บท 10
“มีคำเขียนไว้ว่า”
1-3. พระเยซูต้องการให้ชาวเมืองนาซาเรทลงความเห็นที่สำคัญอะไร และพระองค์เสนอหลักฐานเช่นไร?
ตอนนั้นเป็นช่วงต้นแห่งงานรับใช้ของพระเยซู. พระคริสต์ได้เสด็จกลับมาที่นาซาเรทบ้านเกิดของพระองค์. เป้าหมายของพระองค์คือเพื่อช่วยประชาชนให้ลงความเห็นสำคัญที่ว่า พระองค์เป็นพระมาซีฮาที่ได้มีการบอกไว้ล่วงหน้านานมาแล้ว! พระองค์เสนอหลักฐานอะไร?
2 หลายคนคงคาดหมายจะเห็นการอัศจรรย์อย่างไม่ต้องสงสัย. พวกเขาได้ยินรายงานเกี่ยวกับการอัศจรรย์ที่พระเยซูได้ทำ. อย่างไรก็ดี พระองค์มิได้แสดงหมายสำคัญดังกล่าวแก่พวกเขา. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์เสด็จไปที่ธรรมศาลาอันเป็นกิจวัตรของพระองค์. พระองค์ทรงยืนขึ้นเพื่อจะอ่านม้วนหนังสือพระธรรมยะซายาที่มีผู้ส่งให้พระองค์. นี่เป็นม้วนหนังสือยาว ดูเหมือนจะพันอยู่รอบแกนไม้คู่หนึ่ง และพระเยซูทรงคลี่ม้วนหนังสือนั้นออกอย่างระมัดระวังจนกระทั่งพบข้อความที่พระองค์หาอยู่. แล้วพระองค์ทรงอ่านด้วยเสียงดังจากข้อความที่ปัจจุบันคือยะซายา 61:1-3.—ลูกา 4:16-19.
3 ผู้ฟังคุ้นเคยกับข้อความตอนนั้นอย่างแน่นอน. นั่นเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮา. สายตาทุกคู่ในธรรมศาลาจับจ้องอยู่ที่พระเยซู. เกิดความเงียบอยู่ชั่วขณะหนึ่ง. ครั้นแล้วพระเยซูทรงเริ่มต้นอธิบาย อาจชี้แจงรายละเอียดพอสมควรว่า “วันนี้คัมภีร์ตอนนี้ที่ท่านได้ยินกับหูของท่านก็สำเร็จแล้ว.” ผู้คนรู้สึกประหลาดใจด้วยถ้อยคำอันน่าจับใจของพระองค์ แต่หลายคนดูเหมือนยังคงต้องการเห็นสัญลักษณ์บางอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างจากพระคัมภีร์อย่างกล้าหาญเพื่อเปิดโปงการที่พวกเขาขาดความเชื่อ. ในไม่ช้า ชาวเมืองนาซาเรทพยายามจะฆ่าพระองค์!—ลูกา 4:20-30.
4. พระเยซูทรงวางแบบอย่างอะไรไว้ในงานรับใช้ของพระองค์ และเราจะพิจารณาอะไรในบทนี้?
4 ในที่นี้พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่พระองค์ยึดถือมาตลอดงานรับใช้ของพระองค์. พระองค์ทรงใช้พระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจเป็นพื้นฐานอันหนักแน่นที่สุดสำหรับสิ่งที่พระองค์ทรงสอนและกระทำ. จริงอยู่ การอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระองค์กระทำมีความสำคัญมากในการแสดงว่าพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่กับพระองค์. กระนั้น ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับพระเยซูยิ่งไปกว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์. ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้ในเรื่องนี้. เราจะพิจารณาว่าผู้เป็นนายของเราได้ยกข้อความจากพระคำของพระเจ้า, ได้ทรงปกป้องพระคำของพระเจ้า, และอธิบายพระคำของพระเจ้าโดยวิธีใด.
การยกข้อความจากพระคำของพระเจ้า
5. พระเยซูประสงค์จะให้ผู้ฟังพระองค์รู้อะไร และพระองค์แสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าพระองค์ทำตามถ้อยคำที่พระองค์ตรัส?
5 พระเยซูทรงประสงค์จะให้ผู้คนรู้ว่าข่าวสารของพระองค์มาจากแหล่งไหน. พระองค์ตรัสว่า “คำสอนของเราไม่เป็นของเราเอง, แต่เป็นของพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 7:16) ในอีกโอกาสหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เรามิได้ทำสิ่งใดโดยลำพังตัวเราเอง, แต่พระบิดาได้ทรงสอนเราอย่างไร, เราจึงกล่าวอย่างนั้น.” (โยฮัน 8:28) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ตรัสว่า “คำซึ่งเรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายเรามิได้กล่าวโดยลำพังเราเอง, แต่พระบิดาที่อยู่ในเราพระองค์นั้นทรงกระทำกิจการของพระองค์.” (โยฮัน 14:10) วิธีหนึ่งที่พระเยซูพิสูจน์ว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริงคือ ยกข้อความจากพระคำของพระเจ้าที่มีการบันทึกไว้ขึ้นมากล่าวครั้งแล้วครั้งเล่า.
6, 7. (ก) พระเยซูยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากขนาดไหน และทำไมการทำเช่นนี้เป็นเรื่องน่าประทับใจ? (ข) คำสอนของพระเยซูต่างจากคำสอนของพวกอาลักษณ์อย่างไร?
6 การศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับคำตรัสของพระเยซูที่มีการบันทึกไว้เผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงยกข้อความโดยตรง หรือพาดพิงถึงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ทีแรก นั่นอาจฟังดูไม่ค่อยน่าประทับใจ. คุณอาจสงสัยว่า ในช่วงสามปีครึ่งของการสั่งสอนและการประกาศต่อสาธารณชน เหตุใดพระองค์จึงไม่ยกข้อความจากหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจทั้งหมด ที่มีอยู่. แต่ที่จริงแล้ว พระองค์อาจได้ทำเช่นนั้นจริง ๆ. อย่าลืมว่า มีเพียงส่วนเล็กน้อยของคำตรัสและการกระทำของพระเยซูที่มีการบันทึกไว้. (โยฮัน 21:25) ที่จริง คุณอาจจะอ่านออกเสียงคำตรัสทั้งหมดที่มีการบันทึกไว้ของพระเยซูในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง. ขอให้นึกภาพว่าคุณกำลังพูดเรื่องพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและพยายามจะอ้างถึงมากกว่าครึ่งหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู! นอกจากนั้น ส่วนใหญ่แล้วพระเยซูไม่มีม้วนหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่พร้อมจะหยิบมาอ่านได้. เมื่อพระองค์เสนอคำเทศน์บนภูเขาอันลือชื่อ พระองค์รวมเอาข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูหลายสิบครั้งทั้งโดยตรงและทางอ้อม—ทั้งหมดมาจากความทรงจำ!
7 การที่พระเยซูยกข้อความจากพระคัมภีร์มากล่าวแสดงให้เห็นความเคารพอย่างลึกซึ้งที่พระองค์มีต่อพระคำของพระเจ้า. ผู้ที่ฟังพระองค์ “ก็ประหลาดใจด้วยคำสอนของพระองค์, เพราะพระองค์ได้สั่งสอนเหมือนผู้มีอำนาจ, ไม่เหมือนพวกอาลักษณ์.” (มาระโก 1:22) เมื่อพวกอาลักษณ์สอน พวกเขาชอบอ้างถึงสิ่งที่เรียกกันว่ากฎหมายสืบปาก อ้างถึงพวกรับบีผู้รอบรู้ที่อยู่ในอดีต. พระเยซูไม่เคยเลยที่จะอ้างพยานหลักฐานจากกฎหมายสืบปากหรือรับบีบางคน. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ถือว่าพระคำของพระเจ้าเป็นแหล่งอ้างอิงสูงสุด. เราพบว่าพระองค์ตรัสครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “มีคำเขียนไว้ว่า.” พระองค์ทรงใช้ถ้อยคำดังกล่าวหรือใช้ถ้อยคำคล้ายกันนั้นหลายครั้งในการสอนเหล่าสาวกและในการแก้ไขความคิดผิด ๆ.
8, 9. (ก) พระเยซูทรงสนับสนุนอำนาจแห่งพระคำของพระเจ้าโดยวิธีใดเมื่อพระองค์ทรงชำระพระวิหาร? (ข) ผู้นำศาสนาที่พระวิหารได้แสดงความไม่นับถืออย่างยิ่งต่อพระคำของพระเจ้าในทางใด?
8 เมื่อพระเยซูทรงชำระพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม พระองค์ตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ว่า, โบสถ์ของเราเรียกว่าเป็นที่อธิษฐานอ้อนวอน. แต่เจ้าทั้งหลายมากระทำให้เป็นถ้ำของพวกโจร.” (มัดธาย 21:12, 13; ยะซายา 56:7; ยิระมะยา 7:11) หลังจากพระองค์ทรงชำระพระวิหารอย่างกล้าหาญแล้ว พระองค์ทรงทำการอัศจรรย์หลายอย่างที่นั่น. พวกเด็กที่รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งได้เริ่มสรรเสริญพระองค์. อย่างไรก็ดี พวกผู้นำศาสนาถามพระองค์ด้วยความขุ่นเคืองว่าพระองค์ได้ยินสิ่งที่เด็กเหล่านั้นพูดอยู่หรือไม่. พระองค์ทรงตอบว่า “ได้ยินแล้ว, พวกท่านยังไม่เคยอ่านหรือว่า, เสียงที่ออกจากปากเด็กอ่อนและทารกนั้นก็เป็นคำสรรเสริญอันจริงแท้?” (มัดธาย 21:16; บทเพลงสรรเสริญ 8:2) พระเยซูทรงต้องการให้คนเหล่านั้นรู้ว่าพระคำของพระเจ้าเห็นชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น.
9 ภายหลังผู้นำศาสนาเหล่านั้นได้รวมตัวกันมาเผชิญหน้ากับพระเยซูและถามว่า “ท่านกระทำการนี้โดยอำนาจอะไร?” (มัดธาย 21:23) พระเยซูแสดงหลักฐานมากมายอย่างชัดเจนถึงแหล่งที่มาแห่งอำนาจของพระองค์. พระองค์มิได้นำแนวคิดใหม่เข้ามา โดยคิดคำสอนใหม่ขึ้น. พระองค์เพียงแต่นำสิ่งที่กล่าวไว้ในพระคำของพระบิดาซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจนั้นมาใช้. ฉะนั้น จริง ๆ แล้ว ปุโรหิตและอาลักษณ์เหล่านั้นแสดงความไม่นับถืออย่างยิ่งต่อพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์. พวกเขาสมควรได้รับการติเตียนจากพระเยซูอย่างแท้จริงขณะที่พระองค์ทรงเปิดโปงเจตนาอันชั่วร้ายของพวกเขา.—มัดธาย 21:23-46.
10. เราจะเลียนแบบพระเยซูในวิธีที่เราใช้พระคำของพระเจ้าได้อย่างไร และเรามีเครื่องช่วยอะไรที่พระเยซูไม่มี?
10 เช่นเดียวกับพระเยซู คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้อาศัยพระคำของพระเจ้าในงานเผยแพร่. พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันตลอดทั่วโลกในเรื่องความกระตือรือร้นที่จะบอกข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่น. สรรพหนังสือของเรายกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลและอ้างอิงถึงพระคัมภีร์อย่างมากมาย. และในงานเผยแพร่ของเรา เราทำอย่างเดียวกันนั้น โดยพยายามจะแสดงให้เห็นข้อความจากพระคัมภีร์เมื่อไรก็ตามที่เราพูดคุยกับประชาชน. (2 ติโมเธียว 3:16) เรารู้สึกยินดีสักเพียงไรเมื่อมีคนยอมให้เราอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลให้เขาฟังและพิจารณาคุณค่ารวมทั้งความหมายแห่งพระคำของพระเจ้า! เราไม่มีความจำอันยอดเยี่ยมเหมือนพระเยซู แต่เรามีเครื่องช่วยหลายอย่างที่พระเยซูไม่มี. นอกจากคัมภีร์ไบเบิลครบชุดที่พิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นทุกทีแล้ว เรายังมีคู่มือคัมภีร์ไบเบิลหลายเล่มที่ช่วยเราหาข้อใด ๆ ที่เราอาจต้องการหา. ขอให้เราตั้งใจที่จะยกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลและชี้แนะผู้คนมาหาพระคัมภีร์ต่อ ๆ ไปในทุกโอกาส!
การปกป้องพระคำของพระเจ้า
11. ทำไมบ่อยครั้งพระเยซูต้องปกป้องพระคำของพระเจ้า?
11 พระเยซูได้พบว่า พระคำของพระเจ้าถูกกล่าวโจมตีอยู่บ่อยครั้ง แต่เรื่องนั้นมิได้ทำให้พระองค์ประหลาดใจอย่างแน่นอน. พระเยซูทูลพระบิดาของพระองค์ในคำอธิษฐานว่า “คำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17) และพระเยซูทรงทราบดีว่าซาตาน “ผู้ครองโลก” เป็น “ช่างมุสาและเป็นพ่อของการมุสา.” (โยฮัน 8:44; 14:30) เมื่อปฏิเสธการล่อใจของซาตาน พระเยซูยกข้อความมาจากพระคัมภีร์สามครั้ง. ซาตานได้ยกข้อหนึ่งจากบทเพลงสรรเสริญ โดยจงใจนำข้อนั้นมาใช้อย่างผิด ๆ และพระเยซูทรงตอบโต้โดยปกป้องพระคำของพระเจ้าไว้มิให้ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ เช่นนี้.—มัดธาย 4:6, 7.
12-14. (ก) ผู้นำศาสนาแสดงให้เห็นการขาดความนับถือต่อพระบัญญัติของโมเซในทางใดบ้าง? (ข) พระเยซูทรงปกป้องพระคำของพระเจ้าโดยวิธีใด?
12 บ่อยครั้งพระเยซูปกป้องพระคัมภีร์บริสุทธิ์ไว้มิให้ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ, ถูกตีความผิด ๆ, และถูกบิดเบือน. ผู้สอนศาสนาในสมัยของพระองค์อธิบายพระคำของพระเจ้าในแบบที่บิดเบือน. พวกเขาเน้นมากในเรื่องการปฏิบัติตามบางตอนในพระบัญญัติของโมเซที่เป็นข้อปลีกย่อยเล็กน้อยที่สุด แต่แทบจะไม่เน้นเลยในเรื่องการนำหลักการซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายดังกล่าวนั้นมาใช้. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาสนับสนุนการนมัสการแบบผิวเผิน แบบที่เกี่ยวข้องกับการปรากฏภายนอกแทนที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สำคัญกว่า เช่น ความยุติธรรม, ความเมตตา, และความซื่อสัตย์. (มัดธาย 23:23) พระเยซูทรงปกป้องกฎหมายของพระเจ้าอย่างไร?
13 ในคำเทศน์บนภูเขา หลายต่อหลายครั้งที่พระเยซูทรงใช้วลีที่ว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้” เพื่อนำเข้าสู่กฎหมายในพระบัญญัติของโมเซ. ต่อจากนั้นพระองค์จะใช้วลีที่ว่า “ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลาย” แล้วก็อธิบายหลักการที่ลึกซึ้งกว่าการปฏิบัติตามพระบัญญัติซึ่งเป็นการกระทำแบบผิวเผิน. พระองค์โต้แย้งพระบัญญัติไหม? เปล่าเลย พระองค์กำลังปกป้องพระบัญญัตินั้น. ตัวอย่างเช่น ผู้คนทราบดีถึงพระบัญญัติข้อที่ว่า “อย่าฆ่าคน.” แต่พระเยซูทรงบอกพวกเขาว่าการเกลียดชังคนอื่นเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของพระบัญญัติข้อนั้น. คล้ายกัน การมีใจกำหนัดต่อคนอื่นนอกจากคู่สมรสของตนเป็นการละเมิดหลักการซึ่งแฝงอยู่ในกฎหมายของพระเจ้าที่ห้ามการเล่นชู้.—มัดธาย 5:17, 18, 21, 22, 27-39.
14 ท้ายสุด พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า จงรักคนสนิทและเกลียดชังศัตรู. ฝ่ายเราบอกท่านว่าจงรักศัตรูของท่านและจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน.” (มัดธาย 5:43, 44) พระบัญชาที่ให้ “เกลียดชังศัตรู” เอามาจากพระคำของพระเจ้าไหม? ไม่ใช่ ผู้นำศาสนาได้สอนกฎนี้จากความคิดริเริ่มของตนเอง. พวกเขาลดความสำคัญของพระบัญญัติที่ดีพร้อมของพระเจ้าด้วยการคิดแบบมนุษย์. โดยไม่หวาดหวั่น พระเยซูทรงปกป้องพระคำของพระเจ้าไว้มิให้ได้รับผลเสียหายจากประเพณีของมนุษย์.—มาระโก 7:9-13.
15. พระเยซูปกป้องพระบัญญัติของพระเจ้าไว้อย่างไรเมื่อมีคนพยายามทำให้ดูเหมือนว่ากฎหมายนั้นเข้มงวดเกินไป ถึงกับไร้ความปรานีด้วยซ้ำ?
15 ผู้นำศาสนายังได้ทำให้พระบัญญัติของพระเจ้าดูเหมือนเข้มงวดเกินไป หรือถึงกับไร้ความปรานีเสียด้วยซ้ำ. เมื่อเหล่าสาวกของพระเยซูเด็ดรวงข้าวกินขณะที่ผ่านทุ่งนา ฟาริซายบางคนอ้างว่าพวกเขาละเมิดกฎวันซะบาโต. พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างจากพระคัมภีร์เพื่อปกป้องพระคำของพระเจ้าจากทัศนะที่ไม่สมดุลเช่นนี้. พระองค์ทรงอ้างถึงหลักฐานเดียวในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ขนมปังซึ่งตั้งถวายอยู่นอกสถานศักดิ์สิทธิ์ เมื่อดาวิดกับพรรคพวกของท่านที่หิวได้รับประทานขนมปังนั้น. พระเยซูแสดงให้ฟาริซายเหล่านั้นเห็นว่าพวกเขาพลาดจุดสำคัญแห่งความเมตตาและความสงสารของพระยะโฮวา.—มาระโก 2:23-27.
16. ผู้นำศาสนาได้เปลี่ยนคำสั่งของโมเซในเรื่องการหย่าอย่างไร และพระเยซูทรงตรัสอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
16 ผู้นำศาสนายังคิดหาช่องโหว่ที่จะหลบเลี่ยงกฎหมายเพื่อบั่นทอนพลังแห่งพระบัญญัติของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น พระบัญญัติอนุญาตให้ผู้ชายหย่าภรรยาของตนหากเขาพบว่าเธอมี “สิ่งน่าอาย” ดูเหมือนเป็นปัญหาที่ร้ายแรงบางอย่างซึ่งนำความอับอายมาสู่ครอบครัว. (พระบัญญัติ 24:1, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ดี ในสมัยของพระเยซู ผู้นำศาสนาได้ใช้การอนุญาตดังกล่าวเพื่อเป็นเหตุผลในการยอมให้ผู้ชายหย่าภรรยาของตนด้วยสาเหตุทุกอย่าง แม้แต่การทำให้อาหารมื้อเย็นของเขาไหม้!a พระเยซูแสดงให้เห็นว่าพวกเขาบิดเบือนถ้อยคำของโมเซที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้นอย่างแรง. พระองค์จึงทรงฟื้นฟูมาตรฐานดั้งเดิมในการสมรส นั่นคือการมีสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียว โดยให้การผิดศีลธรรมทางเพศเป็นสาเหตุอันควรอย่างเดียวเท่านั้นสำหรับการหย่าร้าง.—มัดธาย 19:3-12.
17. คริสเตียนในทุกวันนี้อาจเลียนแบบพระเยซูในการปกป้องพระคำของพระเจ้าโดยวิธีใด?
17 คล้ายกัน เหล่าสาวกของพระคริสต์ในทุกวันนี้รู้สึกว่าต้องปกป้องพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไว้มิให้ถูกบิดเบือน. เมื่อผู้นำศาสนาแสดงนัยว่ามาตรฐานด้านศีลธรรมในพระคำของพระเจ้าล้าสมัย พวกเขาบิดเบือนคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริง. คัมภีร์ไบเบิลยังถูกบิดเบือนด้วยเมื่อศาสนาต่าง ๆ สอนความเท็จและเสนอเรื่องดังกล่าวว่าเป็นคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. เราถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่จะปกป้องพระคำแห่งความจริงอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น โดยแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ามิใช่เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ. (พระบัญญัติ 4:39) ในขณะเดียวกัน เรากล่าวปกป้องพระคำของพระเจ้าอย่างสุภาพ ด้วยความอ่อนโยนอย่างแท้จริงและด้วยความนับถือสุดซึ้ง.—1 เปโตร 3:15.
อธิบายพระคำของพระเจ้า
18, 19. ตัวอย่างอะไรแสดงให้เห็นว่าพระเยซูมีความสามารถอย่างน่าพิศวงที่จะอธิบายพระคำของพระเจ้า?
18 พระเยซูมีพระชนม์อยู่ในสวรรค์ตอนที่มีการบันทึกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. พระองค์คงต้องกระตือรือร้นสักเพียงไรที่มีโอกาสเสด็จมายังแผ่นดินโลกและมีส่วนในการอธิบายพระคำของพระเจ้า! ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงวันนั้นที่น่าจดจำหลังจากการคืนพระชนม์ของพระเยซูตอนที่พระองค์ได้พบกับสาวกสองคนของพระองค์บนถนนไปหมู่บ้านเอ็มมาอู. ก่อนที่ทั้งสองจะจำได้ว่าพระองค์เป็นใคร เขาได้เล่าให้พระองค์ฟังว่าพวกตนรู้สึกเศร้าใจและสับสนสักเพียงไรเนื่องจากความตายของผู้เป็นนายที่รักของพวกเขา. พระองค์ทรงตอบรับอย่างไร? “พระองค์จึงเริ่มกล่าวเรื่องตั้งต้นแต่โมเซและบรรดาศาสดาพยากรณ์, อธิบายให้เขาฟังในคัมภีร์ทั้งหมดซึ่งเขียนไว้เล็งถึงพระองค์.” เขาทั้งสองได้รับผลกระทบอย่างไร? ภายหลังเขาพูดกันว่า “ใจของเราเร่าร้อนภายในเราเมื่อพระองค์ทรงพูดกับเราที่กลางทาง, และเมื่อพระองค์อธิบายคัมภีร์ให้แก่เรามิใช่หรือ?”—ลูกา 24:15-32.
19 ต่อมาในวันเดียวกันนั้น พระเยซูได้พบกับเหล่าอัครสาวกและคนอื่น ๆ. โปรดสังเกตสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อพวกเขา “พระองค์ทรงเปิดจิตใจพวกเขาออกเต็มที่เพื่อให้เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์.” (ลูกา 24:45, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยว่า โอกาสที่น่ายินดีนั้นได้ทำให้พวกเขาคิดถึงสิ่งคล้ายกันที่พระเยซูได้ทรงทำหลายต่อหลายครั้งเพื่อพวกเขา รวมทั้งใคร ๆ ที่จะฟังพระองค์. บ่อยครั้งพระองค์ได้ยกข้อความจากพระคัมภีร์ที่รู้จักกันดีแล้วอธิบายข้อความเหล่านั้นในวิธีที่ก่อผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อจิตใจของผู้ฟัง ซึ่งเป็นความเข้าใจใหม่ ๆ และลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า.
20, 21. พระเยซูทรงอธิบายถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสแก่โมเซ ณ พุ่มไม้ซึ่งมีไฟลุกโชนอยู่นั้นอย่างไร?
20 ในโอกาสเช่นนั้นครั้งหนึ่ง พระเยซูตรัสแก่กลุ่มซาดูกาย. พวกเขาเป็นนิกายหนึ่งของศาสนายิวซึ่งมีความสัมพันธ์กับคณะปุโรหิตชาวยิว และพวกเขาไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “แต่เรื่องที่เป็นขึ้นมาจากความตายนั้น, ท่านทั้งหลายยังไม่ได้อ่านหรือ, ซึ่งพระเจ้าได้ตรัสไว้แก่พวกท่านว่า, ‘เราเป็นพระเจ้าของอับราฮาม, พระเจ้าของยิศฮาค, และพระเจ้าของยาโคบ,’ ไม่ได้เป็นพระเจ้าของคนตาย, แต่เป็นพระเจ้าของคนเป็น?” (มัดธาย 22:31, 32) นี่เป็นข้อคัมภีร์ที่พวกเขารู้จักดี เขียนโดยโมเซซึ่งเป็นคนที่พวกซาดูกายนับถือ. แต่คุณเห็นพลังแห่งคำอธิบายของพระเยซูไหม?
21 โมเซได้สนทนากับพระยะโฮวาตรงพุ่มไม้ที่มีไฟลุกโชนอยู่ ประมาณปี 1514 ก่อนสากลศักราช. (เอ็กโซโด 3:2, 6) ตอนนั้น อับราฮามได้เสียชีวิตไปแล้ว 329 ปี, ยิศฮาค 224 ปี, และยาโคบ 197 ปี. กระนั้น พระยะโฮวาก็ยังคงตรัสว่า “เราเป็น” พระเจ้าของพวกเขา. พวกซาดูกายเหล่านั้นรู้ว่าพระยะโฮวาไม่เหมือนพระนอกรีตบางองค์ของคนตาย ซึ่งปกครองอยู่ในยมโลกตามเทพนิยาย. เปล่าเลย พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า “ของคนเป็น” ดังที่พระเยซูตรัส. ถ้าเช่นนั้น อะไรเป็นข้อสรุปที่มีเหตุผล? ข้อสรุปของพระเยซูมีพลังคือ “จำเพาะพระเจ้าคนทุกคนยังเป็นอยู่.” (ลูกา 20:38) ผู้รับใช้ซึ่งเป็นที่รักของพระยะโฮวาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นได้รับการปกปักรักษาไว้อย่างปลอดภัยในความทรงจำของพระเจ้าที่ไร้ขีดจำกัดอย่างไม่มีวันเลือนหายไป. พระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะปลุกคนเช่นนั้นให้เป็นขึ้นจากตายเป็นเรื่องแน่นอนจนถึงกับพูดได้ว่าพวกเขายังเป็นอยู่. (โรม 4:16, 17) นี่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าอย่างที่น่าพิศวงมิใช่หรือ? ไม่น่าแปลกที่ “ประชาชนทั้งปวงเมื่อได้ยินแล้วก็ประหลาดใจ”!—มัดธาย 22:33.
22, 23. (ก) เราอาจเลียนแบบพระเยซูในการอธิบายพระคำของพระเจ้าได้โดยวิธีใด? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทถัดไป?
22 คริสเตียนในทุกวันนี้มีสิทธิพิเศษในการเลียนแบบวิธีที่พระเยซูอธิบายพระคำของพระเจ้า. จริงอยู่ ใช่ว่าเราจะมีความคิดจิตใจที่ดีพร้อม. ถึงกระนั้น บ่อยครั้งเราสามารถอธิบายข้อคัมภีร์ที่คนอื่นรู้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นแง่มุมที่เขาไม่เคยได้พิจารณาเลยด้วยซ้ำ. ตัวอย่างเช่น ตลอดชีวิตเขาอาจเคยกล่าวซ้ำคำอธิษฐานที่ว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” และ “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่.” (มัดธาย 6:9, 10) เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมสักเพียงไรเมื่อมีคนยอมให้เราอธิบายความจริงดังกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย!
23 การยกข้อความจากพระคำของพระเจ้า, การกล่าวปกป้อง, และอธิบายพระคำนั้น เป็นแง่มุมที่สำคัญในการเลียนแบบวิธีที่พระเยซูแบ่งปันความจริง. ต่อจากนี้ให้เราพิจารณาบางวิธีที่บังเกิดผลซึ่งพระเยซูทรงใช้เพื่อเข้าถึงหัวใจผู้ฟังพร้อมด้วยความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
a โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษแรก ซึ่งเป็นฟาริซายที่หย่ากับภรรยา ได้เสนอแนะในภายหลังว่าควรมีการอนุญาตให้หย่าได้ “ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม (และพวกผู้ชายอ้างว่ามีหลายสาเหตุที่จะหย่า).”