จงแสวงหาพระเจ้าด้วยหัวใจและจิตใจ
ศาสนาคริสเตียนแท้สนับสนุนการใช้ทั้งหัวใจและจิตใจในการสร้างความเชื่อที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย.
ที่จริง พระเยซูคริสต์ ผู้ก่อตั้งศาสนาคริสเตียนสอนว่าเราต้องรักพระเจ้าด้วย “สุดจิตใจ” หรือความสามารถที่จะคิด นอกจากรัก “สุดหัวใจ” และ “สุดจิตวิญญาณ” ของเรา. (มัดธาย 22:37, ล.ม.) ถูกแล้ว ความสามารถด้านความคิดของเราต้องมีบทบาทสำคัญในการนมัสการของเรา.
เมื่อเชิญผู้ฟังทั้งหลายให้ไตร่ตรองดูคำสอนของพระองค์ พระเยซูมักจะตรัสว่า “ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร?” (มัดธาย 17:25; 18:12; 21:28; 22:42) ในลักษณะเดียวกัน อัครสาวกเปโตรได้เขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อเพื่อจะ ‘กระตุ้นความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัดของพวกเขา.’ (2 เปโตร 3:1, ล.ม.) อัครสาวกเปาโล มิชชันนารีรุ่นแรกที่เดินทางอย่างกว้างไกลที่สุด ได้กระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ใช้ ‘ความสามารถในการหาเหตุผล’ ของเขาและให้ “พิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.” (โรม 12:1, 2, ล.ม.) เฉพาะแต่โดยการพิจารณาความเชื่อของเขาอย่างละเอียดและรอบคอบเช่นนั้น คริสเตียนจึงจะสร้างความเชื่อที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้และเป็นความเชื่อชนิดที่ทำให้เขาสามารถรับมือกับการทดลองต่าง ๆ ที่เกิดในชีวิตได้อย่างเป็นผลสำเร็จ.—เฮ็บราย 11:1, 6.
เพื่อช่วยคนอื่นให้สร้างความเชื่อเช่นนั้น ผู้เผยแพร่กิตติคุณคริสเตียนยุคแรก “หาเหตุผลกับพวกเขาจากพระคัมภีร์ อธิบายและพิสูจน์ด้วยข้ออ้างอิง” ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีการสอนนั้น. (กิจการ 17:1-3, ล.ม.) การพิจารณาอย่างมีเหตุผลดังกล่าวดึงการตอบรับที่ดีออกมาจากชนที่มีหัวใจสุจริต. ตัวอย่างเช่น หลายคนในเมืองเบรอยะ ในมณฑลมาซิโดเนีย (มากะโดเนีย) “ได้รับเอาถ้อยคำ [ของพระเจ้า] นั้นด้วยใจกระตือรือร้นอย่างยิ่ง และตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน เพื่อดูว่าข้อความนั้น [ที่เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านได้อธิบาย] จะจริงดังกล่าวหรือไม่.” (กิจการ 17:11, ล.ม.) มีสองสิ่งในข้อนี้ที่ควรสังเกต. ประการแรก ชาวเมืองเบรอยะกระตือรือร้น ที่จะฟังพระคำของพระเจ้า; ประการที่สอง พวกเขามิได้ยอมรับเรื่องที่ได้ยินนั้นว่าถูกต้องโดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ แต่พวกเขาพิสูจน์ความจริงของเรื่องนั้นโดยการค้นดูพระคัมภีร์. ลูกามิชชันนารีคริสเตียนชมเชยชาวเบรอยะด้วยความนับถือในการทำเช่นนี้ โดยเรียกพวกเขาว่า “มีจิตใจสูง.” คุณสะท้อนให้เห็นการมีจิตใจสูงเช่นนั้นในการพิจารณาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับศาสนาไหม?
จิตใจและหัวใจประสานกัน
ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น การนมัสการแท้เกี่ยวข้องกับทั้งจิตใจและหัวใจ. (มาระโก 12:30) ขอให้ไตร่ตรองดูตัวอย่างในบทความก่อนเกี่ยวกับช่างทาสีรับจ้างซึ่งใช้สีผิดเมื่อทาสีบ้าน. หากเขาตั้งใจฟังคำสั่งของผู้ว่าจ้าง เขาคงจะทำงานอย่างสุดหัวใจและมั่นใจว่างานที่เขาทำคงจะได้รับความพอใจจากเจ้าของบ้าน. หลักเดียวกันนำมาใช้ได้กับการนมัสการของเรา.
พระเยซูตรัสว่า “ผู้นมัสการแท้ทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:23, ล.ม.) ฉะนั้น อัครสาวกเปาโลจึงเขียนว่า “นั่นก็เป็นเหตุที่ .. . เราไม่ได้เลิกอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายและทูลขอให้ท่านประกอบด้วยความรู้ถ่องแท้เรื่องพระทัยประสงค์ของพระองค์ในสรรพปัญญาและความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ เพื่อจะดำเนินคู่ควรกับพระยะโฮวา เพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม.” (โกโลซาย 1:9, 10, ล.ม.) “ความรู้ถ่องแท้” ดังกล่าวทำให้บุคคลที่จริงใจนมัสการอย่างสุดหัวใจและสุดจิตวิญญาณของเขาพร้อมด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมเพราะเขา ‘นมัสการซึ่ง [เขา] รู้จัก.’—โยฮัน 4:22, ล.ม.
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่ให้ทารกหรือคนสนใจใหม่ซึ่งยังไม่ได้ศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนนั้นรับบัพติสมา. พระเยซูทรงมอบหมายเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “จง . . . ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) เฉพาะแต่หลังจากได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าแล้วเท่านั้น นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจจึงสามารถทำการตัดสินใจที่อาศัยความรู้นั้นเกี่ยวกับเรื่องการนมัสการ. คุณพยายามจะได้รับความรู้ถ่องแท้เช่นนั้นไหม?
การเข้าใจคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เพื่อจะเห็นความแตกต่างระหว่างการมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลกับการมีความรู้อันจำกัดเกี่ยวกับสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าว ขอให้เราพิจารณาข้อความที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บทสวดข้าแต่พระบิดา หรือคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 6:9-13, ล.ม.
ผู้คนนับล้านท่องคำอธิษฐานตัวอย่างของพระเยซูในโบสถ์เป็นประจำ. แต่มีสักกี่คนที่ได้รับการสอนเกี่ยวกับความหมายของคำอธิษฐานนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนแรกของคำอธิษฐานที่เกี่ยวข้องกับพระนามและราชอาณาจักรของพระเจ้า? เรื่องเหล่านี้สำคัญถึงขนาดพระเยซูจัดไว้เป็นอันดับแรกในคำอธิษฐานนั้น.
คำอธิษฐานนั้นเริ่มต้นว่า “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายในสวรรค์. ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” หมายความว่าทำให้ศักดิ์สิทธิ์. โปรดสังเกตที่พระเยซูตรัสว่าให้อธิษฐานขอเพื่อพระนาม ของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. สำหรับหลายคน นั่นทำให้เกิดคำถามอย่างน้อยสองประการ. ประการแรก พระนามของพระเจ้าคืออะไร? และประการที่สอง ทำไมจึงจำเป็นต้องทำให้พระนามนั้นเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
คำตอบสำหรับคำถามแรกจะพบได้มากกว่า 7,000 แห่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาเดิม. แห่งหนึ่งอยู่ที่บทเพลงสรรเสริญ 83:18 ที่ว่า “เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” เอ็กโซโด 3:15 กล่าวถึงพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวาว่า “นี่แหละเป็นนามของเราเป็นนิตย์; นี่แหละเป็นที่ระลึกของเราตลอดทุกชั่วอายุมนุษย์.”a แต่ทำไมพระนามของพระเจ้าซึ่งเป็นแก่นแท้ของความบริสุทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์นั้น ต้องได้รับการทำให้บริสุทธิ์? เนื่องจากพระนามนั้นถูกติเตียนและถูกใส่ร้ายมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษย์.
ในสวนเอเดน พระเจ้าทรงแจ้งแก่อาดามและฮาวาว่าเขาทั้งสองจะตายถ้ารับประทานผลไม้ต้องห้ามนั้น. (เยเนซิศ 2:17) ซาตานแย้งพระเจ้าอย่างไร้ยางอาย โดยบอกฮาวาว่า “เจ้าจะไม่ตายจริงดอก.” ดังนั้น ซาตานกล่าวหาพระเจ้าว่าโกหก. กระนั้น มันมิได้หยุดอยู่แค่นั้น. มันได้ทำให้คำติเตียนทับถมพระนามของพระเจ้ามากขึ้นอีก โดยบอกฮาวาว่าพระเจ้าหน่วงเหนี่ยวความรู้ที่มีค่าไว้จากเธออย่างไม่เป็นธรรม. “เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า, เจ้ากินผลไม้นั้น [จากต้นไม้เกี่ยวกับความรู้เรื่องความดีและความชั่ว] เข้าไปวันใด, ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น; แล้วเจ้าจะเป็นเหมือนพระ, จะรู้จักความดีและชั่ว.” ช่างเป็นการใส่ร้ายอะไรเช่นนี้!—เยเนซิศ 3:4, 5.
โดยการรับประทานผลไม้ต้องห้ามนั้น อาดามและฮาวาเข้าอยู่ฝ่ายซาตาน. มนุษย์ส่วนใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ก็ตาม ได้เพิ่มคำติเตียนแรกเดิมเข้าไปอีกโดยปฏิเสธมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า. (1 โยฮัน 5:19) ผู้คนยังคงใส่ร้ายพระเจ้าโดยการตำหนิพระองค์เนื่องจากความทุกข์ของเขา—ถึงแม้ความทุกข์นั้นอาจเกิดขึ้นเนื่องจากแนวทางที่ชั่วร้ายของตนเองก็ตาม. สุภาษิต 19:3 (เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) กล่าวว่า “ความโง่เขลาของมนุษย์ทำให้ชีวิตเขาอับปาง แล้วเขาก็ขุ่นเคืององค์พระผู้เป็นเจ้า.” คุณมองออกไหมถึงเหตุผลที่พระเยซูผู้ซึ่งรักพระบิดาอย่างแท้จริง ได้อธิษฐานขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่”
หลังจากอธิษฐานขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์แล้ว พระเยซูตรัสว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น.” (มัดธาย 6:10, ล.ม.) เราอาจถามเกี่ยวกับข้อความตอนนี้ว่า ‘ราชอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร? และการมาของราชอาณาจักรนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลก?’
ในคัมภีร์ไบเบิล คำ “ราชอาณาจักร” โดยพื้นฐานแล้วหมายถึง “การปกครองโดยกษัตริย์.” ดังนั้น ตามเหตุผลแล้ว ราชอาณาจักรของพระเจ้า จะพาดพิงถึงการปกครอง หรือรัฐบาลโดยพระเจ้า พร้อมกับกษัตริย์ที่พระองค์ทรงเลือก. กษัตริย์องค์นี้จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์ ผู้คืนพระชนม์แล้ว—“กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย.” (วิวรณ์ 19:16, ล.ม.; ดานิเอล 7:13, 14) เกี่ยวกับราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้าในพระหัตถ์ของพระเยซูคริสต์ ผู้พยากรณ์ดานิเอลเขียนไว้ว่า “ในสมัยของกษัตริย์เหล่านั้น [รัฐบาลมนุษย์ที่ปกครองอยู่ในขณะนี้] พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรหนึ่งขึ้นซึ่งจะไม่มีวันถูกทำลาย. และอาณาจักรนี้จะไม่ถูกยกแก่ชนชาติอื่นใด. อาณาจักรนี้จะบดขยี้อาณาจักรทั้งปวงนั้นและทำให้สิ้นไป และอาณาจักรนี้จะคงอยู่จนเวลาไม่กำหนด” นั่นคือ ตลอดกาล.—ดานิเอล 2:44, ล.ม.
ถูกแล้ว ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเข้าควบคุมแผ่นดินโลกอย่างเต็มที่ กำจัดคนชั่วทั้งสิ้นให้หมดไปจากแผ่นดินโลกและปกครอง “จนเวลาไม่กำหนด” นั่นก็คือ ตลอดไป. โดยวิธีนี้ ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นวิถีทางที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ขจัดคำติเตียนเท็จทั้งสิ้นของซาตานและคนชั่วให้พ้นจากพระนามนั้น.—ยะเอศเคล 36:23.
เช่นเดียวกับรัฐบาลทั้งสิ้น ราชอาณาจักรของพระเจ้ามีประชากร. คนเหล่านี้คือใคร? คัมภีร์ไบเบิลตอบว่า “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:11) คล้ายกัน พระเยซูตรัสว่า “ความสุขมีแก่คนอ่อนโยน เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก.” แน่นอน คนเหล่านี้ได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำหรับชีวิต.—มัดธาย 5:5, ล.ม.; โยฮัน 17:3.
คุณนึกภาพออกไหมที่แผ่นดินโลกทั้งสิ้นเต็มด้วยผู้คนที่อ่อนน้อม, อ่อนโยนผู้ซึ่งรักพระเจ้าและรักกันและกันอย่างแท้จริง? (1 โยฮัน 4:7, 8) นั่นเป็นสิ่งที่พระเยซูได้อธิษฐานขอเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” คุณเข้าใจเหตุผลที่พระเยซูสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้อธิษฐานแบบนั้นไหม? สำคัญยิ่งกว่านั้น คุณเห็นไหมว่าความสำเร็จเป็นจริงของคำอธิษฐานนั้นอาจมีผลกระทบอย่างไรต่อตัวคุณ?
ผู้คนนับล้านหาเหตุผลในพระคัมภีร์อยู่ขณะนี้
พระเยซูได้บอกล่วงหน้าถึงการรณรงค์ให้การศึกษาอบรมฝ่ายวิญญาณทั่วโลกซึ่งจะประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าที่กำลังจะมาถึง. พระองค์ตรัสว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสาน [ของโลกหรือระบบปัจจุบัน] จะมาถึง.”—มัดธาย 24:14, ล.ม.
ตลอดทั่วโลกพยานพระยะโฮวาประมาณหกล้านคนกำลังบอกข่าวดีให้กับเพื่อนบ้านของเขา. พวกเขาเชิญคุณให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์โดย “ตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบ” ใช้ความสามารถในการหาเหตุผลของคุณ. การทำเช่นนี้จะเสริมสร้างความเชื่อของคุณและทำให้คุณปลาบปลื้มขณะที่คิดถึงความหวังเกี่ยวกับชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ซึ่งจะ “เต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.”—ยะซายา 11:6-9.
[เชิงอรรถ]
a ผู้คงแก่เรียนบางคนชอบคำแปล “ยาห์เวห์” มากกว่า “ยะโฮวา.” อย่างไรก็ดี ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลสมัยปัจจุบันส่วนใหญ่ได้ลบพระนามของพระเจ้าไม่ว่าในรูปแบบใดออกจากฉบับแปลของเขา แล้วแทนที่พระนามนั้นด้วยคำระบุตำแหน่งที่ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “พระเจ้า.” สำหรับการพิจารณาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้า โปรดดูจุลสารพระนามของพระเจ้าซึ่งจะยืนยงตลอดกาล (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
จงเลียนแบบครูผู้ยิ่งใหญ่
พระเยซูมักจะสอนโดยเพ่งเล็งเรื่องที่เจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น ภายหลังการคืนพระชนม์ พระองค์ทรงอธิบายบทบาทของพระองค์ในพระประสงค์ของพระเจ้าแก่สาวกสองคนซึ่งรู้สึกงุนงงเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. ลูกา 24:27 กล่าวว่า “พระองค์จึงเริ่มกล่าวเรื่องตั้งต้นแต่โมเซและบรรดาศาสดาพยากรณ์, อธิบายให้เขาฟังในคัมภีร์ทั้งหมดซึ่งเขียนไว้เล็งถึงพระองค์.”
โปรดสังเกตว่า พระเยซูทรงเลือกเรื่องที่เจาะจงเกี่ยวกับ “พระองค์ [เอง]” พระมาซีฮา และพระองค์ได้ยกเรื่องนั้นมาจาก “คัมภีร์ทั้งหมด” ในการสนทนาของพระองค์. ที่แท้แล้ว พระเยซูทรงนำข้อคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมารวมกันเหมือนชิ้นส่วนของภาพต่อจิกซอว์ ซึ่งทำให้สาวกทั้งสองสามารถเห็นแบบแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับความจริงฝ่ายวิญญาณ. (2 ติโมเธียว 1:13) ผลก็คือ เขาไม่เพียงรู้แจ้งเท่านั้น แต่ยังรู้สึกซาบซึ้งด้วย. เรื่องราวบอกเราว่า “เขาจึงพูดกันว่า, ‘ใจของเราเร่าร้อนภายในเราเมื่อพระองค์ทรงพูดกับเราที่กลางทาง, และเมื่อพระองค์อธิบายคัมภีร์ให้แก่เรามิใช่หรือ.’”—ลูกา 24:32.
พยานพระยะโฮวาพยายามจะเลียนแบบวิธีของพระเยซูในงานสอนของเขา. คู่มือการศึกษาที่เป็นพื้นฐานของพวกเขาคือจุลสารพระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา? และหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. หนังสือทั้งสองนี้พิจารณาเรื่องที่น่าสนใจในคัมภีร์ไบเบิลหลายเรื่อง เช่น “ใครเป็นพระผู้สร้าง?,” “ทำไมพระเจ้ายอมให้มีความทุกข์?,” “คุณจะพบศาสนาแท้ได้อย่างไร?,” “นี่คือสมัยสุดท้าย!,” และ “การสร้างครอบครัวที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า.” บทเรียนแต่ละบทมีข้อคัมภีร์หลายข้อ.
เชิญคุณติดต่อกับพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นหรือเขียนไปตามที่อยู่ในหน้า 2 ของวารสารนี้เพื่อขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านฟรีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้และเรื่องอื่น ๆ.
[รูปภาพ]
จงเข้าถึงหัวใจของนักศึกษาโดยเพ่งเล็งเรื่องที่เจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล
[ภาพหน้า 7]
คุณเข้าใจความหมายของคำอธิษฐานตัวอย่างของพระเยซูไหม?
“พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายในสวรรค์. ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ .. . “
“ขอให้ราชอาณาจักร [มาซีฮา] ของพระองค์มาเถิด . . . “
“พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร ก็ขอให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น”