วิธีที่การจำแลงพระกายของพระคริสต์มีผลกระทบคุณ
ชายสี่คนเพิ่งขึ้นไปบนภูเขาสูง. บนที่สูงนั้นมีสิ่งประหลาดได้เกิดขึ้น. ขณะที่สาวกสามคนของพระเยซูคริสต์มองดูด้วยความตกตะลึง พระองค์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา. ให้เราฟังมาระโก ผู้เรียบเรียงกิตติคุณ รายงานเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นนี้:
“พระเยซูทรงพาเปโตรและยาโกโบและโยฮันไปด้วย และพาพวกเขาขึ้นภูเขาสูงตระหง่าน. แล้วพระองค์ก็ทรงถูกจำแลงกายต่อหน้าพวกเขา และเสื้อชั้นนอกของพระองค์ก็แวววาว ขาวเกินกว่าช่างซักผ้าคนใดบนแผ่นดินโลกซักให้ขาวอย่างนั้นได้. แล้วเอลียากับโมเซก็ปรากฏแก่พวกเขา และท่านสนทนาอยู่กับพระเยซู. และเปโตรจึงทูลถามพระเยซูว่า ‘รับบี ซึ่งเราอยู่ที่นี่ก็ดี ดังนั้น ให้พวกข้าพเจ้าตั้งกระโจมสามหลัง ให้พระองค์หลังหนึ่ง, ให้โมเซหลังหนึ่ง, ให้เอลียาหลังหนึ่ง.’ ที่แท้ เขาไม่รู้ว่าเขาควรจะตอบอย่างไร เพราะพวกเขาเกิดความกลัวไม่น้อย. แล้วมีกลุ่มเมฆมาปกคลุมเขาไว้ และมีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า ‘นี่เป็นบุตรที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด.’ แต่ทันใดนั้น เมื่อสาวกแลดูรอบก็ไม่เห็นผู้ใดอีกแล้ว เว้นแต่พระเยซู.”—มาระโก 9:2–8, ล.ม.
คิดดูสิ! พระพักตร์ของพระเยซูเปล่งประกายราวกับดวงอาทิตย์. (มัดธาย 17:2) ฉลองพระองค์ก็ขาวแวววาว “ขาวเกินกว่าช่างซักผ้าคนใดบนแผ่นดินโลกซักให้ขาวอย่างนั้นได้.” มีเสียงของพระสุรเสียงอันทรงพลังของพระเจ้าเองประกาศเกี่ยวกับพระบุตรของพระองค์. ช่างเป็นเหตุการณ์อันมหัศจรรย์จริง ๆ!
คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ถูกจำแลงพระกาย” ในที่นี้หมายความถึง “การเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปลักษณะหนึ่ง.” คำนี้ยังปรากฏในโรม 12:2 ด้วย ซึ่งคริสเตียนได้รับคำแนะนำให้ “ได้รับการดัดแปลง” โดยเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจเสียใหม่.—แอน เอ็กซโพสิตอรี ดิกชันนารี อ็อฟ นิว เทสตาเมนต์ เวิดส์ โดย ดับเบิลยู. อี. ไวน์ เล่ม 4 หน้า 148.
ถูกแล้ว เหตุการณ์อันน่าสนใจได้เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูถูกจำแลงพระกายภายหลังการฉลองปัศคาในปีสากลศักราช 32. อะไรที่นำไปสู่การอัศจรรย์นี้? การอัศจรรย์นี้มีจุดประสงค์พิเศษไหม? ทำไมจึงเกี่ยวข้องกับโมเซและเอลียาด้วย? และการจำแลงพระกายของพระคริสต์มีผลกระทบคุณอย่างไร?
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
ก่อนขึ้นภูเขา พระเยซูกับเหล่าสาวกอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองกายซาไรอา ฟิลิปปอย. เนื่องจากเมืองนี้อยู่ห่างจากภูเขาเฮระโมนลงไปทางใต้ประมาณ 25 กิโลเมตร การจำแลงพระกายจึงอาจมีขึ้นบนชะง่อนสูงตระหง่านแห่งใดแห่งหนึ่งของภูเขานี้เอง.
ขณะที่ทรงดำเนินสู่ “ภูเขาสูง” นั้น พระเยซูทรงตรัสถามสาวกของพระองค์ดังนี้: “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด?” พวกเขาตอบว่า “เขาว่าเป็นโยฮันบัพติสโต แต่บางคนว่าเป็นเอลียา และบางคนว่าเป็นคนหนึ่งในพวกศาสดาพยากรณ์.” แล้วพระเยซูทรงถามว่า “ฝ่ายพวกท่านนี้ว่าเราเป็นผู้ใดเล่า?” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์.” ตอนนั้น พระเยซูทรงกำชับพวกเขาไม่ให้บอกผู้ใดเกี่ยวกับพระองค์. และพระองค์ “กล่าวสอนเหล่าสาวกว่า บุตรมนุษย์จะต้องทนทุกข์ทรมานหลายประการ และผู้เฒ่าผู้แก่, พวกปุโรหิต, และพวกอาลักษณ์จะละทิ้งและฆ่าพระองค์เสีย แล้วเมื่อล่วงไปได้สามวันพระองค์จะเป็นขึ้นมาใหม่.”—มาระโก 8:27–31.
พระเยซูทรงกล่าวต่อไปเพื่อทำคำสัญญาข้อนี้: “ในพวกท่านที่ยืนอยู่ที่นี่ มีลางคนที่ยังจะไม่ชิมความตายจนกว่าจะได้เห็นแผ่นดินของพระเจ้ามาด้วยฤทธานุภาพ.” (มาระโก 9:1; มัดธาย 16:28) คำสัญญานี้บรรลุความสำเร็จ “เมื่อล่วงไปได้หกวัน” เมื่อพระเยซูทรงอธิษฐานและถูกจำแลงพระกายต่อหน้าเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮัน. ลูกากล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น “แปดวัน” ปรากฏว่าเขารวมเอาวันที่พระองค์ทรงตรัสสัญญา กับวันที่คำสัญญานั้นสำเร็จเข้าไว้ด้วย.—มัดธาย 17:1, 2; มาระโก 9:2; ลูกา 9:28.
ไม่ใช่ความฝันหรือสิ่งลวงตา
การจำแลงพระกายของพระเยซูไม่ใช่เป็นความฝัน. อัครสาวกทั้งสามคนคงจะไม่ฝันเรื่องเดียวกัน และพระเยซูทรงเรียกการนั้นว่า “นิมิต.” นั่นไม่ใช่หมายความถึงสิ่งลวงตา เพราะคำภาษากรีกที่ใช้ในมัดธาย 17:9 มีการแปลในที่อื่นว่า “สิ่งที่เห็น.” (กิจการ 7:31) ดังนั้น บรรดาผู้สังเกตการณ์นั้นตื่นอยู่อย่างเต็มที่ และด้วยตาและด้วยหูของเขา เขาเห็นและได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นจริง.—ลูกา 9:32.
ด้วยอาการตื่นเต็มที่แต่ไม่รู้จะกล่าวอะไร เปโตรเสนอให้สร้างกระโจมสามหลัง—สำหรับพระเยซู, โมเซ, และเอลียาคนละหนึ่งหลัง. (ลูกา 9:33) กลุ่มเมฆที่เกิดขึ้นในขณะที่เปโตรพูดนั้นเห็นได้ชัดว่าชี้ถึงการประทับของพระเจ้าที่บนภูเขานั้น เช่นเดียวกับที่พลับพลาประชุมของพวกยิศราเอลโบราณในป่ากันดาร. (เอ็กโซโด 40:34–38; ลูกา 9:34) และเป็นที่แน่นอนว่าพวกอัครสาวกคงจะไม่ได้ง่วงนอนในตอนที่พระเจ้า “พระบิดา” ทรงแถลงว่า “ผู้นี้เป็นบุตรของเรา เป็นผู้ถูกเลือกสรรไว้ จงฟังท่านเถิด.”—2 เปโตร 1:17, 18; ลูกา 9:35.
เหตุผลที่เห็นโมเซ
เมื่อมีการจำแลงพระกาย โมเซ “ไม่รู้สึกอะไรเลย” เพราะท่านได้ล่วงลับไปก่อนนั้นหลายร้อยปีแล้ว. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10) เช่นเดียวกับดาวิด ท่านไม่ได้ถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาอีกและดังนั้นจึงไม่ได้มาอยู่ที่นั่นอย่างเป็นบุคคล. (กิจการ 2:29–31) แต่ทำไมจึงเห็นโมเซอยู่กับพระคริสต์ในนิมิตนี้ล่ะ?
พระเจ้าตรัสกับโมเซว่า “เราจะให้ผู้พยากรณ์เกิดขึ้นสำหรับเขาทั้งหลายจากในท่ามกลางพี่น้องเขา เหมือนอย่างตัวเจ้า และเราจะเอาถ้อยคำของเราใส่ไว้ในปากผู้นั้น และผู้นั้นจะกล่าวสำแดงแก่เขาทั้งหลายสิ่งสารพัดที่เราจะสั่งแก่ผู้นั้น.” (พระบัญญัติ 18:18) เปโตรได้ใช้คำพยากรณ์ข้อนี้โดยเฉพาะกับพระเยซูคริสต์. (กิจการ 3:20–23) นอกจากพระเยซูคริสต์แล้ว โมเซเป็นผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระเจ้าทรงส่งมายังชาติยิศราเอล.
มีความคล้ายคลึงกันระหว่างโมเซกับพระเยซูคริสต์ โมเซผู้ยิ่งใหญ่กว่า. ตัวอย่างเช่น ขณะที่ท่านทั้งสองยังเป็นทารก ชีวิตของทั้งสองถูกมุ่งร้ายโดยผู้ครอบครองที่ชั่วร้าย แต่พระเจ้าทรงดูแลให้ทารกทั้งสองได้รับการช่วยชีวิตไว้. (เอ็กโซโด 1:20–2:10; มัดธาย 2:7–23) บุคคลทั้งสองใช้เวลาที่อดอาหาร 40 วันในตอนเริ่มต้นงานของพวกเขาในฐานะผู้รับใช้พิเศษของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 24:18; 34:28; พระบัญญัติ 9:18, 25; มัดธาย 4:1, 2) และทั้งโมเซกับพระเยซูได้กระทำการอัศจรรย์โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า.—เอ็กโซโด 14:21–31; 16:11–36; บทเพลงสรรเสริญ 78:12–54; มาระโก 4:41; ลูกา 7:18–23; โยฮัน 14:11.
พระเจ้าทรงใช้โมเซให้ช่วยพวกยิศราเอลรอดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงนำเสรีภาพฝ่ายวิญญาณมาให้. (เอ็กโซโด 12:37–14:31; โยฮัน 8:31, 32) โมเซมีสิทธิพิเศษเป็นผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีระหว่างพระเจ้ากับชาติยิศราเอล ขณะที่พระเยซูทรงเป็นผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่. (เอ็กโซโด 19:3–9; 34:3–7; ยิระมะยา 31:31–34; ลูกา 22:20; เฮ็บราย 8:3–6; 9:15) พระยะโฮวายังทรงใช้โมเซอีกด้วยให้กระทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักแก่ชาติยิศราเอล, ชาติอียิปต์, และชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสต์ทรงยกย่องเชิดชูพระนามอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 9:13–17; 1 ซามูเอล 6:6; โยฮัน 12:28–30; 17:5, 6, 25, 26) โดยการให้มีโมเซปรากฏอยู่ด้วยกับพระเยซูที่ทรงจำแลงพระกาย พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระคริสต์จะทรงกระทำหน้าที่ในฐานะเหล่านี้ในขอบเขตที่ยิ่งใหญ่กว่ามากทีเดียว.
เหตุผลที่เอลียามาปรากฏ
ถึงแม้ผู้พยากรณ์เอลียาซึ่งล่วงลับไปแล้วยังไม่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นมา เป็นการเหมาะสมที่ท่านปรากฏอยู่ในนิมิตแห่งการจำแลงพระกายนี้. เอลียาได้กระทำการงานอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์และการยกย่องสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวาในท่ามกลางชาติยิศราเอล. พระเยซูคริสต์ทรงกระทำเช่นเดียวกันเมื่อทรงอยู่บนแผ่นดินโลกและจะทรงกระทำมากยิ่งกว่าเพื่อฟื้นฟูศาสนาอันบริสุทธิ์ขึ้นและเชิดชูพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์โดยทางราชอาณาจักรมาซีฮา.
ผู้พยากรณ์มาลาคีแสดงให้เห็นว่าการงานของเอลียานั้นเป็นภาพล่วงหน้าถึงกิจการในอนาคต. โดยทางมาลาคี พระเจ้าตรัสว่า “นี่แน่ะ เราจะส่งเอลียาผู้พยากรณ์ให้มาหาเจ้าก่อนที่วันใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาจะมาถึง. และท่านจะทำให้ใจของบิดาหวนมาหาลูกชาย และหัวใจของลูกชายหวนมาหาบิดา เพื่อเราจะไม่มาและตีแผ่นดินโลกจริง ๆ ให้ถึงความพินาศ.”—มาลาคี 4:5, 6, ล.ม.
คำพยากรณ์นี้ได้สำเร็จสมจริงในขนาดเล็กด้วยการงานของโยฮันผู้ให้บัพติสมา. พระเยซูทรงชี้ถึงสิ่งนี้ภายหลังการจำแลงพระกาย เมื่อพวกสาวกของพระองค์ถามถึงสาเหตุที่พวกอาลักษณ์บอกว่าเอลียาต้องมาก่อน—ก่อนการปรากฏของพระมาซีฮา. พระเยซูตรัสว่า “เอลียาจะมาก่อนเพื่อจัดเตรียมสิ่งสารพัดไว้ให้ดีขึ้นก็จริง แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า เอลียาก็มาแล้วและเขาหารู้จักท่านไม่ แต่ได้ทำแก่ท่านตามความปรารถนาของตน. ส่วนบุตรมนุษย์ก็ต้องทนทุกข์จากเขาเช่นเดียวกัน.” บันทึกนั้นยังเพิ่มเติมว่า “ขณะนั้นพวกสาวกจึงเข้าใจว่าพระองค์ได้ตรัสแก่เขาเล็งถึงโยฮันบัพติสโต.”—มัดธาย 17:10–13.
โยฮันได้ทำงานเช่นเดียวกับเอลียาเมื่อท่านให้บัพติสมาแก่ชาวยิวซึ่งได้กลับใจจากการบาปของพวกเขาต่อคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น โยฮันเป็นผู้เตรียมทางล่วงหน้าของพระมาซีฮาและแนะนำตัวพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 11:11–15; ลูกา 1:11–17; โยฮัน 1:29) แต่ทำไมการงานของโยฮันทำให้คำพยากรณ์ของมาลาคีสำเร็จเป็นจริงเพียงในขอบเขตเล็กน้อยเท่านั้น?
ในนิมิตนี้ มีการมองเห็นเอลียากำลังพูดกับพระเยซู. นี่เป็นภายหลังการสิ้นชีวิตของโยฮันผู้ให้บัพติสมา ดังนั้น จึงหมายความว่าการงานของเอลียาจะมีการทำในอนาคต. ยิ่งกว่านั้น คำพยากรณ์นี้ยังแสดงว่าการงานนี้จะมีการทำก่อน “วันใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา.” เหตุการณ์ที่คืบใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วนั้นยังหมายรวมถึง “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์” ณ ฮาร์มาเกโดน หรือ อาร์มาเก็ดดอนอีกด้วย. (วิวรณ์ 16:14–16) นั่นหมายความว่าการสถาปนาราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าในอนาคตนั้นจะอยู่ภายหลังการงานที่คล้าย ๆ กับกิจการของเอลียาและอะลีซาผู้สืบตำแหน่งของท่าน. และเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว พยานของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูการนมัสการอันบริสุทธิ์และการยกย่องพระนามของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 145:9–13; มัดธาย 24:14.
จุดมุ่งหมายของการจำแลงพระกาย
การจำแลงพระกายนั้นคงต้องได้เสริมความเข้มแข็งแก่พระเยซูสำหรับการทนทุกข์ทรมานและความตายซึ่งพระองค์จะต้องทนรับเอา. การได้ยินพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ตรัสเกี่ยวกับพระองค์ในฐานะพระบุตรที่ได้รับการรับรองนั้นคงต้องได้เสริมความเชื่อของพระเยซูให้เข้มแข็งขึ้นอีก. แต่การจำแลงพระกายนั้นทำอะไรบ้างแก่คนอื่น ๆ?
การจำแลงพระกายของพระเยซูยังได้เสริมความเชื่อของผู้สังเกตการณ์ให้เข้มแข็งขึ้นด้วย. เหตุการณ์นั้นประทับอยู่ในจิตใจของพวกเขาว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า. ที่จริง เนื่องจากโฆษกองค์ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา พระวาทะ อยู่ท่ามกลางพวกเขาในขณะนั้น พวกเขาจึงได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าเองแถลงว่า “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.” แม้ว่าพระยะโฮวาได้ทรงให้พยานหลักฐานอย่างเดียวกันในคราวที่พระเยซูทรงรับบัพติสมาก็ตาม ในระหว่างการจำแลงพระกายนั้นพระเจ้าได้ทรงเสริมอีกว่าเหล่าสาวกควรฟังพระบุตรของพระองค์.—มัดธาย 3:13–17; 17:5; โยฮัน 1:1–3, 14.
การจำแลงพระกายเป็นสิ่งที่เสริมความเชื่อให้เข้มแข็งด้วยวิธีอื่นด้วย. ในระหว่างนิมิตนั้น พระเยซู, “โมเซ”, และ “เอลียา” กล่าวถึง “การจากไปของพระองค์ซึ่งจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเลม.” (ลูกา 9:31, ฉบับแปลใหม่) คำ “การจากไป” แปลจากคำภาษากรีก เอกʹโซโดส. การจากไปนี้เห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับทั้งการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและการที่พระเจ้าทรงปลุกพระองค์จากความตายขึ้นมาสู่ชีวิตกายวิญญาณ. (1 เปโตร 3:18) ดังนั้น การจำแลงพระกายนั้นจึงเสริมความเชื่อในการเป็นขึ้นจากตายของพระเยซูคริสต์ให้เข้มแข็งขึ้น. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำแลงพระกายนั้นเสริมสร้างความเชื่อโดยการจัดให้มีพยานหลักฐานที่มั่นใจได้ว่าพระเยซูจะทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น นิมิตนั้นยังแสดงว่าราชอาณาจักรนั้นจะเป็นราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์.
การจำแลงพระกายนั้นยังได้เสริมสร้างความเชื่อในคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์ด้วย. ราว ๆ 32 ปีต่อมา (ประมาณปีสากลศักราช 64) เปโตรยังคงจำประสบการณ์นั้นได้และจารึกไว้ว่า “เปล่า มิใช่โดยการติดตามนิยายที่เขาแต่งขึ้นด้วยความฉลาดแกมโกงนั้นหรอกที่เราทำให้ท่านทั้งหลายรู้จักอำนาจและการประทับของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา แต่โดยการที่เราได้เป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับความเลอเลิศของพระองค์. เพราะพระองค์ทรงได้รับเกียรติยศและสง่าราศีจากพระเจ้า พระบิดา คราวเมื่อคำตรัสเช่นคำเหล่านี้มาถึงพระองค์โดยสง่าราศีอันเลอเลิศว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรผู้เป็นที่รักของเรา ผู้ซึ่งเราเองได้รับรองไว้.’ ถูกแล้ว เราได้ยินคำตรัสเหล่านี้จากสวรรค์ขณะที่เราได้อยู่กับพระองค์ในภูเขาบริสุทธิ์. เหตุฉะนั้น เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกระทำดีในการเอาใจใส่ต่อคำนั้นเสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด ในหัวใจของท่านทั้งหลาย จนกระทั่งรุ่งอรุณและดาวประจำรุ่งผุดขึ้น.”—2 เปโตร 1:16–19, ล.ม.
ความหมายของการจำแลงพระกายสำหรับคุณ
ถูกแล้ว เปโตรมองดูการจำแลงพระกายของพระเยซูว่าเป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้า. อัครสาวกโยฮันก็คงได้พาดพิงถึงนิมิตนี้เช่นกันเมื่อท่านกล่าวว่า “พระวาทะจึงได้กลายเป็นเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา และเราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์ คือสง่าราศีซึ่งเป็นของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวจากพระบิดา; และพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความจริง.” (โยฮัน 1:14, ล.ม.) โดยคล้ายคลึงกัน การจำแลงพระกายนั้นสามารถสร้างความเชื่อในถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาให้แก่คุณด้วย.
การจำแลงพระกายพร้อมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเสริมสร้างความเชื่อของคุณให้เข้มแข็งที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระมาซีฮาที่มีคำทรงสัญญาไว้นั้น. การจำแลงพระกายนั้นสามารถเสริมกำลังแก่ความเชื่อของคุณในการเป็นขึ้นจากตายของพระเยซูสู่ชีวิตกายวิญญาณในสวรรค์. นิมิตอันอัศจรรย์นี้น่าจะเพิ่มความเชื่อของคุณในรัฐบาลของพระเจ้าด้วยเช่นกัน เนื่องจากการจำแลงพระกายเป็นการเผยให้เห็นล่วงหน้าเกี่ยวกับสง่าราศีและขัตติยอำนาจของพระคริสต์.
เป็นสิ่งที่เสริมความเชื่อให้เข้มแข็งโดยเฉพาะที่ได้ทราบว่าการจำแลงพระกายของพระคริสต์นั้นชี้ถึงสมัยของเรานี้ เมื่อการประทับของพระเยซูเป็นความจริงขึ้นมา. (มัดธาย 24:3–14) ตั้งแต่ปี 1914 พระองค์ทรงครอบครองในสวรรค์ฐานะพระมหากษัตริย์ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง. อีกไม่ช้าพระองค์จะทรงใช้อำนาจและฤทธิ์ที่พระเจ้าทรงประทานให้นั้นกับบรรดาศัตรูทั้งสิ้นของการครอบครองของพระเจ้า เป็นการเปิดทางให้แก่โลกใหม่. (2 เปโตร 3:13) คุณสามารถชื่นชมกับพระพรอันไม่รู้สิ้นสุดได้หากคุณแสดงความเชื่อในสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่มีการแสดงให้เห็นในการจำแลงพระกายของพระเยซูคริสต์.