บท 14
การรักษาสันติสุขและความสะอาดของประชาคม
แต่ละปีมีผู้คนมากมายพากันไปยังวิหารของพระยะโฮวาเพื่อการนมัสการอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไปตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล (มคา. 4:1, 2) เรายินดีมากที่ได้รับพวกเขาเข้ามาใน “ประชาคมของพระเจ้า” (กจ. 20:28) พวกเขาเห็นคุณค่าที่มีโอกาสได้รับใช้พระยะโฮวาร่วมกับเรา และได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและมีสันติสุขกับเราในอุทยานโดยนัย พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าและคำแนะนำที่ฉลาดสุขุมในคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เรารักษาสันติสุขและทำให้ประชาคมสะอาด—สด. 119:105; ศคย. 4:6
2 การทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เราสามารถปลูกฝัง “ลักษณะนิสัยใหม่” (คส. 3:10) เราไม่โต้เถียงกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ถือสาเรื่องบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ถ้าเรามองเรื่องต่าง ๆ แบบพระยะโฮวา เราจะเอาชนะอิทธิพลของโลกที่ทำให้แตกแยก และเราจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว—กจ. 10:34, 35
3 แต่บางครั้งมีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติสุขและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในประชาคม อะไรเป็นสาเหตุ? ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล เรายังต้องรับมือกับความไม่สมบูรณ์และแนวโน้มที่ไม่ดีของมนุษย์ เราทุกคนเป็นคนบาป (1 ยน. 1:10) บางคนอาจเดินทางผิดและเริ่มนำความไม่สะอาดด้านศีลธรรมหรือการนมัสการเข้ามาในประชาคม เราอาจทำให้คนอื่นไม่พอใจด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ยั้งคิด หรือเราอาจเสียความรู้สึกเพราะคำพูดและการกระทำของบางคน (รม. 3:23) เมื่อปัญหาแบบนั้นเกิดขึ้น เราจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา?
4 เนื่องจากพระยะโฮวารักเรา พระองค์จึงคิดถึงเรื่องนี้ พระองค์ให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา เราสามารถขอความช่วยเหลือเป็นส่วนตัวได้จากผู้บำรุงเลี้ยงที่รักเรา โดยทำตามคำแนะนำของพวกเขา เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในประชาคมและทำให้พระยะโฮวาพอใจ ถ้าเราถูกอบรมสั่งสอนหรือว่ากล่าวตักเตือนเพราะทำผิดบางอย่าง เราก็แน่ใจได้ว่าการแก้ไขแบบนั้นเป็นการแสดงความรักที่พระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์แสดงต่อเรา—สภษ. 3:11, 12; ฮบ. 12:6
การจัดการกับความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ
5 บางครั้งอาจมีความขัดแย้งส่วนตัวหรือปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างพี่น้องในประชาคม จึงควรรีบจัดการเรื่องเหล่านี้โดยเร็วด้วยความรักแบบพี่น้อง (อฟ. 4:26; ฟป. 2:2-4; คส. 3:12-14) คุณจะพบว่า ปัญหาส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพี่น้องสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้คำแนะนำของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “รักกันให้มาก ๆ เพราะความรักปิดคลุมบาปไว้มากมาย” (1 ปต. 4:8) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เราทุกคนผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ” (ยก. 3:2) โดยการใช้กฎทองที่ว่า เราอยากให้คนอื่นทำกับเราอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นกับเขา แล้วเราจะให้อภัยและลืมความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้—มธ. 6:14, 15; 7:12
6 ถ้าคุณรู้ว่า คุณพูดหรือทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนอื่นไม่พอใจคุณควรรีบเป็นฝ่ายสร้างสันติ จำไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระยะโฮวาจะได้รับผลกระทบด้วย พระเยซูแนะนำสาวกของท่านว่า “ดังนั้น ถ้าคุณเอาของถวายมาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่ามีคนโกรธคุณอยู่ ให้วางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาก่อนและไปคืนดีกับเขา แล้วค่อยกลับมาถวายของนั้น” (มธ. 5:23, 24) คุณกับเขาอาจเข้าใจกันผิดก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ควรพยายามคุยกันอย่างเปิดอก การพูดคุยกันอย่างดีกับพี่น้องในประชาคมช่วยป้องกันการเข้าใจผิดได้และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์
การให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์ตามความจำเป็น
7 บางครั้ง ผู้ดูแลอาจเห็นว่าจำเป็นต้องให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขความคิดของบางคน นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกาลาเทียว่า “พี่น้องครับ ถ้ามีใครกำลังก้าวไปผิดทางโดยไม่รู้ตัว ก็ให้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมพยายามช่วยคนนั้นให้กลับมาในทางที่ถูกต้องด้วยความอ่อนโยน”—กท. 6:1
8 โดยเอาใจใส่ฝูงแกะ ผู้ดูแลพยายามปกป้องประชาคมให้พ้นจากอันตรายด้านความเชื่อหลายอย่างและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้น ผู้ดูแลพยายามทำหน้าที่ในประชาคมให้ได้ตามที่พระยะโฮวาสัญญาไว้ผ่านทางอิสยาห์ที่ว่า “พวกเขาแต่ละคนจะเป็นเหมือนที่กำบังให้พ้นลม เป็นเหมือนที่หลบให้พ้นพายุฝน และเป็นเหมือนลำธารในที่กันดาร เหมือนเงาของหินผาในดินแดนที่แห้งแล้ง”—อสย. 32:2
การหมายคนที่ทำตัวนอกลู่นอกทาง
9 อัครสาวกเปาโลเตือนเกี่ยวกับคนที่พยายามสร้างอิทธิพลที่ไม่ดีในประชาคมว่า “เราขอสั่งพวกคุณให้อยู่ห่าง ๆ พี่น้องทุกคนที่ทำตัวนอกลู่นอกทางและไม่ทำตามธรรมเนียมที่ได้รับจากเรา” เปาโลอธิบายเพิ่มเติมว่า “ถ้าใครไม่เชื่อฟังสิ่งที่เราบอกในจดหมายฉบับนี้ ก็ให้หมายเขาไว้และเลิกคบกับเขา เพื่อให้เขาละอายใจ แต่อย่ามองว่าเขาเป็นศัตรู ให้เตือนสติเขาต่อไปเพราะเขายังเป็นพี่น้องอยู่”—2 ธส. 3:6, 14, 15
10 บางครั้ง มีบางคนแสดงให้เห็นว่าไม่ได้นับถือมาตรฐานของพระเจ้าที่ควบคุมชีวิตคริสเตียน แต่เขาไม่ได้ทำบาปร้ายแรงจนถึงขั้นต้องถูกขับออกจากประชาคม เช่น เป็นคนขี้เกียจมาก ชอบวิพากษ์วิจารณ์ เป็นคนสกปรก หรือชอบ “เที่ยวไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น” (2 ธส. 3:11) หรือเขาอาจชอบวางแผนหาเงินจากคนอื่น ๆ หรือชอบความบันเทิงที่เห็นได้ชัดว่าไม่เหมาะสม ความประพฤตินอกลู่นอกทางแบบนี้ร้ายแรงพอที่จะสร้างความเสียหายกับประชาคม และอาจทำให้คริสเตียนคนอื่น ๆ ทำตามด้วย
11 ตอนแรก ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ทำตัวนอกลู่นอกทางโดยให้คำแนะนำตามหลักคัมภีร์ไบเบิล แต่ถ้าเขายังไม่ยอมรับคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์และยังคงทำต่อไป ผู้ดูแลอาจตัดสินใจว่าควรให้คำบรรยายเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อประชาคม ผู้ดูแลจะใช้ความเข้าใจเพื่อดูว่าสถานการณ์นั้นร้ายแรงและสร้างปัญหาให้คนอื่นจนถึงกับต้องมีคำบรรยายเตือนหรือไม่ ผู้บรรยายต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับการกระทำที่นอกลู่นอกทาง คนที่รู้สถานการณ์ที่พูดถึงในคำบรรยายจะไม่คบหาใกล้ชิดกับคนนั้นที่ทำตัวนอกลู่นอกทาง แต่จะยังพูดคุยกับเขาและ “เตือนสติเขาต่อไปเพราะยังเป็นพี่น้องอยู่”
12 เราหวังว่าการยืนหยัดมั่นคงของพี่น้องที่ซื่อสัตย์ในประชาคมอาจช่วยให้คนที่ทำตัวนอกลู่นอกทางรู้สึกละอายและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเห็นหลักฐานชัดเจนว่าคนนั้นเลิกทำตัวนอกลู่นอกทางแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกับเขาเหมือนคนที่ถูกหมายไว้อีกต่อไป
การแก้ไขความผิดร้ายแรงบางอย่าง
13 การเต็มใจมองข้ามความผิดและให้อภัยนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจการทำผิดหรือยอมรับการทำผิด ไม่ควรโทษว่าความผิดทุกอย่างเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบที่ได้รับเป็นมรดก และไม่ถูกต้องที่จะมองข้ามความผิดร้ายแรง (ลนต. 19:17; สด. 141:5) สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายบอกว่า บาปบางอย่างร้ายแรงกว่าอย่างอี่น ซึ่งคริสเตียนก็ยอมรับในเรื่องนี้—1 ยน. 5:16, 17
14 พระเยซูบอกไว้คร่าว ๆ ว่าควรทำอะไรบ้างเมื่อเกิดปัญหาระหว่างเพื่อนคริสเตียน ขอสังเกตขั้นตอนที่พระองค์บอกไว้ “ถ้ามีคนทำผิดต่อคุณ [1] ให้ไปคุยกับเขาเป็นส่วนตัวก่อนและบอกให้เขารู้ว่าเขาทำผิดอะไร ถ้าเขาฟังคุณ คุณก็ได้ช่วยเขาให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาไม่ฟัง [2] ให้พาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย เพื่อทุกเรื่องที่คุยกันจะได้มีพยานยืนยันสองหรือสามปาก ถ้าเขายังไม่ฟัง [3] ให้บอกกับประชาคม แต่ถ้าเขายังไม่ยอมฟังประชาคมอีก ก็ให้ถือว่าเขาเป็นเหมือนคนทั่วไปในโลกและเหมือนคนเก็บภาษี”—มธ. 18:15-17
15 ในตัวอย่างเปรียบเทียบที่พระเยซูพูดต่อจากนั้นในมัทธิว 18:23-35 แสดงให้เห็นว่าบาปที่พูดถึงในมัทธิว 18:15-17 คือบาปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินหรือทรัพย์สิน เช่น ไม่ได้ชดใช้หนี้ตามที่สัญญากันไว้ หรือบาปนั้นอาจเป็นการใส่ร้ายที่ทำให้บางคนเสียชื่อเสียง
16 ถ้าคุณมีหลักฐานว่าบางคนในประชาคมทำผิดต่อคุณ อย่ารีบไปพบผู้ดูแลเพื่อให้เขามาช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องของคุณ แต่ให้ทำตามที่พระเยซูแนะนำคือให้ไปคุยกับคู่กรณีของคุณก่อน ให้พยายามแก้ไขเรื่องระหว่างคุณกับเขาโดยไม่ต้องให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จำไว้ว่าพระเยซูไม่ได้บอกว่า ให้ ‘ไปคุยกับเขาครั้งเดียวและบอกให้เขารู้ว่าเขาทำผิดอะไร’ ดังนั้น ถ้าคนนั้นไม่ยอมรับผิดและไม่ขอโทษ นับว่าดีที่คุณจะกลับไปคุยกับเขาอีกครั้ง ถ้าคุณสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีนี้ คนที่ทำผิดจะเห็นคุณค่าที่คุณไม่บอกคนอื่นว่าเขาทำผิดอะไรหรือไม่ได้ทำลายชื่อเสียงที่ดีของเขาในประชาคม คุณก็จะ “ช่วยเขาให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง”
17 ถ้าคนที่ทำผิดยอมรับผิดชอบ ขอการให้อภัย และทำสิ่งที่ถูกแทนสิ่งที่ผิด ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการขั้นต่อไป นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ความผิดจะร้ายแรง แต่ก็สามารถจัดการให้เรียบร้อยได้ระหว่างคู่กรณี
18 ถ้าคุณไม่สามารถช่วยเขาให้ทำสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยการ “คุยกับเขาเป็นส่วนตัวก่อน” คุณอาจทำอย่างที่พระเยซูบอกไว้ คือ “ให้พาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย” และพูดกับเขาอีกครั้ง คนที่คุณพาไปด้วยควรมีเป้าหมายจะช่วยคนนั้นให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน ถ้าเป็นได้ คนที่คุณพาไปด้วยควรเป็นผู้ที่รู้เห็นการทำผิดของผู้ที่ถูกกล่าวหา แต่ถ้าไม่มีพยานรู้เห็น คุณอาจเลือกพี่น้องหนึ่งหรือสองคนไปด้วยเพื่อเป็นพยานตอนที่คุณคุยกัน คนนั้นอาจมีประสบการณ์ในเรื่องที่เป็นปัญหากันอยู่ และอาจจะบอกได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิดจริงหรือไม่ ผู้ดูแลที่คุณเลือกไปเป็นพยานไม่ใช่ตัวแทนจากประชาคมเนื่องจากคณะผู้ดูแลไม่ได้มอบหมายให้เขาไปจัดการเรื่องนี้
19 ถ้าเรื่องนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขหลังจากที่ได้พยายามหลายครั้งด้วยการไปพูดกับเขาตามลำพังและพาอีกหนึ่งหรือสองคนไปด้วยแล้ว และคุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนั้นผ่านไปได้ คุณก็ควรรายงานผู้ดูแลในประชาคมเกี่ยวกับเรื่องนั้น จำไว้ว่าเป้าหมายก็คือการรักษาความสงบสุขและความสะอาดในประชาคม เมื่อเข้าพบผู้ดูแล ให้คุณฝากเรื่องนี้ไว้กับพวกเขาและไว้วางใจพระยะโฮวา อย่ายอมให้การกระทำของคนอื่นมาทำให้คุณล้มพลาดหรือทำให้คุณหมดความยินดีในการรับใช้พระยะโฮวา—สด. 119:165
20 ผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะจะสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้ามีหลักฐานว่าคนนั้นทำผิดร้ายแรงต่อคุณจริง ๆ แล้วเขายังไม่กลับใจและไม่เต็มใจปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแลก็ต้องขับไล่ผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจออกจากประชาคม โดยวิธีนี้ พวกเขาจึงปกป้องฝูงแกะและรักษาประชาคมให้สะอาด—มธ. 18:17
วิธีจัดการกรณีที่มีการทำผิดร้ายแรง
21 ถ้ามีการทำผิดร้ายแรง เช่น ผิดศีลธรรม มีชู้ รักร่วมเพศ ลบหลู่ดูหมิ่น ทรยศองค์การ ไหว้รูปเคารพ และทำบาปร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งเกินกว่าที่ผู้เสียหายจะให้อภัยได้ (1 คร. 6:9, 10; กท. 5:19-21) จะต้องรายงานเรื่องการทำบาปร้ายแรงให้ผู้ดูแลทราบเพื่อจัดการปัญหา (1 คร. 5:6; ยก. 5:14, 15) เพราะเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อการนมัสการและความสะอาดด้านศีลธรรมของประชาคม บางคนอาจเข้าพบผู้ดูแลเพื่อสารภาพความผิดที่ทำหรืออาจรายงานเรื่องการทำผิดของคนอื่นที่เขารู้มา (ลนต. 5:1; ยก. 5:16) เมื่อผู้ดูแลได้ยินเรื่องการทำผิดร้ายแรงของผู้ประกาศที่รับบัพติศมาไม่ว่าโดยวิธีไหน การสอบสวนขั้นต้นต้องทำโดยผู้ดูแล 2 คน ถ้ามีหลักฐานของการทำผิดร้ายแรงจริง ๆ คณะผู้ดูแลจะตั้งคณะกรรมการตัดสินความซึ่งมีผู้ดูแลอย่างน้อย 3 คนเพื่อจัดการเรื่องนั้น
22 ผู้ดูแลเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะเป็นอย่างดี ปกป้องพวกเขาจากสิ่งที่ก่อความเสียหายต่อความเชื่อ ผู้ดูแลยังพยายามใช้คำสอนของพระเจ้าอย่างชำนาญเพื่อว่ากล่าวตักเตือนคนที่ทำผิดและพยายามช่วยเขาให้กลับมามีความเชื่อเข้มแข็งเหมือนเดิม (ยด. 21-23) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำสั่งที่อัครสาวกเปาโลให้ทิโมธีว่า “ผมขอสั่งคุณต่อหน้าพระเจ้า และต่อหน้าพระคริสต์เยซูผู้ที่จะพิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย . . . ให้ว่ากล่าวตักเตือน ตำหนิและโน้มน้าว แต่ให้ทำอย่างนั้นด้วยความอดกลั้นและด้วยศิลปะการสอน” (2 ทธ. 4:1, 2) การทำอย่างนั้นต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก แต่นั่นเป็นงานหนักอย่างหนึ่งของผู้ดูแล ประชาคมเห็นคุณค่าความพยายามของพวกเขาและถือว่าพวกเขา “ควรได้รับความนับถือมากเป็นพิเศษ”—1 ทธ. 5:17
23 เมื่อพบหลักฐานว่ามีการทำผิด สิ่งแรกที่ผู้ดูแลต้องทำก็คือช่วยคนทำผิดให้กลับมามีความเชื่อที่เข้มแข็งอีกครั้ง ถ้าคนที่ทำผิดกลับใจจริง ๆ และผู้ดูแลช่วยเขาได้ ก็ให้มีการว่ากล่าวตักเตือนทั้งเป็นส่วนตัวและต่อหน้าคนที่เป็นพยานรู้เห็นซึ่งมาให้การในการตัดสินความนั้น การทำแบบนี้จะเป็นการเตือนสอนเขาและทำให้คนอื่นที่รู้เห็นเหตุการณ์ไม่กล้าทำผิดแบบเดียวกัน (2 ซม. 12:13; 1 ทธ. 5:20) ทุกกรณีที่มีการว่ากล่าวตักเตือนต้องมีการจำกัดสิทธิ์บางอย่าง ดังนั้น คนที่ทำผิดจึงได้รับความช่วยเหลือให้ ‘ทำทางเดินของพวกเขาให้ตรง’ (ฮบ. 12:13) เมื่อเวลาผ่านไป การจำกัดสิทธิ์ก็จะถูกยกเลิกได้เมื่อเห็นว่าเขากลับมามีความเชื่อที่เข้มแข็งเหมือนเดิม
คำประกาศเรื่องการว่ากล่าวตักเตือน
24 ถ้าคณะกรรมการตัดสินความเห็นว่าคนที่ทำผิดกลับใจแล้วแต่เรื่องนั้นอาจเป็นที่รู้กันในประชาคมหรือในชุมชนนั้น หรือต้องปกป้องประชาคมในเรื่องนั้น ก็ให้มีคำประกาศสั้น ๆ ในการประชุมชีวิตและงานรับใช้ คำประกาศนั้นควรอ่านว่า “[ชื่อคนนั้น] ได้ถูกว่ากล่าวตักเตือน”
ถ้าตัดสินให้ถูกตัดสัมพันธ์
25 ในบางกรณี คนที่ทำผิดยังคงยืนยันที่จะทำผิดต่อไปและไม่ยอมรับความช่วยเหลือ เขาไม่ได้ ‘ทำสิ่งที่แสดงว่าเขากลับใจจริง ๆ’ ตอนที่คณะกรรมการพิจารณากับเขา (กจ. 26:20) ควรทำอย่างไร? ในกรณีนี้จะต้องขับไล่คนทำผิดที่ไม่กลับใจออกจากประชาคม เพื่อป้องกันไม่ให้เขาคบหากับพี่น้องในประชาคมที่สะอาดของพระยะโฮวา อิทธิพลที่ไม่ดีของคนที่ทำผิดจึงถูกกำจัดออกจากประชาคมและเป็นการปกป้องศีลธรรมและความสะอาด รวมทั้งปกป้องชื่อเสียงที่ดีของประชาคมด้วย (ฉธบ. 21:20, 21; 22:23, 24) เมื่ออัครสาวกเปาโลรู้เรื่องการทำสิ่งที่น่าอายของบางคนในประชาคมโครินธ์ เขาเตือนผู้ดูแลให้ “ไล่คนนั้นไปอยู่กับซาตาน . . . จะได้รักษาน้ำใจที่ดีของประชาคม” (1 คร. 5:5, 11-13) เปาโลยังได้รายงานเรื่องการตัดสัมพันธ์คนอื่น ๆ ที่ต่อต้านความจริงในศตวรรษแรกด้วย—1 ทธ. 1:20
26 เมื่อคณะกรรมการตัดสินความสรุปว่าคนทำผิดที่ไม่กลับใจควรถูกตัดสัมพันธ์ พวกเขาควรบอกให้คนนั้นรู้เรื่องการตัดสินโดยให้เหตุผลตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวกับการตัดสัมพันธ์ เมื่อแจ้งคนนั้นแล้ว คณะกรรมการตัดสินความจะบอกเขาว่า ถ้าเขาเชื่อว่ามีการตัดสินผิดพลาดและต้องการอุทธรณ์ เขาก็อาจทำได้ด้วยการเขียนจดหมายพร้อมทั้งให้เหตุผลอย่างชัดเจนในจดหมายอุทธรณ์ เขาจะอุทธรณ์ได้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่ตอนที่เขารู้ผลการตัดสินของคณะกรรมการตัดสินความ ถ้าคณะผู้ดูแลได้รับคำอุทธรณ์ คณะผู้ดูแลจะติดต่อกับผู้ดูแลหมวดซึ่งจะเลือกผู้ดูแลอีกชุดหนึ่งให้เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อพิจารณาคดีนั้นใหม่ คณะกรรมการตัดสินความชุดใหม่ควรพยายามจัดการเรื่องนี้ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากได้รับจดหมาย ถ้ามีการอุทธรณ์ให้ระงับคำประกาศเรื่องการตัดสัมพันธ์เอาไว้ก่อน ในระหว่างนั้น คนที่ถูกกล่าวหาจะถูกจำกัดสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นและการอธิษฐานในการประชุม รวมทั้งสิทธิพิเศษอื่น ๆ
27 การอุทธรณ์ถือเป็นความกรุณาสำหรับผู้ถูกกล่าวหาและเปิดโอกาสให้เขาได้อธิบายมากขึ้น แต่ถ้าเขาจงใจไม่มาปรากฏตัวเมื่อมีการพิจารณาการอุทธรณ์ ก็จะประกาศการตัดสัมพันธ์หลังจากที่ได้พยายามติดต่อเขาเต็มที่แล้ว
28 ถ้าคนที่ทำผิดไม่ต้องการอุทธรณ์ คณะกรรมการตัดสินความจะอธิบายกับเขาถึงความจำเป็นที่ต้องกลับใจและขั้นตอนต่าง ๆ ที่เขาควรทำเพื่อจะถูกรับกลับมา วิธีนี้จะเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างกรุณาและหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแนวทางชีวิตของตัวเองและมีคุณสมบัติที่จะกลับเข้ามาในองค์การของพระยะโฮวาอีก—2 คร. 2:6, 7
การประกาศตัดสัมพันธ์
29 เมื่อจำเป็นต้องตัดสัมพันธ์คนทำผิดที่ไม่กลับใจออกจากประชาคม ควรให้มีคำประกาศสั้น ๆ ว่า “[ชื่อคนนั้น] ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป” คำประกาศนี้จะเตือนคนที่ซื่อสัตย์ในประชาคมให้รู้ว่าเขาต้องเลิกคบหากับคนนั้น—1 คร. 5:11
การตัดตัวเอง
30 คำว่า “การตัดตัวเอง” หมายถึงการกระทำของคนที่เป็นพยานฯที่รับบัพติศมาแล้วซึ่งปฏิเสธการเป็นคริสเตียนโดยบอกว่าเขาไม่ต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป หรือเขาอาจทิ้งประชาคมคริสเตียนโดยเข้าร่วมกับองค์การของโลกที่มีวัตถุประสงค์ตรงข้ามกับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลและจะถูกพระยะโฮวาพระเจ้าพิพากษา—อสย. 2:4; วว. 19:17-21
31 อัครสาวกยอห์นได้เขียนเกี่ยวกับคนที่ละทิ้งความเชื่อของคริสเตียนในสมัยของท่านว่า “พวกเขาเคยอยู่กับเราแต่ทิ้งเราไป เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นพวกเดียวกับเรา ถ้าพวกเขาเป็นพวกเดียวกับเรา พวกเขาก็คงยังอยู่กับเรา”—1 ยน. 2:19
32 เมื่อคนหนึ่งตัดตัวเอง พระยะโฮวาจะมองเขาต่างไปจากคริสเตียนที่เลิกประกาศมาก คนหนึ่งอาจเลิกประกาศเพราะไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระเจ้าเป็นประจำ หรือเขาอาจมีปัญหาส่วนตัวหรือถูกกดขี่ข่มเหงและหมดความกระตือรือร้นที่จะรับใช้พระยะโฮวา ผู้ดูแลรวมทั้งคนอื่น ๆ ในประชาคมจะช่วยคริสเตียนที่เลิกประกาศให้กลับมามีความเชื่อที่เข้มแข็งอีกครั้ง—รม. 15:1; 1 ธส. 5:14; ฮบ. 12:12
33 ตรงกันข้าม ถ้าคริสเตียนคนนั้นจงใจตัดตัวเอง ควรให้มีคำประกาศสั้น ๆ ต่อประชาคมว่า “[ชื่อคนนั้น] ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป” และให้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนที่ถูกตัดสัมพันธ์
การกลับสู่ฐานะเดิม
34 คนที่ถูกตัดสัมพันธ์หรือตัดตัวเองอาจถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมเมื่อเขาแสดงหลักฐานการกลับใจอย่างชัดเจนและแสดงให้เห็นตลอดระยะเวลาที่นานพอสมควรว่าเขาได้ละทิ้งแนวทางที่ผิดบาปนั้นแล้ว เขาแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา ผู้ดูแลต้องให้เวลาเขานานพอ อาจหลายเดือน หนึ่งปี หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์เพื่อให้คนนั้นพิสูจน์ตัวว่าเขากลับใจจริง ๆ เมื่อคณะผู้ดูแลได้รับจดหมายที่ขอกลับสู่ฐานะเดิม คณะกรรมการรับกลับสู่ฐานะเดิมจะพูดกับคนนั้น คณะกรรมการดังกล่าวจะดูหลักฐาน “ที่แสดงว่าพวกเขากลับใจจริง ๆ” และตัดสินว่าจะรับเขากลับสู่ฐานะเดิมในครั้งนี้หรือไม่—กจ. 26:20
35 ถ้าคนที่ยื่นคำร้องขอกลับสู่ฐานะเดิมถูกตัดสัมพันธ์จากประชาคมอื่น คณะกรรมการรับกลับสู่ฐานะเดิมในประชาคมท้องถิ่นจะคุยกับคนนั้นและพิจารณาคำร้องของเขา ถ้าสมาชิกในคณะกรรมการรับกลับสู่ฐานะเดิมของประชาคมท้องถิ่นเชื่อว่าเขาควรถูกรับกลับสู่ฐานะเดิม พวกเขาจะส่งการเสนอนั้นไปให้คณะผู้ดูแลในประชาคมที่จัดการเรื่องนั้นในตอนแรก คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรวบรวมข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วซึ่งช่วยให้ตัดสินได้อย่างถูกต้อง แต่คณะกรรมการรับกลับสู่ฐานะเดิมของประชาคมเดิมที่ได้ตัดสัมพันธ์คนนั้นจะเป็นฝ่ายตัดสินเรื่องการรับกลับสู่ฐานะเดิม
การประกาศเรื่องการรับกลับสู่ฐานะเดิม
36 เมื่อคณะกรรมการรับกลับสู่ฐานะเดิมมั่นใจว่าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์หรือคนที่ตัดตัวเองกลับใจจริง ๆ และควรรับเขากลับสู่ฐานะเดิม จะมีคำประกาศที่ประชาคมเดิมของผู้ถูกตัดสัมพันธ์เพื่อแจ้งเรื่องการรับกลับสู่ฐานะเดิม ถ้าตอนนี้คนที่ถูกตัดสัมพันธ์อยู่อีกประชาคมหนึ่งก็จะมีคำประกาศที่ประชาคมนั้นด้วย คำประกาศนั้นควรบอกแค่ว่า “[ชื่อคนนั้น] ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมเป็นพยานพระยะโฮวา”
กรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ที่รับบัพติศมาแล้ว
37 ถ้าผู้เยาว์ที่รับบัพติศมาแล้วได้ทำผิดร้ายแรงก็ควรมีการรายงานต่อผู้ดูแล เมื่อผู้ดูแลตัดสินความผู้เยาว์ที่ทำผิดร้ายแรง นับว่าดีที่จะให้พ่อแม่ที่รับบัพติศมาแล้วอยู่ด้วย พวกเขาควรร่วมมือกับคณะกรรมการตัดสินความและไม่พยายามปกป้องลูกไม่ให้ถูกสั่งสอนตามที่จำเป็น คณะกรรมการตัดสินความจะว่ากล่าวตักเตือนและช่วยเหลือเด็กที่ทำผิดเหมือนกับช่วยผู้ใหญ่ที่ทำผิด แต่ถ้าเด็กไม่กลับใจ เขาต้องถูกตัดสัมพันธ์
เมื่อผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมาทำผิด
38 ถ้าผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมาทำผิดร้ายแรงควรทำอย่างไร? เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นพยานฯที่รับบัพติศมาแล้ว พวกเขาจึงไม่ถูกตัดสัมพันธ์ แต่พวกเขาอาจไม่เข้าใจมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลอย่างเต็มที่ จึงต้องให้คำแนะนำอย่างกรุณาเพื่อช่วยพวกเขาให้ ‘ทำทางเดินให้ตรงอยู่เสมอ’—ฮบ. 12:13
39 ถ้าคนทำผิดที่ยังไม่ได้รับบัพติศมาไม่ยอมกลับใจหลังจากผู้ดูแล 2 คนได้คุยกับเขาและพยายามช่วยเขาแล้ว ก็จำเป็นต้องแจ้งกับประชาคมโดยให้มีคำประกาศสั้น ๆ ว่า “[ชื่อคนนั้น] ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปว่าเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมา” แล้วประชาคมก็จะมองคนที่ทำผิดว่าเป็นคนของโลก แม้ว่าคนที่ทำผิดไม่ได้ถูกตัดสัมพันธ์แต่คริสเตียนก็จะระวังการคบหากับเขา (1 คร. 15:33) ผู้ดูแลไม่ควรรับรายงานการประกาศของเขา
40 ในเวลาต่อมา คนที่ยังไม่ได้รับบัพติศมา ซึ่งถูกปลดจากการเป็นผู้ประกาศ อาจต้องการกลับมาเป็นผู้ประกาศอีก ในกรณีนี้ ผู้ดูแล 2 คนจะคุยกับเขาและดูความก้าวหน้าในด้านความเชื่อของเขาจนแน่ใจ ถ้าเขามีคุณสมบัติ ก็อาจจัดให้มีคำประกาศสั้น ๆ ว่า “[ชื่อคนนั้น] ได้รับการยอมรับอีกครั้งว่าเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมา”
พระยะโฮวาอวยพรการนมัสการที่มีสันติสุขและสะอาด
41 ทุกคนที่สมทบกับประชาคมของพระเจ้าในทุกวันนี้มีความสุขที่ได้อยู่ในสภาพที่พระยะโฮวาเลี้ยงดูอย่างดีในด้านความเชื่อ พระองค์ให้เราเหมือนอยู่ในทุ่งหญ้าที่เขียวสด และได้รับน้ำแห่งความจริงที่ทำให้สดชื่น เราได้รับการปกป้องด้วยความรักของพระยะโฮวาผ่านทางการจัดเตรียมของพระองค์ภายใต้พระคริสต์ซึ่งเป็นผู้นำ (สด. บท 23; อสย. 32:1, 2) การได้อยู่ในสภาพที่เป็นเหมือนอุทยานโดยนัยในสมัยสุดท้ายที่ยากลำบากนี้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย
โดยการรักษาสันติสุขและความสะอาดของประชาคม เราจะส่องแสงสว่างแห่งความจริงเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าต่อ ๆ ไป
42 โดยการรักษาสันติสุขและความสะอาดของประชาคม เราจะส่องแสงสว่างแห่งความจริงเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าต่อ ๆ ไป (มธ. 5:16; ยก. 3:18) พระยะโฮวาจะอวยพรเราและทำให้เรามีความสุขที่เห็นผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ มารู้จักพระยะโฮวาและร่วมงานกับเราเพื่อทำตามความประสงค์ของพระองค์