คุณจะรอดไหมเมื่อพระเจ้าทรงปฏิบัติการ?
“หากไม่ย่นวันเหล่านั้นให้สั้นลง จะไม่มีเนื้อหนังรอดได้; แต่เพราะเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรร วันเหล่านั้นจึงถูกย่นให้สั้นเข้า.”—มัดธาย 24:22, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดจึงเป็นเรื่องปกติที่จะสนใจในอนาคตของเรา? (ข) ความสนใจตามธรรมชาติอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำถามที่สำคัญอะไร?
คุณสนใจในตัวเองมากขนาดไหน? หลายคนทุกวันนี้หมกมุ่นสนใจในตัวเองสุดโต่ง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้ตำหนิการแสดงความสนใจตามสมควรในสิ่งที่มีผลกระทบตัวเรา. (เอเฟโซ 5:33) นั่นรวมไปถึงการที่เราสนใจในอนาคตของตัวเอง. ดังนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คุณจะต้องการรู้ว่าอนาคตมีอะไรรอคุณอยู่. คุณสนใจไหม?
2 เราแน่ใจได้ว่า พวกอัครสาวกของพระเยซูมีความสนใจเช่นนั้นในเรื่องอนาคตของพวกเขา. (มัดธาย 19:27) นั่นคงจะเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่สี่คนในพวกเขาถามพระเยซูตอนที่อยู่กับพระองค์บนภูเขามะกอกเทศ. พวกเขาถามว่า “เหตุการณ์เหล่านี้จะบังเกิดขึ้นเมื่อไร. และสิ่งไรจะเป็นหมายสำคัญว่าการณ์ทั้งปวงนั้นจวนจะสำเร็จ?” (มาระโก 13:4) พระเยซูไม่ทรงเพิกเฉยต่อความสนใจในเรื่องอนาคตอันเป็นสิ่งที่มีเป็นธรรมดา—ทั้งของพวกอัครสาวกและของพวกเรา. ครั้งแล้วครั้งเล่า พระองค์ทรงเน้นให้เห็นชัดวิธีที่ผู้ติดตามของพระองค์จะได้รับผลกระทบและผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไร.
3. เหตุใดเราจึงโยงคำตอบของพระเยซูมาถึงสมัยของเรา?
3 คำตอบของพระเยซูเป็นคำพยากรณ์ที่มีความสำเร็จเป็นจริงครั้งใหญ่ในสมัยของเรา. เราสามารถเห็นได้จากสงครามโลกทั้งสองครั้งและการสัประยุทธ์อื่น ๆ ในศตวรรษที่เราอยู่นี้, แผ่นดินไหวในที่ต่าง ๆ ซึ่งผลาญชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน, การขาดแคลนอาหารซึ่งทำให้ล้มป่วยและล้มตาย, และภัยพิบัติต่าง ๆ—นับจากไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งลุกลามไปทั่วในปี 1918 ไปจนถึงวิบัติภัยเอดส์ในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม คำตอบส่วนใหญ่ของพระเยซูได้มีความสำเร็จเป็นจริงซึ่งนำไปสู่พินาศกรรมของยะรูซาเลมโดยน้ำมือของพวกโรมันเช่นกันและรวมถึงพินาศกรรมของกรุงนั้นด้วยในปีสากลศักราช 70. พระเยซูทรงเตือนพวกสาวกดังนี้: “จงระวังตัวให้ดี. เพราะเขาจะอายัดท่านไว้แก่ศาล, และจะเฆี่ยนท่านในธรรมศาลาของเขา, และท่านจะต้องยืนต่อหน้าเจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเห็นแก่เรา, เพื่อจะได้เป็นพยานแก่เขา.”—มาระโก 13:9.
สิ่งที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าและสิ่งที่ได้เกิดขึ้น
4. คำเตือนอะไรที่มีอยู่ในคำตอบของพระเยซู?
4 พระเยซูไม่เพียงแค่ตรัสบอกล่วงหน้าว่าคนอื่นจะปฏิบัติกับสาวกของพระองค์อย่างไรเท่านั้น. พระองค์ทรงกระตุ้นพวกเขาในเรื่องวิธีที่พวกเขาควรทำ. อย่างเช่น “เมื่อท่านทั้งหลายจะเห็นสิ่งอันน่าเกลียดซึ่งจะทำให้เกิดวิบัติตั้งอยู่ในที่ซึ่งไม่สมควรจะตั้ง, (ให้ผู้อ่านเข้าใจเอาเถิด) เวลานั้นให้ผู้ที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา.” (มาระโก 13:14) บันทึกเรื่องเดียวกันที่ลูกา 21:20 อ่านดังนี้: “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม.” เรื่องนี้ปรากฏว่าถูกต้องแม่นยำในความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกอย่างไร?
5. มีอะไรเกิดขึ้นในท่ามกลางชาวยิวที่อยู่ในแคว้นยูเดียในปีส.ศ. 66?
5 สารานุกรมมาตรฐานนานาชาติเกี่ยวกับไบเบิล (1982, ภาษาอังกฤษ) บอกเราดังนี้: “พวกยิวกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ใต้การควบคุมของโรมมากขึ้นไปทุกที และพวกตัวแทนของโรมก็รุนแรง, โหดร้าย, และทุจริตมากขึ้นเรื่อย ๆ. การกบฏอย่างเปิดเผยได้เกิดขึ้นในปีส.ศ. 66 . . . สงครามเริ่มขึ้นเมื่อพวกเซลอตยึดป้อมมาซาดา และต่อจากนั้นก็รุกคืบสู่กรุงยะรูซาเลม ภายใต้การนำของเมนอะเคม. เวลาเดียวกันนั้นเอง พวกยิวในเมืองซีซาเรียที่อยู่ใต้การปกครองของผู้สำเร็จราชการโรมันก็ถูกสังหารหมู่อย่างโหดร้าย และข่าวการกระทำอย่างทารุณนี้ก็แพร่ไปทั่วประเทศ. มีการทำเหรียญกษาปณ์ใหม่ขึ้นมาซึ่งมีแกะสลักบนเหรียญว่า ปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 แห่งการกบฏ.”
6. การที่พวกยิวลุกขึ้นต่อต้านทำให้พวกโรมันตอบโต้เช่นไร?
6 กองทหารโรมันที่สิบสองภายใต้การนำของเซสติอุส กัลลุส ยาตราทัพจากซีเรีย ทำลายล้างฆาลิลายและยูเดีย และจากนั้นก็เข้าโจมตีเมืองหลวง ถึงกับเข้ายึดครองตอนบนของ “กรุงยะรูซาเลมเมืองบริสุทธิ์.” (นะเฮมยา 11:1; มัดธาย 4:5; 5:35; 27:53) ในการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนังสือชุดที่ชื่อการล้อมกรุงยะรูซาเลมของกองทัพโรมัน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “พวกโรมันพยายามปีนป่ายกำแพงเพื่อโจมตีอยู่ห้าวัน ถูกรุกไล่กลับครั้งแล้วครั้งเล่า. ในที่สุด ผู้ป้องกันเมืองต้านกำลังของห่ากระสุนก้อนหินที่ยิงมาไม่ไหว ก็ต้องยอมแพ้. โดยการทำเทสทูโด—วิธีการนำโล่มารวมกันไว้เหนือหัวเพื่อป้องกันตัวพวกเขา—ทหารโรมันได้ขุดใต้กำแพงและพยายามจุดไฟเผาประตู. ความกลัวจนจับจิตเกิดขึ้นกับผู้ป้องกันเมือง.” คริสเตียนที่อยู่ภายในเมืองอาจหวนระลึกได้ถึงคำตรัสของพระเยซู และสามารถหยั่งเห็นเข้าใจได้ว่าสิ่งน่าสะอิดสะเอียนกำลังตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์.a แต่ในเมื่อกรุงถูกปิดล้อมอยู่เช่นนี้ บรรดาคริสเตียนเหล่านั้นจะหนีตามที่พระเยซูทรงแนะนำได้อย่างไร?
7. ขณะที่ชัยชนะอยู่แค่เอื้อมในปี ส.ศ. 66 พวกโรมันกลับทำอะไร?
7 ฟลาวิอุส โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์เล่าว่า “เซสติอุส [กัลลุส] ไม่รู้ไม่ว่าเรื่องความหมดอาลัยตายอยากของผู้ตกอยู่ใต้วงล้อม หรือความรู้สึกของประชาชน โดยกะทันหัน สั่งทหารของเขาให้ถอนทัพ ทิ้งความหวังที่จะได้ชัยไป แม้ว่าไม่ได้เพลี่ยงพล้ำเสียเปรียบแต่อย่างใด และโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ ล่าทัพไปจากกรุง [ยะรูซาเลม].” (สงครามชาวยิว เล่ม 2, 540 [บท 19 วรรค 7]) เหตุใดกัลลุสจึงล่าทัพ? ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร การถอยทัพของเขาทำให้คริสเตียนสามารถเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ให้หนีไปยังภูเขาเพื่อความปลอดภัย.
8. พวกโรมันพยายามทำลายกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งที่สองเช่นไร และคนที่รอดชีวิตประสบกับสิ่งใด?
8 การเชื่อฟังช่วยชีวิต. ไม่นานนัก พวกโรมันก็เคลื่อนพลมาบดขยี้พวกกบฏ. การต่อสู้ชิงชัยภายใต้นายพลทิทุสมาถึงจุดสุดยอดที่การล้อมกรุงยะรูซาเลมจากเดือนเมษายนจนถึงสิงหาคมปี ส.ศ. 70 เป็นเรื่องที่ทำให้ขนลุกขนพองทีเดียวเมื่อได้อ่านการบรรยายภาพของโยเซฟุสว่า ชาวยิวประสบความลำบากแสนเข็ญอย่างไรบ้าง. นอกจากคนที่ถูกฆ่าในการต่อสู้กับพวกโรมันแล้ว ก็ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่ถูกกลุ่มที่เป็นคู่แข่งชาวยิวด้วยกันเองเข่นฆ่า และอดอยากจนถึงขั้นกินเนื้อมนุษย์. ล่วงไปจนถึงตอนที่พวกโรมันได้ชัยชนะ ชาวยิวที่เสียชีวิตไปแล้วมีถึง 1,100,000 คน.b ส่วน 97,000 คนที่รอดชีวิตนั้น บางคนถูกประหารทันที คนอื่น ๆ ถูกกวาดต้อนไปเป็นทาส. โยเซฟุสกล่าวดังนี้: “คนที่อายุเกินสิบเจ็ดปีถูกจับใส่ตรวน และส่งไปเป็นนักโทษแรงงานที่อียิปต์ ส่วนคนจำนวนมากนั้นทิทุสส่งไปเป็นของกำนัลยังเมืองต่าง ๆ ของโรมเพื่อถูกฆ่าเสียที่โรงมโหรสพกลางแจ้ง หากไม่ใช่ด้วยคมดาบก็ด้วยสัตว์ป่า.” แม้แต่ระหว่างที่การคัดแยกเช่นนี้ดำเนินอยู่นั้น มีเชลยศึก 11,000 คนอดอยากจนตายไป.
9. เหตุใดคริสเตียนไม่ประสบกับผลเลวร้ายเช่นเดียวกับชาวยิวคนอื่น ๆ แต่ยังมีคำถามอะไรที่ยังค้างอยู่?
9 คริสเตียนสามารถรู้สึกขอบคุณที่พวกเขาได้เชื่อฟังคำเตือนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และได้หนีจากกรุงนั้นก่อนที่กองทัพโรมันกลับมาอีกครั้ง. โดยวิธีนี้ พวกเขารอดจากส่วนหนึ่งของสิ่งที่พระเยซูทรงเรียกว่า ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลกจนกระทั่งบัดนี้ และจะไม่เกิดขึ้นอีก’ กับยะรูซาเลม. (มัดธาย 24:21, ล.ม.) พระเยซูตรัสเพิ่มเติมว่า “แท้จริง หากไม่ย่นวันเหล่านั้นให้สั้นลง จะไม่มีเนื้อหนังรอดได้; แต่เพราะเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรร วันเหล่านั้นจึงถูกย่นให้สั้นเข้า.” (มัดธาย 24:22, ล.ม.) ข้อนี้หมายความเช่นไรในเวลานั้น และมีความหมายอะไรในปัจจุบัน?
10. ก่อนนี้เราอธิบายมัดธาย 24:22 อย่างไร?
10 เมื่อก่อนเคยมีการอธิบายว่า ‘เนื้อหนังที่จะรอด’ หมายถึงชาวยิวซึ่งรอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากเหนือกรุงยะรูซาเลมในปีส.ศ. 70 เหล่าคริสเตียนได้หนีไปแล้ว ดังนั้นพระเจ้าสามารถปล่อยให้พวกโรมันนำมาซึ่งพินาศกรรมโดยฉับพลัน. พูดอีกอย่างก็คือ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า “ผู้ถูกเลือกสรร” พ้นอันตรายไปแล้ว วันเวลาแห่งความทุกข์ลำบากจึงสามารถถูกย่นให้สั้นเข้า เพื่อให้ “เนื้อหนัง” ชาวยิวบางคนจะรอดได้. เป็นที่เข้าใจกันว่า ชาวยิวที่รอดชีวิตเป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงคนเหล่านั้นที่จะรอดผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในสมัยของเรานี้.—วิวรณ์ 7:14.
11. ทำไมจึงเข้าใจว่า คำอธิบายมัดธาย 24:22 น่าจะมีการพิจารณาใหม่?
11 แต่คำอธิบายนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ส.ศ. 70 ไหม? พระเยซูตรัสว่า “เนื้อหนัง” มนุษย์จะ “รอด” จากความทุกข์ลำบาก. คุณจะใช้คำว่า “รอด” กับผู้รอดชีวิต 97,000 คนนั้นไหม เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในไม่ช้าหลายหมื่นคนในกลุ่มนี้ต้องตายไปเพราะความอดอยากหรือไม่ก็ถูกฆ่า ณ โรงมโหรสพกลางแจ้ง? โยเซฟุสแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับโรงมโหรสพกลางแจ้งแห่งหนึ่งที่เมืองซีซาเรียดังนี้: “จำนวนคนที่ตายไปในการสู้กับสัตว์ป่า หรือในการต่อสู้กันเอง หรือจากการถูกเผาทั้งเป็นมีมากกว่า 2,500 คน.” แม้ว่าพวกเขาไม่ได้ตายในคราวการล้อมกรุง พวกเขาก็ไม่ได้ “รอด” อย่างแท้จริง. และพระเยซูจะถือว่าคนเหล่านี้เป็นเหมือนกับบรรดาผู้รอดชีวิตอย่างมีความสุขในคราว “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่กำลังจะมาถึงนี้ไหม?
เนื้อหนังที่รอด—อย่างไร?
12. ใครคือ “ผู้ถูกเลือกสรร” ในศตวรรษแรกซึ่งพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยในพวกเขา?
12 เมื่อถึงปี ส.ศ. 70 พระเจ้าไม่ได้มองดูชาวยิวโดยกำเนิดว่าเป็นไพร่พลที่พระองค์ทรงเลือกอีกต่อไป. พระเยซูทรงแสดงว่าพระเจ้าได้ปฏิเสธชาตินั้น และจะปล่อยให้เมืองหลวง, พระวิหาร, และระบบแห่งการนมัสการของชาตินี้พบกับจุดจบ. (มัดธาย 23:37–24:2) พระเจ้าทรงเลือกชาติหนึ่งขึ้นมาใหม่ นั่นคือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. (กิจการ 15:14; โรม 2:28, 29; ฆะลาเตีย 6:16) ชาตินี้ประกอบไปด้วยชายและหญิงที่ได้รับการเลือกออกจากบรรดาชาติต่าง ๆ และได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (มัดธาย 22:14; โยฮัน 15:19; กิจการ 10:1, 2, 34, 35, 44, 45) ไม่กี่ปีก่อนการโจมตีของเซสติอุส กัลลุส เปโตรเขียนถึง “ผู้ที่ทรงเลือกสรรแล้ว ตามความรู้ล่วงหน้าของพระเจ้าพระบิดา พร้อมด้วยการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระวิญญาณ.” ผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณเช่นนั้นเป็น “เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์.” (1 เปโตร 1:1, 2; 2:9, ล.ม.) พระเจ้าจะนำคนเหล่านี้ที่ได้รับการเลือกไปสู่สวรรค์เพื่อปกครองร่วมกับพระเยซู.—โกโลซาย 1:1, 2; 3:12; ติโต 1:1; วิวรณ์ 17:14.
13. คำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 24:22 อาจมีความหมายเช่นไร?
13 การชี้ตัวว่าใครคือผู้ถูกเลือกสรรนั้นเป็นประโยชน์ เนื่องจากพระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่า วันแห่งความทุกข์ลำบากจะถูกย่นให้สั้นเข้า “เพราะเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรร.” คำกรีกที่ได้รับการแปลว่า “เพราะเห็นแก่” สามารถแปลได้ด้วยว่า “เพื่อประโยชน์ของ” หรือ “เพื่อสวัสดิภาพของ.” (มาระโก 2:27; โยฮัน 12:30; 1 โกรินโธ 8:11; 9:10, 23; 11:9; 2 ติโมเธียว 2:10; วิวรณ์ 2:3) ดังนั้น พระเยซูอาจได้ตรัสว่า ‘หากไม่ย่นวันเหล่านั้นให้สั้นลง จะไม่มีเนื้อหนังรอดได้; แต่เพื่อประโยชน์ของ ผู้ถูกเลือกสรร วันเหล่านั้นจึงถูกย่นให้สั้นเข้า.’c (มัดธาย 24:22) มีอะไรไหมซึ่งเป็นผลประโยชน์ หรือ “เพื่อประโยชน์ของ” คริสเตียนผู้ถูกเลือกสรรที่ถูกกักอยู่ในกรุงยะรูซาเลม?
14. “เนื้อหนัง” ได้รับการช่วยให้รอดอย่างไร เมื่อกองทัพโรมันล่าถอยไปจากกรุงยะรูซาเลมอย่างไม่คาดฝันในปี ส.ศ. 66?
14 หวนระลึกถึงในปี ส.ศ. 66 พวกโรมันเคลื่อนทัพเข้ามาในประเทศ ยึดครองกรุงยะรูซาเลมส่วนบน และเริ่มขุดใต้กำแพง. โยเซฟุสอธิบายดังนี้: “หากเพียงแต่เขาจะทนล้อมอยู่ต่อไปอีกไม่นาน เขาจะยึดกรุงได้ในทันที.” ถามตัวเองดูซิว่า ไฉนกองทัพโรมันอันทรงอำนาจจึงเลิกการรณรงค์ไปเสียอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และล่าทัพ “โดยไม่มีเหตุผลใด ๆ”? รูเพิร์ต เฟอร์โน ผู้เชี่ยวชาญการตีความประวัติศาสตร์ทางการทหาร ได้ให้ความเห็นดังนี้: “ไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์คนใดประสบความสำเร็จในการให้เหตุผลที่มีน้ำหนักพอสำหรับการตัดสินใจครั้งนี้ของกัลลุสซึ่งแปลกประหลาดและก่อความเสียหายอย่างมหันต์.” ไม่ว่าจะอย่างไร ผลก็คือว่าความทุกข์ลำบากถูกย่นให้สั้นเข้า. พวกโรมันถอยทัพ พวกยิวก็ไล่ตามไปโจมตีพวกเขาขณะถอยร่น. บรรดาคริสเตียนผู้ถูกเจิม “ผู้ถูกเลือกสรร” ซึ่งถูกกักอยู่ล่ะเป็นอย่างไร? การล้มเลิกการล้อมกรุงย่อมหมายความว่าพวกเขาได้รับการช่วยให้รอดแล้วจากการเข่นฆ่าที่มาคุกคามในช่วงแห่งความทุกข์ลำบากนั้น. ดังนั้น คริสเตียนเหล่านั้นแหละซึ่งได้รับประโยชน์จากการย่นความทุกข์ลำบากให้สั้นเข้าในปี ส.ศ. 66 คือ “เนื้อหนัง” ที่รอด ตามที่อ้างถึงในมัดธาย 24:22.
มีอะไรรอท่าอยู่สำหรับอนาคตของคุณ?
15. เหตุใดคุณจึงบอกได้ว่ามัดธายบท 24 ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษในสมัยของเรานี้?
15 บางคนอาจถามว่า ‘ทำไมฉันต้องไปสนใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้ที่ช่วยให้เข้าใจคำตรัสของพระเยซูชัดขึ้น? เอาล่ะ มีเหตุผลเหลือเฟือจะลงความเห็นได้ว่า คำพยากรณ์ของพระเยซูจะมีความสำเร็จเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า ยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นช่วงก่อนปี ส.ศ. 70 และรวมทั้งที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าวนี้ด้วย.d (เทียบกับมัดธาย 24:7; ลูกา 21:10, 11; วิวรณ์ 6:2-8.) เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว พวกพยานพระยะโฮวาได้ประกาศว่า ความสำเร็จเป็นจริงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสมัยของเราพิสูจน์ว่า เราสามารถคาดหมายได้ว่า “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” จวนจะถึงอยู่แล้ว. ในระหว่างความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่นั้น คำพยากรณ์ที่มัดธาย 24:22 จะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
16. พระธรรมวิวรณ์ให้ข้อเท็จจริงอะไรที่หนุนกำลังใจในเรื่องความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่คืบใกล้เข้ามา?
16 ประมาณสองทศวรรษหลังความทุกข์ลำบากเหนือกรุงยะรูซาเลม อัครสาวกโยฮันได้เขียนพระธรรมวิวรณ์. พระธรรมนี้ยืนยันว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ยังอยู่ในกาลข้างหน้า. และด้วยเหตุที่สนใจในสิ่งที่ส่งผลกระทบเราเป็นส่วนตัว เราอาจรู้สึกโล่งใจที่ได้ทราบว่า พระธรรมวิวรณ์มีคำพยากรณ์ที่รับรองกับเราว่า มนุษย์ที่เป็นเนื้อหนังจะมีชีวิตรอดผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนี้. โยฮันบอกล่วงหน้าถึง “ชนฝูงใหญ่. . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง.” คนเหล่านี้คือใคร? มีเสียงมาจากสวรรค์ตอบว่า “คนเหล่านี้คือผู้ที่ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) ใช่แล้ว พวกเขาคือผู้ที่จะรอดชีวิต! พระธรรมวิวรณ์ยังได้ให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งแก่เราในเรื่องวิธีที่สิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในคราวความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมา และวิธีที่มัดธาย 24:22 จะสำเร็จเป็นจริง.
17. ช่วงเริ่มต้นแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะรวมถึงเหตุการณ์อะไร?
17 ความทุกข์ลำบากใหญ่นี้จะเปิดฉากด้วยการโจมตีหญิงแพศยาโดยนัยซึ่งถูกเรียกว่า “บาบูโลนใหญ่.” (วิวรณ์ 14:8; 17:1, 2) หญิงแพศยานี้เป็นภาพแสดงถึงจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ พร้อมด้วยมีคริสต์ศาสนจักรซึ่งน่าตำหนิที่สุด. ตามถ้อยคำในวิวรณ์ 17:16-18 พระเจ้าจะทรงใส่ความคิดนี้ไว้ในหัวใจของส่วนทางการเมืองให้โจมตีหญิงแพศยาโดยนัยนี้.e คิดดูซิว่า “ผู้ถูกเลือกสรร” ที่ได้รับการเจิมของพระเจ้า และคนที่เป็นสหายของพวกเขา “ชนฝูงใหญ่” จะรู้สึกอย่างไรเมื่อการโจมตีนั้นเริ่มต้น. ขณะที่การล้างผลาญทำลายศาสนารุกคืบไป อาจดูเหมือนว่า การโจมตีนี้จะกวาดล้างองค์การทางศาสนาทั้งสิ้นไม่เหลือ รวมถึงไพร่พลของพระยะโฮวาด้วย.
18. เหตุใดจึงดูราวกับว่าจะไม่มี “เนื้อหนัง” ใดรอดผ่านช่วงเริ่มต้นแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่?
18 นี่คือเวลาที่คำตรัสของพระเยซูซึ่งพบที่มัดธาย 24:22 จะสำเร็จเป็นจริงในขอบเขตที่ยิ่งใหญ่. เช่นเดียวกับเหล่าผู้ถูกเลือกสรรในกรุงยะรูซาเลมดูเหมือนจะตกอยู่ในอันตราย ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอาจดูเหมือนตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกำจัดระหว่างการโจมตีศาสนา ซึ่งดูราวกับว่าการโจมตีนั้นจะกวาดทำลาย “เนื้อหนัง” ทั้งสิ้นแห่งไพร่พลของพระเจ้า. กระนั้น ขอให้เราระลึกถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นย้อนไปในปี ส.ศ. 66 ความทุกข์ลำบากที่เกิดจากพวกโรมันถูกย่นให้สั้นเข้า ทำให้ผู้ถูกเลือกสรรที่ได้รับการเจิมของพระเจ้ามีโอกาสเหลือเฟือจะหนีและมีชีวิตอยู่ต่อไป. ด้วยเหตุนี้ เราสามารถมั่นใจได้ว่า การโจมตีทำลายล้างศาสนาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการเข่นฆ่าล้างประชาคมแห่งผู้นมัสการแท้ที่มีอยู่ทั่วโลก. เหตุการณ์นี้จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ราวกับว่า “ในวันเดียว.” โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง การโจมตีนี้จะถูกย่นให้สั้นเข้า จะไม่ถูกปล่อยให้ดำเนินไปจนบรรลุวัตถุประสงค์ของมัน เพื่อว่าไพร่พลของพระเจ้าจะ “รอด” ได้.—วิวรณ์ 18:8.
19. (ก) หลังช่วงแรกแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ได้ผ่านไป จะเห็นอะไรได้เด่นชัด? (ข) สิ่งนี้จะนำไปสู่อะไร?
19 หลังจากนั้น องค์ประกอบส่วนอื่น ๆ ขององค์การทางภาคโลกนี้ของพญามารซาตานจะคงมีอยู่ต่อไปสักระยะหนึ่ง คร่ำครวญในความสูญเสียจากการทำธุรกิจกับอดีตชู้รักทางศาสนาของพวกเขา. (วิวรณ์ 18:9-19) จนถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะสังเกตว่าผู้รับใช้แท้ของพระเจ้ายังคง “อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย ทุกคนอาศัยอยู่โดยไม่มีกำแพง” และดูเหมือนจะเป็นเหยื่อที่โจมตีได้ง่าย. พวกผู้โจมตีเหล่านี้จะต้องพบกับความประหลาดใจสักเพียงใด! ในการตอบโต้การรุกรานไม่ว่าจะจริง ๆ หรือเป็นการข่มขู่ต่อไพร่พลของพระองค์ พระเจ้าจะทรงยืนขึ้นเพื่อพิพากษาศัตรูของพระองค์ในช่วงสุดท้ายแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.—ยะเอศเคล 38:10-12, 14, 18-23, ฉบับแปลใหม่.
20. เหตุใดช่วงที่สองของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะไม่ทำให้ไพร่พลของพระเจ้าได้รับอันตราย?
20 ระยะที่สองของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะเป็นไปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับยะรูซาเลมและผู้อยู่ในกรุงนั้นในคราวการโจมตีครั้งที่สองของพวกโรมันในปี ส.ศ. 70 เหตุการณ์นี้จะปรากฏว่าเป็น “ความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลกจน กระทั่ง [เวลานั้น] ใช่ และจะไม่เกิดขึ้นอีก.” (มัดธาย 24:21, ล.ม.) อย่างไรก็ดี เราสามารถมั่นใจได้ว่า ผู้ถูกเลือกสรรของพระเจ้าและผู้ที่สมทบกับพวกเขาจะไม่ตกอยู่ในเขตอันตราย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฆ่า. พวกเขาจะไม่ต้องหนีไปยังทำเลทางภูมิศาสตร์แห่งใดแห่งหนึ่ง. คริสเตียนในศตวรรษแรกที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมสามารถหนีจากกรุงนั้นไปยังเขตที่เป็นภูเขา อย่างเช่นที่เพลลาซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำยาระเดน. อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เหล่าพยานฯ ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าจะตั้งถิ่นฐานอยู่กันทั่วโลก ดังนั้นความปลอดภัยและการคุ้มครองจะไม่ได้ขึ้นกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์.
21. ใครจะทำการต่อสู้ในสงครามขั้นสุดท้าย และผลจะเป็นเช่นไร?
21 การทำลายจะไม่ใช่จากกองกำลังของโรม หรือจากตัวแทนของมนุษย์อื่นใด. แทนที่เป็นดังนั้น พระธรรมวิวรณ์อธิบายว่า กองกำลังปฏิบัติการจะมาจากสวรรค์. ใช่แล้ว ส่วนสุดท้ายของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะถูกทำให้สำเร็จ ไม่ใช่โดยกองทัพของมนุษย์ แต่โดย “พระวาทะของพระเจ้า” กษัตริย์เยซูคริสต์ ซึ่งทรงมีผู้ช่วยคือ “เหล่ากองทัพซึ่งอยู่ในสวรรค์” รวมทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ได้รับการปลุกจากตาย. “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย” จะทรงจัดการสำเร็จโทษอย่างสิ้นซากยิ่งกว่าที่พวกโรมันทำในปี ส.ศ. 70 เสียอีก. การสำเร็จโทษนี้จะขจัดบรรดามนุษย์ทั้งสิ้นผู้ต่อต้านพระเจ้า—กษัตริย์ทั้งหลาย, พวกผู้บัญชาการทหาร, ทั้งไทยและทาส, ผู้น้อยและผู้ใหญ่. แม้กระทั่งองค์การของมนุษย์แห่งโลกของซาตานก็จะพบกับจุดจบ.—วิวรณ์ 2:26, 27; 17:14; 19:11-21, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19.
22. “เนื้อหนัง” จะรอดในความหมายใดอีก?
22 จำไว้ว่า “เนื้อหนัง” ทั้งของชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและของ “ชนฝูงใหญ่” ได้รับการช่วยให้รอดอยู่แล้วเมื่อบาบูโลนใหญ่ล่มจมอย่างรวดเร็วและอย่างสิ้นเชิงในช่วงแรกแห่งความทุกข์ลำบาก. ในช่วงสุดท้ายแห่งความทุกข์ลำบากก็จะเป็นเช่นเดียวกัน “เนื้อหนัง” ที่ได้หนีมายังฝ่ายของพระยะโฮวาจะรอด. นี่ช่างแตกต่างกันสักเพียงไรกับผลที่เกิดขึ้นกับพวกยิวที่ก่อกบฏในปี ส.ศ. 70!
23. “เนื้อหนัง” ที่รอดจะสามารถคอยท่าสิ่งใด?
23 เมื่อคิดถึงความเป็นไปได้สำหรับอนาคตของคุณเองและของคนที่คุณรัก ขอให้สังเกตสิ่งที่มีสัญญาไว้ที่วิวรณ์ 7:16, 17 ที่ว่า “พวกเขาจะไม่หิวอีกทั้งจะไม่กระหายอีก และแสงแดดหรือความร้อนไหม้ใด ๆ จะไม่แผดเผาเขาเลย เพราะว่าพระเมษโปดก ผู้ทรงอยู่ท่ามกลางราชบัลลังก์นั้น จะบำรุงเลี้ยงพวกเขา และจะทรงนำเขาไปถึงน้ำพุทั้งหลายแห่งชีวิต. และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา.” แน่นอน นั่นคือการได้ “รอด” อย่างแท้จริง ในความหมายที่เยี่ยมยอดและยั่งยืนนาน.
[เชิงอรรถ]
b โยเซฟุสกล่าวว่า “เมื่อทิทุสเข้าไป เขาก็ตกตะลึงเมื่อเห็นความเข้มแข็งของกรุงนั้น . . . เขาอุทานออกมาดัง ๆ ว่า ‘พระเจ้าทรงอยู่ข้างเรา เป็นเพราะพระเจ้าที่ได้ทำให้พวกยิวพ่ายแพ้แม้มีที่มั่นเหล่านี้ ด้วยว่าจะมีน้ำมือมนุษย์ที่ไหนหรือเครื่องมือใดสามารถต่อสู้ป้อมอันสูงตระหง่านเช่นนี้ได้?’”
c น่าสนใจ ข้อความในมัดธาย 24:22 ฉบับของเชม-ทอบใช้คำฮีบรูอะวูร์ʹ ซึ่งมีความหมายว่า “เพื่อประโยชน์ของ, เพราะเห็นแก่, เพื่อว่า.”—โปรดดูบทความก่อนหน้านี้ หน้า 13.
d โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1994 หน้า 11, 12 และตารางในหน้า 14 และ 15 ซึ่งมีช่องเทียบกันระหว่างคำตอบเชิงพยากรณ์ของพระเยซูที่พบในมัดธายบท 24, มาระโกบท 13, และลูกาบท 21.
e โปรดดูพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 235-258 จัดพิมพ์ในปี 1988 โดยสมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ การโจมตีของกองทัพโรมันต่อกรุงยะรูซาเลมมีแบ่งเป็นสองระยะอะไร?
▫ เหตุใดชาวยิว 97,000 คนที่รอดชีวิตในปีส.ศ. 70 ไม่น่าจะเป็นกลุ่มที่ประกอบเป็น “เนื้อหนัง” ตามที่เอ่ยถึงที่มัดธาย 24:22?
▫ เวลาแห่งความทุกข์ลำบากของยะรูซาเลมถูกย่นให้สั้นเข้าโดยวิธีใด และด้วยเหตุนี้ “เนื้อหนัง” ได้รับการช่วยให้รอดอย่างไร?
▫ ในคราวความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยวิธีใดวันเหล่านั้นจะถูกย่นให้สั้นเข้าและทำให้ “เนื้อหนัง” รอด?
[รูปภาพหน้า 16]
เหรียญกษาปณ์ของชาวยิวที่ทำขึ้นหลังการกบฏ. อักษรฮีบรูอ่านว่า “ปีที่สอง” หมายถึงปี ส.ศ. 67 ปีที่สองแห่งความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[รูปภาพหน้า 17]
เหรียญกษาปณ์โรมันที่ทำขึ้นในปี ส.ศ. 71 ทางซ้ายคือทหารโรมันในชุดทำศึก ทางขวาเป็นหญิงชาวยิวกำลังไว้ทุกข์. ถ้อยคำ “ยูเดีย แคพทา” มีความหมายว่า “ยูเดียในสภาพเชลยศึก”
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.