“ผู้ชอบธรรมจะส่องแสงจ้าดุจดวงอาทิตย์”
“ในเวลานั้นผู้ชอบธรรมจะส่องแสงจ้าดุจดวงอาทิตย์ในราชอาณาจักรของพระบิดาของพวกเขา.”—มัด. 13:43
1. พระเยซูทรงใช้อุปมาโวหารเพื่ออธิบายแง่มุมอะไรบ้างเกี่ยวกับราชอาณาจักร?
พระเยซูคริสต์ทรงใช้อุปมาโวหารหรือเรื่องสอนใจหลายเรื่องเพื่ออธิบายแง่มุมต่าง ๆ ของราชอาณาจักร. พระองค์ “ตรัส . . . กับฝูงชนโดยใช้อุปมาโวหาร. ที่จริง พระองค์จะไม่ตรัสกับพวกเขาโดยไม่ใช้อุปมาโวหาร.” (มัด. 13:34) ในอุปมาโวหารที่กล่าวถึงการหว่านเมล็ดแห่งความจริงเรื่องราชอาณาจักร พระเยซูทรงเน้นบทบาทของสภาพหัวใจของคนเราที่มีผลต่อการยอมรับข่าวสาร รวมถึงบทบาทของพระยะโฮวาในการทำให้เกิดการเติบโตฝ่ายวิญญาณ. (มโก. 4:3-9, 26-29) พระเยซูยังทรงยกอุปมาโวหารเกี่ยวกับการเติบโตอันน่าทึ่งของจำนวนผู้ที่สนใจฟังข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร แม้ว่าการเติบโตนั้นอาจมองไม่เห็นในตอนแรก ๆ. (มัด. 13:31-33) นอกจากนั้น พระองค์ยังเน้นว่าไม่ใช่ทุกคนที่ตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรคู่ควรจะเป็นราษฎรของราชอาณาจักรนั้น.—มัด. 13:47-50a
2. เมล็ดพืชดีในอุปมาโวหารเรื่องข้าวดีกับข้าวละมานหมายถึงอะไร?
2 อย่างไรก็ตาม อุปมาโวหารเรื่องหนึ่งของพระเยซูเน้นเกี่ยวกับการรวบรวมคนที่จะปกครองกับพระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์. อุปมาโวหารนี้มักเรียกกันว่าอุปมาเรื่องข้าวดีกับข้าวละมานซึ่งมีบันทึกไว้ในมัดธายบท 13. แม้ในอุปมาโวหารอีกเรื่องหนึ่งพระเยซูทรงบอกเราว่าเมล็ดที่ถูกหว่านได้แก่ “พระคำเรื่องราชอาณาจักร” แต่ในอุปมาโวหารนี้ พระองค์ทรงบอกเราว่าเมล็ดพืชดีมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ “เหล่าบุตร แห่งราชอาณาจักร.” (มัด. 13:19, 38) คนเหล่านี้ไม่ใช่ราษฎรของราชอาณาจักร แต่เป็น “เหล่าบุตร” หรือผู้รับมรดกของราชอาณาจักร.—โรม 8:14-17; อ่านกาลาเทีย 4:6, 7
อุปมาโวหารเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช
3. จงอธิบายถึงปัญหาที่ชายในอุปมาโวหารเผชิญและวิธีที่เขาตัดสินใจแก้ปัญหานี้.
3 เรื่องในอุปมาโวหารมีดังต่อไปนี้: “ราชอาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งหว่านเมล็ดพืชดีลงในนาของตน. ขณะที่ผู้คนนอนหลับ ศัตรูได้มาหว่านวัชพืชลงปนกับข้าวสาลีแล้วก็ไป. เมื่อต้นข้าวงอกและเกิดผล วัชพืชก็ปรากฏขึ้นด้วย. ทาสจึงมาบอกเจ้าของบ้านว่า ‘นายท่าน ท่านหว่านเมล็ดพืชดีไว้ในนามิใช่หรือ? แล้วทำไมถึงมีวัชพืชขึ้นมาด้วย?’ เจ้าของบ้านตอบพวกเขาว่า ‘ศัตรูเป็นคนทำ.’ พวกเขาจึงถามว่า ‘ท่านต้องการให้พวกข้าพเจ้าไปถอนวัชพืชออกหรือไม่?’ เจ้าของบ้านตอบว่า ‘อย่าเลย เกรงว่าตอนที่ถอนวัชพืชนั้นพวกเจ้าจะถอนข้าวสาลีด้วย. ให้ทั้งสองอย่างเติบโตไปด้วยกันจนถึงฤดูเกี่ยว และในฤดูเกี่ยวเราจะบอกผู้เกี่ยวให้ถอนวัชพืชก่อนแล้วมัดเป็นฟ่อนเผาเสีย แล้วจึงไปรวบรวมข้าวสาลีมาไว้ในฉางของเรา.’ ”—มัด. 13:24-30
4. (ก) ชายในอุปมาโวหารคือใคร? (ข) พระเยซูทรงเริ่มหว่านเมล็ดพืชดีเมื่อไรและโดยวิธีใด?
4 ชายที่หว่านเมล็ดพืชดีลงในนาของตนคือใคร? เราได้คำตอบเมื่อพระเยซูทรงอธิบายแก่เหล่าสาวกในภายหลังว่า “ผู้หว่านเมล็ดพืชดีนั้นคือบุตรมนุษย์.” (มัด. 13:37) “บุตรมนุษย์” ซึ่งได้แก่พระเยซูเตรียมที่นาไว้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกในช่วงสามปีครึ่งที่ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก. (มัด. 8:20; 25:31; 26:64) จากนั้น นับตั้งแต่วันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 เป็นต้นมา พระองค์ทรงเริ่มหว่านเมล็ดพืชดีซึ่งได้แก่ “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร.” ดูเหมือนว่าการหว่านนี้เริ่มขึ้นเมื่อพระเยซูผู้เป็นตัวแทนของพระยะโฮวาทรงเริ่มต้นเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงบนเหล่าสาวก ซึ่งเป็นการเจิมพวกเขาให้เป็นเหล่าบุตรของพระเจ้า.b (กิจ. 2:33) เมล็ดพืชดีเติบโตขึ้นเป็นข้าวสาลีที่โตเต็มที่. ดังนั้น จุดประสงค์ของการหว่านเมล็ดพืชดีคือการรวบรวมคนเหล่านั้นที่จะเป็นผู้รับมรดกและผู้ปกครองร่วมกับพระเยซูในราชอาณาจักรให้ครบจำนวนในที่สุด.
5. ศัตรูในอุปมาโวหารคือใคร และวัชพืชเป็นภาพเปรียบเทียบที่หมายถึงใคร?
5 ศัตรูคือใคร และวัชพืชได้แก่ใคร? พระเยซูทรงบอกเราว่าศัตรู “คือพญามาร.” มีการพรรณนาวัชพืชว่าเป็น “เหล่าบุตรของตัวชั่วร้าย.” (มัด. 13:25, 38, 39) ในความหมายตรงตัว วัชพืชที่พระเยซูตรัสถึงคงได้แก่หญ้าขนดาร์เนล. พืชที่มีพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งกับข้าวสาลีระยะที่เป็นต้นอ่อน. ช่างเป็นภาพเปรียบเทียบที่เหมาะเจาะจริง ๆ กับคริสเตียนปลอม ซึ่งอ้างว่าเป็นเหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรแต่ไม่เกิดผลอย่างแท้จริง! คริสเตียนที่หน้าซื่อใจคดเหล่านี้ซึ่งอ้างว่าเป็นสาวกของพระคริสต์ จริง ๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งในบรรดา “เผ่าพันธุ์” ของซาตานพญามาร.—เย. 3:15
6. วัชพืชเริ่มปรากฏเมื่อไร และในตอนนั้นผู้คน “นอนหลับ” อย่างไร?
6 คริสเตียนที่เปรียบดุจวัชพืชเหล่านี้ปรากฏเมื่อไร? พระเยซูทรงบอกว่า “ขณะที่ผู้คนนอนหลับ.” (มัด. 13:25) เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อไร? เราพบคำตอบในคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลที่เขียนถึงผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าเมื่อข้าพเจ้าไปแล้ว พวกหมาป่าที่กดขี่จะเข้ามาอยู่ในหมู่พวกท่าน และจะไม่ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน และจะมีพวกท่านบางคนพูดบิดเบือนความจริงเพื่อชักนำเหล่าสาวกให้ติดตามพวกเขาไป.” (กิจ. 20:29, 30) ท่านแนะนำผู้ปกครองเหล่านั้นต่อไปว่าให้ตื่นตัวเสมอฝ่ายวิญญาณ. หลังจากที่เหล่าอัครสาวก ซึ่งทำหน้าที่เป็น “สิ่งที่หน่วงเหนี่ยว” การออกหากไว้ เริ่มหลับไปในความตาย คริสเตียนหลายคนก็หลับฝ่ายวิญญาณ. (อ่าน 2 เทสซาโลนิเก 2:3, 6-8) ในตอนนั้นเองที่การออกหากครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้น.
7. ข้าวสาลีบางส่วนได้กลายเป็นวัชพืชไหม? จงอธิบาย.
7 พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าข้าวสาลีจะกลายเป็นวัชพืช แต่วัชพืชถูกหว่านลงปนกับข้าวสาลี. ดังนั้น อุปมาโวหารนี้ไม่ได้พรรณนาถึงคริสเตียนแท้ที่ละทิ้งความจริง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น อุปมาโวหารนี้ชี้ถึงความพยายามอย่างจงใจของซาตานที่จะทำให้ประชาคมคริสเตียนเสื่อมเสียด้วยการนำคนชั่วเข้ามาในประชาคม. เมื่อถึงตอนที่โยฮันอัครสาวกคนสุดท้ายชราแล้ว การออกหากดังกล่าวก็ปรากฏชัด.—2 เป. 2:1-3; 1 โย. 2:18
“ให้ทั้งสองอย่างเติบโตไปด้วยกันจนถึงฤดูเกี่ยว”
8, 9. (ก) เหตุใดคำพูดของนายที่สั่งทาสจึงเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ฟังของพระเยซู? (ข) ในความสำเร็จเป็นจริง ข้าวสาลีกับวัชพืชเติบโตไปด้วยกันอย่างไร?
8 ทาสมารายงานให้นายทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและถามว่า “ท่านต้องการให้พวกข้าพเจ้าไปถอนวัชพืชออกหรือไม่?” (มัด. 13:27, 28) คำตอบของนายอาจทำให้แปลกใจ. นายบอกพวกเขาว่าให้ทั้งข้าวสาลีและวัชพืชเติบโตไปด้วยกันจนถึงฤดูเกี่ยว. คำสั่งนี้คงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับเหล่าสาวกของพระเยซู. พวกเขาคงรู้ว่าเป็นเรื่องยากเพียงไรที่จะบอกความแตกต่างระหว่างข้าวสาลีกับหญ้าขนดาร์เนล. คนที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรย่อมรู้ด้วยว่าตามปกติระบบรากของหญ้าขนดาร์เนลจะพันกับรากของข้าวสาลี ถึงขนาดที่ถ้าถอนหญ้าขนดาร์เนลก็จะถอนข้าวสาลีไปด้วย.c ไม่แปลกเลยที่นายสั่งให้พวกเขาคอยก่อน!
9 ในทำนองเดียวกัน ตลอดหลายศตวรรษ นิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรได้ก่อให้เกิดวัชพืชมากมาย—ตอนแรกในหมู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกและออร์โทด็อกซ์ และต่อมาในกลุ่มต่าง ๆ ของคริสตจักรโปรเตสแตนต์ที่ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก. ในเวลาเดียวกัน เมล็ดข้าวสาลีแท้จำนวนเล็กน้อยถูกหว่านลงในนาแห่งแผ่นดินโลก. เจ้าของบ้านในอุปมาโวหารนี้คอยอย่างอดทนในช่วงเวลายาวนานที่พืชเติบโตจนกระทั่งถึงเวลาเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่สั้นกว่า.
เวลาเก็บเกี่ยวที่รอคอยกันมานาน
10, 11. (ก) เวลาสำหรับการเก็บเกี่ยวคือเมื่อไร? (ข) ข้าวสาลีโดยนัยถูกนำเข้ามาไว้ในฉางของพระยะโฮวาอย่างไร?
10 พระเยซูทรงบอกกับเราว่า “เวลาเกี่ยวคือช่วงสุดท้ายของยุค และผู้เกี่ยวคือทูตสวรรค์.” (มัด. 13:39) ในช่วงสุดท้ายของยุคที่ชั่วช้านี้ มีการแยกคนสองกลุ่มออกจากกัน—เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรถูกรวบรวมและถูกแยกออกจากผู้คนที่เปรียบดุจวัชพืช. อัครสาวกเปโตรบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ถึงเวลากำหนดแล้วที่การพิพากษาจะเริ่มต้นกับพระนิเวศของพระเจ้า. แล้วถ้าการพิพากษาเริ่มต้นกับพวกเราก่อน จุดจบของคนที่ไม่เชื่อฟังข่าวดีของพระเจ้าจะเป็นอย่างไร?”—1 เป. 4:17
11 ไม่นานหลังจากสมัยสุดท้ายหรือ “ช่วงสุดท้ายของยุค” เริ่มขึ้น การพิพากษาก็เริ่มกับคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนแท้—ไม่ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาเป็น “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” หรือว่าเป็น “เหล่าบุตรของตัวชั่วร้าย.” ณ ตอนเริ่มต้นของการเก็บเกี่ยว บาบิโลนใหญ่ได้ล่มจม “ก่อน” “แล้ว” หลังจากนั้นเหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรก็ถูกรวบรวม. (มัด. 13:30) แต่ข้าวสาลีโดยนัยถูกรวบรวมมาไว้ในฉางของพระยะโฮวาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาอย่างไร? คนเหล่านี้ที่ถูกรวบรวมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียนซึ่งส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์ และที่นั่นพวกเขาได้รับความพอพระทัยและการปกป้องจากพระเจ้า หรือไม่ก็ได้รับบำเหน็จในสวรรค์.
12. การเก็บเกี่ยวจะดำเนินไปนานเท่าไร?
12 การพิพากษานั้นจะยาวนานเท่าไร? พระเยซูตรัสถึงการเก็บเกี่ยวว่าเป็น “ฤดู” ดังนั้น การเก็บเกี่ยวจึงดำเนินอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง. (วิ. 14:15, 16) การพิพากษาสมาชิกผู้ถูกเจิมแต่ละคนจะดำเนินไปตลอดช่วงอวสาน จนกระทั่งพวกเขาได้รับการประทับตราในขั้นสุดท้าย.—วิ. 7:1-4
13. วัชพืชทำให้หลงผิดอย่างไร และพวกเขาทำชั่วอย่างไร?
13 ใครจะถูกคัดออกจากราชอาณาจักร และพวกเขาทำให้หลงผิดและทำชั่วอย่างไร? (มัด. 13:41) นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรที่เปรียบดุจวัชพืชได้ชักนำประชาชนหลายล้านคนให้หลงผิดเป็นเวลาหลายศตวรรษ. พวกเขาทำเช่นนี้ด้วยคำสอนที่หลู่เกียรติพระเจ้าซึ่งเป็น “สิ่งที่ทำให้หลงผิด” เช่น คำสอนเรื่องการทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์ในไฟนรกและคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพอันลึกลับที่ทำให้สับสน. ผู้นำศาสนาหลายคนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับฝูงแกะของพวกเขาโดยการเป็นมิตรกับโลกนี้ซึ่งเปรียบได้กับการเล่นชู้ และในบางกรณีโดยการประพฤติผิดศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้งของพวกเขา. (ยโก. 4:4) นอกจากนั้น คริสต์ศาสนจักรยอมโอนอ่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับการผิดศีลธรรมในหมู่สมาชิกของพวกเขา. (อ่านยูดา 4) แม้ว่าเป็นอย่างที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนี้ พวกเขายังคงแสดงท่าทีว่าตนมีศรัทธาแก่กล้าและเลื่อมใสพระเจ้า. เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรรู้สึกยินดีเพียงไรที่ถูกแยกออกมาจากอิทธิพลของหัวหน้าศาสนาเหล่านี้ที่เปรียบดุจวัชพืชและคำสอนอันเสื่อมทรามที่ทำให้หลงผิดของพวกเขา!
14. คนที่เปรียบดุจวัชพืชร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟันอย่างไร?
14 คนที่เปรียบดุจวัชพืชร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟันอย่างไร? (มัด. 13:42) “เหล่าบุตรของตัวชั่วร้าย” ถูกทรมานด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ได้เปิดโปงสภาพฝ่ายวิญญาณที่เป็นพิษของคนเหล่านี้ที่เปรียบดุจวัชพืช. นอกจากนั้น พวกเขาโอดครวญเพราะการสนับสนุนที่พวกเขาได้รับจากสมาชิกโบสถ์ลดลง รวมไปถึงการสูญเสียอำนาจควบคุมเหนือสมาชิกของพวกเขา.—อ่านยะซายา 65:13, 14
15. คนที่เปรียบดุจวัชพืชถูกเผาในความหมายเช่นไร?
15 การที่วัชพืชถูกถอนและเผามีความหมายอย่างไร? (มัด. 13:40) นี่หมายถึงผลที่วัชพืชจะได้รับในที่สุด. การที่พวกเขาถูกโยนลงในเตาไฟโดยนัยอันร้อนแรงบ่งบอกว่าพวกเขากำลังจะถูกทำลายอย่างถาวร. (วิ. 20:14; 21:8) คริสเตียนปลอมที่เปรียบดุจวัชพืช ซึ่งเป็นพวกที่หลอกลวง จะถูกทำลายในช่วง “ความทุกข์ลำบากใหญ่.”—มัด. 24:21
พวกเขา “จะส่องแสงจ้าดุจดวงอาทิตย์”
16, 17. มาลาคีพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับพระวิหารของพระเจ้า และคำพยากรณ์นี้เริ่มสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
16 คนที่เปรียบดุจข้าวสาลี “ส่องแสงจ้าดุจดวงอาทิตย์” เมื่อไร? (มัด. 13:43) มาลาคีพยากรณ์เกี่ยวกับการชำระพระวิหารของพระเจ้าว่า “พระยะโฮวาที่เจ้าทั้งหลายถามถึงนั้น, จะเสด็จมายังวิหารของพระองค์โดยเร็วพลัน, ทูตนั้นก็คือทูตตามความที่บ่งไว้ในสันถวไมตรี, ซึ่งเจ้าทั้งหลายพึงพอใจนั้น, ดูเถอะ, เขาคงจะมา. แต่ผู้ใดจะรอหน้าอยู่ได้ในวันที่พระองค์เสด็จมา, และผู้ใดจะเผชิญหน้าอยู่ได้เมื่อพระองค์มาปรากฏพระกาย, เพราะว่าพระองค์เป็นประดุจดังไฟถลุงแร่และสบู่ของช่างซักฟอก, และพระองค์จะนั่งลงเหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน. พระองค์จะถลุงลูกชายทั้งหลายของพวกเลวีดุจดังถลุงทองและเงินเพื่อเขาทั้งหลายจะถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจบริสุทธิ์.”—มลคี. 3:1-3
17 ในสมัยปัจจุบัน ดูเหมือนว่าคำพยากรณ์นี้เริ่มสำเร็จเป็นจริงในปี 1918 เมื่อพระยะโฮวา พร้อมกับ “ทูตตามความที่บ่งไว้ในสันถวไมตรี” ซึ่งได้แก่พระเยซูคริสต์ ทรงตรวจตราพระวิหารฝ่ายวิญญาณ. มาลาคีบอกให้เราทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อการชำระนี้เสร็จสิ้น: “เจ้าทั้งหลายก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว, ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.” (มลคี. 3:18) การที่กิจกรรมของคริสเตียนแท้ที่ได้รับการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วชี้ถึงช่วงเวลานั้นว่าเป็นตอนเริ่มต้นของฤดูเกี่ยว.
18. ดานิเอลพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรในสมัยของเรา?
18 ผู้พยากรณ์ดานิเอลกล่าวถึงสมัยของเราเมื่อท่านบอกล่วงหน้าว่า “ผู้ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะส่องแสงเหมือนแสงสว่างแห่งท้องฟ้า; และผู้ที่นำหลายคนมาสู่ความชอบธรรม เหมือนดวงดาวจนถึงเวลาไม่กำหนด จนกระทั่งตลอดกาล.” (ดานิ. 12:3, ล.ม.) ใครคือคนเหล่านี้ที่ส่องแสงเจิดจ้า? จะเป็นใครอื่นได้นอกจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งเปรียบดุจข้าวสาลีแท้ที่พระเยซูตรัสถึงในอุปมาโวหารเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช! ชนฝูงใหญ่ที่เปรียบดุจแกะซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มองเห็นอย่างชัดเจนว่าคริสเตียนปลอมที่เปรียบดุจวัชพืชถูก ‘คัดออก.’ เมื่อพวกเขาเข้ามาคบหาใกล้ชิดกับชนที่เหลือแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ คนเหล่านี้ซึ่งจะเป็นราษฎรของราชอาณาจักรก็จะให้ความสว่างของพวกเขาส่องไปในโลกที่มืดมนนี้เช่นเดียวกัน.—ซคา. 8:23; มัด. 5:14-16; ฟิลิป. 2:15
19, 20. “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” คอยท่าอะไรด้วยใจจดจ่อ และเราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 ในทุกวันนี้ “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” คอยท่าด้วยใจจดจ่อที่จะได้รับรางวัลอันรุ่งโรจน์ในสวรรค์. (โรม 8:18, 19; 1 โค. 15:53; ฟิลิป. 1:21-24) แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น พวกเขาต้องรักษาความซื่อสัตย์, ส่องแสงจ้าต่อ ๆ ไป, แสดงตัวว่าแตกต่างจาก “เหล่าบุตรของตัวชั่วร้าย.” (มัด. 13:38; วิ. 2:10) เราทุกคนสามารถมีความสุขสักเพียงไรที่เรามีสิทธิพิเศษได้เห็นผลของการ “คัด” วัชพืชโดยนัยออกไปในสมัยของเรานี้!
20 แต่เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์อย่างไรกับชนฝูงใหญ่ที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกในฐานะราษฎรของราชอาณาจักรซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ? บทความถัดไปจะตอบคำถามนี้.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับอุปมาโวหารเหล่านี้ โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 2008 หน้า 12-21.
b ในอุปมาโวหารนี้ การหว่านไม่ได้หมายถึงงานประกาศและการสอนคนให้เป็นสาวก ซึ่งจะนำคนใหม่ ๆ ที่ในภายหลังจะเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมเข้ามา. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับเมล็ดพืชดีที่ถูกหว่านลงในนาว่า “เมล็ดพืชดีคือ เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ไม่ใช่จะได้เป็น เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร. การหว่านหมายถึงการเจิมเหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักรในเขตงานบนแผ่นดินโลก.
c ดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 1178.
คุณจำได้ไหม?
ในอุปมาโวหารของพระเยซูเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช ส่วนต่อไปนี้ของอุปมาโวหารหมายถึงอะไร?
• เมล็ดพืชดี
• ชายที่หว่านเมล็ดพืช
• การหว่านเมล็ดพืช
• ศัตรู
• วัชพืช
• ฤดูเกี่ยว
• ฉาง
• การร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน
• เตาไฟอันร้อนแรง
[ภาพหน้า 20]
วันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 เป็นตอนเริ่มต้นของการหว่านเมล็ดพืชดี
[ภาพหน้า 23]
ข้าวสาลีโดยนัยกำลังถูกรวบรวมเข้ามาในฉางของพระยะโฮวา
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.