-
พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่งหอสังเกตการณ์ 1992 | 1 ธันวาคม
-
-
ถูกพิพากษาโดย “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้”
18. (ก) พระยะโฮวาได้เตือนล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของใคร? (ข) การเสด็จมายังพระวิหารมีขึ้นเมื่อไร มีใครเกี่ยวข้องด้วย และผลเป็นอย่างไรสำหรับชาวยิศราเอล?
18 อนึ่ง พระยะโฮวาได้เตือนผ่านมาลาคีว่าพระองค์จะเสด็จมาพิพากษาไพร่พลของพระองค์. “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา. และโดยกะทันหัน องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้จะเสด็จมายังวิหารของพระองค์ ผู้ซึ่งเจ้าทั้งหลายกำลังแสวงหา และทูตแห่งคำสัญญาไมตรีผู้ซึ่งเจ้าชื่นชอบนั้น. ดูแน่ะ! ท่านจะมาแน่.” (มาลาคี 3:1, ล.ม.) การเสด็จมายังพระวิหารตามที่ได้สัญญาไว้นั้นมีขึ้นเมื่อไร? ที่มัดธาย 11:10 พระเยซูได้ยกคำพยากรณ์ของมาลาคีว่าด้วยทูตองค์นั้นซึ่งจะเสด็จมาเตรียมทางและแสดงให้เห็นว่าทูตนั้นได้แก่โยฮันผู้ให้บัพติสมา. (มาลาคี 4:5; มัดธาย 11:14) ดังนั้น ในปีสากลศักราช 29 เวลาสำหรับการพิพากษาก็มาถึง! ใครคือทูตองค์ที่สอง ทูตแห่งคำสัญญาไมตรีซึ่งจะเสด็จมายังพระวิหารกับพระยะโฮวา “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้”? พระเยซูนั่นเอง และพระองค์ได้เสด็จไปที่พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมสองครั้ง และได้ชำระพระวิหารอย่างน่าทึ่ง โดยทรงขับไล่พวกแลกเงินที่ทำการอย่างปราศจากศีลธรรม. (มาระโก 11:15-17; โยฮัน 2:14-17) เกี่ยวด้วยช่วงเวลาพิพากษาครั้งศตวรรษแรก พระยะโฮวาตรัสถามเชิงพยากรณ์ดังนี้: “แต่ผู้ใดจะรอหน้าอยู่ได้ในวันที่พระองค์เสด็จมา, และผู้ใดจะเผชิญหน้าอยู่ได้เมื่อพระองค์ปรากฏพระกาย?” (มาลาคี 3:2) ที่จริง ชาติยิศราเอลเผชิญหน้าไม่ได้เลย. พวกเขาถูกตรวจตรา, ปรากฏว่าเขาบกพร่อง และในปีสากลศักราช 33 พวกเขาถูกตัดขาดมิได้เป็นชาติที่เลือกสรรของพระยะโฮวาอีกต่อไป.—มัดธาย 23:37-39.
19. โดยวิธีใดชนที่เหลือได้กลับมาหาพระยะโฮวาในศตวรรษแรก และพวกเขาได้รับพระพรอะไร?
19 อย่างไรก็ตาม มาลาคีก็ได้เขียนด้วยว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะนั่งลงเหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน พระองค์จะถลุงลูกชายทั้งหลายของพวกเลวีดุจดังถลุงทองและเงิน, เพื่อเขาทั้งหลายจะถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจบริสุทธิ์.” (มาลาคี 3:3) ประสานกับเรื่องนี้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งอ้างว่าตนปฏิบัติพระยะโฮวาสมัยศตวรรษแรกถูกตัดออกไป มีบางคนได้รับการชำระและกลับมาหาพระยะโฮวา ถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่พอพระทัย. ใครล่ะ? บรรดาผู้ที่ตอบรับพระเยซู ทูตแห่งคำสัญญาไมตรี. ณ วันเพนเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 นั้น มี 120 คนจากชนที่ตอบรับได้รวมตัวกันเข้ามาอยู่ที่ห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลม. ครั้นได้รับการชูกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นถวายเครื่องบูชาด้วยความชอบธรรม และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว. ในไม่ช้า พวกเขาได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิโรมัน. (กิจการ 2:41; 4:4; 5:14) โดยวิธีนี้ ชนที่เหลือได้กลับมาหาพระยะโฮวา.—มาลาคี 3:7.
20. เมื่อกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารถูกทำลาย เกิดอะไรขึ้นกับยิศราเอลใหม่ของพระเจ้า?
20 ชนที่เหลือแห่งยิศราเอล ซึ่งต่อมารวมเอาคนต่างชาติด้วยที่เสมือนนำมาต่อไว้กับรากเหง้าของยิศราเอล เป็น “ยิศราเอลใหม่” ของพระเจ้า เป็นชาติหนึ่งประกอบด้วยคริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:16; โรม 11:17, ฉบับแปลใหม่) ในปีสากลศักราช 70 ‘วันอันร้อนแรงดุจไฟในเตาหลอม’ ก็ได้มาถึงยิศราเอลโดยกำเนิดเมื่อกรุงยะรูซาเลมพร้อมด้วยวิหารประจำกรุงถูกกองทัพโรมันทำลายย่อยยับ. (มาลาคี 4:1; ลูกา 19:41-44) เกิดอะไรขึ้นกับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า? พระยะโฮวาทรง “เมตตาเขาเหมือนอย่างพ่อได้เมตตาลูก, ลูกคนที่ได้ปรนนิบัติพ่อนั้น.” (มาลาคี 3:17) ประชาคมคริสเตียนที่รับการเจิมได้เชื่อฟังคำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระเยซู. (มัดธาย 24:15, 16) พวกเขารอดพ้น และพระพรของพระยะโฮวาก็ได้กระทำให้เขามั่งคั่งฝ่ายวิญญาณอยู่เรื่อยมา.
21. ยังมีคำถามอะไรค้างไว้เกี่ยวกับมาลาคี 3:1 และ 10?
21 ช่างเป็นการเชิดชูพระยะโฮวาอะไรเช่นนั้น! แต่พระธรรมมาลาคี 3:1 สำเร็จสมจริงอย่างไรในสมัยนี้? และคริสเตียนพึงตอบรับอย่างไรต่อการสนับสนุนของมาลาคี 3:10 ที่ให้นำเอาส่วนสิบชักหนึ่งมาเก็บไว้ในคลังทั้งหมด? เรื่องนี้จะมีการพิจารณากันในบทความถัดไป.
-
-
“จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง”หอสังเกตการณ์ 1992 | 1 ธันวาคม
-
-
1. (ก) สมัยศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาได้เชิญชวนไพร่พลของพระองค์กระทำอะไร? (ข) ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ผลเป็นประการใดเมื่อพระยะโฮวาเสด็จยังพระวิหารเพื่อการพิพากษา?
ในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช ชนชาติยิศราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. พวกเขาขยักส่วนสิบชักหนึ่งไว้ทั้งได้นำสัตว์ที่ไม่เหมาะจะเป็นเครื่องบูชามาถวาย. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาว่าถ้าพวกเขาจะให้ส่วนสิบชักหนึ่งครบถ้วนและนำเก็บไว้ในคลัง พระองค์จะเทพระพรประทานแก่เขาจนเกินความต้องการ. (มาลาคี 3:8-10) ประมาณ 500 ปีต่อมา พระเยซูตัวแทนของพระยะโฮวาฐานะทูตแห่งคำสัญญาไมตรีได้เสด็จมายังพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมเพื่อพิพากษา. (มาลาคี 3:1) ชาติยิศราเอลโดยส่วนรวมแล้วปรากฏว่าบกพร่อง แต่บรรดาผู้ที่ได้กลับมาหาพระยะโฮวาต่างคนก็ได้รับพระพรอันอุดม. (มาลาคี 3:7) พวกเขาได้รับการเจิมเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา, เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่, เป็น “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16, ฉบับแปลใหม่; โรม 3:25, 26.
2. คำตรัสที่มาลาคี 3:1-10 ถึงกำหนดบรรลุความสมจริงครั้งที่สองเมื่อไร และเราได้รับคำเชิญชวนให้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
2 ภายหลังเหตุการณ์นั้นเกือบ 1,900 ปี ในปี 1914 พระเยซูได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ราชอาณาจักรภาคสวรรค์ของพระเจ้า และคำตรัสโดยการดลบันดาลของพระเจ้าที่มาลาคี 3:1-10 ก็ถึงกำหนดสำเร็จสมจริงเป็นครั้งที่สอง. เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นเช่นนี้ คริสเตียนสมัยนี้ได้รับคำเชิญชวนให้นำส่วนสิบชักหนึ่งครบจำนวนมาเก็บไว้ที่คลัง. หากเราทำตามคำเชิญชวน เราย่อมจะรับพระพรจนกระทั่งเกินความต้องการ.
3. ใครคือทูตที่เตรียมทางไว้ก่อนพระยะโฮวาเสด็จ (ก) ในศตวรรษที่หนึ่ง? (ข) ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
3 เรื่องการเสด็จของพระยะโฮวายังพระวิหาร พระองค์ตรัสดังนี้: “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราออกไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา.” (มาลาคี 3:1, ล.ม.) เมื่อคำพยากรณ์ตอนนี้สำเร็จในศตวรรษแรก โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ไปยังชาวยิศราเอลประกาศการกลับใจจากบาป. (มาระโก 1:2, 3) มีการตระเตรียมงานไหมเกี่ยวกับการเสด็จยังพระวิหารครั้งที่สองของพระยะโฮวา? มีซิ. หลายสิบปีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ปรากฏตัวในฉากของโลก สั่งสอนหลักธรรมอันถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิลล้วน ๆ และเปิดโปงคำสอนเท็จที่หลู่เกียรติพระเจ้า เช่น คำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพและเรื่องไฟนรก. ชนเหล่านี้ยังได้เตือนด้วยว่าเวลากำหนดสำหรับคนต่างชาติจะสิ้นสุดในปี 1914. คนเป็นอันมากได้สนองตอบชนเหล่านี้ที่ถือความสว่างแห่งความจริง.—บทเพลงสรรเสริญ 43:3; มัดธาย 5:14, 16.
4. คำถามอะไรต้องได้รับการชี้ขาดลงไประหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
4 ปี 1914 สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ได้เริ่มต้น. (วิวรณ์ 1:10) เหตุการณ์ต่าง ๆ อันใหญ่โตจะต้องอุบัติขึ้นในช่วงวันนั้น รวมไปถึงการชี้ตัว “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” และการตั้งชนจำพวกนั้น “ให้ดูแลสิ่งของทั้งปวงของท่าน [ของของนาย].” (มัดธาย 24:45-47) ย้อนไปในปี 1914 คริสต์จักรต่าง ๆ นับพันได้อ้างตัวเป็นคริสเตียน. พระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายจะรับรองกลุ่มไหนหรือคณะใดเป็นบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดของพระองค์? คำถามดังกล่าวต้องได้รับการชี้ขาดลงไปเมื่อพระยะโฮวาเสด็จมายังพระวิหาร.
เสด็จมายังวิหารฝ่ายวิญญาณ
5, 6. (ก) พระยะโฮวาได้เสด็จมายังพระวิหารหลังไหนเพื่อดำเนินการพิพากษา? (ข) คริสต์ศาสนจักรได้รับการพิพากษาอะไรจากพระยะโฮวา?
5 กระนั้น พระองค์ได้เสด็จมายังวิหารไหนล่ะ? เป็นที่ชัดแจ้งว่าไม่ใช่วิหารตามตัวอักษรในกรุงยะรูซาเลม. วิหารหลังสุดท้ายได้ถูกทำลายไปแล้วเมื่อปีสากลศักราช70. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงมีวิหารที่ยิ่งใหญ่กว่าวิหารที่กรุงยะรูซาเลมซึ่งเคยเป็นภาพเล็งถึง. เปาโลกล่าวถึงวิหารที่ใหญ่กว่าหลังนี้และชี้ให้เห็นด้วยว่าจริง ๆ แล้วใหญ่เพียงใด มีสถานบริสุทธิ์อยู่ในสรวงสวรรค์และลานวิหารบนแผ่นดินโลกนี้. (เฮ็บราย 9:11, 12, 24; 10:19, 20) พระยะโฮวาได้เสด็จยังวิหารฝ่ายวิญญาณหลังมโหฬารนี้แหละเพื่อดำเนินการพิพากษา.—เทียบกับวิวรณ์ 11:1; 15:8.
6 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร? ตามพยานหลักฐานที่มีมากมาย เกิดขึ้นในปี 1918.a ผลเป็นอย่างไร? ส่วนคริสต์ศาสนจักร พระยะโฮวาทรงมองเห็นว่าเป็นองค์การหนึ่งซึ่งมือชุ่มโชกไปด้วยโลหิต, ระบบทางศาสนาเสื่อมทรามทำตัวเองเป็นแพศยากับโลกนี้, มีสัมพันธไมตรีกับคนร่ำรวยและกดขี่คนยากจน, สั่งสอนโดยการยึดถือหลักศาสนานอกรีตแทนการปฏิบัตินมัสการอย่างบริสุทธิ์สะอาด. (ยาโกโบ 1:27; 4:4) พระยะโฮวาได้ทรงเตือนโดยทางมาลาคีดังนี้: “เราจะเป็นพยานที่รวดเร็วที่กล่าวโทษนักวิทยาคม, พวกผิดประเวณี, ผู้ที่สบถเท็จ, ผู้ที่บีบบังคับลูกจ้างในเรื่องค่าจ้าง, และแม่ม่ายและลูกกำพร้าพ่อ.” (มาลาคี 3:5, ฉบับแปลใหม่) คริสต์ศาสนจักรได้ทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วทุกอย่างและชั่วร้ายยิ่งกว่านั้นอีก. พอมาในปี 1919 เป็นที่รู้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาได้ปรับโทษให้คริสต์ศาสนจักรพินาศพร้อมกับส่วนอื่น ๆ ของบาบูโลนใหญ่ โครงร่างทั้งหมดแห่งศาสนาเท็จทั่วโลก. นับแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่าผู้ชอบธรรมก็ได้ยินเสียงเรียกดังนี้: “ดูก่อนพวกพลเมืองของเรา, จงออกมาจากเมืองนั้นเถิด.”—วิวรณ์ 18:1, 4.
-