การหนีไปยังที่ปลอดภัยก่อนถึง“ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่”
“เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม, . . . ให้คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา.”—ลูกา 21:20, 21.
1. เหตุใดการหนีจึงนับว่าเร่งด่วนสำหรับคนเหล่านั้นที่ยังคงเป็นส่วนของโลกนี้?
สำหรับบรรดาคนที่เป็นส่วนแห่งโลกของซาตาน การหนีนับว่าเร่งด่วน. เพื่อที่จะได้รับการไว้ชีวิตเมื่อระบบปัจจุบันถูกกวาดทำลายไปจากโลก พวกเขาต้องให้หลักฐานที่หนักแน่นว่าได้ยืนมั่นอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและไม่เป็นส่วนของโลกนี้ที่ซาตานเป็นผู้ปกครองอีกต่อไป.—ยาโกโบ 4:4; 1 โยฮัน 2:17.
2, 3. คำถามอะไรที่เกี่ยวข้องกับคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 24:15-22 ซึ่งเราจะพิจารณากัน?
2 ในคำพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์เกี่ยวกับอวสานแห่งระบบพระเยซูทรงเน้นความจำเป็นสำหรับการหนีเช่นนั้น. เราพิจารณากันบ่อยครั้งถึงสิ่งที่บันทึกไว้ที่มัดธาย 24:4-14 กระนั้น สิ่งที่พิจารณาต่อจากนั้นสำคัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน. เราขอสนับสนุนคุณให้เปิดคัมภีร์ไบเบิลของคุณในตอนนี้และอ่านข้อ 15 ถึง 22.
3 คำพยากรณ์นี้มีความหมายอย่างไร? ในศตวรรษแรก “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” (ล.ม.) คืออะไร? การที่สิ่งนั้นมาตั้งอยู่ “ในสถานบริสุทธิ์” (ล.ม.) แสดงนัยถึงอะไร? การที่สิ่งอันน่าสะอิดสะเอียนมาตั้งอยู่ในสถานที่บริสุทธิ์มีความหมายอย่างไรต่อเรา?
“ให้ผู้อ่านใช้ความสังเกตเข้าใจ”
4. (ก) ดานิเอล 9:27 บอกว่าอะไรจะตามมาหลังจากชาวยิวปฏิเสธพระมาซีฮา? (ข) เมื่อตรัสถึงเรื่องนี้ อะไรคงเป็นเหตุผลที่พระเยซูได้ตรัสว่า “ให้ผู้อ่านใช้ความสังเกตเข้าใจ”?
4 โปรดสังเกตที่มัดธาย 24:15 ว่าพระเยซูทรงกล่าวถึงสิ่งที่เขียนไว้ในพระธรรมดานิเอล. ในบท 9 ของพระธรรมนั้นมีคำพยากรณ์ที่บอกล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระมาซีฮาและการสำเร็จโทษตามการพิพากษาซึ่งจะมีต่อชาติยิศราเอลเนื่องจากการปฏิเสธพระองค์. ส่วนท้ายของข้อ 27 (ล.ม.) บอกว่า “และบนปีกของสิ่งอันน่าสะอิดสะเอียน ก็จะมีผู้ซึ่งทำให้ร้างเปล่า.” ความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาในหมู่ชาวยิวยุคแรก ๆ ใช้คำพยากรณ์ในดานิเอลข้อนั้นกับการดูหมิ่นพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงยะรูซาเลมโดยกษัตริย์อันติโอคุสที่สี่ ในศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช. แต่พระเยซูทรงเตือนดังนี้: “ให้ผู้อ่านใช้ความสังเกตเข้าใจ.” (ล.ม.) การเหยียบย่ำพระวิหารโดยอันติโอคุสแม้ว่าน่าสะอิดสะเอียน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งผลเป็นความร้างเปล่า—ไม่ว่ากับยะรูซาเลม, พระวิหาร, หรือชาติยิศราเอล. ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าพระเยซูกำลังเตือนผู้ฟังของพระองค์ว่าความสำเร็จของคำพยากรณ์นี้ไม่ใช่ในอดีต แต่อยู่ในวันข้างหน้า.
5. (ก) การเปรียบเทียบเรื่องราวในกิตติคุณบางเล่มช่วยเราให้ระบุตัว “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในศตวรรษแรกอย่างไร? (ข) เหตุใดเซสติอุส กัลลุส จึงเร่งรุดยกทัพมายังกรุงยะรูซาเลมในปี 66 ส.ศ.?
5 อะไรคือ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ซึ่งพวกเขาต้องตื่นตัวระวัง? น่าสังเกตที่เรื่องราวในมัดธายกล่าวว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายมองเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า . . . ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์.” อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่คล้ายคลึงกันที่ลูกา 21:20 อ่านดังนี้: “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบ กรุงยะรูซาเลม, เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว.” ในปี 66 ส.ศ. คริสเตียนที่อาศัยในกรุงยะรูซาเลมได้เห็นสิ่งที่พระเยซูทรงบอกเอาไว้ล่วงหน้าจริง ๆ. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับเจ้าหน้าที่โรมันทำให้กรุงยะรูซาเลมกลายสภาพเป็นแหล่งเพาะการกบฏต่อโรม. ผลก็คือ ความรุนแรงปะทุไปทั่วยูดาย, ซะมาเรีย, ฆาลิลาย, เดกาโปลี, และฟอยนิเก [ฟินิเซีย], ทางเหนือขึ้นไปถึงซีเรีย, และทางใต้ลงไปถึงอียิปต์. เพื่อฟื้นฟูสันติภาพคืนสู่ส่วนนั้นของจักรวรรดิโรม เซสติอุส กัลลุส เร่งรุดยกกองกำลังทหารจากซีเรียมายังกรุงยะรูซาเลมซึ่งชาวยิวเรียกเป็น “เมืองบริสุทธิ์” ของพวกเขา.—นะเฮมยา 11:1; ยะซายา 52:1.
6. เป็นจริงอย่างไรที่ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ที่อาจก่อความร้างเปล่าได้มา “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์”?
6 เป็นธรรมเนียมของกองทหารโรมันที่จะถือธงประจำกอง ซึ่งพวกเขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์แต่เป็นสิ่งที่ชาวยิวถือว่าเป็นรูปเคารพ. น่าสนใจ คำภาษาฮีบรูซึ่งได้รับการแปลว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในพระธรรมดานิเอลนั้นโดยหลัก ๆ แล้วใช้กับรูปเคารพและการไหว้รูปเคารพ.a (พระบัญญัติ 29:17) แม้ชาวยิวจะพยายามต้านทาน กองทัพโรมันซึ่งถือธงเป็นรูปเคารพของตนได้บุกฝ่าเข้าไปถึงกรุงยะรูซาเลมในเดือนพฤศจิกายน ปี 66 ส.ศ. และจากนั้นเริ่มขุดใต้กำแพงด้านเหนือของพระวิหาร. ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้—“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ที่สามารถก่อให้เกิดความร้างเปล่าต่อกรุงยะรูซาเลม “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์”! ทว่า ใครเล่าจะหนีออกไปได้?
การหนีเป็นเรื่องเร่งด่วน!
7. โดยที่ไม่มีใครคาดคิด กองทัพโรมันได้ทำอะไร?
7 โดยกะทันหัน และไม่มีเหตุผลที่เข้าใจได้จากแง่คิดของมนุษย์ ขณะที่ดูเหมือนว่ากรุงยะรูซาเลมสามารถถูกยึดได้ง่าย ๆ กองทัพโรมันกลับล่าถอย. พวกผู้ก่อการกำเริบชาวยิวไล่ตามกองทหารโรมันที่ล่าทัพไปแต่ก็ตามถึงแค่อันติปาตรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงยะรูซาเลมประมาณ 50 กิโลเมตร. จากนั้นพวกเขาก็กลับ. เมื่อถึงยะรูซาเลม พวกเขาชุมนุมที่พระวิหารเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์กันต่อไป. คนหนุ่มถูกเกณฑ์เพื่อสร้างป้อมปราการให้แน่นหนาขึ้นและเพื่อเป็นทหาร. ผู้ที่เป็นคริสเตียนจะเข้าร่วมในการนี้ด้วยไหม? ถึงแม้พวกเขาไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง พวกเขาจะยังคงอยู่ในเขตอันตรายไหมเมื่อกองทัพโรมันหวนกลับมา?
8. การลงมือทำอย่างเร่งด่วนอะไรที่คริสเตียนเชื่อฟังทำตามคำตรัสเชิงพยากรณ์ของพระเยซู?
8 คริสเตียนที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมและทั่วทั้งยูดายลงมือทำตามคำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระเยซูคริสต์โดยไม่รอช้าและหนีให้พ้นจากเขตอันตราย. การหนีเป็นเรื่องเร่งด่วน! ในที่สุด พวกเขาก็ไปถึงภูมิภาคที่เป็นภูเขา โดยที่บางคนอาจได้ตั้งรกรากที่เพลลาในมณฑลพีเรีย. คนเหล่านั้นที่ใส่ใจต่อคำเตือนของพระเยซูไม่ได้กลับไปอย่างโง่เขลาด้วยความพยายามจะรักษาทรัพย์สินเงินทองของตนเอาไว้. (เทียบกับลูกา 14:33.) การออกจากเมืองภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น พวกผู้หญิงที่มีครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกอ่อนต้องพบกับความยากลำบากในการเดินทางด้วยเท้าอย่างไม่ต้องสงสัย. การหนีของพวกเขามิได้ถูกกีดขวางจากข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องวันซะบาโต และแม้ว่าฤดูหนาวใกล้เข้ามาแต่ก็ยังไม่ถึง. คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังคำเตือนของพระเยซูให้หนีอย่างรวดเร็วไม่ช้าก็อยู่นอกกรุงยะรูซาเลมและยูดายอย่างปลอดภัย. ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับการทำเช่นนี้.—เทียบกับยาโกโบ 3:17.
9. กองทัพโรมันกลับมาเร็วขนาดไหน และพร้อมด้วยผลเป็นเช่นไร?
9 ในปีถัดมานั้นเอง คือในปี 67 สากลศักราช พวกโรมันก็ได้กลับมาทำสงครามกับพวกยิวอีกครั้งหนึ่ง. เริ่มด้วย ฆาลิลายถูกปราบจนศิโรราบ. ปีถัดมา ยูดายถูกตีแตกกระเจิง. พอถึงปี 70 ส.ศ. กองกำลังของโรมก็เข้าประชิดล้อมกรุงยะรูซาเลม. (ลูกา 19:43) ทุพภิกขภัยหนักข้อขึ้นจนถึงขีดสุด. คนเหล่านั้นที่ถูกกักอยู่ในเมืองหันมาโจมตีกันเอง. ใครก็ตามที่พยายามหนีออกไปก็จะถูกฆ่าอย่างทารุณ. ตามที่พระเยซูกล่าวไว้ สิ่งที่พวกเขาประสบเป็น “ความทุกข์ลำบากใหญ่.”—มัดธาย 24:21.
10. ถ้าเราอ่านด้วยความสังเกตเข้าใจ เราจะสังเกตอะไรอื่นอีก?
10 เหตุการณ์นั้นทำให้สิ่งที่พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้สำเร็จสมจริงอย่างเต็มที่แล้วไหม? ไม่เลย ยังจะมีอีก. ดังที่พระเยซูทรงแนะนำ หากเราอ่านพระคัมภีร์ด้วยความสังเกตเข้าใจ เราจะไม่พลาดในการสังเกตสิ่งที่ยังอยู่ในวันข้างหน้า. เราจะคิดอย่างจริงจังด้วยถึงนัยของเหตุการณ์นั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา.
“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบัน
11. ข้อคัมภีร์อะไรอีกสองข้อซึ่งดานิเอลกล่าวถึง “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” และข้อเหล่านั้นพิจารณาถึงช่วงเวลาใด?
11 โปรดสังเกตว่า นอกเหนือจากที่เราได้เห็นในดานิเอล 9:27 มีการอ้างถึง “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” อีกที่ ดานิเอล 11:31 และ 12:11. ทั้งสองกรณีหลังนี้ไม่ได้พิจารณาพินาศกรรมของกรุงยะรูซาเลม. ที่จริง สิ่งที่กล่าวไว้ที่ดานิเอล 12:11 ปรากฏถัดมาหลังจากกล่าวถึง “วาระสุดท้าย” เพียงสองข้อ. (ดานิเอล 12:9) เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวนับแต่ปี 1914 เป็นต้นมา. ดังนั้น เราต้องตื่นตัวเพื่อจะระบุตัว “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” สมัยปัจจุบันได้ และจากนั้นทำให้แน่ใจว่าเราได้ออกพ้นเขตอันตราย.
12, 13. ทำไมจึงเหมาะสมที่จะเรียกสันนิบาตชาติว่าเป็น “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบัน?
12 “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบันได้แก่อะไร? หลักฐานชี้ไปที่สันนิบาตชาติ ซึ่งเริ่มปฏิบัติการในปี 1920 ไม่นานหลังจากโลกเข้าสู่วาระสุดปลาย. แต่สันนิบาตชาติเป็น “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” ได้อย่างไร?
13 พึงระลึกว่า คำฮีบรูสำหรับ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ส่วนใหญ่จะใช้ในคัมภีร์ไบเบิลในการอ้างถึงรูปเคารพและกิจปฏิบัติเกี่ยวกับการไหว้รูปเคารพ. สันนิบาตชาติถูกบูชาเหมือนรูปเคารพไหม? เป็นเช่นนั้นจริง ๆ! พวกนักเทศน์นักบวชตั้งองค์การนี้ “ในสถานบริสุทธิ์” และพวกผู้ติดตามทั้งหลายของพวกเขาอุทิศตัวให้แก่องค์การนี้อย่างกระตือรือร้นต่อไป. สภาสหพันธ์แห่งคริสตจักรของพระคริสต์ในอเมริกาประกาศว่า สันนิบาตนี้จะเป็น “การแสดงออกทางการเมืองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้.” วุฒิสภาแห่งสหรัฐได้รับจดหมายอย่างมากมายก่ายกองจากกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ทำสัตยาบันในข้อตกลงเกี่ยวกับสันนิบาตชาติ. องค์กรทั่วไปแห่งแบพติสต์, คองกรีเกชันแนลิสต์, และเพรสไบตีเรียนในบริเตนยกยอองค์การนี้ว่าเป็น “เครื่องมืออย่างเดียวเท่าที่มีอยู่เพื่อบรรลุ [สันติภาพบนแผ่นดินโลก].”—โปรดดู วิวรณ์ 13:14, 15.
14, 15. ในทางใดที่สันนิบาตชาติและต่อมาสหประชาชาติตั้งอยู่ “ในสถานบริสุทธิ์”?
14 ราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้าได้รับการสถาปนาที่สวรรค์ในปี 1914 แต่นานาชาติคงดำเนินการต่อไปในการต่อสู้เพื่ออำนาจอธิปไตยของตนเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 2:1-6) เมื่อสันนิบาตชาติได้รับการเสนอขึ้นมา ชาติต่าง ๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รวมทั้งพวกนักเทศน์นักบวชซึ่งอวยชัยให้พรกองทัพตน ได้แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าพวกเขาได้ละทิ้งกฎหมายของพระเจ้า. พวกเขาไม่ได้หมายพึ่งพระคริสต์ฐานะพระมหากษัตริย์. ด้วยเหตุนี้ พวกเขามอบบทบาทแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าให้กับองค์การของมนุษย์ พวกเขาตั้งสันนิบาตชาติไว้ “ในสถานบริสุทธิ์” ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งแหล่งที่ของมัน.
15 ฐานะผู้สืบทอดของสันนิบาต สหประชาชาติถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1945. หลังจากนั้น โปปแห่งโรมก็พากันอวยชัยให้พรแก่สหประชาชาติฐานะ “ความหวังสุดยอดเพื่อความปรองดองกันและสันติภาพ” และ “เวทีอภิปรายสูงสุดแห่งสันติภาพและความยุติธรรม.” ใช่แล้ว สันนิบาตชาติ พร้อมทั้งองค์การที่สืบทอดต่อมาคือสหประชาชาติ ได้กลายเป็นรูปเคารพอย่างแท้จริง เป็น “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในสายพระเนตรของพระเจ้าและในสายตาของไพร่พลของพระองค์.
หนีจากสิ่งใด?
16. ผู้รักความชอบธรรมต้องหนีออกจากสิ่งใดในทุกวันนี้?
16 ‘เมื่อเห็น’ เช่นนี้ กล่าวคือด้วยตระหนักว่าองค์การนานาชาตินี้คือสิ่งใดและได้รับการเคารพบูชาอย่างไร เหล่าผู้รักความชอบธรรมจำต้องหนีเพื่อความปลอดภัย. หนีจากสิ่งใด? จากสิ่งที่ยะรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์เล็งถึงในสมัยปัจจุบัน นั่นก็คือ คริสต์ศาสนจักร และออกจากบาบูโลนใหญ่ทั้งสิ้น ระบบแห่งศาสนาเท็จที่แผ่กว้างไปทั่วโลก.—วิวรณ์ 18:4.
17, 18. “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบันจะก่อให้เกิดความร้างเปล่าอะไร?
17 พึงจำไว้ด้วยว่า ในศตวรรษแรก เมื่อกองทัพโรมันพร้อมกับธงซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการสักการะบุกเข้าเมืองบริสุทธิ์ของชาวยิว กองทัพนั้นอยู่ที่นั่นเพื่อนำความร้างเปล่ามาสู่ยะรูซาเลมและระบบการนมัสการของกรุงนั้น. ในสมัยของเรา การร้างเปล่ากำลังจะมีมาไม่เพียงแค่เหนือเมือง ๆ หนึ่ง หรือเฉพาะต่อคริสต์ศาสนจักร แต่เหนือระบบทั้งสิ้นแห่งศาสนาเท็จทั่วโลก.—วิวรณ์ 18:5-8.
18 ดังที่บันทึกที่วิวรณ์ 17:16 (ล.ม.) มีการบอกล่วงหน้าว่าสัตว์ร้ายสีแดงเข้มโดยนัย ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่าได้แก่สหประชาชาติ จะหันมาเล่นงานบาบูโลนใหญ่ที่ทำตัวเหมือนหญิงแพศยาและจะทำลายเธออย่างไม่ปรานีปราศรัย. โดยใช้ภาษาที่ให้ภาพชัดแจ้ง ที่นั่นกล่าวว่า “เขาสิบเขาที่ท่านได้เห็นนั้น และสัตว์ร้ายนั้น เหล่านี้จะเกลียดชังหญิงแพศยานั้นและจะทำให้นางถูกล้างผลาญและเปลือยกายและจะกินเนื้อของนางและเผานางจนสิ้นด้วยไฟ.” สิ่งที่ภาพนี้จะหมายถึงนั้นน่าประหวั่นพรั่นพรึงที่จะนึกถึง. ผลที่สุดจะเป็นอวสานของศาสนาเท็จทุกรูปแบบในทุกส่วนของแผ่นดินโลกนี้. เหตุการณ์นี้จะเป็นการแสดงให้เห็นอย่างแท้จริงว่าความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ได้เริ่มต้นแล้ว.
19. องค์ประกอบใดที่เป็นส่วนของสหประชาชาติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และทำไมจึงต้องสนใจในส่วนนี้?
19 เป็นที่น่าสังเกตว่า นับแต่สหประชาชาติเริ่มดำเนินงานในปี 1945 บางพวกที่เป็นอเทวนิยม ซึ่งต่อต้านศาสนาเป็นส่วนที่เด่นในหมู่สมาชิกขององค์การนี้. หลายต่อหลายครั้งทั่วโลก พวกซึ่งถือคตินิยมการเปลี่ยนถึงรากถึงโคนเหล่านี้ได้เป็นเครื่องมือในการทำให้กิจปฏิบัติทางศาสนาถูกจำกัดอย่างเข้มงวดหรือไม่ก็ถูกสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง. อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีมานี้ มีหลายแห่งที่รัฐบาลได้คลายความกดดันต่อกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ลง. ในความรู้สึกของบางคน ดูเหมือนว่าอันตรายที่มีต่อศาสนาได้มลายหายไปแล้ว.
20. ศาสนาต่าง ๆ ของโลกได้สร้างชื่อเสียงแบบใดให้แก่ตนเอง?
20 อย่างไรก็ตาม ศาสนาต่าง ๆ แห่งบาบูโลนใหญ่ยังคงเป็นกองกำลังที่ก่อความแตกแยกอย่างรุนแรงต่อไปในโลกนี้. พาดหัวข่าวมักจะระบุตัวกลุ่มแยกและกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ต่อสู้กันโดยออกชื่อศาสนาซึ่งกลุ่มเหล่านั้นสนับสนุนอยู่. ตำรวจปราบจลาจลและทหารต้องบุกเข้าไปในโบสถ์วิหารเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างกลุ่มแยกทางศาสนาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน. องค์กรทางศาสนาหลายกลุ่มให้การสนับสนุนทางการเงินกับการปฏิวัติทางการเมือง. ความเกลียดชังด้านศาสนาได้ทำให้ความพยายามของสหประชาชาติเพื่อจะบรรลุเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไร้ผล. ในการติดตามเป้าหมายเรื่องสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย บางพวกภายในสหประชาชาติต้องการเห็นการกำจัดอิทธิพลใด ๆ ทางศาสนาซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเขาอยู่.
21. (ก) ใครจะเป็นผู้กำหนดเวลาที่บาบูโลนใหญ่จะถูกทำลาย? (ข) ต้องทำอะไรอย่างเร่งด่วนก่อนถึงเวลานั้น?
21 ยังมีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณา. แม้ว่าเขาทางการทหารจากภายในของสหประชาชาติจะถูกใช้เพื่อทำลายบาบูโลนใหญ่ การทำลายนั้นที่จริงแล้วจะเป็นการสำแดงการพิพากษาที่มาจากพระเจ้า. การสำเร็จโทษตามการพิพากษาจะมาตามกำหนดเวลาของพระเจ้า. (วิวรณ์ 17:17) ในระหว่างนี้เราควรทำอะไร? คำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลคือ: “จงออกไปจากเมืองนั้น”—ออกไปเสียจากบาบูโลนใหญ่.—วิวรณ์ 18:4, ล.ม.
22, 23. การหนีเช่นนั้นรวมอะไรเข้าไว้ด้วย?
22 การหนีไปยังที่ปลอดภัยนี้ไม่ใช่การเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์ ดังที่คริสเตียนชาวยิวได้ทำเมื่อละทิ้งกรุงยะรูซาเลมไป. แต่เป็นการหนีออกจากศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร ใช่แล้ว ออกจากบาบูโลนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม. การหนีนี้หมายถึงการแยกตัวอย่างเด็ดขาดไม่เพียงแค่จากองค์การศาสนาต่าง ๆ แต่จากประเพณีนิยมและทัศนะที่องค์การเหล่านี้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย เป็นการหนีไปยังที่ปลอดภัยภายในองค์การตามระบอบของพระยะโฮวา.—เอเฟโซ 5:7-11.
23 เมื่อผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระยะโฮวาระบุเป็นครั้งแรกถึงสิ่งน่าสะอิดสะเอียนสมัยปัจจุบันซึ่งก็คือสันนิบาตชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บรรดาพยานฯพากันตอบรับอย่างไร? พวกเขาได้ตัดขาดสมาชิกภาพของตนกับคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรอยู่แล้ว. แต่พวกเขาค่อยตระหนักทีละน้อยว่าพวกเขายังคงติดอยู่กับประเพณีนิยมและกิจปฏิบัติบางอย่างของคริสต์ศาสนจักร เช่น การใช้ไม้กางเขนและการฉลองคริสต์มาสและวันฉลองแบบนอกรีตอื่น ๆ. เมื่อได้รับทราบความจริงในเรื่องเหล่านี้แล้ว พวกเขาลงมือทำทันที. พวกเขาใส่ใจทำตามคำแนะนำดังบันทึกที่ยะซายา 52:11 (ล.ม.) ที่ว่า “จงหลีกหนี จงหลีกหนี จงออกจากที่นั่น อย่าแตะต้องสิ่งใด ๆ ที่ไม่สะอาด; จงออกจากท่ามกลางเมืองนั้น จงรักษาตัวเจ้าให้สะอาด เจ้าทั้งหลายผู้ถือเครื่องภาชนะของพระยะโฮวา.”
24. โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1935 ใครที่ได้เข้าร่วมในการหนีนั้น?
24 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากปี 1935 เป็นต้นมา ชนฝูงใหญ่ที่กำลังทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเต็มใจรับเอาความหวังที่จะอยู่ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก ก็เริ่มลงมือแบบที่คล้ายกัน. พวกเขาก็เช่นกัน ‘เห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ และตระหนักว่านั่นหมายถึงอะไร. เมื่อได้ตัดสินใจจะหนีแล้ว พวกเขาได้จัดการเพื่อลบชื่อตนเองออกจากบัญชีรายชื่อสมาชิกขององค์การเหล่านั้นซึ่งเป็นส่วนของบาบูโลนใหญ่.—2 โกรินโธ 6:14-17.
25. อะไรอีกที่นับว่าจำเป็นนอกจากการตัดขาดสายสัมพันธ์ซึ่งคนเราอาจมีอยู่กับศาสนาเท็จ?
25 อย่างไรก็ดี การหนีออกจากบาบูโลนใหญ่หมายถึงยิ่งกว่าการทิ้งศาสนาเท็จมากนัก. มีสิ่งอื่นอีกไม่เพียงแค่เข้าร่วมการประชุมไม่กี่ครั้งที่หอประชุมราชอาณาจักรหรือออกไปประกาศข่าวดีตามบ้านเดือนละครั้งสองครั้งเท่านั้น. ในทางกายภาพแล้วคนเราอาจอยู่นอกบาบูโลนใหญ่ แต่เขาได้ทิ้งมันไว้เบื้องหลังจริง ๆ ไหม? เขาได้แยกตัวจากโลกซึ่งบาบูโลนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งที่เด่นในนั้นไหม? เขายังคงติดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนน้ำใจแบบโลกนี้ไหม—น้ำใจที่ดูถูกมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า? เขาถือว่าศีลธรรมทางเพศและความซื่อสัตย์ในสายสมรสเป็นเรื่องไม่สำคัญไหม? เขาเน้นหนักที่ผลประโยชน์ส่วนตัวทางวัตถุมากกว่าผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณไหม? เขาต้องไม่ปล่อยตัวเองถูกนวดปั้นตามอย่างระบบนี้.—มัดธาย 6:24; 1 เปโตร 4:3, 4.
อย่าให้สิ่งใดหน่วงเหนี่ยวการหนีของคุณ!
26. อะไรจะช่วยเราไม่เพียงแค่เริ่มหนีออกมาแต่หนีได้สำเร็จด้วย?
26 ในการหนีของเราไปยังที่ปลอดภัย เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะไม่อาลัยอาวรณ์สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง. (ลูกา 9:62) เราต้องคอยระวังรักษาจิตใจและหัวใจให้ติดสนิทอยู่กับราชอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์. เรามุ่งมั่นจะแสดงความเชื่อของเราโดยแสวงหาสิ่งเหล่านี้ก่อนไหม ด้วยความมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแนวทางที่ซื่อสัตย์เช่นนั้น? (มัดธาย 6:31-33) ความเชื่อมั่นของเราซึ่งมีรากฐานจากพระคัมภีร์ควรกระตุ้นเราให้บรรลุเป้าหมายนั้นขณะที่เราคอยท่าด้วยใจจดจ่อให้ฉากเหตุการณ์ในโลกคลี่คลายจนเห็นได้ชัด.
27. ทำไมสำคัญที่จะคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับคำถามต่าง ๆ ในข้อนี้?
27 การสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าจะเริ่มจากการทำลายล้างบาบูโลนใหญ่. จักรภพแห่งศาสนาเท็จซึ่งเป็นเหมือนหญิงแพศยาจะถูกลบล้างจนสูญสิ้น. เวลานั้นมาใกล้แล้วจริง ๆ! เราเองเป็นรายบุคคลจะมีฐานะเช่นไรเมื่อเวลาสำคัญนั้นมาถึง? และเมื่อถึงจุดสุดยอดของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ คราวที่ระบบชั่วช้าของซาตานที่เหลือทั้งสิ้นถูกทำลาย จะปรากฏออกมาว่าเรายืนอยู่ฝ่ายใด? หากเราลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำเสียแต่บัดนี้ ก็มั่นใจได้ว่าเราจะปลอดภัย. พระยะโฮวาตรัสบอกเราเอาไว้ว่า “ผู้ใดที่ฟังเราจะพำนักอยู่โดยปลอดภัย.” (สุภาษิต 1:33) โดยทำการรับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดีและชื่นชมยินดีต่อ ๆ ไปในช่วงสุดท้ายของระบบนี้ เราก็อาจมีคุณสมบัติที่จะรับใช้พระยะโฮวาได้ตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ จัดพิมพ์โดยสมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก เล่ม 1, หน้า 634-635.
คุณจำได้ไหม?
▫ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบันคืออะไร?
▫ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ตั้งอยู่ “ในสถานบริสุทธิ์” ในแง่ใด?
▫ อะไรรวมอยู่ด้วยในการหนีไปยังที่ปลอดภัยเดี๋ยวนี้?
▫ เหตุใดการลงมือทำเช่นนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน?
[รูปภาพหน้า 16]
เพื่อจะรอด ผู้ติดตามพระเยซูต้องหนีโดยไม่ชักช้า