มิชชันนารีอาจไปทางตะวันออกได้ไกลขนาดไหน?
หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ได้ไม่ถึง 30 ปี อัครสาวกเปาโลเขียนว่ากำลังมีการประกาศข่าวดีท่ามกลาง “มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) เราไม่ควรถือว่าคำพูดของเปาโลมีความหมายตามตัวอักษรเหมือนกับว่าทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นได้ยินข่าวดีแล้ว. ถึงกระนั้น เรามองเห็นจุดสำคัญในคำกล่าวของเปาโลได้อย่างชัดเจน นั่นคือ เหล่ามิชชันนารีคริสเตียนกำลังทำงานประกาศกันอย่างกว้างขวางในโลกที่รู้จักกันในสมัยนั้น.
แต่พวกเขาอาจไปได้ไกลถึงแค่ไหน? พระคัมภีร์กล่าวถึงเรือสินค้าซึ่งทำให้เปาโลสามารถขยายงานประกาศของท่านไปทางตะวันตกได้ไกลถึงอิตาลี. และมิชชันนารีผู้มีใจกล้าคนนี้ยังต้องการจะไปถึงสเปนด้วย.—กิจการ 27:1; 28:30, 31; โรม 15:28.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับทิศตรงข้าม? คริสเตียนผู้เผยแพร่รุ่นแรกเคยไปทางตะวันออกไกลขนาดไหน? เราไม่อาจบอกได้แน่ชัด เพราะคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้. อย่างไรก็ตาม คุณอาจแปลกใจที่รู้ว่าเส้นทางการค้าระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับซีกโลกตะวันออกได้ขยายไปกว้างไกลเพียงไรในศตวรรษแรกของสากลศักราช. อย่างน้อยที่สุด การมีเส้นทางเหล่านี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีทางเป็นไปได้มากที่จะเดินทางไปยังตะวันออก.
มรดกของอะเล็กซานเดอร์
การพิชิตดินแดนต่าง ๆ ของอะเล็กซานเดอร์มหาราชทำให้เขาได้มาทางตะวันออกโดยผ่านบาบิโลเนียและเปอร์เซียและไปไกลถึงปัญจาบที่อยู่ทางเหนือของอินเดีย. การเดินทางเช่นนั้นทำให้ชาวกรีกได้รู้จักคุ้นเคยกับชายฝั่งตั้งแต่ปากแม่น้ำยูเฟรทิสในอ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงปากแม่น้ำสินธุซึ่งอยู่ทางเหนือของมหาสมุทรอินเดีย.
ต่อมาไม่นาน มีการนำเครื่องเทศและเครื่องหอมจากอีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียเข้ามาในจักรวรรดิกรีกโดยผ่านทางทะเลแดง. ในตอนแรกการค้าขายสินค้าเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกพ่อค้าชาวอินเดียและอาหรับ. แต่เมื่อราชวงศ์ปโตเลมีแห่งอียิปต์ได้ค้นพบความลับของลมมรสุม พวกเขาก็เข้ามาร่วมค้าขายในมหาสมุทรอินเดียด้วย.
ในมหาสมุทรแห่งนี้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนจะมีลมพัดอย่างต่อเนื่องมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เรือสามารถแล่นจากปากทะเลแดงไปตามชายฝั่งคาบสมุทรอาหรับหรือแล่นตรงไปยังตอนใต้ของอินเดียได้. ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ลมจะพัดกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้สามารถแล่นเรือกลับมาได้ง่าย. นักเดินเรือชาวอาหรับและอินเดียได้ใช้ประโยชน์จากความรู้เกี่ยวกับลมมรสุมเหล่านี้มานานหลายร้อยปีแล้ว และเดินทางไปมาระหว่างอินเดียกับทะเลแดงพร้อมกับสินค้าต่าง ๆ คือ ไม้คาเซีย, อบเชย, น้ำมันนาร์ด, และพริกไทย.
เส้นทางเดินเรือไปยังอะเล็กซานเดรียและโรม
เมื่อชาวโรมันพิชิตดินแดนต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจของบรรดาผู้สืบตำแหน่งต่อจากอะเล็กซานเดอร์ กรุงโรมจึงกลายเป็นตลาดสำคัญที่มีการค้าขายของมีค่าจากฝั่งตะวันออก ทั้งงาช้างจากแอฟริกา, เครื่องหอมและมดยอบจากอาหรับ, เครื่องเทศและอัญมณีจากอินเดีย, และแม้แต่ผ้าไหมจากจีน. เรือบรรทุกสินค้าเหล่านี้จะมาเทียบท่าที่ท่าเรือหลักสองแห่งของอียิปต์ริมฝั่งทะเลแดง คือท่าเบเรไนซีกับท่ามียอสออร์มอส. ท่าเรือทั้งสองแห่งมีเส้นทางคาราวานทางบกเชื่อมต่อไปยังเมืองคอปตอสบนฝั่งแม่น้ำไนล์.
จากคอปตอส สินค้าจะถูกขนลงเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำไนล์ เส้นเลือดสำคัญของอียิปต์ ไปยังอะเล็กซานเดรีย แล้วจากนั้นก็ถูกขนลงเรือซึ่งจะแล่นไปยังอิตาลีและที่อื่น ๆ. อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งสามารถไปถึงอะเล็กซานเดรียได้เช่นกันคือ ผ่านคลองที่ตัดเชื่อมช่วงต้นของทะเลแดงส่วนที่ใกล้เมืองสุเอซในปัจจุบันกับแม่น้ำไนล์. อียิปต์และท่าเรือต่าง ๆ อยู่ไม่ไกลนักจากดินแดนที่พระเยซูเคยทำงานประกาศและสามารถเดินทางไปได้ไม่ยาก.
ตามคำกล่าวของนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษแรกชื่อสตราโบ ในสมัยของเขา ทุก ๆ ปีจะมีเรือของอะเล็กซานเดรีย 120 ลำออกจากมียอสออร์มอสเพื่อทำการค้าขายกับอินเดีย. มีคู่มือเล่มหนึ่งที่พูดถึงการเดินเรือในแถบนั้นในช่วงศตวรรษแรกได้หลงเหลือมาจนถึงสมัยของเรา. คู่มือเล่มนี้อาจเขียนโดยพ่อค้าชาวอียิปต์ที่พูดภาษากรีกและเขียนขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนพ่อค้าด้วยกัน. เราจะเรียนอะไรได้จากหนังสือโบราณเล่มนี้?
คู่มือเล่มนี้ซึ่งมักมีการเรียกด้วยชื่อภาษาละตินว่าเพริพลุส มาริส เอริแทร (การเดินทางรอบทะเลเอริแทรเอียน) ได้อธิบายถึงเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งมีระยะทางหลายพันกิโลเมตรจากตอนใต้ของอียิปต์ ไปไกลจนถึงแซนซิบาร์. ผู้เขียนกล่าวถึงการเดินทางสู่ตะวันออก โดยบอกระยะทาง, จุดทอดสมอ, จุดค้าขาย, สินค้าที่มีการค้าขายและนิสัยใจคอของคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ลงไปตามชายฝั่งด้านตะวันตกของอินเดียจรดศรีลังกา และขึ้นมาตามชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดียไปจนถึงแม่น้ำคงคา. ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลและการพรรณนาที่เห็นภาพชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ทำให้มีการลงความเห็นว่าผู้เขียนคงเคยไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาพูดถึง.
ชาวตะวันตกในอินเดีย
พ่อค้าชาวตะวันตกในอินเดียเป็นที่รู้จักในชื่อยาวานัส. ตามที่กล่าวในหนังสือเพริพลุส จุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งซึ่งคนเหล่านี้เดินทางไปเป็นประจำในช่วงศตวรรษแรกก็คือ มูซิริส ซึ่งตั้งอยู่เกือบใต้สุดของอินเดีย.a บทกวีภาษาทมิฬในศตวรรษแรก ๆ ของสากลศักราชกล่าวถึงพวกพ่อค้าเหล่านี้เสมอ. บทกวีบทหนึ่งกล่าวว่า “เหล่าเรือลำงามของยาวานัสเข้ามาพร้อมกับทองคำและกลับไปพร้อมกับพริกไทย แล้วมูซิริสก็เต็มไปด้วยเสียงอื้ออึง.” อีกบทหนึ่งกล่าวถึงเจ้าชายองค์หนึ่งทางใต้ของอินเดียที่ถูกชักชวนให้ดื่มเหล้าองุ่นหอมซึ่งพวกยาวานัสนำเข้ามา. สินค้าอื่น ๆ จากทางตะวันตกซึ่งกลายเป็นที่นิยมในอินเดียคือเครื่องแก้ว, โลหะ, ปะการังและผ้าทอ.
นักโบราณคดีได้พบหลักฐานมากมายของสินค้าจากตะวันตกที่ถูกนำเข้ามาที่อินเดีย. ตัวอย่างเช่น ในบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านอารีคาเมดู บนชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย มีการค้นพบสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งเศษเหยือกใส่เหล้าองุ่นแบบโรมันและจานที่มีตราประทับของช่างปั้นในเมืองอาเรซโซ ตอนกลางของอิตาลี. นักเขียนคนหนึ่งเขียนว่า “จินตนาการของผู้ขุดค้นสมัยปัจจุบันเจิดจรัสไปไกลขณะที่เขาหยิบเศษภาชนะที่มีชื่อของเหล่าช่างปั้นเจ้าของเตาเผาในแถบชานเมืองอาเรซโซออกจากดินตะกอนแถบอ่าวเบงกอล.” หลักฐานยืนยันอื่น ๆ เกี่ยวกับการค้าระหว่างเมดิเตอร์เรเนียนกับอินเดียก็คือเหรียญกษาปณ์โรมันจำนวนมหาศาล ทั้งเหรียญทองและเหรียญเงินซึ่งมีการค้นพบในอินเดียตอนใต้. เหรียญเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราชและมีรูปของจักรพรรดิแห่งโรม ทั้งเอากุสตุส, ทิเบริอุสและเนโร.
แผนที่โบราณฉบับหนึ่งซึ่งยังมีสำเนาที่ทำขึ้นในยุคกลางหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีชาวโรมันมาตั้งอาณานิคมการค้าอย่างถาวรทางตอนใต้ของอินเดีย. กล่าวกันว่าแผนที่ฉบับนี้ที่รู้จักกันในชื่อ ตารางพอยทิงเงอร์ ช่วยให้เห็นภาพโลกโรมันในช่วงศตวรรษแรกของสากลศักราชได้เป็นอย่างดี. แผนที่นี้ได้บอกถึงที่ตั้งวิหารแห่งหนึ่งของเอากุสตุสในมูซิริส. หนังสือชื่อการค้าทางตะวันออกของโรม: การพาณิชย์สากลและนโยบายของจักรพรรดิ ปี 31 ก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 305 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “วิหารแห่งนี้คงต้องสร้างขึ้นโดยคนของจักรวรรดิโรมันเท่านั้น และสันนิษฐานว่าจะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในมูซิริสหรือใช้เวลาอยู่ที่นั่นค่อนข้างมาก.”
บันทึกของโรมันกล่าวถึงการมาเยือนกรุงโรมของคณะทูตจากอินเดียอย่างน้อยสามครั้งในรัชกาลของเอากุสตุส ระหว่างปี 27 ก่อนสากลศักราชจนถึงปีสากลศักราช 14. งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้กล่าวว่า “คณะทูตเหล่านี้มาเยือนด้วยเหตุผลสำคัญทางการทูต” นั่นคือ เพื่อตกลงเกี่ยวกับเขตที่ผู้คนจากชาติต่าง ๆ จะทำธุรกิจได้, เขตที่จะมีการเก็บภาษี, เขตที่คนต่างชาติจะพักอาศัยได้ และเรื่องอื่น ๆ.
ฉะนั้น ในศตวรรษแรกของสากลศักราช การเดินทางไปมาระหว่างดินแดนรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอินเดียถือเป็นเรื่องปกติและมีผู้คนเดินทางกันบ่อย ๆ. คงเป็นเรื่องง่ายสำหรับมิชชันนารีที่อยู่ทางเหนือของทะเลแดงจะขึ้นเรือลำหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังอินเดีย.
ไปไกลกว่าอินเดียไหม?
คงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าพ่อค้าและนักเดินทางคนอื่น ๆ จากฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนเคยไปทางตะวันออกได้ไกลเพียงไรหรือตั้งแต่เมื่อไร. แต่เชื่อกันว่าเมื่อถึงศตวรรษที่หนึ่งของสากลศักราช ก็มีชาวตะวันตกบางคนเดินทางไปไกลถึงประเทศไทย, กัมพูชา, สุมาตรา, และชวาแล้ว.
หนังสือโฮ่ว ฮั่น-ซู (หนังสือบันทึกเหตุการณ์ประจำปีในช่วงหลังของราชวงศ์ฮั่น) ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี ส.ศ. 23 จนถึงปี ส.ศ. 220 ได้ระบุปีของการเดินทางครั้งหนึ่งจากตะวันตกไปตะวันออก. ในปี ส.ศ. 166 คณะทูตจากกษัตริย์แห่งต้าฉิน พระนามว่าอัน-ตุ้น ได้มาถึงราชสำนักจีนพร้อมกับถวายเครื่องบรรณาการแด่จักรพรรดิหวังตี้. ต้าฉิน คือชื่อภาษาจีนที่หมายถึงจักรวรรดิโรมัน ส่วนคำว่าอัน-ตุ้น ดูเหมือนจะเป็นคำภาษาจีนสำหรับอันโตนินุส ซึ่งเป็นชื่อสกุลของมาร์คุส เอาเรลีอุส จักรพรรดิโรมันในเวลานั้น. นักประวัติศาสตร์สงสัยกันว่าคณะทูตที่กล่าวถึงนี้อาจไม่ใช่คณะทูตจากทางการ แต่เป็นเพียงพวกพ่อค้าใจกล้าจากฝั่งตะวันตกที่พยายามเสาะหาวิธีจะได้ผ้าไหมจากจีนโดยตรงแทนที่จะผ่านพ่อค้าคนกลาง.
ย้อนกลับมาที่คำถามของเราในตอนต้น นั่นคือ เรือในสมัยโบราณอาจพามิชชันนารีในศตวรรษแรกเดินทางไปตะวันออกได้ไกลถึงขนาดไหน? ไปถึงอินเดียหรือไกลกว่านั้นไหม? ก็อาจเป็นได้. ที่แน่ ๆ คือ ข่าวสารที่คริสเตียนประกาศได้แพร่ออกไปไกลถึงขนาดที่อัครสาวกเปาโลกล่าวได้ว่า ข่าวนี้ “กำลังเกิดผลทวีขึ้นทั่วโลก” คือ ไปถึงดินแดนอันไกลโพ้นในโลกที่รู้จักกันในสมัยนั้น.—โกโลซาย 1:6.
[เชิงอรรถ]
a ถึงแม้ไม่มีใครทราบที่ตั้งจริง ๆ ของมูซิริส แต่พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเพริยาร์ ในรัฐเกรละ.
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
เสียงบ่นของจักรพรรดิ
ในปีสากลศักราช 22 จักรพรรดิทิเบริอุสแห่งโรมทรงโอดครวญเกี่ยวกับความฟุ้งเฟ้ออย่างไร้ขอบเขตของประชาชนของพระองค์. ความกระหายอย่างละโมบในสิ่งที่หรูหราและความอยากได้ใคร่มีอย่างที่ขาดการประมาณตนในเรื่องเพชรนิลจินดาของผู้หญิงสูงศักดิ์ชาวโรมันกำลังทำให้จักรวรรดิของพระองค์สูญเสียความมั่งคั่งให้กับ “บรรดาชาติที่ไม่เคยรู้จักหรือชาติศัตรู.” พลินีผู้สูงวัยกว่า นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน (ปีสากลศักราช 23-79) ก็รำพึงรำพันถึงเรื่องการใช้จ่ายทำนองเดียวกัน. เขาเขียนว่า “จากการคำนวณอย่างต่ำที่สุด อินเดีย, เซเรส, และคาบสมุทรอาหรับได้เงินจากจักรวรรดิของเรามากถึงปีละหนึ่งร้อยล้านเซสเตอร์เซ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากเหลือเกินที่เราได้จ่ายไปเพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือยและเพื่อผู้หญิงของเรา.”b
[เชิงอรรถ]
b นักวิเคราะห์คำนวณว่าเงิน 100 ล้านเซสเตอร์เซเท่ากับสองเปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจทั้งหมดของจักรวรรดิโรมัน.
[ที่มาของภาพ]
Museo della Civiltà Romana, Roma; Todd Bolen/Bible Places.com
[กรอบ/ภาพหน้า 23]
พวกพ่อค้าเสาะหาสินค้าจากที่ไหน?
พระเยซูตรัสถึง “พ่อค้าที่เดินทางเสาะหาไข่มุกเม็ดงาม.” (มัดธาย 13:45) ในทำนองเดียวกัน หนังสือวิวรณ์กล่าวถึง “พ่อค้าเดินทาง” ซึ่งมีสินค้า เช่น อัญมณี, ผ้าไหม, ไม้หอม, งาช้าง, อบเชย, เครื่องหอม, และเครื่องเทศอินเดีย. (วิวรณ์ 18:11-13) สินค้าเหล่านี้ได้มาจากดินแดนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางการค้าซึ่งอยู่ทางตะวันออกของปาเลสไตน์. ไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ไม้จันทน์ มาจากอินเดีย. ไข่มุกที่มีค่าสามารถหาได้จากอ่าวเปอร์เซีย, ทะเลแดง, และผู้เขียนเพริพลุส มาริส เอริแทร บอกว่าบริเวณใกล้ ๆ มูซิริสและที่ศรีลังกาก็มีไข่มุกด้วย. ดูเหมือนว่าไข่มุกจากมหาสมุทรอินเดียจะมีคุณภาพดีที่สุดและมีราคาแพงที่สุด.
[แผนที่หน้า 20]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เส้นทางการค้าบางเส้นระหว่างโรมกับเอเชียในศตวรรษแรก
อาเรซโซ
โรม
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
อะเล็กซานเดรีย
อียิปต์
คอปตอส
แอฟริกา
แม่น้ำไนล์
มียอสออร์มอส
เบเรไนซี
แซนซิบาร์
ทะเลแดง
เยรูซาเลม
อาระเบีย
แม่น้ำยูเฟรทิส
บาบิโลเนีย
อ่าวเปอร์เซีย
เปอร์เซีย
↓ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
↑ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
แม่น้ำสินธุ
ปัญจาบ
แม่น้ำคงคา
อ่าวเบงกอล
อินเดีย
อารีคาเมดู
มูซิริส
ศรีลังกา
มหาสมุทรอินเดีย (ทะเลเอริแทรเอียน)
จีน
จักรวรรดิฮั่น
ไทย
กัมพูชา
เวียดนาม
สุมาตรา
ชวา
[ภาพหน้า 21]
แบบจำลองเรือสินค้าโรมัน
[ที่มาของภาพ]
Ship: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.