“นอกจากอุทาหรณ์แล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดแก่เขา”
“พระเยซูตรัสแก่ฝูงชนโดยใช้อุทาหรณ์. แท้จริง นอกจากอุทาหรณ์แล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดแก่เขา.”—มัดธาย 13:34, ล.ม.
1, 2. (ก) ทำไมอุทาหรณ์ที่บังเกิดผลจึงยากจะลืม? (ข) รูปแบบของอุทาหรณ์ที่พระเยซูใช้มีอะไรบ้าง และเกิดคำถามอะไรขึ้นเกี่ยวกับการใช้อุทาหรณ์ของพระองค์? (ดูเชิงอรรถด้วย.)
คุณจำอุทาหรณ์สักเรื่องหนึ่งที่คุณได้ยินหลายปีมาแล้วได้ไหม อาจเป็นเรื่องที่คุณได้ยินจากคำบรรยายสาธารณะ? อุทาหรณ์ที่บังเกิดผลนั้นยากที่จะลืม. นักเขียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า อุทาหรณ์ “แปลงเสียงให้เป็นภาพ และปล่อยผู้ฟังให้คิดด้วยภาพที่สร้างอยู่ในความคิดของเขา.” เนื่องจากบ่อยครั้งเราเข้าใจได้ดีที่สุดถ้าเห็นภาพ อุทาหรณ์จึงช่วยให้เราจับแนวความคิดได้ง่ายกว่า. อุทาหรณ์ทำให้ถ้อยคำมีความหมายแจ่มชัดยิ่งขึ้นและสอนบทเรียนที่ประทับในความทรงจำของเรา.
2 ไม่มีครูคนใดในโลกชำนิชำนาญในการใช้อุทาหรณ์มากไปกว่าพระเยซูคริสต์. เรื่องสอนใจหลายเรื่องของพระเยซูยังคงจำกันได้ดีหลังจากที่ได้กล่าวเรื่องเหล่านั้นไปแล้วเกือบสองพันปี.a ทำไมพระเยซูมักใช้การสอนวิธีนี้? และอะไรทำให้อุทาหรณ์ของพระองค์บังเกิดผลอย่างมาก?
เหตุผลที่พระเยซูสอนโดยใช้อุทาหรณ์
3. (ก) ตามมัดธาย 13:34, 35 อะไรคือเหตุผลประการหนึ่งที่พระเยซูทรงใช้อุทาหรณ์? (ข) อะไรบ่งชี้ว่าพระยะโฮวาต้องเห็นคุณค่าของการสอนด้วยวิธีนี้?
3 คัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลที่น่าสังเกตสองประการว่าทำไมพระเยซูสอนโดยใช้อุทาหรณ์. เหตุผลประการแรกที่ทำเช่นนั้นคือเพื่อทำให้คำพยากรณ์ที่เล็งถึงพระองค์สำเร็จ. อัครสาวกมัดธายเขียนดังนี้: “พระเยซูตรัสแก่ฝูงชนโดยใช้อุทาหรณ์. แท้จริง นอกจากอุทาหรณ์แล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดแก่เขา; เพื่อสิ่งที่กล่าวโดยทางผู้พยากรณ์จะสำเร็จที่ว่า ‘เราจะออกปากกล่าวเป็นอุทาหรณ์.’” (มัดธาย 13:34, 35, ล.ม.) “ผู้พยากรณ์” ที่มัดธายอ้างถึงคือผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ 78:2. หลายศตวรรษก่อนพระเยซูประสูติ พระวิญญาณของพระเจ้าดลใจผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้เขียนบทพลงนี้. เป็นเรื่องน่าสังเกตมิใช่หรือว่าพระยะโฮวาทรงกำหนดไว้หลายร้อยปีล่วงหน้าว่าพระบุตรของพระองค์จะสอนด้วยอุทาหรณ์? เห็นได้ว่าพระยะโฮวาต้องเห็นคุณค่าของการสอนด้วยวิธีนี้อย่างแน่นอน!
4. พระเยซูทรงอธิบายเช่นไรถึงเหตุผลที่พระองค์ใช้อุทาหรณ์?
4 เหตุผลประการที่สอง พระเยซูเองทรงอธิบายว่าพระองค์ใช้อุทาหรณ์เพื่อจะแยกคนที่ใจด้านชาออกไป. หลังจากพระองค์ยกอุทาหรณ์เรื่องผู้หว่านพืชแก่ “ฝูงชนมากมาย” เหล่าสาวกทูลถามว่า “เหตุใดพระองค์ตรัสแก่พวกเขาโดยใช้อุทาหรณ์?” พระเยซูทรงตอบว่า “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ทรงโปรดให้พวกเจ้าเข้าใจ แต่คนเหล่านั้นไม่ทรงโปรดให้เข้าใจ. นี่เป็นเหตุที่เรากล่าวแก่เขาโดยใช้อุทาหรณ์ เพราะแม้เขาจะมอง ก็ไม่เห็น แม้จะฟัง ก็ไม่ได้ยิน และไม่เข้าใจ; และคำพยากรณ์ของยะซายาก็สำเร็จกับพวกเขา ที่ว่า ‘เมื่อฟัง พวกเจ้าจะได้ยินแต่ไม่เข้าใจเลย; และเมื่อมอง พวกเจ้าจะมองแต่ไม่เห็นเลย. เพราะหัวใจของชนชาตินี้ด้านชาไป.’”—มัดธาย 13:2, 10, 11, 13-15, ล.ม.; ยะซายา 6:9, 10.
5. อุทาหรณ์ของพระเยซูแยกผู้ฟังที่หัวใจถ่อมออกจากผู้ที่มีหัวใจหยิ่งทะนงอย่างไร?
5 เป็นเช่นไรที่ว่าอุทาหรณ์ของพระเยซูคัดแยกผู้คน? บางกรณี ผู้ฟังของพระองค์ต้องสืบเสาะเพื่อจะเข้าใจความหมายแห่งคำตรัสของพระองค์ได้อย่างเต็มที่. คนที่หัวใจถ่อมถูกกระตุ้นให้ขอคำอธิบายเพิ่มเติม. (มัดธาย 13:36; มาระโก 4:34) อุทาหรณ์ของพระเยซูจึงเปิดเผยความจริงให้กับคนเหล่านั้นที่หัวใจของพวกเขากระหายความจริง แต่ขณะเดียวกันก็ปกปิดความจริงไว้จากคนที่มีหัวใจหยิ่งทะนง. พระเยซูช่างเป็นครูที่น่าทึ่งจริง ๆ! ตอนนี้ ขอให้เราตรวจสอบปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อุทาหรณ์ของพระองค์บังเกิดผลอย่างมาก.
เลือกว่าจะให้รายละเอียดส่วนใดในอุทาหรณ์
6-8. (ก) เหล่าผู้ฟังในสมัยของพระเยซูยังไม่มีอะไรเพื่อช่วยพวกเขาให้ระลึกถึงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัส? (ข) ตัวอย่างอะไรแสดงว่าพระเยซูทรงเลือกว่าจะให้รายละเอียดในส่วนใด?
6 คุณเคยสงสัยไหมว่าจะเป็นเช่นไรที่เหล่าสาวกในสมัยพระเยซูได้ฟังพระองค์สอนโดยตรง? แม้ว่าพวกเขามีสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระเยซู แต่พวกเขายังไม่มีคำสอนที่บันทึกไว้ในรูปข้อเขียนสำหรับค้นดูเพื่อช่วยเขาให้ระลึกถึงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัส. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาต้องจดจำคำตรัสของพระเยซูไว้ในจิตใจและหัวใจของตน. โดยการใช้อุทาหรณ์อย่างชำนิชำนาญ พระเยซูทำให้พวกเขาจดจำสิ่งที่พระองค์สอนได้ง่ายขึ้น. ทำเช่นนั้นโดยวิธีใด?
7 พระเยซูทรงเลือกว่าจะให้รายละเอียดส่วนใดในอุทาหรณ์. เมื่อรายละเอียดเกี่ยวข้องกับเรื่องหรือเมื่อจำเป็นเพื่อจะเน้น พระองค์จะใส่ใจให้รายละเอียดส่วนนั้นเป็นพิเศษ. ดังนั้น พระองค์จึงระบุว่าแกะกี่ตัวที่เจ้าของได้ละไว้ขณะไปตามหาแกะอีกตัวหนึ่งที่หลงหายไป, กี่ชั่วโมงที่ลูกจ้างทำงานในสวนองุ่น, และกี่ตะลันต์ที่นายได้ฝากไว้กับบ่าว.—มัดธาย 18:12-14; 20:1-16; 25:14-30.
8 ในขณะเดียวกัน พระเยซูก็ตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไปที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจความหมายของอุทาหรณ์. ตัวอย่างเช่น ในอุทาหรณ์เรื่องทาสที่ไม่ยอมยกหนี้ ไม่มีคำอธิบายว่าทาสคนนั้นเป็นหนี้มากถึง 60,000,000 เดนาริอนได้อย่างไร. พระเยซูทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะให้อภัย. ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าทาสคนนั้นก่อหนี้ขึ้นมาอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าเขาได้รับการยกหนี้ แล้วต่อมาเขาได้ปฏิบัติเช่นไรกับเพื่อนทาสที่เป็นหนี้เขาด้วยเงินเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกันแล้ว. (มัดธาย 18:23-35, ฉบับแปลใหม่) คล้ายคลึงกัน ในอุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย พระเยซูไม่ได้อธิบายว่าทำไมจู่ ๆ บุตรคนเล็กถึงอยากได้มรดกส่วนของตนและทำไมเขาได้ผลาญมรดกนั้น. แต่พระเยซูพรรณนารายละเอียดว่าบิดาของเขารู้สึกและแสดงปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อบุตรคนเล็กของเขากลับใจและกลับมาบ้าน. รายละเอียดเกี่ยวกับปฏิกิริยาของบิดานั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเน้นจุดสำคัญของพระเยซูที่ว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัย “อย่างล้นเหลือ.”—ยะซายา 55:7, ฉบับแปลใหม่; ลูกา 15:11-32.
9, 10. (ก) เมื่อบรรยายภาพตัวละครในอุทาหรณ์ของพระองค์ พระเยซูทรงมุ่งเน้นไปที่สิ่งใด? (ข) พระเยซูทรงทำเช่นไรเพื่อช่วยผู้ฟังในสมัยพระองค์และคนอื่น ๆ ให้จดจำอุทาหรณ์ของพระองค์ได้ง่ายขึ้น?
9 พระเยซูยังระมัดระวังในการบรรยายภาพตัวละครในอุทาหรณ์ของพระองค์ด้วย. แทนที่จะพรรณนารายละเอียดรูปลักษณ์ของตัวละคร บ่อยครั้งพระเยซูมุ่งเน้นไปยังการกระทำหรือปฏิกิริยาของตัวละครในฉากเหตุการณ์ที่พระองค์ได้เล่า. ด้วยเหตุนั้น แทนที่จะพรรณนาว่าเพื่อนบ้านชาวซะมาเรียนั้นมีรูปร่างหน้าตาเช่นไร พระเยซูทรงเล่าถึงสิ่งที่สำคัญกว่าคือ วิธีที่ชาวซะมาเรียผู้มีใจเมตตานี้เข้าไปช่วยเหลือชาวยิวคนหนึ่งซึ่งนอนบาดเจ็บอยู่ที่ถนน. พระเยซูให้รายละเอียดที่จำเป็นเพื่อสอนว่าความรักต่อเพื่อนบ้านนั้นควรครอบคลุมไปถึงผู้มีเชื้อชาติหรือสัญชาติต่างกับเรา.—ลูกา 10:29, 33-37.
10 การที่พระเยซูระมัดระวังในการให้รายละเอียดทำให้อุทาหรณ์ของพระองค์รวบรัดและไม่มีสิ่งที่ไม่จำเป็น. โดยการทำเช่นนั้น พระองค์จึงช่วยผู้ฟังในสมัยพระองค์และผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่จะอ่านพระธรรมกิตติคุณที่มีขึ้นโดยการดลใจในสมัยต่อมาให้จดจำอุทาหรณ์ของพระองค์และบทเรียนอันมีค่าในอุทาหรณ์เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น.
นำเอาเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาใช้ในอุทาหรณ์
11. จงให้ตัวอย่างที่แสดงว่าอุทาหรณ์ของพระเยซูอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์คงได้พบเห็นขณะเจริญวัยในมณฑลแกลิลี.
11 พระเยซูทรงมีความชำนิชำนาญในการใช้อุทาหรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน. อุทาหรณ์หลายเรื่องของพระองค์อาศัยสิ่งที่พระองค์คงได้พบเห็นขณะเจริญวัยในมณฑลแกลิลี (ฆาลิลาย). ขอให้คิดสักครู่ถึงชีวิตในช่วงต้น ๆ ของพระองค์. บ่อยครั้งสักเพียงไรที่พระเยซูได้เห็นมารดาของพระองค์ทำขนมปังโดยการนำเอาแป้งเชื้อที่ผ่านการหมักซึ่งเก็บไว้จากการทำขนมปังคราวก่อนมาเจือลงในแป้งเพื่อทำให้ขึ้นฟู? (มัดธาย 13:33) กี่ครั้งที่พระองค์ได้เฝ้าดูชาวประมงหย่อนอวนลงในน้ำสีฟ้าใสของทะเลแกลิลี? (มัดธาย 13:47) บ่อยแค่ไหนที่พระองค์ได้เห็นเด็ก ๆ เล่นกันกลางตลาด? (มัดธาย 11:16) พระเยซูคงสังเกตดูสิ่งอื่น ๆ ที่พบเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเพื่อหาวิธีนำมาใช้ในอุทาหรณ์ของพระองค์ เช่น การหว่านเมล็ดพืช, งานเลี้ยงสมรสที่มีความชื่นชมยินดี, และนาข้าวสุกเหลืองที่ต้องประกายแสงตะวัน.—มัดธาย 13:3-8; 25:1-12; มาระโก 4:26-29.
12, 13. อุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องข้าวดีและข้าวละมานแสดงอย่างไรว่าพระองค์ทรงคุ้นเคยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น?
12 จึงไม่น่าประหลาดใจที่มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแทรกอยู่มากมายในอุทาหรณ์ของพระเยซู. ดังนั้น เพื่อเราจะเห็นถึงความชำนาญในการใช้วิธีการสอนนี้ของพระองค์อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น จึงเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าถ้อยคำของพระองค์มีความหมายเช่นไรสำหรับผู้ฟังชาวยิว. ขอเราดูสักสองตัวอย่าง.
13 ตัวอย่างแรก ในอุทาหรณ์เรื่องข้าวดีกับข้าวละมาน พระเยซูเล่าว่าชายคนหนึ่งได้หว่านเมล็ดข้าวดีในนาของตน แต่ “ศัตรู” บุกรุกเข้ามาในนาแล้วหว่านเมล็ดข้าวละมานปะปนกับเมล็ดข้าวดี. ทำไมพระเยซูเลือกการกระทำที่มุ่งร้ายเช่นนั้น? จำไว้ว่าพระองค์เล่าอุทาหรณ์นี้ใกล้ทะเลแกลิลีและดูเหมือนว่าชาวแกลิลีส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก. จะมีอะไรก่อความเสียหายแก่ชาวนาได้มากไปกว่าการที่ศัตรูแอบเข้ามาในนาของเขาและหว่านเมล็ดข้าวละมานไว้? กฎหมายฝ่ายโลกที่ใช้กันในเวลานั้นมีข้อบัญญัติที่บ่งชี้ว่ามีการบุกรุกเพื่อทำเช่นนั้นจริง. เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่าพระเยซูใช้สถานการณ์ที่ผู้ฟังของพระองค์เข้าใจได้?—มัดธาย 13:1, 2, 24-30.
14. ในอุทาหรณ์เรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย ทำไมการที่พระเยซูใช้ถนน ‘จากกรุงยะรูซาเลมไปยังเมืองยะริโฮ’ เพื่อนำเสนอเรื่องจึงมีนัยสำคัญ?
14 ตัวอย่างที่สอง ขอให้นึกถึงอุทาหรณ์เรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย. พระเยซูเริ่มเล่าเรื่องดังนี้: “มีคนหนึ่งลงไปจากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ, และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี, แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตายแล้ว.” (ลูกา 10:30) การที่พระเยซูใช้ถนน ‘จากกรุงยะรูซาเลมไปยังเมืองยะริโฮ’ เพื่อนำเสนอเรื่องนั้นมีนัยสำคัญ. พระองค์อยู่ในมณฑลยูเดียไม่ไกลจากกรุงเยรูซาเลมขณะเล่าอุทาหรณ์นี้ ดังนั้น ผู้ที่ฟังพระองค์คงจะรู้จักถนนที่ว่านี้. ถนนสายนี้ขึ้นชื่อด้านความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าเดินทางลำพังคนเดียว. ถนนสายนี้ทั้งเปลี่ยวและคดเคี้ยวไปมาตลอดเส้นทาง ทำให้พวกโจรมีที่ซุ่มซ่อนตัวมากมาย.
15. เหตุใดจึงไม่มีใครสามารถอ้างเหตุผลที่ฟังขึ้นถึงความเฉยเมยของปุโรหิตและชาวเลวีในอุทาหรณ์เรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย?
15 ยังมีสิ่งอื่นน่าสังเกตด้วยเมื่อพระเยซูกล่าวถึงถนน ‘ลงไปจากกรุงยะรูซาเลมไปยังเมืองยะริโฮ.’ ตามที่เล่าในอุทาหรณ์ ทีแรกปุโรหิตคนหนึ่งและต่อมาชาวเลวีอีกคนหนึ่งต่างก็เดินทางผ่านถนนสายนั้น แม้ว่าไม่มีใครหยุดเพื่อช่วยเหลือชายที่ถูกทำร้ายนั้น. (ลูกา 10:31, 32) พวกปุโรหิตรับใช้ที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมและชาวเลวีเป็นผู้ช่วยของเขา. ปุโรหิตและชาวเลวีหลายคนพักอาศัยในเมืองเยริโค (ยะริโฮ) เมื่อพวกเขาไม่ได้ทำงานที่พระวิหารเนื่องจากเมืองเยริโคอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเลมเพียง 23 กิโลเมตร. ดังนั้น พวกเขาคงมีโอกาสใช้ถนนสายนี้ในการเดินทางอย่างไม่มีข้อสงสัย. ขอให้สังเกตด้วยว่าปุโรหิตและชาวเลวีในอุทาหรณ์นี้เดินทางไปตามถนน “จาก กรุงยะรูซาเลม” ดังนั้นพวกเขาเดินทางมุ่งหน้าออก จากพระวิหาร.b จึงไม่มีใครอ้างเหตุผลที่ฟังขึ้นได้เลยถึงความเฉยเมยของปุโรหิตและชาวเลวีว่า ‘ที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ช่วยชายที่บาดเจ็บปางตายนั้นก็เพราะชายคนนั้นดูเหมือนตายแล้ว และการแตะต้องศพจะทำให้พวกเขาไม่มีคุณสมบัติชั่วคราวสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในพระวิหาร.’ (เลวีติโก 21:1; อาฤธโม 19:11, 16) เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่าผู้ที่ฟังพระเยซูรู้จักคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ ในอุทาหรณ์ของพระองค์เป็นอย่างดี?
นำเอาสิ่งทรงสร้างมาใช้ในอุทาหรณ์
16. เหตุใดจึงไม่น่าประหลาดใจที่พระเยซูมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้าง?
16 เรื่องสอนใจและอุทาหรณ์หลายเรื่องของพระเยซูเผยให้เห็นว่าพระองค์มีความรู้ในเรื่องพืช, สัตว์, และสภาพอากาศ. (มัดธาย 6:26, 28-30; 16:2, 3) พระองค์ได้ความรู้ดังกล่าวมาจากที่ไหน? ขณะที่เจริญวัยขึ้นในมณฑลแกลิลี พระองค์ย่อมมีโอกาสมากมายในการสังเกตสิ่งทรงสร้างต่าง ๆ ของพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” และพระยะโฮวาทรงใช้พระองค์เป็น “นายช่าง” เพื่อสร้างสรรพสิ่ง. (โกโลซาย 1:15, 16, ล.ม.; สุภาษิต 8:30, 31, ล.ม.) จึงไม่น่าประหลาดใจมิใช่หรือที่พระเยซูมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้าง? ขอให้เรามาดูวิธีที่พระเยซูนำเอาความรู้นี้ไปใช้อย่างชำนิชำนาญในการสอนของพระองค์.
17, 18. (ก) ถ้อยคำของพระเยซูซึ่งบันทึกที่โยฮันบท 10 เผยให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงรู้จักคุ้นเคยนิสัยของแกะเป็นอย่างดี? (ข) ผู้ไปเยือนดินแดนในคัมภีร์ไบเบิลได้สังเกตเห็นความผูกพันเช่นไรระหว่างผู้เลี้ยงแกะกับแกะของเขา?
17 หนึ่งในบรรดาอุทาหรณ์ที่ให้ความรู้สึกอ่อนละมุนที่สุดของพระเยซูนั้นบันทึกไว้ในโยฮันบท 10 ซึ่งพระองค์เปรียบความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพระองค์กับเหล่าสาวกของพระองค์เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงแกะกับแกะของเขา. ถ้อยคำของพระเยซูเผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงรู้จักคุ้นเคยนิสัยของแกะเป็นอย่างดี. พระองค์ชี้ว่าแกะยินดีที่จะติดตามผู้นำ และพวกมันติดตามผู้เลี้ยงอย่างซื่อสัตย์. (โยฮัน 10:2-4) ผู้ไปเยือนดินแดนในคัมภีร์ไบเบิลได้สังเกตเห็นความผูกพันเป็นพิเศษนี้ระหว่างผู้เลี้ยงกับแกะ. เอช. บี. ทริสทรัม นักธรรมชาติวิทยาแห่งศตวรรษที่ 19 ให้ข้อสังเกตว่า “ครั้งหนึ่ง ผมเฝ้าดูผู้เลี้ยงแกะคนหนึ่งเล่นกับฝูงแกะของเขา. เขาแกล้งทำเป็นวิ่งหนี พวกแกะวิ่งไล่ตามเขาไปและโอบล้อมเขาไว้ . . . . ในที่สุดแกะเหล่านั้นก็เรียงตัวเป็นรูปวงกลมและกระโดดโลดเต้นรอบ ๆ เขา.”
18 ทำไมแกะจึงตามผู้เลี้ยงแกะ? พระเยซูบอกว่า ‘เพราะแกะรู้จักเสียงของผู้เลี้ยง.’ (โยฮัน 10:4) แกะรู้จักเสียงของผู้เลี้ยงจริง ๆ ไหม? จอร์จ เอ. สมิท เขียนสิ่งที่เขาได้พบเห็นไว้ในหนังสือภูมิประเทศทางประวัติศาสตร์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “บางครั้ง เราพักผ่อนตอนเที่ยงข้างบ่อน้ำแห่งหนึ่งในยูเดียที่มีผู้เลี้ยงแกะสามหรือสี่คนลงมาที่นั่นพร้อมกับฝูงแกะของเขา. ฝูงแกะของผู้เลี้ยงแกะเหล่านั้นมารวมกลุ่มปะปนกันที่บ่อน้ำ และเราสงสัยว่าผู้เลี้ยงแกะแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไรว่าแกะตัวไหนเป็นของเขา. แต่หลังจากพวกแกะได้น้ำและเล่นกันเสร็จแล้ว ผู้เลี้ยงก็ทยอยกลับขึ้นไปคนละฝั่งของหุบเขา และแต่ละคนก็ร้องเรียกแกะด้วยเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ และแกะของผู้เลี้ยงแต่ละคนก็แยกกันออกจากกลุ่มกลับไปหาผู้เลี้ยงของมันเป็นฝูงแบบเดิมอย่างมีระเบียบเหมือนกับตอนที่พวกมันมา.” พระเยซูคงไม่อาจหาตัวอย่างอะไรที่ดีไปกว่านี้เพื่อใช้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเหล่าสาวก. หากเรายอมรับและเชื่อฟังคำสอนอีกทั้งติดตามการนำของพระองค์ เราจะอยู่ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและความอ่อนละมุนของ “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี.”—โยฮัน 10:11, ล.ม.
นำเอาเหตุการณ์ที่ผู้ฟังรู้จักดีมาใช้ในอุทาหรณ์
19. พระเยซูทรงใช้เหตุร้ายอันน่าเศร้าสลดที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอย่างบังเกิดผลอย่างไรเพื่อหักล้างความเชื่อที่ผิด?
19 อุทาหรณ์ที่บังเกิดผลอาจอยู่ในรูปของประสบการณ์หรือบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น. ครั้งหนึ่ง พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อหักล้างความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าเหตุร้ายอันน่าเศร้าสลดย่อมเกิดขึ้นกับคนที่สมควรจะได้รับ. พระองค์ตรัสดังนี้: “สิบแปดคนนั้นที่หอรบที่ซีโลอามได้พังทับเขาตายเสียนั้น, ท่านทั้งหลายคิดว่าเขาเป็นคนบาปยิ่งกว่าคนทั้งปวงที่อาศัยในกรุงยะรูซาเลมหรือ?” (ลูกา 13:4) พระเยซูหาเหตุผลหักล้างความเชื่อเรื่องการกำหนดเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างน่าจับใจ. สิบแปดคนนั้นไม่ได้ตายเพราะบาปบางอย่างที่กระตุ้นให้พระเจ้าไม่พอพระทัย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความตายอันน่าเศร้าสลดนั้นเป็นผลจากวาระและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคาดคิด. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงหักล้างคำสอนเท็จโดยยกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ฟังของพระองค์รู้จักดี.
20, 21. (ก) เหตุใดพวกฟาริซายจึงตำหนิเหล่าสาวกของพระเยซู? (ข) พระเยซูใช้เรื่องราวอะไรจากพระคัมภีร์เพื่อให้ตัวอย่างว่าพระยะโฮวาไม่เคยมุ่งหมายให้ใช้พระบัญญัติเกี่ยวกับวันซะบาโตอย่างเข้มงวด? (ค) จะมีการพิจารณาเรื่องอะไรในบทความถัดไป?
20 พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างจากพระคัมภีร์ในการสอนของพระองค์ด้วย. ขอให้หวนนึกถึงคราวที่พวกฟาริซายตำหนิเหล่าสาวกของพระเยซูเนื่องจากพวกเขาเด็ดรวงข้าวมากินในวันซะบาโต. ที่จริงแล้ว เหล่าสาวกไม่ได้ละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า แต่ละเมิดข้อห้ามของพวกฟาริซายที่ตีความพระบัญญัติอย่างเข้มงวดว่าอะไรถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามในวันซะบาโต. เพื่อจะให้ตัวอย่างว่าพระเจ้าไม่เคยมุ่งหมายให้ใช้บัญญัติของพระองค์เกี่ยวกับวันซะบาโตอย่างเข้มงวดเช่นนั้น พระเยซูทรงอ้างถึงเหตุการณ์หนึ่งที่บันทึกไว้ใน 1 ซามูเอล 21:3-6. เมื่อดาวิดกับพรรคพวกของท่านหิว พวกเขาหยุดพักที่พลับพลาประชุมและกินขนมปังถวายที่ได้วางก้อนใหม่แทนแล้ว. ปกติ ขนมปังถวายก้อนเก่าที่เก็บออกจากโต๊ะนั้นสงวนไว้ให้พวกปุโรหิตกิน. ถึงกระนั้น ดาวิดกับพรรคพวกไม่ถูกตำหนิที่กินขนมปังเหล่านี้ในสถานการณ์พิเศษเช่นนั้น. น่าสังเกตว่านี่เป็นตัวอย่างเดียวที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการกินขนมปังถวายโดยคนที่ไม่ใช่ปุโรหิต. พระเยซูทรงรู้เรื่องราวนั้นซึ่งนำมาใช้ได้พอดี และไม่มีข้อสงสัยว่าชาวยิวที่ได้ฟังพระองค์ก็คุ้นเคยกับเรื่องนี้ดี.—มัดธาย 12:1-8.
21 ถูกแล้ว พระเยซูทรงเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่! เราอดไม่ได้ที่จะพิศวงในความสามารถของพระองค์ที่ไม่มีผู้ใดเทียบในการถ่ายทอดความจริงที่สำคัญในวิธีที่ผู้ฟังของพระองค์สามารถเข้าใจได้. แต่เราจะเลียนแบบการสอนของพระองค์ได้อย่างไร? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a พระเยซูใช้อุทาหรณ์ในหลายรูปแบบรวมทั้งตัวอย่าง, เรื่องเปรียบเทียบ, อุปมา, และอุปลักษณ์. พระองค์มีชื่อเสียงในเรื่องการใช้ ‘เรื่องสอนใจ’ (parable) ซึ่งมีการนิยามว่าเป็น “เรื่องเล่าสั้น ๆ ที่ปกติแล้วแต่งขึ้นเพื่อใช้สอนความจริงทางศาสนาและศีลธรรม.”
b กรุงเยรูซาเลมอยู่สูงกว่าเมืองเยริโค. ดังนั้น ในอุทาหรณ์จึงกล่าวว่าผู้ที่เดินทาง ‘จากกรุงยะรูซาเลมไปยังเมืองยะริโฮ’ จะ “ลงไป.”
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมพระเยซูสอนโดยใช้อุทาหรณ์?
• ตัวอย่างอะไรแสดงว่าพระเยซูใช้อุทาหรณ์ที่ผู้ฟังในสมัยของพระองค์เข้าใจได้?
• พระเยซูนำเอาความรู้เกี่ยวกับสิ่งทรงสร้างไปใช้อย่างชำนิชำนาญในอุทาหรณ์ของพระองค์อย่างไร?
• ในทางใดที่พระเยซูใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่ผู้ฟังของพระองค์รู้จักคุ้นเคย?
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูเล่าเรื่องทาสผู้ไม่ยอมยกหนี้ที่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกันแล้ว และเล่าเรื่องบิดาผู้ให้อภัยบุตร ที่ผลาญมรดกทั้งหมดของตน
[ภาพหน้า 16]
อะไรคือจุดสำคัญในอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย?
[ภาพหน้า 17]
แกะรู้จักเสียงของผู้เลี้ยงจริง ๆ ไหม?