การปลูกฝังทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่
“ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย.”—มัดธาย 20:26.
1. โลกนี้มีทัศนะเช่นไรเรื่องความเป็นใหญ่?
ใกล้เมืองทีบส์ในอียิปต์โบราณ (ปัจจุบันคือเมืองคาร์นัก) ซึ่งอยู่ห่างจากนครไคโรไปทางใต้ประมาณ 500 กิโลเมตร มีรูปสลักฟาโรห์เอเมนโฮเทปที่ 3 สูง 18 เมตรตั้งอยู่. เมื่อเทียบขนาดกันแล้ว ผู้คนที่มองรูปสลักขนาดมหึมานั้นอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าตัวเองกระจ้อยร่อย. อนุสาวรีย์นี้ ซึ่งคงตั้งใจทำขึ้นเพื่อก่อความรู้สึกเกรงขามต่อผู้ปกครอง เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงทัศนะแบบโลกเรื่องความเป็นใหญ่ กล่าวคือ ทำให้ตัวเองดูยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเท่าที่เป็นไปได้ และทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกว่าตนไม่สลักสำคัญอะไร.
2. พระเยซูวางแบบอย่างอะไรแก่สาวกของพระองค์ และคำถามอะไรบ้างที่เราต้องถามตัวเอง?
2 ขอให้เทียบทัศนะแบบนี้ในเรื่องความเป็นใหญ่กับทัศนะแบบที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน. แม้ว่าพระเยซูทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์” ของพวกสาวก แต่พระองค์สอนพวกเขาว่าความเป็นใหญ่เกิดจากการรับใช้ผู้อื่น. ในวันสุดท้ายของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงแสดงให้เห็นถึงความหมายของสิ่งที่พระองค์สอนด้วยการล้างเท้าให้เหล่าสาวก. นั่นเป็นการรับใช้ที่แสดงถึงความถ่อมใจเสียจริง ๆ! (โยฮัน 13:4, 5, 14) คุณรับใช้คนอื่นหรือคนอื่นรับใช้คุณ—อย่างไหนที่ดึงดูดใจคุณมากกว่า? แบบอย่างของพระคริสต์ทำให้คุณเกิดความปรารถนาที่จะถ่อมใจเหมือนพระองค์ไหม? ดังนั้น ให้เรามาพิจารณาทัศนะของพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่ เทียบกับทัศนะที่มีอยู่ทั่วไปในโลก.
หลีกเลี่ยงทัศนะแบบโลกเรื่องการเป็นใหญ่
3. ตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลแสดงถึงผลอันน่าเศร้าของคนที่ปรารถนาเกียรติยศจากมนุษย์?
3 มีตัวอย่างมากมายในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าทัศนะแบบโลกเรื่องความเป็นใหญ่นำไปสู่ความหายนะ. ขอให้คิดถึงฮามานผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งเป็นคนสำคัญในราชสำนักเปอร์เซียในสมัยพระนางเอศเธระกับมาระดะคาย. ความปรารถนาเกียรติยศของฮามานนำเขาไปสู่ความอัปยศและความตาย. (เอศเธระ 3:5; 6:10-12; 7:9, 10) แล้วนะบูคัดเนซัรผู้หยิ่งยโสที่วิกลจริตไปขณะเรืองอำนาจสูงสุดล่ะ? ทัศนะที่บิดเบือนของเขาเรื่องความเป็นใหญ่เห็นได้จากถ้อยคำต่อไปนี้: “กรุงบาบูโลนใหญ่ไพศาลนี้มิใช่หรือที่เราได้สร้างไว้ให้เป็นราชฐานด้วยอานุภาพอันใหญ่หลวงของเรา, ไว้เป็นที่ผดุงสง่าราศีแห่งรัชของเรา?” (ดานิเอล 4:30) แล้วก็มีเฮโรดอะกริปปาที่ 1 ผู้เย่อหยิ่งซึ่งรับเอาเกียรติที่ตนไม่สมควรจะได้รับ แทนที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า. ท่านจึงถูก ‘ตัวหนอนกินร่างกายจนถึงแก่พิราลัย.’ (กิจการ 12:21-23) การไม่เข้าใจทัศนะของพระยะโฮวาเรื่องความเป็นใหญ่นำคนเหล่านี้ไปสู่ความหายนะอย่างน่าอัปยศ.
4. ใครอยู่เบื้องหลังน้ำใจทะนงตัวในโลกนี้?
4 การที่เราอยากใช้ชีวิตในทางที่ผู้อื่นจะให้เกียรติและนับถือเรานั้นนับว่าเหมาะสม. กระนั้น พญามารใช้ประโยชน์จากความปรารถนานี้โดยการส่งเสริมน้ำใจทะนงตัว ซึ่งสะท้อนถึงความมักใหญ่ใฝ่สูงของมันเอง. (มัดธาย 4:8, 9) อย่าลืมว่ามันเป็น “พระเจ้าของระบบนี้” และมันมุ่งมั่นในการส่งเสริมทัศนะของมันบนแผ่นดินโลกนี้. (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.; เอเฟโซ 2:2; วิวรณ์ 12:9) เนื่องจากรู้ว่าทัศนะเช่นนั้นมีต้นตอมาจากไหน คริสเตียนจึงหลีกเลี่ยงทัศนะแบบโลกเรื่องความเป็นใหญ่.
5. การประสบความสำเร็จ, การเป็นที่รู้จัก, และความมั่งคั่ง เป็นหลักประกันไหมว่าจะมีความอิ่มใจพอใจที่ยั่งยืน? จงอธิบาย.
5 แนวคิดอย่างหนึ่งที่พญามารส่งเสริมคือ การมีชื่อเสียงในโลก, การได้รับเกียรติยศจากมนุษย์, และความร่ำรวยจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างแน่นอน. เป็นจริงอย่างนั้นไหม? การประสบความสำเร็จ, การเป็นที่รู้จัก, และความมั่งคั่ง เป็นหลักประกันว่าจะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความอิ่มใจพอใจหรือ? คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราไม่ให้ถูกหลอกด้วยความคิดเช่นนั้น. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดเขียนว่า “ข้าฯ ได้เห็นบรรดางานตรากตรำและบรรดาการงานที่ทำสำเร็จสมประสงค์, ว่าเป็นเหตุก่อให้เพื่อนบ้านมีใจอิจฉาริษยาแก่กันและกัน. นี่ก็อีกด้วยเป็นอนิจจังเหมือนวิ่งไล่ตามลมไป.” (ท่านผู้ประกาศ 4:4) หลายคนที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จในโลกเป็นพยานได้ถึงความเป็นจริงของคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้. ตัวอย่างหนึ่งคือชายคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยออกแบบ, สร้าง, และทดสอบยานอวกาศที่พามนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์. เขาเผยว่า “ผมตรากตรำทำงานและสำเร็จสมประสงค์ตามที่ทำ. กระนั้น เปล่าประโยชน์หรือไร้ค่าในแง่การได้ความสุขและความสงบอันถาวร.”a ทัศนะแบบโลกเรื่องความเป็นใหญ่ ไม่ว่าในแวดวงธุรกิจ, กีฬา, หรือความบันเทิง ไม่รับประกันเลยว่าจะมีความอิ่มใจพอใจที่ยั่งยืน.
ความเป็นใหญ่เกิดจากการรับใช้ด้วยแรงกระตุ้นจากความรัก
6. อะไรแสดงว่ายาโกโบกับโยฮันมีทัศนะที่ไม่ถูกต้องเรื่องความเป็นใหญ่?
6 เหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของพระเยซูเผยให้ทราบว่าความเป็นใหญ่ที่แท้จริงเกี่ยวข้องกับอะไร. พระเยซูและเหล่าสาวกกำลังเดินทางไปร่วมฉลองปัศคาที่กรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 33. ระหว่างทาง ยาโกโบกับโยฮัน ลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู เผยให้เห็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องเรื่องความเป็นใหญ่. โดยขอผ่านทางมารดา ทั้งสองทูลพระเยซูดังนี้: ‘ขอพระองค์โปรดกำหนดตั้งข้าพเจ้าสองคนนั่งในแผ่นดินของพระองค์ เบื้องขวาพระหัตถ์คนหนึ่ง เบื้องซ้ายคนหนึ่ง.’ (มัดธาย 20:21) ในหมู่ชาวยิว การนั่งเบื้องขวาหรือเบื้องซ้ายถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง. (1 กษัตริย์ 2:19) ด้วยความอยากเป็นใหญ่ ยาโกโบกับโยฮันพยายามชิงเอาตำแหน่งที่มีหน้ามีตาที่สุดนี้ไว้ก่อน. ทั้งสองอยากจองเอาตำแหน่งที่มีอำนาจนั้นไว้เป็นของตน. พระเยซูทราบสิ่งที่อยู่ในใจพวกเขา และใช้โอกาสนี้แก้ไขทัศนะผิด ๆ ของพวกเขาเรื่องความเป็นใหญ่.
7. พระเยซูบอกถึงวิธีที่จะได้เป็นใหญ่อย่างแท้จริงในหมู่คริสเตียนไว้อย่างไร?
7 พระเยซูทราบว่าในโลกที่มีน้ำใจหยิ่งทะนงนี้ คนที่นับว่าเป็นใหญ่คือคนที่ควบคุมและสั่งการคนอื่น และสนองความต้องการทุกอย่างของตนได้โดยเพียงแค่ดีดนิ้ว. แต่ในท่ามกลางเหล่าสาวกของพระเยซู งานรับใช้ด้วยความถ่อมใจเป็นเกณฑ์ใช้วัดความเป็นใหญ่. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นเอกเป็นต้นก็ให้ผู้นั้นเป็นทาสของพวกท่าน.”—มัดธาย 20:26, 27.
8. การเป็นผู้รับใช้หมายถึงอะไร และเราอาจถามตัวเองเช่นไร?
8 คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ผู้ปรนนิบัติ” หรือ “ผู้รับใช้” ในคัมภีร์ไบเบิลนั้น หมายถึงผู้ที่พยายามอย่างขยันขันแข็งไม่ละลดที่จะรับใช้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น. พระเยซูกำลังสอนบทเรียนสำคัญแก่สาวกของพระองค์ที่ว่า การสั่งคนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้คนเราเป็นใหญ่ แต่การรับใช้คนอื่นด้วยแรงกระตุ้นจากความรักต่างหากที่ทำให้คนเราเป็นใหญ่. ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรถ้าเป็นยาโกโบหรือโยฮัน? ฉันจะเข้าใจไหมว่าความเป็นใหญ่ที่แท้จริงเกิดจากการรับใช้ที่มีความรักเป็นแรงกระตุ้น?’—1 โกรินโธ 13:3.
9. พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรในการปฏิบัติต่อผู้อื่น?
9 พระเยซูแสดงให้เหล่าสาวกเห็นว่า มาตรฐานที่ใช้วัดความเป็นใหญ่ตามแบบโลกไม่ได้เป็นมาตรฐานวัดความเป็นใหญ่ตามแบบพระคริสต์. พระองค์ไม่เคยทำตัวเหนือกว่าคนที่พระองค์รับใช้ หรือทำให้พวกเขารู้สึกด้อยกว่า. คนทุกชนิด ไม่ว่าผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็ก, คนรวย, คนจน, คนมีอิทธิพล, รวมทั้งคนบาปที่ฉาวโฉ่ ต่างรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์. (มาระโก 10:13-16; ลูกา 7:37-50) บ่อยครั้งผู้คนหมดความอดทนกับคนที่มีขีดจำกัด. พระเยซูไม่เป็นอย่างนั้น. แม้ว่าบางครั้งสาวกของพระองค์ขาดการไตร่ตรองและชอบโต้เถียงกัน พระองค์ทรงสอนพวกเขาอย่างอดทน แสดงให้พวกเขาเห็นว่าพระองค์ทรงมีจิตใจอ่อนโยนและใจถ่อมอย่างแท้จริง.—ซะคาระยา 9:9; มัดธาย 11:29, ล.ม.; ลูกา 22:24-27.
10. แนวทางชีวิตทั้งสิ้นของพระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรถึงการรับใช้ที่ไม่เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น?
10 แบบอย่างในเรื่องการเสียสละอย่างไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งพระบุตรองค์สำคัญที่สุดผู้นี้ของพระเจ้าได้วางไว้ แสดงให้เห็นว่าความเป็นใหญ่หมายถึงอะไรจริง ๆ. พระเยซูไม่ได้มายังแผ่นดินโลกเพื่อจะรับการปรนนิบัติ แต่เพื่อจะรับใช้ผู้อื่น, รักษา “โรคต่าง ๆ” ให้หาย, และช่วยผู้คนให้หลุดพ้นจากอำนาจของผีปิศาจ. แม้พระองค์จะทรงเหนื่อยล้าและต้องการเวลาพักผ่อน แต่ก็ทรงจัดเอาความจำเป็นของผู้อื่นมาก่อนของพระองค์เองเสมอ และทุ่มเทตัวเพื่อชูใจคนเหล่านั้น. (มาระโก 1:32-34; 6:30-34; โยฮัน 11:11, 17, 33) ความรักกระตุ้นพระองค์ให้ช่วยผู้คนทางฝ่ายวิญญาณ เดินทางหลายร้อยกิโลเมตรบนถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (มาระโก 1:38, 39) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระเยซูถือเอาการรับใช้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง.
จงเลียนแบบความถ่อมใจของพระคริสต์
11. พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลในประชาคมต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้าง?
11 ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการเลือกชายบางคนเป็นตัวแทนเดินทางในการรับใช้เพื่อสนองความจำเป็นของประชาชนของพระเจ้า มีการเน้นเจตคติที่เหมาะสมซึ่งคริสเตียนผู้ดูแลควรปลูกฝัง. ตามที่กล่าวในหอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ฉบับ 1 กันยายน 1894 (ภาษาอังกฤษ) ที่มองหาก็คือชายที่ “ถ่อมตัว คือไม่ทะนงตน . . . มีใจถ่อม ผู้ไม่พยายามกล่าวยกย่องตัวเอง แต่ประกาศเรื่องพระคริสต์ กล่าวคือ ไม่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของเขาเอง แต่ประกาศคำสอนของพระองค์ ด้วยวิธีอันเรียบง่ายและมีพลัง.” เห็นได้ชัดว่า คริสเตียนแท้ไม่ควรแสวงหาหน้าที่รับผิดชอบเพื่อสนองความทะเยอทะยานของตน หรือเพื่อจะได้ความเด่นดัง, อำนาจ, และการควบคุมผู้อื่น. ผู้ดูแลที่ถ่อมใจระลึกเสมอว่า หน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ของเขาประกอบกันเป็น “การงานที่ดี” หาใช่ตำแหน่งสูงที่นำเกียรติมาสู่ตัวเอง. (1 ติโมเธียว 3:1, 2, ล.ม.) ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ทุกคนควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะรับใช้คนอื่นด้วยความถ่อมใจและนำหน้าในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ วางแบบอย่างอันคู่ควรแก่การเลียนแบบ.—1 โกรินโธ 9:19; ฆะลาเตีย 5:13; 2 ติโมเธียว 4:5.
12. คำถามอะไรบ้างที่คนเหล่านั้นซึ่งพยายามจะได้รับสิทธิพิเศษในประชาคมอาจต้องถามตัวเอง?
12 พี่น้องชายคนใดก็ตามที่พยายามจะได้รับสิทธิพิเศษในงานรับใช้อาจต้องถามตัวเองดังนี้: ‘ฉันมองหาโอกาสที่จะรับใช้คนอื่นไหม หรือฉันมีแนวโน้มอยากให้คนอื่นรับใช้? ฉันเต็มใจทำงานที่เป็นประโยชน์ที่คนอื่นไม่ค่อยสังเกตเห็นไหม?’ ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มคนหนึ่งอาจเต็มใจจะบรรยายในประชาคมคริสเตียน แต่อาจไม่เต็มใจให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ. เขาอาจชอบคบหากับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม แต่อาจไม่เต็มใจเข้าร่วมงานประกาศ. ชายหนุ่มคนนั้นควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมุ่งความสนใจอันดับแรกไปยังงานรับใช้พระเจ้าประเภทที่จะทำให้ตัวเองได้รับการยอมรับและยกย่องไหม? ฉันพยายามจะโดดเด่นกว่าคนอื่นไหม?’ การแสวงหาเกียรติสำหรับตนเองไม่ได้เป็นการเลียนแบบพระคริสต์อย่างแน่นอน.—โยฮัน 5:41.
13. (ก) ตัวอย่างในด้านความถ่อมใจของผู้ดูแลคนหนึ่งก่อผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร? (ข) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าจิตใจอ่อนน้อมหรือความถ่อมใจไม่ได้เป็นคุณลักษณะที่คริสเตียนจะมีหรือไม่มีก็ได้?
13 เมื่อเราพยายามเลียนแบบความถ่อมใจของพระคริสต์ เราจะอยากรับใช้คนอื่น. ขอให้พิจารณาตัวอย่างของผู้ดูแลโซนคนหนึ่งขณะกำลังตรวจดูการดำเนินงานของสำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา. แม้จะมีงานเต็มมือและมีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ ผู้ดูแลคนนี้หยุดช่วยพี่น้องหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังพยายามปรับตั้งเครื่องเย็บเล่ม. พี่น้องคนนั้นเล่าให้ฟังว่า “ผมไม่อยากจะเชื่อเลย! เขาบอกผมว่า เขาก็เคยคุมเครื่องจักรอย่างเดียวกันนี้ที่เบเธลตอนที่เป็นหนุ่ม และจำได้ว่ามันยากแค่ไหนที่จะปรับตั้งเครื่องนี้ให้ได้อย่างที่ต้องการ. เขาใช้เวลาไม่น้อยปรับตั้งเครื่องนั้นด้วยกันกับผม ทั้ง ๆ ที่เขามีงานมากมายที่สำคัญกว่าที่จะต้องทำ. นั่นประทับใจผมมาก.” พี่น้องชายคนนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นผู้ดูแลคนหนึ่ง ณ สำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา ยังจำได้ดีถึงการกระทำที่แสดงถึงความถ่อมใจครั้งนั้น. ขอเราอย่ารู้สึกว่าเราสูงส่งหรือสำคัญเกินกว่าที่จะทำงานต่ำต้อย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรคาดเอวด้วย “จิตใจอ่อนน้อม.” นี่ไม่ใช่คุณลักษณะที่จะมีหรือไม่มีก็ได้. “จิตใจอ่อนน้อม” เป็นส่วนหนึ่งของ “บุคลิกภาพใหม่” ที่คริสเตียนต้องสวมใส่.—ฟิลิปปอย 2:3, ล.ม.; โกโลซาย 3:10, 12, ล.ม.; โรม 12:16.
วิธีที่จะมีทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่
14. การคิดใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ช่วยเราปลูกฝังทัศนะที่ถูกต้องเรื่องความเป็นใหญ่ได้อย่างไร?
14 เราจะมีทัศนะที่ถูกต้องเรื่องความเป็นใหญ่ได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือโดยคิดใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า. ความยิ่งใหญ่สง่างาม, เดชานุภาพ, และพระปัญญาของพระองค์ ยกพระองค์ให้สูงยิ่งเหนือกว่ามนุษย์ผู้กระจ้อยร่อยในทุกด้าน. (ยะซายา 40:22) การไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์ช่วยเราให้ปลูกฝังจิตใจอ่อนน้อมเช่นกัน. ตัวอย่างเช่น เราอาจเหนือกว่าคนอื่นในบางด้าน แต่พวกเขาก็อาจเหนือกว่าเราในด้านอื่น ๆ ของชีวิตที่สำคัญกว่ามากนัก หรือพี่น้องคริสเตียนของเราอาจมีคุณลักษณะบางอย่างที่เราเองไม่มี. อันที่จริง หลายคนที่มีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้านั้นดูไม่ค่อยโดดเด่นในสายตาคนทั่วไปเนื่องจากลักษณะของพวกเขาที่อ่อนน้อมถ่อมใจ.—สุภาษิต 3:34; ยาโกโบ 4:6.
15. ความซื่อสัตย์มั่นคงของประชาชนของพระเจ้าแสดงให้เห็นอย่างไรว่า ไม่มีใครมีเหตุที่จะรู้สึกว่าตนเหนือกว่าคนอื่น?
15 ประสบการณ์ต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาที่เผชิญความยากลำบากเพราะความเชื่อของพวกเขานั้นแสดงให้เห็นความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี. ครั้งแล้วครั้งเล่า ปรากฏว่าคนที่โลกถือว่าเป็นคนธรรมดา ๆ นี่แหละที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าเมื่อเผชิญการทดลองที่แสนสาหัส. การไตร่ตรองตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยเรารักษาความถ่อมใจ และสอนเราไม่ให้ “คิดถือตัวเกินที่ตนควรจะคิดนั้น.”—โรม 12:3.b
16. ทุกคนในประชาคมจะปลูกฝังทัศนะเรื่องความเป็นใหญ่ตามแบบที่พระเยซูวางไว้ได้อย่างไร?
16 คริสเตียนทุกคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ควรพยายามปลูกฝังทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่. มีงานที่จะต้องทำหลายอย่างในประชาคม. อย่ารู้สึกไม่พอใจเมื่อถูกขอให้ทำงานที่ดูเหมือนต่ำต้อย. (1 ซามูเอล 25:41; 2 กษัตริย์ 3:11) บิดามารดาทั้งหลาย คุณสนับสนุนลูกเล็ก ๆ และลูกวัยรุ่นของคุณให้ยินดีทำงานใด ๆ ที่พวกเขาได้รับมอบหมายไหม ไม่ว่าที่หอประชุมหรือ ณ สถานที่การประชุมใหญ่? ลูก ๆ เห็นคุณทำงานที่ดูต่ำต้อยไหม? พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันรับใช้ที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวายังจำแบบอย่างของพ่อแม่เขาได้ดี. เขากล่าวว่า “วิธีที่ท่านมองหรือเอาใจใส่งานทำความสะอาดที่หอประชุมหรือสถานที่การประชุมใหญ่บอกให้ผมรู้ว่าท่านถือว่างานนี้สำคัญ. ท่านมักอาสาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมหรือพี่น้อง ไม่ว่างานนั้นจะดูต่ำต้อยสักแค่ไหน. ทัศนะเช่นนี้ช่วยให้ผมเต็มใจรับเอางานมอบหมายใด ๆ ก็ตามในเบเธลนี้.”
17. สตรีที่ถ่อมใจจะเป็นพระพรแก่ประชาคมในทางใดบ้าง?
17 เอศเธระ ผู้ได้เป็นราชินีแห่งจักรวรรดิเปอร์เซียในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในเรื่องการจัดเอาผลประโยชน์ของผู้อื่นมาก่อนของตน. แม้ใช้ชีวิตในพระราชวัง พระนางเต็มพระทัยเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยประชาชนของพระเจ้า อันเป็นการกระทำที่ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. (เอศเธระ 1:5, 6; 4:14-16) ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นไร สตรีคริสเตียนในทุกวันนี้สามารถแสดงน้ำใจเช่นเดียวกันกับเอศเธระโดยการหนุนใจผู้ที่หดหู่ใจ, เยี่ยมผู้ป่วย, เข้าร่วมในงานประกาศ, และร่วมมือกับผู้ปกครอง. พี่น้องหญิงที่ถ่อมใจเช่นนั้นช่างเป็นพระพรจริง ๆ แก่ประชาคม!
พระพรที่เกิดจากการสำแดงทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่
18. มีประโยชน์อะไรบ้างจากการสำแดงทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่?
18 คุณจะได้ประโยชน์หลายประการเมื่อรักษาทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่. การรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวก่อให้เกิดความยินดีทั้งคนที่คุณรับใช้และตัวคุณ. (กิจการ 20:35) เมื่อคุณกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานหนักเพื่อพี่น้อง คุณก็จะเป็นที่รักของพวกเขามากยิ่งขึ้น. (กิจการ 20:37) ที่สำคัญกว่านั้น พระยะโฮวาทรงถือว่าสิ่งที่คุณทำเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของเพื่อนคริสเตียนเป็นดุจเครื่องบูชาที่พระองค์พอพระทัยและนำคำสรรเสริญมาสู่พระองค์.—ฟิลิปปอย 2:17.
19. อะไรควรเป็นความตั้งใจของเราเกี่ยวกับทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่?
19 เราแต่ละคนจำต้องตรวจสอบหัวใจของตน แล้วถามตัวเองว่า ‘ฉันได้แต่พูดเรื่องการปลูกฝังทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่ไหม หรือว่าฉันจะพยายามทำอย่างที่ฉันพูด?’ ความรู้สึกที่พระยะโฮวามีต่อผู้ที่หยิ่งทะนงนั้นชัดแจ้ง. (สุภาษิต 16:5; 1 เปโตร 5:5) ขอให้การกระทำทั้งสิ้นของเราแสดงว่าเรามีความยินดีจากการสำแดงทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่ ไม่ว่าในประชาคมคริสเตียน, ในชีวิตครอบครัวของเรา, หรือในการติดต่อเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์แต่ละวัน—ทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายพระเกียรติพระเจ้าและนำคำสรรเสริญมาสู่พระองค์.—1 โกรินโธ 10:31.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1982 หน้า 3-7 เรื่อง “การแสวงหาความสำเร็จ.”
b เพื่อเป็นตัวอย่าง ดูหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1992 หน้า 181-182 และหอสังเกตการณ์ 1 กันยายน 1993 หน้า 27-31.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ทำไมเราควรหลีกเลี่ยงทัศนะแบบโลก เรื่องการเป็นใหญ่?
• พระเยซูวัดความเป็นใหญ่อย่างไร?
• บรรดาผู้ดูแลจะเลียนแบบความถ่อมพระทัยของพระคริสต์ได้อย่างไร?
• อะไรจะช่วยเราปลูกฝังความเป็นใหญ่ เยี่ยงพระคริสต์?
[กรอบหน้า 17]
ใครมีทัศนะเยี่ยงพระคริสต์เรื่องความเป็นใหญ่?
คนที่อยากให้คนอื่นรับใช้ หรือคนที่เต็มใจรับใช้คนอื่น?
คนที่อยากเป็นจุดสนใจ หรือคนที่รับเอางานที่ต่ำต้อย?
คนที่ยกย่องตัวเอง หรือคนที่ยกย่องคนอื่น?
[ภาพหน้า 14]
รูปสลักฟาโรห์เอเมนโฮเทปที่ 3 ขนาดมหึมา
[ภาพหน้า 15]
คุณรู้ไหมว่าอะไรทำให้ฮามานพบกับความหายนะ?
[ภาพหน้า 16]
คุณมองหาโอกาสที่จะรับใช้คนอื่นไหม?