คุณวางใจพระเจ้าอย่างเต็มที่ไหม?
“ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
1, 2. ชายหนุ่มคนหนึ่งทำอะไรในเรื่องงานอาชีพ และเพราะเหตุใด?
ชายหนุ่มคนหนึ่งต้องการให้ตัวเองเป็นประโยชน์มากขึ้นต่อประชาคม. ปัญหาคืองานอาชีพทำให้เขาไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเป็นประจำได้. เขาจัดการกับปัญหานี้อย่างไร? เขาจัดรูปแบบชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น ลาออกจากงาน แล้วในที่สุดก็ได้งานใหม่ที่ไม่รบกวนเวลาสำหรับกิจกรรมของประชาคมคริสเตียน. เดี๋ยวนี้ เขามีรายได้น้อยกว่าแต่ก่อน แต่ยังเอาใจใส่ความจำเป็นของครอบครัวและสามารถช่วยเหลือประชาคมได้มากขึ้น.
2 คุณเข้าใจไหมว่าทำไมชายหนุ่มคนนี้จึงทำการปรับเปลี่ยนเช่นนั้น? คุณคิดว่าตัวคุณจะทำคล้าย ๆ กันนั้นไหม หากอยู่ในสภาพการณ์คล้ายกันกับเขา? น่าชมเชยที่คริสเตียนหลายคนได้ทำแบบนั้น และการกระทำของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าพวกเขามั่นใจในคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) พวกเขาวางใจพระยะโฮวาเพื่อความมั่นคงในชีวิต แทนที่จะวางใจสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้.—สุภาษิต 3:23, 26.
3. เหตุใดบางคนอาจสงสัยว่าเป็นเรื่องที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่ที่จะจัดให้ราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก?
3 เมื่อคำนึงถึงยุคสมัยที่ยากลำบากที่เรามีชีวิตอยู่ บางคนอาจสงสัยว่าชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมหรือไม่. ทุกวันนี้ ผู้คนส่วนหนึ่งมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นเหลือแสน ในขณะที่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งมีมาตรฐานการครองชีพระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์. คนส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ที่ยากจนดิ้นรนขวนขวายเพื่อฉวยเอาโอกาสใด ๆ ก็ตามที่มีเพื่อให้ชีวิตของตนสบายขึ้นเล็กน้อย. ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนในประเทศร่ำรวยกว่าก็รู้สึกถูกกดดันให้รักษามาตรฐานการดำรงชีพของตนไว้แม้จะเผชิญสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง, ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป, และนายจ้างที่เรียกร้องให้ทำงานหนักขึ้น. เมื่อคำนึงถึงความกดดันในการหาเลี้ยงชีพเช่นนี้ บางคนจึงอาจสงสัยว่า ‘ยังเป็นเรื่องที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงหรือที่จะแสวงหาราชอาณาจักรก่อน?’ เพื่อจะช่วยตอบคำถามนี้ ให้เราพิจารณาดูกลุ่มผู้ฟังที่พระเยซูตรัสกับพวกเขา.
“จงเลิกกระวนกระวาย”
4, 5. พระเยซูแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างไรว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ประชาชนของพระเจ้าไม่ควรกังวลจนเกินไปในเรื่องการดำรงชีพประจำวัน?
4 ตอนนั้นพระเยซูอยู่ในแคว้นแกลิลี กำลังตรัสกับประชาชนหมู่ใหญ่ซึ่งมาจากหลายที่หลายแห่ง. (มัดธาย 4:25) หากจะมีคนมั่งมีอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ ก็คงมีน้อยคน. ดูเหมือนพวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนยากจน. ถึงกระนั้น พระเยซูก็ยังกระตุ้นเตือนพวกเขาไม่ให้การหาทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุอยู่ในความสำคัญอันดับแรก แต่ให้สะสมสิ่งที่ล้ำค่ากว่านั้นมากนัก ซึ่งก็คือทรัพย์สมบัติฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 6:19-21, 24) พระองค์ตรัสว่า “จงเลิกกระวนกระวายกับชีวิตว่าจะกินอะไรหรือจะดื่มอะไร หรือกระวนกระวายกับร่างกายว่าจะสวมอะไร. ชีวิตสำคัญกว่าอาหารและร่างกายสำคัญกว่าเสื้อผ้ามิใช่หรือ?”—มัดธาย 6:25, ล.ม.
5 สำหรับหลายคนในหมู่ผู้ฟัง ถ้อยคำของพระเยซูอาจจะดูเหมือนไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง. พวกเขารู้ว่าหากตนไม่ทำงานหนัก ครอบครัวก็จะลำบาก. อย่างไรก็ตาม พระเยซูสะกิดใจพวกเขาให้นึกถึงนก. นกมีชีวิตอยู่เป็นวัน ๆ ไป กระนั้น พระยะโฮวาดูแลพวกมัน. พระเยซูยังชี้ถึงวิธีที่พระยะโฮวาดูแลดอกไม้ตามท้องทุ่งที่มีความงามยิ่งกว่าความงดงามของซะโลโมเมื่อบริบูรณ์ด้วยสง่าราศี. ถ้าหากพระยะโฮวายังดูแลนกและดอกไม้ พระองค์จะดูแลเรายิ่งกว่านั้นสักเท่าใด? (มัดธาย 6:26-30) อย่างที่พระเยซูได้ตรัส ชีวิตและร่างกายของเราสำคัญยิ่งกว่าอาหารที่เราหาซื้อเพื่อค้ำจุนชีวิตและเสื้อผ้าที่เราหามาเพื่อปิดคลุมร่างกายมากนัก. ถ้าเราทุ่มเทความพยายามของเราทั้งหมดเพียงเพื่อมีอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โดยแทบจะไม่เหลืออะไรไว้เพื่อรับใช้พระยะโฮวาเลย เราก็พลาดไปจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต.—ท่านผู้ประกาศ 12:13.
ทัศนะที่สมดุล
6. (ก) คริสเตียนมีความรับผิดชอบในเรื่องใด? (ข) คริสเตียนมอบความวางใจทั้งสิ้นของตนไว้ที่ใด?
6 แน่ล่ะ พระเยซูไม่ได้สนับสนุนให้ผู้ที่ฟังพระองค์หยุดทำงานและคอยให้พระเจ้าจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่ครอบครัวของพวกเขา. แม้แต่นกก็ยังต้องหาอาหารเลี้ยงตัวมันเองกับลูก ๆ. ดังนั้น ผู้ที่ติดตามพระคริสต์ต้องทำงานหากเขาต้องการจะมีอาหารกิน. พวกเขาต้องเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบภายในครอบครัว. คนรับใช้และทาสที่เป็นคริสเตียนต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งให้กับนายของตน. (2 เธซะโลนิเก 3:10-12; 1 ติโมเธียว 5:8; 1 เปโตร 2:18) อัครสาวกเปาโลทำงานเป็นช่างทำกระโจมเพื่อหาเลี้ยงตัวเองอยู่บ่อย ๆ. (กิจการ 18:1-4; 1 เธซะโลนิเก 2:9) กระนั้น คริสเตียนเหล่านี้ไม่ได้หวังที่จะได้ความมั่นคงในชีวิตจากงานอาชีพ. พวกเขาไว้วางใจพระยะโฮวา. ผลคือ พวกเขามีความสงบใจอย่างที่คนอื่นไม่รู้. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “คนทั้งหลายที่วางใจในพระยะโฮวาเป็นเหมือนภูเขาซีโอน, ที่ไม่รู้หวาดหวั่นไหว, แต่ตั้งมั่นคงอยู่เป็นนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 125:1.
7. ผู้ที่ไม่ได้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่อาจคิดเช่นไร?
7 คนที่ไม่ได้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่อาจคิดต่างออกไป. ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าสมบัติวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตมีความมั่นคง. ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่จึงส่งเสริมให้ลูก ๆ ของตนใช้วัยหนุ่มสาวทุ่มเทให้กับการเรียนในระดับสูง ๆ ด้วยหวังว่าการเรียนสูง ๆ จะเตรียมพวกเขาไว้ให้ได้งานที่มีรายได้ดี. น่าเศร้า ครอบครัวคริสเตียนบางครอบครัวที่ลงทุนอย่างนั้นประสบความสูญเสียใหญ่หลวง เมื่อลูก ๆ ของตนได้สูญเสียเป้าหมายฝ่ายวิญญาณและหันไปมุ่งติดตามเป้าหมายฝ่ายวัตถุ.
8. คริสเตียนรักษาความสมดุลในเรื่องใด?
8 ดังนั้น คริสเตียนที่สุขุมจึงตระหนักว่าคำแนะนำของพระเยซูใช้ได้ในสมัยปัจจุบันเหมือนกับที่ใช้ได้ในสมัยศตวรรษแรก และพวกเขาพยายามจะรักษาความสมดุล. แม้ว่าพวกเขาต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำงานอาชีพเพื่อเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตนตามหลักพระคัมภีร์ แต่พวกเขาจะไม่ปล่อยให้ความจำเป็นเรื่องการหาเงินมาบดบังเรื่องฝ่ายวิญญาณซึ่งสำคัญกว่า.—ท่านผู้ประกาศ 7:12.
“อย่ากระวนกระวาย”
9. พระเยซูเสริมความมั่นใจอย่างไรแก่ผู้ที่วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่?
9 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูกระตุ้นเตือนผู้ที่ฟังพระองค์ว่า “อย่ากระวนกระวายว่า จะเอาอะไรกิน, หรือจะเอาอะไรดื่ม, หรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม. เพราะว่าพวกต่างประเทศแสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้ [“เพราะสิ่งทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่นานาชาติกำลังติดตามอย่างกระตือรือร้น,” ล.ม.] แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้.” (มัดธาย 6:31, 32) ช่างเป็นถ้อยคำที่ให้กำลังใจจริง ๆ! หากเราวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ พระองค์จะคอยเกื้อหนุนเราเสมอ. แต่ถ้อยคำของพระเยซูยังมีอะไรที่น่าคิดด้วย. คำตรัสของพระองค์เตือนใจเราว่า หากเรามุ่งแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุ “อย่างกระตือรือร้น” ความคิดของเราก็ไม่ต่างไปจากของ “นานาชาติ” ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นคริสเตียนแท้.
10. เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งมาขอคำแนะนำจากพระเยซู พระองค์เผยให้เห็นอย่างไรว่าเขารักอะไรมากที่สุด?
10 ในโอกาสหนึ่ง ขุนนางหนุ่มผู้มั่งคั่งมาถามพระเยซูว่าเขาต้องทำประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์. พระเยซูเตือนใจเขาให้ระลึกถึงข้อเรียกร้องในพระบัญญัติ ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น. ชายหนุ่มผู้นี้ยืนยันกับพระเยซูว่า “ข้อเหล่านั้นข้าพเจ้าได้ถือรักษาไว้แล้วทุกประการ ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?” คำตอบที่พระเยซูให้อาจดูเหมือนทำได้ยากสำหรับหลายคน. พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านปรารถนาเป็นผู้ดีรอบคอบ จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา. ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงตามเรามา.” (มัดธาย 19:16-21) ชายหนุ่มคนนั้นลาจากไปด้วยความเศร้า เพราะไม่อาจจะยอมรับความคิดที่ว่าตนต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติไป. ไม่ว่าเขาจะรักพระยะโฮวาแค่ไหนก็ตาม เขามีความรักต่อทรัพย์สมบัติของตนมากกว่า.
11, 12. (ก) พระเยซูตรัสถ้อยคำอะไรที่น่าคิดเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ? (ข) ทรัพย์สมบัติจะขัดขวางคนเราไว้จากการรับใช้พระยะโฮวาได้อย่างไร?
11 เหตุการณ์นั้นกระตุ้นให้พระเยซูกล่าวบางสิ่งที่สร้างความประหลาดใจ “คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินสวรรค์ก็ยาก. . . . ตัวอูฐจะลอดรูเข็มก็ง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.” (มัดธาย 19:23, 24) พระเยซูหมายความว่าจะไม่มีคนมั่งมีได้รับราชอาณาจักรเป็นมรดกไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะพระองค์ตรัสต่อไปว่า “ทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับพระเจ้า.” (มัดธาย 19:25, 26, ฉบับแปล 2002) จริง ๆ แล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา คนมั่งมีบางคนในสมัยนั้นได้เข้ามาเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิม. (1 ติโมเธียว 6:17) กระนั้น พระเยซูตรัสถ้อยคำที่สร้างความประหลาดใจนั้นด้วยเหตุผลที่ดี. พระองค์กำลังให้คำเตือน.
12 หากคนเรามีใจผูกพันต่อสมบัติพัสถานเหมือนอย่างชายหนุ่มผู้มั่งคั่งที่กล่าวไป สิ่งเหล่านั้นก็อาจขัดขวางเขาไว้จากการรับใช้พระยะโฮวาอย่างสิ้นสุดหัวใจ. สิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับทั้งคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว และคนที่กำลัง “มุ่งจะร่ำรวย.” (1 ติโมเธียว 6:9, 10, ล.ม.) การวางใจสมบัติวัตถุมากเกินไปอาจทำให้คนเรา “สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน” น้อยลง. (มัดธาย 5:3, ล.ม.) ผลคือ เขาอาจไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องหมายพึ่งพระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 6:10-12) เขาอาจถึงกับคาดหมายจะได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษในประชาคม. (ยาโกโบ 2:1-4) และเขาอาจใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการชื่นชมทรัพย์สมบัติของเขามากกว่าการรับใช้พระยะโฮวา.
จงปลูกฝังทัศนะที่ถูกต้อง
13. คริสเตียนในเมืองลาโอดิเคียมีทัศนะผิด ๆ เช่นไร?
13 คริสเตียนกลุ่มหนึ่งที่มีทัศนะผิด ๆ ในเรื่องทรัพย์สมบัติก็คือประชาคมในเมืองลาโอดิเคียสมัยศตวรรษแรก. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “เจ้าพูดว่า ‘เราเป็นคนมั่งมี, ได้ทรัพย์สมบัติทวีมากขึ้น, และไม่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย,’ และเจ้าไม่รู้ว่าเจ้าเป็นคนแร้นแค้นเข็ญใจ, เป็นคนขัดสน, เป็นคนตาบอด, และเป็นคนเปลือยกายอยู่.” ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติที่ทำให้คริสเตียนในเมืองลาโอดิเคียอยู่ในสภาพน่าสังเวชเช่นนั้นทางฝ่ายวิญญาณ. แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาวางใจทรัพย์สมบัติแทนที่จะวางใจพระยะโฮวานั่นเอง. ผลก็คือ พวกเขาอยู่ในสภาพอุ่น ๆ ฝ่ายวิญญาณ และไม่ช้าจะถูก ‘คายออกจากปาก’ ของพระเยซู.—วิวรณ์ 3:14-17.
14. ทำไมคริสเตียนชาวฮีบรูสมควรจะได้รับคำชมเชยจากเปาโล?
14 ในทางตรงกันข้าม เปาโลชมเชยทัศนะของคริสเตียนชาวฮีบรูในช่วงแรก ๆ ที่พวกเขาถูกข่มเหง. ท่านเขียนว่า “ท่านทั้งหลายได้มีใจเมตตาผู้ที่ถูกจำจอง และเมื่อเขาได้ปล้นชิงเอาสิ่งของของท่านไป ท่านได้อดกลั้นไว้ด้วยใจยินดี, โดยรู้แล้วว่า ท่านยังมีทรัพย์สมบัติอันถาวรดียิ่งกว่านั้นอีก [“ทรัพย์ที่ดีกว่าและคงทน,” ล.ม.].” (เฮ็บราย 10:34) คริสเตียนเหล่านั้นไม่ตื่นตกใจที่สูญเสียทรัพย์สมบัติของตนไป. พวกเขารักษาความยินดีไว้เนื่องจากพวกเขายึดมั่นอยู่เสมอกับสมบัติที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งเป็น “ทรัพย์ที่ดีกว่าและคงทน.” เช่นเดียวกับพ่อค้าในอุปมาของพระเยซูที่สละทุกสิ่งเพื่อจะได้มุกดาเม็ดเดียวที่มีค่า พวกเขาตั้งใจที่จะยึดความหวังเรื่องราชอาณาจักรไว้ให้มั่น ไม่ว่าจะต้องสละสิ่งใดไป. (มัดธาย 13:45, 46) เป็นเจตคติที่น่าชมเชยจริง ๆ!
15. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งในไลบีเรียจัดให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรกอย่างไร?
15 หลายคนในทุกวันนี้ได้ปลูกฝังเจตคติที่น่าชมเชยแบบเดียวกันนั้น. ตัวอย่างเช่นในไลบีเรีย คริสเตียนวัยสาวคนหนึ่งได้รับโอกาสให้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย. ในประเทศนั้น ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นหนทางไปสู่อนาคตที่มั่นคง. อย่างไรก็ตาม เธอเป็นไพโอเนียร์ คือผู้เผยแพร่เต็มเวลา และเพิ่งได้รับการเชิญให้รับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษชั่วคราว. เธอเลือกที่จะแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกและรักษางานรับใช้ประเภทเต็มเวลาเอาไว้. เธอไปยังเขตมอบหมายและได้เริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ 21 รายในสามเดือน. พี่น้องหญิงคนนี้และอีกหลายพันคนที่เป็นเช่นเดียวกับเธอแสวงหาราชอาณาจักรก่อน ไม่ว่าพวกเขาต้องสละโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์ทางด้านวัตถุใด ๆ ก็ตาม. พวกเขาธำรงรักษาเจตคติดังกล่าวในโลกที่นิยมวัตถุนี้โดยวิธีใด? พวกเขาได้ปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีงามหลายประการ. ให้เรามาพิจารณาบางอย่าง.
16, 17. (ก) เหตุใดความเจียมตัวเป็นสิ่งสำคัญหากเราปรารถนาจะวางใจพระยะโฮวา? (ข) ทำไมเราควรพัฒนาความมั่นใจในคำสัญญาของพระเจ้า?
16 ความเจียมตัว: คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง. อย่าอวดว่าตนเป็นคนฉลาด.” (สุภาษิต 3:5-7) บางครั้ง แนวทางปฏิบัติบางอย่างอาจดูเหมือนใช้การได้จริงจากทัศนะของโลก. (ยิระมะยา 17:9) กระนั้น คริสเตียนที่มีใจสุจริตแสวงหาการชี้นำจากพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 48:14) ‘ในทางทั้งหลายของเขา’—ไม่ว่าเรื่องของประชาคม, เรื่องการศึกษาหรืองานอาชีพ, เรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ, หรือเรื่องอื่นใด—คริสเตียนแสวงหาคำแนะนำจากพระยะโฮวาด้วยความเจียมตัว.—บทเพลงสรรเสริญ 73:24.
17 มั่นใจในคำสัญญาของพระยะโฮวา: เปาโลกล่าวว่า “ผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่, และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) หากเราสงสัยว่าพระยะโฮวาจะทำตามที่สัญญาไว้หรือไม่ ก็อาจดูเหมือนจะมีเหตุผลสำหรับเราที่จะ ‘ใช้ประโยชน์จากโลกนี้ให้เต็มที่.’ (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามีความเชื่อที่มั่นคง เราก็จะตั้งใจแสวงหาราชอาณาจักรก่อน. เราจะพัฒนาความเชื่อให้มั่นคงได้อย่างไร? ก็โดยการเข้าใกล้พระยะโฮวาเสมอ อธิษฐานจากใจจริง และโดยการศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ. (บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; ฟิลิปปอย 4:6, 7; ยาโกโบ 4:8) เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิด เราสามารถอธิษฐานได้ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ฝ่ายตัวข้าพเจ้าได้วางใจในพระองค์: จนได้กล่าวไว้ว่า, พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า. พระกรุณาคุณของพระองค์มากยิ่งเท่าใด.”—บทเพลงสรรเสริญ 31:14, 19.
18, 19. (ก) ความอุตสาหะเสริมความวางใจที่เรามีต่อพระยะโฮวาอย่างไร? (ข) เพราะเหตุใดคริสเตียนควรเต็มใจที่จะเสียสละ?
18 ขยันขันแข็งในงานรับใช้พระยะโฮวา: เปาโลเชื่อมโยงความมั่นใจในคำสัญญาของพระยะโฮวาเข้ากับความอุตสาหะเมื่อท่านเขียนว่า “เราปรารถนาให้ท่านทั้งหลายต่างคนต่างสำแดงความอุสส่าห์เช่นเดียวกันจนถึงที่สุดปลาย จึงจะได้ความหวังใจอย่างบริบูรณ์.” (เฮ็บราย 6:11) หากเราทุ่มเทตัวในงานรับใช้พระยะโฮวา พระองค์จะเกื้อหนุนเรา. แต่ละครั้งที่เราได้รับการเกื้อหนุนจากพระองค์ ความวางใจของเราจะยิ่งมีมากขึ้น และเราจะ “ตั้งมั่นคง ไม่หวั่นไหว.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) ความเชื่อของเราจะเพิ่มพูนขึ้น และเราได้รับการรับรองให้มั่นใจในความหวังของเรา.—เอเฟโซ 3:16-19.
19 ยินดีเสียสละตัวเอง: เปาโลสละโอกาสก้าวหน้าในอาชีพเพื่อจะมาเป็นสาวกของพระเยซู. เห็นได้ชัดว่าท่านตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้อง แม้บางครั้งชีวิตของท่านจะลำบากด้านวัตถุ. (1 โกรินโธ 4:11-13) พระยะโฮวาไม่ได้สัญญาชีวิตที่สุขสบาย และผู้รับใช้ของพระองค์ก็ประสบความทุกข์ยากลำบากในบางครั้ง. การที่เรายินดีปรับรูปแบบชีวิตให้เรียบง่ายและพร้อมจะเสียสละตัวเองเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะรับใช้พระยะโฮวา.—1 ติโมเธียว 6:6-8.
20. เพราะเหตุใดความอดทนจึงสำคัญมากสำหรับผู้ที่จัดให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก?
20 ความอดทน: สาวกยาโกโบกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “เพราะเหตุนี้ พี่น้องทั้งหลาย จงอดใจรอจนกว่าการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (ยาโกโบ 5:7, ล.ม.) ในโลกที่เร่งรีบนี้ นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะอดทนคอย. เราต้องการให้สิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างฉับไว. แต่เปาโลสนับสนุนเราให้เลียนแบบผู้ที่ “โดยทางความเชื่อและความอดทน จึงได้รับคำสัญญาเป็นมรดก.” (เฮ็บราย 6:12, ล.ม.) จงเต็มใจรอคอยพระยะโฮวา. ชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแก่การรอคอยอย่างแน่นอน!
21. (ก) เราแสดงให้เห็นอะไรเมื่อเราจัดให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความหน้า?
21 ใช่แล้ว คำแนะนำของพระเยซูที่ให้แสวงหาราชอาณาจักรก่อนเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้จริง. เมื่อเราทำอย่างนั้น เราแสดงให้เห็นว่าเราวางใจพระยะโฮวาอย่างแท้จริง และเลือกแนวทางดำเนินชีวิตซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ปลอดภัยสำหรับคริสเตียน. อย่างไรก็ตาม พระเยซูยังแนะนำเราให้ “แสวงหา . . . ความชอบธรรม [ของพระเจ้า] ก่อน” เสมอไปอีกด้วย. ในบทความหน้า เราจะได้เห็นว่าเหตุใดจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสมัยนี้ที่จะได้รับการกระตุ้นดังกล่าว.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระเยซูสนับสนุนเราให้มีความสมดุลอะไรในเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุ?
• เราเรียนอะไรจากคำเปรียบของพระเยซูเรื่องอูฐกับรูเข็ม?
• คุณลักษณะแบบคริสเตียนอะไรบ้างที่ช่วยเราให้แสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อน?
[ภาพหน้า 21]
หลายคนที่ฟังคำตรัสของพระเยซูเป็นคนยากจน
[ภาพหน้า 23]
ชายหนุ่มผู้มั่งคั่งรักทรัพย์สมบัติของตนมากกว่ารักพระเจ้า
[ภาพหน้า 23]
พ่อค้าในอุปมาของพระเยซูสละทุกสิ่งเพื่อจะได้มุกดาเม็ดเดียวที่มีค่า
[ภาพหน้า 24]
หากเราทุ่มเทตัวในงานรับใช้พระยะโฮวา พระองค์จะเกื้อหนุนเรา