-
‘การพบไข่มุกที่มีค่ามาก’หอสังเกตการณ์ 2005 | 1 กุมภาพันธ์
-
-
‘การพบไข่มุกที่มีค่ามาก’
“แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่ต้องชิงเอา, และผู้ที่มีใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้.”—มัดธาย 11:12.
1, 2. (ก) คุณลักษณะอะไรที่หาได้ยาก ซึ่งพระเยซูพรรณนาไว้ในอุปมาเรื่องหนึ่งของพระองค์เกี่ยวกับราชอาณาจักร? (ข) พระเยซูตรัสอะไรในอุปมาเรื่องไข่มุกล้ำค่านั้น?
มีบางสิ่งซึ่งคุณถือว่ามีค่ามากถึงขนาดที่จะยอมสละทุกอย่างที่คุณมีเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครอบครองไหม? แม้ว่าผู้คนพูดกันถึงการทุ่มเทตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง เช่น เงินทอง, ชื่อเสียง, อำนาจ, หรือฐานะตำแหน่ง แต่หาได้ยากที่ผู้คนจะพบสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งถึงขนาดที่เขาเต็มใจสละทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งนั้นมา. พระเยซูคริสต์กล่าวถึงคุณลักษณะที่หาได้ยากแต่ว่าน่าชมเชยนี้ในอุปมาที่กระตุ้นความคิดเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องของพระองค์เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.
2 อุปมาดังกล่าว ซึ่งบ่อยครั้งเรียกกันว่าอุปมาเรื่องไข่มุกล้ำค่า เป็นหนึ่งในอุปมาที่พระเยซูเล่าให้สาวกของพระองค์ฟังเป็นการส่วนตัว. พระเยซูตรัสดังนี้: “ราชอาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนพ่อค้าที่เดินทางค้าขายซึ่งเสาะหาไข่มุกคุณภาพเยี่ยม. เมื่อพบไข่มุกที่มีค่ามากเม็ดหนึ่ง เขาก็ไปขายทุกสิ่งที่เขามีทันทีแล้วไปซื้อไข่มุกเม็ดนั้น.” (มัดธาย 13:36, 45, 46, ล.ม.) พระเยซูประสงค์ให้ผู้ฟังของพระองค์เรียนรู้อะไรจากอุปมานี้? และเราสามารถได้รับประโยชน์อะไรจากคำตรัสของพระเยซู?
ไข่มุกล้ำค่า
3. เหตุใดไข่มุกคุณภาพเยี่ยมจึงมีค่ามากในสมัยโบราณ?
3 ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วที่ไข่มุกถือว่ามีค่าใช้เป็นเครื่องประดับ. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า ตามคำกล่าวของพลินีผู้อาวุโส ผู้คงแก่เรียนชาวโรมัน ไข่มุกเป็น “สิ่งมีค่ามากอันดับต้น ๆ ในบรรดาสิ่งมีค่าทั้งปวง.” ต่างจากทองคำ, เงิน, หรืออัญมณีหลายชนิด ไข่มุกเป็นผลผลิตจากสิ่งมีชีวิต. เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหอยทะเลบางชนิดสามารถเปลี่ยนวัตถุที่ทำให้มันระคายเคือง เช่น เศษหินเล็ก ๆ ไปเป็นมุกดาที่แวววาว โดยเคลือบวัตถุนั้นหลาย ๆ ชั้นด้วยสารคัดหลั่งที่เรียกกันว่ามุก. ในสมัยโบราณ ไข่มุกคุณภาพเยี่ยมที่สุดส่วนใหญ่เก็บได้จากทะเลแดง, อ่าวเปอร์เซีย, และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ไกลจากแผ่นดินอิสราเอล. แน่นอน นี่เป็นเหตุที่พระเยซูตรัสถึง “พ่อค้าที่เดินทางค้าขายซึ่งเสาะหาไข่มุกคุณภาพเยี่ยม.” เพื่อจะพบไข่มุกล้ำค่า ต้องบากบั่นพยายาม.
4. อะไรคือจุดสำคัญในอุปมาของพระเยซูเกี่ยวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขาย?
4 แม้ว่าไข่มุกคุณภาพเยี่ยมมีราคาสูงมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าราคาของมันไม่ใช่จุดสำคัญที่สุดในอุปมาของพระเยซู. ในอุปมานี้ พระเยซูไม่เพียงเปรียบราชอาณาจักรของพระเจ้ากับไข่มุกล้ำค่า แต่ยังนำความสนใจไปสู่ “พ่อค้าที่เดินทางค้าขายซึ่งเสาะหาไข่มุกคุณภาพเยี่ยม” และสิ่งที่เขาทำเมื่อพบไข่มุกนั้นแล้ว. ต่างจากเจ้าของร้านค้าทั่วไป พ่อค้าที่เดินทางไปหาไข่มุกอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ช่ำชองในด้านการค้า เป็นผู้ที่ตาแหลมหรือมีความสามารถรับรู้ที่จำเป็นเพื่อมองออกถึงความงามและรายละเอียดต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ซึ่งทำให้ไข่มุกเม็ดหนึ่งมีความพิเศษ. เขาจะรู้ว่าเม็ดไหนเป็นของแท้เมื่อพินิจดูและจะไม่ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าคุณภาพด้อยกว่าหรือที่ทำขึ้นเลียนแบบ.
5, 6. (ก) มีอะไรที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับพ่อค้าในอุปมาของพระเยซู? (ข) อุปมาเรื่องขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่เผยอะไรเกี่ยวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขาย?
5 มีสิ่งอื่นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพ่อค้าคนนี้. พ่อค้าโดยทั่วไปอาจประเมินราคาตลาดของไข่มุกนั้นดูก่อน เพื่อจะกำหนดได้ว่าควรจะซื้อมาในราคาเท่าไรเพื่อจะขายได้กำไร. นอกจากนี้ เขาอาจสำรวจว่าตลาดมีความต้องการไข่มุกนั้นไหมเพื่อจะสามารถขายออกได้อย่างรวดเร็ว. พูดอีกอย่างหนึ่ง เขาสนใจที่จะได้ผลกำไรคืนมาอย่างรวดเร็วจากการลงทุน ไม่ใช่เพราะว่าอยากเป็นเจ้าของไข่มุกนั้น. แต่ไม่เป็นอย่างนั้นกับพ่อค้าในอุปมาของพระเยซู. ความสนใจของเขาไม่ได้อยู่ที่ผลกำไรเป็นวัตถุเงินทอง. แท้จริงแล้ว เขาเต็มใจสละ “ทุกสิ่งที่เขามี” ซึ่งเป็นไปได้ว่าคือสมบัติทั้งหมดของเขา เพื่อจะได้สิ่งซึ่งเขาเสาะแสวงหา.
6 ในสายตาของพ่อค้าส่วนมาก สิ่งที่ชายในอุปมาของพระเยซูทำลงไปนี้น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด. นักธุรกิจที่ฉลาดสุขุมจะไม่คิดลงทุนทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนั้น. แต่พ่อค้าในอุปมาของพระเยซูมีมาตรฐานในการตีค่าสิ่งต่าง ๆ ต่างออกไป. ผลตอบแทนที่เขาได้รับไม่ใช่ผลประโยชน์ใด ๆ ด้านการเงิน แต่เป็นความยินดีและความพึงพอใจที่ได้ครอบครองสิ่งที่เลอค่า. จุดสำคัญนี้เป็นที่กระจ่างชัดในอุปมาอีกเรื่องหนึ่งของพระเยซูที่คล้ายกัน. พระองค์ตรัสว่า “แผ่นดินสวรรค์เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ซ่อนไว้ที่ทุ่งนา, เมื่อมีผู้ใดได้พบแล้วก็กลับซ่อนเสียอีก, และเพราะความยินดีจึงไปขายสรรพสิ่งซึ่งเขามีอยู่แล้วไปซื้อนานั้น.” (มัดธาย 13:44) ใช่แล้ว ความยินดีจากการพบและได้ครอบครองขุมทรัพย์นั้นเพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นชายผู้นี้ให้ยอมสละทุกสิ่งที่เขามีอยู่. มีคนอย่างนั้นในทุกวันนี้ไหม? มีสิ่งมีค่าอันใดไหมที่ควรค่าแก่การยอมสละเช่นนั้น?
คนเหล่านั้นที่เห็นถึงความล้ำค่า
7. พระเยซูแสดงอย่างไรว่าพระองค์ทรงเห็นถึงความล้ำค่าของราชอาณาจักรอย่างยิ่ง?
7 ในการเล่าอุปมา พระเยซูกล่าวถึง “แผ่นดินสวรรค์.” ไม่มีข้อสงสัยว่าพระองค์เองเห็นถึงความล้ำค่าของราชอาณาจักร. เรื่องราวต่าง ๆ ในพระธรรมกิตติคุณเป็นพยานหลักฐานที่มีพลังถึงข้อเท็จจริงนี้. หลังจากรับบัพติสมาในปี ส.ศ. 29 พระเยซู “ตั้งต้นประกาศว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงกลับใจเสียใหม่ เพราะราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.’ ” พระองค์สั่งสอนผู้คนมากมายในเรื่องราชอาณาจักรเป็นเวลาสามปีครึ่ง. พระองค์เดินทางไปทั่วทุกหนแห่งจากเหนือจรดใต้ “เสด็จไปตามเมืองและตามหมู่บ้าน ทรงเทศนาและประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—มัดธาย 4:17, ล.ม.; ลูกา 8:1, ล.ม.
8. พระเยซูทำอะไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ราชอาณาจักรจะทำ?
8 นอกจากนั้น โดยทำการอัศจรรย์หลายประการตลอดทั่วดินแดนนั้น ซึ่งรวมไปถึงการรักษาคนป่วย, การเลี้ยงอาหารผู้ที่หิวโหย, การควบคุมสภาพลมฟ้าอากาศ, แม้กระทั่งการปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก พระเยซูทรงแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำ. (มัดธาย 14:14-21; มาระโก 4:37-39; ลูกา 7:11-17) ในที่สุด พระองค์พิสูจน์ความภักดีต่อพระเจ้าและราชอาณาจักรนั้นด้วยการสละพระชนม์ชีพของพระองค์ สิ้นพระชนม์บนหลักทรมานเนื่องด้วยให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักร. เช่นเดียวกับที่พ่อค้าเต็มใจสละทุกสิ่งที่เขามีเพื่อจะได้ “ไข่มุกที่มีค่ามาก” พระเยซูทรงดำเนินชีวิตและวายพระชนม์เพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรนั้น.—โยฮัน 18:37.
9. คุณลักษณะอะไรที่หาได้ยากซึ่งสังเกตเห็นได้ในท่ามกลางสาวกรุ่นแรก ๆ ของพระเยซู?
9 พระเยซูไม่เพียงทุ่มเทชีวิตของพระองค์เพื่อราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังได้รวบรวมผู้ติดตามกลุ่มเล็ก ๆ ด้วย. คนเหล่านี้ก็เช่นกันที่เห็นถึงความล้ำค่าของราชอาณาจักรอย่างยิ่ง. หนึ่งในนั้นคืออันดะเรอา ซึ่งเดิมเป็นศิษย์ของโยฮันผู้ให้รับบัพติสมา. หลังจากได้ยินคำพยานจากโยฮันว่าพระเยซูเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า” อันดะเรอากับศิษย์อีกคนหนึ่งของโยฮัน ซึ่งคงเป็นบุตรคนหนึ่งของเซเบดายที่มีชื่อว่าโยฮันด้วย ก็ถูกดึงดูดเข้ามาหาพระเยซูในทันทีและเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงแค่นั้น. โดยไม่รอช้า อันดะเรอาก็ไปหาซีโมนพี่ชายของตน และบอกว่า “เราพบมาซีฮาแล้ว.” ไม่นานหลังจากนั้น ซีโมน (ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อเกฟา หรือเปโตร) และฟิลิปกับนะธันเอลเพื่อนของเขาก็ยอมรับพระเยซูเป็นพระมาซีฮาเช่นกัน. อันที่จริง นะธันเอลได้รับการกระตุ้นใจจนถึงกับกล่าวแก่พระเยซูว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า, พระองค์เป็นกษัตริย์ของชาติยิศราเอล.”—โยฮัน 1:35-49.
ได้รับการกระตุ้นให้ลงมือกระทำ
10. สาวกของพระเยซูตอบสนองอย่างไรเมื่อพระองค์เสด็จมาหาและเชิญพวกเขาให้ติดตามพระองค์หลังจากช่วงระยะหนึ่งผ่านไปที่ได้พบกับพวกเขาครั้งแรก?
10 ความตื่นเต้นของอันดะเรอา, เปโตร, โยฮัน, และคนอื่น ๆ เมื่อพวกเขาพบพระมาซีฮานั้นอาจเทียบได้กับความตื่นเต้นของพ่อค้าเมื่อเขาพบไข่มุกล้ำค่า. พวกเขาจะทำอะไรต่อจากนั้น? พระธรรมกิตติคุณไม่ได้บอกอะไรเรามากนักว่าพวกเขาทำอะไรต่อหลังจากได้พบกับพระเยซูครั้งแรกนี้. ดูเหมือนว่าพวกเขาส่วนใหญ่กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ. อย่างไรก็ตาม ประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปีต่อมา พระเยซูพบกับอันดะเรอา, เปโตร, โยฮัน, และยาโกโบพี่ชายของโยฮันอีกครั้ง ขณะพวกเขาทำธุรกิจประมงอยู่ริมฝั่งทะเลแกลิลี.a เมื่อเห็นพวกเขา พระเยซูก็ตรัสว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะตั้งท่านให้เป็นผู้จับคน.” พวกเขาตอบสนองอย่างไร? เกี่ยวกับเปโตรกับอันดะเรอา บันทึกของมัดธายกล่าวว่า “เขาทั้งสองก็ละอวนทันทีติดตามพระองค์ไป.” เกี่ยวกับยาโกโบกับโยฮันเราอ่านว่า “เขาทั้งสองก็ละเรือและบิดาของเขาทันทีตามพระองค์ไป.” บันทึกของลูกาเสริมว่าพวกเขา “สละทิ้งสิ่งสารพัตรตามพระองค์ไป.”—มัดธาย 4:18-22; ลูกา 5:1-11.
11. อะไรคงเป็นเหตุผลที่พวกสาวกตอบรับคำเชิญของพระเยซูในทันที?
11 การตอบรับคำเชิญทันทีของพวกสาวกเป็นการตัดสินใจอย่างหุนหันเกินไปไหม? ไม่เลย! แม้ว่าพวกเขากลับไปทำธุรกิจประมงของครอบครัวหลังจากได้พบกับพระเยซูครั้งแรกก็ตาม แต่ไม่มีข้อสงสัยว่าสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้ยินในครั้งนั้นยังคงตราตรึงอยู่ในใจของพวกเขา. เวลาที่ผ่านไปเกือบปีคงทำให้พวกเขามีเวลามากมายที่จะไตร่ตรองเหตุการณ์ดังกล่าว. บัดนี้ เป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจ. พวกเขาจะเป็นเหมือนพ่อค้าที่เดินทางค้าขายไหมที่หัวใจของเขาได้รับการกระตุ้นจากการพบไข่มุกล้ำค่านั้นถึงขนาดที่ ดังที่พระเยซูกล่าว “เขาก็ไป” และลงมือทำสิ่งที่จำเป็น “ทันที” เพื่อจะซื้อไข่มุกนั้นมา? ใช่แล้ว. สิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้ยินกระตุ้นหัวใจพวกเขา. พวกเขาตระหนักว่าบัดนี้เป็นเวลาที่ต้องลงมือกระทำ. ด้วยเหตุนี้ ดังที่เรื่องราวในกิตติคุณบอกเรา โดยไม่รีรอพวกเขาสละทุกสิ่งและติดตามพระเยซูไป.
12, 13. (ก) หลายคนที่ได้ฟังพระเยซูแสดงท่าทีอย่างไร? (ข) พระเยซูกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับสาวกผู้ซื่อสัตย์ และคำตรัสของพระองค์บ่งชี้ถึงอะไร?
12 สาวกผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ช่างต่างกันสักเพียงไรกับบางคนที่พระธรรมกิตติคุณกล่าวถึงในภายหลัง! มีหลายคนที่ได้รับการรักษาโรคหรือการเลี้ยงอาหารจากพระเยซู แต่แล้วก็ดำเนินชีวิตของตนต่อไปตามปกติ. (ลูกา 17:17, 18; โยฮัน 6:26) บางคนถึงกับขอตัวด้วยซ้ำเมื่อพระเยซูเชิญพวกเขาให้ติดตามพระองค์. (ลูกา 9:59-62) สาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระเยซูต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่อมาพระองค์ตรัสเกี่ยวกับพวกเขาว่า “ตั้งแต่โยฮันบัพติศโตมาถึงทุกวันนี้, แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่ต้องชิงเอา, และผู้ที่มีใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้.”—มัดธาย 11:12.
13 คำ “ชิงเอา” หรือ “มีใจร้อนรน” บ่งนัยถึงอะไร? พจนานุกรมอธิบายศัพท์พันธสัญญาเดิมและใหม่ของไวน์ กล่าวเกี่ยวกับคำกริยาภาษากรีกอันเป็นที่มาของคำเหล่านี้ว่า “คำกริยานี้บ่งชี้ถึงความพากเพียรอย่างหนัก.” และเกี่ยวกับข้อคัมภีร์นี้ ไฮน์ริค ไมเออร์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สำนวนดังกล่าวพรรณนาถึงการมุ่งมั่นพยายามและการบากบั่นฝ่าฟันเพื่อจะได้ราชอาณาจักรมาซีฮาที่ใกล้เข้ามานั้น . . . ความสนใจในเรื่องราชอาณาจักรนั้นมีอย่างแรงกล้าและร้อนรนอย่างยิ่ง (ไม่ได้คอยท่าอยู่เฉย ๆ อีกต่อไปแล้ว).” เช่นเดียวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขายนั้น คนกลุ่มเล็ก ๆ นี้มองออกในทันทีว่าอะไรล้ำค่าอย่างแท้จริง และพวกเขาเต็มใจสละสิ่งสารพัดที่พวกเขามีอยู่เพราะเห็นแก่ราชอาณาจักร.—มัดธาย 19:27, 28; ฟิลิปปอย 3:8.
คนอื่น ๆ ร่วมในการแสวงหานั้น
14. พระเยซูเตรียมเหล่าอัครสาวกอย่างไรบ้างสำหรับงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร และผลเป็นเช่นไร?
14 ขณะที่พระเยซูทำงานรับใช้ของพระองค์ต่อ ๆ ไป พระองค์ทรงฝึกอบรมและช่วยคนอื่น ๆ บากบั่นเพื่อจะได้ราชอาณาจักร. ทีแรกพระองค์ทรงเลือกเอา 12 คนจากสาวกทั้งหมด และตั้งพวกเขาเป็นอัครสาวก ซึ่งเดิมในภาษากรีกมีความหมายว่าผู้ที่ถูกส่งออกไป. พระเยซูให้คำแนะนำอย่างละเอียดแก่คนเหล่านี้ว่าจะทำงานรับใช้อย่างไรรวมทั้งเตือนล่วงหน้าถึงข้อท้าทายและความลำบากที่รออยู่เบื้องหน้าด้วย. (มัดธาย 10:1-42; ลูกา 6:12-16) ช่วงราว ๆ สองปีต่อจากนั้น เหล่าอัครสาวกทำงานประกาศร่วมกับพระเยซูไปตลอดทั่วดินแดนนั้น และมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์. พวกเขาได้ยินคำตรัส, เห็นการอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ, และเห็นแบบอย่างของพระองค์. (มัดธาย 13:16, 17) ไม่มีข้อสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนประทับใจพวกเขาอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่พวกเขาแสวงหาราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้าและสิ้นสุดหัวใจ เช่นเดียวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขายนั้น.
15. พระเยซูตรัสว่าแท้จริงอะไรเป็นเหตุให้พวกสาวกมีความยินดี?
15 นอกจากอัครสาวก 12 คนนี้ พระเยซู “ทรงตั้งสาวกอื่นอีกเจ็ดสิบคนไว้ และใช้เขาออกไปทีละสองคน ๆ ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปก่อน, ให้เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น.” พระองค์บอกพวกเขาเช่นกันถึงการทดลองและความลำบากที่จะประสบในวันข้างหน้า และสั่งพวกเขาให้บอกประชาชนว่า “แผ่นดิน [ราชอาณาจักร] ของพระเจ้ามาใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว.” (ลูกา 10:1-12) เมื่อเจ็ดสิบคนนั้นกลับมา พวกเขาเปี่ยมล้นด้วยความยินดีและทูลรายงานพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า, ถึงผีทั้งหลายก็ได้อยู่ใต้บังคับของพวกข้าพเจ้าโดยพระนามของพระองค์.” แต่พวกเขาคงประหลาดใจเมื่อพระเยซูเผยว่าพวกเขาจะประสบความยินดียิ่งกว่านี้อีกด้วยเหตุที่พวกเขามีใจแรงกล้าเพื่อราชอาณาจักร. พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “อย่ายินดีในสิ่งนี้, คือที่พวกผีอยู่ใต้บังคับของพวกท่าน. แต่จงชื่นชมเพราะนามของท่านจดไว้ในสวรรค์.”—ลูกา 10:17, 20.
16, 17. (ก) พระเยซูบอกอะไรแก่อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ในคืนสุดท้ายที่พระองค์อยู่กับพวกเขา? (ข) คำตรัสของพระเยซูก่อความยินดีและให้คำรับรองอะไรแก่พวกอัครสาวก?
16 ท้ายที่สุด ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูอยู่กับอัครสาวก วันที่ 14 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33 พระองค์ทรงตั้งสิ่งซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า “อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และบัญชาพวกเขาให้ระลึกถึงเหตุการณ์นี้. ในคืนวันนั้น พระเยซูบอกอัครสาวก 11 คนที่เหลืออยู่ว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่ได้ติดสนิทกับเราในเวลาที่เราถูกทดลอง และเราทำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรกับเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่พระบิดาของเราได้ทำสัญญากับเรา เพื่อเจ้าทั้งหลายจะกินและดื่มที่โต๊ะของเราในราชอาณาจักรของเรา และนั่งบนบัลลังก์เพื่อจะพิพากษาอิสราเอลสิบสองตระกูล.”—ลูกา 22:19, 20, 28-30, ล.ม.
17 หัวใจของพวกอัครสาวกคงต้องเปี่ยมล้นด้วยความยินดีและอิ่มอกอิ่มใจสักเพียงไรเมื่อได้ยินพระเยซูตรัสเช่นนั้น! พวกเขาได้รับการเสนอให้มีสิทธิพิเศษและเกียรติอันสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนใด ๆ จะมีได้. (มัดธาย 7:13, 14; 1 เปโตร 2:9) เช่นเดียวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขายนั้น พวกเขาได้สละหลายสิ่งเพื่อติดตามพระเยซูในการแสวงหาราชอาณาจักร. บัดนี้ พวกเขาได้รับคำรับรองว่าการเสียสละที่พวกเขาได้ทำมาจนถึงบัดนี้จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน.
18. นอกจากอัครสาวก 11 คนแล้ว ในที่สุดจะมีใครอีกที่ได้รับพระพรแห่งราชอาณาจักรด้วย?
18 อัครสาวกที่อยู่กับพระเยซูในคืนวันนั้นไม่ใช่กลุ่มเดียวที่จะได้รับพระพรแห่งราชอาณาจักร. เป็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะให้มีมนุษย์จำนวน 144,000 คนถูกนำเข้าสู่สัญญาเรื่องราชอาณาจักรเพื่อเป็นผู้ร่วมปกครองกับพระเยซูคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์อันรุ่งโรจน์. นอกจากนั้น อัครสาวกโยฮันเห็นในนิมิต “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ . . . ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก . . . ร้องเสียงดังไม่หยุดว่า ‘ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.’ ” คนเหล่านี้ก็คือราษฎรทางแผ่นดินโลกของราชอาณาจักร.b—วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.; 14:1, 4.
19, 20. (ก) มีการเปิดโอกาสอะไรแก่ชนทุกชาติ? (ข) จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
19 ไม่นานก่อนพระเยซูจะเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์บัญชาสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ดังนี้: “จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ดังนั้น ประชาชนจากทุกชาติจะเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. คนเหล่านี้ก็เช่นกัน ปรารถนาจะได้ราชอาณาจักร—ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก—เช่นเดียวกับที่พ่อค้าที่เดินทางค้าขายปรารถนาจะได้ไข่มุกคุณภาพเยี่ยมนั้น.
20 คำตรัสของพระเยซูบ่งชี้ว่างานทำให้คนเป็นสาวกจะดำเนินไปจนกระทั่ง “ช่วงอวสานแห่งระบบ.” ฉะนั้น ในสมัยของเรานี้ ยังมีคนอย่างพ่อค้าที่เดินทางค้าขายนั้นไหม ผู้ซึ่งเต็มใจสละสิ่งสารพัดของตนเพื่อแสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้า? บทความถัดไปจะพิจารณาคำถามนี้.
[เชิงอรรถ]
a หลังจากพบกันครั้งแรกนั้น โยฮันบุตรเซเบดายอาจติดตามพระเยซูไปและเห็นด้วยตัวเองถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำ จึงทำให้ท่านสามารถบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างเห็นภาพชัดในพระธรรมกิตติคุณของท่าน. (โยฮัน บท 2-5) กระนั้น โยฮันได้กลับไปทำธุรกิจประมงของครอบครัวช่วงหนึ่งก่อนที่พระเยซูทรงเชิญเขาให้ติดตามพระองค์.
b สำหรับรายละเอียด โปรดดูหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ บท 10 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
-
-
การแสวงหา “ไข่มุกที่มีค่ามาก” ในทุกวันนี้หอสังเกตการณ์ 2005 | 1 กุมภาพันธ์
-
-
การแสวงหา “ไข่มุกที่มีค่ามาก” ในทุกวันนี้
“ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยาน.”—มัดธาย 24:14, ล.ม.
1, 2. (ก) ชาวยิวในสมัยพระเยซูมีความคิดแบบใดในเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า? (ข) พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อถ่ายทอดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องราชอาณาจักร และผลเป็นประการใด?
ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งท่ามกลางชาวยิวเมื่อพระเยซูเสด็จมายังโลก. (มัดธาย 3:1, 2; 4:23-25; โยฮัน 1:49) อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก ชาวยิวส่วนมากไม่เข้าใจเต็มที่ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะปกครองกว้างไกลถึงขอบเขตไหนและจะใช้อำนาจปกครองอย่างไร ทั้งไม่เข้าใจด้วยว่าราชอาณาจักรนั้นจะเป็นการปกครองทางภาคสวรรค์. (โยฮัน 3:1-5) แม้แต่บางคนที่เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูก็ไม่เข้าใจเต็มที่ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร หรือพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับพระพรในการเป็นผู้ร่วมปกครองกับพระคริสต์.—มัดธาย 20:20-22; ลูกา 19:11; กิจการ 1:6.
2 ขณะที่เวลาผ่านไป พระเยซูทรงสอนหลายสิ่งแก่สาวกอย่างอดทน รวมถึงอุปมาเรื่องไข่มุกล้ำค่าดังที่พิจารณาไปในบทความก่อน ซึ่งชี้ให้พวกเขาเห็นความสำคัญของการบากบั่นพยายามในการแสวงหาราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (มัดธาย 6:33; 13:45, 46; ลูกา 13:23, 24) อุปมาดังกล่าวคงประทับใจพวกเขาอย่างยิ่ง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน พวกเขากลายเป็นผู้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรที่กล้าหาญและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยไปจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก ซึ่งมีหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงนี้อย่างเหลือล้นในพระธรรมกิจการ.—กิจการ 1:8; โกโลซาย 1:23.
3. เกี่ยวข้องกับสมัยของเรา พระเยซูกล่าวเช่นไรในเรื่องราชอาณาจักร?
3 แล้วทุกวันนี้ล่ะเป็นเช่นไร? มีการประกาศให้หลายล้านคนได้ทราบถึงพระพรเรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรนั้น. ในคำพยากรณ์สำคัญของพระองค์เกี่ยวกับ “ช่วงอวสานของระบบนี้” พระเยซูกล่าวเจาะจงว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:3, 14, ล.ม.; มาระโก 13:10) พระองค์ยังชี้แจงด้วยว่างานใหญ่โตมโหฬารนี้จะมีการทำจนสำเร็จแม้มีอุปสรรคและข้อท้าทายที่ยากจะจัดการ แม้กระทั่งการกดขี่ข่มเหงด้วยซ้ำ. กระนั้น พระองค์ทรงให้คำรับรองดังนี้: “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด, ผู้นั้นจะรอด.” (มัดธาย 24:9-13) ทั้งหมดนี้เรียกร้องการเสียสละและการทุ่มเทตัวเองเช่นเดียวกับที่พ่อค้าในอุปมาของพระเยซูได้ทำ. มีผู้คนที่แสดงความเชื่อและความมีใจแรงกล้าเช่นนั้นในการแสวงหาราชอาณาจักรในสมัยนี้ไหม?
ความยินดีจากการได้พบความจริง
4. ความจริงเรื่องราชอาณาจักรมีผลกระทบต่อผู้คนในทุกวันนี้อย่างไร?
4 พ่อค้าในอุปมาของพระเยซูปีติยินดีมากเมื่อได้พบสิ่งที่เขารู้ว่าเป็น “ไข่มุกที่มีค่ามาก.” ความยินดีนั้นกระตุ้นเขาให้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อจะได้ไข่มุกนั้นมา. (เฮ็บราย 12:1) ทุกวันนี้ ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์ดึงดูดใจและกระตุ้นหลายคนเช่นเดียวกันนั้น. เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงความเห็นของบราเดอร์ เอ. เอช. แมกมิลแลน ซึ่งเขียนเกี่ยวกับตัวท่านเองที่แสวงหาพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ ไว้ในหนังสือความเชื่อที่รุดหน้า (ภาษาอังกฤษ). ท่านกล่าวว่า “สิ่งที่ผมได้พบ ผู้คนมากมายก็ยังพบทุก ๆ ปี. และพวกเขาก็คือผู้คนอย่างคุณ ๆ และผม เพราะคนเหล่านี้มาจากทุกชาติ, ทุกเชื้อชาติ, ทุกฐานะในสังคม, และทุกวัย. ความจริงไม่เลือกหน้าผู้ใด. ความจริงดึงดูดผู้คนทุกชนิด.”
5. ผลที่ดีอะไรที่เห็นได้ในรายงานปีรับใช้ 2004?
5 ความจริงแห่งถ้อยคำดังกล่าวเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ปีแล้วปีเล่า ผู้มีหัวใจสุจริตหลายแสนคนได้รับการกระตุ้นใจจากข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าให้อุทิศชีวิตของตนแด่พระยะโฮวาและกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ปีรับใช้ 2004 ซึ่งนับจากเดือนกันยายน 2003 ถึงสิงหาคม 2004 ก็เป็นเช่นนั้นด้วย. ในช่วง 12 เดือนนั้นมี 262,416 คนรับบัพติสมาในน้ำ เป็นสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวของพวกเขาต่อพระยะโฮวาอย่างเปิดเผย. สิ่งนี้เกิดขึ้นใน 235 ดินแดน ซึ่งแต่ละสัปดาห์ พยานพระยะโฮวานำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 6,085,387 ราย เพื่อช่วยผู้คนจากทุกฐานะในสังคม และจากชาติ, เผ่าพันธุ์, และภาษาต่าง ๆ ให้รับเอาความจริงที่ให้ชีวิตจากพระคำของพระเจ้า.—วิวรณ์ 7:9.
6. อะไรเป็นสาเหตุของการเพิ่มทวีอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี?
6 อะไรทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้? ไม่มีข้อสงสัยว่าพระยะโฮวาชักนำผู้มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเหล่านี้ให้มาหาพระองค์. (โยฮัน 6:65; กิจการ 13:48) กระนั้น ที่ไม่อาจมองข้ามคือน้ำใจเสียสละและความพยายามอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยในส่วนของผู้ที่ได้ทุ่มเทตัวแสวงหาราชอาณาจักร. บราเดอร์แมกมิลแลนเขียนไว้เมื่อท่านอายุ 79 ปีว่า “ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำทรงสัญญาที่เสนอให้แก่มนุษยชาติที่เจ็บป่วยและตาย ความหวังของผมในสิ่งที่ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยนั้นไม่เคยรางเลือนไปเลย. ตั้งแต่ตอนนั้นเลยทีเดียวที่ผมตั้งใจว่าจะหาความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน เพื่อผมจะสามารถช่วยคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับผม ซึ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ พระยะโฮวา และพระประสงค์อันล้ำเลิศของพระองค์ที่มีต่อมวลมนุษยชาติ.”
7. ประสบการณ์อะไรเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความยินดีและความมีใจแรงกล้าของผู้พบความจริงในคัมภีร์ไบเบิล?
7 ความมีใจแรงกล้าเช่นนั้นเห็นได้ท่ามกลางผู้รับใช้พระยะโฮวาในทุกวันนี้เช่นกัน. ตัวอย่างหนึ่งคือดาเนียลลา จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย. เธอเล่าว่า “ตั้งแต่เป็นเด็ก พระเจ้าเป็นเพื่อนดีที่สุดของดิฉัน. ดิฉันอยากรู้เสมอว่าพระนามของพระองค์คืออะไรเนื่องจากสำหรับดิฉันแล้ว คำว่า ‘พระเจ้า’ เป็นคำที่กว้างเกินไป. แต่ดิฉันต้องคอยจนกระทั่งอายุ 17 ปี เมื่อพยานพระยะโฮวามาที่บ้าน. พวกเขาอธิบายทุกสิ่งที่ดิฉันอยากรู้เกี่ยวกับพระเจ้า. ในที่สุด ดิฉันได้พบความจริง และนั่นแสนวิเศษจริง ๆ! ดิฉันตื่นเต้นมากจนเริ่มบอกสิ่งนี้แก่ทุก ๆ คน.” ในไม่ช้า การแบ่งปันความจริงด้วยความกระตือรือร้นของเธอก็เป็นที่เยาะเย้ยจากเพื่อนนักเรียน. ดาเนียลลาเล่าต่อไปว่า “แต่สำหรับดิฉัน นี่เหมือนกับการได้เห็นคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง เพราะดิฉันทราบว่าพระเยซูบอกไว้แล้วว่าสาวกของพระองค์จะถูกเกลียดชังและข่มเหงเนื่องจากพระนามของพระองค์. ดิฉันทั้งสุขใจและอัศจรรย์ใจมาก.” ไม่นานจากนั้นดาเนียลลาก็อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา, รับบัพติสมา, และเริ่มมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะรับใช้ฐานะมิชชันนารี. หลังจากสมรสกับเฮลมุท เธอกับสามีเริ่มประกาศกับชาวแอฟริกา, จีน, ฟิลิปปินส์, และอินเดีย ในกรุงเวียนนา. ปัจจุบัน ดาเนียลลากับเฮลมุทรับใช้ฐานะมิชชันนารีทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกา.
พวกเขาไม่เลิกรา
8. อะไรคือวิธีหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนซึ่งหลายคนได้ใช้เพื่อแสดงความรักต่อพระเจ้าและความภักดีต่อราชอาณาจักรของพระองค์?
8 ใช่แล้ว วิธีหนึ่งที่ประชาชนของพระยะโฮวาทุกวันนี้แสดงความรักต่อพระเจ้าและความภักดีต่อราชอาณาจักรของพระองค์คือการรับใช้ในฐานะมิชชันนารี. เช่นเดียวกับพ่อค้าในอุปมาของพระเยซู คนที่เข้าสู่งานรับใช้ประเภทนี้เต็มใจเดินทางไปในที่ไกล ๆ เพื่อเห็นแก่ราชอาณาจักร. แน่ล่ะ มิชชันนารีเหล่านี้ไม่ได้เดินทางไกลเพื่อเสาะหาข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร แต่พวกเขานำข่าวดีนั้นไปบอกผู้คนทั่วทุกมุมโลก สอนและช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 28:19, 20) ในหลายแห่ง พวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากแสนสาหัส. แต่ความเพียรอดทนของพวกเขาได้รับผลตอบแทนอย่างอุดม.
9, 10. มิชชันนารีมีประสบการณ์อะไรที่น่าตื่นเต้นในดินแดนต่าง ๆ ที่ห่างไกล เช่น ที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง?
9 ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ร่วมการประชุมระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ 16,184 คน คือประมาณเจ็ดเท่าของจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรในประเทศนั้น. เนื่องจากในหลายส่วนของประเทศนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนจึงเอางานบ้านออกมาทำนอกชายคาใต้ร่มไม้. ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นธรรมดาที่มิชชันนารีจะทำงานของตนด้วยวิธีเดียวกัน คือนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลใต้ร่มไม้. ไม่เพียงแค่นอกบ้านสว่างกว่าและเย็นกว่าเท่านั้น แต่มีข้อดีอย่างอื่นด้วย. ประชาชนชื่นชอบคัมภีร์ไบเบิลอยู่แล้ว และเรื่องศาสนาเป็นหัวข้อการสนทนาทั่วไปเช่นเดียวกับการพูดคุยกันเรื่องกีฬาหรือเรื่องดินฟ้าอากาศในท้องถิ่นอื่น. บ่อยครั้ง ผู้ที่เดินผ่านไปมาสังเกตเห็นว่ามีการทำอะไรกันอยู่และเข้ามาร่วมการศึกษาด้วยเลย.
10 ตัวอย่างเช่น ขณะที่มิชชันนารีคนหนึ่งกำลังนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรายหนึ่งอยู่ใต้ร่มไม้ ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งบ้านอยู่อีกฟากของถนนได้เดินมาหา แล้วบอกว่ายังไม่มีใครมาที่บ้านเขาเลย เขาจึงขอมิชชันนารีคนนั้นมาที่บ้านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขาด้วย. แน่นอน มิชชันนารียินดีตอบรับคำเชิญนั้น และชายหนุ่มคนนี้ก็กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. ในประเทศนั้น ตำรวจโบกเรียกพยานพระยะโฮวาให้หยุดรถอยู่บ่อย ๆ ไม่ใช่เพื่อแจ้งความผิดหรือเรียกค่าปรับ แต่เพื่อขอวารสารหอสังเกตการณ์ หรือตื่นเถิด! ฉบับล่าสุด หรือเพื่อกล่าวขอบคุณสำหรับบทความที่พวกเขาชื่นชอบเป็นพิเศษ.
11. ทั้ง ๆ ที่มีความยากลำบาก มิชชันนารีที่รับใช้มานานรู้สึกเช่นไรเกี่ยวกับงานรับใช้ของตน?
11 หลายคนซึ่งเข้าสู่งานรับใช้ประเภทมิชชันนารีเมื่อ 40 หรือ 50 ปีที่แล้ว ยังคงรับใช้อย่างซื่อสัตย์อยู่ในเขตงาน. พวกเขาช่างเป็นแบบอย่างในเรื่องความเชื่อและความเพียรอดทนสำหรับพวกเราทุกคนจริง ๆ! สามีภรรยาคู่หนึ่งรับใช้ฐานะมิชชันนารีด้วยกันในสามประเทศช่วง 42 ปีที่ผ่านมา. ผู้เป็นสามีเล่าว่า “มีความลำบากหลายอย่าง. ตัวอย่างเช่น เราต้องรับมือกับโรคมาลาเรียนาน 35 ปี. แต่เราก็ไม่เคยเสียใจเลยที่ได้ตัดสินใจเป็นมิชชันนารี.” ภรรยาของเขากล่าวเสริมว่า “มีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกขอบพระคุณมากมายไม่ขาด. งานประกาศก่อความชื่นชมยินดีมาก และง่ายที่จะเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. แต่ละครั้งที่เห็นผู้ที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเรามายังการประชุมและทำความรู้จักคุ้นเคยกัน ก็รู้สึกเหมือนกับครอบครัวหนึ่งมาร่วมชุมนุมกัน.”
พวกเขา “ถือว่าสิ่งสารพัตรเป็นที่ไร้ประโยชน์”
12. คนเราจะแสดงโดยวิธีใดว่าเขาเห็นถึงความล้ำค่าของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง?
12 เมื่อพ่อค้าที่เดินทางค้าขายพบไข่มุกล้ำค่า เขา “ก็ไปขายทุกสิ่งที่เขามีทันที แล้วไปซื้อไข่มุกเม็ดนั้น.” (มัดธาย 13:46, ล.ม.) ความเต็มใจสละสิ่งที่ถือกันว่ามีค่านั้นเป็นคุณลักษณะของบุคคลที่เห็นถึงความล้ำค่าของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง. อัครสาวกเปาโล ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่จะได้รับสง่าราศีร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักร กล่าวว่า “แท้จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัตรเป็นที่ไร้ประโยชน์เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์เจ้าของข้าพเจ้า. เพราะเหตุพระองค์นั้นข้าพเจ้าได้ยอมสละสิ่งสารพัตร, และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์.”—ฟิลิปปอย 3:8.
13. ชายคนหนึ่งในสาธารณรัฐเช็กได้แสดงความรักต่อราชอาณาจักรอย่างไร?
13 เช่นเดียวกัน หลายคนในปัจจุบันเต็มใจเปลี่ยนแปลงชีวิตขนานใหญ่เพื่อจะได้พระพรแห่งราชอาณาจักร. ตัวอย่างเช่น ในเดือนตุลาคม ปี 2003 อาจารย์ใหญ่อายุ 60 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเช็กบังเอิญได้พบคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ชื่อความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. หลังจากได้อ่าน เขาติดต่อกับพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นทันทีเพื่อขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เขาก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างดีและในไม่ช้าก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมทุกรายการ. แต่จะว่าอย่างไรกับแผนการของเขาที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีและภายหลังจะสมัครเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา? เขาเลือกทุ่มเทกำลังในการแข่งขันอีกแบบหนึ่งมากกว่า นั่นคือการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต ในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร. เขากล่าวว่า “ผมสามารถเสนอสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลแก่นักเรียนของผมได้เป็นจำนวนมาก.” เขาได้รับบัพติสมาในน้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวของเขาแด่พระยะโฮวา ณ การประชุมภาค ในเดือนกรกฎาคม ปี 2004.
14. (ก) ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรได้กระตุ้นหลายล้านคนให้ทำอะไร? (ข) คำถามที่น่าคิดอะไรที่เราแต่ละคนอาจถามตัวเอง?
14 คนอื่น ๆ อีกนับล้านตลอดทั่วโลกได้ตอบรับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรในลักษณะคล้าย ๆ กัน. พวกเขาออกมาจากโลกชั่ว, ถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่า, เลิกคบกับเพื่อนเก่า ๆ, และเลิกติดตามสิ่งต่าง ๆ ฝ่ายโลก. (โยฮัน 15:19; เอเฟโซ 4:22-24; ยาโกโบ 4:4; 1 โยฮัน 2:15-17) เหตุใดพวกเขาจึงทำเช่นนั้น? ก็เพราะพวกเขาเห็นว่าพระพรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าล้ำค่ากว่าสิ่งใด ๆ ที่ระบบปัจจุบันจะเสนอให้ได้. คุณรู้สึกเช่นเดียวกันนั้นไหมต่อข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร? คุณถูกกระตุ้นใจจากข่าวดีนี้ให้ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นไหม เพื่อจะทำให้เป้าหมาย, ค่านิยม, และรูปแบบชีวิตของคุณประสานกับข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา? การทำเช่นนั้นจะนำพระพรมากมายมาสู่คุณในปัจจุบันและตลอดอนาคตกาล.
การเก็บเกี่ยวมาถึงจุดสุดยอด
15. มีการพยากรณ์ว่าประชาชนของพระเจ้าจะทำอะไรในสมัยสุดท้าย?
15 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “คนของพระองค์จะเสนอตัวด้วยความเต็มใจในวันที่พระองค์ทรงนำทัพ.” ผู้ที่เสนอตัวเหล่านั้นรวมถึง “กองทัพคนหนุ่มดุจหยดน้ำค้าง” และ “กองกำลังใหญ่โต” ของ “สตรีที่ประกาศข่าวดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 68:11, ล.ม.; 110:3, ล.ม.) อะไรคือผลจากการที่ประชาชนของพระยะโฮวา ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ได้เสียสละและขยันหมั่นเพียรระหว่างสมัยสุดท้ายนี้?
16. จงยกตัวอย่างว่าผู้รับใช้พระเจ้าเพียรพยายามอย่างไรเพื่อจะช่วยคนอื่น ๆ ให้เรียนรู้เรื่องราชอาณาจักร.
16 ไพโอเนียร์หรือผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลาคนหนึ่งในอินเดียคิดสงสัยว่าจะช่วยคนหูหนวกสองล้านกว่าคนในประเทศนั้นให้เรียนรู้เรื่องราชอาณาจักรได้อย่างไร. (ยะซายา 35:5) เธอตัดสินใจสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษามือ. ที่นั่นเธอสามารถแบ่งปันความหวังเรื่องราชอาณาจักรกับคนหูหนวกหลายคน และมีการจัดตั้งกลุ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลขึ้น. ภายในไม่กี่สัปดาห์ มีคนหูหนวกสิบกว่าคนเริ่มเข้าร่วมประชุมที่หอประชุม. ต่อมา ที่งานเลี้ยงสมรสแห่งหนึ่ง ไพโอเนียร์คนนี้พบเด็กหนุ่มหูหนวกคนหนึ่งที่มาจากเมืองกัลกัตตาซึ่งมีคำถามมากมายและสนใจอย่างยิ่งที่จะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม มีปัญหาอย่างหนึ่ง. เด็กหนุ่มคนนี้จะต้องกลับไปเรียนต่อระดับวิทยาลัยในเมืองกัลกัตตา ซึ่งอยู่ไกลจากที่นั่นประมาณ 1,600 กิโลเมตร และไม่มีพยานฯ ที่รู้ภาษามือที่นั่น. ด้วยความเพียรพยายาม เขาโน้มน้าวพ่อให้อนุญาตเขาเรียนที่เมืองบังคาลอร์แทน เพื่อเขาจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่อไปได้. เขาก้าวหน้าอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณ และหลังจากผ่านไปประมาณหนึ่งปี ก็อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา. จากนั้นเขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับคนหูหนวกหลายคน รวมถึงเด็กคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนของเขา. ปัจจุบัน สำนักงานสาขาในอินเดียได้จัดเตรียมให้ไพโอเนียร์เรียนภาษามือเพื่อช่วยในเขตงานนั้น.
17. จงบอกสิ่งที่คุณพบว่าหนุนใจเป็นพิเศษจากรายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 2004 ในหน้า 19 ถึง 22.
17 ในหน้า 19 ถึง 22 ของวารสารฉบับนี้ คุณจะพบรายงานกิจกรรมการประกาศของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกสำหรับปีรับใช้ 2004. ใช้เวลาสำรวจรายงานนี้สักเล็กน้อย และเห็นหลักฐานด้วยตัวคุณเองว่าประชาชนของพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกกำลังจดจ่ออยู่กับการแสวงหา “ไข่มุกที่มีค่ามาก” อย่างจริงจังในทุกวันนี้.
“จงแสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อน” เสมอไป
18. พระเยซูไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรไว้ในอุปมาเรื่องพ่อค้าที่เดินทางค้าขาย และเพราะเหตุใด?
18 หากกลับไปพิจารณาอุปมาของพระเยซูเกี่ยวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขายอีกครั้ง เราจะสังเกตเห็นว่าพระเยซูไม่ได้บอกว่าพ่อค้าคนนั้นจะเลี้ยงชีพต่อไปอย่างไรหลังจากขายทุกสิ่งที่เขามีไปหมดแล้ว. เมื่อคิดถึงความเป็นจริง บางคนอาจถามว่า ‘พ่อค้าคนนั้นจะจัดหาอาหาร, เสื้อผ้า, และที่อยู่อาศัยสำหรับตนได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้เขาไม่มีทรัพย์สมบัติที่สำรองไว้ใช้อีกแล้ว? ไข่มุกล้ำค่านั้นจะมีประโยชน์อะไรสำหรับเขาเล่า?’ คำถามเหล่านี้ดูเหมือนสมเหตุสมผลจากแง่คิดทางเนื้อหนัง. แต่พระเยซูกระตุ้นสาวกของพระองค์ไม่ใช่หรือว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน”? (มัดธาย 6:31-33, ล.ม.) จุดสำคัญในอุปมานี้คือความจำเป็นที่จะอุทิศใจกายทั้งสิ้นเพื่อพระเจ้าและแสดงความมีใจแรงกล้าเพื่อราชอาณาจักร. มีบทเรียนอะไรไหมสำหรับเราในเรื่องนี้?
19. บทเรียนสำคัญอะไรที่เราได้จากอุปมาของพระเยซูเรื่องไข่มุกล้ำค่า?
19 ไม่ว่าเราเพิ่งเรียนรู้ข่าวดีอันเลิศล้ำ หรือได้แสวงหาราชอาณาจักรและบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับพระพรแห่งราชอาณาจักรนั้นมานานหลายปีแล้วก็ตาม เราต้องให้ราชอาณาจักรเป็นจุดรวมความสนใจและเอาใจใส่ของเราต่อ ๆ ไป. สมัยนี้เป็นสมัยที่ยากลำบาก แต่เรามีเหตุผลหนักแน่นซึ่งมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราแสวงหานั้นมีอยู่จริงและล้ำค่าเกินกว่าจะหาอะไรเทียบได้ เช่นเดียวกับไข่มุกซึ่งพ่อค้าได้พบนั้น. เหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกและคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่สำเร็จเป็นจริงแล้วให้ข้อพิสูจน์ที่ทำให้มั่นใจว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “ช่วงอวสานของระบบนี้.” (มัดธาย 24:3, ล.ม.) เช่นเดียวกับพ่อค้าที่เดินทางค้าขายนั้น ขอให้เราสำแดงความมีใจแรงกล้าอย่างสิ้นสุดหัวใจเพื่อราชอาณาจักรของพระเจ้าและปีติยินดีที่ได้รับสิทธิพิเศษในการประกาศข่าวดี.—บทเพลงสรรเสริญ 9:1, 2.
-