พระยะโฮวาเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง”
“ผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.”—เฮ็บราย 11:6, ล.ม.
1, 2. เพราะเหตุใดผู้รับใช้พระยะโฮวาบางคนอาจต่อสู้กับความรู้สึกในแง่ลบ?
“ดิฉันเป็นพยานพระยะโฮวามาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองคู่ควรจะถูกเรียกด้วยชื่อนั้น” บาร์บาราเผยความในใจ.a “แม้ว่าดิฉันเป็นไพโอเนียร์และมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรที่พอจะทำให้ดิฉันมั่นใจได้เลยว่าสมควรจะได้ชื่อว่าเป็นพยานฯ.” คีทเผยความรู้สึกคล้าย ๆ กัน. เขากล่าวว่า “บางครั้ง ผมรู้สึกว่าไร้ค่า เพราะผู้รับใช้พระยะโฮวามีเหตุผลมากมายที่จะมีความสุข แต่ผมไม่มีความสุข. นี่ทำให้ผมรู้สึกผิด ซึ่งก็ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก.”
2 ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาหลายคน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ต่อสู้กับความรู้สึกคล้าย ๆ กันนั้น. คุณเคยรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม? ชีวิตของคุณอาจถูกรุมเร้าด้วยปัญหามากมาย ในขณะที่เพื่อนร่วมความเชื่อของคุณดูเหมือนชื่นชมกับชีวิต ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล และมีความสุข. ผลก็คือ คุณอาจจะรู้สึกว่าคุณไม่เป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาและไม่มีค่าพอที่พระองค์จะมาสนพระทัย. แต่ขออย่าด่วนสรุปว่าจะเป็นอย่างที่คิดนั้น. คัมภีร์ไบเบิลรับรองว่า “[พระยะโฮวา] ไม่ได้ทรงประมาทหรือเบื่อหน่ายความยากแค้นแห่งผู้ต้องทุกข์ยากนั้น และไม่ได้ซ่อนพระพักตร์จากเขา; แต่เมื่อเขาร้องทูลต่อพระองค์ พระองค์ได้ทรงสดับฟัง.” (บทเพลงสรรเสริญ 22:24) ถ้อยคำเชิงพยากรณ์เหล่านี้เกี่ยวกับพระมาซีฮาแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาไม่เพียงสดับเสียงร้องทูลของบรรดาผู้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เท่านั้น แต่ยังประทานบำเหน็จแก่พวกเขาด้วย.
3. ทำไมเราจึงไม่พ้นจากความกดดันของระบบนี้?
3 ไม่มีใคร แม้แต่ประชาชนของพระยะโฮวา จะพ้นจากความกดดันของระบบนี้. เราอยู่ในโลกที่ถูกครอบครองโดยซาตานพญามาร ศัตรูตัวเอ้ของพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 4:4; 1 โยฮัน 5:19) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไม่ได้รับการปกป้องอย่างอัศจรรย์ ที่แท้ พวกเขาเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของซาตานเสียมากกว่า. (โยบ 1:7-12; วิวรณ์ 2:10) ด้วยเหตุนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้นั้น เราจำเป็นต้อง “อดทนในการยากลำบาก” และ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” ด้วยความมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยเรา. (โรม 12:12) เราไม่ควรพ่ายต่อความคิดที่ว่าเราไม่เป็นที่รักของพระยะโฮวา พระเจ้าของเรา!
ตัวอย่างเรื่องความอดทนในสมัยโบราณ
4. จงยกตัวอย่างผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์บางคนของพระยะโฮวาซึ่งอดทนกับสภาพการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ.
4 ผู้รับใช้พระยะโฮวาหลายคนในสมัยโบราณต้องอดทนกับสภาพการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ. ตัวอย่างเช่น นางฮันนา “เป็นทุกข์ร้อนใจ” เนื่องจากไม่มีบุตร ซึ่งทำให้นางรู้สึกเหมือนกับว่าพระเจ้าไม่ทรงระลึกถึงนาง. (1 ซามูเอล 1:9-11) เมื่อเอลียาถูกราชินีอีซาเบลตามล่าเอาชีวิต ท่านหวั่นกลัวและทูลพระยะโฮวาว่า “พอแล้วพระองค์เจ้าข้า, ขอพระยะโฮวาทรงประหารชีวิตข้าพเจ้าเสียเดี๋ยวนี้เถิด; เพราะข้าพเจ้าไม่ดีกว่าปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า.” (1 กษัตริย์ 19:4) และอัครสาวกเปาโลก็คงทุกข์ใจกับความไม่สมบูรณ์ของตัวท่านเช่นกัน เมื่อท่านยอมรับว่า “เมื่อข้าพเจ้าจะกระทำการดี, การชั่วก็ยังติดอยู่ในตัวข้าพเจ้า.” ท่านกล่าวอีกว่า “โอ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจจริง!”—โรม 7:21-24.
5. (ก) นางฮันนา, เอลียา, และเปาโลได้รับผลตอบแทนอย่างไร? (ข) เราสามารถได้รับคำปลอบประโลมอะไรจากพระคำของพระเจ้าหากเราต้องต่อสู้กับความรู้สึกในแง่ลบ?
5 แน่นอน เรารู้ว่านางฮันนา, เอลียา, และเปาโลต่างอดทนขณะรับใช้พระยะโฮวา และพระองค์ประทานผลตอบแทนแก่พวกเขาอย่างอุดม. (1 ซามูเอล 1:20; 2:21; 1 กษัตริย์ 19:5-18; 2 ติโมเธียว 4:8) กระนั้น พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึกทั้งมวลของมนุษย์ซึ่งก็รวมไปถึง ความเศร้าโศก, ความท้อแท้สิ้นหวัง, และความหวาดกลัว. ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรแปลกใจหากบางครั้งบางคราวเรามีความรู้สึกในแง่ลบ. แต่ว่าคุณจะทำอะไรได้ หากความทุกข์กังวลในชีวิตทำให้คุณสงสัยว่าพระยะโฮวารักคุณจริงไหม? คุณสามารถรับเอาคำปลอบประโลมจากพระคำของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น ในบทความก่อน เราได้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่ว่า พระยะโฮวาทรงนับ ‘ผมของท่านไว้แล้วทุกเส้น.’ (มัดธาย 10:30) ถ้อยคำที่ให้กำลังใจดังกล่าวบ่งชี้ว่าพระยะโฮวาทรงสนพระทัยผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนอย่างมาก. นอกจากนั้น ให้นึกถึงอุปมาของพระเยซูเรื่องนกกระจอก. ถ้าไม่มีนกตัวน้อยนิดแม้แต่ตัวเดียวตกถึงพื้นโดยที่พระยะโฮวาไม่รู้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะไม่รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนของคุณ?
6. คัมภีร์ไบเบิลจะเป็นแหล่งที่ให้การประเล้าประโลมใจแก่ผู้ที่ต่อสู้กับความรู้สึกในแง่ลบได้อย่างไร?
6 เป็นไปได้จริง ๆ หรือที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์อย่างเราจะมีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ? เป็นไปได้! ที่จริงแล้ว มีข้อความมากมายในคัมภีร์ไบเบิลที่ยืนยันเรื่องนี้. เมื่อเราใคร่ครวญข้อความเหล่านั้น เราสามารถพูดได้เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวว่า “ครั้นข้าพเจ้ามีความสาละวนในใจเป็นอันมาก ความประเล้าประโลมของพระองค์ก็จะทรงกระทำให้จิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าชื่นบาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:19) ให้เรามาพิจารณาคำปลอบประโลมเหล่านี้บางข้อจากพระคำของพระเจ้า ซึ่งจะช่วยเราเห็นว่าเรามีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า และพระองค์จะประทานบำเหน็จแก่เราเมื่อเราทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป.
“สมบัติพิเศษ” ของพระยะโฮวา
7. พระยะโฮวาประทานคำพยากรณ์ที่ให้กำลังใจอะไรแก่ชาติที่เสื่อมทรามนั้นผ่านทางผู้พยากรณ์มาลาคี?
7 ในช่วงศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช มีสภาพการณ์ที่น่าตำหนิเกิดขึ้นในหมู่ชาวยิว. พวกปุโรหิตรับเอาสัตว์พิการและถวายเป็นเครื่องบูชาบนแท่นของพระยะโฮวา. เหล่าผู้พิพากษาเลือกหน้าลำเอียง. การทำเวทมนตร์, การโกหก, การฉ้อโกง, และการล่วงประเวณี มีอยู่อย่างแพร่หลาย. (มาลาคี 1:8; 2:9; 3:5) มาลาคีแถลงคำพยากรณ์ที่น่าตกตะลึงต่อชาติที่ชั่วช้าอย่างหน้าด้านนี้. ต่อมา พระยะโฮวาจะทรงนำประชาชนของพระองค์กลับคืนสู่สภาพที่น่าพอใจ. เราอ่านว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘ในวันที่เราจะเก็บรวบรวมสมบัติ [“สมบัติพิเศษ,” ล.ม.] ของเราไว้นั้น, เขาทั้งหลายก็จะเป็นคนของเรา, และเราจะเมตตาเขาเหมือนอย่างพ่อได้เมตตาลูก, ลูกคนที่ได้ปรนนิบัติพ่อนั้น.’ ”—มาลาคี 3:17.
8. โดยหลักการแล้ว ทำไมคำพยากรณ์ที่มาลาคี 3:17 จึงนำมาใช้ได้กับชนฝูงใหญ่?
8 คำพยากรณ์ของมาลาคีสำเร็จสมจริงในปัจจุบันกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นชนชาติฝ่ายวิญญาณที่มีจำนวน 144,000 คน. ชาติฝ่ายวิญญาณนี้เป็น “สมบัติพิเศษ” หรือ “ชนชาติที่เป็นสมบัติพิเศษ” ของพระยะโฮวา. (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) คำพยากรณ์ของมาลาคีให้กำลังใจแก่ “ชนฝูงใหญ่” เช่นกัน ผู้ซึ่ง ‘สวมเสื้อยาวสีขาว ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก.’ (วิวรณ์ 7:4, 9, ล.ม.) คนเหล่านี้จะกลายเป็นฝูงเดียวกับพวกผู้ถูกเจิมภายใต้ผู้เลี้ยงผู้เดียว คือพระเยซูคริสต์.—โยฮัน 10:16.
9. เหตุใดประชาชนของพระยะโฮวาจึงเป็น “สมบัติพิเศษ” สำหรับพระองค์?
9 พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อบรรดาผู้ตัดสินใจเลือกรับใช้พระองค์? ดังกล่าวในมาลาคี 3:17 พระองค์มีทัศนะต่อคนเหล่านี้เหมือนอย่างที่บิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักใคร่มีต่อบุตรของตน. และขอสังเกตถ้อยคำแสนอบอุ่นที่พระองค์ใช้พรรณนาประชาชนของพระองค์ นั่นคือ “สมบัติพิเศษ.” ฉบับแปลอื่น ๆ แปลถ้อยคำนี้ว่า “สมบัติที่เป็นของเราแต่ผู้เดียว,” “สมบัติที่มีค่าที่สุดของเรา,” และ “อัญมณีของเรา.” ทำไมพระยะโฮวาจึงมองผู้ที่รับใช้พระองค์ว่าเป็นสิ่งพิเศษขนาดนั้นสำหรับพระองค์? เหตุผลหนึ่งก็คือพระองค์เป็นพระเจ้าที่มีความหยั่งรู้ค่า. (เฮ็บราย 6:10) พระองค์เข้าใกล้ผู้ที่รับใช้พระองค์จากใจจริงและทรงมองว่าเป็นสิ่งพิเศษ.
10. พระยะโฮวาทรงปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างไร?
10 คุณนึกออกไหมว่าสมบัติชิ้นใดของคุณที่คุณถือว่าเป็นสมบัติพิเศษ? คุณจะพยายามปกป้องรักษาสมบัติชิ้นนั้นไว้มิใช่หรือ? พระยะโฮวาทรงทำอย่างเดียวกันนั้นกับ “สมบัติพิเศษ” ของพระองค์. จริงอยู่ พระองค์ไม่ได้ปกป้องประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ยากและเหตุการณ์น่าเศร้าสลดทุกอย่างในชีวิต. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) แต่ในด้านฝ่ายวิญญาณแล้ว พระยะโฮวาสามารถปกป้องและพระองค์จะทำเช่นนั้นสำหรับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. พระองค์ประทานกำลังที่พวกเขาจำเป็นต้องมีเพื่อจะทนความทุกข์ยากใด ๆ ก็ตาม. (1 โกรินโธ 10:13) ด้วยเหตุนี้ โมเซจึงบอกแก่ชาวอิสราเอลประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณว่า “จงมีกำลังเข้มแข็ง, และมีใจกล้า . . . พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าเสด็จไปด้วยเจ้า; พระองค์ไม่ทรงหย่อน [“ไม่ทรงทอดทิ้ง,” ล.ม.], ไม่ละทิ้งเจ้าทั้งหลายเลย.” (พระบัญญัติ 31:6) พระยะโฮวาปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์อย่างที่ก่อประโยชน์ต่อพวกเขา. พวกเขาเป็น “สมบัติพิเศษ” สำหรับพระองค์.
พระยะโฮวา “ผู้ประทานบำเหน็จ”
11, 12. การตระหนักถึงบทบาทของพระยะโฮวาในฐานะผู้ประทานบำเหน็จจะช่วยเราต้านทานความสงสัยได้อย่างไร?
11 หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ว่าพระยะโฮวาถือว่าผู้รับใช้ของพระองค์มีค่าคือ พระองค์ประทานบำเหน็จแก่พวกเขา. พระองค์บอกชาวอิสราเอลดังนี้: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า . . . ‘จงมาลองดูเราในเรื่องนี้, ดูทีหรือว่า, เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.’ ” (มาลาคี 3:10) แน่นอน พระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์ให้แก่ผู้รับใช้ของพระองค์ในที่สุด. (โยฮัน 5:24; วิวรณ์ 21:4) บำเหน็จอันประเมินค่ามิได้นี้แสดงถึงความรักและพระทัยเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวาซึ่งมีอย่างล้นเหลือ. อีกทั้งยังแสดงว่าพระองค์ถือว่าผู้ที่ตัดสินใจรับใช้พระองค์นั้นมีค่าอย่างแท้จริง. การเรียนรู้ที่จะมองพระยะโฮวาเป็นผู้ประทานบำเหน็จที่มีพระทัยกว้างจะช่วยเราต้านทานความสงสัยใด ๆ ก็ตามในเรื่องที่ว่าพระเจ้าทรงมองดูเราอย่างไร. แท้จริง พระยะโฮวาทรงกระตุ้นเราให้มองพระองค์ว่าเป็นผู้ประทานบำเหน็จ! เปาโลเขียนว่า “ผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.”—เฮ็บราย 11:6, ล.ม.
12 แน่นอน เรารับใช้พระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าพระองค์สัญญาไว้ว่าจะประทานบำเหน็จแก่เรา. ถึงกระนั้น การที่เรามีความหวังใจในเรื่องบำเหน็จ ก็ใช่ว่าจะไม่เหมาะสม หรือเป็นการเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด. (โกโลซาย 3:23, 24) เนื่องจากพระยะโฮวารักผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจังและทรงถือว่าคนเหล่านี้มีค่ายิ่ง พระองค์จึงริเริ่มที่จะประทานบำเหน็จแก่พวกเขา.
13. ทำไมการจัดเตรียมเรื่องค่าไถ่จึงเป็นหลักฐานยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงถึงความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อเรา?
13 หลักฐานยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงว่ามนุษยชาติมีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวาคือการจัดเตรียมในเรื่องค่าไถ่. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “พระเจ้าทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) การจัดเตรียมในเรื่องเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ตรงกันข้ามกับความคิดที่ว่าเราไม่มีค่าหรือไม่เป็นที่รักสำหรับพระยะโฮวา. อันที่จริง ถ้าพระยะโฮวาจ่ายแพงขนาดนั้นเพื่อเรา คือจ่ายด้วยชีวิตของพระบุตรองค์เดียวที่กำเนิดจากพระองค์ พระองค์ก็ต้องรักเรามากทีเดียว.
14. อะไรแสดงให้เห็นว่าเปาโลมองค่าไถ่อย่างไร?
14 ดังนั้น ถ้าความรู้สึกในแง่ลบผุดขึ้นมาในใจคุณ ก็ขอให้ใคร่ครวญเรื่องค่าไถ่. ถูกแล้ว ให้มองว่าของประทานนี้พระยะโฮวาจัดเตรียมให้คุณเป็นส่วนตัว. นี่คือสิ่งที่อัครสาวกเปาโลได้ทำ. ขอนึกถึงคำกล่าวของท่านที่ว่า “โอ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจจริง!” ทว่าหลังจากนั้น ท่านกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าขอบพระคุณของพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ผู้ “ได้ทรงรักข้าพเจ้า และได้ประทานพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า.” (โรม 7:24, 25; ฆะลาเตีย 2:20) โดยการกล่าวเช่นนี้ เปาโลไม่ได้เป็นคนที่ถือว่าตัวเองมีความสำคัญ. ท่านเพียงแต่มีความมั่นใจว่าพระยะโฮวาถือว่าท่านมีค่าในฐานะปัจเจกบุคคล. เช่นเดียวกับเปาโล คุณก็ควรเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนทัศนะเพื่อจะถือว่าค่าไถ่เป็นของประทานจากพระเจ้าที่มอบให้คุณเป็นส่วนตัว. พระยะโฮวาไม่ได้เป็นเพียงพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงฤทธิ์อำนาจ แต่เป็นผู้ประทานบำเหน็จที่เปี่ยมด้วยความรักอีกด้วย.
จงระวัง “ยุทธอุบาย” ของซาตาน
15-17. (ก) พญามารฉวยประโยชน์จากความรู้สึกในแง่ลบอย่างไร? (ข) เราสามารถได้กำลังใจอะไรจากประสบการณ์ของโยบ?
15 ถึงกระนั้น คุณอาจยังรู้สึกยากที่จะเชื่อว่าถ้อยคำปลอบประโลมที่มีขึ้นโดยการดลใจในพระคำของพระเจ้านั้นจะใช้กับคุณได้จริง ๆ. คุณอาจรู้สึกว่าบำเหน็จเรื่องชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ จะได้รับ แต่ตัวคุณไม่ควรจะได้เลย. ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้ คุณจะทำอะไรได้?
16 คุณคงคุ้นเคยดีกับคำเตือนของเปาโลที่ให้แก่คริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์ว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า, เพื่อจะต่อต้านยุทธอุบายของพญามารได้.” (เอเฟโซ 6:11) เมื่อเรานึกถึงกลอุบายของซาตาน เราอาจนึกถึงบางสิ่งทันที เช่น การนิยมวัตถุและการผิดศีลธรรมทางเพศ ซึ่งก็นับว่าถูกต้อง. สิ่งล่อใจเหล่านี้ได้ทำให้ประชาชนของพระเจ้าหลายคนทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบันติดกับ. อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามยุทธอุบายอีกอย่างหนึ่งของซาตาน นั่นคือ ความพยายามของมันที่จะทำให้ผู้คนเชื่อว่าเขาไม่เป็นที่รักของพระยะโฮวาพระเจ้า.
17 พญามารมีความชำนิชำนาญในการฉวยประโยชน์จากความรู้สึกเช่นนั้นเพื่อทำให้ผู้คนหันเหไปจากพระเจ้า. ขอนึกถึงคำพูดของบิลดัดที่กล่าวแก่โยบว่า “คนเราจะเป็นผู้ชอบธรรมต่อพระพักตร์พระเจ้าอย่างไรได้? นี่แน่ะในคลองพระเนตรของพระองค์. ดวงจันทร์ก็อับแสง, และดวงดาวก็ไม่หมดราคี. ถ้าอย่างนั้นมนุษย์อันเป็นเหมือนหนอนจะเลวยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด?” (โยบ 25:4-6; โยฮัน 8:44) คุณนึกออกไหมว่าคำพูดนี้คงต้องทำให้โยบท้อแท้สักเพียงไร? ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ซาตานทำให้คุณท้อใจ. ตรงกันข้าม จงรู้ถึงกลอุบายของซาตาน เพื่อที่คุณจะอดทนไม่ย่อท้อและสู้ให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง. (2 โกรินโธ 2:11) ในกรณีของโยบ แม้ท่านต้องได้รับการปรับความคิดให้ถูกต้องก็ตาม แต่พระยะโฮวาก็ประทานบำเหน็จสำหรับความอดทนของท่านโดยให้ท่านได้รับทุกสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาเป็นสองเท่า.—โยบ 42:10.
พระยะโฮวา “เป็นใหญ่กว่าใจของเรา”
18, 19. หมายความเช่นไรที่ว่าพระเจ้า “ทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา” และในทางใดที่พระองค์ “ทรงทราบสารพัตรทุกสิ่ง”?
18 เป็นที่ยอมรับกันว่าการห้ามความรู้สึกไม่ให้ท้อใจนั้นอาจเป็นเรื่องยาก หากความรู้สึกนั้นฝังลึกในจิตใจ. กระนั้น ทีละเล็กทีละน้อยพระวิญญาณของพระยะโฮวาสามารถช่วยคุณคว่ำ “สิ่งที่ฝังรากลึก . . . ที่ยกขึ้นต่อสู้ความรู้ของพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 10:4, 5, ล.ม.) เมื่อดูเหมือนคุณกำลังจะจมอยู่ในความคิดแง่ลบ ก็ขอให้คิดถึงคำกล่าวของอัครสาวกโยฮันที่ว่า “เหตุฉะนั้นเราจึงรู้ว่าเราอยู่ฝ่ายความจริง, และจะได้ตั้งใจของเราให้แน่วแน่จำเพาะพระองค์. เพราะถึงแม้ว่าใจของเราเองปรับโทษตัวเรา, พระเจ้าก็ยังทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา, และยังทรงทราบสารพัตรทุกสิ่ง.”—1 โยฮัน 3:19, 20.
19 ถ้อยคำที่ว่า “พระเจ้าก็ยังทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา” นั้น หมายความว่าอย่างไร? บางครั้งใจของเราอาจกล่าวโทษตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราสำนึกด้วยความปวดร้าวใจถึงความไม่สมบูรณ์และข้อบกพร่องของเรา. หรืออาจเนื่องจากภูมิหลังของเรา เรามีแนวโน้มที่จะคิดในแง่ลบมากเกินไปเกี่ยวกับตัวเอง ราวกับว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่มีอะไรสักอย่างจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา. ถ้อยคำของอัครสาวกโยฮันรับรองแก่เราว่าพระยะโฮวาทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา! พระองค์ทรงมองเลยผ่านความไม่สมบูรณ์ของเรา และทรงเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงในตัวเรา. พระองค์ทราบแรงกระตุ้นและเจตนาของเราด้วย. ดาวิดเขียนว่า “พระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) จริงทีเดียว พระองค์ทรงรู้จักเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเอง!
“มงกุฎงาม” และ “ราชมงกุฎ”
20. คำพยากรณ์ของยะซายาในเรื่องการฟื้นฟูเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับทัศนะที่พระยะโฮวามีต่อผู้รับใช้ของพระองค์?
20 โดยทางผู้พยากรณ์ยะซายา พระยะโฮวาทรงให้ความหวังเรื่องการฟื้นฟูแก่ประชาชนของพระองค์ในสมัยโบราณ. ขณะตกเป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน คำปลอบโยนและคำรับรองดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ท้อแท้สิ้นหวังเหล่านี้ต้องการอยู่พอดี! เมื่อมองไปยังอนาคตถึงสมัยที่พวกเขาจะได้กลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน พระยะโฮวาแถลงว่า “เจ้าจะเป็นมงกุฎงามในพระหัตถ์ของพระเจ้า และเป็นราชมงกุฎในพระหัตถ์แห่งพระเจ้าของเจ้า.” (ยะซายา 62:3, ฉบับแปลใหม่) ด้วยคำตรัสเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงตกแต่งประชาชนของพระองค์ให้มีเกียรติศักดิ์และความสง่างาม. พระองค์ทรงทำอย่างเดียวกันนั้นกับชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณในปัจจุบันนี้ ประหนึ่งพระองค์ยกชูพวกเขาสู่ตำแหน่งสูงเพื่อให้เป็นที่ชื่นชมแก่คนทั้งปวง.
21. คุณจะทำอะไรได้เพื่อจะมีความมั่นใจที่ว่าพระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จสำหรับความเพียรอดทนอย่างซื่อสัตย์ของคุณ?
21 แม้ว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงกับผู้ถูกเจิมเป็นสำคัญ แต่ก็เป็นการให้ตัวอย่างที่แสดงว่าพระยะโฮวาทรงมอบเกียรติศักดิ์ให้แก่ทุกคนที่รับใช้พระองค์. ดังนั้น เมื่อถูกรุมเร้าด้วยความสงสัย ก็ขออย่าลืมว่าแม้คุณจะไม่สมบูรณ์ แต่คุณก็มีค่าสำหรับพระยะโฮวาดุจดัง “มงกุฎงาม” และ “ราชมงกุฎ.” ด้วยเหตุนี้ จงทำให้พระหฤทัยของพระองค์ปีติยินดีต่อ ๆ ไปด้วยการพยายามทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างจริงจัง. (สุภาษิต 27:11) โดยการทำเช่นนี้ คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จสำหรับความเพียรอดทนอย่างซื่อสัตย์ของคุณ!
[เชิงอรรถ]
a บางชื่อมีการเปลี่ยน.
คุณจำได้ไหม?
• เราเป็น “สมบัติพิเศษ” ของพระยะโฮวาอย่างไร?
• ทำไมการมองพระยะโฮวาว่าเป็นผู้ประทานบำเหน็จจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
• เราต้องระวัง “ยุทธอุบาย” อะไรบ้างของซาตาน?
• พระเจ้า “ทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา” ในทางใด?
[ภาพหน้า 26]
เปาโล
[ภาพหน้า 26]
เอลียา
[ภาพหน้า 26]
นางฮันนา
[ภาพหน้า 28]
พระคำของพระเจ้าบรรจุข้อคิดที่ปลอบประโลมใจไว้มากมาย