มิชนาห์และพระบัญญัติที่พระเจ้าทรงประทานแก่โมเซ
“เราเริ่มด้วยความรู้สึกว่าได้ร่วมการสนทนาซึ่งดำเนินมานานแล้วเกี่ยวกับหัวข้อที่เราไม่เคยจับความได้ . . . เรา . . . รู้สึกราวกับว่าอยู่ในห้องพักผู้โดยสารที่สนามบินซึ่งอยู่ห่างไกล. เราเข้าใจคำที่ผู้คนพูด แต่เรารู้สึกฉงนกับความหมายและความห่วงใยของพวกเขา โดยเฉพาะกับความรู้สึกเร่งรีบในน้ำเสียงของเขา.” ยาคอบ นอยส์เนอร์ ผู้คงแก่เรียนชาวยิวพรรณนาอย่างนี้แหละถึงความรู้สึกที่ผู้อ่านอาจมีเมื่ออ่านมิชนาห์เป็นครั้งแรก. นอยส์เนอร์บอกอีกว่า “มิชนาห์เริ่มต้นมาอย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ และจู่ ๆ ก็จบลงกะทันหัน.”
ใน ประวัติของศาสนายิว (ภาษาอังกฤษ) แดเนียล เจเรมี ซิลเวอร์ เรียกมิชนาห์ว่า “แก่นความสำคัญในลัทธิยูดายของพวกรับบี.” แท้จริง เขาให้ความเห็นต่อไปดังนี้: “มิชนาห์ มาแทนที่คัมภีร์ไบเบิลในฐานะหลักสูตรสำคัญแห่งการศึกษาที่ต่อเนื่อง [ของชาวยิว].” เพราะเหตุใดหนังสือที่มีลักษณะเคลือบคลุมเช่นนั้นจึงได้มามีความสำคัญขนาดนั้น?
คำตอบส่วนหนึ่งพบได้ในคำกล่าวนี้ในมิชนาห์: “โมเซได้รับโทราห์ที่ซีนายและส่งต่อให้โยชัว, โยชัวส่งให้พวกผู้เฒ่าผู้แก่, และผู้เฒ่าผู้แก่ส่งให้เหล่าผู้พยากรณ์. และเหล่าผู้พยากรณ์ส่งให้พวกผู้ชายในที่ชุมนุมใหญ่.” (อะโวต 1:1) มิชนาห์อ้างว่ากล่าวถึงข้อมูลที่ให้แก่โมเซที่ภูเขาซีนาย คือพระบัญญัติที่พระเจ้าทรงประทานแก่ชาติยิศราเอลส่วนที่ไม่ได้จารึกไว้. ชายในที่ชุมนุมใหญ่ (ต่อมาเรียกว่า ซันเฮดริน) ถูกถือว่าเป็นส่วนแห่งลำดับวงศ์วานอันยาวเหยียดของผู้คงแก่เรียนที่ชาญฉลาด หรือพวกปราชญ์ ซึ่งบอกเล่าคำสอนบางอย่างสืบต่อกันมาชั่วอายุแล้วชั่วอายุเล่าจนคำสอนเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ในมิชนาห์. แต่นั่นเป็นความจริงไหม? จริง ๆ แล้วใครเขียนมิชนาห์ และเพราะเหตุใด? สิ่งที่บรรจุในมิชนาห์มีต้นตอจากโมเซ ณ ซีนายไหม? มิชนาห์มีความหมายต่อพวกเราในทุกวันนี้ไหม?
ลัทธิยูดายที่ปราศจากพระวิหาร
ความเชื่อในเรื่องกฎหมายสืบปากที่พระเจ้าทรงประทานเพิ่มเข้ากับพระบัญญัติของโมเซซึ่งถูกจารึกไว้นั้นไม่เป็นที่รู้จักกันในตอนที่พระคัมภีร์ถูกจารึกขึ้นภายใต้การดลใจ.a (เอ็กโซโด 34:27) อีกหลายศตวรรษต่อมา พวกฟาริซายเป็นกลุ่มที่อยู่ในลัทธิยูดายซึ่งคิดค้นและส่งเสริมแนวคิดนี้. ระหว่างศตวรรษที่หนึ่งแห่งสากลศักราช พวกซาดูกายและชาวยิวกลุ่มอื่น ๆ ต่างต่อต้านคำสอนที่ไม่เป็นตามคัมภีร์ไบเบิล. อย่างไรก็ตาม ตราบที่พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมยังเป็นศูนย์กลางการนมัสการของชาวยิว ประเด็นเรื่องกฎหมายสืบปากยังเป็นเรื่องรองลงไป. การนมัสการที่พระวิหารให้โครงสร้างและความมั่นคงในระดับหนึ่งแก่ความเป็นอยู่ของชาวยิวทุกคน.
แต่ในปี ส.ศ. 70 ชาติยิวเผชิญวิกฤตการณ์ด้านศาสนาอย่างหนักถึงขนาดที่คิดไม่ถึง. ยะรูซาเลมถูกทำลายโดยกองทัพโรมัน และชาวยิวล้านกว่าคนถูกสังหาร. พระวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางการดำเนินชีวิตทางศาสนาของพวกเขาสูญไป. การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของโมเซซึ่งเรียกร้องการถวายเครื่องบูชาและการรับใช้ของปุโรหิตที่พระวิหารก็ทำไม่ได้แล้ว. หินรากของลัทธิยูดายสาบสูญไป. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ทัลมุด เอดิน สไตน์ซัลซ์ เขียนดังนี้: “ความพินาศ . . . ในปี ส.ศ. 70 ได้ทำให้การกำหนดโครงสร้างของการดำเนินชีวิตทางศาสนาขึ้นใหม่ทั้งหมดเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน.” และพวกเขาได้กำหนดโครงสร้างนั้นขึ้นใหม่.
แม้แต่ก่อนพระวิหารถูกทำลาย โยฮานาน เบน ซักกาย ศิษย์ที่ได้รับความนับถือของฮิลเลลซึ่งเป็นผู้นำของฟาริซายได้รับอนุญาตจากเวสปาเชียน (ซึ่งต่อมาไม่นานได้เป็นจักรพรรดิ) ให้ย้ายศูนย์กลางศาสนาของลัทธิยูดายรวมทั้งซันเฮดรินจากกรุงยะรูซาเลมไปยังหมู่บ้านยาฟเนห์. ดังที่สไตน์ซัลซ์ชี้แจง หลังจากความพินาศของยะรูซาเลม โยฮานาน เบน ซักกาย “เผชิญปัญหาในการก่อตั้งศูนย์กลางใหม่สำหรับประชาชนและในการช่วยพวกเขาให้ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ใหม่ซึ่งความมีใจแรงกล้าทางศาสนาต้องหันเหไปสู่ศูนย์รวมอีกอย่างหนึ่งเนื่องจากไม่มีพระวิหารอยู่อีกแล้ว.” ศูนย์รวมใหม่นั้นคือกฎหมายสืบปากนั่นเอง.
เมื่อพระวิหารพังพินาศ พวกซาดูกายกับนิกายอื่น ๆ ของชาวยิวไม่ได้เสนอทางเลือกอะไรที่น่าเชื่อถือ. พวกฟาริซายจึงได้มีอิทธิพลมากที่สุดในชาวยิว ซึ่งกลืนกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ เข้ามาเป็นฝ่ายตน. โดยเน้นเรื่องเอกภาพ พวกรับบีที่นำหน้าเลิกเรียกตัวเองเป็นฟาริซาย ชื่อที่เต็มไปด้วยความหมายแฝงแห่งการแบ่งเป็นนิกายและการแบ่งพรรคแบ่งพวก. ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาได้มาเป็นที่รู้จักว่าเป็นรับบี “ปราชญ์แห่งยิศราเอล.” พวกปราชญ์เหล่านี้ได้สร้างระบบความเชื่อขึ้นมาเพื่อตีกรอบแนวคิดของตนในเรื่องกฎหมายสืบปาก. ระบบนี้จะเป็นโครงสร้างศาสนาที่มนุษย์มีทางโจมตีได้น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับพระวิหาร.
การทำให้กฎหมายสืบปากมั่นคง
ถึงแม้ขณะนั้นสำนักของรับบีในยาฟเนห์ (40 กิโลเมตรไปทางตะวันตกของยะรูซาเลม) เป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่สำนักอื่น ๆ ซึ่งสอนกฎหมายสืบปากก็ได้เริ่มเกิดขึ้นทั่วยิศราเอลและไปไกลถึงกรุงบาบูโลนและโรมด้วยซ้ำ. กระนั้น เรื่องนี้ก่อปัญหา. สไตน์ซัลซ์อธิบายดังนี้: “ตราบที่พวกปราชญ์อยู่ที่เดียวกันและมีคนกลุ่มเดียว [ในยะรูซาเลม] ที่ดำเนินงานหลักในการเรียบเรียงคำสอน คำสอนสืบปากแบบเดียวกันย่อมได้รับการรักษาไว้. แต่การเพิ่มอย่างรวดเร็วของพวกอาจารย์และการก่อตั้งสำนักต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันได้ทำให้เกิด . . . รูปแบบและวิธีการที่มากเกินไปในเรื่องการแสดงความคิดเห็น.”
พวกอาจารย์สอนกฎหมายสืบปากถูกเรียกว่า ทันนาอิม คำที่ได้มาจากรากคำภาษาอาระเมอิกซึ่งหมายความว่า “ศึกษา,” “กล่าวซ้ำ,” หรือ “สอน.” คำนี้เน้นวิธีการเรียนการสอนกฎหมายสืบปากโดยการคร่ำเคร่งท่องบ่นและจดจำ. เพื่อทำให้การจดจำคำสอนสืบปากง่ายขึ้น จึงมีการย่อกฎเกณฑ์หรือคำสอนลงเป็นวลีสั้น ๆ และรวบรัด. ยิ่งน้อยคำก็ยิ่งดี. มีการพยายามทำให้เป็นแบบกวีตามประเพณีนิยม และมักจะท่องเป็นบทสวดหรือไม่ก็ร้องเป็นเพลงสวด. กระนั้น กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีการจัดระเบียบ และอาจารย์แต่ละคนก็มีกฎเกณฑ์แตกต่างกันมากมาย.
รับบีคนแรกที่ให้รูปแบบและโครงสร้างโดยเฉพาะสำหรับคำสอนสืบปากที่มีแตกต่างกันมากมายนั้นคือ อากิบา เบน โจเซฟ. (ประมาณ ส.ศ. 50-135) สไตน์ซัลซ์เขียนเกี่ยวกับอากิบาไว้ดังนี้: “พวกรับบีร่วมสมัยเขาเปรียบการงานของเขาเหมือนกับงานของกรรมกรที่ออกไปในทุ่งนาและเก็บรวบรวมทุกสิ่งที่เขาพบใส่ในตะกร้าโดยไม่เลือก แล้วกลับบ้านและจัดแยกแต่ละชนิดออกจากกัน. อากิบาได้ศึกษาเรื่องมากมายที่ไม่มีการจัดให้เป็นระเบียบแล้วจึงจัดเรื่องเหล่านั้นเป็นประเภท ๆ แยกต่างหากกัน.”
ในศตวรรษที่สองสากลศักราชกว่า 60 ปีหลังจากกรุงยะรูซาเลมพินาศ เกิดการกบฏครั้งใหญ่คราวที่สองของชาวยิวต่อโรมนำโดย บาร์ โกคห์บา. อีกครั้งหนึ่งที่การกบฏก่อความหายนะ. อากิบากับเหล่าศิษย์จำนวนมากอยู่ในหมู่ชาวยิวเกือบล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อ. ความหวังใด ๆ ในการบูรณะพระวิหารได้พังทลายเมื่อจักรพรรดิเฮเดรียนแห่งโรมประกาศให้กรุงยะรูซาเลมเป็นเขตหวงห้ามสำหรับชาวยิว เว้นแต่ในโอกาสฉลองครบรอบความพินาศของพระวิหารเท่านั้น.
พวกทันนาอิมซึ่งมีชีวิตอยู่ภายหลังอากิบาไม่เคยเห็นพระวิหารในยะรูซาเลม. แต่แบบโครงสร้างการศึกษาในคำสอนสืบปากเกี่ยวกับกฎหมายสืบปากได้กลายเป็น “พระวิหาร” หรือศูนย์กลางการนมัสการของพวกเขา. งานทำให้โครงสร้างกฎหมายสืบปากนี้มั่นคงซึ่งอากิบากับเหล่าสานุศิษย์ของเขาเริ่มต้นไว้นั้นมีการรับช่วงต่อโดย จูดาห์ ฮา-นาซี ซึ่งเป็นทันนาอิมคนสุดท้าย.
ส่วนประกอบของมิชนาห์
จูดาห์ ฮา-นาซี เป็นเชื้อสายของฮิลเลลและฆามาลิเอล.b เขาเกิดมาในช่วงที่บาร์ โกคห์บาก่อกบฏ เขาได้กลายเป็นหัวหน้าชุมชนชาวยิวในยิศราเอลราว ๆ ตอนปลายศตวรรษที่สองและตอนเริ่มต้นศตวรรษที่สามสากลศักราช. คำระบุตำแหน่ง ฮา-นาซี หมายความว่า “เจ้าชาย” ซึ่งบอกสถานะที่เขามีในสายตาของเพื่อนชาวยิวด้วยกัน. แต่มักมีกล่าวพาดพิงถึงเขาว่าเป็นรับบีเท่านั้น. จูดาห์ ฮา-นาซี นำหน้าทั้งในสำนักของเขาเองและซันเฮดริน ซึ่งในตอนแรกอยู่ที่ เบต เชอาริม แล้วต่อมาอยู่ที่หมู่บ้านเซฟโฟรีสในแกลิลี.
ด้วยตระหนักว่าความขัดแย้งกับโรมในวันข้างหน้าอาจทำให้การถ่ายทอดกฎหมายสืบปากได้รับความเสียหาย จูดาห์ ฮา-นาซีจึงตั้งใจจะทำให้กฎหมายนี้มีโครงสร้างซึ่งจะทำให้แน่ใจว่าได้รับการเก็บรักษาไว้. เขารวบรวมเหล่าผู้คงแก่เรียนที่เด่นที่สุดในสมัยของเขามาที่สำนัก. มีการถกกันถึงกฎหมายสืบปากในแต่ละข้อแต่ละคำสอน. บทสรุปการพิจารณาเหล่านั้นถูกรวบรวมเป็นวลีต่าง ๆ ที่รวบรัดอย่างน่าทึ่ง โดยทำตามแบบที่เคร่งครัดของการเขียนร้อยกรองภาษาฮีบรู.
บทสรุปเหล่านี้ถูกจัดเป็นหกหมวดใหญ่ ๆ ตามหัวข้อสำคัญ. จูดาห์ได้แบ่งหมวดเหล่านี้ย่อยลงไปเป็น 63 ตอน. ถึงตอนนี้โครงสร้างทางศาสนาก็เสร็จสมบูรณ์. จนถึงเวลานั้นคำสอนสืบปากเหล่านั้นเคยได้รับการถ่ายทอดโดยการเล่าสืบปากตลอดมา. แต่เพื่อเป็นการป้องกันมากขึ้น จึงได้มีการลงมือเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งสุดท้าย นั่นคือการเขียนทุกสิ่งลงไว้เป็นหนังสือ. โครงสร้างที่เขียนใหม่ที่น่าประทับใจซึ่งเก็บรักษากฎหมายสืบปากไว้นี้เรียกว่า มิชนาห์. ชื่อมิชนาห์มาจากรากคำภาษาฮีบรู ชานาห์ʹ ซึ่งหมายความว่า “กล่าวซ้ำ,” “ศึกษา,” หรือ “สอน.” คำนี้เหมือนกับคำภาษาอาระเมอิก เทนาʹ ซึ่งมาจากคำทันนาอิมʹ คำที่ใช้กับพวกอาจารย์สอนมิชนาห์.
วัตถุประสงค์ของมิชนาห์ไม่ใช่เพื่อกำหนดบทสรุปสุดท้ายของกฎหมาย. มิชนาห์กล่าวถึงข้อยกเว้นต่าง ๆ มากกว่า โดยสันนิษฐานว่าผู้อ่านรู้จักหลักพื้นฐานแล้ว. แท้จริง มิชนาห์สรุปสิ่งที่มีการพิจารณาและสอนในสำนักของพวกรับบีระหว่างช่วงชีวิตของจูดาห์ ฮา-นาซี. มิชนาห์มีขึ้นด้วยเจตนาจะให้เป็นเค้าโครงของกฎหมายสืบปากสำหรับการถกกันต่อไป เป็นโครงร่างคร่าว ๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะมีการก่อขึ้นบนนี้.
แทนที่จะเผยให้ทราบเรื่องใด ๆ ที่ประทานแก่โมเซที่ภูเขาซีนาย มิชนาห์ให้ความหยั่งเห็นเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของกฎหมายสืบปาก แนวคิดที่เริ่มต้นกับพวกฟาริซาย. ข้อมูลที่บันทึกในมิชนาห์ให้ความกระจ่างอยู่บ้างเกี่ยวกับคำกล่าวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกและเกี่ยวกับการถกกันระหว่างพระเยซูคริสต์กับพวกฟาริซาย. อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความระมัดระวังเพราะแนวคิดที่พบในมิชนาห์สะท้อนทัศนะของพวกยิวในศตวรรษที่สองสากลศักราช. มิชนาห์เป็นสะพานเชื่อมระหว่างช่วงเวลาสมัยพระวิหารหลังที่สองกับทัลมุด.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูจุลสาร จะมีวันที่โลกปราศจากสงครามไหม? (ภาษาอังกฤษ) หน้า 8-11 พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.
b ดูบทความ “ฆามาลิเอล—เขาเคยสอนเซาโลแห่งตาระโซ” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 1996.
[กรอบหน้า 26]
การแบ่งหมวดหมู่ของมิชนาห์
มิชนาห์ถูกแบ่งเป็นหกหมวด. หกหมวดนี้ประกอบด้วย 63 เล่มย่อยหรือตอน ซึ่งแบ่งเป็นบทและ มิชนาโยต หรือวรรค (ไม่ใช่ข้อ).
1. เซราอิม (กฎหมายเกษตรกรรม)
ตอนเหล่านี้รวมถึงคำอธิบายเกี่ยวกับคำอธิษฐานที่กล่าวถึงอาหารและเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรรม. นอกจากนี้ เซราอิมยังรวมถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการถวายหนึ่งในสิบ, ส่วนของปุโรหิต, การเก็บข้าวตก, และปีซะบาโต.
2. โมเอด (วาระศักดิ์สิทธิ์, งานฉลอง)
ตอนต่าง ๆ ในหมวดนี้อธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับซะบาโต, วันไถ่โทษ, และการฉลองอื่น ๆ.
3. นาชิม (สตรี, กฎหมายการสมรส)
ตอนต่าง ๆ ในหมวดนี้อธิบายการสมรสและการหย่า, คำปฏิญาณ, นาษารีษ, และกรณีที่มีข้อสงสัยว่าเล่นชู้.
4. เนซิกิน (ความเสียหายและกฎหมายพลเรือน)
ตอนต่าง ๆ ในหมวดนี้ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายพลเรือนและทรัพย์สิน, ศาลและการลงโทษ, การปฏิบัติงานของซันเฮดริน, การบูชารูปเคารพ, การสาบาน, และจริยธรรมของผู้นำ (อะโวต).
5. โกดาชิม (เครื่องบูชา)
ตอนต่าง ๆ ในหมวดนี้อธิบายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์และธัญชาติ รวมทั้งขนาดกว้างยาวของพระวิหาร.
6. โทฮาโรต (พิธีกรรมเพื่อทำให้บริสุทธิ์)
หมวดนี้ประกอบด้วยตอนต่าง ๆ ที่อธิบายความบริสุทธิ์ทางพิธีกรรม, การอาบน้ำ, การล้างมือ, โรคผิวหนังต่าง ๆ, และความไม่บริสุทธิ์ของวัตถุต่าง ๆ กัน.
[กรอบหน้า 28]
มิชนาห์กับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก
มัดธาย 12:1, 2: “ต่อนั้นมาพระเยซูเสด็จไปในนาข้าวในวันซะบาโต, และพวกศิษย์ของพระองค์หิวจึงเด็ดเอารวงข้าวมากิน. เมื่อพวกฟาริซายเห็นแล้วจึงทูลพระองค์ว่า, ‘ดูเถอะ, ศิษย์ของท่านทำการซึ่งไม่ควรจะทำในวันซะบาโต.’” พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่ได้ห้ามสิ่งที่สาวกของพระเยซูทำ. แต่ในมิชนาห์เราพบรายการการกระทำต่าง ๆ 39 อย่างที่พวกรับบีห้ามทำในวันซะบาโต.—ชับบัต 7:2.
มัดธาย 15:3: “[พระเยซู ] จึงตรัสตอบเขาว่า, ‘เหตุไฉนพวกเจ้าจึงละเมิดบัญญัติของพระเจ้าด้วยคำสอนของพวกเจ้าเล่า?’” มิชนาห์ยืนยันเจตคติเช่นนี้. (ซันเฮดริน 11:3) วรรคนั้นอ่านว่า “ถือว่า [การปฏิบัติตาม] ถ้อยคำของพวกอาลักษณ์เป็นเรื่องเคร่งครัดยิ่งกว่า [การปฏิบัติตาม] ถ้อยคำใน [หนังสือ] พระบัญญัติ. ถ้าคนหนึ่งบอกว่า ‘ไม่มีพันธะจะสวมกล่องบรรจุส่วนของพระคัมภีร์’ เขาก็ละเมิดถ้อยคำในพระบัญญัติ เขาไม่มีความผิด; [แต่ถ้าเขาบอกว่า] ‘ควรมีห้าส่วนในกล่องบรรจุพระคัมภีร์’ เขาก็เพิ่มเติมถ้อยคำของอาลักษณ์ เขามีความผิด.”—เดอะ มิชนาห์, โดยเฮอร์เบิร์ต แดนบี, หน้า 400.
เอเฟโซ 2:14: “พระองค์ [พระเยซู] นั้นเป็นสันติสุขของเรา, ผู้ได้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, และทรงรื้อฝากั้นซึ่งอยู่ระหว่างเขาเสียแล้ว.” มิชนาห์กล่าวว่า “ในลานพระวิหารเป็นโครงสร้างตาข่าย (โซเรก) สูงสิบคืบ.” (มิดโดต 2:3) ชนต่างชาติถูกห้ามไม่ให้ผ่านจุดนี้และเข้าไปที่ลานชั้นใน. อัครสาวกเปาโลคงพาดพิงถึงกำแพงนี้เป็นนัย ๆ เมื่อเขียนถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซในปี ส.ศ. 60 หรือ 61 เมื่อกำแพงนี้ยังอยู่. กำแพงโดยนัยคือคำสัญญาไมตรีโดยพระบัญญัติซึ่งแบ่งแยกชาวยิวกับชนต่างชาติมาเป็นเวลานาน. แต่โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ในปี ส.ศ. 33 กำแพงนี้จึงถูกยกเลิก.