บท 6
ผู้ประกาศข่าวดี—ผู้รับใช้ที่เต็มใจทำงาน
1, 2. พระเยซูบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับงานที่ยิ่งใหญ่อะไร และมีคำถามสำคัญอะไรที่เราต้องรู้คำตอบ?
นักการเมืองมักจะสัญญาหลายเรื่องกับประชาชน แล้วก็ทำไม่ได้ตามที่พูด แม้แต่คนที่มีเจตนาดีที่สุดก็อาจทำตามสัญญาไม่ได้ แต่กษัตริย์มาซีฮาไม่เป็นแบบนั้น พระเยซูรักษาสัญญาเสมอ
2 หลังจากขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1914 พระเยซูก็พร้อมจะทำให้คำพยากรณ์ที่บอกล่วงหน้าประมาณ 1,900 ปีเกิดขึ้นจริง ไม่นานก่อนพระเยซูเสียชีวิต ท่านบอกว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่” (มัด. 24:14) นั่นก็จะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าท่านได้เริ่มปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว แต่คำถามสำคัญคือ ในสมัยสุดท้ายที่มีแต่คนเห็นแก่ตัว ไม่มีความรัก และไม่สนใจศาสนา กษัตริย์จะหาผู้รับใช้ที่เต็มใจประกาศได้จากที่ไหน? (มัด. 24:12; 2 ติโม. 3:1-5) เราต้องรู้คำตอบ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคริสเตียนแท้ทุกคน
3. พระเยซูมั่นใจเรื่องอะไร และทำไมท่านมั่นใจอย่างนั้น?
3 ขอให้ดูคำพยากรณ์ของพระเยซูอีกครั้งหนึ่ง วลีที่ว่า “จะได้รับการประกาศ” แสดงถึงความมั่นใจใช่ไหม? ใช่! พระเยซูมั่นใจว่าจะมีคนที่เต็มใจสนับสนุนท่านในสมัยสุดท้าย ทำไมท่านจึงมั่นใจอย่างนั้น? เพราะท่านเรียนรู้จากพ่อของท่าน (โย. 12:45; 14:9) ก่อนที่พระเยซูจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านสังเกตเห็นว่าพระยะโฮวาเชื่อมั่นว่าผู้นมัสการพระองค์จะเต็มใจทำงานรับใช้ ให้เรามาดูว่าพระยะโฮวาแสดงความมั่นใจอย่างไร
ประชาชนของท่าน “เต็มใจสมัคร”
4. พระยะโฮวาเชิญชาวอิสราเอลให้สนับสนุนงานอะไร และพวกเขาตอบรับอย่างไร?
4 ขอให้นึกย้อนดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระยะโฮวาสั่งให้โมเซสร้างพลับพลาหรือเต็นท์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการนมัสการของชาวอิสราเอล พระยะโฮวาบอกโมเซไปเชิญทุกคนให้ช่วยกันสนับสนุนงานนั้น โมเซบอกพวกเขาว่า “ผู้ใดมีน้ำใจสมัครให้ผู้นั้นนำของมาถวายพระยะโฮวา” แล้วประชาชนก็ “นำของสมัครใจถวายมาถวายอีกทุก ๆ เวลาเช้า” พวกเขาเอามามากถึงขนาดที่ “ถูกห้ามไม่ให้นำของมาถวายอีก”! (เอ็ก. 35:5; 36:3, 6) ชาวอิสราเอลพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นอย่างที่พระยะโฮวามั่นใจจริง ๆ
5, 6. จากบทเพลงสรรเสริญ 110:1-3 พระยะโฮวาและพระเยซูรู้ว่าในสมัยสุดท้ายผู้นมัสการแท้จะมีน้ำใจแบบไหน?
5 พระยะโฮวารู้ไหมว่าจะมีผู้นมัสการที่เต็มใจอย่างนั้นในสมัยสุดท้าย? แน่นอน! กว่า 1,000 ปี ก่อนที่พระเยซูจะมาเกิดบนโลก พระยะโฮวาดลใจให้ดาวิดเขียนเกี่ยวกับสมัยที่มาซีฮาจะเริ่มปกครอง (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 110:1-3) กษัตริย์เยซูที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจะมีศัตรูที่ต่อต้าน แต่ท่านจะมีผู้สนับสนุนด้วย คนเหล่านี้ไม่ต้องถูกบังคับให้รับใช้กษัตริย์ แม้แต่คนหนุ่มสาวก็เต็มใจรับใช้ท่าน พวกเขาจะมีมากมายถึงขนาดที่เปรียบได้กับหยดน้ำค้างจำนวนนับไม่ถ้วนที่ปกคลุมอยู่ทั่วพื้นดินในตอนเช้าa
6 พระเยซูรู้ว่าคำพยากรณ์ในบทเพลงสรรเสริญบท 110 หมายถึงตัวท่าน (มัด. 22:42-45) ดังนั้น ท่านมีเหตุผลที่ทำให้มั่นใจว่าจะมีผู้สนับสนุนที่ซื่อสัตย์ซึ่งประกาศข่าวดีไปทั่วโลกด้วยความเต็มใจ แล้วประวัติศาสตร์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาบอกอะไรเรา? กษัตริย์เยซูหากลุ่มคนที่เต็มใจทำงานประกาศในสมัยสุดท้ายนี้ได้จริง ๆ ไหม?
“ฉันถือว่าการประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก”
7. หลังจากขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเยซูทำอะไรบ้างเพื่อเตรียมผู้ติดตามท่านให้พร้อมสำหรับงานในวันข้างหน้า?
7 ไม่นานหลังจากขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเยซูเริ่มเตรียมผู้ติดตามท่านให้พร้อมที่จะทำงานใหญ่ เราได้เรียนในบท 2 ว่าตั้งแต่ปี 1914 จนถึงต้นปี 1919 พระเยซูตรวจสอบและชำระพวกเขาให้สะอาด (มลคี. 3:1-4) ต่อมาในปี 1919 ก็แต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้นำหน้าผู้ติดตามท่าน (มัด. 24:45) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทาสก็เริ่มแจกจ่ายความรู้ของพระเจ้า โดยทางคำบรรยายการประชุมใหญ่และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เนื้อหาของความรู้เหล่านั้นเน้นบ่อย ๆ ว่างานประกาศเป็นหน้าที่ของคริสเตียนแต่ละคน
8-10. การประชุมใหญ่ช่วยส่งเสริมงานประกาศอย่างไร? ขอให้ยกตัวอย่าง (ดูกรอบ “การประชุมใหญ่ในสมัยนั้นช่วยส่งเสริมงานประกาศ”)
8 คำบรรยายในการประชุมใหญ่ วันที่ 1-8 กันยายน 1919 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่กระตือรือร้นและพร้อมจะรับคำแนะนำมารวมตัวกันที่เมืองซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา นี่เป็นการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นครั้งแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ในวันที่สองของการประชุม พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดบรรยายเรื่องหนึ่งที่พูดอย่างตรงไปตรงมากับผู้เข้าร่วมการประชุมจากที่ต่าง ๆ ว่า “งานของคริสเตียนบนแผ่นดินโลก . . . ก็คือการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า”
9 จุดสุดยอดของการประชุมใหญ่ครั้งนั้นอยู่ในวันที่ 5 เมื่อพี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดบรรยายเรื่อง “ถึงผู้ร่วมทำงาน” ซึ่งได้พิมพ์ในหอสังเกตการณ์ โดยใช้ชื่อบทความว่า “การประกาศเรื่องราชอาณาจักร” เขาพูดว่า “คริสเตียนที่คิดใคร่ครวญอย่างจริงจังมักจะถามตัวเองว่า ฉันเกิดมาทำไม? และคำตอบก็น่าจะเป็นเพราะพระเจ้าแสดงความกรุณาต่อฉัน โดยแต่งตั้งให้ฉันเป็นทูตเพื่อบอกข่าวสารเรื่องการคืนดีกับพระองค์ให้ทุกคนบนโลกนี้ได้รู้ ฉันถือว่าการประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก”
10 ในคำบรรยายครั้งประวัติศาสตร์นั้น พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดประกาศว่าจะมีการจัดพิมพ์วารสารใหม่ชื่อเดอะ โกลเดน เอจ (ปัจจุบันคือ ตื่นเถิด! ) เพื่อช่วยผู้คนให้เข้ามาเป็นประชาชนภายใต้การปกครองของพระเจ้า ซึ่งเป็นความหวังเดียวสำหรับมนุษย์ หลังจากนั้นเขาถามผู้ฟังว่า มีใครอยากช่วยแจกจ่ายวารสารนี้บ้างไหม? รายงานจากการประชุมครั้งนั้นบอกว่า “ผู้ฟังทั้ง 6,000 คนลุกขึ้นพรึบ นั่นเป็นภาพที่น่าประทับใจจริง ๆ”b เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์มีคนที่เต็มใจสนับสนุนและกระตือรือร้นที่จะประกาศข่าวเรื่องการปกครองของท่าน!
11, 12. หอสังเกตการณ์ ปี 1920 พูดอย่างไรเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะมีการประกาศตามที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้า?
11 สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หอสังเกตการณ์ ได้พูดถึงงานที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็คืองานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และยังเน้นถึงความสำคัญของงานนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ให้เราดูบางตัวอย่างตั้งแต่ตอนต้นทศวรรษ 1920
12 ตามที่มัดธาย 24:14 บอกไว้ล่วงหน้า จะมีการประกาศข่าวสารอะไร? งานนี้จะทำกันเมื่อไร? บทความชื่อ “คำสอนของพระเยซูเรื่องราชอาณาจักร” ในหอสังเกตการณ์ 1 กรกฎาคม 1920 อธิบายว่า “ข่าวดีนี้เกี่ยวข้องกับอวสานของระบบเก่าและการก่อตั้งรัฐบาลมาซีฮา” บทความนั้นแสดงอย่างชัดเจนว่าจะมีการประกาศข่าวดีเมื่อไร โดยบอกว่า “ข่าวสารนี้จะได้รับการประกาศตั้งแต่ช่วงสงครามใหญ่ [สงครามโลกครั้งที่ 1] จนถึงช่วง ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่’” และยังบอกอีกว่า “ตอนนี้เป็นเวลา . . . ที่เราต้องประกาศข่าวดีนี้ให้ทั่วคริสต์ศาสนจักร”
13. หอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 1921 สนับสนุนคริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคนให้เต็มใจทำอะไร?
13 ประชาชนของพระเจ้าจะถูกบังคับให้ทำงานที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้าไหม? ไม่ บทความเรื่อง “อย่ากลัวเลย” ในหอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 1921 สนับสนุนคริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคนให้เต็มใจทำงาน แล้วกระตุ้นแต่ละคนให้ถามตัวเองว่า “งานนี้เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติอย่างสูงใช่ไหม?” และบทความนั้นบอกต่อไปว่า “เรามั่นใจว่าเมื่อคุณถือว่า [นี่เป็นงานที่มีเกียรติ] คุณก็จะเป็นเหมือนยิระมะยาห์ที่มีคำสอนของพระเจ้าในหัวใจ ‘เหมือนกับมีไฟอยู่ในกระดูก’ จนทำให้เขาต้องประกาศกับคนอื่น” (ยิระ. 20:9) การให้กำลังใจที่อบอุ่นแบบนั้นแสดงว่าพระยะโฮวาและพระเยซูมั่นใจในผู้ที่สนับสนุนการปกครองของท่านอย่างซื่อสัตย์
14, 15. หอสังเกตการณ์ ปี 1922 สนับสนุนคริสเตียนผู้ถูกเจิมให้ประกาศกับผู้คนโดยวิธีใด?
14 คริสเตียนแท้จะนำข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปบอกคนอื่นได้อย่างไร? หอสังเกตการณ์ 15 สิงหาคม 1922 ลงบทความสั้น ๆ แต่ก็มีพลังมากเรื่อง “งานรับใช้เป็นงานสำคัญ” ซึ่งสนับสนุนคริสเตียนผู้ถูกเจิมให้มีส่วนร่วม “อย่างกระตือรือร้นในการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ให้กับผู้คน พูดคุยกับพวกเขาตามบ้าน และประกาศว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว”
15 เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่ปี 1919 พระคริสต์ใช้ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมให้เน้นเสมอว่า การประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติสำหรับคริสเตียน แล้วนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ ตอบรับอย่างไรเมื่อได้รับการสนับสนุนให้ประกาศเรื่องราชอาณาจักรนั้น?
“คนที่ซื่อสัตย์จะอาสา”
16. ผู้ปกครองที่ได้รับเลือกตั้งบางคนรู้สึกอย่างไรกับคำแนะนำที่บอกให้ทุกคนออกไปประกาศ?
16 ในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 บางคนไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคน ควรมีส่วนร่วมในงานประกาศ หอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1927 อธิบายว่า “ในตอนนี้มีผู้ปกครองบางคนในประชาคม . . . ที่ไม่สนับสนุนพี่น้องให้ประกาศ และตัวเขาเองก็ไม่ประกาศด้วย . . . พวกเขาเยาะเย้ยคำแนะนำที่ให้ไปประกาศตามบ้านเพื่อบอกผู้คนเรื่องข่าวสารของพระเจ้า การปกครองของพระองค์ และกษัตริย์เยซู” บทความนั้นบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “ถึงเวลาแล้วที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์จะต้องระวังและอยู่ให้ห่างจากคนแบบนั้น และบอกพวกเขาว่าเราไม่สามารถให้คนแบบนั้นเป็นผู้ปกครองอีกต่อไป”c
17, 18. ประชาคมส่วนใหญ่ตอบรับการชี้นำของทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอย่างไร และในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา หลายล้านคนตอบรับอย่างไร?
17 น่าดีใจที่คนส่วนใหญ่ในประชาคมตอบรับการชี้นำของทาสสัตย์ซื่อและสุขุมด้วยความกระตือรือร้น พวกเขาถือว่าการบอกข่าวเรื่องราชอาณาจักรเป็นงานที่มีเกียรติ หอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 1926 บอกว่า “คนที่ซื่อสัตย์จะอาสา . . . ไปบอกข่าวสารนี้กับผู้คน” คนที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นทำให้คำพยากรณ์ในบทเพลงสรรเสริญ 110:3 กลายเป็นความจริง พวกเขาพิสูจน์ตัวว่าเต็มใจสนับสนุนกษัตริย์มาซีฮา
18 กว่า 100 ปีที่ผ่านมา หลายล้านคนเต็มใจประกาศเรื่องราชอาณาจักร ในบทต่อ ๆ ไป เราจะได้เรียนรู้ว่าพวกเขาประกาศกันอย่างไร รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ และผลที่ได้รับเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นให้เรามาดูว่า ทำไม หลายล้านคนอาสาประกาศเรื่องราชอาณาจักรนี้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในโลกที่เห็นแก่ตัว และในขณะที่เรียนเรื่องนี้ ขอให้เราถามตัวเองว่า ‘ทำไมฉันถึงบอกข่าวดีกับคนอื่น ๆ?’
“แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอ”
19. ทำไมเราควรเชื่อฟังคำแนะนำของพระเยซูที่ให้ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอ”?
19 พระเยซูแนะนำสาวกให้ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอ” (มัด. 6:33) ทำไมเราควรเชื่อฟังคำแนะนำนี้? เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เรารู้ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าสำคัญมาก เพราะราชอาณาจักรนี้จะทำให้แผนการทุกอย่างของพระเจ้าสำเร็จตามที่พระองค์ตั้งใจไว้ เหมือนที่เราได้เรียนในบทที่แล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ค่อย ๆ เปิดเผยความจริงที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับราชอาณาจักร และเมื่อความจริงที่ล้ำค่านั้นเข้าถึงหัวใจเรา เราก็รู้สึกถูกกระตุ้นให้แสวงหาราชอาณาจักรก่อนเสมอ
20. จากเรื่องทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ ผู้ติดตามพระเยซูควรตอบรับอย่างไร เมื่อได้รับคำแนะนำที่ให้แสวงหาราชอาณาจักรก่อนเสมอ?
20 พระเยซูรู้ว่าผู้ติดตามท่านจะตอบรับคำแนะนำที่ให้แสวงหาราชอาณาจักรก่อนเสมอ ให้เราลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบของท่านเรื่องทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ (อ่านมัดธาย 13:44) ในตัวอย่างนี้ ชายคนหนึ่งที่ไปทำงานในทุ่งนาพบทรัพย์ที่ซ่อนอยู่และรู้ทันทีว่ามันมีค่ามาก เขาทำอะไร? “ด้วยความยินดีเขาจึงไปขายสิ่งที่เขามีแล้วซื้อทุ่งนานั้น” เรื่องนี้สอนอะไรเรา? เมื่อเราพบความจริงเรื่องราชอาณาจักรและรู้ว่าเรื่องนี้มีค่ามาก เราก็เต็มใจสละทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อแสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อนเสมอd
21, 22. ผู้สนับสนุนที่ซื่อสัตย์แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาให้ราชอาณาจักรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต? ขอให้ยกตัวอย่าง
21 คนที่สนับสนุนราชอาณาจักรอย่างซื่อสัตย์ไม่เพียงแค่พูด แต่พวกเขายังทำบางสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก พวกเขาทุ่มเททั้งชีวิต ความสามารถ และทุกสิ่งที่มีเพื่อประกาศข่าวสารนี้ หลายคนเสียสละอย่างมากเพื่อจะรับใช้เต็มเวลาได้ ผู้ประกาศที่เต็มใจทุกคนก็เห็นด้วยตาตัวเองว่า พระยะโฮวาอวยพรคนที่ให้ราชอาณาจักรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ให้เรามาดูตัวอย่างของผู้รับใช้ในสมัยก่อน
22 ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 เอฟเวอรีกับโลเวนยา บริสโตว์ เริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์ด้วยกันในตอนใต้ของสหรัฐ หลายปีต่อมา โลเวนยาเล่าว่า “ฉันกับเอฟเวอรีมีความสุขมากตลอดหลายปีที่เป็นไพโอเนียร์ด้วยกัน หลายครั้งเราไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาเติมน้ำมันหรือซื้ออาหาร แต่พระยะโฮวาคอยดูแลเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราก็เลยเป็นไพโอเนียร์ได้ตลอด และเราไม่เคยขาดสิ่งจำเป็นเลย” โลเวนยาจำได้ว่าตอนที่รับใช้ในเมืองเพนซาโคลา รัฐฟลอริดา มีอยู่ครั้งหนึ่ง พวกเขาแทบไม่มีเงินและอาหารเลย แต่พอกลับมาถึงบ้านที่เป็นรถพ่วงก็เห็นถุงอาหารใหญ่ 2 ถุง พร้อมกับข้อความว่า “ด้วยรัก จากประชาคมเพนซาโคลา” เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงหลายสิบปีที่เธอทำงานรับใช้เต็มเวลา โลเวนยาพูดว่า “พระยะโฮวาไม่เคยทอดทิ้งเรา และไม่เคยทรยศคนที่ไว้วางใจพระองค์”
23. คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รู้ความจริงเรื่องราชอาณาจักร และคุณตั้งใจจะทำอะไร?
23 เราแต่ละคนทำงานประกาศได้ไม่เท่ากัน สภาพการณ์ก็ไม่เหมือนกัน แต่เราควรถือว่าการประกาศข่าวดีอย่างสุดหัวใจเป็นงานที่มีเกียรติ (โกโล. 3:23) เนื่องจากเราเห็นว่าความจริงเรื่องราชอาณาจักรเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เราจึงเต็มใจเสียสละอะไรก็ตามเพื่อจะรับใช้สุดความสามารถ คุณเองตั้งใจจะทำเหมือนกันไหม?
24. อะไรเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของราชอาณาจักรในสมัยสุดท้ายนี้?
24 ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา กษัตริย์เยซูได้ทำให้คำพยากรณ์ในมัดธาย 24:14 เกิดขึ้นจริงโดยไม่ได้บังคับใครให้ทำงานนี้ หลังจากผู้ติดตามพระเยซูแยกตัวออกมาจากโลกที่เห็นแก่ตัว พวกเขาอาสาทำงานรับใช้ด้วยความเต็มใจ งานประกาศข่าวดีที่พวกเขาทำอยู่ทั่วโลกเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของราชอาณาจักรในสมัยสุดท้าย และเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงว่าพระคริสต์กลับมาแล้วและเป็นกษัตริย์ในสวรรค์
a ในคัมภีร์ไบเบิล น้ำค้างเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์—เย. 27:28; มีคา 5:7
b หนังสือเล่มเล็กที่ชื่อ งานนี้มอบให้ใคร (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “งานยุคทอง คือ การรณรงค์เพื่อบอกข่าวเรื่องราชอาณาจักรตามบ้าน . . . หลังจากบอกข่าวสารแล้ว ผู้ประกาศจะฝากวารสารเดอะ โกลเดน เอจ ไว้ที่บ้านทุกหลัง ไม่ว่าบ้านนั้นจะรับวารสารเป็นรายปีหรือไม่” หลายปีหลังจากนั้น มีการสนับสนุนพี่น้องให้ชวนผู้คนรับวารสารเดอะ โกลเดน เอจ และหอสังเกตการณ์ เป็นรายปี และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1940 มีการสนับสนุนประชาชนของพระยะโฮวาให้แจกจ่ายวารสารแต่ละฉบับ แล้วก็นับจำนวนเพื่อส่งรายงาน
c ในตอนนั้น ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งโดยพี่น้องในประชาคม ดังนั้น ประชาคมอาจไม่ลงคะแนนเสียงให้กับผู้ชายที่ต่อต้านงานรับใช้ ในบท 12 จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งมาเป็นการแต่งตั้งผู้ปกครอง
d พระเยซูเน้นจุดสำคัญเดียวกันในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องพ่อค้าที่เดินทางไปหาไข่มุกล้ำค่า เมื่อพบแล้วเขาก็ขายทุกสิ่งที่เขามีแล้วซื้อไข่มุกเม็ดนั้น (มัด. 13:45, 46) ตัวอย่างเปรียบเทียบทั้ง 2 เรื่องสอนว่า เราอาจพบความจริงในวิธีที่ต่างกัน บางคนอาจพบโดยบังเอิญ บางคนก็ตั้งใจหา แต่ไม่ว่าเราจะพบความจริงโดยวิธีใด เราก็เต็มใจเสียสละเพื่อทำให้ราชอาณาจักรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตของเรา