พระยะโฮวา—พระบิดาของเราผู้ทรงมีความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน
“พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา.”—ยาโกโบ 5:11, ล.ม.
1. ทำไมคนต่ำต้อยจึงถูกโน้มนำให้เข้าหาพระเจ้ายะโฮวา?
เอกภพกว้างใหญ่ไพศาลจนนักดาราศาสตร์ไม่สามารถนับจำนวนกาแล็กซีทั้งหมดในเอกภพได้. กาแล็กซีของเรา คือทางช้างเผือก มีดวงดาวมากมหาศาลซึ่งมนุษย์ไม่อาจนับดาวได้ทุกดวงในกาแล็กซีนี้. ดาวบางดวง เช่น ดาวแอนแทเรส ใหญ่กว่าและสุกสว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเราหลายพันเท่า. พระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งที่ทรงสร้างดวงดาวทั้งมวลในเอกภพต้องเป็นผู้มีฤทธิ์อำนาจสักเพียงใด! ตามจริงแล้ว พระองค์เป็น “ผู้ทรงนำดาวออกมาเป็นหมวดหมู่, และทรงเรียกมันออกมาตามชื่อ.” (ยะซายา 40:26) ถึงกระนั้น พระเจ้าที่น่าครั่นคร้ามองค์เดียวกันนี้ทรง “เปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา” ด้วย. การรู้เช่นนั้นยังความสดชื่นมากเพียงไรแก่ผู้รับใช้ที่ต่ำต้อยของพระยะโฮวา โดยเฉพาะแก่ผู้ที่ทนทุกข์เพราะการกดขี่, ความเจ็บป่วย, ความท้อแท้, หรือความทุกข์ยากลำบากอื่น ๆ!
2. ประชาชนทั่ว ๆ ไปมักจะมองคนที่มีจิตใจอ่อนละมุนด้วยทัศนะเช่นไร?
2 หลายคนถือว่าความรู้สึกอ่อนโยน เช่น “การเอ็นดูและสงสาร” ของพระคริสต์ เป็นความอ่อนแอ. (ฟิลิปปอย 2:1) เพราะถูกครอบงำด้วยปรัชญาทางวิวัฒนาการ พวกเขาจึงสนับสนุนผู้คนให้นึกถึงตัวเองก่อน ถึงแม้ว่าการเช่นนั้นทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจก็ตาม. บุคคลที่ผู้คนมักเลียนแบบจำนวนไม่น้อยในวงการบันเทิง และกีฬามักเป็นชายรูปร่างแข็งแรงล่ำสัน ผู้ซึ่งไม่ยอมเสียน้ำตาหรือแสดงความรักใคร่อันอ่อนละมุน. นักปกครองทางการเมืองบางคนก็เช่นเดียวกัน. เซเนกา นักปรัชญาสโตอิก ผู้ให้การศึกษาแก่จักรพรรดิเนโรผู้เหี้ยมโหด ได้เน้นว่า “ความสงสารคือความอ่อนแอ.” สารานุกรม ของแม็กคลินท็อกและสตรองก์ (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงดังนี้: “อิทธิพลจากลัทธิสโตอิกยังคงมีบทบาทตลอดมาในความคิดของผู้คน กระทั่งสมัยปัจจุบัน.”
3. พระยะโฮวาได้ทรงพรรณนาลักษณะของพระองค์แก่โมเซอย่างไร?
3 ในทางกลับกัน พระผู้สร้างมนุษยชาติทรงมีบุคลิกที่ให้ความอบอุ่นใจ. พระองค์ทรงพรรณนาลักษณะของพระองค์เองแก่โมเซด้วยถ้อยคำดังนี้: “พระยะโฮวา ๆ พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน, และบริบูรณ์ไปด้วยความดีและความจริง . . . ผู้ทรงโปรดยกความชั่วการล่วงละเมิดและบาปของเขา แต่ไม่ทรงเมตตาผู้เจตนาประพฤติชั่ว.” (เอ็กโซโด 34:6, 7) จริงอยู่ พระยะโฮวาจบคำพรรณนาถึงพระองค์เองโดยเน้นความยุติธรรมของพระองค์. พระองค์จะไม่ทรงยกเว้นการลงโทษคนทำบาปโดยเจตนาอย่างสาสม. กระนั้น พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองประการแรกว่าเป็นพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา ตามตัวอักษรคือ “เปี่ยมด้วยความเมตตา.”
4. อะไรคือความหมายที่ทำให้อบอุ่นใจของคำฮีบรูซึ่งมักจะได้รับการแปลเป็น “ความเมตตา”?
4 บางครั้งมีการคิดถึงคำ “เมตตา” แต่เพียงในแง่ของการตัดสินความที่เย็นชาซึ่งให้ยับยั้งการลงโทษ. อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบคัมภีร์ฉบับแปลต่าง ๆ ทำให้พบความหมายที่สมบูรณ์เกี่ยวกับคำคุณศัพท์ภาษาฮีบรู ซึ่งมาจากคำกริยาราชัมʹ. ตามการชี้แจงของผู้คงแก่เรียนบางคน รากศัพท์เดิมหมายถึง “อ่อนละมุน.” หนังสือคำที่มีความหมายเหมือนกันในคัมภีร์เดิม (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ราชัม แสดงถึงความรู้สึกเมตตาสงสารอันลึกซึ้งและอ่อนละมุน เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อพบเห็นคนที่เรารักหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ในสภาพกะปลกกะเปลี้ยหรือทนทุกข์.” อาจพบคำจำกัดความอื่น ๆ ซึ่งยังความอบอุ่นใจเกี่ยวกับคุณลักษณะที่น่าปรารถนาเช่นนี้ได้จากหนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 375-379.
5. ความเมตตาปรากฏชัดอย่างไรในกฎหมายของโมเซ?
5 ความเมตตาอันอ่อนละมุนของพระเจ้าปรากฏชัดในพระบัญญัติที่ประทานแก่ชาติยิศราเอล. คนด้อยโอกาส เช่น หญิงม่าย, ลูกกำพร้า, และคนยากจน ควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเมตตาสงสาร. (เอ็กโซโด 22:22-27; เลวีติโก 19:9, 10; พระบัญญัติ 15:7-11) ทั้งพวกทาสและสัตว์ควรได้รับประโยชน์จากซะบาโตวันหยุดพักประจำสัปดาห์. (เอ็กโซโด 20:10) ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าทรงสังเกตดูผู้ที่ปฏิบัติอย่างอ่อนละมุนต่อคนอนาถา. สุภาษิต 19:17 ว่าดังนี้: “คนที่เอ็นดูเผื่อแผ่แก่คนยากจนเปรียบเหมือนได้ให้พระยะโฮวาทรงยืมไป; และพระองค์จะทรงตอบแทนคุณความดีของเขา.”
ความเมตตารักใคร่ของพระเจ้ามีขีดจำกัด
6. เหตุใดพระยะโฮวาจึงได้ส่งผู้พยากรณ์และผู้นำข่าวสารไปหาไพร่พลของพระองค์?
6 ชาวยิศราเอลมีพระนามพระเจ้าติดตัวอยู่และได้นมัสการที่พระวิหารในกรุงยะรูซาเลม ซึ่งเป็น “โบสถ์วิหารแก่พระนามพระยะโฮวา.” (2 โครนิกา 2:4; 6:33) อย่างไรก็ดี ต่อมา ชนชาตินี้ก็ได้ยอมให้มีการประพฤติผิดศีลธรรม, การไหว้รูปเคารพ, และการฆ่าคน ซึ่งเป็นเหตุให้พระนามของพระยะโฮวาถูกลบหลู่ดูหมิ่น. ประสานกับบุคลิกของพระองค์อันเปี่ยมด้วยความเมตตารักใคร่ พระเจ้าทรงพยายามแก้ไขสภาพเลวร้ายด้วยความอดกลั้นพระทัยไว้ โดยไม่ทำให้ชนทั้งชาติประสบกับความหายนะ. พระองค์ “ทรงคำเตือนต่อต้านเขาเรื่อยมาโดยทางทูตของพระองค์ ส่งครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะพระองค์ทรงรู้สึกสงสารต่อไพร่พลของพระองค์และต่อที่สถิตของพระองค์. แต่เขาทั้งหลายเยาะเย้ยทูตของพระเจ้าเที่ยงแท้อยู่เนือง ๆ และหมิ่นคำโอวาทของพระองค์และล้อเลียนผู้พยากรณ์ของพระองค์ จนกระทั่งพระพิโรธของพระยะโฮวาพลุ่งขึ้นต่อไพร่พลของพระองค์ จนกระทั่งไม่มีทางรักษา.”—2 โครนิกา 36:15, 16, ล.ม.
7. เมื่อความเมตตารักใคร่ของพระยะโฮวาถึงขีดสุด เกิดอะไรขึ้นกับอาณาจักรยูดา?
7 แม้ว่าพระยะโฮวาทรงมีพระทัยเมตตารักใคร่และพิโรธช้า แต่ถึงคราวจำเป็นพระองค์ก็ทรงสำแดงความพิโรธอันชอบธรรม. ย้อนไปสมัยโน้น พระเมตตาของพระเจ้าก็ถึงขีดสุด. เราอ่านเกี่ยวกับผลที่ตามมาดังนี้: “พระองค์ [พระยะโฮวา] จึงทรงบันดาลให้กษัตริย์แผ่นดินเคเซ็ธยกมาต่อสู้พวกเขาใช้ดาบฆ่าชายหนุ่ม ๆ เสียในโบสถ์วิหารบริสุทธิ์ของเขา, โดยปราศจากเมตตากรุณาไม่เลือกหน้าว่าชายหนุ่ม, หรือหญิงสาว คนแก่หรือชรามีผมหงอก. พระเจ้าทรงมอบไว้ในพระหัตถ์กษัตริย์นั้นทั้งสิ้น.” (2 โครนิกา 36:17) ดังนั้น ยะรูซาเลมและพระวิหารในกรุงนั้นจึงถูกทำลาย และพลเมืองของชาติถูกต้อนไปเป็นเชลยในบาบูโลน.
ความเมตตารักใคร่ต่อพระนามของพระองค์
8, 9. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาจึงทรงแถลงว่าพระองค์ทรงพระกรุณาแก่พระนามของพระองค์? (ข) โดยวิธีใดบรรดาศัตรูของพระยะโฮวาถูกทำให้เงียบเสียง?
8 ประเทศที่อยู่ล้อมรอบต่างก็ยินดีปรีดาเนื่องด้วยความหายนะครั้งนั้น. พวกเขาพูดอย่างเย้ยหยันว่า “พวก (ยิศราเอล) เป็นพลไพร่ของพระยะโฮวา; และได้ออกจากแผ่นดินของพระองค์.” ด้วยความรู้สึกไวต่อคำหมิ่นประมาทเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงแถลงว่า “แต่เราได้ทรงพระกรุณาแก่พระนามของเราอันบริสุทธิ์. . . . เราจะทำให้เป็นที่นับถือ . . . พวกนานาประเทศจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.”—ยะเอศเคล 36:20-23.
9 หลังจากชนชาติของพระองค์ตกเป็นเชลยนาน 70 ปี พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเมตตารักใคร่ก็ได้ปลดปล่อยเขา และให้พวกเขากลับไปบูรณะพระวิหารที่ยะรูซาเลม. เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ต้องเงียบเสียงลงและเฝ้ามองด้วยความประหลาดใจ. (ยะเอศเคล 36:35, 36) กระนั้น น่าเศร้าที่ชนชาติยิศราเอลพลาดพลั้งประพฤติผิดอีก. นะเฮมยา ชายยิวที่ซื่อสัตย์ ได้เข้าช่วยแก้ไขสถานการณ์. เมื่ออธิษฐานต่อหน้าผู้คน ท่านกล่าวทวนความเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อชนชาตินี้ว่า:
10. นะเฮมยากล่าวเน้นความเมตตารักใคร่ของพระเจ้าไว้อย่างไร?
10 “ในเวลาที่เขาได้ความเดือดร้อนนั้น, เมื่อเขาได้ร้องทูลขอพระองค์ ๆ ยังได้ทรงสดับฟังแต่สวรรค์, และทรงโปรดตามความเมตตากรุณาของพระองค์; ทรงประทานให้มีผู้อนุเคราะห์ช่วยไถ่เขาให้พ้นมือศัตรูทั้งปวง. ครั้นอยู่มาเมื่อเขามีความสงบเรียบร้อยแล้ว, ได้ประพฤติชั่วต่อพระเนตรพระองค์อีก ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงมอบเขาไว้ในมือพวกศัตรู ๆ จึงได้มีอำนาจเหนือเขา. แต่ถึงกระนั้น เมื่อเขาได้หันกลับมาทูลขอต่อพระองค์, พระองค์ได้ทรงสดับฟังจากสวรรค์ พระองค์ได้ทรงช่วยเขาเป็นหลายครั้งโดยความเมตตากรุณาของพระองค์. . . . พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้หลายปี.”—นะเฮมยา 9:26-30; ดูยะซายา 63:9, 10 ด้วย.
11. มีข้อแตกต่างอะไรระหว่างพระยะโฮวากับพระเจ้าต่าง ๆ ที่มนุษย์ตั้งขึ้น?
11 ในที่สุด ภายหลังการปฏิเสธพระบุตรที่รักของพระเจ้าอย่างเหี้ยมโหดแล้ว ชาติยิวจึงสูญเสียสถานภาพอันเป็นสิทธิพิเศษของตนตลอดกาล. ความผูกพันอย่างซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อพวกเขายืนนานถึง 1,500 กว่าปี. เป็นพยานหลักฐานที่ยั่งยืนตลอดไปในข้อเท็จจริงที่ว่า พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่มีความเมตตาอย่างแท้จริง. ช่างต่างกันลิบกับบรรดาพระที่โหดร้ายและเทพเจ้าทั้งปวงที่ปราศจากความรู้สึกซึ่งมนุษย์ผิดบาปได้ตั้งขึ้น!—ดูหน้า 8.
การสำแดงความเมตตารักใคร่อันใหญ่ยิ่ง
12. การสำแดงความเมตตารักใคร่อันใหญ่ยิ่งของพระเจ้าได้แก่อะไร?
12 การสำแดงความเมตตารักใคร่อันใหญ่ยิ่งของพระเจ้าได้แก่การส่งพระบุตรที่รักมายังแผ่นดินโลก. จริง ๆ แล้ว วิถีชีวิตของพระเยซูที่ซื่อสัตย์ภักดีนั้นทำให้พระยะโฮวาทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ยังให้พระองค์มีคำตอบครบถ้วนแก้ข้อกล่าวหาเท็จของพญามาร. (สุภาษิต 27:11) อย่างไรก็ตาม ขณะที่พระองค์ทรงเฝ้าดูพระบุตรที่รักทนทุกข์อย่างแสนสาหัสและสิ้นพระชนม์อย่างน่าอับอายเช่นนั้น ไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาย่อมปวดร้าวพระทัยมากยิ่งกว่าบิดาคนใด ๆ เคยทนรับมา. นั่นเป็นการเสียสละด้วยความรักอย่างแท้จริง เป็นการเปิดหนทางให้มนุษย์ได้รับความรอด. (โยฮัน 3:16) ดังที่ซะคาเรีย บิดาของโยฮันผู้ให้บัพติสมากล่าวไว้ล่วงหน้า นั่นเป็นการทำให้ “พระทัยเมตตากรุณาแห่งพระเจ้าของเรา” ปรากฏชัดยิ่งขึ้น.—ลูกา 1:77, 78.
13. พระเยซูทรงสะท้อนบุคลิกพระบิดาของพระองค์ด้วยวิธีการสำคัญอะไร?
13 อีกประการหนึ่ง การส่งพระบุตรของพระเจ้ามายังแผ่นดินโลกทำให้มนุษยชาติได้เห็นบุคลิกของพระยะโฮวาแจ่มชัดมากขึ้น. เป็นไปอย่างไร? เนื่องด้วยพระเยซูได้สะท้อนบุคลิกพระบิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อคนต่ำต้อยด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน! (โยฮัน 1:14; 14:9) ในแง่นี้ ผู้เขียนกิตติคุณสามคนคือมัดธาย, มาระโก, และลูกาใช้คำกริยาภาษากรีก สะปลักคนิʹโซมัย ซึ่งมาจากคำกรีกที่หมายถึง “ลำไส้.” วิลเลียม บาร์กเลย์ ผู้คงแก่เรียนทางด้านคัมภีร์ไบเบิลอธิบายดังนี้: “จากรากศัพท์นี้แหละเห็นได้ว่า คำนี้ไม่ได้ชี้ถึงความสงสารหรือความเมตตาตามปกติ แต่เป็นความรู้สึกซึ่งสะเทือนใจคนเราถึงส่วนลึกของเขาทีเดียว. นี่เป็นคำที่หนักแน่นที่สุดในภาษากรีกสำหรับความรู้สึกเมตตารักใคร่.” คำนี้ได้รับการแปลว่า “รู้สึกสงสาร” หรือ “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร.”—มาระโก 6:34; 8:2, ล.ม.
เมื่อพระเยซูทรงรู้สึกสงสาร
14, 15. ณ เมืองหนึ่งในฆาลิลาย พระเยซูตื้นตันใจด้วยความสงสารอย่างไร และนั่นเป็นภาพแสดงถึงอะไร?
14 สถานที่เกิดเหตุการณ์นี้คือ เมืองหนึ่งในฆาลิลาย. ชายคนหนึ่ง “เป็นโรคเรื้อนเต็มทั้งตัว” ได้เข้ามาใกล้พระเยซูโดยมิได้ส่งเสียงเตือนล่วงหน้าตามธรรมเนียม. (ลูกา 5:12) พระเยซูตำหนิเขาอย่างรุนแรงไหมที่ไม่ได้ร้องบอกว่า “มลทิน, มลทิน” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของพระเจ้า? (เลวีติโก 13:45) หามิได้. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระเยซูสดับคำวิงวอนอย่างหมดหวังของชายคนนั้นที่ทูลว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัยจะให้ข้าพเจ้าหายสะอาด พระองค์ก็ทรงกระทำได้.” “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” พระเยซูจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ถูกต้องคนนั้นตรัสว่า “เราพอใจแล้ว. จงหายโรคและสะอาดเถิด.” โรคเรื้อนของชายนั้นก็หายในทันใด. ฉะนั้น พระเยซูไม่เพียงแต่สำแดงการอัศจรรย์โดยฤทธิ์เดชที่พระเจ้าประทาน แต่พระองค์ยังได้แสดงความรู้สึกอันอ่อนละมุนซึ่งกระตุ้นพระองค์ให้ใช้อำนาจดังกล่าวด้วย.—มาระโก 1:40-42.
15 จำต้องเข้าพบพระเยซูเสียก่อนที่พระองค์จะทรงสำแดงความรู้สึกเมตตารักใคร่กระนั้นหรือ? ไม่เป็นเช่นนั้น. ต่อมา ณ โอกาสหนึ่ง พระองค์เดินสวนทางกับคนหามศพออกมาจากเมืองนาอิน. ไม่ต้องสงสัย พระเยซูทรงพบเห็นงานศพมาหลายครั้งก่อนหน้านั้น แต่คราวนี้น่าเศร้าสลดใจเป็นพิเศษ. คนตายเป็นบุตรชายคนเดียวของหญิงม่าย. “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” พระเยซูเสด็จเข้าไปใกล้นางและตรัสว่า “หยุดร้องไห้เถิด.” แล้วพระองค์ทรงสำแดงการอัศจรรย์ครั้งสำคัญด้วยการปลุกบุตรชายของนางให้คืนชีพ.—ลูกา 7:11-15, ล.ม.
16. เหตุใดพระเยซูทรงรู้สึกสงสารฝูงชนมากมายที่ตามพระองค์?
16 เหตุการณ์ข้างต้นให้บทเรียนที่น่าประทับใจว่า เมื่อพระเยซู “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” พระองค์ทรงกระทำจริง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือ. ต่อมามีอยู่คราวหนึ่ง พระเยซูทรงสังเกตเห็นฝูงชนที่ติดตามพระองค์อย่างไม่ลดละ. มัดธายรายงานว่า “เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงพระกรุณาเขา [ตื้นตันใจด้วยความสงสาร, ล.ม.], ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) พวกฟาริซายไม่ค่อยทำอะไรเลยเพื่อบรรเทาความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณของสามัญชน. พวกเขามีแต่เพิ่มภาระให้คนต่ำต้อยด้วยกฎเกณฑ์มากมายที่ไม่จำเป็น. (มัดธาย 12:1, 2; 15:1-9; 23:4, 23) แง่คิดของเขาต่อสามัญชนได้ปรากฏแจ้งเมื่อเขาพูดถึงคนเหล่านั้นที่รับฟังพระเยซูดังนี้: “ฝูงชนนี้ที่ไม่รู้จักพระบัญญัติก็ถูกแช่งสาปอยู่แล้ว.”—โยฮัน 7:49, ล.ม.
17. ความรู้สึกสงสารฝูงชนได้กระตุ้นพระเยซูอย่างไร และพระองค์ทรงให้การชี้นำอะไรที่ยังผลกว้างขวาง?
17 ในทางกลับกัน พระเยซูรู้สึกสะเทือนใจอย่างล้ำลึกเนื่องจากฝูงชนอยู่ในสภาพย่ำแย่ฝ่ายวิญญาณ. แต่มีคนสนใจข่าวราชอาณาจักรมากมายจนเกินที่พระองค์จะเอาพระทัยใส่พวกเขาเป็นรายบุคคล. ดังนั้น พระองค์ทรงกำชับเหล่าสาวกให้อธิษฐานขอให้มีคนทำงานเพิ่ม. (มัดธาย 9:35-38) ประสานกับคำอธิษฐานดังกล่าว พระเยซูทรงส่งอัครสาวกของพระองค์ออกไปประกาศข่าวสารที่ว่า “แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว.” คำแนะนำที่ให้คราวนั้นก็ยังคงเป็นการชี้นำอันทรงคุณค่าสำหรับคริสเตียนจนกระทั่งทุกวันนี้. ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เพราะความรู้สึกเมตตารักใคร่ของพระเยซูนี้เองที่กระตุ้นพระองค์ให้สนองความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณของมนุษยชาติ.—มัดธาย 10:5-7.
18. พระเยซูทรงมีท่าทีเช่นไรเมื่อฝูงชนไปรบกวนเวลาพักผ่อนของพระองค์, และเราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
18 อีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงเป็นห่วงเช่นกันเกี่ยวด้วยความต้องการฝ่ายวิญญาณของฝูงชน. ครั้งนี้ พระองค์พร้อมกับเหล่าอัครสาวกต่างก็เหนื่อยหลังจากเดินทางประกาศไม่หยุดหย่อน และหาที่สงัดเพื่อพักผ่อน. แต่ไม่ทันไรประชาชนก็ตามพบ. แทนที่พระเยซูจะรู้สึกไม่พอใจเนื่องจากผู้คนเข้ามารบกวนเวลาพักผ่อน มาระโกบันทึกว่าพระองค์ “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร.” และด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้พระเยซูแสดงความรู้สึกอันล้ำลึกเช่นนั้น? เพราะ “เขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” อีกครั้งหนึ่ง พระเยซูทรงแสดงความรู้สึกด้วยการกระทำ และได้เริ่มต้นสอนประชาชนถึงเรื่อง “แผ่นดินของพระเจ้า.” ใช่แล้ว ความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณของพวกเขาทำให้พระองค์ตื้นตันใจอย่างล้ำลึกถึงขนาดที่พระองค์สละเวลาพักผ่อนที่จำเป็นเพื่อสอนเขา.—มาระโก 6:34, ล.ม.; ลูกา 9:11.
19. ความห่วงใยของพระเยซูต่อประชาชนแผ่กว้างไปไกลเกินกว่าความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเขาอย่างไร?
19 ขณะที่ทรงห่วงใยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของประชาชนเป็นอันดับแรก พระเยซูหาได้มองข้ามความต้องการทางด้านร่างกายไม่. ในโอกาสเดียวกันนั้นเอง “ทุกคนที่ต้องการให้หายโรคพระองค์ก็ทรงรักษาให้” ด้วย. (ลูกา 9:11) ในโอกาสต่อมา ฝูงชนได้อยู่กับพระองค์เป็นเวลานาน แถมอยู่ไกลบ้านอีกด้วย. พระเยซูทรงตระหนักถึงความต้องการของเขาทางด้านร่างกาย จึงตรัสกับเหล่าสาวกดังนี้: “เรามีใจเมตตา [รู้สึกสงสาร, ล.ม.] คนเหล่านี้, ด้วยเขาค้างอยู่กับเราได้สามวันแล้ว, และเดี๋ยวนี้เขาไม่มีอะไรกิน. เราไม่พอใจให้เขาไปเมื่อยังอดอาหารอยู่, กลัวว่าเขาจะหิวโหยตามทาง.” (มัดธาย 15:32) บัดนี้ พระเยซูทรงดำเนินการบางอย่างเพื่อป้องกันความทุกข์เดือดร้อนซึ่งอาจเกิดขึ้นได้. จากขนมปังเจ็ดก้อนและปลาเล็ก ๆ ไม่กี่ตัว พระองค์ทรงทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารผู้คนชายหญิงและเด็กรวมหลายพันคน.
20. เราเรียนอะไรจากตัวอย่างสุดท้ายที่บันทึกไว้เกี่ยวกับการที่พระเยซูตื้นตันใจด้วยความสงสาร?
20 ตัวอย่างท้ายสุดที่ได้บันทึกไว้เรื่องพระเยซูตื้นตันใจด้วยความสงสารคือคราวที่พระองค์เดินทางไปยังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้าย. คนเป็นอันมากเดินทางไปกับพระองค์เพื่อฉลองปัศคา. ระหว่างทางใกล้จะถึงเมืองยะริโฮ มีชายตาบอดสองคนร้องตะโกนว่า “พระองค์ . . . เจ้าข้า. ขอทรงเมตตาข้าพเจ้า.” ฝูงชนพยายามห้ามปรามเขาให้เงียบเสียง แต่พระเยซูทรงเรียกเขามาและถามว่าต้องการให้พระองค์ทำอะไร. เขาวิงวอนว่า “พระองค์เจ้าข้า, ขอให้ตาของข้าพเจ้าเห็นได้.” “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” พระเยซูทรงแตะที่ตาของเขา แล้วเขาก็มองเห็นได้. (มัดธาย 20:29-34, ล.ม.) ช่างเป็นบทเรียนสำคัญอะไรเช่นนี้ที่เราได้จากเรื่องนี้! พระเยซูจวนจะเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายแห่งงานรับใช้บนแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงมีงานมากที่ต้องทำให้เสร็จก่อนถูกปลงพระชนม์อย่างโหดร้ายทารุณโดยน้ำมือของตัวแทนซาตาน. กระนั้น พระองค์ก็ไม่ยอมปล่อยให้ความกดดันแห่งช่วงเวลาสำคัญนั้นยับยั้งพระองค์ไว้จากการแสดงความรู้สึกเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุนต่อความต้องการของมนุษย์ซึ่งสำคัญน้อยกว่า.
อุทาหรณ์ต่าง ๆ ที่เน้นความเมตตาสงสาร
21. การที่นายได้ยกหนี้ก้อนใหญ่ของบ่าวเช่นนั้นแสดงให้เห็นถึงอะไร?
21 คำกริยาภาษากรีกสะปลักคนิʹโซมัย ที่ใช้กับเหตุการณ์เหล่านี้ในชีวิตพระเยซู ก็ถูกนำไปใช้กับอุทาหรณ์สามเรื่องของพระเยซูด้วย. ในเรื่องหนึ่งบ่าวขอผัดหนี้ก้อนใหญ่. นายของเขา “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” จึงได้ยกหนี้ให้. อุทาหรณ์เรื่องนี้แสดงว่า พระเจ้ายะโฮวาทรงแสดงความเมตตาอันใหญ่ยิ่งด้วยการยกหนี้บาปหนักหนาให้คริสเตียนแต่ละคนซึ่งแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู.—มัดธาย 18:27; 20:28, ล.ม.
22. อุทาหรณ์เรื่องบุตรชายที่สุรุ่ยสุร่ายแสดงให้เห็นถึงอะไร?
22 จากนั้นก็มีเรื่องบุตรชายที่สุรุ่ยสุร่าย. ขอให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อบุตรผู้ดื้อรั้นกลับบ้าน. “เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาแลเห็นเขาก็มีความเมตตา [ตื้นตันใจด้วยความสงสาร, ล.ม.], จึงวิ่งออกไปกอดคอจูบเขา [อย่างอ่อนละมุน, ล.ม.].” (ลูกา 15:20) เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อคริสเตียนคนใดที่เคยประพฤติตัวดื้อรั้น กลับใจจริง ๆ พระยะโฮวาจะทรงรู้สึกสงสารและรับเขากลับคืนด้วยความอ่อนละมุน. ด้วยอุทาหรณ์สองเรื่องนี้ พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่า พระยะโฮวา พระบิดาของเรา “ทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา.”—ยาโกโบ 5:11, ล.ม.
23. เราเรียนรู้อะไรจากอุทาหรณ์ของพระเยซูว่าด้วยชาวซะมาเรียที่มีไมตรีจิตนั้น?
23 อุทาหรณ์เรื่องที่สามใช้คำสะปลักคนิʹโซมัย กับกรณีชายชาวซะมาเรียที่มีความเมตตารักใคร่ผู้ซึ่ง “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” ต่อชายยิวซึ่งถูกปล้นและถูกทำร้ายร่างกายเจียนตาย. (ลูกา 10:33, ล.ม.) ด้วยการปฏิบัติตามความรู้สึกดังกล่าว ชายซะมาเรียได้ทำสุดความสามารถของตัวเองช่วยเหลือคนแปลกหน้า. เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระยะโฮวาและพระเยซูทรงคาดหมายคริสเตียนแท้ให้เอาอย่างการแสดงความอ่อนละมุนและความเมตตารักใคร่ของพระองค์. บทความถัดไปจะพิจารณาบางวิธีถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้.
คำถามทบทวน
▫ การเป็นผู้มีใจเมตตาหมายถึงอะไร?
▫ โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณาต่อพระนามของพระองค์?
▫ อะไรคือการแสดงความเมตตารักใคร่อันใหญ่ยิ่ง?
▫ พระเยซูทรงสะท้อนบุคลิกพระบิดาของพระองค์ในแนวทางอันโดดเด่นเช่นไร?
▫ เราเรียนรู้อะไรจากการที่พระเยซูทรงปฏิบัติด้วยความเมตตารักใคร่ และจากอุทาหรณ์ต่าง ๆ ของพระองค์?
[กรอบหน้า 12, 13]
คำที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนสำหรับคำว่า “ความเอาใจใส่รักใคร่อันอ่อนละมุน”
“ท้อง [ลำไส้, ล.ม.] ของข้าพเจ้าเอ๋ย, โอ้ท้อง [ลำไส้, ล.ม.] ข้าพเจ้า” ผู้พยากรณ์ยิระมะยาร้องคร่ำครวญ. ท่านกำลังบ่นปวดท้องเนื่องจากอาหารเสียซึ่งท่านกินเข้าไปไหม? ไม่ใช่. ยิระมะยากำลังใช้คำเปรียบเทียบภาษาฮีบรูเพื่อพรรณนาความเป็นห่วงอันล้ำลึกเกี่ยวกับภัยพิบัติซึ่งจะมีเหนืออาณาจักรยูดา.—ยิระมะยา 4:19.
เนื่องจากพระเจ้ายะโฮวาทรงมีความรู้สึกที่ล้ำลึก คำภาษาฮีบรูสำหรับ “ลำไส้” (เมอิมʹ) มีการใช้เพื่อพรรณนาความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระองค์อีกด้วย. ยกตัวอย่าง หลายทศวรรษก่อนสมัยของยิระมะยา อาณาจักรสิบตระกูลของยิศราเอลถูกกษัตริย์ของอัสซีเรียยึดเป็นเชลย. พระยะโฮวาทรงปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการลงโทษที่พวกเขาไม่ซื่อสัตย์. แต่พระเจ้าทรงลืมพวกเขาซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ในต่างแดนไหม? ไม่. พระองค์ยังทรงผูกพันรักใคร่พวกเขาอย่างลึกซึ้ง ฐานะเป็นส่วนแห่งไพร่พลของพระองค์ตามคำสัญญาไมตรี. ด้วยการพาดพิงถึงพวกเขาโดยใช้ชื่อของตระกูลเด่นเอฟรายิม พระยะโฮวาตรัสถามว่า “เอฟรายิมเป็นลูกชายรักสนิทของเราหรือ, เขาเป็นเด็กดีชอบมิใช่หรือ, เพราะเรากล่าวคำต่อสู้เขาเมื่อไร, เรายังได้ระลึกถึงเขาด้วยความร้อนกำเริบรักเมื่อนั้น, เหตุดังนี้ท้อง [ลำไส้, ล.ม.] ของเราเป็นทุกข์เพราะเขา, เราคงจะมีความเมตตาเหนือเขา.”—ยิระมะยา 31:20.
ที่ตรัสว่า “ท้อง [ลำไส้, ล.ม.] ของเราเป็นทุกข์” พระยะโฮวาทรงใช้ภาพพจน์ เพื่อพรรณนาความรู้สึกรักใคร่อย่างลึกล้ำที่มีต่อไพร่พลที่ถูกเนรเทศของพระองค์. ในการอธิบายข้อคัมภีร์นี้ อี. เฮนเดอร์สัน ผู้คงแก่เรียนทางด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 เขียนว่า “ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการแสดงอย่างซาบซึ้งถึงความรู้สึกอันอ่อนละมุนในฐานะบิดามารดาที่มีต่อบุตรสุรุ่ยสุร่ายที่กลับมา ซึ่งในที่นี้พระยะโฮวาได้สำแดง. . . . แม้ว่าพระองค์เพิ่งตรัสคำต่อสู้ [พวกเอฟรายิมที่ไหว้รูปเคารพ] และลงโทษพวกเขา . . . พระองค์ไม่เคยลืมพวกเขา แต่ในทางตรงข้ามกลับมีพระทัยยินดีรอคอยพวกเขาที่จะกลับมาหาพระองค์ในที่สุด.”
มีการใช้คำภาษากรีกสำหรับ “ลำไส้” ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. เมื่อไม่ได้ใช้ตามตัวอักษรเหมือนที่พระธรรมกิจการ 1:18 คำนี้ใช้หมายถึงความรู้สึกอันอ่อนละมุนแห่งความรักใคร่หรือเมตตาจิต. (ฟิเลโมน 12) บางครั้ง คำนี้ก็ใช้ควบคู่กับคำภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ดี” หรือ “อย่างดี.” อัครสาวกเปาโลและเปโตรใช้สำนวนที่มีสองคำนี้อยู่รวมกัน เมื่อหนุนใจพี่น้องคริสเตียนให้มี “ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน” ซึ่งตามตัวอักษรแล้วหมายถึง “มีแนวโน้มเป็นอย่างดีที่จะสงสาร” (เอเฟโซ 4:32; 1 เปโตร 3:8, ล.ม.) นอกจากนี้ คำภาษากรีกสำหรับ “ลำไส้” ยังอาจใช้ควบคู่กับคำภาษากรีกพอลีʹ. ตามตัวอักษรแล้ว คำประสมนี้หมายความว่า “มีลำไส้มาก.” สำนวนภาษากรีกซึ่งมีใช้น้อยมากสำนวนนี้มีการใช้เพียงครั้งเดียวในคัมภีร์ไบเบิล และสำนวนนี้ใช้พาดพิงถึงพระเจ้ายะโฮวา. ฉบับแปลโลกใหม่ แปลสำนวนนั้นว่า “พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันละมุน.”—ยาโกโบ 5:11, ล.ม.
เราน่าจะรู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระเจ้ายะโฮวา ผู้มีฤทธิ์อำนาจสูงสุดในเอกภพ ไม่เป็นเหมือนเทพเจ้าที่โหดร้ายซึ่งมนุษย์ที่ไร้ความเมตตาคิดขึ้น! ในการเลียนแบบพระเจ้าผู้มี “ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน” คริสเตียนแท้ได้รับแรงกระตุ้นให้ประพฤติอย่างเดียวกันเมื่อปฏิบัติต่อกันและกัน.—เอเฟโซ 5:1.
[รูปภาพหน้า 10]
เมื่อความเมตตารักใคร่ของพระเจ้าถึงขีดสุดแล้วพระยะโฮวาทรงปล่อยให้ชาวบาบูโลนพิชิตไพร่พลที่ดื้อรั้นของพระองค์
[รูปภาพหน้า 11]
การเฝ้ามองพระบุตรที่รักสิ้นพระชนม์คงต้องเป็นเหตุให้พระเจ้ายะโฮวาทรงปวดร้าวพระทัยมากที่สุดเท่าที่ใคร ๆ เคยประสบมา
[รูปภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงสะท้อนบุคลิกพระบิดาของพระองค์ด้านความเมตตารักใคร่นั้นอย่างดีเยี่ยม