ให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนที่พระยะโฮวากับพระเยซูเป็นหนึ่งเดียวกัน
‘ผมขอ . . . พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนที่พระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับผม’—ยอห์น 17:20, 21
1, 2. (ก) ครั้งสุดท้ายที่พระเยซูอธิษฐานกับอัครสาวก ท่านขออะไร? (ข) ทำไมพระเยซูเป็นห่วงเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว?
ช่วงที่พระเยซูกินอาหารมื้อสุดท้ายกับอัครสาวก ท่านคิดถึงเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาและเป็นห่วงเรื่องนี้ ตอนที่ท่านอธิษฐานกับสาวก ท่านบอกว่าอยากให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนกับที่ท่านเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อของท่าน (อ่านยอห์น 17:20, 21) ถ้าสาวกของพระเยซูเป็นหนึ่งเดียวกันจริง ๆ นั่นก็พิสูจน์ว่าพระยะโฮวาส่งท่านมา และผู้คนจะรู้ได้ว่าใครเป็นสาวกแท้ของพระเยซูก็โดยดูจากความรักที่พวกเขามีต่อกัน และความรักนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น—ยอห์น 13:34, 35
2 เราเข้าใจเหตุผลว่าทำไมคืนนั้นพระเยซูพูดกับพวกอัครสาวกเยอะมากเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านเห็นว่าพวกเขาไม่ค่อยเป็นหนึ่งเดียวกัน ตัวอย่างเช่น คืนนั้นพวกอัครสาวกทะเลาะกันอีกเหมือนที่ผ่านมาว่า “ในพวกเขาใครเป็นใหญ่ที่สุด” (ลูกา 22:24-27; มาระโก 9:33, 34) นอกจากนั้น ยากอบและยอห์นก็เคยขอพระเยซูว่าพวกเขาอยากนั่งในตำแหน่งที่มีเกียรติติดกับท่านในรัฐบาลสวรรค์—มาระโก 10:35-40
3. อะไรอาจทำให้สาวกของพระเยซูไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน? เราจะคุยกันเรื่องคำถามอะไรบ้าง?
3 การอยากได้อำนาจและตำแหน่งไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้สาวกของพระเยซูไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ในสมัยของพระเยซู อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนแตกแยกคือความเกลียดชังและอคติ สาวกของพระเยซูต้องเลิกมีความรู้สึกที่ไม่ดีแบบนั้นด้วย ดังนั้น บทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ที่ว่า พระเยซูทำอย่างไรกับอคติ? พระเยซูช่วยสาวกอย่างไรไม่ให้เป็นคนลำเอียง แต่ให้เป็นคนยุติธรรมและเป็นหนึ่งเดียวกัน? ตัวอย่างและคำสอนของพระเยซูช่วยเราอย่างไรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน?
พระเยซูกับสาวกเจออคติ
4. พระเยซูเจออคติอะไรบ้าง?
4 แม้แต่พระเยซูเองก็เจออคติจากคนอื่นด้วยเหมือนกัน เช่น ตอนที่ฟีลิปบอกนาธานาเอลว่าเขาเจอเมสสิยาห์แล้ว นาธานาเอลบอกว่า “จะมีอะไรดี ๆ มาจากนาซาเร็ธได้หรือ?” (ยอห์น 1:46) เขาคงรู้ว่าเมสสิยาห์จะมาเกิดที่เบธเลเฮมตามที่บอกไว้ในมีคาห์ 5:2 เขาอาจคิดว่านาซาเร็ธเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่น่าจะเป็นบ้านเกิดของเมสสิยาห์ได้ นอกจากนั้น พระเยซูยังโดนคนใหญ่คนโตชาวยูเดียพูดดูถูกเพราะท่านมาจากกาลิลี (ยอห์น 7:52) ชาวยูเดียหลายคนคิดว่าชาวกาลิลีต่ำต้อยกว่าพวกเขา ส่วนชาวยิวคนอื่นก็ดูถูกพระเยซูโดยเรียกท่านว่าชาวสะมาเรีย (ยอห์น 8:48) ชาวสะมาเรียเป็นคนละเชื้อชาติกับชาวยิวและนับถือศาสนาไม่เหมือนกับพวกเขา ทั้งชาวยูเดียและชาวกาลิลีเลยไม่ค่อยให้เกียรติและไม่ยุ่งกับชาวสะมาเรีย—ยอห์น 4:9
5. สาวกของพระเยซูเจออคติอะไรบ้าง?
5 พวกผู้นำศาสนาชาวยิวก็ดูถูกสาวกพระเยซูด้วย พวกฟาริสีเรียกพวกเขาว่า “คนที่ถูกสาปแช่ง” (ยอห์น 7:47-49) พวกฟาริสีมองว่าใครที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของชาวยิวและไม่ทำตามธรรมเนียมของพวกเขาก็เป็นพวกไม่มีประโยชน์และเป็นแค่คนธรรมดา (กิจการ 4:13, เชิงอรรถ) ที่พระเยซูกับสาวกเจออคติเป็นเพราะว่าคนในสมัยนั้นภูมิใจในศาสนา ฐานะทางสังคม และเชื้อชาติของตัวเอง ความคิดที่มีอคติแบบนี้ยังมีผลกับพวกสาวกและวิธีที่พวกเขามองคนอื่นด้วย ดังนั้น พวกเขาต้องเปลี่ยนความคิดเพื่อจะเป็นหนึ่งเดียวกัน
6. ขอยกตัวอย่างว่าอคติอาจส่งผลต่อเราอย่างไร
6 ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีแต่อคติ คนอื่นอาจมีอคติกับเราหรือบางทีเราเองก็อาจมีอคติกับคนอื่น พี่น้องไพโอเนียร์คนหนึ่งในออสเตรเลียบอกว่า “เมื่อก่อนเพราะฉันเอาแต่คิดเรื่องที่ชาวพื้นเมืองอะบอริจินไม่ได้รับความยุติธรรมทั้งตอนนี้และในอดีตที่ผ่านมา มันทำให้ฉันเกลียดฝรั่งผิวขาวมากขึ้นเรื่อย ๆ” เธอยิ่งเกลียดพวกเขาเข้าไปใหญ่เมื่อเธอโดนเรื่องนี้กับตัวเอง พี่น้องชายคนหนึ่งที่แคนาดาก็ยอมรับว่า “ผมเคยคิดว่าคนที่พูดฝรั่งเศสเหนือกว่าคนอื่น” มันทำให้เขาไม่ชอบขี้หน้าคนที่พูดภาษาอังกฤษ
7. พระเยซูทำอย่างไรกับอคติ?
7 เหมือนกับสมัยของพระเยซู อคติเป็นความรู้สึกที่รุนแรงและเปลี่ยนได้ยาก แล้วพระเยซูทำอย่างไรกับอคติ? อย่างแรกท่านไม่เคยมีอคติ ท่านไม่เคยลำเอียงแม้แต่นิดเดียว ท่านประกาศกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน เป็นฟาริสีหรือชาวสะมาเรีย หรือแม้แต่คนเก็บภาษีกับคนบาปท่านก็ประกาศกับพวกเขา อย่างที่สอง พระเยซูสอนสาวกและทำให้พวกเขาดูเป็นตัวอย่างว่าพวกเขาไม่ควรระแวงหรือมีอคติกับคนอื่น
ลบอคติด้วยความรักและความถ่อม
8. อะไรคือหลักการสำคัญที่ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน? ขออธิบาย
8 พระเยซูสอนหลักการสำคัญเพื่อช่วยให้สาวกเป็นหนึ่งเดียว ท่านบอกพวกเขาว่า “พวกคุณทุกคนเป็นพี่น้องกัน” (อ่านมัทธิว 23:8, 9) ในแง่หนึ่ง เราทุกคนเป็นพี่น้องกันเพราะเราทุกคนเป็นลูกหลานของอาดัม (กิจการ 17:26) นอกจากนั้น พระเยซูยังอธิบายกับพวกสาวกว่าพวกเขามีพ่อบนสวรรค์องค์เดียวกันคือพระยะโฮวา (มัทธิว 12:50) และพวกเขาทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะความรักและความเชื่อ นี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกอัครสาวกเรียกคริสเตียนคนอื่น ๆ ว่าพี่น้องในจดหมายที่เขียนถึงประชาคมต่าง ๆ—โรม 1:13; 1 เปโตร 2:17; 1 ยอห์น 3:13
9, 10. (ก) ทำไมถึงไม่มีเหตุผลที่ชาวยิวจะภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเอง? (ข) พระเยซูสอนอย่างไรว่า เป็นเรื่องผิดที่จะดูถูกคนที่มีเชื้อชาติต่างจากเรา? (ดูภาพแรก ภาพซ้าย)
9 หลังจากที่พระเยซูบอกสาวกว่าให้มองกันและกันเป็นเหมือนพี่น้อง ท่านก็เน้นกับพวกเขาว่าต้องเป็นคนถ่อม (อ่านมัทธิว 23:11, 12) เหมือนที่เราได้เรียนไปแล้ว บางครั้งความหยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้อัครสาวกแตกแยกกัน คนในสมัยของพระเยซูภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเองมาก ชาวยิวหลายคนเชื่อว่าพวกเขาดีกว่าคนอื่นเพราะพวกเขาเป็นลูกหลานของอับราฮัม แต่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาบอกพวกเขาว่า “พระเจ้าจะให้อับราฮัมมีลูกหลานจากก้อนหินพวกนี้ก็ยังได้”—ลูกา 3:8
10 พระเยซูสอนว่ามันเป็นเรื่องผิดที่จะภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเอง ท่านเน้นเรื่องนี้ตอนที่มีครูสอนศาสนาคนหนึ่งมาถามท่านว่า “แล้วใครคือคนที่ผมจะต้องรัก?” เพื่อจะตอบคำถามนี้พระเยซูเล่าเรื่องชาวยิวคนหนึ่งที่ถูกโจรปล้น ถูกทุบตี และถูกทิ้งไว้ข้างถนน ทั้ง ๆ ที่มีชาวยิวหลายคนเดินผ่านไปผ่านมาแต่ก็ไม่มีใครสนใจช่วยเขาเลย จนชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินผ่านมา เขารู้สึกสงสารชาวยิวคนนี้เลยพาไปรักษา พระเยซูสรุปเรื่องนี้โดยบอกกับครูสอนศาสนาว่าจริง ๆ แล้วเขาต้องเป็นเหมือนชาวสะมาเรีย (ลูกา 10:25-37) ลองคิดดูสิ พระเยซูใช้ตัวอย่างของชาวสะมาเรียเพื่อสอนชาวยิวว่าการรักคนอื่นหมายถึงอะไร
11. ทำไมสาวกของพระเยซูต้องไม่ลำเอียง? และท่านช่วยสาวกอย่างไรให้เข้าใจเรื่องนี้?
11 ก่อนที่พระเยซูจะไปสวรรค์ ท่านบอกให้สาวกประกาศ “ทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นสะมาเรีย และจนถึงสุดขอบโลก” (กิจการ 1:8) เพื่อสาวกจะประกาศกับทุกคนได้จริง ๆ พวกเขาต้องเลิกหยิ่งและเลิกมีอคติ พระเยซูเตรียมสาวกให้พร้อมที่จะประกาศกับคนทุกชาติโดยการพูดถึงเรื่องดี ๆ ของคนต่างชาติหลายครั้ง เช่น ท่านชมนายร้อยคนหนึ่งที่มีความเชื่อมาก (มัทธิว 8:5-10) ในนาซาเร็ธบ้านเกิดของพระเยซู ท่านพูดถึงพระยะโฮวาว่าเคยช่วยคนต่างชาติมาแล้ว เช่น แม่ม่ายชาวฟีนิเซียในเมืองศาเรฟัท และนาอามานชาวซีเรียที่เป็นโรคเรื้อน (ลูกา 4:25-27) พระเยซูยังประกาศกับผู้หญิงชาวสะมาเรียด้วย และอยู่ที่สะมาเรียถึง 2 วันเพราะคนที่นั่นสนใจฟังสิ่งที่ท่านประกาศ—ยอห์น 4:21-24, 40
คริสเตียนรุ่นแรกต้องสู้เพื่อจะเลิกมีอคติ
12, 13. (ก) อัครสาวกทำอย่างไรตอนที่พระเยซูสอนผู้หญิงชาวสะมาเรีย? (ดูภาพแรก ภาพกลาง) (ข) อะไรแสดงว่ายากอบกับยอห์นไม่ค่อยเข้าใจที่พระเยซูพยายามสอนพวกเขา?
12 มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อัครสาวกจะเลิกมีอคติ พวกเขาแปลกใจมากที่พระเยซูเต็มใจสอนผู้หญิงชาวสะมาเรีย (ยอห์น 4:9, 27) ทำไมพวกเขาถึงรู้สึกอย่างนั้น? อาจเป็นเพราะว่าพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวไม่คุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงสะมาเรียที่มีชื่อเสียงไม่ดียิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย พวกอัครสาวกเรียกพระเยซูให้มากินข้าว แต่ท่านชอบคุยกับผู้หญิงคนนี้มากจนถือว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่า การประกาศและการทำสิ่งที่พระเจ้าต้องการเป็นเหมือนอาหารสำหรับพระเยซู ซึ่งการประกาศกับผู้หญิงชาวสะมาเรียก็เป็นอย่างนั้นด้วย—ยอห์น 4:31-34
13 ยากอบกับยอห์นยังไม่เข้าใจบทเรียนสำคัญนี้ ตอนที่พวกสาวกเดินทางไปประกาศกับพระเยซูที่สะมาเรีย พวกเขาหาที่พักค้างคืนไม่ได้เพราะไม่มีชาวสะมาเรียคนไหนให้ที่พักกับพวกเขาเลย ตอนนั้นยากอบกับยอห์นโมโหมาก ถึงกับถามพระเยซูว่าอยากให้พวกเขาเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาทั้งหมู่บ้านให้สิ้นซากเลยไหม พระเยซูเลยว่าพวกเขาแรงมาก (ลูกา 9:51-56) จริง ๆ แล้วถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่กาลิลีบ้านเกิดของพวกเขาเอง ยากอบกับยอห์นอาจจะไม่โมโหมากขนาดนี้ก็ได้ ที่พวกเขาโมโหขนาดนี้ก็อาจเป็นเพราะว่าพวกเขามีอคติ ต่อมายอห์นได้ไปประกาศกับชาวสะมาเรียและมีหลายคนสนใจฟัง บางทีตอนนั้นเขาอาจรู้สึกอายเมื่อนึกย้อนหลังถึงสิ่งที่เขาทำก่อนหน้านี้—กิจการ 8:14, 25
14. มีการแก้ปัญหาเรื่องอคติอย่างไร?
14 หลังวันเพ็นเทคอสต์ปี 33 ไม่นาน มีปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นในประชาคมคริสเตียน ตอนที่พี่น้องแจกจ่ายอาหารให้กับพวกแม่ม่าย แม่ม่ายที่พูดภาษากรีกกลับถูกมองข้ามและไม่ได้รับการเอาใจใส่ (กิจการ 6:1) ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะพวกเขาเจออคติ พวกอัครสาวกเลยรีบแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว พวกเขาเลือกพี่น้องชาย 7 คนที่มีคุณสมบัติให้ไปแจกจ่ายอาหารให้แม่ม่ายที่พูดภาษากรีกอย่างยุติธรรม เนื่องจากพี่น้องชาย 7 คนนี้มีชื่อภาษากรีก นี่อาจทำให้แม่ม่ายที่พูดภาษากรีกรู้สึกสบายใจขึ้น
15. เปโตรได้เรียนรู้เรื่องการไม่ลำเอียงอย่างไร? (ดูภาพแรก ภาพขวา)
15 ในปี 36 สาวกเริ่มประกาศกับคนจากทุกชาติ ก่อนหน้านั้นเปโตรชอบอยู่แต่กับชาวยิว แล้วพระเจ้าก็ช่วยเขาให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วคริสเตียนไม่ควรเป็นคนลำเอียง และเขาก็ประกาศกับโคร์เนลิอัสทหารโรมัน (อ่านกิจการ 10:28, 34, 35) หลังจากนั้น เปโตรก็ใช้เวลาอยู่กับพี่น้องต่างชาติและกินข้าวกับพวกเขา แต่หลายปีต่อมา ในเมืองอันทิโอก เปโตรกลับเลิกกินข้าวกับพี่น้องต่างชาติ (กาลาเทีย 2:11-14) นี่ทำให้เปาโลตำหนิเปโตร และเปโตรก็ยอมรับคำแนะนำนั้น เรารู้ได้อย่างไร? ก็เพราะตอนที่เปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนชาวยิวและชาวต่างชาติในเอเชียไมเนอร์ เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่พี่น้องทุกคนต้องรักกัน—1 เปโตร 1:1; 2:17
16. คริสเตียนรุ่นแรกขึ้นชื่อในเรื่องอะไร?
16 เห็นได้ชัดว่าเพราะตัวอย่างของพระเยซู อัครสาวกได้เรียนรู้ว่าต้องรัก “คนทุกชนิด” (ยอห์น 12:32; 1 ทิโมธี 4:10) ถึงมันอาจต้องใช้เวลานาน แต่พวกเขาเปลี่ยนวิธีมองคนอื่นได้ ที่จริง ใคร ๆ ก็รู้ว่าคริสเตียนรุ่นแรกรักกันมากขนาดไหน ประมาณปีค.ศ. 200 เทอร์ทูลเลียนนักเขียนคนหนึ่งได้ยกคำพูดของคนที่พูดถึงคริสเตียนว่า “พวกเขารักกัน” และ “พร้อมที่จะตายแทนกันด้วยซ้ำ” ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าคริสเตียนได้ปลูกฝัง “ลักษณะนิสัยใหม่” พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะมองคนอื่นอย่างเท่าเทียมกันเหมือนกับที่พระเจ้ามอง—โคโลสี 3:10, 11
17. เราจะกำจัดความรู้สึกอคติได้อย่างไร? ยกตัวอย่าง
17 ในทุกวันนี้ เราก็อาจต้องใช้เวลานานเหมือนกันเพื่อจะเลิกมีอคติได้ พี่น้องหญิงคนหนึ่งในฝรั่งเศสเล่าว่ามันเป็นเรื่องยากมากแค่ไหนสำหรับเธอ เธอบอกว่า “พระยะโฮวาสอนฉันให้รู้ว่าความรักหมายถึงอะไร การแบ่งปันหมายถึงอะไร และการรักคนทุกชนิดหมายถึงอะไร แต่ฉันยังต้องเรียนรู้ที่จะเลิกมีอคติกับคนอื่นอยู่ มันไม่ง่ายจริง ๆ นั่นแหละ ฉันเลยต้องอธิษฐานอยู่เรื่อย ๆ” ส่วนพี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งจากสเปนก็บอกว่า บางครั้งเธอยังต้องสู้กับความรู้สึกในแง่ลบกับคนบางเชื้อชาติอยู่ เธอบอกว่า “ส่วนใหญ่ฉันก็ทำได้นะ แต่ฉันรู้ว่าฉันยังต้องสู้ต่อ ๆ ไป ฉันขอบคุณพระยะโฮวาและดีใจที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นหนึ่งเดียวกันแบบนี้” ดังนั้น เราทุกคนต้องคิดดี ๆ ว่าเรารู้สึกอย่างไรจริง ๆ และเรายังมีอคติที่ต้องกำจัดออกไปไหม
ความรักเพิ่มขึ้น อคติหายไป
18, 19. (ก) ทำไมเราต้องต้อนรับทุกคน? (ข) เราจะทำแบบนั้นได้อย่างไร?
18 เราทุกคนควรจำไว้ว่าเมื่อก่อนเราไม่รู้จักพระยะโฮวาและไม่ได้ใกล้ชิดกับพระองค์ (เอเฟซัส 2:12) แต่พระองค์ก็ ‘ดึงเรามาหาพระองค์โดยใช้ความรัก’ (โฮเชยา 11:4; ยอห์น 6:44) พระเยซูต้อนรับเราทำให้เรามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระเจ้า (อ่านโรม 15:7) แม้เราจะเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ แต่พระเยซูก็ต้อนรับเรา เราจึงไม่ควรแม้แต่จะคิดที่จะมีอคติกับคนอื่น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร
19 ยิ่งโลกชั่วนี้ใกล้จะถึงจุดจบ ผู้คนก็ยิ่งแตกแยกกัน มีอคติต่อกัน และเกลียดชังกันมากขึ้นเรื่อย ๆ (กาลาเทีย 5:19-21; 2 ทิโมธี 3:13) แต่เราที่เป็นคนของพระเจ้าอยากมี “สติปัญญาจากเบื้องบน” ที่จะช่วยเราให้เป็นคนไม่ลำเอียงและสร้างสันติสุข (ยากอบ 3:17, 18) เราดีใจที่ได้เป็นเพื่อนกับพี่น้องที่มาจากหลายประเทศ เรายอมรับสิ่งที่พวกเขาทำถึงแม้จะแตกต่างจากเรา เราอาจถึงกับเรียนภาษาของพวกเขาด้วยซ้ำ เมื่อเราทำแบบนี้เราจะมีความสงบสุข “เต็มเปี่ยมเหมือนน้ำในแม่น้ำ” และได้รับความยุติธรรม “มากมายเหมือนคลื่นในมหาสมุทร”—อิสยาห์ 48:17, 18
20. ความรักเปลี่ยนวิธีที่เราคิดและรู้สึกอย่างไร?
20 เมื่อพี่น้องหญิงในออสเตรเลียที่พูดถึงตอนต้นบทความได้เรียนคัมภีร์ไบเบิล อคติและความเกลียดชังของเธอก็ค่อย ๆ จางหายไป ความรักเปลี่ยนวิธีคิดและความรู้สึกของเธอได้จริง ๆ ส่วนพี่น้องชายแคนาดาที่พูดฝรั่งเศสก็บอกว่าตอนนี้เขารู้แล้วว่าที่คนเราเกลียดชังกันเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รู้จักกันจริง ๆ ตอนนี้เขารู้แล้วว่า “คนเราจะเป็นยังไงมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเกิดที่ไหน” เขาเองถึงกับแต่งงานกับพี่น้องที่พูดภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความรักเอาชนะอคติได้ ความรักผูกพันเราให้เป็นหนึ่งเดียว และไม่มีอะไรทำให้เราแตกแยกได้—โคโลสี 3:14