“จงคาดเอวตนเองไว้ด้วยจิตใจอ่อนน้อม”
“พระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ.”—1 เปโตร 5:5, ล.ม.
1, 2. นิสัยใจคอสองอย่างอะไรที่ตรงข้ามกันซึ่งมีผลกระทบอย่างมากทีเดียวต่อพฤติกรรมของมนุษย์?
ในบรรดานิสัยใจคอที่พระคำของพระเจ้าได้แนะให้เราเอาใจใส่นั้นรวมถึงนิสัยใจคอสองอย่างที่ตรงข้ามกันด้วย. นิสัยใจคอทั้งสองอย่างนี้มีผลกระทบอย่างมากทีเดียวต่อพฤติกรรมของมนุษย์. นิสัยใจคออย่างหนึ่งนั้นได้รับการพรรณนาว่าเป็น “จิตใจอ่อนน้อม.” (1 เปโตร 5:5, ล.ม.) พจนานุกรมฉบับหนึ่งนิยามคำ “อ่อนน้อม” ว่าเป็น “กิริยาอาการหรือน้ำใจที่ถ่อม: ปราศจากความหยิ่งซึ่งยืนกรานตามความเห็นของตน.” ความอ่อนน้อมมีความหมายคล้ายกับความถ่อม และตามทัศนะของพระเจ้า เป็นคุณลักษณะที่น่าปรารถนายิ่ง.
2 นิสัยใจคอที่ตรงข้ามกันคือความหยิ่ง. มีการนิยามถึงนิสัยใจคอแบบนี้ว่าเป็นความ “ทะนงตนจนเกินไป” “แสดงความเหยียดหยาม.” คนหยิ่งมุ่งแต่ประโยชน์ของตนเอง แสวงหาผลประโยชน์ทางวัตถุ, ผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว, และผลประโยชน์อื่น ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดผลเสียต่อผู้อื่นอย่างไร. คัมภีร์ไบเบิลชี้ถึงผลอย่างหนึ่ง: “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์ด้วยกันเกิดผลเสียหายแก่เขา.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “การแข่งขันกัน” ว่าเป็น “การไล่ตามลม” เพราะว่าเมื่อตายแล้ว “ไม่มีอะไรเลยที่เขาจะเอาไปได้.” ตามทัศนะของพระเจ้าแล้ว ความหยิ่งเช่นนั้นไม่น่าปรารถนาแม้แต่น้อย.—ท่านผู้ประกาศ 4:4; 5:15; 8:9, ล.ม.
น้ำใจที่แพร่หลายของโลก
3. น้ำใจเช่นไรที่แพร่หลายอยู่ในโลก?
3 นิสัยใจคออย่างไหนในสองอย่างนี้ที่เป็นลักษณะเฉพาะของโลกทุกวันนี้? น้ำใจเช่นไรที่แพร่หลายในโลก? รายงานค่าใช้จ่ายด้านการทหารและด้านสังคมของโลกปี 1996 (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตดังนี้: “ไม่มีประวัติบันทึกในศตวรรษใดเทียบเท่าได้กับศตวรรษที่ 20 ในด้านความรุนแรง . . . อย่างป่าเถื่อน.” การแข่งขันกันเพื่อได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ—รวมทั้งการประชันขันแข่งในด้านชาติ, ศาสนา, เผ่าชน, และชาติพันธุ์—ได้สังหารผู้คนไปมากกว่า 100 ล้านคนในศตวรรษนี้. พฤติกรรมที่มุ่งแต่ประโยชน์ของตนในระดับปัจเจกบุคคลได้เพิ่มทวีด้วยเช่นกัน. หนังสือพิมพ์ ชิคาโก ทริบูน กล่าวว่า “ความเจ็บป่วยของสังคมรวมไปถึงความรุนแรงที่ไร้เหตุผล, การกระทำทารุณต่อเด็ก, การหย่าร้าง, การเมาเหล้า, โรคเอดส์, การฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น, ยาเสพย์ติด, แก๊งอันธพาลข้างถนน, การข่มขืน, สถานภาพบุตรนอกกฎหมาย, การทำแท้ง, สื่อลามก, . . . การโกหก, การฉ้อโกง, การทุจริตในวงการเมือง . . . หลักศีลธรรมว่าด้วยความถูกผิดถูกล้มเลิกไปแล้ว.” ด้วยเหตุนี้ วารสารสหประชาชาติ เตือนดังนี้: “สังคมกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ.”
4, 5. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้อย่างแม่นยำถึงน้ำใจของโลกในสมัยของเรานี้อย่างไร?
4 สภาพเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลก. เป็นดังที่คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้บอกไว้ล่วงหน้าถึงสมัยของเรานี้ทีเดียว ที่ว่า “ในสมัยสุดท้ายจะเกิดวิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้. เพราะว่าคนจะรักตัวเอง, รักเงินทอง, อวดตัว, จองหอง, เป็นคนหมิ่นประมาท, ไม่เชื่อฟังบิดามารดา, อกตัญญู, ไม่ภักดี, ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ, ไม่ยอมตกลงกัน, เป็นคนใส่ร้าย, ไม่มีการรู้จักบังคับตน, ดุร้าย, ไม่รักความดี, เป็นคนทรยศ, หัวดื้อ, พองตัวด้วยความหยิ่ง.”—2 ติโมเธียว 3:1-4, ล.ม.
5 นั่นแหละคือคำพรรณนาที่แม่นยำเกี่ยวกับน้ำใจที่แพร่หลายของโลกนี้ คือเจตคติแบบฉันก่อนอันเห็นแก่ตัว. การแก่งแย่งแข่งขันในท่ามกลางปัจเจกบุคคลเป็นภาพสะท้อนของการชิงดีกันในท่ามกลางนานาชาติ. ยกตัวอย่างเช่น ในกีฬาที่แข่งขันกัน นักกีฬาหลายคนมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงว่าจะทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดทางอารมณ์หรือแม้แต่บาดเจ็บทางกายอย่างไร. น้ำใจที่มุ่งแต่ประโยชน์ของตนเช่นนี้ถูกส่งเสริมในเด็ก ๆ และส่งเสริมต่อไปในหลายด้านของชีวิตในวัยผู้ใหญ่. เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยังผลให้เกิด “การเป็นศัตรูกัน, การต่อสู้, การริษยา, การบันดาลโทสะ, การทุ่มเถียง, การแตกแยก.”—ฆะลาเตีย 5:19-21, ล.ม.
6. ใครส่งเสริมความเห็นแก่ตัว และพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้?
6 คัมภีร์ไบเบิลชี้แจงว่าน้ำใจมุ่งแต่ประโยชน์ของตนแห่งโลกนี้สะท้อนน้ำใจของ “ผู้ถูกเรียกว่าพญามารและซาตาน ผู้ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.” เกี่ยวกับอิทธิพลของซาตานที่มีต่อผู้คนซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายอันวิกฤตินี้ คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้ว่า “วิบัติแก่แผ่นดินโลก . . . เพราะพญามารได้ลงมาถึงพวกเจ้าแล้ว มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยรู้ว่ามันมีระยะเวลาอันสั้น.” (วิวรณ์ 12:9-12, ล.ม.) ดังนั้น ซาตานกับผีปิศาจบริวารของมันจึงได้พยายามอย่างหนักที่จะส่งเสริมอารมณ์ความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวในครอบครัวของมนุษย์. พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเจตคติเช่นนั้น? พระคำของพระองค์กล่าวว่า “ทุกคนที่มีใจหยิ่งจองหองเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา.”—สุภาษิต 16:5.
พระยะโฮวาทรงสถิตกับคนอ่อนน้อม
7. พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อผู้มีใจอ่อนน้อม และพระองค์ทรงสอนอะไรแก่พวกเขา?
7 ในทางตรงข้าม พระยะโฮวาทรงอวยพระพรคนอ่อนน้อม. กษัตริย์ดาวิดกล่าวไว้ในเพลงที่ร้องทูลพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์จะทรงช่วยคนถ่อมใจให้รอด; แต่พระเนตรของพระองค์ต่อต้านคนหยิ่งยโส เพื่อพระองค์จะทรงทำให้พวกเขาต่ำลง.” (2 ซามูเอล 22:1, 28, ล.ม.) ฉะนั้น พระคำของพระเจ้าแนะนำว่า “จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่อ่อนน้อมในแผ่นดินโลก . . . จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” (ซะฟันยา 2:3, ล.ม.) คนที่แสวงหาพระยะโฮวาด้วยใจถ่อมได้รับการสอนจากพระองค์ให้ปลูกฝังน้ำใจที่ต่างอย่างสิ้นเชิงกับน้ำใจของโลกนี้. “พระองค์จะทรงฝึกสอน [“คนถ่อม,” ล.ม.] ให้รู้ทางของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:9; ยะซายา 54:13) ทางนั้นเป็นทางแห่งความรัก. ทางดังกล่าวนี้ยึดการทำสิ่งที่ถูกต้องตามมาตรฐานของพระเจ้าเป็นหลัก. ตามที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ ความรักตามหลักการนี้ “ไม่อวดตัว, ไม่พองตัว . . . ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง.” (1 โกรินโธ 13:1-8, ล.ม.) ความรักนี้ยังแสดงตัวเองอย่างชัดเจนอยู่ในความอ่อนน้อมด้วย.
8, 9. (ก) ความรักตามหลักการมีต้นกำเนิดจากแหล่งใด? (ข) สำคัญสักเพียงไรที่จะเลียนแบบความรักและความถ่อมที่พระเยซูทรงสำแดง?
8 เปาโลและคริสเตียนในศตวรรษแรกคนอื่น ๆ เรียนความรักชนิดนี้จากคำสอนของพระเยซู. และพระเยซูทรงเรียนความรักดังกล่าวจากพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์ ผู้ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) พระเยซูทรงทราบว่าเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าให้พระองค์ดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติแห่งความรัก และพระองค์ทรงทำเช่นนั้น. (โยฮัน 6:38) นั่นเป็นเหตุที่พระองค์ทรงสงสารผู้ถูกกดขี่, คนจน, คนบาป. (มัดธาย 9:36) พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.”—มัดธาย 11:28, 29, ล.ม.
9 พระเยซูทรงชี้ให้เหล่าสาวกเห็นความสำคัญของการเลียนแบบความรักและความถ่อมของพระองค์เมื่อตรัสแก่พวกเขาว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) พวกเขาจะปรากฏอย่างเด่นชัดว่าแยกอยู่ต่างหากจากโลกนี้ที่มุ่งแต่ประโยชน์ของตัวเอง. นั่นเป็นเหตุที่พระเยซูสามารถตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “เขาไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:14, ล.ม.) พวกเขาไม่เลียนแบบน้ำใจของโลกแห่งซาตานที่เย่อหยิ่งและเห็นแก่ตัว. ตรงกันข้าม พวกเขาเลียนแบบน้ำใจแห่งความรักและความถ่อมที่พระเยซูทรงสำแดง.
10. พระยะโฮวากำลังทำอะไรกับคนที่มีใจอ่อนน้อมในสมัยของเรานี้?
10 พระคำของพระเจ้าบอกล่วงหน้าไว้ว่าในสมัยสุดท้ายนี้ คนถ่อมจะถูกรวบรวมเข้ามาในสังคมทั่วโลกที่ยึดความรักและความถ่อมเป็นหลัก. ด้วยเหตุนี้ ในท่ามกลางโลกที่ยโสโอหังยิ่งขึ้นทุกขณะ ไพร่พลของพระยะโฮวาแสดงเจตคติที่ตรงกันข้าม คือความอ่อนน้อม. คนเช่นนี้กล่าวว่า “ให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา [การนมัสการแท้ของพระองค์ซึ่งได้รับการยกชู] . . . และพระองค์จะทรงสอนเราเรื่องวิถีทางของพระองค์ และเราจะดำเนินตามมรคาทั้งหลายของพระองค์.” (ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาประกอบกันเป็นสังคมโลกดังกล่าวนี้ซึ่งกำลังดำเนินในทางของพระเจ้า. คนเหล่านี้รวมถึง “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ปัจจุบัน ชนฝูงใหญ่นี้ประกอบด้วยหลายล้านคน. พระยะโฮวาทรงฝึกสอนพวกเขาอย่างไรให้ถ่อมใจ?
การเรียนรู้ที่จะมีจิตใจอ่อนน้อม
11, 12. ผู้รับใช้ของพระเจ้าแสดงความอ่อนน้อมอย่างไร?
11 พระวิญญาณของพระเจ้าซึ่งดำเนินงานในไพร่พลที่เต็มใจของพระองค์ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเอาชนะน้ำใจที่ไม่ดีของโลก แล้วแสดงผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. ผลพระวิญญาณแสดงออกมาใน “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) เพื่อช่วยพวกเขาให้พัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้ ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับคำแนะนำว่าอย่าได้กลายเป็น “คนถือดี, ยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน, ริษยากันและกันเลย.” (ฆะลาเตีย 5:26, ล.ม.) เปาโลกล่าวคล้าย ๆ กันดังนี้: “ข้าพเจ้าบอกทุกคนท่ามกลางท่านทั้งหลายว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น; แต่คิดอย่างที่จะมีสุขภาพจิตดี.”—โรม 12:3, ล.ม.
12 พระคำของพระเจ้าบอกคริสเตียนแท้ไม่ให้ “ทำสิ่งใดเพราะชอบทุ่มเถียงหรือเพราะถือดี แต่ด้วยจิตใจอ่อนน้อมถือว่าคนอื่น [ที่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า] ดีกว่าตัว คอยดูด้วยความสนใจเป็นส่วนตัวไม่เพียงเรื่องของตนเองเท่านั้น แต่สนใจเป็นส่วนตัวในเรื่องของคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:3, 4, ล.ม.) “อย่าให้ผู้ใดกระทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย.” (1 โกรินโธ 10:24) ใช่แล้ว “ความรักก่อร่างสร้าง” คนอื่นขึ้นด้วยคำพูดและการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัว. (1 โกรินโธ 8:1, ล.ม.) ความรักส่งเสริมการร่วมมือกัน ไม่ใช่การแข่งขันกัน. น้ำใจแบบฉันก่อนไม่มีที่ในท่ามกลางผู้รับใช้ของพระยะโฮวา.
13. เหตุใดความอ่อนน้อมเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และคนเราจะเรียนรู้ความอ่อนน้อมได้โดยวิธีใด?
13 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด เราไม่ได้มีจิตใจอ่อนน้อมตั้งแต่เกิด. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5) คุณลักษณะนี้ต้องเรียนรู้. และเรื่องนี้อาจยากสำหรับคนที่ไม่ได้รับการสอนในแนวทางของพระยะโฮวาตั้งแต่เด็ก แต่ตอบรับทางของพระเจ้าเมื่อโตแล้ว. พวกเขาได้หล่อหลอมบุคลิกภาพที่อาศัยเจตคติของโลกเก่านี้เป็นหลักอยู่แล้ว. ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะ “ละทิ้งบุคลิกภาพเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของ [ตน]” และ “สวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.” (เอเฟโซ 4:22, 24, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ผู้มีหัวใจสุจริตสามารถทำสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากพวกเขา ที่ว่า “จงสวมตัวท่านด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนแห่งความเมตตา, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน.”—โกโลซาย 3:12, ล.ม.
14. พระเยซูตรัสอย่างไรเกี่ยวกับความปรารถนาจะยกตัวเอง?
14 เหล่าสาวกของพระเยซูจำต้องเรียนรู้ข้อนี้. พวกเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเมื่อพวกเขาเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์และมีน้ำใจแข่งขันชิงดีอย่างโลกติดตัวไม่มากก็น้อย. เมื่อมารดาของสาวกสองคนพยายามสนับสนุนให้บุตรชายของตนได้รับตำแหน่งเด่น พระเยซูตรัสว่า “ผู้ครอบครองของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชา [ประชาชน]. และผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เอาอำนาจเข้าข่ม แต่ในพวกท่านหาเป็นอย่างนั้นไม่. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นเอกเป็นต้นก็ให้ผู้นั้นเป็นทาสของพวกท่าน. แม้ว่าบุตรมนุษย์ [พระเยซู] ก็ดีมิได้มาเพื่อให้เขาปรนนิบัติ. แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา, และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:20-28) เมื่อพระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกว่าอย่าใช้ยศถาบรรดาศักดิ์โดยหวังจะยกฐานะตำแหน่งของตัวเอง พระองค์ตรัสเสริมด้วยว่า “ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันทั้งหมด.”—มัดธาย 23:8.
15. คนที่พยายามจะให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้ดูแลควรมีเจตคติเช่นไร?
15 สาวกแท้ของพระเยซูเป็นผู้รับใช้ หรือที่จริง เป็นทาส ของเพื่อนคริสเตียน. (ฆะลาเตีย 5:13) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นเช่นนั้นสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะมีคุณวุฒิเป็นผู้ดูแลในประชาคม. เขาต้องไม่แข่งดีแข่งเด่นหรือแสวงหาอำนาจ; เขาต้องไม่ ‘กดขี่คนเหล่านั้นซึ่งเป็นมรดกของพระเจ้า แต่ควรจะเป็นแบบอย่างแก่พวกเขา.’ (1 เปโตร 5:3, ล.ม.) ที่จริง น้ำใจแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าคนนั้นไม่เหมาะสำหรับหน้าที่ผู้ดูแล. คนอย่างนั้นย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาคม. จริงอยู่ เป็นเรื่องถูกต้องสมควรที่จะ “เอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งผู้ดูแล” แต่การทำอย่างนี้ควรเกิดจากความปรารถนาที่จะรับใช้คริสเตียนคนอื่น ๆ. ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งที่เด่นดังหรือมีอำนาจ เพราะคนที่ทำหน้าที่ผู้ดูแลควรเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนน้อมที่สุดในประชาคม.—1 ติโมเธียว 3:1, 6, ล.ม.
16. เหตุใดดิโอเตรเฟสถูกกล่าวโทษไว้ในพระคำของพระเจ้า?
16 อัครสาวกโยฮันแนะให้เราสังเกตคนหนึ่งซึ่งมีทัศนะไม่ถูกต้อง โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เขียนบางสิ่งถึงประชาคม แต่ดิโอเตรเฟสซึ่งชอบเป็นเอกท่ามกลางพวกเขา ไม่รับเอาสิ่งใดจากพวกเราด้วยความนับถือเลย.” ชายผู้นี้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่นับถือโดยหมายจะเลื่อนฐานะของตนให้สูงขึ้น. แทนที่จะเป็นอย่างที่เขาหวัง พระวิญญาณของพระเจ้ากระตุ้นโยฮันให้บันทึกกล่าวโทษดิโอเตรเฟสไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเนื่องด้วยทัศนะแบบฉันก่อนของเขา.—3 โยฮัน 9, 10, ล.ม.
เจตคติที่ถูกต้อง
17. เปโตร, เปาโล, และบาระนาบาแสดงความอ่อนน้อมอย่างไร?
17 มีหลายตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความอ่อนน้อมอันเป็นเจตคติที่ถูกต้อง. เมื่อเปโตรเข้าไปในบ้านของโกระเนเลียว ชายผู้นี้ “หมอบที่เท้า [ของเปโตร] กราบไหว้ท่าน.” แต่แทนที่จะยอมรับเอาการยกยอปอปั้น “เปโตรจึงจับตัวโกระเนเลียวให้ลุกขึ้นและกล่าวว่า, ‘จงยืนขึ้นเถิด ข้าพเจ้าเองก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน.’” (กิจการ 10:25, 26) เมื่อเปาโลและบาระนาบาอยู่ในเมืองลุศตรา เปาโลรักษาชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นง่อยแต่กำเนิด. ผลก็คือ ฝูงชนพากันกล่าวว่าท่านอัครสาวกทั้งสองเป็นพระ. อย่างไรก็ตาม เปาโลกับบาระนาบา “จึงฉีกเสื้อผ้าของตนเสียวิ่งเข้าไปท่ามกลางคนทั้งหลายร้องว่า, ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย, เหตุไฉนจึงทำการอย่างนี้? เราเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกันกับท่านทั้งหลาย.’” (กิจการ 14:8-15) คริสเตียนผู้มีใจถ่อมเหล่านี้ไม่ยอมรับการเทิดทูนบูชาจากมนุษย์.
18. ด้วยความถ่อม ทูตสวรรค์ผู้มีฤทธิ์กล่าวอะไรแก่โยฮัน?
18 เมื่ออัครสาวกโยฮันได้รับ “วิวรณ์โดยพระเยซูคริสต์” การเปิดเผยดังกล่าวผ่านมาทางทูตสวรรค์องค์หนึ่ง. (วิวรณ์ 1:1, ล.ม.) เนื่องด้วยฤทธิ์อำนาจของทูตสวรรค์ เราเข้าใจได้ถึงเหตุที่โยฮันรู้สึกเกรงขาม เพราะทูตสวรรค์องค์เดียวได้สังหารชาวอัสซีเรีย 185,000 คนภายในคืนเดียว. (2 กษัตริย์ 19:35) โยฮันเล่าว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้ยินและได้เห็นแล้ว ข้าพเจ้าก็ทรุดตัวลงเพื่อจะนมัสการแทบเท้าของทูตสวรรค์ที่ได้สำแดงสิ่งเหล่านี้ให้ข้าพเจ้าเห็น. แต่ท่านบอกข้าพเจ้าว่า ‘จงระวัง! อย่าทำเช่นนั้น! ข้าพเจ้าเป็นแค่เพื่อนทาสของท่านและของพวกพี่น้องของท่าน . . . จงนมัสการพระเจ้าเถิด.’” (วิวรณ์ 22:8, 9, ล.ม.) ทูตสวรรค์ผู้ทรงฤทธิ์องค์นี้ช่างมีจิตใจอ่อนน้อมสักเพียงไร!
19, 20. จงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างความหยิ่งยโสของแม่ทัพโรมันที่ได้รับชัยชนะกับความอ่อนน้อมของพระเยซู.
19 พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของบุคคลที่อ่อนน้อม. พระองค์ทรงเป็นพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า กษัตริย์ในอนาคตแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. เมื่อทรงแนะนำพระองค์เองในฐานะเช่นนั้นแก่ประชาชน พระองค์มิได้ทำอย่างที่พวกแม่ทัพที่ได้รับชัยชนะในสมัยโรมันทำกัน. พวกเขาได้รับการประดับเกียรติยศด้วยการเดินขบวน—ขบวนแห่มโหฬาร—และขับรถรบประดับประดาด้วยทองและงาช้าง ลากจูงโดยม้าขาวหรือกระทั่งใช้ช้าง, สิงโต, หรือเสือลาก. ในขบวนแห่มีนักดนตรีร้องเพลงแห่งชัยชนะ มาพร้อมกับเกวียนบรรทุกของที่ยึดได้จากสงครามและรถขนาดใหญ่ที่จัดฉากแสดงการสู้รบบนนั้น. นอกจากนี้ ยังมีเหล่าเชลยศึกที่เป็นกษัตริย์, เจ้าชาย, และแม่ทัพ พร้อมกับครอบครัวของคนเหล่านี้ ซึ่งมักถูกเปลื้องเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่าเพื่อสร้างความอัปยศอดสูแก่พวกเขา. ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ส่งกลิ่นอายของความหยิ่งยโสคละคลุ้งไปทั่ว.
20 ขอให้เปรียบเทียบความแตกต่างกับวิธีที่พระเยซูทรงเสนอพระองค์เอง. พระองค์ทรงเต็มพระทัยยอมพระองค์อย่างถ่อมใจเพื่อให้สำเร็จตามคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์ ซึ่งบอกล่วงหน้าไว้ดังนี้: “นี่แน่ะ, กษัตริย์ของท่านเสด็จมาหาท่าน, มีความชอบธรรมแลประกอบด้วยฤทธิ์ช่วยให้รอด, แลมีพระทัยอันสุภาพ, แลเสด็จนั่งบนลา.” พระองค์เสด็จนั่งมาบนสัตว์พาหนะด้วยพระทัยถ่อม มิใช่บนรถรบที่ลากโดยสัตว์ที่ใช้ในขบวนแห่อันยิ่งใหญ่อลังการ. (ซะคาระยา 9:9; มัดธาย 21:4, 5) ประชาชนผู้มีใจถ่อมช่างมีความสุขสักเพียงไรที่พระเยซูจะทรงเป็นกษัตริย์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวาให้ครอบครองแผ่นดินโลกทั้งสิ้นในโลกใหม่ ผู้ทรงอ่อนน้อมถ่อมจิตและเต็มไปด้วยความรักความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริง!—ยะซายา 9:6, 7; ฟิลิปปอย 2:5-8.
21. ความอ่อนน้อมมิได้บ่งชี้ถึงอะไร?
21 ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซู, เปโตร, เปาโล, และชายหญิงผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ในสมัยพระคัมภีร์มีความอ่อนน้อมถ่อมใจช่วยขจัดความคิดที่ว่าความถ่อมเป็นความอ่อนแอ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความถ่อมแสดงถึงลักษณะที่เข้มแข็ง เพราะคนเหล่านี้กล้าหาญและมีใจแรงกล้า. ด้วยความเข้มแข็งอย่างยิ่งทางจิตใจและทางศีลธรรม พวกเขาอดทนการทดลองอันแสนสาหัส. (เฮ็บรายบท 11) และในปัจจุบัน เมื่อผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีจิตใจอ่อนน้อม พวกเขาก็มีความเข้มแข็งคล้าย ๆ กันเนื่องจากพระเจ้าทรงหนุนหลังผู้มีใจอ่อนน้อมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์. ฉะนั้น เราได้รับการกระตุ้นดังนี้: “ท่านทุกคนจงคาดเอวตนเองไว้ด้วยจิตใจอ่อนน้อมต่อกันและกัน เพราะพระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ. เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงถ่อมตัวลงภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า เพื่อพระองค์จะทรงยกท่านทั้งหลายขึ้นในเวลาอันควร.”—1 เปโตร 5:5, 6, ล.ม.; 2 โกรินโธ 4:7.
22. จะมีการพิจารณาเรื่องอะไรในบทความถัดไป?
22 มีแง่มุมในด้านดีอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความอ่อนน้อมซึ่งผู้รับใช้ของพระเจ้าจำเป็นต้องมี. เป็นแง่มุมที่มีส่วนส่งเสริมอย่างมากให้มีการเสริมสร้างน้ำใจแห่งความรักและความร่วมมือกันในประชาคม. ที่จริง แง่มุมนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของความอ่อนน้อม. จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
การทบทวน
▫ จงพรรณนาถึงน้ำใจที่แพร่หลายของโลกนี้.
▫ พระยะโฮวาทรงแสดงความโปรดปรานอย่างไรต่อคนที่จิตใจอ่อนน้อม?
▫ เหตุใดความอ่อนน้อมเป็นคุณลักษณะที่ต้องเรียนรู้?
▫ มีตัวอย่างอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวด้วยปัจเจกบุคคลที่แสดงความอ่อนน้อม?
[รูปภาพหน้า 15]
ทูตสวรรค์กล่าวแก่โยฮันว่า “อย่าทำเช่นนั้น! ข้าพเจ้าเป็นแค่เพื่อนทาสของท่าน”