การรักเพื่อนบ้านของเราหมายความเช่นไร?
“จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.”—มัดธาย 22:39.
1. เราแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเรารักพระเจ้า?
พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากผู้นมัสการพระองค์? พระเยซูทรงสรุปคำตอบด้วยคำพูดไม่กี่คำที่ง่ายและลึกซึ้ง. พระองค์ตรัสว่า พระบัญชาที่สำคัญที่สุดคือจงรักพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ, ชีวิต, จิตใจ, และกำลังของเรา. (มัดธาย 22:37; มาระโก 12:30) ดังที่เราได้เห็นแล้วในบทความก่อน ความรักต่อพระเจ้าหมายรวมถึงการเชื่อฟังพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์เพื่อตอบสนองความรักที่พระองค์ได้แสดงต่อเรา. สำหรับคนที่รักพระเจ้า การทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก แต่นำมาซึ่งความยินดี.—บทเพลงสรรเสริญ 40:8; 1 โยฮัน 5:2, 3.
2, 3. เหตุใดเราควรสนใจพระบัญชาที่ให้รักเพื่อนบ้านของเรา และเกิดมีคำถามอะไรขึ้นมา?
2 ตามที่พระเยซูตรัส พระบัญญัติที่สำคัญเป็นอันดับสองมีความเกี่ยวข้องกับข้อที่สำคัญเป็นอันดับแรก กล่าวคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” (มัดธาย 22:39) พระบัญญัติข้อนี้เองที่เราจะสนใจพิจารณากันในตอนนี้ และมีเหตุผลที่ดีที่จะทำอย่างนั้น. ยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้เต็มไปด้วยความรักแบบที่ผิดเพี้ยนและเห็นแก่ตัว. ในคำพรรณนาถึง “สมัยสุดท้าย” อัครสาวกเปาโลเขียนโดยการดลใจว่าผู้คนจะไม่รักกัน แต่จะรักตัวเอง, เงินทอง, และความสนุกสนาน. หลายคนจะ “ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ” หรืออย่างที่คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลหนึ่งแปลไว้ว่าพวกเขาจะ “ขาดความรักที่ตามปกติคนเรามีต่อครอบครัว.” (2 ติโมเธียว 3:1-4, ล.ม.) พระเยซูคริสต์ทรงบอกล่วงหน้าดังนี้: “คนเป็นอันมากจะ . . . คิดคดทรยศ, ทั้งจะเกลียดชังซึ่งกันและกันด้วย . . . ความรักของคนเป็นอันมากจะเยือกเย็นลง.”—มัดธาย 24:10, 12.
3 อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่าพระเยซูไม่ได้กล่าวว่าความรักของทุกคน จะเยือกเย็นลง. มีคนที่แสดงความรักแบบที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องและทรงสมควรได้รับอยู่เสมอมา และจะมีคนเช่นนั้นเสมอไป. คนที่รักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงจะพยายามจริง ๆ เพื่อจะมีทัศนะต่อผู้อื่นเหมือนกับพระองค์. แต่ใครคือเพื่อนบ้านที่เราต้องรัก? เราควรแสดงความรักต่อเพื่อนบ้านของเราอย่างไร? พระคัมภีร์สามารถช่วยเราตอบคำถามสำคัญดังกล่าว.
ใครคือเพื่อนบ้านของฉัน?
4. ตามเลวีติโกบท 19 ชาวยิวต้องแสดงความรักต่อใคร?
4 เมื่อทรงบอกฟาริซายคนนั้นว่าพระบัญญัติที่สำคัญเป็นอันดับสองคือให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง พระเยซูกำลังตรัสถึงพระบัญญัติข้อหนึ่งโดยเฉพาะที่ได้ประทานแก่ชาติอิสราเอล. พระบัญญัติข้อนี้มีบันทึกไว้ที่เลวีติโก 19:18. ในบทเดียวกันนี้ ชาวยิวได้รับพระบัญชาว่าพวกเขาควรถือว่าคนอื่น ๆ นอกเหนือจากเพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอลเป็นเพื่อนบ้านของตน. ข้อ 34 (ฉบับแปลใหม่) อ่านดังนี้: “คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับเจ้านั้นก็เหมือนกับชาวเมืองของเจ้า เจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง เพราะว่าเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์.” ดังนั้น แม้แต่คนที่ไม่ใช่ชาวยิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรัก.
5. ชาวยิวเข้าใจในเรื่องการรักเพื่อนบ้านอย่างไร?
5 แต่พวกผู้นำชาวยิวในสมัยพระเยซูมองเรื่องนี้ต่างออกไป. บางคนสอนว่า คำ “เพื่อน” และ “เพื่อนบ้าน” ใช้เฉพาะกับชาวยิวเท่านั้น. คนที่ไม่ใช่ยิวต้องถูกเกลียด. พวกครูสอนเหล่านี้หาเหตุผลว่าคนที่นมัสการพระเจ้าต้องรังเกียจเหยียดหยามคนที่ไม่นมัสการพระเจ้า. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ในบรรยากาศเช่นนั้น ย่อมมีความเกลียดชังกันอยู่ไม่ขาด. สภาพแวดล้อมดังกล่าวยั่วยุสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง.”
6. พระเยซูทรงชี้ถึงสองจุดอะไรเมื่อตรัสเกี่ยวกับการรักเพื่อนบ้าน?
6 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสถึงประเด็นนี้ โดยให้ความกระจ่างว่าใครควรได้รับการปฏิบัติด้วยความรัก. พระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า, ‘จงรักคนสนิทและเกลียดชังศัตรู.’ ฝ่ายเราบอกท่านว่า, จงรักศัตรู และอวยพรแก่ผู้ที่แช่งด่าท่านจงทำคุณแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน, และจงขอพรให้แก่ผู้ที่ประทุษร้ายเคี่ยวเข็ญท่าน เพื่อท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่ว และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” (มัดธาย 5:43-45) ในที่นี้ พระเยซูทรงชี้ถึงสองจุด. จุดแรก พระยะโฮวาทรงเอื้อเฟื้อและกรุณาต่อทั้งคนดีและคนชั่ว. จุดที่สอง เราควรทำตามแบบอย่างของพระองค์.
7. เราเรียนอะไรจากอุทาหรณ์เรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย?
7 ในอีกโอกาสหนึ่ง ชาวยิวคนหนึ่งซึ่งช่ำชองพระบัญญัติถามพระเยซูว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” พระเยซูทรงตอบโดยเล่าอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่พรรณนาถึงชาวซะมาเรียคนหนึ่งซึ่งบังเอิญพบชายชาวยิวคนหนึ่งที่ถูกโจรทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์. แม้ว่าชาวยิวโดยทั่วไปดูถูกชาวซะมาเรีย แต่ชาวซะมาเรียคนนี้ทำแผลให้ชายผู้นี้และพาเขาไปพักในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ปลอดภัย เพื่อให้เขาพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ. บทเรียนคืออะไร? ความรักที่เรามีต่อเพื่อนบ้านควรขยายออกไปถึงผู้คนต่างเชื้อชาติ, ต่างสัญชาติ, หรือต่างศาสนา.—ลูกา 10:25, 29, 30, 33-37.
การรักเพื่อนบ้านของเราหมายความเช่นไร?
8. เลวีติโกบท 19 กล่าวเช่นไรเกี่ยวกับวิธีแสดงความรัก?
8 ความรักต่อเพื่อนบ้านนั้นก็เช่นเดียวกับความรักต่อพระเจ้า ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึก แต่เกี่ยวข้องกับการกระทำ. นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาเพิ่มเติมถึงบริบทของพระบัญชาที่บันทึกไว้ในเลวีติโกบท 19 ซึ่งกระตุ้นประชาชนของพระเจ้าให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง. ที่นั่น เราอ่านพบว่าชาวอิสราเอลต้องอนุญาตให้คนตกทุกข์ได้ยากและคนต่างด้าวมีส่วนร่วมในการเก็บเกี่ยว. ไม่มีการเปิดช่องให้ลักขโมย, หลอกลวง, หรือปฏิบัติอย่างไม่ซื่อตรง. ในการตัดสินคดี ชาวอิสราเอลไม่ควรแสดงความลำเอียง. แม้ว่าพวกเขาต้องว่ากล่าวเมื่อจำเป็น แต่พวกเขาได้รับคำสั่งที่เฉพาะเจาะจงว่า “อย่าเกลียดชังพี่น้องของเจ้าอยู่ในใจ.” พระบัญชาเหล่านี้และพระบัญชาอื่น ๆ อีกมากมายต่างรวมความอยู่ในถ้อยคำที่ว่า “เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.”—เลวีติโก 19:9-11, 15, 17, 18, ฉบับแปลใหม่.
9. เหตุใดพระยะโฮวาทรงมีบัญชาให้ชาวอิสราเอลแยกอยู่ต่างหากจากชาติอื่น ๆ?
9 แม้ว่าชาวอิสราเอลต้องแสดงความรักต่อผู้อื่น แต่พวกเขาต้องแยกอยู่ต่างหากจากคนที่นมัสการพระเท็จด้วย. พระยะโฮวาทรงเตือนถึงอันตรายและผลเสียหายของการคบหาที่ไม่ดี. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ที่ชาวอิสราเอลต้องเข้ายึดครองแผ่นดินของพวกเขาว่า “อย่าได้กระทำงานบ่าวสาวด้วยเขา; คือบุตรหญิงของเจ้า อย่ายกให้กับบุตรชายของเขา, และบุตรหญิงของเขาอย่ารับมาเป็นภรรยาบุตรชายของเจ้าเลย. ด้วยว่าจะให้บุตรชายของเจ้าหันหวนเสียจากเรา, ไปปฏิบัติพระอื่น ๆ: พระยะโฮวาจึงจะทรงพิโรธต่อเจ้า.”—พระบัญญัติ 7:3, 4.
10. เราจำเป็นต้องระวังอะไร?
10 คล้ายกัน คริสเตียนระวังที่จะไม่สร้างสายสัมพันธ์กับคนที่อาจทำให้ความเชื่อของเขาอ่อนลง. (1 โกรินโธ 15:33) เราได้รับคำเตือนว่า “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ” คือคนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียน. (2 โกรินโธ 6:14) นอกจากนั้น คริสเตียนได้รับคำแนะนำให้สมรส “เฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น.” (1 โกรินโธ 7:39, ล.ม.) ถึงกระนั้น เราไม่ควรดูถูกคนที่ไม่มีความเชื่อในพระยะโฮวาเช่นเดียวกับเรา. พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาป และหลายคนที่เมื่อก่อนเคยประพฤติชั่วร้ายได้เปลี่ยนแนวทางชีวิตและกลับมาคืนดีกับพระเจ้า.—โรม 5:8; 1 โกรินโธ 6:9-11.
11. วิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงความรักต่อคนที่ไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาคืออะไร และเพราะเหตุใด?
11 ในการแสดงความรักต่อคนที่ไม่ได้รับใช้พระเจ้า ไม่มีวิธีอื่นใดที่ดีไปกว่าการเลียนแบบพระยะโฮวาเอง. แม้ว่าพระองค์ทรงเกลียดความชั่ว พระองค์ทรงแสดงความกรุณารักใคร่แก่ทุกคนโดยให้โอกาสแก่พวกเขาหันกลับจากแนวทางที่ไม่ดีและได้รับชีวิตนิรันดร์. (ยะเอศเคล 18:23) พระยะโฮวา “ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9) เป็นพระทัยประสงค์ของพระองค์ที่จะให้ “คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถูกต้องเรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) นั่นคือเหตุผลที่พระเยซูทรงมอบหมายเหล่าสาวกให้ประกาศและสอนและ “ทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) โดยเข้าร่วมในงานนี้ เราแสดงความรักทั้งต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้าน ที่จริง รวมถึงแม้กระทั่งศัตรูด้วยซ้ำ!
ความรักต่อพี่น้องคริสเตียนของเรา
12. อัครสาวกโยฮันเขียนเช่นไรเกี่ยวกับการรักพี่น้องของเรา?
12 อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ให้เรากระทำการดีแก่คนทั้งปวง, และที่สำคัญนั้นจงกระทำแก่ครอบครัวของความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10) ในฐานะคริสเตียน เรามีพันธะต้องแสดงความรักต่อคนที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ—พี่น้องฝ่ายวิญญาณของเรา. ความรักนี้สำคัญเพียงไร? อัครสาวกโยฮันเขียนอย่างที่ทำให้เห็นว่าความรักดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่ง ดังนี้: “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน . . . ถ้าผู้ใดว่า, ‘ข้าพเจ้ารักพระเจ้า’ และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตัว ผู้นั้นเป็นคนพูดมุสา. เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว, จะรักพระเจ้าที่ยังไม่ได้แลเห็นอย่างไรได้?” (1 โยฮัน 3:15; 4:20) นับเป็นคำพูดที่แรงทีเดียว. พระเยซูคริสต์ทรงใช้คำ “ผู้ฆ่าคน” และ “ผู้มุสา” กับซาตานพญามาร. (โยฮัน 8:44, ฉบับแปลใหม่) เราไม่ต้องการถูกเรียกด้วยสองคำนี้แน่ ๆ!
13. เราสามารถแสดงความรักเพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมความเชื่อโดยวิธีใดได้บ้าง?
13 คริสเตียนแท้ได้รับ “การสอนจากพระเจ้าให้รักกันและกัน.” (1 เธซะโลนิเก 4:9, ล.ม.) เราต้องรักกัน “มิใช่ด้วยถ้อยคำหรือลิ้น แต่ด้วยการกระทำและความจริง.” (1 โยฮัน 3:18, ล.ม.) ความรักของเราควร “ปราศจากมารยา.” (โรม 12:9) ความรักกระตุ้นเราให้กรุณา, มีใจเมตตา, ให้อภัย, อดกลั้นไว้นาน; และไม่อิจฉาริษยา, คุยโต, ทะนงตัว, หรือเห็นแก่ตัว. (1 โกรินโธ 13:4, 5; เอเฟโซ 4:32) ความรักกระตุ้นเราให้ “รับใช้กันและกัน.” (ฆะลาเตีย 5:13, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกให้รักกันเหมือนที่พระองค์ทรงรักพวกเขา. (โยฮัน 13:34) คริสเตียนจึงควรเต็มใจจะสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมความเชื่อเมื่อจำเป็น.
14. เราจะแสดงความรักภายในครอบครัวได้โดยวิธีใด?
14 ควรมีการแสดงความรักอย่างเด่นชัดเป็นพิเศษภายในครอบครัวคริสเตียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสามีกับภรรยา. ความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสนั้นใกล้ชิดกันมากจนเปาโลกล่าวว่า “สามีควรจะรักภรรยาของตนเหมือนรักกายของตนเอง.” ท่านกล่าวเสริมอีกว่า “ผู้ที่รักภรรยาของตนเองก็รักตัวเอง.” (เอเฟโซ 5:28) เราพบว่าเปาโลกล่าวซ้ำคำแนะนำนี้ในอีกห้าข้อต่อมา. สามีที่รักภรรยาจะไม่เลียนแบบชาวอิสราเอลในสมัยของมาลาคีที่ทรยศต่อคู่สมรส. (มาลาคี 2:14) เขาจะทะนุถนอมเธอ. เขาจะรักเธอเหมือนพระคริสต์ทรงรักประชาคม. ความรักจะกระตุ้นภรรยาด้วยเช่นกันให้นับถือสามี.—เอเฟโซ 5:25, 29-33.
15. การได้เห็นความรักของพี่น้องในภาคปฏิบัติกระตุ้นบางคนให้พูดและทำอะไร?
15 เห็นได้ชัด ความรักชนิดนี้เป็นเครื่องหมายระบุตัวคริสเตียนแท้. พระเยซูตรัสว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) การที่เรารักกันดึงดูดผู้คนให้เข้ามาหาพระเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่เรารักและเราเป็นตัวแทนของพระองค์. ตัวอย่างเช่น มีรายงานดังต่อไปนี้จากโมซัมบิกเกี่ยวกับครอบครัวพยานฯ ครอบครัวหนึ่ง. “เราไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนเลย. บ่ายวันนั้น ลมแรงจัดเริ่มพัดเข้ามา แล้วก็ตามด้วยฝนตกหนักและลูกเห็บตก. ลมพายุทำลายบ้านของเราซึ่งทำจากต้นอ้อ และหลังคาสังกะสีก็ถูกพัดเปิง. เมื่อพี่น้องของเราจากประชาคมใกล้เคียงมาถึงและช่วยกันสร้างบ้านขึ้นใหม่ เพื่อนบ้านต่างก็แปลกใจและพูดว่า ‘ศาสนาของคุณนี่ดีจริง ๆ. เราไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรอย่างนี้จากโบสถ์ของเราเลย.’ เราเปิดคัมภีร์ไบเบิลและให้เขาดูที่โยฮัน 13:34, 35. ในตอนนี้ เพื่อนบ้านหลายคนกำลังศึกษาพระคัมภีร์กับเรา.”
ความรักต่อปัจเจกบุคคล
16. มีความแตกต่างกันเช่นไรระหว่างการรักผู้คนเป็นกลุ่มกับการรักปัจเจกบุคคล?
16 ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรักเพื่อนบ้านของเราโดยรวม หรือเป็นกลุ่ม. แต่การแสดงความรักต่อแต่ละคนเป็นส่วนตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก. ตัวอย่างเช่น บางคนอาจแสดงความรักต่อเพื่อนบ้านโดยเพียงแค่บริจาคให้แก่องค์กรการกุศล. ที่จริง การพูด ว่าเรารักเพื่อนบ้านเป็นเรื่องง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับการรักเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบเรา, คนนิสัยน่ารังเกียจที่อาศัยอยู่ข้างบ้าน, หรือเพื่อนที่ทำให้เราผิดหวัง.
17, 18. พระเยซูทรงแสดงความรักต่อปัจเจกบุคคลโดยวิธีใด และพระองค์ทรงทำเช่นนั้นด้วยแรงกระตุ้นเช่นไร?
17 ในเรื่องความรักต่อปัจเจกบุคคล เราเรียนรู้จากพระเยซูผู้สะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์. แม้ว่าพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อรับเอาบาปของโลกไป แต่พระองค์ทรงแสดงความรักต่อผู้คนเป็นส่วนตัว เช่น หญิงที่ป่วยเรื้อรัง, คนโรคเรื้อน, เด็ก. (มัดธาย 9:20-22; มาระโก 1:40-42; 7:26, 29, 30; โยฮัน 1:29) คล้ายกัน เราแสดงความรักต่อเพื่อนบ้านโดยวิธีที่เราปฏิบัติต่อแต่ละคนที่เราติดต่อด้วยทุกเมื่อเชื่อวัน.
18 อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรลืมว่าความรักต่อเพื่อนบ้านนั้นเป็นผลมาจากความรักต่อพระเจ้า. แม้พระเยซูทรงช่วยคนยากจน, รักษาคนป่วย, และเลี้ยงอาหารคนหิวโหย แต่แรงกระตุ้นของพระองค์ในการทำทั้งหมดนี้รวมทั้งการสอนฝูงชนด้วยก็คือเพื่อช่วยผู้คนให้กลับคืนดีกับพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 5:19) พระเยซูทรงทำทุกสิ่งเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า โดยที่ไม่เคยลืมเลยว่าพระองค์ทรงเป็นตัวแทนและทรงสะท้อนภาพของพระเจ้าที่พระองค์ทรงรัก. (1 โกรินโธ 10:31) โดยเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู เราก็สามารถแสดงความรักแท้ต่อเพื่อนบ้านได้ และในขณะเดียวกันก็รักษาตัวไม่เป็นส่วนของโลกแห่งมนุษยชาติที่ชั่วช้า.
เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองอย่างไร?
19, 20. การรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองหมายความเช่นไร?
19 พระเยซูตรัสว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” เป็นธรรมดาที่จะดูแลตัวเองและมีความนับถือตัวเองอย่างสมเหตุผล. หากไม่เป็นอย่างนั้น พระบัญญัติข้อนี้ก็จะไม่ค่อยมีความหมายมากนัก. ความรักตัวเองแบบที่เหมาะสมนี้ต้องไม่เข้าใจไขว้เขวกับความรักแบบคิดถึงแต่ตัวเองที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงใน 2 ติโมเธียว 3:2. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความรักตัวเองแบบที่เหมาะสมนั้นเป็นความรู้สึกที่สมเหตุผลว่าตัวเองมีค่า. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งพรรณนาความรักดังกล่าวว่าเป็น “ความรักตัวเองที่สมดุลซึ่งไม่ใช่แบบที่หลงตัวเองว่า ‘ฉันเหนือกว่า’ และไม่ใช่แบบที่เหยียดตัวเองว่า ‘ฉันต่ำต้อย.’ ”
20 การรักคนอื่นเหมือนรักตัวเองนั้นหมายถึงการที่เรามองผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้ผู้อื่นมองเรา และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา. พระเยซูตรัสว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) โปรดสังเกตว่าพระเยซูไม่ได้บอกให้เราครุ่นคิดถึงสิ่งที่คนอื่นได้ทำแก่เราในอดีตแล้วก็แก้เผ็ด. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องคิดว่าเราอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไรแล้วลงมือทำอย่างนั้น. โปรดสังเกตด้วยว่าพระเยซูไม่ได้ตรัสถึงเฉพาะคนที่เป็นเพื่อนและพี่น้องของเราเท่านั้น. พระองค์ใช้คำ “มนุษย์” อาจเป็นได้เพื่อชี้ว่าเราควรปฏิบัติอย่างนี้ต่อผู้คนทั้งสิ้น ทุกคนที่เราพบ.
21. โดยแสดงความรักต่อคนอื่น เราแสดงให้เห็นอะไร?
21 การรักเพื่อนบ้านจะป้องกันเราจากการทำสิ่งที่ไม่ดี. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “พระบัญญัติที่ว่า ‘อย่าล่วงประเวณี, อย่าฆ่าคน, อย่าลักทรัพย์, อย่าเป็นพยานเท็จ, อย่าโลภ,’ ทั้งพระบัญญัติอื่น ๆ ด้วยก็รวมเข้าอยู่ในพระบัญญัติข้อนี้คือว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.’ ความรักไม่ประทุษร้ายแก่เพื่อนบ้าน.” (โรม 13:9, 10) ความรักจะกระตุ้นเราให้มองหาวิธีทำสิ่งดีต่อคนอื่น ๆ. โดยรักเพื่อนมนุษย์ เราแสดงด้วยว่าเรารักพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์ตามแบบของพระองค์.—เยเนซิศ 1:26.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราควรแสดงความรักต่อใคร และเพราะเหตุใด?
• เราจะแสดงความรักต่อคนที่ไม่รับใช้พระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
• คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้อย่างไรถึงความรักที่เราควรมีต่อพี่น้องของเรา?
• การรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองหมายความเช่นไร?
[ภาพหน้า 26]
“ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?”
[ภาพหน้า 29]
ความรักของพระเยซูขยายออกไปถึงผู้คนเป็นส่วนตัว