ได้ประโยชน์จาก—‘อาหารจากฟ้าสวรรค์’
ไม่นานหลังจากชาวยิศราเอลได้รับการปลดปล่อยอย่างอัศจรรย์จากอียิปต์ พวกเขาแสดงการขาดความเชื่ออย่างร้ายแรงต่อผู้ที่ช่วยเขาให้รอด คือพระยะโฮวา. ผลก็คือ พระยะโฮวาทรงให้พวกเขาวนเวียนอยู่ในถิ่นทุรกันดารซีนายเป็นเวลา 40 ปี. ตลอดเวลานั้น ชาวยิศราเอลและ “ฝูงชนชาติอื่นเป็นอันมาก” ที่ตามพวกเขาไปต่างกินและดื่มจน “อิ่มหนำ.” (เอ็กโซโด 12:37, 38) บทเพลงสรรเสริญ 78:23-25 บอกเราว่าเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร: “พระองค์ [พระยะโฮวา] ยังได้ทรงบังคับบัญชาท้องฟ้าเบื้องบน, และได้ทรงเปิดประตูแห่งฟ้าสวรรค์; พระองค์ทรงประทานมานาลงมาเหมือนห่าฝนให้เขากิน, คือทรงประทานอาหารให้เขาจากฟ้าสวรรค์, มนุษย์ได้รับประทานอาหารวิเศษ [“อาหารของเหล่าผู้ทรงฤทธิ์,” ล.ม.]. พระองค์ทรงประทานให้เขามีอาหารบริบูรณ์.”
โมเซพรรณนาอาหารชนิดพิเศษนี้ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่กินมานา. ท่านบันทึกว่า ในตอนเช้า “เมื่อน้ำค้างหายไปแล้วก็เห็นมีเม็ดเล็ก ๆ กลม ๆ เหมือนหิมะอยู่ที่พื้นดินในป่ากันดาร. เมื่อชนชาติยิศราเอลได้เห็น, จึงพูดกันว่า, ‘นี่อะไรหนอ?’” หรือตามตัวอักษรในภาษาฮีบรูคือ “มาน ฮู?” คำพูดนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของคำ “มานา” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวยิศราเอลใช้เรียกอาหารชนิดนี้. โมเซกล่าวว่า มานา “เป็นเมล็ดขาวเหมือนเมล็ดผักชี; มีรสเหมือนขนมปังผสมด้วยน้ำผึ้ง.”—เอ็กโซโด 16:13-15, 31, ล.ม. เชิงอรรถ.
มานาไม่ใช่อาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังที่บางคนอ้าง. มีอำนาจเหนือธรรมชาติพัวพันกับการจัดเตรียมอาหารชนิดนี้. ตัวอย่างเช่น มันไม่ได้มีจำกัดอยู่เฉพาะในบางพื้นที่หรือในบางฤดูกาล. ถ้าเก็บค้างคืนไว้ มันจะมีหนอนขึ้นและเริ่มมีกลิ่นเหม็น; แต่เมื่อทุกครอบครัวเก็บไว้สองเท่าในวันก่อนวันซะบาโตประจำสัปดาห์ มันไม่ได้เสียเมื่อเก็บไว้ค้างคืน และจึงกินได้ในวันซะบาโต ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีมานาปรากฏ. แน่นอน มานาเป็นการจัดเตรียมอันมหัศจรรย์.—เอ็กโซโด 16:19-30.
การกล่าวถึง “เหล่าผู้ทรงฤทธิ์” หรือ “เหล่าทูตสวรรค์” ในบทเพลงสรรเสริญ 78 บ่งว่าพระยะโฮวาอาจใช้ทูตสวรรค์ในการประทานมานา. (บทเพลงสรรเสริญ 78:25, ล.ม. เชิงอรรถ) ไม่ว่าจะอย่างไร ประชาชนสมควรยิ่งที่จะขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระกรุณาคุณของพระองค์. อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่แสดงความหยั่งรู้ค่ากระทั่งต่อผู้ที่ปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นทาสในอียิปต์. พวกเราก็เช่นกันอาจดูเบาสิ่งจัดเตรียมที่มาจากพระยะโฮวาหรือกระทั่งกลายเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณถ้าเราไม่ได้คิดใคร่ครวญถึงความรักกรุณาของพระองค์. ดังนั้น เราจึงขอบพระคุณที่พระยะโฮวาทรงรวมบันทึกการช่วยให้รอดของชาติยิศราเอลและเหตุการณ์ที่ติดตามมาเพื่อ “สั่งสอนเราทั้งหลาย.”—โรม 15:4.
บทเรียนสำหรับชาวยิศราเอลเป็นประโยชน์แก่คริสเตียน
เมื่อพระยะโฮวาทรงประทานมานา พระองค์ไม่ได้คำนึงถึงแค่จะสนองความจำเป็นด้านร่างกายของชาวยิศราเอลประมาณสามล้านคนเท่านั้น. พระองค์ประสงค์จะ ‘กระทำให้พวกเขาถ่อมใจและทดลองพวกเขา’ เพื่อชำระและตีสอนพวกเขาเพื่อประโยชน์ของเขาเอง. (พระบัญญัติ 8:16, ฉบับแปลใหม่; ยะซายา 48:17) ถ้าพวกเขาตอบรับการชำระและการตีสอนนั้น พระยะโฮวาก็จะทรงยินดีในการ ‘กระทำให้เกิดประโยชน์แก่พวกเขาในบั้นปลาย’ โดยบันดาลให้เขามีสันติสุข, ความจำเริญ, และความสุขอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญา.
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้คือ “มนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่จะมีชีวิตอยู่เพราะบรรดาพระวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.” (พระบัญญัติ 8:3) ถ้าพระเจ้ามิได้ประทานมานาให้ ฝูงชนก็คงจะอดตาย ซึ่งเป็นความจริงที่พวกเขาต้องยอมรับ. (เอ็กโซโด 16:3, 4) ชาวยิศราเอลที่มีความหยั่งรู้ค่าได้รับการเตือนวันแล้ววันเล่าถึงการที่พวกเขาต้องพึ่งอาศัยในพระยะโฮวาโดยสิ้นเชิง และจึงถูกทำให้ถ่อมลง. ครั้นเข้าไปอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญาและมีทรัพย์สมบัติมั่งคั่งแล้ว คนเหล่านี้ไม่น่าจะลืมพระยะโฮวาและการที่พวกเขาพึ่งอาศัยในพระองค์.
เหมือนชาวยิศราเอล คริสเตียนก็ต้องตระหนักอยู่เสมอถึงการที่พวกเขาพึ่งอาศัยในพระเจ้าเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 5:3; 6:31-33) ในการโต้ตอบการล่อใจครั้งหนึ่งของพญามาร พระเยซูคริสต์ทรงยกถ้อยคำของโมเซดังที่พบในพระบัญญัติ 8:3 มากล่าวที่ว่า “มีคำเขียนไว้ว่า, มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.” (มัดธาย 4:4) ถูกแล้ว ผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าได้รับการบำรุงเลี้ยงโดยการอ่านพระดำรัสของพระยะโฮวาที่อยู่ในพระคำของพระองค์. นอกจากนั้น ความเชื่อของพวกเขาจะเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อพวกเขาประสบกับผลประโยชน์ของพระดำรัสเหล่านั้นที่มีต่อชีวิตของตน ขณะที่เขาดำเนินกับพระเจ้าและจัดเอาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรไว้เป็นอันดับแรก.
มนุษย์ไม่สมบูรณ์อาจสูญเสียความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ที่กลายมาเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะส่อให้เห็นถึงความห่วงใยด้วยความรักจากพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น การจัดเตรียมมานาด้วยวิธีเหนือธรรมชาติตอนแรกทำให้ชาวยิศราเอลทั้งประหลาดใจและยินดี แต่ต่อมาพวกเขาหลายคนบ่น. พวกเขาบ่นอย่างไม่แสดงความนับถือว่า “จิตใจของเราก็เบื่อบางอาหารอันจืดจางนี้” ซึ่งการพูดเช่นนี้บ่งบอกว่าพวกเขาเริ่ม “หลงไปจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (อาฤธโม 11:6; 21:5; เฮ็บราย 3:12) ดังนั้น ตัวอย่างของพวกเขาจึง “เตือนสติเราทั้งหลายผู้อยู่ในปัจจุบันนี้, ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในกาลสุดปลายของแผ่นดินโลก.”—1 โกรินโธ 10:11.
เราจะเอาใจใส่ตัวอย่างที่เป็นคำเตือนนี้ได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือไม่ปล่อยให้คำสอนจากคัมภีร์ไบเบิลหรือการจัดเตรียมที่เราได้รับผ่านทางชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมกลายเป็นสิ่งธรรมดาหรือไม่สำคัญ. (มัดธาย 24:45) ครั้นเราเริ่มดูเบาหรือเบื่อหน่ายของประทานจากพระยะโฮวา ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ก็เริ่มเย็นชาลง.
ด้วยเหตุผลที่ดี พระยะโฮวาไม่ได้ทรงประทานสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นให้เราตลอดเวลา. แต่พระองค์กลับค่อย ๆ เพิ่มความสว่างเกี่ยวกับพระคำของพระองค์เป็นขั้น ๆ. (สุภาษิต 4:18) วิธีนี้ทำให้ไพร่พลของพระองค์ซึมซับและนำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปใช้ได้. พระเยซูปฏิบัติตามตัวอย่างของพระบิดาของพระองค์เมื่อทรงสอนสาวกรุ่นแรกของพระองค์. พระองค์ทรงอธิบายพระคำของพระเจ้าให้พวกเขา “ตามที่เขาจะฟังเข้าใจได้.”—มาระโก 4:33; เทียบกับโยฮัน 16:12.
เสริมความหยั่งรู้ค่าต่อของประทานจากพระเจ้า
นอกจากนั้น พระเยซูทรงใช้การทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก. แน่นอน จิตใจอาจเข้าใจจุดสำคัญบางจุดได้เป็นอย่างดี เช่น หลักการในคัมภีร์ไบเบิล แต่การทำให้หลักการนั้นซึมลึกลงไปในหัวใจและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของ “บุคลิกภาพใหม่” แบบคริสเตียนอาจต้องใช้เวลานานกว่า โดยเฉพาะเมื่อแนวทางและทัศนะเก่าแบบโลกฝังรากลึก. (เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม.) นั่นเป็นกรณีของสาวกของพระเยซูอย่างแน่นอนเมื่อมาถึงการเอาชนะความหยิ่งและเสริมสร้างความถ่อม. พระเยซูต้องสอนพวกเขาเรื่องความถ่อมในหลายโอกาส แต่ละครั้งพระองค์เสนอจุดสำคัญพื้นฐานจากแง่มุมต่างกันเพื่อที่เรื่องนั้นจะฝังลึกลงไป ซึ่งในที่สุดก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ.—มัดธาย 18:1-4; 23:11, 12; ลูกา 14:7-11; โยฮัน 13:5, 12-17.
ในสมัยปัจจุบัน การประชุมคริสเตียนและสรรพหนังสือของว็อชเทาเวอร์ติดตามตัวอย่างของพระเยซูในการทวนซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบที่ใช้ความคิด. ดังนั้น ขอให้เราหยั่งรู้ค่าสิ่งนี้ฐานะเป็นการสำแดงความห่วงใยด้วยความรักจากพระเจ้าต่อพวกเราและอย่าให้เราเบื่อหน่ายสิ่งที่เราได้รับ เหมือนกับชาวยิศราเอลที่เบื่อมานา. ที่จริง ขณะที่เราอดทนมุ่งมั่นในการซึมซับข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาที่มีมาเป็นประจำ เราจะเห็นผลประโยชน์ในชีวิตของเรา. (2 เปโตร 3:1) ทัศนะที่หยั่งรู้ค่าเช่นนี้แท้จริงแสดงว่าเรา “เข้าใจ” ความหมายของพระคำของพระเจ้าในหัวใจของเราไม่เพียงแต่ในจิตใจเท่านั้น. (มัดธาย 13:15, 19, 23) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามีตัวอย่างที่ดีของดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งแม้ว่าไม่ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณหลากหลายเช่นที่เราได้รับในสมัยนี้ ก็พรรณนาข้อกฎหมายของพระยะโฮวาว่า “หวานยิ่งกว่าน้ำผึ้งคือน้ำผึ้งที่หยดจากรวง.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:10.
“มานา” ที่ให้ชีวิตนิรันดร์
พระเยซูตรัสแก่พวกยิวว่า “เราเป็นทิพย์อาหารแห่งชีวิตนั้น. บรรพบุรุษของท่านทั้งหลายได้กินมานาในป่าและตายเสียแล้ว. . . . เราเป็นอาหารที่มีชีวิตอยู่ซึ่งลงมาจากสวรรค์ ถ้าผู้ใดจะกินอาหารนี้, ผู้นั้นจะมีชีวิตนิรันดร์ และอาหารที่เราจะให้นั้นคือเนื้อของเรา, ซึ่งเราจะให้เพื่อเป็นชีวิตของโลก.” (โยฮัน 6:48-51) อาหารหรือมานาตามตัวอักษรไม่ได้ให้ชีวิตนิรันดร์ และก็ไม่สามารถให้ได้. แต่คนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูในที่สุดจะได้รับพระพรคือชีวิตนิรันดร์.—มัดธาย 20:28.
ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ของพระเยซูจะมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. “ชนฝูงใหญ่” ในบรรดาคนเหล่านี้ ซึ่งมีภาพเล็งถึงโดย “ฝูงชนชาติอื่นเป็นอันมาก” ที่ร่วมกับชาวยิศราเอลในการอพยพออกจากอียิปต์ จะรอดพ้นจาก “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังจะมาถึงซึ่งจะขจัดความชั่วช้าออกจากแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 7:9, 10, 14, ล.ม.; เอ็กโซโด 12:38) คนเหล่านั้นที่ชาวยิศราเอลเองเป็นภาพเล็งถึงได้รับบำเหน็จที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก. อัครสาวกเปาโลพรรณนาถึงคนเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน 144,000 คนว่า ประกอบกันขึ้นเป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. บำเหน็จของพวกเขาเมื่อเสียชีวิตคือการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตภาคสวรรค์. (ฆะลาเตีย 6:16; เฮ็บราย 3:1; วิวรณ์ 14:1) ที่นั่น พระเยซูจะประทานมานาชนิดพิเศษให้แก่เขา.
ความหมายของ “มานาที่ซ่อนอยู่”
พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ตรัสแก่ชาติยิศราเอลฝ่ายวิญญาณว่า “ถ้าผู้ใดมีชัยชนะเราจะให้ผู้นั้นกินมานาที่ซ่อนอยู่.” (วิวรณ์ 2:17) มานาที่ซ่อนอยู่ซึ่งมีความหมายเป็นนัยนี้ทำให้เราระลึกถึงมานาที่พระเจ้าทรงบัญชาให้โมเซเก็บไว้ในโถทองคำที่อยู่ข้างในหีบสัญญาไมตรีศักดิ์สิทธิ์. หีบนี้เคยอยู่ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดในพลับพลา. ที่นั่นไม่มีใครได้เห็น หรืออีกนัยหนึ่งคือซ่อนอยู่. โดยที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ ตัวอย่างมานานี้ไม่ได้เน่าเสียไปขณะที่อยู่ในหีบสัญญาไมตรี มานาที่ว่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะเจาะของเสบียงอาหารที่ไม่อาจเน่าเสียไปได้. (เอ็กโซโด 16:32; เฮ็บราย 9:3, 4, 23, 24) ในการประทานมานาที่ซ่อนอยู่ให้แก่ชน 144,000 คน พระเยซูทรงรับรองว่าพวกเขาจะได้รับสภาพอมตะและความไม่เน่าเปื่อยในฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า.—โยฮัน 6:51; 1 โกรินโธ 15:54.
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “น้ำพุแห่งชีวิตดำรงอยู่กับพระองค์ [พระยะโฮวา].” (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) การจัดเตรียมมานา ทั้งตามตัวอักษรและเป็นนัย ยืนยันความจริงขั้นพื้นฐานข้อนี้อย่างดีเพียงไร! มานาที่พระเจ้าประทานให้ชาติยิศราเอลโบราณ, มานาเชิงอุปมาซึ่งพระองค์ประทานให้ในลักษณะของพระกายของพระเยซูเพื่อประโยชน์ของพวกเรา, และมานาที่ซ่อนอยู่ซึ่งมีความหมายเป็นนัยที่พระองค์ประทานผ่านทางพระเยซูให้แก่ชน 144,000 คนต่างเตือนเราทุกคนว่าเราพึ่งอาศัยพระเจ้าอย่างเต็มที่เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่. (บทเพลงสรรเสริญ 39:5, 7) ขอให้เรายอมรับการพึ่งพาอาศัยนี้อย่างถ่อมใจและเจียมตนเสมอ. แล้วพระยะโฮวาก็จะทรง ‘ให้พวกเราได้ความจำเริญ.’—พระบัญญัติ 8:16.
[รูปภาพหน้า 26]
เพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์ มนุษย์ทุกคนต้องพึ่งอาศัย “อาหารที่มีชีวิตอยู่ซึ่งลงมาจากสวรรค์”
[รูปภาพหน้า 28]
การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนทุกรายการแสดงว่าเราหยั่งรู้ค่าข้อเตือนใจจากพระยะโฮวา