บท 3
“เรามี . . . หัวใจถ่อม”
1-3. พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมในลักษณะใด และเหตุใดบางคนในฝูงชนที่มองดูอยู่จึงอาจรู้สึกประหลาดใจ?
กรุงเยรูซาเลมมีเสียงพูดคุยกันเซ็งแซ่ด้วยความตื่นเต้น. บุรุษสำคัญคนหนึ่งกำลังจะมา! ภายนอกกรุง ผู้คนรวมตัวกันอยู่ตามถนน. พวกเขากระตือรือร้นที่จะต้อนรับบุรุษผู้นี้ เพราะบางคนบอกว่าท่านเป็นรัชทายาทของกษัตริย์ดาวิดและเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมของอิสราเอล. หลายคนเอาทางปาล์มมาเพื่อโบกต้อนรับท่าน; คนอื่น ๆ เอาเสื้อผ้าและใบไม้มาปูตามถนนเพื่อเตรียมทางที่สะดวกไว้สำหรับท่านผู้นี้. (มัดธาย 21:7, 8; โยฮัน 12:12, 13) หลายคนคงอยากรู้ว่าท่านผู้นี้จะเข้าเมืองในลักษณะใด.
2 บางคนอาจคาดหมายการเสด็จเข้าเมืองแบบที่เลอเลิศมโหฬาร. แน่นอนพวกเขารู้จักบุคคลสำคัญ ๆ ซึ่งได้เข้าเมืองในลักษณะดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น อับซาโลมราชบุตรของดาวิดได้ประกาศตัวเป็นกษัตริย์; เขาให้ผู้ชาย 50 คนวิ่งนำหน้าราชรถของเขา. (2 ซามูเอล 15:1, 10) จูเลียสซีซาร์ผู้ปกครองชาวโรมันได้เรียกร้องให้มีการจัดอย่างโอ้อวดยิ่งกว่านั้นอีก ครั้งหนึ่งเขาได้เคลื่อนขบวนแห่ฉลองชัยชนะไปยังรัฐสภาโรมัน โดยมีช้าง 40 เชือกชูโคมไฟขนาบอยู่ทั้งสองข้าง. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ชาวกรุงเยรูซาเลมคอยท่าบุรุษที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก. ไม่ว่าฝูงชนเข้าใจอย่างเต็มที่หรือไม่ก็ตาม ท่านผู้นี้คือพระมาซีฮา บุรุษผู้ใหญ่ยิ่งที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็น. แต่เมื่อผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคตองค์นี้เสด็จเข้าเมือง บางคนอาจประหลาดใจ.
3 พวกเขาไม่เห็นราชรถ, ไม่มีคนวิ่งนำหน้า, ไม่มีม้า และก็แน่นอนว่าไม่มีช้าง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเยซูประทับบนหลังลา สัตว์พาหนะธรรมดา ๆ ตัวหนึ่ง.a ทั้งพระเยซูและลาที่พระองค์ประทับมาก็ไม่ได้ประดับตกแต่งอย่างเลิศหรูอลังการ. แทนที่จะเป็นอานนั่งราคาแพง สาวกผู้ใกล้ชิดของพระเยซูได้เอาเสื้อผ้าบางชิ้นปูบนหลังลานั้น. เหตุใดพระเยซูทรงเลือกที่จะเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมในลักษณะที่ต่ำต้อยเช่นนั้น ในเมื่อมนุษย์ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่ามากได้เรียกร้องให้มีการเฉลิมฉลองเอิกเกริกมากกว่านัก?
4. คัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าเช่นไรเกี่ยวกับวิธีที่กษัตริย์มาซีฮาจะเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลม?
4 พระเยซูกำลังทำให้คำพยากรณ์ข้อหนึ่งสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “จงยินดีเป็นอันมาก, โอ้บุตรีแห่งยะรูซาเลมจงโห่ร้องด้วยชื่นชม, นี่แน่ะ, กษัตริย์ของท่านเสด็จมาหาท่าน, มีความชอบธรรมแลประกอบด้วยฤทธิ์ช่วยให้รอด, แลมีพระทัยอันสุภาพ, แลเสด็จนั่งบนลา.” (ซะคาระยา 9:9) คำพยากรณ์นี้แสดงว่าสักวันหนึ่งพระมาซีฮา ผู้ถูกเจิมของพระเจ้าจะเปิดเผยพระองค์เองแก่ประชาชนชาวเยรูซาเลมในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า. นอกจากนี้ วิธีที่พระองค์ทรงใช้ในการเปิดเผยว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ รวมทั้งการเลือกสัตว์ที่ใช้ประทับ จะเผยให้เห็นคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมในพระทัยของพระองค์ นั่นคือความถ่อมใจ.
5. ทำไมการไตร่ตรองดูความถ่อมของพระเยซูจึงกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก และเหตุใดนับว่าสำคัญที่เราเรียนรู้ที่จะเลียนแบบพระเยซูในเรื่องนี้?
5 ความถ่อมของพระเยซูอยู่ในบรรดาคุณลักษณะที่ดึงดูดใจมากที่สุดของพระองค์. เมื่อเราไตร่ตรองดู นี่เป็นคุณลักษณะที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก. ดังที่เราได้พิจารณาในบทก่อน พระเยซูผู้เดียวทรงเป็น “ทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต.” (โยฮัน 14:6) เห็นได้ชัดว่า ไม่มีมนุษย์สักคนเดียวในบรรดามนุษย์จำนวนมากมายที่เคยมีชีวิตอยู่จะมีความสำคัญเท่าเทียมกับพระบุตรของพระเจ้า. กระนั้น พระเยซูไม่เคยแสดงให้เห็นร่องรอยของความหยิ่งยโสแม้แต่น้อย หรือการถือว่าตัวเองสำคัญซึ่งมนุษย์ไม่สมบูรณ์นับไม่ถ้วนมักจะมี. เพื่อจะเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ เราต้องต่อสู้กับแนวโน้มที่จะยอมให้ความหยิ่งครอบงำ. (ยาโกโบ 4:6) จำไว้ว่า พระยะโฮวาทรงเกลียดชังความหยิ่งยโส. ฉะนั้น นับว่าสำคัญที่เราเรียนรู้ที่จะเลียนแบบความถ่อมของพระเยซู.
ประวัติที่ยาวนานเรื่องการแสดงความถ่อมใจ
6. ความถ่อมใจคืออะไร และพระยะโฮวาทรงทราบโดยวิธีใดว่าพระมาซีฮาจะถ่อมพระทัย?
6 ความถ่อมใจคือจิตใจอ่อนน้อม ไม่มีความจองหองหรือความหยิ่ง. นี่เป็นคุณลักษณะที่เริ่มต้นในหัวใจและแสดงออกในคำพูด, ความประพฤติ, และในการติดต่อเกี่ยวข้องกับคนอื่น. พระยะโฮวาทรงทราบโดยวิธีใดว่าพระมาซีฮาจะถ่อมพระทัย? พระองค์ทรงทราบว่าพระบุตรได้สะท้อนแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์เองในเรื่องความถ่อมพระทัย. (โยฮัน 10:15) นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงเห็นความถ่อมของพระบุตรในการกระทำด้วย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
7-9. (ก) มิคาเอลได้แสดงความถ่อมใจอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งกับซาตาน? (ข) คริสเตียนอาจเลียนแบบมิคาเอลในการแสดงความถ่อมใจได้โดยวิธีใด?
7 พระธรรมยูดาเผยให้เห็นตัวอย่างที่ตรึงใจเรื่องหนึ่งที่ว่า “เมื่อมิคาเอลอัครทูตสวรรค์มีข้อขัดแย้งกับพญามารและโต้เถียงเกี่ยวกับกายของโมเซนั้น ท่านมิได้บังอาจนำการพิพากษามาสู่พญามารด้วยคำหยาบคาย แต่ได้กล่าวว่า ‘ขอพระยะโฮวาทรงต่อว่าเจ้าเถิด.’” (ยูดา 9, ล.ม.) มิคาเอลเป็นชื่อที่นำมาใช้กับพระเยซู—ก่อนและหลังชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก—ในบทบาทของอัครทูตสวรรค์ หรือประมุขของกองทัพทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวาที่ประกอบด้วยเหล่าทูตสวรรค์.b (1 เธซะโลนิเก 4:16) แต่ขอสังเกตว่ามิคาเอลได้จัดการอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งเช่นนี้กับซาตาน.
8 บันทึกของยูดาไม่ได้บอกเราว่าซาตานต้องการทำอะไรกับกายของโมเซ แต่เราแน่ใจได้ว่าพญามารมีจุดมุ่งหมายที่ชั่วร้ายบางอย่างอยู่ในความคิด. บางทีมันอาจต้องการส่งเสริมการใช้ศพของโมเซบุรุษผู้ซื่อสัตย์นั้นในทางที่ผิดในการนมัสการเท็จ. ขณะที่มิคาเอลต่อต้านแผนชั่วของซาตาน ท่านยังได้แสดงการควบคุมตัวเองอย่างน่าทึ่งด้วย. ซาตานสมควรได้รับการว่ากล่าวติเตียนแน่ ๆ แต่มิคาเอลตอนที่กำลังโต้เถียงกับซาตานนั้นยังไม่ได้รับมอบ “การพิพากษาทั้งสิ้น” ท่านรู้สึกว่าการพิพากษาเช่นนั้นควรมาจากพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น. (โยฮัน 5:22) ในฐานะอัครทูตสวรรค์ มิคาเอลมีอำนาจอันไพศาล. กระนั้น พระองค์เชื่อฟังพระยะโฮวาด้วยความถ่อมพระทัยแทนที่จะพยายามยึดอำนาจเพิ่มขึ้น. นอกจากความถ่อมแล้ว พระองค์ยังแสดงความเจียมตัว หรือการสำนึกถึงขีดจำกัดของพระองค์ด้วย.
9 ยูดาได้รับการดลใจให้เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ด้วยเหตุผลประการหนึ่ง. น่าเศร้า คริสเตียนบางคนในสมัยของยูดาไม่ถ่อมใจ. ด้วยความหยิ่งจองหองพวกเขา “พูดหยาบคายในทุกสิ่งที่พวกเขามิได้รู้จริง ๆ.” (ยูดา 10, ล.ม.) เป็นเรื่องง่ายสักเพียงไรสำหรับเราที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะปล่อยให้ความหยิ่งเข้าครอบงำ! เมื่อเราไม่เข้าใจอะไรบางอย่างที่ได้จัดการไปแล้วในประชาคมคริสเตียน—บางทีเกี่ยวข้องกับการตัดสินโดยคณะผู้ปกครอง—เรามีปฏิกิริยาอย่างไร? หากเราเข้าร่วมในการพูดติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถรู้ปัจจัยทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินนั้น เราคงจะแสดงให้เห็นว่าขาดความถ่อมใจมิใช่หรือ? แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้เราเลียนแบบมิคาเอล หรือพระเยซู โดยละเว้นจากการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพระเจ้าไม่ได้มอบอำนาจให้เราตัดสิน.
10, 11. (ก) มีอะไรที่โดดเด่นเกี่ยวกับการที่พระบุตรของพระเจ้าเต็มพระทัยยอมรับงานมอบหมายที่ให้เสด็จมายังแผ่นดินโลก? (ข) เราอาจเลียนแบบความถ่อมของพระเยซูได้โดยวิธีใด?
10 พระบุตรของพระเจ้ายังได้แสดงความถ่อมพระทัยโดยยอมรับงานมอบหมายที่จะเสด็จมายังแผ่นดินโลก. ขอพิจารณาว่าพระองค์ต้องละทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังบ้าง. พระองค์ทรงเป็นอัครทูตสวรรค์. พระองค์ยังทรงเป็น “พระวาทะ”—โฆษกของพระยะโฮวา. (โยฮัน 1:1-3) พระองค์ได้ประทับอยู่ในสวรรค์ “ที่สถิตอันบริสุทธิ์และทรงสง่าราศี” ของพระยะโฮวา. (ยะซายา 63:15) กระนั้น พระบุตร “ทรงสละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาสและมาเป็นอย่างมนุษย์.” (ฟิลิปปอย 2:7, ล.ม.) คิดดูสิว่างานมอบหมายของพระองค์บนแผ่นดินโลกเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง! ชีวิตของพระองค์ได้รับการโยกย้ายไปสู่ครรภ์ของสาวพรหมจารีชาวยิว แล้วอยู่ในครรภ์ตลอดเก้าเดือนเพื่อจะพัฒนาขึ้นเป็นทารก. พระองค์ประสูติเป็นทารกที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในครอบครัวของช่างไม้ผู้ยากจนและต่อจากนั้นก็เจริญเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่หัดเดินเตาะแตะ, เป็นเด็กชายตัวน้อย ๆ, แล้วก็เป็นวัยรุ่น. ถึงแม้พระองค์เองเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ตลอดช่วงวัยเยาว์ พระองค์ก็ยังคงอยู่ใต้อำนาจบิดามารดาที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (ลูกา 2:40, 51, 52) ช่างเป็นความถ่อมพระทัยที่ไม่ธรรมดาเสียจริง ๆ!
11 เราสามารถเลียนแบบความถ่อมของพระเยซูโดยการเต็มใจยอมรับหน้าที่มอบหมายในการรับใช้ที่บางครั้งดูเหมือนว่าต่ำต้อยไหม? ตัวอย่างเช่น งานมอบหมายของเราในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอาจดูเหมือนเป็นงานต่ำต้อยเมื่อผู้คนตอบสนองด้วยความเฉยเมย, การเยาะเย้ย, หรือความเป็นปฏิปักษ์. (มัดธาย 28:19, 20) แต่ถ้าเราอดทนในงานนี้ เราอาจช่วยให้หลายคนรอดชีวิต. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราจะเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับความถ่อมใจ และเราจะดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นนายของเรา.
ความถ่อมของพระเยซูฐานะมนุษย์
12-14. (ก) พระเยซูทรงแสดงความถ่อมอย่างไรเมื่อผู้คนสรรเสริญพระองค์? (ข) พระเยซูปฏิบัติกับคนอื่นด้วยความถ่อมในทางใดบ้าง? (ค) อะไรแสดงว่าความถ่อมของพระเยซูมิใช่เป็นเพียงเรื่องของระเบียบแบบแผนหรือมารยาทที่ดี?
12 ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนถึงตอนจบ งานรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลกมีความถ่อมใจเป็นลักษณะเด่น. พระองค์แสดงความถ่อมโดยให้คำสรรเสริญและการยกย่องทั้งสิ้นมุ่งไปยังพระบิดา. บางครั้งผู้คนสรรเสริญพระเยซูเนื่องด้วยสติปัญญาในคำตรัสของพระองค์, อำนาจทำการอัศจรรย์ของพระองค์, กระทั่งคุณความดีแห่งบุคลิกลักษณะของพระองค์. ครั้งแล้วครั้งเล่า พระเยซูได้ยกการสรรเสริญที่พระองค์ได้รับนั้นให้แก่พระยะโฮวา.—มาระโก 10:17, 18; โยฮัน 7:15, 16.
13 พระเยซูได้แสดงความถ่อมในวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อผู้คน. ที่จริง พระองค์ทรงทำให้ชัดแจ้งว่าพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก มิใช่เพื่อได้รับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติคนอื่น. (มัดธาย 20:28) พระองค์ได้สำแดงความถ่อมในการปฏิสัมพันธ์ที่อ่อนโยน มีเหตุผลกับผู้คน. เมื่อเหล่าสาวกทำให้พระองค์ผิดหวัง พระองค์ไม่ได้ติเตียนพวกเขาอย่างรุนแรง; พระองค์พยายามต่อไปที่จะเข้าถึงหัวใจพวกเขา. (มัดธาย 26:39-41) เมื่อฝูงชนขัดจังหวะตอนที่พระองค์เสาะหาที่สงบเงียบเพื่อจะพักผ่อนในที่ลับตาคน พระองค์ก็มิได้ไล่พวกเขาไป; พระองค์ยังคงทุ่มเทตัวสั่งสอนพวกเขา “หลายข้อหลายประการ.” (มาระโก 6:30-34) เมื่อผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลได้อ้อนวอนพระองค์ให้รักษาลูกสาวของเธอ ทีแรกพระองค์บ่งชี้ว่าไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้น. อย่างไรก็ดี พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธอย่างเกรี้ยวกราด; พระองค์ทรงยอมทำตามคำขอของหญิงนั้นเนื่องด้วยความเชื่ออันแรงกล้าเป็นพิเศษของเธอ ดังที่เราจะพิจารณาในบท 14.—มัดธาย 15:22-28.
14 ในวิธีต่าง ๆ นับไม่ถ้วน พระเยซูทรงดำเนินชีวิตสมตามถ้อยคำที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่า “เรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.” (มัดธาย 11:29, ล.ม.) ความถ่อมของพระองค์ใช่ว่าเป็นแบบผิวเผิน เป็นเพียงเรื่องของระเบียบแบบแผนหรือมารยาทที่ดี แต่เป็นสิ่งที่มาจากหัวใจ จากตัวตนภายในของพระองค์. ฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการสอนเหล่าสาวกให้เป็นคนถ่อมใจ!
สอนเหล่าสาวกให้ถ่อมใจ
15, 16. พระเยซูทรงชี้ชัดถึงความแตกต่างอะไรระหว่างเจตคติของผู้ปกครองฝ่ายโลกกับเจตคติที่เหล่าสาวกของพระองค์ต้องปลูกฝัง?
15 เหล่าอัครสาวกของพระเยซูช้าในการปลูกฝังความถ่อมใจ. พระเยซูจำเป็นต้องพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อสอนพวกเขาเรื่องความถ่อมใจ. ตัวอย่างเช่น ในโอกาสหนึ่งยาโกโบและโยฮันได้ให้มารดาของตนทูลขอพระเยซูให้สัญญาว่าจะให้พวกเขามีตำแหน่งสูงในราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระเยซูตรัสตอบด้วยความเจียมตัวว่า “ซึ่งจะนั่งข้างขวาและข้างซ้ายของเรานั้นไม่ใช่พนักงานของเราที่จะจัดให้. แต่พระบิดาของเราได้ทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ใดก็จะให้แก่ผู้นั้น.” อัครสาวกอีกสิบคน “มีความขุ่นเคือง” ยาโกโบและโยฮัน. (มัดธาย 20:20-24) พระเยซูทรงจัดการกับปัญหานี้อย่างไร?
16 พระองค์ทรงว่ากล่าวพวกเขาทั้งหมดด้วยความกรุณาว่า “ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่าผู้ครอบครองของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชาเขา. และผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เอาอำนาจเข้าข่ม แต่ในพวกท่านหาเป็นอย่างนั้นไม่. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นเอกเป็นต้นก็ให้ผู้นั้นเป็นทาสของพวกท่าน.” (มัดธาย 20:25-27) พวกอัครสาวกคงได้เห็นแล้วว่า “ผู้ครอบครองของชาวต่างประเทศ” หยิ่งยโส, ทะเยอทะยาน, และเห็นแก่ตัวสักเพียงไร. พระเยซูแสดงให้เห็นว่าสาวกของพระองค์ต้องต่างจากบรรดาผู้กดขี่ที่กระหายอำนาจ. พวกเขาต้องเป็นคนถ่อมใจ. เหล่าอัครสาวกเข้าใจจุดสำคัญในเรื่องนี้ไหม?
17-19. (ก) ในคืนก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงสอนบทเรียนเรื่องความถ่อมใจโดยวิธีใดที่ยากจะลืมเลือน? (ข) อะไรคือบทเรียนที่มีพลังมากที่สุดในเรื่องความถ่อมใจที่พระเยซูได้สอนฐานะเป็นมนุษย์?
17 ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา. นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่พระเยซูได้สอนบทเรียนดังกล่าว. ก่อนหน้านั้น เมื่อพวกเขาโต้เถียงกันว่าใครเป็นใหญ่ที่สุดในพวกเขา พระองค์ทรงให้เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนอยู่ท่ามกลางพวกเขาแล้วรับสั่งพวกเขาให้ทำตัวเหมือนเด็กมากขึ้น เพราะเด็กมักจะไม่มีความหยิ่งทะนง, ความทะเยอทะยาน, และความกังวลเรื่องฐานะตำแหน่งอย่างที่เป็นเรื่องปกติธรรมดามากในท่ามกลางผู้ใหญ่. (มัดธาย 18:1-4) ถึงกระนั้น ในคืนก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงเห็นว่าพวกอัครสาวกยังคงต่อสู้กับความหยิ่ง. ครั้นแล้ว พระองค์ทรงสอนบทเรียนที่ยากจะลืมเลือนแก่พวกเขา. พระองค์ทรงเอาผ้าเช็ดตัวคาดเอวแล้วทำหน้าที่การงานต่ำที่สุด งานที่คนใช้ในสมัยโน้นทำให้แขกของครอบครัว. พระเยซูทรงล้างเท้าของอัครสาวกแต่ละคน รวมทั้งยูดาอิศการิโอดผู้ซึ่งกำลังจะทรยศพระองค์!—โยฮัน 13:1-11.
18 พระเยซูได้ช่วยพวกเขาให้เข้าใจจุดสำคัญเกี่ยวกับความถ่อมใจเมื่อตรัสแก่พวกเขาว่า “เราได้วางแบบอย่างให้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว.” (โยฮัน 13:15) ในที่สุดบทเรียนนี้ได้เข้าถึงหัวใจพวกเขาไหม? ที่จริง ต่อมาในคืนนั้น พวกเขาก็ยังโต้เถียงกันอีกในเรื่องที่ว่าใครใหญ่ที่สุดท่ามกลางพวกเขา! (ลูกา 22:24-27) กระนั้น พระเยซูยังคงอดทนกับพวกเขาต่อไปและสอนพวกเขาด้วยความถ่อม. ต่อจากนั้นพระองค์ทรงให้บทเรียนที่มีพลังมากที่สุดในบรรดาบทเรียนทั้งหมด: “พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา คือความมรณาบนหลักทรมาน.” (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.) พระเยซูเต็มพระทัยยอมรับความตายที่น่าอัปยศอดสู ถูกตราหน้าอย่างผิด ๆ ว่าเป็นอาชญากรและผู้หมิ่นประมาทพระเจ้า. โดยวิธีนี้พระบุตรของพระเจ้าได้พิสูจน์ว่าไม่มีใครเสมอเหมือน เพราะในบรรดาสรรพสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวา พระเยซูได้แสดงความถ่อมอย่างไม่ขาดตกบกพร่องและในระดับสูงสุด.
19 บางทีอาจเป็นบทเรียนนี้แหละ—บทเรียนสุดท้ายในเรื่องความถ่อมใจที่พระเยซูทรงสอนฐานะเป็นมนุษย์—ได้ทำให้เรื่องความถ่อมใจติดตรึงอยู่ในหัวใจของเหล่าอัครสาวกผู้ซื่อสัตย์อย่างที่ไม่มีวันลบเลือน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ผู้ชายเหล่านี้ทำงานด้วยความถ่อมใจเป็นเวลาหลายปี กระทั่งหลายสิบปีต่อมา. ส่วนพวกเราเป็นอย่างไร?
คุณจะดำเนินตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้ไหม?
20. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีหัวใจถ่อมหรือไม่?
20 เปาโลเตือนเราแต่ละคนว่า “จงรักษาเจตคติอย่างนี้ไว้ในตัวท่านซึ่งเจตคติอย่างนี้ก็มีอยู่ในพระคริสต์เยซูด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) เช่นเดียวกับพระเยซู เราต้องเป็นคนถ่อมใจ. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความถ่อมมีอยู่ในหัวใจของเราหรือไม่? ขอพิจารณาเรื่องนี้ เปาโลเตือนเราให้ระลึกว่า เราไม่ควร “ทำสิ่งใดเพราะชอบทุ่มเถียงหรือเพราะถือดี แต่ด้วยจิตใจอ่อนน้อมถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” (ฟิลิปปอย 2:3, ล.ม.) ดังนั้น คำตอบสำหรับคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรามองดูคนอื่นอย่างไรเมื่อเทียบกับตัวเราเอง. เราต้องมองว่าเขาดีกว่า สำคัญกว่าเรา. คุณจะเอาคำแนะนำนี้มาใช้ไหม?
21, 22. (ก) ทำไมคริสเตียนผู้ดูแลต้องเป็นคนถ่อมใจ? (ข) เราจะแสดงว่าเราคาดเอวไว้ด้วยความถ่อมใจโดยวิธีใด?
21 หลายปีภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู อัครสาวกเปโตรยังคงคิดถึงความสำคัญของความถ่อมใจ. เปโตรได้สอนคริสเตียนผู้ดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความถ่อมใจ ไม่ปฏิบัติเหมือนเจ้านายที่กดขี่ฝูงแกะของพระเจ้า. (1 เปโตร 5:2, 3) หน้าที่รับผิดชอบไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับความหยิ่ง. ตรงกันข้าม หน้าที่รับผิดชอบทำให้จำเป็นมากขึ้นที่จะมีความถ่อมใจแท้. (ลูกา 12:48) แน่นอน คุณลักษณะนี้สำคัญไม่เฉพาะแต่ผู้ดูแลเท่านั้น แต่สำหรับคริสเตียนทุกคน.
22 เปโตรคงไม่ลืมคืนนั้นที่พระเยซูทรงล้างเท้าให้ท่าน แม้ว่าเปโตรเองจะคัดค้าน! (โยฮัน 13:6-10) เปโตรได้เขียนถึงคริสเตียนว่า “ให้คนทั้งปวงคาดเอวไว้ด้วยความถ่อมใจ.” (1 เปโตร 5:5) คำว่า “คาดเอว” ชวนให้คิดถึงการกระทำของคนใช้ซึ่งจะคาดเอวด้วยผ้ากันเปื้อนเพื่อจะทำงานที่ต่ำต้อย. วลีนี้อาจจะทำให้เราระลึกถึงโอกาสที่พระเยซูทรงเอาผ้าเช็ดตัวคาดเอวพระองค์ก่อนจะคุกเข่าลงเพื่อล้างเท้าพวกสาวก. หากเราดำเนินตามพระเยซู เราจะถือว่างานใด ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าไม่คู่ควรกับศักดิ์ศรีของเราไหม? ความถ่อมในหัวใจของเราควรจะเป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่คนทั้งปวง ประหนึ่งว่าเราคาดเอวไว้ด้วยความถ่อมใจ.
23, 24. (ก) ทำไมเราควรต้านทานแนวโน้มใด ๆ ที่จะเป็นคนหยิ่งยโส? (ข) บทถัดไปจะช่วยแก้ความคิดที่ผิดเช่นไรในเรื่องความถ่อมใจ?
23 ความหยิ่งยโสเป็นเหมือนยาพิษ และอาจก่อผลเสียหายได้. ความหยิ่งอาจทำให้คนที่มีความสามารถมากที่สุดกลายเป็นคนไร้ค่าสำหรับพระเจ้าได้. ในอีกด้านหนึ่ง ความถ่อมใจอาจทำให้กระทั่งคนที่มีความสามารถน้อยที่สุดเป็นคนที่มีค่ามากสำหรับพระยะโฮวา. หากเราปลูกฝังคุณลักษณะอันล้ำค่านี้ทุกวันโดยพยายามดำเนินตามรอยพระบาทของพระคริสต์ด้วยความถ่อมใจ ก็มีบำเหน็จอันยอดเยี่ยมที่จะใคร่ครวญดู. เปโตรได้เขียนว่า “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงถ่อมใจลงใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า, เพื่อพระองค์จะได้ทรงยกท่านขึ้นในเวลาอันควร.” (1 เปโตร 5:6) แน่นอนว่าพระยะโฮวาทรงยกพระเยซูขึ้นเนื่องด้วยพระเยซูถ่อมพระองค์อย่างครบถ้วนจริง ๆ. พระเจ้าของเราจะทรงยินดีเช่นกันที่จะประทานบำเหน็จให้คุณเนื่องด้วยความถ่อมใจของคุณ.
24 น่าเสียดาย บางคนคิดว่าความถ่อมใจเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอ่อนแอ. ตัวอย่างของพระเยซูช่วยเราเห็นว่าความคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้องสักเพียงไร เพราะผู้ที่ถ่อมใจมากที่สุดในบรรดามนุษย์ก็เป็นคนที่กล้าหาญมากที่สุดด้วย. นี่จะเป็นเนื้อหาสาระของบทถัดไป.
a ในการพิจารณาเหตุการณ์นี้ แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า สัตว์เหล่านี้ “เป็นสัตว์ต่ำต้อย” และกล่าวเสริมว่า “พวกมันเชื่องช้า, ดื้อรั้น, มักเป็นสัตว์ใช้ของคนจน, และไม่สง่างาม.”
b สำหรับหลักฐานเพิ่มขึ้นที่ว่ามิคาเอลคือพระเยซู โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ? หน้า 218-219 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.