากด้วยซ้ำได้เกิดขึ้นในสมัยของเรา. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?—เอษรา 3:3-13, ฉบับแปลใหม่.
4. ไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีอะไรเกิดขึ้น?
4 ไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาถูกปล่อยตัวจากการเป็นเชลยของบาบิโลนใหญ่. การปลดปล่อยดังกล่าวเป็นสิ่งบ่งบอกหลัก ๆ อย่างหนึ่งเกี่ยวกับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนว่าผู้นำทางศาสนาและผู้ร่วมสมทบจากฝ่ายการเมืองได้ทำให้งานประกาศและงานสอนของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลยุติลงไปแล้ว. (เอษรา 4:8, 13, 21-24) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาพระเจ้าทรงขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางงานประกาศและงานทำให้คนเป็นสาวก. ในช่วงทศวรรษต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 1919 งานราชอาณาจักรได้เฟื่องฟูขึ้นและไม่มีสิ่งใดสามารถยับยั้งความก้าวหน้าของงานนี้ได้.
5, 6. ซะคาระยา 4:7 ชี้ถึงความสำเร็จเป็นจริงอันยิ่งใหญ่อะไร?
5 เราแน่ใจได้ว่าการประกาศและการสอนของผู้รับใช้ที่เชื่อฟังของพระยะโฮวาในสมัยของเราจะดำเนินต่อไปด้วยการสนับสนุนจากพระองค์. ที่ซะคาระยา 4:7 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านดังนี้: “ท่านจะนำศิลาก้อนที่อยู่ยอดออกมา ท่ามกลางการโห่ร้องว่า ‘งามจริง พระวิหารงามจริง.’ ” ข้อนี้ชี้ถึงความสำเร็จเป็นจริงครั้งใหญ่อะไรในสมัยของเรา?
6 ซะคาระยา 4:7 ชี้ถึงเวลาเมื่อการนมัสการแท้ขององค์บรมมหิศรจะถูกนำเข้าสู่สภาพที่ครบถ้วน ณ ลานทางแผ่นดินโลกของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ. พระวิหารนั้นเป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อจะสามารถเข้าเฝ้าพระองค์ในการนมัสการซึ่งอาศัยเครื่องบูชาระงับพระพิโรธของพระคริสต์เยซู. จริงอยู่ พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ได้ปรากฏมีอยู่ตั้งแต่ศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. กระนั้น การนมัสการแท้ ณ ลานพระวิหารทางแผ่นดินโลกยังจะต้องถูกนำไปสู่สภาพที่ครบถ้วน. ผู้นมัสการหลายล้านคนในปัจจุบันรับใช้ ณ ลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณทางแผ่นดินโลก. คนเหล่านี้และผู้ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายอีกมากมายจะถูกนำเข้าสู่สภาพสมบูรณ์ในช่วงรัชสมัยพันปีของพระเยซูคริสต์. เมื่อสิ้นพันปีนั้น เฉพาะผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าเท่านั้นจะเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกที่ได้รับการชำระให้สะอาด.
7. พระเยซูทรงมีบทบาทเช่นไรในการนำการนมัสการแท้ไปสู่สภาพที่ครบถ้วนในสมัยของเรา และเหตุใดเราควรรู้สึกว่านั่นให้กำลังใจ?
7 ผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลและมหาปุโรหิตยะโฮซูอะอยู่ร่วมเป็นพยานรู้เห็นการสร้างพระวิหารเสร็จในปี 515 ก่อนสากลศักราช. ซะคาระยา 6:12, 13 บอกล่วงหน้าถึงบทบาทในการปกครองของพระเยซูซึ่งอาจเทียบได้กับบทบาทของท่านทั้งสองในการนำการนมัสการแท้ไปสู่สภาพที่ครบถ้วน โดยบอกดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, ‘นี่แน่ะมีผู้ชื่อว่าพระอังกูร, จะจำเริญขึ้นจากที่ของท่าน, และจะได้สร้างวิหารแห่งพระยะโฮวาขึ้น . . . แลท่านจะรับสง่าราศีจะได้นั่งประทับอยู่เหนือพระที่นั่งของท่าน, แลจะดำรงตำแหน่งปุโรหิต.’ ” เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซู ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์และทำให้ราชวงศ์ของดาวิดแตกหน่อต่อไป กำลังสนับสนุนงานราชอาณาจักร ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณ คุณคิดว่าจะมีใครขัดขวางความก้าวหน้าของงานนี้ได้ไหม? ไม่มีใครทำได้แน่! นี่ควรให้กำลังใจเรามิใช่หรือที่จะรุดหน้าต่อ ๆ ไปในงานรับใช้ และไม่เขวไปเพราะความกังวลด้วยเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน?
สิ่งที่สำคัญกว่า
8. เหตุใดเราต้องให้งาน ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิต?
8 เพื่อจะได้รับการสนับสนุนและพระพรจากพระยะโฮวา เราต้องรักษาให้งาน ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิต. ไม่เหมือนกับชาวยิวที่กล่าวว่า “ยังไม่ถึงกำหนด” เราต้องจำไว้ว่าเรากำลังอยู่ใน “สมัยสุดท้าย.” (ฮาฆี 1:2; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าผู้ติดตามที่ภักดีของพระองค์จะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก. เราต้องระวังที่จะไม่เพิกเฉยต่อสิทธิพิเศษของเราในการรับใช้. งานประกาศและสอนซึ่งหยุดไปชั่วขณะหนึ่งเพราะถูกต่อต้านจากโลกของซาตานได้เริ่มทำกันต่อไปในปี 1919 แต่งานนี้ยังไม่เสร็จสิ้น. อย่างไรก็ตาม คุณแน่ใจได้เลยว่างานนี้จะสำเร็จอย่างแน่นอน!
9, 10. พระพรของพระยะโฮวาขึ้นอยู่กับอะไร และนั่นมีความหมายเช่นไรสำหรับเรา?
9 ยิ่งเราทำงานต่อไปอย่างจริงจังมากเท่าใด เราก็จะได้รับพระพรมากเท่านั้น—ทั้งในฐานะเป็นกลุ่มและบุคคล. ขอให้สังเกตคำสัญญาของพระยะโฮวาซึ่งสามารถช่วยให้เรามั่นใจ. ทันทีที่ชาวยิวกลับมานมัสการอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณอีกครั้งหนึ่งและทำงานสร้างฐานรากพระวิหารต่ออย่างจริงจัง พระยะโฮวาตรัสว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะอำนวยพรแก่เจ้า.” (ฮาฆี 2:19, ฉบับแปลใหม่) พวกเขาจะได้รับความโปรดปรานของพระองค์กลับคืนมาอย่างเต็มที่. ขอให้พิจารณาดูพระพรต่าง ๆ ที่พบในคำสัญญาของพระเจ้า: “จะมีการหว่านความสมบูรณ์พูนสุข; เถาองุ่นจะมีลูก และแผ่นดินจะให้ผล และท้องฟ้าจะให้น้ำค้าง; และเราจะกระทำให้ประชาชนที่เหลืออยู่นี้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด.”—ซะคาระยา 8:9-13, ฉบับแปลใหม่.
10 เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาทรงอวยพรชาวยิวเหล่านั้นทางฝ่ายวิญญาณและวัตถุ พระองค์ก็จะทรงอวยพรเราเมื่อเราทำงานที่พระองค์ทรงมอบหมายอย่างขยันขันแข็งและด้วยหัวใจชื่นบาน. พระพรเหล่านี้รวมไปถึงสันติสุขท่ามกลางพวกเราเอง, ความปลอดภัย, ความรุ่งเรือง, และความเติบโตฝ่ายวิญญาณ. ถึงกระนั้น คุณสามารถแน่ใจได้ว่าพระพรที่พระเจ้าประทานให้อย่างต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานของเรา ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณในแนวทางที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ทำ.
11. เราอาจวิเคราะห์ตัวเราเองอย่างไร?
11 บัดนี้เป็นเวลาที่จะ ‘ให้หัวใจของเราพิจารณาแนวทางของเรา.’ (ฮาฆี 1:5, 7, ล.ม.) เราควรใช้เวลาบ้างเพื่อวิเคราะห์ในเรื่องสิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิตเรา. พระพรของพระยะโฮวาที่ประทานแก่เราในทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขตที่เรากำลังยกย่องสรรเสริญพระนามของพระองค์และรุดหน้าไปในงาน ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณ. คุณอาจถามตัวเองว่า ‘สิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิตของฉันได้เปลี่ยนไปไหม? ความกระตือรือร้นของฉันเพื่อพระยะโฮวา, ความจริง, และงานของพระองค์เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับความกระตือรือร้นที่ฉันมีเมื่อรับบัพติสมา? ความสนใจในชีวิตที่สะดวกสบายมีผลกระทบต่อความสนใจที่ฉันให้แก่พระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์ไหม? ความกลัวหน้ามนุษย์หรือความเป็นห่วงว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรเหนี่ยวรั้งฉันไว้อยู่บ้างไหม?’—วิวรณ์ 2:2-4.
12. มีการเน้นสถานการณ์เช่นไรในหมู่ชาวยิวที่ฮาฆี 1:6, 9?
12 เราไม่ต้องการให้พระเจ้ายับยั้งพระพรอันอุดมของพระองค์ไว้จากเราเพราะเราละเลยงานยกย่องสรรเสริญพระนามของพระองค์. ไม่ควรลืมว่าหลังจากที่เริ่มต้นอย่างดี ชาวยิวที่กลับมา “ต่างก็สาละวนอยู่กับเรื่องบ้านของตน” ดังที่ฮาฆี 1:9 (ฉบับแปลใหม่) รายงาน. พวกเขาหันมาหมกมุ่นกับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันและวิถีชีวิตของตนเอง. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึง “ได้เกี่ยวเล็กน้อย” ขาดแคลนอาหารที่ดี, เครื่องดื่ม, และเสื้อผ้าที่อบอุ่น. (ฮาฆี 1:6) พระยะโฮวาทรงถอนพระพรของพระองค์. มีบทเรียนสำหรับเราไหมในเรื่องนี้?
13, 14. เราจะใช้บทเรียนที่ได้จากฮาฆี 1:6, 9 ได้อย่างไร และเหตุใดเรื่องนี้จึงนับว่าสำคัญ?
13 คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่าเพื่อจะได้รับพระพรจากพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราต้องต้านทานความปรารถนาที่จะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ เพื่อตัวเองจนละเลยการนมัสการพระยะโฮวา? เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ไม่ว่ากิจกรรมหรือสิ่งที่หันเหความสนใจของเรานั้นจะเป็นการแสวงหาความมั่งคั่ง, แผนการรวยเร็ว, แผนการซึ่งมุ่งมั่นจะมีการศึกษาสูงเพื่อจะมีอาชีพที่น่าปรารถนาในระบบนี้, หรือแผนการที่มุ่งบรรลุความสำเร็จส่วนตัว.
14 ในตัวมันเองแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจไม่ผิด. อย่างไรก็ตาม คุณมองไม่ออกหรอกหรือว่าเมื่อมองให้ไกลไปถึงชีวิตนิรันดร์ สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็น “การกระทำที่ตายแล้ว” อย่างแท้จริง? (เฮ็บราย 9:14, ล.ม.) ในแง่ใด? สิ่งเหล่านี้ตายแล้วฝ่ายวิญญาณ, ไร้ประโยชน์, และไร้ผล. หากคนเรายืนกรานจะทำต่อไป การกระทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความตายฝ่ายวิญญาณ. สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนในสมัยอัครสาวก. (ฟิลิปปอย 3:17-19) สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับบางคนในสมัยของเรา. คุณอาจรู้จักบางคนที่ค่อย ๆ หันเหไปจากกิจกรรมของคริสเตียนและประชาคม; ตอนนี้พวกเขาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาสู่การรับใช้พระยะโฮวา. แน่นอน เราหวังว่าคนเหล่านี้จะหันกลับมาหาพระยะโฮวา แต่ข้อเท็จจริงก็คือการมุ่งติดตาม “การกระทำที่ตายแล้ว” อาจยังผลให้เราสูญเสียความโปรดปรานและพระพรจากพระยะโฮวา. คุณคงเห็นได้ว่านั่นจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสักเพียงไร. นั่นย่อมหมายถึงการสูญเสียความยินดีและสันติสุขอันเป็นผลที่เกิดจากพระวิญญาณของพระเจ้า. และขอให้นึกดูว่าจะเป็นความสูญเสียสักเพียงไรหากเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมพี่น้องคริสเตียนอันอบอุ่นอีกต่อไป!—ฆะลาเตีย 1:6; 5:7, 13, 22-24.
15. ฮาฆี 2:14 แสดงให้เห็นอย่างไรในเรื่องความจริงจังของการนมัสการ?
15 นี่นับว่าเป็นเรื่องที่จริงจังมาก. ขอให้สังเกตจากฮาฆี 2:14 (ฉบับแปลใหม่) ว่าพระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อชาวยิวที่ละเลยพระนิเวศแห่งการนมัสการของพระองค์แต่กลับหมกมุ่นสนใจในเรื่องการตกแต่งบ้านของตัวเองด้วยแผ่นไม้ ไม่ว่าจะแค่หมกมุ่นสนใจหรือลงมือทำจริง ๆ ก็ตาม. “พระเจ้าตรัสว่า ‘ในสายตาของเราชนชาตินี้เป็นอย่างนั้น และประชาชาตินี้ก็เป็นอย่างนั้น ผลงานทุกอย่างที่มือของเขากระทำเป็นอย่างนั้นด้วย. และสิ่งใด ๆ ที่เขาถวายบูชาที่นั่นก็เป็นมลทิน.’ ” ไม่ว่าเครื่องบูชาที่ชาวยิวผู้ไม่เต็มใจถวายกันพอเป็นพิธีบนแท่นบูชาชั่วคราวในกรุงเยรูซาเลมจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งนั้นไม่เป็นที่ยอมรับตราบใดพวกเขายังคงละเลยการนมัสการแท้.—เอษรา 3:3.
ทรงรับรองว่าจะสนับสนุน
16. โดยอาศัยนิมิตที่ซะคาระยาได้รับ ชาวยิวสามารถมั่นใจในเรื่องใด?
16 ชาวยิวที่เชื่อฟังซึ่งทำงานสร้างพระวิหารของพระเจ้าขึ้นใหม่มั่นใจในการสนับสนุนจากพระเจ้า ดังที่พระองค์ทรงชี้ให้เห็นโดยทางนิมิตแปดเรื่องที่ต่อเนื่องกันซึ่งซะคาระยาได้รับ. นิมิตแรกรับรองว่าพระวิหารจะแล้วเสร็จและกรุงเยรูซาเลมและอาณาจักรยูดาห์จะรุ่งเรืองตราบเท่าที่ชาวยิวทำงานตามที่เขาควรทำด้วยความเชื่อฟัง. (ซะคาระยา 1:8-17) นิมิตที่สองสัญญาว่ารัฐบาลทั้งสิ้นที่ต่อต้านการนมัสการแท้จะถึงกาลอวสาน. (ซะคาระยา 1:18-21) นิมิตอื่น ๆ ทำให้มั่นใจในเรื่องการปกป้องของพระเจ้าในงานก่อสร้าง, การหลั่งไหลของผู้คนจากนานาชาติมายังพระนิเวศแห่งการนมัสการพระยะโฮวาที่สร้างเสร็จ, สันติภาพและความปลอดภัยที่แท้จริง, การขจัดอุปสรรคที่ดูเหมือนไม่มีทางข้ามพ้นเพื่อทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมาย, การขจัดความชั่วช้า, ตลอดจนการดูแลและปกป้องจากเหล่าทูตสวรรค์. (ซะคาระยา 2:5, 11; 3:10; 4:7; 5:6-11; 6:1-8) โดยได้รับคำรับรองที่จะให้การสนับสนุนเช่นนั้นจากพระเจ้า คุณคงเข้าใจได้ว่าทำไมคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังจึงปรับวิถีชีวิตและมุ่งความสนใจไปยังงานที่พระเจ้าได้ปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระเพื่อจะทำงานนี้.
17. เมื่อคำนึงถึงคำรับรองที่เราได้รับ เราควรถามตัวเองเช่นไร?
17 คล้ายกันนั้น การรับรองที่เราได้รับเกี่ยวด้วยชัยชนะที่แน่นอนของการนมัสการแท้น่าจะกระตุ้นเราให้ทำกิจกรรมและกระตุ้นเราให้คิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับพระนิเวศแห่งการนมัสการพระยะโฮวา. จงถามตัวเองว่า ‘หากฉันเชื่อว่าบัดนี้เป็นเวลาที่จะทำงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก เป้าหมายและวิถีชีวิตของฉันสอดคล้องกับความเชื่อมั่นนี้ไหม? ฉันใช้เวลามากพอในการศึกษาพระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้า, ให้ความสนใจ, และสนทนาเรื่องนี้กับเพื่อนคริสเตียนและคนอื่น ๆ ที่ฉันพบไหม?’
18. มีอะไรรออยู่ในวันข้างหน้าตามที่บอกไว้ในซะคาระยาบท 14?
18 ซะคาระยากล่าวพาดพิงถึงความพินาศของบาบิโลนใหญ่ ซึ่งจะตามด้วยสงครามอาร์มาเก็ดดอน. เราอ่านดังนี้: “จะเป็นวันเดียวซึ่งแจ้งชัดแก่พระยะโฮวาจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนหามิได้, แลอยู่มาในเวลาเย็นก็จะมีสว่าง.” ใช่แล้ว วันของพระยะโฮวาจะเป็นวันที่มืดมัวและหนาวเหน็บอย่างแท้จริงสำหรับศัตรูของพระองค์บนแผ่นดินโลก! แต่วันนั้นจะหมายถึงความสว่างและความโปรดปรานอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ที่นมัสการพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์. ซะคาระยายังพรรณนาวิธีที่ทุกสิ่งในโลกใหม่จะประกาศถึงความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. การนมัสการแท้ ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจะเป็นการนมัสการอย่างเดียวที่มีอยู่บนแผ่นดินโลก. (ซะคาระยา 14:7, 16-19) ช่างเป็นการรับรองที่น่าทึ่งจริง ๆ! เราจะประสบกับความสำเร็จเป็นจริงของสิ่งที่มีบอกไว้ล่วงหน้าและจะเห็นการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. วันของพระยะโฮวานั้นไม่มีวันใดจะเทียบได้อย่างแท้จริง!
พระพรถาวร
19, 20. เหตุใดคุณจึงรู้สึกว่าซะคาระยา 14:8, 9 ให้กำลังใจ?
19 ภายหลังความสำเร็จผลอันน่าทึ่งดังกล่าว ซาตานและเหล่าผีปิศาจจะถูกกักตัวในเหวลึกแห่งสภาพไร้กิจกรรม. (วิวรณ์ 20:1-3, 7) ต่อจากนั้น พระพรก็จะหลั่งไหลในช่วงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. ซะคาระยา 14:8, 9 กล่าวว่า “ในวันนั้นจะมีน้ำประกอบด้วยชีวิตไหลออกจากเมืองยะรูซาเลม, กึ่งหนึ่งจะออกไปถึงทะเลข้างตะวันออก, แลกึ่งหนึ่งจะออกไปถึงทะเลข้างตะวันตก, ในฤดูร้อนแลฤดูหนาวก็จะไหลเสมออยู่. แลพระยะโฮวาจะเป็นกษัตริย์ครองทั่วทั้งแผ่นดิน. ในวันนั้นพระยะโฮวาจะเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว, แลพระนามของพระองค์แต่นามเดียว.”
20 “น้ำประกอบด้วยชีวิต” หรือ “แม่น้ำแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นภาพแสดงถึงการจัดเตรียมของพระยะโฮวาสำหรับชีวิต จะไหลออกมาอย่างไม่ขาดสายจากพระที่นั่งแห่งราชอาณาจักรมาซีฮา. (วิวรณ์ 22:1, 2) เมื่อรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอนแล้ว ชนฝูงใหญ่แห่งผู้นมัสการพระยะโฮวาก็จะได้รับประโยชน์โดยได้รับการปลดปล่อยจากการปรับโทษแห่งความตายอันเนื่องมาจากอาดาม. แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็จะได้รับประโยชน์โดยการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ด้วยวิธีนั้น ช่วงเวลาใหม่แห่งการปกครองของพระยะโฮวาเหนือแผ่นดินโลกก็จะเริ่มขึ้น. มนุษย์ทั่วทั้งโลกจะยอมรับพระยะโฮวาในฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ และผู้เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการ.
21. เราควรมีความตั้งใจเช่นไร?
21 เมื่อคำนึงถึงข้อความทั้งหมดที่ฮาฆีและซะคาระยาบอกไว้ล่วงหน้าและข้อความทั้งหมดที่ได้สำเร็จไปแล้ว เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะรุดหน้าต่อไปในงานที่พระเจ้าได้ทรงมอบหมายให้เราทำ ณ ลานทางแผ่นดินโลกของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ. จนกระทั่งการนมัสการแท้จะถูกนำเข้าสู่สภาพอันครบถ้วน ขอเราทุกคนบากบั่นเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรให้อยู่ในอันดับแรกเสมอ. ซะคาระยา 8:9 กระตุ้นเราดังนี้: “ท่านจงมีกำลังมือ, คือท่านทั้งหลายซึ่งได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ณ บัดนี้โดยปากพวกผู้พยากรณ์.”
คุณจำได้ไหม?
• มีความคล้ายคลึงกันเช่นไรทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้พระธรรมฮาฆีและซะคาระยามีความหมายเกี่ยวข้องกับทุกวันนี้?
• ฮาฆีและซะคาระยาให้บทเรียนอะไรแก่เราเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญกว่า?
• เหตุใดการพิจารณาพระธรรมฮาฆีและซะคาระยาทำให้เรามีเหตุผลที่จะมั่นใจในเรื่องอนาคต?
[ภาพหน้า 26]
ฮาฆีและซะคาระยาสนับสนุนชาวยิวให้ทำงานอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณและรับเอาพระพรจากการทำเช่นนั้น
[ภาพหน้า 27]
คุณ ‘สาละวนอยู่กับเรื่องบ้านของคุณ’ ไหม?
[ภาพหน้า 28]
พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานพระพร และพระองค์ได้ประทานตามที่ทรงสัญญา