ความเชื่อกระตุ้นคุณให้ลงมือปฏิบัติไหม?
นายร้อยมั่นใจว่าพระเยซูสามารถรักษาทาสของเขาที่เป็นง่อยได้. แต่นายร้อยไม่กล้าเชิญพระเยซูไปที่บ้าน บางทีเขาอาจรู้สึกไม่คู่ควรหรือเนื่องจากเป็นคนต่างชาติ. ดังนั้น เขาจึงส่งผู้เฒ่าผู้แก่ชาวยิวบางคนไปหาพระเยซูและขอร้องว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนไม่สมควรที่พระองค์จะเสด็จเข้าใต้ชายคาของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียว, บ่าวของข้าพเจ้าก็จะหายโรค.” เนื่องจากสังเกตเห็นความเชื่อของนายร้อยคนนี้ ซึ่งมั่นใจว่าพระองค์สามารถรักษาโรคได้แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้คนป่วยก็ตาม พระเยซูตรัสกับฝูงชนที่ติดตามพระองค์ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, เราหาได้พบความเชื่อมากเช่นนี้ในพวกยิศราเอลไม่.”—มัดธาย 8:5-10; ลูกา 7:1-10.
ประสบการณ์นี้ช่วยเราให้เห็นข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อ. ความเชื่อแท้ไม่ได้ทำให้คนเราอยู่เฉย ๆ แต่เป็นความเชื่อที่กระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ. ยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความเชื่อ . . . ถ้าไม่มีการกระทำ ก็ตายอยู่ในตัวแล้ว.” (ยาโกโบ 2:17, ล.ม.) เราจะเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ดีขึ้นเมื่อเราพิจารณาตัวอย่างจริงที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นได้ถ้าไม่ปฏิบัติตามความเชื่อ.
ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช ชาติอิสราเอลมีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้าโดยทางสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. โมเซในฐานะผู้กลางแห่งสัญญาไมตรีถ่ายทอดพระคำของพระเจ้าแก่ชาวอิสราเอลว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ, และรักษาคำสัญญาไมตรีของเราไว้ เจ้าจะเป็น . . . ชนชาติอันบริสุทธิ์สำหรับเรา.” (เอ็กโซโด 19:3-6) ใช่แล้ว ความบริสุทธิ์แห่งชาติอิสราเอลขึ้นอยู่กับการเชื่อฟัง.
หลายศตวรรษต่อมา ชาวยิวเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าพระบัญญัติมากกว่าการนำเอาหลักการนั้นไปใช้. อัลเฟรด เอเดอร์ไชม์เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อชีวิตและช่วงเวลาต่าง ๆ ของพระเยซูพระมาซีฮา (ภาษาอังกฤษ) ว่า “[พวกรับบี] ซึ่งก็คือ ‘พวกหัวหน้าศาสนา’ ตั้งกฎมานานแล้วว่าการศึกษาค้นคว้าสำคัญกว่าการประพฤติ.”
จริงอยู่ ชาวอิสราเอลโบราณได้รับคำสั่งให้ศึกษาข้อเรียกร้องของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง. พระเจ้าตรัสว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) แต่พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายจะให้การศึกษาพระบัญญัติสำคัญกว่าการประพฤติตามพระบัญญัติหรือการได้รับการชี้นำโดยพระบัญญัตินั้นไหม? ให้เรามาดูกัน.
การศึกษาแบบผู้คงแก่เรียน
การเน้นถึงความสำคัญของการศึกษาพระบัญญัติอาจเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับชาวอิสราเอล เนื่องจากชาวยิวมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า พระเจ้าเองก็ทรงใช้เวลาวันละสามชั่วโมงศึกษาพระบัญญัติ. คุณคงเข้าใจแล้วว่า เหตุใดชาวยิวบางคนจึงหาเหตุผลว่า ‘ถ้าพระเจ้าศึกษาพระบัญญัติอยู่เป็นประจำ ไม่ควรหรือที่สิ่งทรงสร้างของพระองค์ที่อยู่บนโลกจะทำเช่นนั้นอย่างเต็มที่ด้วย?’
พอถึงศตวรรษแรกสากลศักราช การหมกมุ่นอยู่กับการวิเคราะห์และการตีความพระบัญญัติทำให้ความคิดของพวกรับบีบิดเบือนไปอย่างสิ้นเชิง. พระเยซูตรัสว่า “พวกอาลักษณ์กับพวกฟาริซาย . . . เขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน, แต่เขาเองหาทำตามไม่. ด้วยเขาดีแต่ผูกมัดของหนักซึ่งแบกยากวางบนบ่ามนุษย์ ส่วนเขาเองแม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย.” (มัดธาย 23:2-4) พวกหัวหน้าศาสนาเพิ่มภาระหนักให้ประชาชนโดยวางกฎและข้อกำหนดมากมายนับไม่ถ้วน แต่พวกเขาเองกลับใช้เล่ห์เหลี่ยมโดยอาศัยช่องโหว่เพื่อไม่ต้องทำตามกฎข้อเดียวกันนั้น. ยิ่งกว่านั้น คนที่ตั้งใจศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้งได้ ‘ละเว้นข้อสำคัญแห่งพระบัญญัติคือความชอบธรรมความเมตตาความเชื่อ.’—มัดธาย 23:16-24.
น่าขันจริง ๆ ที่พวกอาลักษณ์และฟาริซายพยายามตั้งความชอบธรรมของตนเองขึ้น แต่กลับฝ่าฝืนพระบัญญัติที่พวกเขาอ้างว่าสนับสนุน! การโต้เถียงเรื่องถ้อยคำและรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ เกี่ยวกับพระบัญญัติตลอดหลายศตวรรษไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าใกล้พระเจ้าเลย. ผลของการทำเช่นนี้คล้ายกันกับการหลงไปอันมีสาเหตุมาจากสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “การพูดที่ไร้สาระ,” “ข้อขัดแย้ง,” และ “ความรู้” เท็จ. (1 ติโมเธียว 6:20, 21, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผลกระทบของการศึกษาค้นคว้าอย่างไม่จบไม่สิ้น. สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความเชื่อที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง.
มีความรู้มากมายแต่หัวใจไม่มีความเชื่อ
ความคิดของพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวช่างแตกต่างกันเสียจริง ๆ กับพระดำริของพระเจ้า! ไม่นานก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา โมเซบอกพวกเขาว่า “เจ้าทั้งหลายจงสนใจในถ้อยคำทั้งปวงเหล่านี้ที่เราได้สำแดงแก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, เจ้าทั้งหลายจงสั่งให้บุตรหลานของเจ้า, เชื่อฟังทำตามบรรดาถ้อยคำพระบัญญัติเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 32:46) เห็นได้ชัดว่า ประชาชนของพระเจ้าไม่ควรเป็นเพียงนักศึกษาค้นคว้าพระบัญญัติที่เอาจริงเอาจัง แต่พวกเขาต้องประพฤติตามพระบัญญัติด้วย.
อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่า. แทนที่จะทำการงานที่ดี แต่ชาวอิสราเอลกลับ “มิได้เชื่อพระองค์, มิได้ฟังคำตรัสของพระองค์.” (พระบัญญัติ 9:23; วินิจฉัย 2:15, 16; 2 โครนิกา 24:18, 19; ยิระมะยา 25:4-7) ในที่สุด ชาวยิวก็แสดงความไม่ซื่อสัตย์อย่างร้ายแรงที่สุดโดยการปฏิเสธพระเยซูฐานะพระมาซีฮา. (โยฮัน 19:14-16) ผลก็คือ พระยะโฮวาพระเจ้าปฏิเสธชาติอิสราเอลและหันไปเอาใจใส่ชาติอื่น.—กิจการ 13:46.
แน่นอน เราต้องระวังตัวไม่ตกเข้าสู่หลุมพรางแบบเดียวกัน นั่นคือ คิดว่าเราสามารถนมัสการพระเจ้าได้ด้วยความรู้ที่มีอยู่มากมายแต่หัวใจไม่มีความเชื่อ. หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนั้นต้องไม่ใช่เป็นเพียงการสั่งสมความรู้เท่านั้น. ความรู้ถ่องแท้ต้องเข้าถึงหัวใจของเราเพื่อจะก่อผลอันเป็นประโยชน์ต่อชีวิต. จะมีประโยชน์อะไรถ้าคนเราเรียนการปลูกพืชผักแต่ไม่เคยปลูกอะไรเลย? จริงอยู่ เราอาจมีความรู้อยู่บ้างเรื่องการปลูกต้นไม้และดูแลรักษา แต่ถ้าไม่ลงมือทำเราก็จะไม่ได้อะไรเลย! ในทำนองเดียวกัน คนที่เรียนรู้ข้อเรียกร้องของพระเจ้าโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต้องทำให้เมล็ดแห่งความจริงนั้นเข้าถึงหัวใจของเขาเพื่อที่เมล็ดนั้นจะงอกขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการประพฤติ.—มัดธาย 13:3-9, 19-23.
“จงเป็นคนประพฤติตามคำนั้น”
อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ความเชื่อได้เกิดขึ้นก็เพราะได้ฟัง.” (โรม 10:17) การที่เราฟังพระคำของพระเจ้าจนกระทั่งแสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ทำให้เรามีความคาดหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์. ถูกแล้ว มีบางสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า ‘ฉันเชื่อในพระเจ้าและพระคริสต์.’
พระเยซูกระตุ้นเหล่าสาวกของพระองค์ให้มีความเชื่อแบบที่กระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติโดยกล่าวว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติยศเพราะสิ่งนี้, คือเมื่อท่านเกิดผลมาก, ท่านทั้งหลายจึงเป็นสาวกของเรา.” (โยฮัน 15:8) ต่อมา ยาโกโบน้องชายร่วมมารดาของพระเยซูเขียนว่า “จงเป็นคนประพฤติตามคำนั้น, ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ฟังเท่านั้น.” (ยาโกโบ 1:22) ถ้าอย่างนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรประพฤติเช่นไร? พระเยซูชี้ให้เห็นโดยทางคำสอนและตัวอย่างของพระองค์ว่าเราต้องทำอะไรเพื่อทำให้พระเจ้าพอพระทัย.
ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทำงานหนักเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรและเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระเจ้า. (โยฮัน 17:4-8) ในวิธีใด? หลายคนอาจนึกถึงการอัศจรรย์ที่พระเยซูทำเพื่อรักษาคนป่วยและคนพิการ. แต่กิตติคุณของมัดธายบันทึกอย่างชัดเจนถึงสิ่งสำคัญที่พระองค์ทำดังนี้: “พระเยซูจึงเสด็จดำเนินไปรอบบ้านรอบเมืองทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของเขา, ประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า.” ที่น่าสังเกตก็คือ พระเยซูไม่ได้จำกัดงานรับใช้ของพระองค์ไว้แค่การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการกับมิตรสหายและคนสนิทเพียงไม่กี่คนหรือแค่กับเพื่อนบ้านเท่านั้น. พระองค์พยายามอย่างแข็งขันโดยใช้ทุกวิธีที่จะประกาศกับผู้คน “ทั่วมณฑลฆาลิลาย.”—มัดธาย 4:23, 24; 9:35.
พระเยซูแนะนำเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้ทำคนเป็นสาวกเช่นกัน. ที่จริง พระองค์วางแบบอย่างอันยอดเยี่ยมให้พวกเขาทำตาม. (1 เปโตร 2:21) พระองค์ตรัสกับสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ว่า “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก, ให้รับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัตรซึ่งเราได้สั่งพวกท่านไว้.”—มัดธาย 28:19, 20.
ต้องยอมรับว่าการประกาศเป็นเรื่องที่ท้าทายจริง ๆ. พระเยซูตรัสว่า “นี่แน่ะ, เราใช้ท่านทั้งหลายไปดุจลูกแกะอยู่ท่ามกลางฝูงสุนัขป่า.” (ลูกา 10:3) เมื่อเราเผชิญการต่อต้าน แนวโน้มตามธรรมชาติของคนเราก็คือถอยกลับเพื่อจะหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนหรือความกังวลโดยไม่จำเป็น. นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันที่พระเยซูถูกจับ. พวกอัครสาวกหนีไปเพราะกลัวมาก. คืนนั้น เปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูถึงสามครั้ง.—มัดธาย 26:56, 69-75.
นอกจากนี้ คุณอาจแปลกใจที่รู้ว่าการประกาศข่าวดีไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอัครสาวกเปาโล. ท่านเขียนถึงประชาคมในเมืองเทสซาโลนิเกว่า “เราได้รวบรวมความกล้าโดยพึ่งในพระเจ้าของเราเพื่อจะบอกข่าวดีของพระเจ้าแก่ท่านทั้งหลายด้วยความบากบั่นเป็นอันมาก.”—1 เธซะโลนิเก 2:1, 2, ล.ม.
เปาโลและเพื่อนอัครสาวกสามารถเอาชนะความกลัวใด ๆ ที่จะพูดคุยกับคนอื่นเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า และคุณก็ทำได้เช่นกัน. โดยวิธีใด? ขั้นตอนสำคัญที่สุดคือการวางใจในพระยะโฮวา. หากเรามีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวา ความเชื่อนั้นจะกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ และเราจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าได้.—กิจการ 4:17-20; 5:18, 27-29.
การงานของคุณจะได้ผลตอบแทน
พระยะโฮวาทรงทราบดีว่าเราพยายามสุดความสามารถเพื่อจะรับใช้พระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์รู้ว่าเราเจ็บป่วยหรือเหนื่อยล้า. พระองค์ทราบว่าเราไม่มั่นใจในตัวเอง. เมื่อปัญหาทางการเงินทำให้เรากังวลใจ หรือปัญหาเรื่องสุขภาพหรือจิตใจทำให้เราท้อ พระยะโฮวาทรงตระหนักถึงสภาพการณ์ของเราเสมอ.—2 โครนิกา 16:9; 1 เปโตร 3:12.
พระยะโฮวาคงมีพระทัยยินดีมากจริง ๆ ถ้าความเชื่อของเรากระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ ถึงแม้เราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์และประสบความยากลำบากก็ตาม! ความรักใคร่ของพระยะโฮวาต่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกผิวเผิน แต่พระองค์แสดงความรักใคร่โดยการประทานคำสัญญาแก่เรา. ภายใต้การดลใจจากพระเจ้า อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์, ในการที่ท่านได้ปรนนิบัติสิทธชนนั้น, และยังกำลังปรนนิบัติอยู่.”—เฮ็บราย 6:10.
คุณสามารถวางใจคำพรรณนาของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับพระยะโฮวาได้ที่ว่า พระองค์เป็น “พระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งกับพระองค์นั้นไม่มีความอยุติธรรม” และเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.” (พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.; เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) เพื่อเป็นตัวอย่าง สตรีคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเล่าว่า “พ่อของดิฉันเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาสิบปีก่อนที่ท่านจะมีครอบครัว. ดิฉันชื่นชอบที่ท่านเล่าหลายเรื่องให้ฟังที่ว่า พระยะโฮวาค้ำจุนท่านอย่างไรในงานรับใช้. หลายครั้งที่ท่านใช้เงินจำนวนสุดท้ายที่มีเพื่อเติมน้ำมันไปประกาศ. เมื่อกลับจากงานรับใช้ก็มักจะมีคนนำอาหารมาไว้ให้ที่ประตูบ้านโดยไม่ได้คาดหมาย.”
นอกจากความช่วยเหลือทางด้านวัตถุแล้ว “พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุนและพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง” ประทานการค้ำจุนทางจิตใจและฝ่ายวิญญาณแก่เราด้วย. (2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.) พยานฯ คนหนึ่งที่เคยอดทนความยากลำบากตลอดหลายปีกล่าวว่า “การวางใจพระยะโฮวาทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจ. นั่นทำให้คุณมีโอกาสวางใจในพระองค์และคอยดูว่าพระองค์จะช่วยคุณอย่างไร.” คุณสามารถอธิษฐานด้วยความถ่อมใจถึง “พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน” โดยแน่ใจได้ว่าพระองค์จะใฝ่พระทัยเรื่องที่คุณกังวล.—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
การเป็นคนงานเก็บเกี่ยวทางฝ่ายวิญญาณทำให้เราได้รับพระพรและผลตอบแทนหลายประการ. (มัดธาย 9:37, 38) การเข้าส่วนในงานประกาศทำให้หลายคนมีสุขภาพดี และอาจทำให้คุณมีสุขภาพดีด้วย. แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การให้คำพยานกับคนอื่น ๆ ช่วยเราให้เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า.—ยาโกโบ 2:23.
จงทำสิ่งดีต่อ ๆ ไป
คงเป็นความเข้าใจผิดถ้าผู้รับใช้ของพระเจ้าจะลงความเห็นว่า พระยะโฮวาจะทรงผิดหวังถ้าคนที่เจ็บป่วยหรือแก่ชราทำงานรับใช้ได้ไม่เต็มที่อย่างที่ต้องการจะทำ. ทั้งยังเป็นการเข้าใจผิดถ้าจะคิดว่า พระองค์ทรงรู้สึกอย่างเดียวกันนี้กับคนที่มีขีดจำกัดเนื่องจากสุขภาพไม่ดี, มีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว, หรือสภาพการณ์อื่น ๆ ด้วย.
จำไว้ว่า เมื่ออัครสาวกเปาโลรู้สึกว่าท่านอ่อนแอเพราะเจ็บป่วยหรือมีอุปสรรค ท่าน ‘อธิษฐานถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้งให้มันหลุดออกไป’ จากท่าน. แต่แทนที่พระยะโฮวาจะรักษาเปาโลเพื่อช่วยให้ท่านประสบผลสำเร็จมากขึ้นในการรับใช้พระองค์ พระเจ้ากลับตรัสว่า “ความกรุณาคุณของเรามีพอสำหรับเจ้าแล้ว เพราะโดยความอ่อนแอของเจ้าเดชของเราจึงปรากฏมีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาด.” (2 โกรินโธ 12:7-10) ด้วยเหตุนี้ ขอให้มั่นใจว่าแม้มีสภาพการณ์ที่ยุ่งยากใด ๆ ก็ตามที่คุณอาจต้องอดทน พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงหยั่งรู้ค่าไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่คุณทำเพื่อส่งเสริมสิ่งที่พระองค์ใฝ่พระทัย.—เฮ็บราย 13:15, 16.
พระผู้สร้างองค์เปี่ยมด้วยความรักไม่ทรงเรียกร้องมากกว่าที่เราจะให้พระองค์ได้. พระองค์ขอเพียงแค่ให้เรามีความเชื่อชนิดที่จะกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ.
[ภาพหน้า 26]
การศึกษาพระบัญญัติเพียงอย่างเดียวพอไหม?
[ภาพหน้า 29]
ความเชื่อของเราต้องควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติ