บทความศึกษา 10
เพลง 13 พระคริสต์เป็นตัวอย่างให้เรา
ติดตามพระเยซู “เรื่อยไป” หลังจากรับบัพติศมา
“พระเยซูพูดกับประชาชนว่า ‘ถ้าใครอยากติดตามผม ก็ให้คนนั้นเลิกใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง ยอมแบกเสาทรมานของตัวเองทุก ๆ วัน แล้วติดตามผมเรื่อยไป’”—ลก. 9:23
จุดสำคัญ
บทความนี้จะช่วยเราทุกคนให้คิดว่าการอุทิศตัวมีผลยังไงกับทั้งชีวิตของเรา และจะช่วยคนที่เพิ่งรับบัพติศมาเป็นพิเศษให้ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปได้
1-2. เราได้รับพรอะไรบ้างหลังจากรับบัพติศมา?
เราดีใจที่ได้รับบัพติศมาและได้มาอยู่ในครอบครัวของพระยะโฮวา และเราก็รู้สึกเป็นเกียรติจริง ๆ ที่ได้สนิทกับพระองค์ เราเห็นด้วยกับคำพูดของดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีที่บอกว่า “คนที่ [พระยะโฮวา] เลือกและพามาใกล้ เพื่อให้อยู่ในลานวิหารของพระองค์ก็มีความสุข”—สด. 65:4
2 พระยะโฮวาไม่ได้ให้ใครก็ได้เข้ามาในลานวิหารของพระองค์ อย่างที่เราได้คุยกันไปแล้วในบทความก่อน เฉพาะคนที่อยากรู้จักและสนิทกับพระยะโฮวาเท่านั้นพระองค์ถึงจะให้เขาเข้ามาใกล้ชิดกับพระองค์ (ยก. 4:8) เมื่อคุณอุทิศตัวและรับบัพติศมา คุณก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นเป็นพิเศษ และคุณมั่นใจได้ว่าหลังจากที่คุณรับบัพติศมา พระยะโฮวาจะ “เทพรให้จนไม่ขาดอะไรเลย”—มลค. 3:10; ยรม. 17:7, 8
3. คริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติศมาแล้วมีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญอะไร? (ปัญญาจารย์ 5:4, 5)
3 การรับบัพติศมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา เมื่อคุณรับบัพติศมาแล้ว คุณอยากจะพยายามเต็มที่ที่จะใช้ชีวิตให้สมกับการอุทิศตัวแม้จะเจอการล่อใจหรือความยากลำบาก (อ่านปัญญาจารย์ 5:4, 5) เนื่องจากคุณเป็นสาวกของพระเยซู คุณจะเลียนแบบท่านและเชื่อฟังคำสั่งของท่านให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (มธ. 28:19, 20; 1 ปต. 2:21) บทความนี้จะช่วยให้คุณทำแบบนั้น
ติดตามพระเยซู “เรื่อยไป” แม้เจอการล่อใจหรือความยากลำบาก
4. การที่สาวกของพระเยซูต้องแบก “เสาทรมาน” หมายความว่าอะไร? (ลูกา 9:23)
4 หลังจากที่คุณรับบัพติศมาแล้ว ชีวิตของคุณก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ที่จริงพระเยซูบอกชัดเจนว่าสาวกของท่านจะต้อง “แบกเสาทรมานของตัวเองทุก ๆ วัน” (อ่านลูกา 9:23) พระเยซูพูดแบบนี้หมายความว่าสาวกจะเจอความยากลำบากตลอดเวลาเลยไหม? ไม่ใช่ ท่านแค่เน้นว่านอกจากเราจะได้พรแล้ว เราอาจจะเจอปัญหาในชีวิต ซึ่งบางครั้งปัญหาก็อาจจะหนักมากจนเรารู้สึกทุกข์ใจและหมดแรง—2 ทธ. 3:12
5. พระเยซูสัญญาว่าคนที่เสียสละจะได้พรอะไรบ้าง?
5 คุณอาจกำลังเจอการต่อต้านจากครอบครัวหรือคุณได้เสียสละโอกาสที่จะทุ่มเทหาเงินหาทองเพื่อให้รัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (มธ. 6:33) ถ้าเป็นแบบนั้น คุณมั่นใจได้เลยว่าพระยะโฮวาเห็นสิ่งที่คุณทำเพื่อพระองค์ (ฮบ. 6:10) คุณอาจได้เจอกับตัวเองว่าคำพูดของพระเยซูเป็นจริงที่ว่า “ทุกคนที่ยอมสละบ้าน หรือพี่น้อง หรือพ่อแม่ หรือลูก ๆ หรือไร่นาเพื่อติดตามผมและเพื่อข่าวดี เขาจะได้คืนอีก 100 เท่าในยุคนี้ คือ บ้าน พี่น้อง แม่ ลูก ๆ และไร่นา แต่ก็จะถูกข่มเหงด้วย และในยุคหน้าจะได้ชีวิตตลอดไป” (มก. 10:29, 30) ดังนั้น พรที่คุณได้ในตอนนี้มันมากกว่าสิ่งที่คุณเสียสละไปไม่รู้กี่เท่า—สด. 37:4
6. ทำไมคุณต้องต่อสู้กับ “ความต้องการของร่างกายที่มีบาป” ต่อ ๆ ไปแม้จะรับบัพติศมาแล้ว?
6 หลังจากรับบัพติศมาคุณก็ยังต้องสู้กับ “ความต้องการของร่างกายที่มีบาป” ต่อ ๆ ไป เพราะคุณยังเป็นมนุษย์ที่ผิดบาป (1 ยน. 2:16) บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนกับอัครสาวกเปาโลที่บอกว่า “จริง ๆ แล้วใจผมชอบกฎหมายของพระเจ้า แต่ผมเห็นกฎอีกอย่างหนึ่งในร่างกายที่ต่อสู้กับกฎในใจผม และทำให้ผมตกอยู่ใต้บังคับกฎของบาปที่อยู่ในร่างกายผม” (รม. 7:22, 23) คุณอาจรู้สึกท้อเพราะต้องต่อสู้กับความต้องการผิด ๆ แต่ขอให้คิดถึงคำสัญญาที่คุณให้ไว้กับพระยะโฮวาตอนที่อุทิศตัวให้พระองค์ การคิดถึงเรื่องนี้จะช่วยให้คุณเข้มแข็งและต่อสู้กับการล่อใจได้ ที่จริงการคิดถึงคำสัญญาตอนอุทิศตัวจะช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น แต่มันเป็นแบบนั้นได้ยังไง?
7. การอุทิศตัวให้พระยะโฮวาจะช่วยให้คุณรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ได้ยังไง?
7 เมื่อคุณอุทิศตัวให้พระยะโฮวา คุณก็เลิกใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง นี่หมายความว่าคุณจะไม่ทำอะไรที่ทำให้พระยะโฮวาเสียใจและไม่ตั้งเป้าหมายที่จะทำสิ่งที่พระองค์ไม่ชอบ (มธ. 16:24) ดังนั้น เมื่อคุณเจอกับการล่อใจ คุณจะไม่มานั่งเสียเวลาคิดเลยว่าจะทำยังไงดีเพราะคุณได้เลือกแล้วว่าจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอ คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้พระองค์พอใจ ถ้าคุณทำอย่างนี้ คุณก็จะเป็นเหมือนกับโยบที่ถึงแม้จะเจอกับการทดสอบที่หนักมาก แต่เขาก็ยังพูดว่า “ผมจะซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนวันตาย!”—โยบ 27:5
8. การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำอธิษฐานตอนอุทิศตัวจะช่วยให้คุณสู้กับการล่อใจได้ยังไง?
8 การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำอธิษฐานตอนอุทิศตัวจะช่วยให้คุณต้านทานการล่อใจได้ ตัวอย่างเช่น คุณจะจีบคู่สมรสของคนอื่นไหม? คุณไม่ทำแบบนั้นแน่ ๆ เพราะคุณสัญญากับพระยะโฮวาไว้แล้วว่าจะไม่ทำให้พระองค์เสียใจ ถ้าคุณไม่ปล่อยใจให้ตัวเองมีความรู้สึกแบบนั้น คุณก็ไม่ต้องมาเหนื่อยกับการกำจัดความคิดที่ไม่เหมาะสมแบบนั้นออกไป และคุณจะไม่เข้าไปใน “ทางของคนชั่ว”—สภษ. 4:14, 15
9. การคิดถึงคำอธิษฐานตอนอุทิศตัวจะช่วยคุณยังไงให้การนมัสการพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต?
9 แล้วถ้ามีคนมาเสนองานให้คุณ แต่งานนั้นอาจทำให้คุณขาดประชุมล่ะ? คุณจะปฏิเสธงานนั้นแน่ ๆ เพราะคุณคิดไว้แล้วว่าจะไม่รับงานแบบนั้น นี่จะทำให้คุณก็ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าจะรักษางานนี้ไว้ได้ยังไงแล้วในขณะเดียวกันก็ต้องไปประชุมด้วย พระเยซูตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้พ่อของท่านพอใจเสมอ เหมือนกัน เนื่องจากคุณอุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้ว ถ้าคุณรู้ว่ามีอะไรที่ทำให้พระยะโฮวาไม่ชอบ คุณก็จะทำเหมือนกับพระเยซูโดยปฏิเสธมันทันทีและไม่ลังเล—มธ. 4:10; ยน. 8:29
10. พระยะโฮวาจะช่วยคุณยังไงหลังจากรับบัพติศมาเพื่อคุณจะติดตามพระเยซู “เรื่อยไป”?
10 ที่จริงเมื่อคุณเจอกับการล่อใจหรือความยากลำบาก นั่นเป็นโอกาสที่คุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณตั้งใจจะติดตามพระเยซู “เรื่อยไป” และคุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณแน่นอน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเจ้าซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ปล่อยให้คุณถูกล่อใจจนทนไม่ไหว และเมื่อคุณถูกล่อใจ พระองค์จะมีทางออกให้ด้วยเพื่อคุณจะทนได้”—1 คร. 10:13
คุณจะติดตามพระเยซูเรื่อยไปได้ยังไง?
11. วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะติดตามพระเยซูเรื่อยไปคืออะไร? (ดูภาพด้วย)
11 พระเยซูขยันทำงานรับใช้ และท่านสนิทกับพระยะโฮวาเสมอโดยการอธิษฐาน (ลก. 6:12) ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่คุณจะติดตามพระเยซูได้ต่อ ๆ ไปหลังจากรับบัพติศมาก็คือ คุณต้องทำสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยให้คุณสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ไม่ว่าเราก้าวหน้าถึงขั้นไหนแล้ว ก็ให้เราก้าวหน้าแบบนั้นต่อไปเรื่อย ๆ เหมือนที่เคยทำมา” (ฟป. 3:16) ที่ผ่านมาคุณคงได้เห็นพี่น้องหลายคนพยายามทำงานรับใช้มากขึ้น เช่น บางคนอาจจะเข้าโรงเรียนผู้ประกาศราชอาณาจักร (SKE) หรือย้ายไปในเขตที่มีความจำเป็นมากกว่า ถ้าคุณจัดชีวิตเพื่อทำแบบนั้นได้ การตั้งเป้าหมายแบบนี้ก็ดีมาก ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทุกคนก็อยากรับใช้พระองค์มากขึ้น (กจ. 16:9) แต่ถ้าตอนนี้คุณยังทำอย่างนั้นไม่ได้ล่ะ? ขออย่าคิดว่าคุณแย่กว่าพี่น้องที่ทำได้ สิ่งสำคัญสำหรับคริสเตียนก็คือการอดทนและรักษาความซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป (มธ. 10:22) อย่าลืมว่าพระยะโฮวาจะมีความสุขเมื่อคุณรับใช้พระองค์อย่างดีที่สุดเท่าที่สภาพการณ์ของคุณจะทำได้ นี่แหละเป็นวิธีที่คุณจะติดตามพระเยซูเรื่อยไป—สด. 26:1
12-13. ถ้าความกระตือรือร้นของคุณลดน้อยลง อะไรจะช่วยคุณได้? (1 โครินธ์ 9:16, 17) (ดูกรอบ “อยู่ในการแข่งขันต่อ ๆ ไป” ด้วย)
12 แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วคุณเริ่มรู้สึกว่าคุณอธิษฐานแบบซ้ำซากแล้วก็ไม่ค่อยมีความสุขกับงานรับใช้ล่ะ? หรือตอนนี้คุณไม่ค่อยชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิลเหมือนเมื่อก่อนล่ะ? ถ้าคุณเริ่มรู้สึกแบบนั้นหลังจากรับบัพติศมา ก็อย่าเพิ่งคิดว่าคุณไม่ได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาแล้ว ที่จริงความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าความกระตือรือร้นของคุณลดน้อยลง ขอให้คิดถึงตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล ถึงเขาพยายามมากที่จะเลียนแบบพระเยซู แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เขารู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานรับใช้ (อ่าน 1 โครินธ์ 9:16, 17) เขาบอกว่า “ถึงผมจะไม่เต็มใจ ผมก็ยังต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ที่ผมได้รับมอบหมายมา” พูดง่าย ๆ ก็คือเปาโลตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ของเขาให้สำเร็จถึงแม้บางครั้งเขาไม่ค่อยอยากทำ
13 เหมือนกัน อย่าให้อารมณ์ความรู้สึกมาเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ขอให้คุณตั้งใจทำสิ่งที่ถูกต้องต่อ ๆ ไปแม้ว่าคุณจะรู้สึกฝืนก็ตาม เพราะถ้าคุณพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องต่อ ๆ ไป เมื่อเวลาผ่านไปคุณก็จะมีความสุขกับมันมากขึ้น ขอให้คุณทำกิจกรรมของคริสเตียนเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ศึกษาส่วนตัว เข้าร่วมการประชุม และประกาศ การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยคุณให้ติดตามพระเยซูเรื่อยไปหลังจากรับบัพติศมาแล้ว และเมื่อพี่น้องเห็นว่าคุณพยายามทำงานรับใช้อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็จะได้รับกำลังใจด้วย—1 ธส. 5:11
“คอยตรวจสอบตัวเอง . . . เพื่อพิสูจน์ว่าพวกคุณเป็นคนอย่างไรจริง ๆ”
14. คุณควรตรวจสอบอะไรเป็นประจำและทำไม? (2 โครินธ์ 13:5)
14 นอกจากนั้น การตรวจสอบตัวเองเป็นประจำหลังจากรับบัพติศมาแล้วก็เป็นประโยชน์ด้วย (อ่าน 2 โครินธ์ 13:5) ให้สังเกตตัวเองเป็นครั้งคราวว่าคุณทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำไหม เช่น อธิษฐาน อ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เข้าร่วมการประชุมและการประกาศ พยายามหาวิธีที่จะทำสิ่งเหล่านี้อย่างมีความสุขและมีความหมายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันอธิบายคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิลให้คนอื่นได้ไหม? ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีความสุขกับงานรับใช้มากขึ้น? คำอธิษฐานของฉันเป็นแบบเจาะจงและแสดงให้เห็นไหมว่าฉันวางใจพระยะโฮวาจริง ๆ? ฉันเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำไหม? ฉันจะจดจ่อและมีส่วนร่วมกับการประชุมมากขึ้นได้ยังไง?’
15-16. คุณได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ของพี่น้องชายคนหนึ่งเกี่ยวกับการต้านทานการล่อใจ?
15 คุณต้องตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่ามีจุดอ่อนอะไร ประสบการณ์ของพี่น้องโรเบิร์ตแสดงให้เห็นเรื่องนี้ เขาเล่าว่า “ตอนอายุ 20 ผมทำงานพาร์ทไทม์ วันหนึ่งหลังเลิกงาน เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้หญิงชวนผมไปที่บ้าน เธอบอกว่า ‘จะมีแค่เรา 2 คนเองนะ มาทำอะไรสนุก ๆ กันดีไหม?’ ตอนแรกผมไม่กล้าบอกตรง ๆ และก็อ้างเหตุผลอื่น แต่สุดท้ายผมก็ปฏิเสธเธอและอธิบายว่าทำไมผมไม่ไป” โรเบิร์ตต้านทานการล่อใจได้ซึ่งก็น่าชมเชยจริง ๆ แต่ต่อมาเมื่อเขาคิดถึงเรื่องนั้น เขาคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เขายอมรับว่า “ผมควรจะปฏิเสธทันทีและให้หนักแน่นกว่านี้เหมือนตอนที่โยเซฟพูดกับภรรยาของโปทิฟาร์ (ปฐก. 39:7-9) พอเจอกับตัวเองมันไม่ง่ายเลยครับ ผมแปลกใจมากเลยที่ผมปฏิเสธผู้หญิงคนนั้นยากขนาดนี้ มันทำให้ผมรู้เลยว่าผมยังต้องปรับปรุงตัวอีกเยอะและต้องสนิทกับพระยะโฮวาให้มากขึ้น”
16 ตัวอย่างของโรเบิร์ตทำให้เห็นว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากการตรวจสอบตัวเอง แม้ว่าคุณต้านทานการล่อใจได้สำเร็จ แต่ให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะปฏิเสธได้?’ ถ้าเห็นว่าตัวเองต้องปรับปรุงอะไรอีกก็อย่าเพิ่งท้อ จริง ๆ แล้วมันดีมากที่คุณเห็นจุดอ่อนของตัวเองที่ต้องปรับปรุง ให้อธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นและพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระยะโฮวาได้—สด. 139:23, 24
17. จากประสบการณ์ของโรเบิร์ต การรักษาความซื่อสัตย์เสมอส่งผลยังไงต่อชื่อเสียงของพระยะโฮวา?
17 ประสบการณ์ของโรเบิร์ตยังไม่จบ เขาเล่าต่อว่า “พอผมปฏิเสธแล้ว ผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่า ‘เธอผ่านการทดสอบแล้ว’ ผมถามว่าหมายความว่ายังไง เธอเล่าว่าเพื่อนเธอคนหนึ่งที่เคยเป็นพยานฯ บอกว่าเด็กพยานฯ ตี 2 หน้ากันทั้งนั้น ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ พวกเขาก็พร้อมจะทำทุกอย่างที่อยากทำ พอได้ยินอย่างนี้ผู้หญิงคนนั้นก็เลยบอกเพื่อนไปว่าจะลองทดสอบดูว่าผมจะเป็นแบบที่ว่าจริงไหม ผมเลยดีใจมากที่ไม่ได้ทำให้พระยะโฮวาเสียชื่อ”
18. คุณตั้งใจจะทำอะไรหลังจากรับบัพติศมา? (ดูกรอบ “บทความชุดที่คุณจะชอบ” ด้วย)
18 เมื่อคุณอุทิศตัวและรับบัพติศมา คุณได้แสดงให้เห็นว่าคุณอยากให้ชื่อของพระยะโฮวาเป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และคุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวารู้ว่าคุณกำลังเจอปัญหาอะไรและเจอการล่อใจแบบไหน พระองค์จะอวยพรที่คุณพยายามรักษาความซื่อสัตย์ และขอให้เชื่อมั่นว่าพระองค์จะให้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยคุณให้มีกำลังที่จะรักษาความซื่อสัตย์ได้ต่อ ๆ ไป (ลก. 11:11-13) พระยะโฮวาจะช่วยให้คุณติดตามพระเยซูได้ต่อ ๆ ไปแน่นอนหลังจากที่คุณรับบัพติศมา
คุณจะตอบอย่างไร?
คริสเตียน ‘แบกเสาทรมานทุก ๆ วัน’ ในแง่ไหน?
คุณจะติดตามพระเยซู “เรื่อยไป” หลังจากรับบัพติศมาได้ยังไง?
ทำไมการคิดถึงคำอธิษฐานตอนอุทิศตัวช่วยคุณให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาได้?
เพลง 89 ฟัง ทำตาม แล้วจะได้พร