“จงมีกำลังขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า”
“จงมีกำลังขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า, และในเรี่ยวแรงแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์.”—เอเฟโซ 6:10.
1. (ก) มีการต่อสู้ที่ผิดธรรมดาอะไรเกิดขึ้นราว 3,000 ปีมาแล้ว? (ข) ทำไมดาวิดจึงเป็นฝ่ายชนะ?
ราว 3,000 ปีมาแล้ว นักรบสองคนประจันหน้ากันในสนามรบระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย. คนที่อายุอ่อนกว่าเป็นเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะชื่อดาวิด. ที่ยืนอยู่ต่อหน้าเด็กหนุ่มนั้นคือฆาละยัธ ผู้มีร่างกำยำสูงใหญ่ผิดธรรมดา. เสื้อเกราะของเขาหนักประมาณ 57 กิโลกรัม และเขาถือหอกใหญ่และหนักพร้อมกับดาบเล่มใหญ่. ดาวิดไม่สวมเสื้อเกราะเลย อาวุธของท่านมีแต่สลิง. ฆาละยัธร่างยักษ์ชาวฟิลิสตินคนนี้รู้สึกถูกสบประมาทที่ชาวอิสราเอลผู้ออกมาต่อสู้กับเขาเป็นแค่เพียงเด็กหนุ่ม. (1 ซามูเอล 17:42-44) สำหรับผู้ชมการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ดูเหมือนบอกได้เลยว่าผลน่าจะออกมาอย่างไร. แต่ผู้ที่มีกำลังมากใช่ว่าจะชนะการศึกเสมอไป. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) ผลปรากฏว่าดาวิดได้ชัยชนะ เนื่องจากท่านต่อสู้โดยพึ่งอาศัยกำลังของพระยะโฮวา. ท่านกล่าวว่า “การสงครามนั้นเป็นของพระยะโฮวา.” บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลให้ข้อสังเกตว่า “ดาวิดได้ชัยชนะ [“พิสูจน์ตัวว่าแข็งแรงกว่า,” ล.ม.] ชาวฟะลิศตีมด้วยก้อนกรวดกับสลิง.”—1 ซามูเอล 17:47, 50.
2. คริสเตียนมีส่วนร่วมในการต่อสู้ชนิดใด?
2 คริสเตียนไม่ได้เข้าส่วนในการสงครามจริง ๆ ตามตัวอักษร. แม้พวกเขาอยู่อย่างสันติกับทุกคน แต่พวกเขาก็ทำสงครามฝ่ายวิญญาณกับผู้ต่อต้านที่มีกำลังมาก. (โรม 12:18) ในบทสุดท้ายของจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์ เปาโลกล่าวถึงการต่อสู้ที่คริสเตียนทุกคนมีส่วนร่วม. ท่านเขียนว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด, แต่ต่อสู้กับผู้มีบรรดาศักดิ์, และต่อสู้กับผู้มีอำนาจ, และต่อสู้กับผู้ครอบครองในโมหะความมืดแห่งโลกนี้, และต่อสู้กับบรรดาวิญญาณอันชั่วในสถานอากาศ.”—เอเฟโซ 6:12.
3. ตามที่กล่าวในเอเฟโซ 6:10 อะไรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราเพื่อรับประกันว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะ?
3 “บรรดาวิญญาณอันชั่ว” นั้นคือซาตานกับพวกผีปิศาจ ซึ่งต้องการจะทำลายสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า. เนื่องจากพวกมันมีกำลังเหนือกว่าเรามาก เราจึงตกอยู่ในสภาพการณ์คล้ายกับดาวิด และเราไม่อาจชนะพวกมันได้เลยหากไม่พึ่งอาศัยกำลังจากพระเจ้า. ที่จริง เปาโลกระตุ้นเราให้ “มีกำลังขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า, และในเรี่ยวแรงแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์.” (เอเฟโซ 6:10) หลังจากให้คำแนะนำนี้ ท่านอัครสาวกกล่าวถึงการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณและคุณลักษณะแบบคริสเตียนที่จะช่วยเราให้มีชัย.—เอเฟโซ 6:11-17.
4. จุดสำคัญสองจุดอะไรที่เราจะพิจารณาในบทความนี้?
4 ตอนนี้ ให้เรามาวิเคราะห์สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับกำลังและกลวิธีของศัตรูเรา. แล้วเราจะพิจารณายุทธวิธีเชิงรับที่เราต้องใช้เพื่อป้องกันตัวเอง. หากเราทำตามคำแนะนำของพระยะโฮวา เรามั่นใจได้ว่าศัตรูของเราจะไม่มีชัยเหนือเรา.
การต่อสู้กับบรรดาวิญญาณชั่ว
5. วิธีที่การต่อสู้กับวิญญาณชั่วซึ่งได้รับการพรรณนาไว้ในภาษาเดิมที่เอเฟโซ 6:12 ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจยุทธวิธีของซาตาน?
5 เปาโลอธิบายว่าเรา “ต่อสู้กับบรรดาวิญญาณอันชั่วในสถานอากาศ.” แน่นอน วิญญาณชั่วตัวสำคัญที่สุดก็คือซาตานพญามาร “นายผีทั้งหลายนั้น.” (มัดธาย 12:24-26) ในภาษาเดิมนั้น คัมภีร์ไบเบิลเปรียบการต่อสู้ของเรากับการแข่งมวยปล้ำ หรือการต่อสู้กันด้วยมือเปล่า. ในการแข่งมวยปล้ำของกรีกโบราณ ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนพยายามทำให้คู่ต่อสู้เสียการทรงตัวเพื่อทุ่มเขาลงพื้น. เช่นเดียวกัน พญามารต้องการให้เราเสียการทรงตัวหรือเสียความสมดุลฝ่ายวิญญาณ. มันทำได้โดยวิธีใด?
6. จงแสดงให้เห็นจากพระคัมภีร์ว่าพญามารสามารถใช้กลวิธีต่าง ๆ อย่างไรเพื่อบ่อนทำลายความเชื่อของเรา.
6 พญามารอาจทำตัวเป็นงู, สิงโตคำราม, หรือแม้แต่ทูตแห่งความสว่าง. (2 โกรินโธ 11:3, 14; 1 เปโตร 5:8) มันสามารถใช้มนุษย์เพื่อข่มเหงหรือทำให้เราท้อใจ. (วิวรณ์ 2:10) เนื่องจากซาตานครอบงำโลกทั้งสิ้น มันจึงสามารถใช้ประโยชน์เต็มที่จากความปรารถนาและสิ่งดึงดูดใจแบบโลกเพื่อวางกับดักเรา. (2 ติโมเธียว 2:26; 1 โยฮัน 2:16; 5:19) มันสามารถใช้ทัศนะอย่างโลกหรือทัศนะที่ออกหากเพื่อชักนำเราให้หลง เช่นเดียวกับที่มันหลอกลวงฮาวา.—1 ติโมเธียว 2:14.
7. พวกผีปิศาจทำอะไรไม่ได้ และเรามีข้อได้เปรียบอะไร?
7 แม้ว่าอาวุธและกำลังของซาตานกับพวกผีปิศาจนั้นอาจดูน่าเกรงขาม แต่พวกมันก็ใช่ว่าจะทำได้ทุกอย่าง. วิญญาณชั่วเหล่านี้ไม่สามารถบังคับเราให้ทำสิ่งชั่วที่ไม่เป็นที่พอพระทัยพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์. เรามีเจตจำนงเสรี และเราสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของเรา. ยิ่งกว่านั้น เราไม่ได้สู้รบตามลำพัง. สิ่งที่เป็นจริงในสมัยอะลีซาก็เป็นจริงในสมัยของเราเช่นกันที่ว่า “ผู้ที่อยู่ฝ่ายเราก็มากกว่าที่อยู่ฝ่ายเขา.” (2 กษัตริย์ 6:16) คัมภีร์ไบเบิลรับรองว่าถ้าเรามีใจน้อมยอมฟังพระเจ้าและต่อสู้กับพญามาร มันจะหนีไปจากเรา.—ยาโกโบ 4:7.
รู้ถึงอุบายของซาตาน
8, 9. ซาตานนำการทดลองอะไรบ้างมาสู่โยบเพื่อทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน และเราเผชิญอันตรายฝ่ายวิญญาณอะไรบ้างในทุกวันนี้?
8 เราใช่ว่าไม่รู้อุบายของซาตาน เนื่องจากพระคัมภีร์เปิดเผยกลอุบายพื้นฐานของมัน. (2 โกรินโธ 2:11) ในการเล่นงานโยบบุรุษผู้ชอบธรรม พญามารใช้ปัญหาหนักในทางเศรษฐกิจ, ความตายของผู้เป็นที่รัก, การต่อต้านจากครอบครัว, ปัญหาสุขภาพ, และการตำหนิอย่างไม่มีมูลความจริงจากเพื่อนจอมปลอม. โยบกลายเป็นคนหดหู่ใจและรู้สึกว่าพระเจ้าละทิ้งท่านแล้ว. (โยบ 10:1, 2) แม้ว่าซาตานอาจไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้โดยตรงในทุกวันนี้ แต่ความยากลำบากเช่นนั้นส่งผลกระทบต่อคริสเตียนหลายคน และพญามารสามารถใช้ประโยชน์จากปัญหาเหล่านี้.
9 อันตรายฝ่ายวิญญาณเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างสมัยสุดท้ายนี้. เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่การแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุเข้ามาแทนที่เป้าหมายฝ่ายวิญญาณ. ทุกเมื่อเชื่อวัน สื่อต่าง ๆ ให้ภาพว่า เพศสัมพันธ์นอกสายสมรสเป็นสิ่งที่ให้ความสุข แทนที่จะก่อความปวดร้าวใจ. และผู้คนส่วนใหญ่กลายเป็น “คนรักการสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:1-5) ทัศนะแบบนี้อาจทำให้เราสูญเสียความสมดุลฝ่ายวิญญาณได้ หากเราไม่ “ต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ.”—ยูดา 3, ล.ม.
10-12. (ก) คำเตือนอย่างหนึ่งที่พระเยซูให้ในอุปมาของพระองค์เรื่องผู้หว่านพืชคืออะไร? (ข) จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่แสดงว่ากิจกรรมฝ่ายวิญญาณของเราอาจถูกทำให้งันไปได้อย่างไร.
10 วิธีการที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดอย่างหนึ่งของซาตานคือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกนี้อย่างเต็มที่และในการมุ่งแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุของโลก. ในอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช พระเยซูเตือนว่าสำหรับบางคน “ความกังวลของระบบนี้และอำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติทำให้พระคำ [เรื่องราชอาณาจักร] นั้นงันไป.” (มัดธาย 13:18, 22, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลในที่นี้ว่า “ทำให้ . . . งันไป” หมายถึง “รัดแน่น.”
11 ในป่าเขตร้อน คนเราอาจพบต้นไทรพัน. พืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ โอบรอบลำต้นของต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่. มันจะโอบรัดต้นไม้นั้นทีละน้อยด้วยรากของมันที่ใหญ่โตแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ. ในที่สุด รากจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นของต้นไทรพันจะดูดเอาอาหารส่วนใหญ่จากพื้นดินตรงโคนต้นไม้ที่มันพันเกาะอยู่ ขณะที่กิ่งก้านสาขาของมันจะบดบังแสงไม่ให้ส่องถึงต้นไม้นั้น. ในที่สุด ต้นไม้ที่ให้มันอาศัยอยู่ก็ตาย.
12 คล้ายคลึงกัน ความกังวลของระบบนี้และการมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและรูปแบบชีวิตที่สะดวกสบายอาจดึงเวลาและพลังงานของเราไปมากขึ้นเรื่อย ๆ. เมื่อความสนใจของเราหันไปยังสิ่งต่าง ๆ ของโลก ก็อาจง่ายที่เราจะละเลยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวและขาดการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ จึงไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงฝ่ายวิญญาณ. ถึงตอนนี้การมุ่งแสวงสิ่งฝ่ายวัตถุเข้ามาแทนที่กิจกรรมฝ่ายวิญญาณ และในที่สุดเราก็กลายเป็นเหยื่อของซาตานอย่างง่ายดาย.
เราจำเป็นต้องยืนมั่น
13, 14. เราต้องยืนมั่นในจุดยืนอะไรเมื่อถูกซาตานต่อต้าน?
13 เปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อให้ “ยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของพญามาร.” (เอเฟโซ 6:11, ล.ม.) แน่นอน เราไม่สามารถปราบพญามารกับพวกผีปิศาจของมัน. พระเจ้ามอบงานดังกล่าวแก่พระเยซูคริสต์. (วิวรณ์ 20:1, 2) อย่างไรก็ตาม จนกว่าซาตานจะถูกขจัด เราต้อง “ยืนมั่น” เพื่อเราจะไม่พ่ายการโจมตีของมัน.
14 อัครสาวกเปโตรเน้นความจำเป็นที่จะต้องยืนมั่นต่อต้านซาตานเช่นกัน. เปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายจงเป็นคนใจหนักแน่น, จงระวังระไวให้ดี ด้วยว่าศัตรูของท่าน คือมาร ดุจสิงโตคำรามแผดเสียงร้องน่ากลัวก็เที่ยวไปเสาะแสวงหาคนที่มันจะกัดกินได้. จงต่อสู้กับศัตรูนั้นด้วยตั้งใจมั่นคงในความเชื่อ, โดยรู้อยู่ว่าความยากลำบากอย่างนั้นก็มีแก่พวกพี่น้องทั้งหลายของท่านที่อยู่ในโลกเช่นเดียวกัน.” (1 เปโตร 5:8, 9) แท้จริง เราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณเพื่อจะยืนมั่นเมื่อพญามารโจมตีดุจสิงโตคำราม.
15, 16. จงยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเกื้อหนุนของเพื่อนร่วมความเชื่อสามารถช่วยเรายืนมั่นได้อย่างไร.
15 ในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกา เมื่อสิงโตที่เข้ามาใกล้ส่งเสียงคำราม ฝูงละมั่งอาจต่างพากันวิ่งหนีอย่างสุดฝีเท้าจนกว่าพวกมันจะพ้นอันตราย. แต่สำหรับช้างแล้ว พวกมันเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการช่วยเหลือกันและกัน. หนังสือช้าง—สัตว์ใหญ่ที่ไม่ดุร้ายแห่งแอฟริกาและเอเชีย (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ปกติแล้ว วิธีที่โขลงช้างโดยทั่วไปใช้เพื่อป้องกันอันตรายคือยืนล้อมวงกัน โดยที่ช้างที่โตเต็มวัยจะหันหน้าไปทางผู้คุกคาม และลูกช้างตัวน้อยได้รับการปกป้องอยู่ภายในวงล้อมนั้น.” เมื่อเจอกับการผนึกกำลังและการช่วยเหลือกันเช่นนี้ พวกสิงโตจึงแทบไม่ได้บุกโจมตีเลยแม้แต่กับลูกช้าง.
16 คล้ายกันนั้น เมื่อถูกซาตานกับพวกผีปิศาจของมันคุกคาม เราจำเป็นต้องอยู่รวมกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องของเราที่มั่นคงในความเชื่อ. เปาโลยอมรับว่าเพื่อนคริสเตียนบางคนเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” แก่ท่านระหว่างที่ถูกคุมขังในกรุงโรม. (โกโลซาย 4:10, 11, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” นี้ปรากฏเพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ตามที่อธิบายในพจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ของไวน์ “รูปกริยาของคำนี้บ่งนัยถึงยาบรรเทาอาการปวดแสบระคายเคือง.” เช่นเดียวกับยาขี้ผึ้งบรรเทาปวด การเกื้อหนุนจากผู้นมัสการพระยะโฮวาที่อาวุโสสามารถบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากความทุกข์ทั้งกายและใจของเรา.
17. อะไรจะช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า?
17 การหนุนใจจากเพื่อนคริสเตียนในทุกวันนี้สามารถช่วยเสริมความตั้งใจของเราที่จะรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสเตียนผู้ปกครองปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ. (ยาโกโบ 5:13-15) สิ่งที่ช่วยรักษาความซื่อสัตย์รวมไปถึงการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ และการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนในประชาคมและในการประชุมใหญ่. สัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้าจะช่วยเรารักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ที่จริง ไม่ว่าเราจะกินหรือดื่มหรือทำอะไรก็ดี เราควรปรารถนาที่จะทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า. (1 โกรินโธ 10:31) แน่นอน การพึ่งอาศัยพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานนับว่าจำเป็นเพื่อจะดำเนินต่อ ๆ ไปในแนวทางที่พระองค์พอพระทัย.—บทเพลงสรรเสริญ 37:5.
18. เหตุใดเราไม่ควรเลิกราแม้สภาพการณ์ที่ก่อความทุกข์กังวลทำให้เราอ่อนกำลัง?
18 บางครั้ง การโจมตีจากซาตานเกิดขึ้นตอนที่เราไม่แข็งแรงฝ่ายวิญญาณ. สิงโตจะกระโดดตะครุบสัตว์ตัวที่อ่อนแอ. ปัญหาภายในครอบครัว, ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ, หรือความเจ็บป่วยอาจทำให้เราอ่อนกำลังฝ่ายวิญญาณ. แต่ขอเราอย่าเลิกราในการทำสิ่งที่พอพระทัยพระเจ้า เพราะเปาโลกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด, ข้าพเจ้าจึงแข็งแรงมากเมื่อนั้น.” (2 โกรินโธ 12:10; ฆะลาเตีย 6:9; 2 เธซะโลนิเก 3:13) ท่านหมายความเช่นไร? ท่านหมายความว่ากำลังที่มาจากพระเจ้าสามารถช่วยชดเชยความอ่อนแอของเราฐานะมนุษย์ หากเราทูลขอกำลังจากพระยะโฮวา. การที่ดาวิดมีชัยเหนือฆาละยัธนั้นแสดงว่าพระเจ้าสามารถเสริมกำลังประชาชนของพระองค์และพระองค์ทรงทำเช่นนั้นจริง ๆ. พยานของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันเป็นพยานได้ว่าในสมัยอันวิกฤติยิ่งนี้ พวกเขารู้สึกได้ถึงพระหัตถ์ที่ให้การเสริมกำลังของพระเจ้า.—ดานิเอล 10:19.
19. จงยกตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาสามารถเสริมกำลังผู้รับใช้ของพระองค์.
19 สามีภรรยาคู่หนึ่งเขียนเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่พวกเขาได้จากพระเจ้าดังนี้: “เป็นเวลาหลายปีที่เรารับใช้พระยะโฮวาร่วมกันฐานะสามีภรรยา และประสบพระพรนานัปการ อีกทั้งได้มารู้จักผู้คนที่แสนดีมากมาย. เรายังได้รับการฝึกฝนและการเสริมกำลังจากพระยะโฮวาให้อดทนความยากลำบากอย่างประสบความสำเร็จอีกด้วย. เช่นเดียวกับโยบ เราไม่เข้าใจเสมอไปว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวาพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือเรา.”
20. มีหลักฐานอะไรจากพระคัมภีร์ที่แสดงว่าพระยะโฮวาทรงค้ำชูประชาชนของพระองค์เสมอ?
20 พระหัตถ์ของพระยะโฮวาไม่สั้นเกินไปที่จะค้ำชูและเสริมกำลังประชาชนของพระองค์ที่ซื่อสัตย์. (ยะซายา 59:1) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญขับร้องว่า “พระยะโฮวาทรงโปรดค้ำชูทุกคนที่กำลังจะล้มลง และทรงยกบรรดาคนตกอับให้ลุกขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:14, ล.ม.) ที่จริง พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ “ทรงแบกภาระของพวกเราทุก ๆ วัน” และประทานสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้รับจริง ๆ.—บทเพลงสรรเสริญ 68:19.
เราต้องสวม “ยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า”
21. เปาโลเน้นความจำเป็นที่จะต้องสวมยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
21 เราได้พิจารณาวิธีการบางอย่างของซาตานไปแล้ว และเห็นความจำเป็นที่จะต้องยืนมั่นหากว่าเผชิญการโจมตีจากมัน. ตอนนี้ เราต้องพิจารณาการจัดเตรียมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยเราให้ป้องกันรักษาความเชื่อได้อย่างประสบผลสำเร็จ. ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์ อัครสาวกเปาโลกล่าวสองครั้งถึงปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของซาตานและในการต่อสู้กับบรรดาวิญญาณชั่วอย่างประสบผลสำเร็จ. เปาโลเขียนว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า เพื่อท่านจะสามารถยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของพญามารได้ . . . จงสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า เพื่อท่านทั้งหลายจะสามารถต้านทานได้ในวันชั่วร้าย และเพื่อจะยืนมั่นคงหลังจากท่านได้ทำทุกสิ่งอย่างถี่ถ้วนแล้ว.”—เอเฟโซ 6:11, 13, ล.ม.
22, 23. (ก) ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณรวมถึงอะไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
22 ถูกแล้ว เราจำเป็นต้องสวม “ยุทธภัณฑ์ครบชุด จากพระเจ้า.” ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายไปถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์นั้น ท่านถูกคุมตัวโดยทหารโรมันที่อาจสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดในบางครั้ง. อย่างไรก็ตาม พระเจ้านั่นเองที่เป็นผู้ดลใจท่านอัครสาวกให้กล่าวถึงยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวา.
23 ยุทธภัณฑ์จากพระเจ้านี้รวมถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่คริสเตียนต้องมี รวมทั้งการจัดเตรียมต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาทรงจัดให้. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณายุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณแต่ละชิ้น. การพิจารณาดังกล่าวจะช่วยเราให้ตรวจดูว่าเราเตรียมพร้อมสำหรับสงครามฝ่ายวิญญาณมากน้อยเพียงไร. ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าแบบอย่างอันดีเลิศของพระเยซูคริสต์ช่วยเราอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จในการต้านทานซาตานพญามาร.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คริสเตียนทุกคนมีการต่อสู้อะไร?
• จงอธิบายกลวิธีบางอย่างของซาตาน.
• การเกื้อหนุนจากเพื่อนร่วมความเชื่ออาจเสริมกำลังเราได้อย่างไร?
• เราต้องพึ่งอาศัยกำลังของใคร และเพราะเหตุใด?
[ภาพหน้า 11]
คริสเตียน “ต่อสู้กับบรรดาวิญญาณอันชั่ว”
[ภาพหน้า 12]
ความกังวลของระบบนี้อาจทำให้พระคำเรื่องราชอาณาจักรงันไปได้
[ภาพหน้า 13]
เพื่อนคริสเตียนสามารถเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”
[ภาพหน้า 14]
คุณอธิษฐานขอกำลังจากพระเจ้าไหม?